ความรุนแรงในระบบการศึกษาคือปัญหาเชิงโครงสร้าง เรื่องนี้ไม่ได้พูดเอาสนุก แต่เป็นปัญหาเรื้อรั้งและจับต้องได้ทั้งในเชิงสถิติและประสบการณ์ตรง
ความรุนแรงไม่อาจดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง คล้ายเช่นร่างกายที่ไม่อาจขยับเคลื่อนไหวหากไม่ผ่านสมองสั่งการ หรือกล่าวให้เจาะจงกว่านั้น การตี ลงโทษ ออกคำสั่ง ฯลฯ ในรั้วการศึกษา มีเงามืดที่มองไม่เห็นคอยเกื้อหนุนให้ความรุนแรงเหล่านี้ดำรงอยู่ได้
เป็นอีกครั้งที่เราอยากชวนมาปัดฝุ่นความคิด ปัญหาความรุนแรงภายในโรงเรียน โดยมี สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ในฐานะผู้จัดตั้งโรงเรียนวิวัฒน์วิทยา โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดตรัง และ ครูกอล์ฟ-นารถชนก ศรีโท ครูเคมีเจ้าของเพจ Little Learn มาเป็นคู่สนทนาในวันนี้
ข้อเขียนนี้ตั้งต้นจากข้อสงสัยต่อระบบภายในของโรงเรียนเอกชน ต่อความรุนแรงในโรงเรียนที่เราเห็นผ่านคลิปวิดีโอมากมายในโซเชียลมีเดีย ลงลึกไปถึงภาพใหญ่ของการศึกษาที่ซับซ้อนเกินกว่าการชี้นิ้วประณามความรุนแรงไปยังใครคนใดคนหนึ่ง
โรงเรียนเอกชนที่อิสระทางความคิด
“โรงเรียนนอกระบบเกิดขึ้นหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแนวคิดที่ว่าโรงเรียนในระบบไม่สามารถตอบสนองในสิ่งที่ต้องการได้ เช่น ความต้องการในการดูแลผู้เรียนอย่างใกล้ชิด ความต้องการบริการอื่นๆ ที่รัฐไม่อาจจัดให้ได้ ไม่ว่าจะเรื่องรถรับส่ง อาหารกลางวัน การเน้นหนักถึงเนื้อหาหรือประเด็นการสอนต่างๆ”
สาทิตย์อธิบายถึงรูปแบบโครงสร้างโรงเรียนตามกฎหมายไว้ว่า โรงเรียนจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- โรงเรียนในระบบ
- โรงเรียนนอกระบบ
ส่วนโรงเรียนเอกชนคือสถานศึกษาที่จัดการศึกษา จำแนกได้เป็นทั้งโรงเรียนในระบบและนอกระบบ
โรงเรียนเอกชนในระบบ
- ประเภทสามัญศึกษา: โรงเรียนที่จัดการศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการในระดับต่างๆ ได้แก่ ระดับเตรียมอนุบาล อนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา
- ประเภทอาชีวศึกษา: โรงเรียนที่จัดการศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ หรือหลักสูตรที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการในระดับต่างๆ ได้แก่ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
- ประเภทนานาชาติ: โรงเรียนที่จัดการศึกษาโดยใช้หลักสูตรต่างประเทศ หรือหลักสูตรต่างประเทศที่ปรับรายละเอียดเนื้อหาใหม่ โดยไม่ใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ
โรงเรียนเอกชนนอกระบบ
โรงเรียนสอนศาสนา, สอนศิลปะและกีฬา, โรงเรียนวิชาชีพ, โรงเรียนกวดวิชา, โรงเรียนสร้างเสริมทักษะชีวิต, ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด หรือ สถาบันศึกษาปอเนาะ
“ด้วยความที่โรงเรียนเอกชนไม่ถูกความคิดของรัฐครอบงำ จึงมีเสรีในการแข่งขันและพัฒนาตัวเองสูง เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของโรงเรียนเอกชนคือความยืดหยุ่นในเชิงจัดการและบริหาร ฉะนั้นโรงเรียนเอกชนสามารถจัดการเรียนการสอนตามจุดเด่นของแต่ละโรงเรียนได้”
สาทิตย์ยกตัวอย่างรูปแบบการเรียนการสอนของโรงเรียนเอกชนไว้ว่า เป็นสถานศึกษาที่มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนให้ลื่นไหลไปตามความสนใจของผู้เรียน หรือตามวิถีของบริบทชุมชนและโรงเรียนนั้นๆ
“เช่น บางโรงเรียนเน้นเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรม ดนตรี การเกษตร รวมไปถึงเน้นในการฝึกฝนทักษะชีวิต ทักษะการปรับตัวและเรียนรู้เท่าทันสื่อ ฯลฯ จะเห็นได้ว่าโรงเรียนเอกชนมีความยืดหยุ่นสามารถจัดการเรียนการสอนได้กว้างมากขึ้นแตกต่างจากโรงเรียนรัฐ”
นอกจากความคล่องตัวของการเรียนการสอน โรงเรียนเอกชนแต่ละแห่งยังมีแนวนโยบายที่เฉพาะตนในการรับเลือกบุคลากรครู ตั้งแต่การสอบเชิงวิชาการ รวมไปถึงสำรวจทัศนคติต่อวิชาชีพครู
“ในอดีตโรงเรียนเอกชนใช้หลักการไม่ต่างจากโครงสร้างโรงเรียนรัฐ หนึ่งห้องเรียนมีครูประจำชั้นหนึ่งคนสอนประจำโดยที่ครูต้องสอนทุกวิชา แต่ปัจจุบันแนวคิดเช่นนั้นถูกแทนที่ด้วยการส่งเสริมให้ครูที่จบในแต่ละสาขาวิชามาสอนโดยตรง รวมถึงการมีตัวเลือกพิเศษเพิ่มมากขึ้น เช่น สนับสนุนให้แต่ละห้องมีครูพี่เลี้ยงประจำ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ปกครองที่คาดหวังให้ลูกของตนเองได้รับความใส่ใจมากขึ้น”
คำถามคือ ในเงื่อนไขที่สนับสนุนให้โรงเรียนเอกชนดูมีความพิเศษเช่นนี้ แต่ทำไมเราต่างยังพบความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากบุคลากรในโรงเรียนอยู่
ความรุนแรงในนามของความรัก
ในช่วง 10 ปีให้หลัง การลงโทษโดยการตี หรือกระทำการด้วยความรุนแรง ไม่เป็นที่นิยมในสังคม โดยมีระเบียบกระทรวงฯ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียน ออกมารองรับเพื่อยุติการกระทำรุนแรงทางร่างกายต่อเด็กในปี พ.ศ. 2548
ทว่าสถิติการใช้ความรุนแรงในสถานศึกษาของ Unicef กลับพบว่าในแต่ละปี เด็กไทยกว่า 6 แสนคน ต้องเผชิญกับความรุนแรงจากการลงโทษในโรงเรียน แม้จะมีกฎหมายและกฎกระทรวงฯ รองรับ
สิ่งใดกันที่เกื้อหนุนให้ความรุนแรงลักษณะนี้ดำรงอยู่อย่างแข็งแรงในยุคสมัยแห่งการเรียกร้องสิทธิในร่างกาย ในยุคสมัยที่มีการค้นพบผ่านงานวิจัยทั่วโลกว่า ความรุนแรงไม่ใช่คำตอบของปัญหา
“แนวคิดทำผิดถูกลงโทษ ทำถูกให้รางวัล อยู่ในระบบการศึกษาไทยมาตั้งแต่อดีต แต่เมื่อมีแนวคิดจากตะวันตกเข้ามา การตีหนึ่งครั้งของครูมันอาจส่งผลให้เด็กจดจำ ต่อมาจึงพัฒนาปรับเปลี่ยนโดยก่อนที่ครูจะลงโทษ ลองคุยกับเด็กก่อนไหม เรามีกติกาที่ตกลงร่วมกันก่อนไหม จนกระทั่งมาสู่ยุคที่ไม่ลงโทษโดยการตีได้หรือไม่”
สาทิตย์มองว่า ครูจำนวนมากยังคงติดกับดักวิธีคิดข้างต้นอย่างหาทางออกไม่ได้ ไม่เพียงแต่ในกรณีของ สารสาสน์ฯ เท่านั้น แต่ความจริงที่ว่า ในรั้วโรงเรียนไม่ว่าจะรัฐหรือเอกชนอีกจำนวนมาก ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย และกลับกลายเป็นพื้นที่แห่งความหวาดกลัวของเด็ก
“เรามองภาพรวมของระบบการศึกษาไทยกันดีกว่า ผมว่าเราต้องให้ความสำคัญกับระบบ HR (Human Resources) มากขึ้น เพราะมันมีพันธะเกี่ยวพันต่อครูอย่างมาก
“ครูคืออาชีพที่มนุษย์ทำงานกับมนุษย์ ยิ่งต้องทำงานกับเด็กยิ่งอาศัยความละเอียดอ่อนอย่างมาก ระบบการรับบุคลากรเข้าทำงานอาจจะเป็นจุดอ่อนและช่องว่างอย่างหนึ่ง ผมตั้งคำถามต่อการให้ความสำคัญเรื่องทัศนคติของบุคลากรที่จะเข้ามาทำอาชีพครู ผมว่าเราต้องกลับมาคุยกันถึงเรื่องนี้จริงจัง ใบประกอบวิชาชีพครูอาจจะไม่ได้บอกว่าคุณเป็นครูที่เก่ง ครูที่ดี เป็นเพียงการการันตีชั้นต้นที่ทำให้คุณมีจริยธรรมในการทำงาน อย่าปล่อยให้จุดนี้เป็นช่องว่างของระบบการศึกษา เราต้องดูแลครู”
นอกจากการเติมทักษะความรู้ ประเด็นหนึ่งที่ห้ามละทิ้งคือการพัฒนาจิตใจ ‘โรงเรียนต้องดูแลครู’ สาทิตย์ขีดเส้นใต้คำคำนี้
“ครูคือคนในอดีตที่สอนเด็กในปัจจุบันเพื่อให้เขาไปอยู่ในโลกอนาคต อย่าละทิ้งความบอบบางนี้ไป เราจะดูแลจิตใจเด็ก อย่าตีความนโยบายผิด พอพูดถึงเรื่องธรรมะ เราก็ไปจับครูใส่ชุดขาวแล้วเอาครูเข้าวัด หัวใจมันอยู่ตรงนี้หรือเปล่า หัวใจมันคือให้ครูรู้จักกล่อมเกลาตัวเอง ให้รู้จักอารมณ์ตัวเองมากขึ้นหรือเปล่า”
ท้ายที่สุด เราอาจต้องมามองถึงการอบรมที่มักช่วงชิงเวลาครูจากห้องเรียนไปบ่อยครั้ง ว่าเนื้อในของสาระการอบรมที่เป็นดั่งสายเชือกรัดรึงครูอยู่นั้น เป็นเนื้อหาแบบไหน ครูได้เครื่องมือและความรู้อะไรที่มากไปกว่าการนั่งฟัง จด และกลับมาทำรายงานส่งเจ้านายหรือไม่
อาการ Burnout Syndrome จุดเริ่มต้นความรุนแรง
ครูกอล์ฟ-นารถชนก ศรีโท ครูเคมีเจ้าของเพจ Little Learn (ศิลปะในเด็ก) ชวนคุยถึงปัญหาความรุนแรงในหลายประเด็นไว้อย่างน่าสนใจ หนึ่งในสาเหตุสำคัญ เธอมองว่า มันคือโครงสร้างที่กดทับครู และความเหลื่อมล้ำทางความรู้ที่ทำให้ครูเลือกแก้ปัญหาผ่านความรุนแรง
“หนึ่ง ครูไม่ได้สอน ครูหายไปจากห้อง กับภาระงานสารพัด ทั้งงานพัสดุ ธุรการ การเงิน โดยเฉพาะในโรงเรียนรัฐ”
ในประเด็นนี้ โรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่มีระบบที่จัดสรรหน้าที่ไว้อย่างชัดเจน ครูมีหน้าที่ในห้องเรียน ในขณะที่งานเอกสาร งานพัสดุ งานการเงิน และงานอาหารมีฝ่ายที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน
“สอง ครูในระบบการศึกษาไทยมักถูกจำกัดในเรื่องของความคิด เมื่อใดที่ครูมีไอเดีย หรือมีแรงที่จะทำเพื่อเด็ก กลับถูกครอบด้วยความคิดเช่น จบวิทยาศาสตร์ก็ต้องสอนวิทยาศาสตร์เท่านั้น จบพลฯ ครูต้องสอนพลฯ เท่านั้น น้อยนักที่เราจะเห็นการบูรณาการข้ามวิชาหรือข้ามศาสตร์กันในโรงเรียน
“สาม ครูทำหน้าเพียงเปิดหนังสือแล้วสอน ‘วันนี้เราทำแบบฝึกหัดหน้านี้นะ จดตาม สรุป’ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่ครูไม่มีเวลาเลย สารพัดหน้าที่ที่ต้องทำ ส่งผลให้ครูไม่มีเวลาไปพัฒนาศักยภาพในการเรียนการสอน ไม่มีเวลาไปออกแบบเกม กิจกรรมในห้องเรียนของตัวเอง”
อาชีพครูในทัศนะของครูกอล์ฟนั้น ถูกท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของโลกและยุคสมัยเป็นอย่างมาก นั่นเป็นเหตุผลว่า ครูต้องพัฒนาศักยภาพ เติมความรู้ และเครื่องมือในการทำงานอยู่ตลอด ทว่าระบบที่นิยมชมชอบการทำเอกสารกองโตเพื่อโชว์ผลงาน ระบบที่รีดเค้นเวลาและแรงกายของครูกับงานนอกห้องเรียน ทำให้ครูขาดเวลาในการตามหาเครื่องมือและชุดความรู้ใหม่ๆ ทั้งในการออกแบบการเรียนการสอน ตลอดจนการแก้ปัญหา ที่สุดท้ายก็วนกลับมายังการลงโทษที่คุ้นเคย
“มันทำให้ครูหมดไฟ แม้เขาจะเข้ามาในระบบด้วยพลังที่แรงกล้ายังไง แต่ระบบแบบนี้ นานวันเข้า มันทำให้เขาเริ่มกลายเป็นครูที่ อะ เปิดหนังสือ สอน จบ สอบ วนวัฏจักรอยู่แบบนี้”
ไปให้ไกลกว่านั้น ครูกอล์ฟมองว่า คุณภาพของครูต้องเริ่มต้นที่ระบบการคัดเลือก ไปจนถึงสายพานการผลิตครูที่มีพิมพ์เขียวเพียงหนึ่งเดียว
“คนที่เลือกเรียนครูส่วนหนึ่ง เรียนเพราะ ‘ฉันไม่รู้จะเรียนอะไร’ ‘เรียนๆ ไปเถอะ’ เด็กที่เรียนต่อในสายวิชาชีพครูจึงมีทั้งกลุ่มที่ตั้งใจอยากเป็นครู และกลุ่มที่อาจจะผิดหวังจากสถาบันอื่น และครูเป็นอาชีพหนึ่งที่ถูกมองว่ามั่นคง ได้รับราชการนะ”
ว่ากันตามตรง ครูกลุ่มหลังนั้นมีจำนวนไม่น้อย ครูกอล์ฟจึงชวนตั้งคำถามตั้งแต่ระบบต้นทางของการเข้าสู่วิชาชีพครู ว่าถูกแล้วหรือที่เราให้ค่าครูเป็นเพียงอาชีพที่ขึ้นชื่อว่า ‘เป็นเจ้าคนนายคน’
ความเหลื่อมล้ำของความรู้
“ยิ่งเด็กเล็กมากเท่าไหร่ เขายิ่งมีความทรงจำต่อครูที่แม่นยำมากเท่านั้น”
ครูกอล์ฟอธิบายว่า ครูสอนเด็กปฐมวัยคือตัวแปรสำคัญที่จะชี้นำความชอบและความชังของเด็กๆ หากครูคนหนึ่งแสดงออกซึ่งความรุนแรงทั้งทางกายภาพ วาจา หรือกระทั่งการหยอกล้อใดๆ ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นมากไปกว่าความบอบช้ำทางจิตใจ แต่เป็นการเติบโตมาด้วยวิธีคิดที่ว่า ความรุนแรงเป็นความปกติอันสมควรกระทำแก่เพื่อนมนุษย์
“เด็กเล็กจะมีความสัมพันธ์กับครูสูงมาก เขาจำได้หมดเลยว่า วันนี้ครูทาลิปสติกสีเข้ม สีจาง ดังนั้นแล้ว ครูต้องมีจิตใจและวิธีการที่ค่อนข้างเชิงบวกในการทำงาน ยิ่งเล็กเท่าไหร่ยิ่งต้องบวกมากเท่านั้น
“ครูก็คือคนคนหนึ่ง มีเลือดเนื้อ มีจิตใจ และมีความเครียดกับระบบที่กดทับเขาอยู่ ระบบการศึกษาชอบให้ครูทำเอกสารเยอะๆ เพื่อดูผลงาน สมมุติว่าครูคนหนึ่ง สอนดีมาก เด็กรัก แต่แล้ววันนั้นเจอเด็กดื้อมาก ครูฟิวส์ขาด เผลอลงโทษเด็กแล้วเป็นเรื่องขึ้นมา มันก็เป็นเรื่องน่าเสียดายเหมือนกัน เมื่อครูคนนั้นถูกตีตราว่าไม่ดีตลอดไป กับข้อผิดพลาดเพียงครั้งเดียว เราเข้าใจในสภาวะนี้ที่เกิดกับครูหลายๆ คน”
ในช่วงปิดเทอม โรงเรียนของเธอจะมีการจัดเวิร์คช็อปคุณครูทั้งโรงเรียน เพื่อมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และวิธีการ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น ครูมัธยมสวมบทบาทเป็นครูอนุบาล ครูอนุบาลสวมบทบาทเป็นครูประถม และเมื่อเจอเหตุการณ์ต่างๆ ในห้องเรียน ครูแต่ละคนมีวิธีการรับมืออย่างไร
“นอกจากนั้น โรงเรียนจะเชิญคุณหมอจิตวิทยามาเป็นคนเทรนให้ในทุกๆ เปิดเทอม เพื่อพัฒนาครูในการรับมือปัญหาไปจนถึงการออกแบบการเรียนการสอน”
กระบวนการพัฒนาครูผ่านวง PLC (Professional Learning Community: ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ) ก็ดี ผ่านการหาประสบการณ์ภายนอกก็ดี หรือผ่านกิจกรรมเชิงจิตวิทยาก็ดี เหล่านี้ครูกอล์ฟมองว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ระบบการศึกษาต้องเอื้อเวลา โรงเรียนต้องเอื้อพื้นที่หรือแหล่งเครื่องมือ เพื่อให้ครูได้ตามหาความรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่และจริงจัง
คนคิดไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้คิด
“ระบบมันถูกคิดขึ้นมาเพื่อล็อคครูให้อยู่ในกรอบ ระบบไม่เชื่อในศักยภาพของครู จึงต้องมีการประเมิน ทำเอกสารเยอะแยะไปหมด”
นอกจากครูจะถูกเรียกร้องทั้งจากระบบและโรงเรียน อีกหนึ่งปัจจัยคือ ผู้ปกครองฝากความหวังทั้งหมดไว้ที่หน้าประตูโรงเรียน และหวังว่า เมื่อลูกกลับถึงบ้าน เขาจะอ่านออก เขียนได้ ลายมือสวย และกลายเป็นคนดี
“ความคาดหวังของผู้ปกครองก็มากดทับครูอีกต่อหนึ่ง บางโรงเรียนจะต้องส่งสมุดงานของเด็กให้ผู้ปกครองดู แล้วถ้าน้องทำเลขผิด เขียนตัวอักษรผิด ก็จะย้อนกลับมาที่ครูว่า ‘ครู ทำไมน้องยังเขียน ก.ไก่ ไม่ได้’ ‘ทำไมน้องเขียนไม่ได้เหมือนเพื่อน’ ‘ทำไมน้องเขียนหนังสือไม่สวย’ ขณะที่น้องอยู่อนุบาลที่ยังใช้กล้ามเนื้อมือได้ไม่สมบูรณ์
“ผู้ปกครองเองก็มีผลที่ทำให้ครูต้องกึ่งบังคับนักเรียนว่าจะต้องทำให้ได้ เขียนให้ได้ คิดเลขให้ได้ จำให้ได้ ครูจะเป็นความหวังของคุณพ่อคุณแม่ที่รับแรงกดทับนี้มา”
ในการออกแบบระบบการศึกษา เธอมองว่า ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกๆ คนที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของเด็ก ไม่ว่าจะนักเรียน ครู ผู้ปกครอง โรงเรียน ชุมชน นักจิตวิทยา กระทั่งคนบนยอดพีระมิดของกระทรวงการศึกษา ในการมาออกแบบการศึกษาร่วมกัน การศึกษาที่ยืดหยุ่น หลากหลายหลักสูตรที่สอดคล้องกับภูมินิเวศของชุมชนนั้นๆ
อาจจะต้องมีนักจิตวิทยาเด็ก นักกิจกรรมเด็ก พ่อแม่ ชุมชน มาคุยกันแล้ววางหลักสูตรให้สอดคล้องกับช่วงวัยและบริบทของพื้นที่นั้นๆ ของโรงเรียนนั้นๆ โรงเรียนในเขา ในที่ห่างไกลก็อาจมีวิถีอีกแบบหนึ่ง โรงเรียนในเมืองก็อีกแบบหนึ่ง การออกแบบการศึกษาควรยืดหยุ่น ให้เหมาะกับแต่ละโรงเรียน
นั่นคือความฝันไกลๆ ของครูกอล์ฟ แต่หากฝันใกล้นั้น ขอเพียงผู้ใหญ่ (ในระบบการศึกษา) รับฟังผู้น้อยให้ได้ก่อน นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ใครหลายคนเฝ้าอยากเห็น
ย้ำอีกครั้ง การศึกษาคือเรื่องของทุกคน