บำบัดซึมเศร้าในโลกอวตาร

virtual-reality-02

 

Virtual Reality หรือ VR คือการสร้างความจริงเสมือน ด้วยการสวมอุปกรณ์ครอบศีรษะที่มีหน้าจอแสดงผล และผู้ใช้งานก็สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างสมจริงในโลกจินตนาการ โดยปกติ อุปกรณ์แว่น VR เป็นอุปกรณ์เพื่อความบันเทิง โดยเฉพาะการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ผู้เล่นสวมบทบาทเป็นตัวละครในโลกแห่งเกมได้

การศึกษาล่าสุดของมหาวิทยาลัย University College London (UCL) ประเทศอังกฤษ และ Catalan Institution for Research and Advanced Studies (ICREA) จากบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ซึ่งตีพิมพ์ใน British Journal of Psychiatry Open พบว่า การสร้างความจริงในโลกเสมือน สามารถช่วยเหลือผู้มีอาการซึมเศร้าได้ ด้วยวิธีที่เรียกว่า Virtual Reality Therapy (VRT) ซึ่งปัจจุบันมีการพิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยเหลือผู้มีอาการ Posttraumatic stress disorder (PTSD) ได้

สิ่งที่คนไข้เห็นผ่านแว่น VR คือการสร้างตัวตน (embodiment) ขึ้นในโลกเสมือน หรือสร้างอวตาร ซึ่งคนไข้สามารถมองเห็นและเคลื่อนไหวได้เหมือนอยู่ในโลกจริง โดยเหตุการณ์จำลองที่หนึ่งคือ คนไข้จะรับบทอวตารเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องเข้าไปพูดจาปลอบโยนเด็กน้อยคนหนึ่งที่นั่งร้องไห้อยู่ในโลกเสมือน และบทบาทนี้จะจบลงเมื่อเด็กหยุดร้องไห้

ไม่กี่นาทีถัดมา อวตารของคนไข้จะเปลี่ยนไปสู่มุมมองของเด็ก เพื่อฟังคำปลอบโยนและการแสดงความเห็นอกเห็นใจที่ ‘ตัวเอง’ แสดงออกมาขณะอยู่ในอวตารผู้ใหญ่

ฉากที่ยาวแปดนาทีนี้จะถูกฉายซ้ำสามครั้งในช่วงสามสัปดาห์แรกของการบำบัด ผ่านไปหนึ่งเดือน จากการตรวจสอบอาสาสมัคร 15 คน ในช่วงอายุ 23-61 ปี พบว่า คนไข้เก้าคนมีอาการซึมเศร้าลดลง โดยสี่คนในนี้มีผลวินิจฉัยทางการแพทย์ว่ามีภาวะผิดปกติทางอารมณ์ลดลงจริง

เนื่องจากสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของอาการซึมเศร้าคือ ‘การโทษตัวเอง’ การสร้างโลกเสมือนนี้ขึ้นมีจุดประสงค์ให้คนไข้เข้าใจตนเอง ให้คนไข้แสดงความเห็นอกเห็นใจตัวเอง ลดอคติและการโทษตัวเอง กระทั่งสามารถนำบทเรียนในโลกเสมือนมาใช้ในชีวิตจริงได้

อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เนื่องจากเป็นโครงการขนาดเล็ก และยังไม่มีการควบคุมปัจจัยที่ดีพอ ดังนั้น ทางทีมจึงมีแผนทำการทดลองเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่า VRT สามารถใช้บำบัดผู้มีอาการซึมเศร้าได้จริง


 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
engadget.com
huffingtonpost.com
ucl.ac.uk

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า