1MDB คืออะไร รู้จักคดีอื้อฉาวทางการเงินจากมาเลเซียถึงประเทศไทย

1 Malaysia Development Berhad (1MDB) หรือ กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติมาเลเซีย ก่อตั้งโดยรัฐบาลมาเลเซีย แรกเริ่มเดิมทีหลักคิดของกองทุนนี้คือการนำเงินสำรองระหว่างประเทศซึ่งมีไว้สำหรับควบคุมค่าเงินระหว่างประเทศ โดยทั่วไปเงินก้อนนี้จะถูกเก็บและไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้านอื่น แต่ภายหลังมีความเชื่อว่าหากนำมาลงทุนภายในประเทศ จะก่อดอกออกผลมากกว่าปล่อยมันนอนนิ่งๆ เพื่อพยุงค่าเงินของประเทศ

มาเลเซียไม่ใช่ที่แรก กองทุนในลักษณะนี้เคยมีบางประเทศดำเนินการจนประสบความสำเร็จอย่างสูง เช่นในกรณีของสิงคโปร์ ในชื่อ ‘กองทุนเทมาเส็ก’ หรือในชื่อทางการคือ บริษัทเทมาเส็กโฮลดิงส์ (Temasek Holdings) เป็นกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ. 1975 โดยมีกระทรวงพาณิชย์ของสิงคโปร์เป็นผู้ถือหุ้นรายเดียว

กองทุน ‘1MDB’ ของมาเลเซีย เริ่มปรากฏขึ้นครั้งแรกในปี 2008 โดย นาจิบ ราซัค รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศว่า กองทุนนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของมาเลเซียในระยะยาว และตั้งเป้าให้กัวลาลัมเปอร์ เป็น HUB ทางการเงินของเอเชีย หลักคิดดูเหมือนว่าจะดี แต่หลังจากการก่อตั้งกองทุน 1MDB กลับประสบสภาวะขาดทุนต่อเนื่อง ท่ามกลางกระแสความนิยมของรัฐบาลอัมโน ที่มีนายราจิบ ราซัค ขึ้นมาเป็นผู้นำตกต่ำลงจากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน

1MDB กลายเป็นประเด็นอื้อฉาวในช่วงปลายปี 2008 เมื่อ ซาเวียร์ จัสโต พนักงานของบริษัทเปโตรซาอุดี ชาวสวิตเซอร์แลนด์ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวของ BBC พร้อมเปิดอีเมลกว่า 230,000 ฉบับ เป็นหลักฐานว่า พบธุรกรรมที่น่าเคลือบแคลงสงสัยว่าบริษัทของเขาเป็นส่วนหนึ่งของการฟอกเงินในอาณาจักร 1MDB จึงตัดสินใจลาออกก่อนนำข้อมูลลับออกมาเปิดโปงกับ BBC และจากการตรวจสอบข้อมูลการไหลเวียนทางการเงินพบว่า เงินทุนของ 1MDB ได้ไหลออกไปยังบริษัทการค้านอกประเทศเพื่อประหยัดภาษี (Offshore Company) ก่อนจะโอนเงินต่อไปยังบริษัทปลอมแห่งหนึ่ง แล้วโอนกลับเข้าบัญชีส่วนตัวของนายราจิบ นาซัค และคนใกล้ชิดเป็นจำนวนเงินกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ

หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลนี้ออกไปเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างหนัก แต่เรื่องกลับลงเอยที่อัยการของมาเลเซียสรุปว่าเรื่องนี้ไม่พบความผิดปกติ ส่วนเงินที่โอนเข้ามาให้ผู้นำระดับสูงของรัฐบาลมาเลเซียเป็นเพียงการโอนเงินของคนใกล้ชิด และได้มีการโอนคืนบางส่วนแล้ว

ข้อสรุปเช่นนั้นไม่ได้นำมาซึ่งข้อยุติของสาธารณชน มีการขุดคุ้ยต่อเนื่องจนพบข้อพิรุธหลายประการ ในปลายประเทศที่เกี่ยวข้องได้มีการสืบสวน จนพบว่ามีการยักยอกเงินกองทุนซึ่งมีมูลค่ากว่า 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยวิธีไซฟ่อนออกไปหลายช่องทาง เมื่อค้นลึกลงไปจนกระทั่งพบตัวละครสำคัญอีกคน คือ โล แท็ค โจ (Low Taek Jho) หรือ โจโล (Jho Lo) นักธุรกิจคนสนิทของนายราซัค

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า โจโลได้ยักยอกเงินจำนวน 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ไปจากกองทุน 1MDB ซึ่งนับเป็นคดีทุจริตที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐเคยพบเจอมา แต่โจโลได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมอ้างว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น

โจโลเป็นผู้ต้องหาตามหมายแดงของตำรวจสากลหรืออินเตอร์โพล (Interpol) และเป็นที่ต้องการตัวของมาเลเซียและสิงคโปร์ รวมทั้งอีกหลายประเทศซึ่งกรณีนี้ คณะอนาคตใหม่ ได้ออกมาเปิดโปงว่า ขณะนี้ โจโลกบดานอยู่ในประเทศไทย โดยมีทางการคอยช่วยเหลือ

ความเกี่ยวข้องของรัฐบาลไทยกับกรณีอื้อฉาวนี้ มาเกิดขึ้นหลังการรัฐประหารในปี 2014 เมื่อรัฐบาลมาเลเซีย นำโดย นาจิบ ราซัค เป็นประเทศแรกที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลคณะรัฐประหารของไทย ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกมาจากอนาคตใหม่คือ หลังจากนั้น ซาเวียร์ จัสโต ผู้ออกมาเปิดเผยข้อมูลได้ถูกจับกุมตัวไประหว่างที่พำนักในประเทศไทย เงื่อนงำเกิดขึ้นเมื่อ เจ้าหน้าที่ FBI ได้ขอเข้าพบตัวซาเวียร์ จัสโต ระหว่างถูกคุมขัง แต่ถูกปฏิเสธถึง 3 ครั้ง รวมถึงการที่ทางการสวิตเซอร์แลนด์ขอให้รัฐบาลไทยส่งตัวก็ได้รับการปฏิเสธเช่นกัน ก่อนที่ซาเวียร์จะถูกรัฐบาลมาเลเซียเนรเทศ 100 ปี

จากการเปิดเผยข้อมูลในทางลึกของ พรรณิการ์ วานิช โฆษกอนาคตใหม่ ในทางตรงกันข้ามอาชญากรทางการเงินที่เป็นที่ต้องการตัวในหลายประเทศ อย่างนายโจโล กลับเดินทางเข้าออกในประเทศไทยถึง 5 ครั้ง หลังจากปี 2018 กรณีนี้รวมถึงคนใกล้ชิดของนายโจโลด้วย

เป็นที่น่าจับตามองว่า กรณี 1MDB ครั้งนี้ เรื่องราวจะจบแบบไทยๆ หรือจะมีการสืบสาวราวเรื่องเพื่อให้กระจ่างว่าประเทศไทยเกี่ยวข้องกับการเป็นที่พำนักของอาชญากรข้ามชาติ ด้วยการเอื้อเฟื้อสถานที่จากรัฐบาลไทยหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือการทำงานนอกสภาครั้งแรกของคณะอนาคตใหม่หลังถูกตัดสินยุบพรรคนั้น เป็นการเปิดประเด็นที่อาจสั่นสะเทือนรัฐบาลที่ถูกตรวจสอบทั้งในสภาและนอกสภาไปพร้อมๆ กัน

อ้างอิง: สำนักข่าวรอยเตอร์

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า