เหตุผลที่เราควรพบกัน

KLtower1-1เรื่อง+ภาพ: กอบกาญจน์ ลิ้มสมบัติอนันต์

-1-

เราชอบที่ต้องแหงนหน้ามองปลายยอดไม้ไหววูบในอากาศ

มันทำให้การเดินไต่ระดับความสูงขึ้นภูเขาขนาดมินิเพลินดี และยิ่งชอบจังหวะนี้มากขึ้นอีกเมื่อเห็นครอบครัวค่างบนกิ่งก้านเหล่านั้น ภาพแม่ลูกค่างไต่เตาะแตะบนป้ายบอกทางไปเคแอลทาวเวอร์ ทำให้เราเพ้อเจ้อว่าเราสามารถไทม์วอร์ปจากเขตใจกลางเมืองใหญ่พลุกพล่านไปย่านอุทยานแห่งชาติได้อย่างไรอย่างนั้น

ช่วงเวลาแบบนี้ เคแอลทาวเวอร์ดูเหมือนสาวน้อยหน้าบูดบึ้งนั่งบ่น ทำไมใครๆ ก็หนีไปถ่ายรูปค่างกันหมดวะ!

KLtower6

-2-

เราชอบแววตาของคุณขณะที่คุยกับเรา เพราะเราเห็นมิตรภาพในนั้น

แต่ที่เราชอบยิ่งกว่าคือคำถามของคุณ

ขอบคุณอากาศร้อนบัดซบที่ทำให้เราเหนื่อยเกินกว่าจะรีบร้อนไปไหนอีก เราเลยได้ใช้บ่ายสุดท้ายในมาเลเซียไปกับการเดินโต๋เต๋หน้าสถานีรถไฟที่เงียบเหงา และหนีมาหลบไอร้อนที่หน้ามัสยิดแห่งชาติ ท่ามกลางไอระอุและละอองน้ำพุเหล่านั้น คุณปรากฏตัวขึ้นพร้อมกับรองเท้าผ้าใบในมือ รอยยิ้มและบทสนทนาเย็นๆ

NationalMJ1 (1)

“คุณรู้จักมาเลเซียได้ยังไง”

เรานิ่ง ยิ้มเพราะตอบไม่ถูกและไม่รู้ว่าควรตอบอย่างไรให้ดูดี เนื่องจากเราไม่เคยศึกษาอะไรเกี่ยวกับที่นี่เลย เรามาอยู่ที่หน้ามัสยิดแห่งนี้เพราะได้ยินเพื่อนพูดถึงปีนัง และบังเอิญจองตั๋วโปรฯขากลับไทยในราคาถูกได้ เรียกได้ว่า กัวลาลัมเปอร์คือของแถม ที่ตลกคือเราดันรู้สึกชอบเมืองนี้ที่สุดในบรรดาเมืองที่เราได้แวะ

จอร์จทาวน์อาจเป็นเหมือนศิลปินเดี่ยว ใช้ชีวิตสไตล์ฮิปสเตอร์ยามบ่ายนั่งในคาเฟ่จิบคาปูชิโนฟองหนาๆ ทอดอารมณ์มองสตรีทอาร์ตบนกำแพงบ้านชาวบ้าน ส่วนมะละกาเล่าเรื่องประวัติศาสตร์การเมือง ซึ่งเป็นการต่อสู้อันเข้มข้นน่าทำความรู้จัก แต่กัวลาลัมเปอร์มีความเร้าใจจากผู้คนหลากหลายซึ่งกระจุกตัวอยู่กันหนาแน่นที่สุดในสหพันธรัฐมาเลเซีย มีการหลั่งไหลของวัฒนธรรมที่เป็นส่วนผสมคนละสูตร แต่อยู่รวมกันในจานเดียว เมืองใหญ่หลายแห่งเป็นเช่นนี้ แต่กัวลาลัมเปอร์มีเสน่ห์บางประการที่เชื้อเชิญเราให้อยากรู้จักให้มากยิ่งขึ้น

หรือเป็นไปได้ว่าเราอาจคุ้นกับเมืองนี้ไม่มากพอ จึงยังไม่หน่ายเมือง

KLtower3

-3-

เราชอบกลิ่นเหงื่อและความล้าของกล้ามเนื้อที่มาจากก้าวต่อไป

ขากลับจากมัสยิดจาเม็ค ราวเที่ยงกว่า เราเดินย้อนเส้นทางเดิมกลับมาหลบพระอาทิตย์ที่อาร์ตแกลอรีย่านจัตุรัสเมอร์เดกา ขอบคุณที่นี่ที่ช่วยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งผิวหนังให้เรา โถงทางเดินช่วงแรกมีโมเดลสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์และภาพประวัติศาสตร์วางสลับกันไป

เราก้าวไปตามทางที่เขาวางผังไว้จนมาถึงห้องมืดแห่งหนึ่ง ผู้คนยืนนิ่ง สายตาวิ่งตามแสงไฟวูบวาบซึ่งฉายลงบนโมเดลจำลองผังเมืองกัวลาลัมเปอร์ขนาดยักษ์ตรงหน้า รายละเอียดยุ่บยั่บบนผังนั้นถูกบอกเล่าผ่านเสียงและแสง เราได้ยินผู้คนพูดคุยอย่างคึกคักเมื่อย่านเก่าแก่ของเมืองปรากฏเด่น นกร้องกระซิบกันยามดวงไฟส่องให้เห็นพื้นที่สีเขียวแซมตัวอยู่หลายมุมเมือง กัวลาลัมเปอร์ถูกแบ่งสัดส่วนป่าเขียวในเมืองไว้อย่างชัดเจน ซึ่งเราพิสูจน์ด้วยสองตาของตนเองแล้วว่าสามารถพบต้นไม้เติบโตสูงราวตึก 10 ชั้นได้ดาษดื่นในเมืองนี้ แสงไฟบนโมเดลเหล่านั้นแปรรูปไปเป็นเส้นทางคล้ายกับพยายามส่งสารว่า อนาคตของกัวลาลัมเปอร์จะเป็นอย่างไรต่อไป

ArtGallery1

เมื่อโชว์จบลง ห้องกลับมาสว่างอีกครั้ง เราจึงได้เห็นผังเมืองกัวลาลัมเปอร์อย่างแจ่มชัด ทั้งตึกแถวโบราณย่านหอนาฬิกาที่เราเพิ่งเดินผ่านเมื่อเช้า ทั้งตึกระฟ้าเก่าและใหม่อย่างตึก Warisan Merdeka ที่เมื่อแล้วเสร็จในปี 2018 จะกลายเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศมาเลเซีย และทำสถิติในระดับโลก มาแทนลำดับของตึกไทเป 101 เบียดให้ตกไป

ช่วงเวลานั้นเรารู้สึกเหมือนอยู่ในเกมที่ทำได้เพียงดูคนอื่นวิ่งแข่งกัน ขณะที่พวกเขาสัมผัสกับความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อและเหงื่อที่กลั่นตัวออกมาจากผิวหนัง แต่เรากำลังเคลื่อนที่ช้าลงๆ และค่อยๆ ทิ้งห่างกันออกไปทุกที

ก่อนจะถึงโซนขายของที่ระลึก เราถูกบังคับให้เดินไปเจอกับช่างประกอบโมเดลท่านหนึ่ง เขาอยู่ในห้องกระจกทำงานของตนเองอย่างใจเย็น ไม่ใส่ใจกับสายตาของผู้คนที่จ้องมอง ส่วนประกอบแต่ละชิ้นเกิดขึ้นจากความละเมียดในการจัดวางเศษไม้ชิ้นเล็กๆ ลงบนแต่ละส่วนอย่างชำนาญ บนโต๊ะของเขาเต็มไปด้วยอาคารบ้านเรือนมากมาย รวมถึงตึกแฝดปิโตรนาสชื่อดังที่ถูกผลิตออกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อให้ผู้ชื่นชมสามารถซื้อหามาเป็นเจ้าของได้ในห้องถัดไป

MerdakaSQ

-4-

เราชอบการพบกันครั้งที่สอง

เวลาที่มีให้เมืองนี้ค่อนข้างจำกัด ทำให้เราไม่มีทางเลือกมากนัก เราเริ่มต้นแต่ละวันตอน 8 โมงเช้าภายใต้ไอแดดจ้า จนกระทั่งพระอาทิตย์เป็นฝ่ายจากเราไปเอง สภาพอากาศช่วงต้นฤดูร้อนส่งผลให้ผิวกายแดงเรื่อจนเกือบจะแสบตัว โชคดีที่ช่วงกลางคืนท้องฟ้าเริ่มเป็นมิตรมากขึ้น ในคืนสุดท้าย

เรากลับมานั่งเล่นที่จัตุรัสเมอร์เดกาอีกครั้งเพื่อเก็บภาพเรื่อยเปื่อย ที่จัตุรัสยังคงมีผู้คนประปราย ถนน Raja บริเวณจัตุรัสถูกกั้นรั้วไม่ให้รถเข้าออก เด็กๆ หลายคนออกมาเล่นโยโย่กับบนถนนอย่างเพลิดเพลินที่หน้าอาคารสุลต่าน อับดุล ซามัด พวกเขาเล่นโยโย่กันเหมือนกำลังเต้นรำ จังหวะการหมุนตัวที่เหมือนสายลมพัดผ่านทำให้เราไม่อาจละสายตา

การเดินทางของเราครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นภายหลังจากเหตุการณ์เครื่องบินหายเกิดขึ้นได้ราวเกือบ 2 สัปดาห์ ร่องรอยของความกังวลปรากฏอยู่ในทุกแห่งที่เราไป พนักงานเกสต์เฮาส์ติดตามข่าวนี้เกือบตลอดเวลา ร้านกาแฟประดับป้าย ‘Pray for MH370’ พื้นที่บนหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ถูกอุทิศให้ข่าวนี้ หน้าตึกแฝดมีการกั้นพื้นที่เพื่อเตรียมจัดงานร่วมภาวนาให้ทุกๆ คนบนเครื่องบินลำนั้น ที่บริเวณจัตุรัสแห่งอิสรภาพนี้ก็เช่นกัน ผู้คนแปลกหน้ามารวมตัวกันในยามค่ำคืน เทียนแต่ละเล่มส่องแสงขึ้นในความมืดหลายคราว แม้ว่าคืนนี้จะไม่ปรากฏผู้คนกับเทียนไขในมือ แต่บทสวดภาวนายังแว่วเสียงและไม่เคยเงียบหายไป

เพราะยังหวังว่าเราจะได้พบกันอีก

 

ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ All way นิตยสาร WAY ฉบับที่ 74 

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า