ด้วยความเชื่อมั่นว่า เส้นทางการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน ต้องเริ่มจากฐานรากที่แข็งแรง แนวคิดในการส่งเสริมงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (Community-Based Research: CBR) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงเกิดขึ้น
เริ่มจากการสร้างคน สร้างความรู้ หยิบยื่นเครื่องมือในการทำวิจัยอย่างเป็นระบบ ให้ประชาชนในฐานะเจ้าของพื้นที่ เจ้าของปัญหา มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง สุดท้ายจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงแก่ชุมชนท้องถิ่น
20 ปีของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ได้สนับสนุนให้เกิดโครงการวิจัยกว่า 3,000 โครงการ ก่อให้เกิดนักวิจัยชาวบ้านกว่า 30,000 คน และเชื่อว่าชุมชนเหล่านี้จะหยั่งรากและแผ่ขยายกระบวนการเรียนรู้แบบนักวิจัยต่อไปไม่สิ้นสุด
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สกว. ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะกระบวนการงานวิจัยที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาโดยคนในชุมชนและเพื่อคนในชุมชน ให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมคิด ร่วมตั้งคำถาม ร่วมวางแผน หาข้อมูล ทดลองทำ วิเคราะห์ สรุปคำตอบ และถอดบทเรียนเพื่อปรับปรุงงานต่อไป
นั่นหมายความว่า งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้ ‘คน’ ในชุมชน เข้ามาร่วมในกระบวนการวิจัย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ โดยมีการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ทำให้ชุมชนได้เรียนรู้อย่างเป็นระบบและเป็นเหตุเป็นผล สามารถแก้ปัญหาด้วยตนเอง ตลอดจนสร้างความน่าเชื่อถือ และสามารถนำกระบวนการวิจัยนี้ไปใช้ในการแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นอื่นๆ ได้ต่อไป