ในโลกซึ่งรุดกระชากไปข้างหน้า เราล้วนใช้ชีวิตอยู่กับความเชื่อและค่านิยมเก่าแก่ที่ถูกตั้งคำถาม พร้อมกันกับอนาคตภายภาคหน้าที่ถูกท้าทายด้วยความไม่มั่นคง
ภาพลักษณ์ ตราประทับบางอย่างถูกวิธีคิดแบบใหม่รื้อสร้าง ไม่จริงอีกต่อไปแล้วหากเราจะบอกว่าบทบาทของผู้หญิงอยู่แค่ในครัว ไม่จริงอีกต่อไปแล้วที่แต่ละกิจกรรมจะต้องผูกติดอยู่กับเพศสภาพ เท่ากันกับความแน่นอนของชีวิตที่อยู่คู่กับมนุษย์มายาวนานหลายทศวรรษเริ่มสั่นคลอน ครั้งหนึ่งเราเชื่อกันว่ามนุษย์ควรมีบ้านอยู่ แต่เวลาต่อมามันหดเล็กแคบลงในลักษณะของอพาร์ตเมนต์หรือคอนโดมิเนียม รวมทั้งหน้าที่การงานบางอย่างที่เราเคยเชื่อกันว่ามันจะอยู่คู่กับมนุษยชาติไปสถาพร ก็อาจไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว
สารคดี 3 เรื่องที่ชวนสำรวจภาวะร่วมกันของมนุษย์ในยุคศตวรรษที่ 21 หนึ่ง – ว่าด้วยการตั้งคำถามต่อ ‘ความเป็นแม่’ ที่โลกดูเหมือนไม่อนุญาตให้คนที่มีลูกทดท้อหรือแสดงความเหน็ดเหนื่อย เพราะจะถูกตีตราว่าเป็นแม่ที่ไม่ได้เรื่อง สอง – ราคาที่อยู่อาศัยที่พุ่งสูงขึ้น สวนทางกับรายได้ของคนรุ่นใหม่ ทว่า ค่านิยมที่ว่าคนเราจำเป็นต้องมีบ้านเป็นของตัวเองนั้นยังคงเป็นความเชื่อที่เหนียวแน่น และสาม – คุณค่าของมนุษย์ที่ถูกนิยามแนบเป็นหนึ่งเดียวกับหน้าที่การงาน แต่มันควรเป็นเช่นนั้นจริงหรือ เรายังมีคุณค่าในมิติอื่นใดอีกของชีวิต
May I Quit Being A Mom!? (2020)
หนังสารคดีสัญชาติญี่ปุ่นของ โทโมะ โกดะ (Tomo Goda) คนทำหนังที่มักสำรวจความอ่อนไหวของครอบครัวมาตั้งแต่ Being Born (2010 – เหล่าพ่อแม่ที่มีลูกเล็ก) และ Umareru Zutto Issho (2014 – ว่าด้วยความสัมพันธ์ซับซ้อนของคนจาก 3 ครอบครัว) โดยเรื่องนี้ โกดะจับจ้องไปยังเหล่าแม่ๆ ชาวญี่ปุ่นที่ต้องคอยดูแลลูก ขณะที่สามีออกไปทำงานนอกบ้าน และการเลี้ยงลูกที่ดูเหมือนจะเป็นงานที่ ‘ไม่หนักหนาอะไร’ แท้จริงแล้วทำให้พวกเธอเหนื่อยทั้งกายและใจ มิหนำซ้ำยังอาจสร้างบาดแผลให้ชีวิตคู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่มีค่านิยมว่าด้วยการให้ผู้หญิงอยู่บ้านเพื่อทำความสะอาดบ้านและดูแลลูก ขณะที่ผู้ชายรับผิดชอบในการหาเงินเข้าบ้านในฐานะหัวหน้าครอบครัวเต็มรูปแบบ หนังสำรวจความทุกข์ตรมหลากรูปแบบของ ‘เหล่าแม่บ้าน’ ทั้งคนที่ต้องดูแลลูกวัยกำลังซน พร้อมกันกับที่ก็ต้องทำความสะอาดบ้านทั้งหลังและดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยต่างๆ ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง จนเธอเกิดอาการเหน็ดเหนื่อยสุดขีด ทั้งเมื่อบอกเรื่องนี้กับสามี แม้ดูเหมือนเขาจะรับฟัง หากแต่ก็ไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอันใด เมื่อเขาไม่ได้มองว่าการเลี้ยงลูกเป็นงานยากแต่แรก
หรือแม่อีกคนหนึ่งที่เล่าว่า เธอท้อแท้และหมดแรงในการจะใช้ชีวิตต่อ ทั้งยังไม่เห็นคุณค่าใดๆ ของตัวเองไม่ว่าจะในฐานะใดก็ตาม ซึ่งหนังสำรวจไปถึงภาวะซึมเศร้าหลัง
คลอด อันเป็นภาวะที่หลายคนอาจไม่เชื่อว่ามีอยู่จริง หรืออาจคิดว่าไม่ส่งผลอันตราย แต่อันที่จริงมันกลับกลายเป็นภัยเงียบที่รุนแรงมากที่สุดรูปแบบหนึ่ง ตลอดจนคุณแม่ที่หาทางพยายามพูดคุยกับลูกวัยรุ่นซึ่งดูเหมือนไม่ค่อยอยากคุยกับเธอเท่าไร และเธอก็ไม่อาจหาเหตุผลได้เลยว่าอะไรทำให้ลูกผละออกจากเธอ
ความหนักหน่วงอันมองไม่เห็นเหล่านี้ ส่งผลให้คุณแม่ทั้งหลายรู้สึก ‘อยากลาออก’ จากการเป็นแม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้จริง แต่ร้ายแรงกว่านั้นคือพวกเธอก็รู้สึกผิดที่คิดเช่นนี้ด้วย อันเนื่องมาจากสังคมผูกโยงว่า ความเป็นแม่ต้องเสียสละเพื่อลูกอย่างสุดชีวิต จนถึงที่สุดแล้วการที่พวกเธอรู้สึกด้านลบบางประการต่อความเป็นแม่ ก็ทำให้เธอยิ่งรู้สึกเลวร้ายและเกลียดชังตัวเองมากขึ้นไปอีก
May I Quit Being A Mom!? สำรวจภาวะนี้ด้วยสายตาเข้าอกเข้าใจ ละเอียดอ่อน และบ่อยครั้งก็เจือปนอารมณ์ขันในเรื่องราวอันหนาหนัก เหนืออื่นใดคือสารคดีของโกดะยังชวนตั้งคำถามถึงสังคมที่ผลักภาระเรื่องการเลี้ยงลูกให้เป็นเรื่องของผู้หญิงหรือแม่เพียงฝ่ายเดียว ตลอดจนภาพลักษณ์ที่สังคมมีต่อความเป็นแม่ ซึ่งอาจสร้างบาดแผลให้ใครหลายๆ คนในที่สุด
Push (2019)
หนังสารคดีร่วมทุนสร้าง 3 สัญชาติ (สวีเดน-แคนาดา-สหราชอาณาจักร) ตั้งคำถามอันแสนจะพื้นฐานและร่วมสมัยว่า จะเป็นอย่างไรหากราคาที่อยู่อาศัยแพงเสียจนไม่มีใครจ่ายกันไหว
เฟรดริค เกร็ตเตน (Fredrik Gertten) ผู้กำกับชาวสวีเดน จับประเด็นไปยังภาวะร่วมสมัยของหลายๆ ประเทศ เมื่อค่าเช่าที่อยู่อาศัยแพงขึ้นจนผู้คนเริ่มจ่ายไม่ไหว ตั้งแต่ผู้คนที่ย้ายรกรากเข้าเมืองใหญ่ๆ ไปจนถึงคนที่อยู่ที่เดิม แต่พบว่าราคาที่ดินรอบตัวทะยานสูงขึ้นอย่างไม่มีวี่แววจะลดกลับมาลงได้ ทั้งยังพาคนดูไปพบผู้คนอีกมากมายที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนเงื่อนไขของราคาบ้านหรือที่พัก เช่น บางคนต้องจ่ายเงินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดในแต่ละเดือนไปกับค่าเช่าห้องเล็กจิ๋ว เพื่อจะพบว่าอีกไม่นาน ราคาห้องจะสูงขึ้นและเขาไม่มีทางเลือกนอกจากต้องย้ายออกเนื่องจากจ่ายไม่ไหว ทั้งหมดนี้เป็นภาวะที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่หลายๆ แห่งทั่วโลก ไม่ว่าจะสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน กรุงโซล ประเทศเกาหลี หรือเมืองเบอร์ลินในเยอรมนี และแน่นอนว่าในอีกหลายเมืองของสหรัฐอเมริกา
ทว่า Push ไม่ได้เพียงแค่พาผู้ชมไปเห็นความแพงหูฉี่ของที่พักหลายๆ แห่งเท่านั้น แต่ตัวหนังยังชวนตั้งคำถามว่า ท่ามกลางราคาค่าเช่าที่ที่แพงมหาโหดขนาดนี้ ใครกันที่ได้ประโยชน์ และหากว่ามันแพงเสียจนไม่มีคนจ่ายไหวจนต้องทยอยย้ายออกเรื่อยๆ… ยังจะมีใครได้ประโยชน์อยู่อีกหรือไม่
และหนึ่งในสิ่งที่หนังสำรวจลึกลงไปคือ การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของเหล่านักลงทุน เมื่อมหาเศรษฐีหลายคนตัดสินใจกว้านซื้อที่ดินในเมืองใหญ่หลายแห่งเพื่อเก็บค่าเช่าที่ และในเวลาต่อมาเมื่อเมืองขยายตัวใหญ่ขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น ผู้คนย้ายถิ่นฐานเพื่อมาทำงานหรือจับจ่ายใช้สอย ที่พักจึงกลายเป็นปัจจัยหลักที่หลายคนมองหา ยิ่งกับเมืองที่มีพื้นที่จำกัดและผู้คนล้นหลาม ที่พักยิ่งเป็นที่ต้องการและทำให้เหล่าเจ้าของที่ดินทั้งหลายใช้หลักการอุปสงค์-อุปทานนี้ เพื่อเรียกราคาที่ดินให้มากขึ้นกว่าเดิม หนังยังตั้งคำถามด้วยว่า กฎหมายหรือนักการเมืองสามารถออกนโยบายอะไรเพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นต่อไปได้หรือไม่
ตัวเกร็ตเตน ผู้กำกับเองก็กล่าวว่า แม้แต่เมืองในสวีเดนอันเป็นบ้านเกิดของเขาก็กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาค่าเช่าที่พุ่งสูงเสียจนหลายคนอาศัยอยู่ไม่ได้ จนเขานับว่านี่เป็นหนึ่งในภาวะวิกฤตเร่งด่วนที่ประชาคมโลกต้องร่วมมือกันแก้ไขต่อไปในอนาคต… ก่อนที่ทุกคนจะไม่มีที่พักอาศัยหรือเมืองถูกทิ้งจนกลายเป็นเมืองร้าง
After Work (2023)
หนังที่เหมาะสมสำหรับโลกที่ขับเคลื่อนด้วยทุนนิยมและการทำงาน โดย อีริค กานดีนี (Erik Gandini) คนทำหนังชาวอิตาลี ตั้งคำถามต่อโลกแห่งการทำงานของคนในศตวรรษที่ 21
ภายหลังโลกกระโจนเข้าสู่ทุนนิยมเต็มรูปแบบ หลายคนเติบโตมาด้วยแนวคิดที่ว่า การงานคือจุดสูงสุดของชีวิต ความว่างไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากปิศาจร้าย และกระทั่งการพักผ่อนก็อาจถูกมองว่าเป็นความเกียจคร้าน ไม่พัฒนาตัวเอง และรังแต่จะทำให้คุณค่าความเป็นเราลดน้อยถอยลง (!!) หลายคนยึดมั่นกับการทำงานว่าต้องทำงานให้หนัก ทำงานให้ดี ผลักตัวเองไปข้างหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ใหญ่กว่า ซึ่งอาจจะเป็นอะไรก็ได้ เช่น ตำแหน่งที่สูงขึ้น เงินเดือนมากขึ้น หรือชีวิตที่ดีขึ้น
และในทางกลับกัน หลายคนก็นิยามชีวิตการทำงานว่าเป็น ‘ทาสในยุคสมัยใหม่’ เมื่อหลายคนต้องประกอบอาชีพที่ไม่พาพวกเขาไปไหน เป็นแรงงานที่รอวันหมดแรงและถูกสับเปลี่ยนเอาคนที่แข็งแรงกว่าเข้ามาแทน การทุ่มเททุกหยาดเหงื่อเพื่อทำงานไม่อาจนำไปสู่อะไรอื่นได้นอกเสียจากความเหนื่อยใจแทบขาด ไม่มีอนาคต และไม่อาจคาดหวังอนาคตได้ หรือคนทำงานในโรงงานที่อาชีพเหล่านี้พร้อมจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูงกว่า พวกเขาจะไปอยู่ที่ไหนกัน แล้วหากโลกทุนนิยมนิยามคุณค่าของเรากับงาน อย่างนั้นแล้วเราจะอยู่กันอย่างไรหากวันหนึ่งเราไม่มีงานแล้ว
After Work ยังพาไปสำรวจตำแหน่งงานบางอย่างที่ใช้ทรัพยากรมนุษย์อย่างสิ้นเปลือง หลายคนไม่มีเป้าหมายอะไร ไม่มีงานมาถึงมือ ใช้เวลาแต่ละวันไปกับการนั่งเหม่อมองออกไปที่ไหนสักแห่งหรือสไวป์หน้าจอโทรศัพท์ หากว่าบางคนเฆี่ยนตีตัวเองด้วยการทำงานอย่างหนักเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกเติมเต็มบางอย่าง คนกลุ่มนี้ก็อาจไม่มีภารกิจอะไรนอกเหนือจากงาน หากแต่มันไม่ได้เติมเต็มอะไรให้พวกเขาความทรงพลังอย่างหนึ่งของ After Work คือการที่มันสำรวจความเปราะบางของมนุษย์กับสิ่งที่แสนจะสามัญและอยู่ในเนื้อตัวพวกเราทุกคนอย่างการทำงาน บางคนได้ทำงานที่รัก บางคนจำต้องทำงานที่ไม่ชอบ และบางคนก็เผชิญหน้ากับงานที่รักซึ่งกลายเป็นงานที่บั่นทอนหัวใจเมื่อกินระยะเวลานานไป ทั้งหมดนี้ล้วนเกิดขึ้นภายใต้การพยายามนิยามคุณค่าของเรากับ ‘การทำงาน’ ภายใต้ระบบใหญ่ที่กลืนกินทุกคนอย่างทุนนิยมนี่เอง
รับชมภาพยนตร์ทั้ง 3 เรื่องได้ใน VIPA Film Festival
เทศกาลภาพยนตร์ ‘สะท้อนความเหลื่อมล้ำ’
โดย Thai PBS และ Documentary Club
วันที่ 21-23 กรกฎาคม 2566 ที่โรงภาพยนตร์ Doc Club & Pub.
21 กรกฎาคม 2566 : 18.00 น. ร่วมฟังการเสวนาเรื่อง ‘ความทุกข์ของคนทำงาน ในระบบสังคมทุนนิยม’ กับ รองศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ และ ฉัตรชัย พุ่มพวง ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ต่อด้วยการรับชมภาพยนตร์สารคดี After Work
22 กรกฎาคม 2566 : 15.30 น. รับชมภาพยนตร์ May I Quit Being a Mom!? ต่อด้วยการร่วมฟังการเสวนาเรื่อง ‘วิถีมนุษย์แม่ ดิ้นรนต่อสู้เพื่อลูก วิธีรับมือเชิงปัจเจก และแนวทางแก้ไขในเชิงโครงสร้าง’ กับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ และ ณัฐยา บุญภักดี ดำเนินรายการโดย พนิตชนก ดำเนินธรรม
23 กรกฎาคม 2566 : 15.30 น. รับชมภาพยนตร์เรื่อง Push ต่อด้วยการร่วมฟังการเสวนา ‘ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยในเมือง และการพัฒนาเมืองที่เป็นธรรม’ กับ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
ทุกกิจกรรมเข้าร่วม ‘ฟรี’ ไม่มีค่าใช้จ่าย
จองบัตรได้ตั้งแต่ 14 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป
ลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมได้ที่: LINE @VIPAdotME
สอบถามรายละเอียดได้ที่ Facebook: VIPAdotMe และ Doc Club & Pub.
รวมทั้งสามารถติดตามได้ที่ Thai PBS ช่องหมายเลข 3 และทางออนไลน์
นอกจากนี้ยังสามารถติดตามทุกผลงานได้ทาง #VIPAdotMe
สำหรับท่านที่ไม่สามารถมาเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์ได้ สามารถรับชมการถ่ายทอดสดในช่วงวงเสวนา และร่วมสนุกกับทาง VIPA ได้ในกิจกรรม ‘แชร์สารคดี ดูฟรีที่ VIPA’ เพื่อลุ้นรับของที่ระลึกสุดพิเศษ จำนวน 20 รางวัล สามารถติดตามกติกาการร่วมสนุกได้ทาง www.VIPA.me และช่องทางโซเชียล @VIPAdotMe
ทุกความสุข…ดูฟรีไม่มีโฆษณา
💻 Website: www.VIPA.me
Mobile Application: https://download.vipa.me
App: สำหรับ Apple TV และ Android TV (ค้นหาคำว่า VIPA) LINE @VIPAdotMe: https://lin.ee/hVUc5OJ