12 กุมภาพันธ์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติเอกฉันท์ให้สถานีโทรทัศน์ Voice TV ระงับการออกอากาศ โดยให้มีผลตั้งแต่เวลา 00.01 ของคืนวันที่ 13-27 กุมภาพันธ์ 2562 นับรวมคือ 15 วันที่ Voice TV ต้องอยู่ในสภาวะจอดำ ‘อีกครั้ง’ ที่ต้องพูดว่า ‘อีกครั้ง’ ก็เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ต้องระงับการออกอากาศ หากนับสถิติจะพบว่า Voice TV ถูกสั่งให้ปิดบางรายการรวม 17 ครั้ง และปิดทั้งสถานีรวมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว
โดยการสั่งจอดำในครั้งนี้ กสทช. ระบุว่า เนื่องจากมีการรายการที่เผยแพร่เนื้อหาข้อมูลข่าวสารที่ทำให้สับสน เป็นการเลือกข้าง และเป็นการยั่วยุ จึงให้หยุดปรับปรุง
เมื่อโดนเช่นนี้ผู้บริหารของช่องไม่อาจอยู่นิ่งเฉย นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Voice TV เตรียมอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครอง พร้อมเรียกค่าเสียหาย ซึ่งคำนวณย้อนหลังมากกว่า 100 ล้านบาท ทั้งยังระบุว่า Voice TV อยู่ในสถานะถูกเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะช่วงเวลาใกล้เลือกตั้งเช่นนี้ สื่อมวลชนต้องมีสิทธิเสรีภาพที่จะให้ข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้านแก่ประชาชน
ด้าน พลโทพีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ช่วงการเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตย แต่เสรีภาพต้องใช้ขอบเขตตามกรอบของกฎหมาย ถ้าสงสัยก็สอบถามมาที่ กสทช. ได้ ทุกคนก็ต้องช่วยกันประคับประคอง ไม่ใช่ใกล้เลือกตั้งแล้วจะมีเสรีภาพล้นเกิน
13 กุมภาพันธ์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ออกแถลงการณ์ร่วม ต่อเรื่องนี้ว่า ให้ กสทช. หยุดลิดรอนเสรีภาพสื่อและประชาชนและทบทวนคำสั่งพักใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ Voice TV พร้อมทั้งเรียกร้องให้ กสทช. ทำหน้าที่ในฐานะองค์กรอิสระอย่างแท้จริง โดยใช้อำนาจด้วยความระมัดระวังด้วยการเร่งทบทวนคำสั่งพักใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ Voice TV เพื่อให้สังคมไทยได้เดินหน้าสู่การเลือกตั้งด้วยบรรยากาศที่เกื้อหนุนและเปิดกว้างในการแสดงความคิดความเห็นของสื่อมวลชนและประชาชน
นี่คือสถานการณ์อย่างย่นย่อที่เกิดขึ้นในช่วง 2 วันที่ผ่านมา แน่ละเรื่องนี้ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญเฉพาะในมุมของนักวิชาชีพสื่อมวลชนเท่านั้น แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังท้าทายความคิดอ่านของนักวิชาการด้านสื่อ เราจึงตั้งคำถามไปยังอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์สื่อสารมวลชนในฐานะที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพนี้โดยตรงว่า มติเอกฉันท์ของ กสทช. กับการสั่งจอดำ Voice TV เป็นเวลา 15 วันนั้น พวกเขาคิดเห็นเช่นไร
รศ.ดร.นรินทร์ นำเจริญ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“โดยพื้นฐานของประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การแสดงความคิดเห็นต่างๆ ของสื่อจึงได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญทุกฉบับ รวมถึงฉบับปัจจุบัน สื่อไม่จำเป็นต้องแสดงความคิดเห็นที่ถูกใจผู้มีอำนาจ หน้าที่ของผู้มีอำนาจคือปกป้องให้สื่อได้แสดงความคิดเห็น แม้ความคิดเห็นนั้นตนจะไม่เห็นด้วยก็ตาม การสั่งปิดสื่อที่คิดต่าง เป็นการละเมิดต่อสิทธิในการรับรู้ของประชาชน และเป็นอันตรายยิ่งกว่าในการปกครองแบบประชาธิปไตย
“ต่อคำถามว่า ทำไมการสั่งระงับออกอากาศครั้งเเล้วครั้งเล่าที่เกิดขึ้นกับ Voice TV จึงมักเป็นเรื่องธรรมดา และไม่มีความรู้สึกว่านี่คือการ “คุกคามสื่อ” ตอบว่า Voice TV แสดงความคิดเห็นที่ไม่ได้มีแต่ผู้มีอำนาจเท่านั้นที่ไม่พอใจ แต่ยังไปถึงคนชั้นกลางอีกจำนวนมากซึ่งมีอำนาจทางสังคมและเศรษฐกิจ การไม่สามารถถอดทนฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหรือขัดผลประโยชน์ของตนได้ ทำให้คนชั้นกลางเหล่านี้บางส่วนถึงขั้นให้การสนับสนุน และอีกจำนวนมากที่เพิกเฉยต่อการคุกคามสื่อที่เห็นต่างจากตน
“การคุกคามสื่อที่ได้รับการรับรองให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะยอมรับได้ เราต้องไม่เลือกปฏิบัติว่าใครที่พูดแล้วเราสบายหู หรือไม่ยอมพูดหรือวิพากษ์วิจารณ์อะไรเลยที่แสดงถึงจุดยืนทางการเมือง เป็นสื่อที่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แต่ถ้าสื่อไหนที่พูดหรือแสดงจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างจากเราจะต้องถูกสั่งปิด หรืออย่างน้อยก็ละเลยเพิกเฉยต่อการที่สื่อถูกคุกคาม เป็นเรื่องทีอันตรายอย่างยิ่ง เพราะเป็นการยอมรับการคุกคามต่อสิทธิที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน อันเป็นพื้นฐานที่สุดของการปกครองแบบประชาธิปไตย นักวิชาการ นักวิชาชีพ รวมถึงพลังประชาชน ทั้งในกลุ่มที่เห็นด้วยหรือเห็นแย้งกับจุดยืนของ Voice TV จะต้องร่วมกับปกป้อง Voice TV ไม่ใช่เพียงการปกป้องสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการปกป้องสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นแก่นสำคัญของประชาธิปไตย”
สมัชชา นิลปัทม์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
“ประเด็นที่ กสทช. บอกว่าได้รับการร้องเรียนนี่มันก็สะท้อนว่า สิ่งที่เขานำเสนอผ่านสื่อของเขามันคงถูกใจถูกปากกลุ่มเป้าหมายของเขาฝ่ายหนึ่ง แต่ในด้านกลับมันก็อาจไม่ถูกใจผู้ชมที่ไม่ได้คิดแบบเขา เป็นกลุ่มคนที่คิดแตกต่างไป อันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองของเราที่มันได้แบ่งคนออกเป็นขั้วๆ ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา
“สมัยที่บ้านเมืองความคิดทางการเมืองยังไม่แตกเป็นเสี่ยงๆ เรารวมพลังกันได้ สื่อมีตำแหน่งแห่งที่ในฐานะของตัวแทน เพราะว่าจุดยืนของสื่อส่วนใหญ่และองค์กรวิชาชีพสื่อมันมีจุดยืนต้านเผด็จการเหมือนกัน ดังนั้นเวลาใครจะปิดสื่อเราก็อ้างว่า “เสรีภาพสื่อ คือ เสรีภาพประชาชน” ซึ่งมันก็สมเหตุสมผลและมีความชอบธรรมในบริบทแบบนั้น วรรคทองข้างต้น มันมีนัยของความเป็นตัวแทน เป็นเอเจนท์อยู่ มันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในห้วงเวลานั้นเพราะมีความชอบธรรมในฐานะ ‘ตัวแทน’ รองรับ
“แต่ก็ต้องมองว่าแล้วความชอบธรรมนี้มันหายไปไหน ต้องไม่ลืมว่ากว่าทศวรรษ สื่อเราเคยมาถึงจุดที่เรียกร้องให้ ‘เลือกข้าง’ ความเป็นสถาบันของตัวแทนของประชาชนมันเริ่มค่อยๆ จางคลายลงไปด้วย ก็เพราะเดิมประชาชนมันรวมกันเป็นก้อนเดียวชัดเจน ไม่ได้แตกเป็นเสี่ยงๆ แบบนี้ สื่อเองก็เช่นกัน แบ่งออกเป็นฝ่ายๆ ซึ่งมวลชนแต่ละฝ่ายก็รู้ว่าว่าใครเป็นฝ่ายไหน
“ความรู้สึกเป็นกลุ่มก้อนทางอุดมการณ์ทางการเมือง มันใหญ่เลยมีความเป็น ‘สถาบัน’ ของสื่อในฐานะตัวแทนของประชาชนที่จะต้องร่วมกันปกป้องมันก็จางคลายลงไปด้วย นี่คือผลข้างเคียงด้านหนึ่งของการ ‘เลือกข้าง’ ก็คือเราแทบไม่เหลือ ‘พื้นที่ร่วม’ หรือ ‘พื้นที่กลาง’ ร่วมกันของคนที่แตกต่างทางความคิดเลย
“ส่วนประเด็นการกำกับดูแลสื่อ ผลดังกล่าวมันก็ส่งผลให้การควบคุมกันเองขององค์กรวิชาชีพมันไม่มีความหมายมานานแล้ว ความพยายามควบคุมกันเองแต่เดิมก็เป็นไปอย่างทุลักทุเลพออยู่แล้ว ไม่เคยมีฉันทามติภายในสมาชิก พอพวกเราคุมกันเองไม่ได้ มันก็นำไปสู่อำนาจอื่นๆ พยายามมาควบคุมเรา แล้วมันก็เป็นอย่างนี้”
อังคณา พรมรักษา ภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
“สงสัยและเกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น นั่งไล่ดูข้อมูลรวมทั้งการแถลงข่าวของ กสทช. แล้วมีข้อสังเกตว่า ทำไมถึงได้มีการพิจารณาอย่างเร่งด่วนในช่วงใกล้เลือกตั้ง ซึ่งประชาชนน่าจะมีพื้นที่ในการเปิดรับข่าวสารจากนโยบายของพรรคการเมืองเพื่อประกอบการตัดสินใจ แม้ กสทช. จะอธิบายว่า ทั้ง 2 รายการนี้ ขัดต่อกฎหมาย นำเสนอเนื้อหาการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ ยั่วยุ ให้เกิดความแตกแยกในสังคม ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว จนถึงเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
“ส่วนตัวมอง 2 ลักษณะคือ กสทช. กำลังจำกัดเสรีภาพสื่อ ในการเป็นพื้นที่สำหรับทุกฝ่ายได้มีโอกาสนำเสนอแนวคิดไม่ใช่เฉพาะพรรคการเมือง แต่รวมถึงการจำกัดสิทธิของประชาชนที่จะร่วมในการนำเสนอความคิดและตัดสินใจด้วย ในส่วนของการเลือกตั้งมันก็ชัดแล้วว่า ประชาชนต้อง ‘เลือก’ ซึ่งหน้าที่ของสื่อก็ต้องนำเสนอข้อมูลให้ประชาชนตัดสินใจเลือก การกระทำของ กสทช. ครั้งนี้ จึงย้ำการวนลูปของการปฏิรูปสื่อที่ไม่ไปไหนไกล แม้เราจะเคยตื่นเต้นกันว่า องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญจะเข้ามาเป็นกลไกกำกับดูแลสื่อให้มีสิทธิและทำหน้าที่อย่างมีเสรีภาพได้
“แต่อีกส่วนหนึ่งก็มองว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้ไม่สามารถปิดกั้นข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนจะแสวงหา หรือจำกัดไม่ให้สื่อนำเสนอข้อมูลได้หรอก เพราะช่องทางอื่นทั้งออนไลน์ ดาวเทียม ก็เป็นทางเลือกที่สื่อจะทำได้”
ธีระพล อันมัย สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
“การควบคุมและปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน และของสื่อมวลชนเป็นหลักการสำคัญข้อหนึ่งของรัฐที่ปกครองด้วยเผด็จการ โดยมีข้ออ้างคือเพื่อความสงบ หรือไม่ก็เพื่อป้องกันความแตกแยกวุ่นวายแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่เผด็จการจะนิ่งเฉยต่อสื่อที่ประจบสอพลอ หรือเข้าข้างรัฐเผด็จการ เพราะนั่นเป็นเครื่องมือสำหรับโฆษณาชวนเชื่อชั้นดี ต่อให้มีการยุยงปลุกปั่นหรือสร้างความแตกแยก แต่ถ้าเป็นไปตามแนวทางของตน ก็ไม่สนใจจะปิดกั้นหรือควบคุม
“ในวงวิชาการสื่อสารมวลชนเองก็น่าเป็นห่วง เพราะในช่วงการชุมนุม 2557 มีนักวิชาการด้านนี้จำนวนมากออกมาเป่านกหวีดเปิดทางให้คณะรัฐประหาร เมื่อเวลาผ่านไปพวกครูบาอาจารย์นิเทศศาสตร์เหล่านั้นก็อ้อมๆ แอ้มๆ สอนหนังสือไป ลุ้นไปว่าเมื่อไรลูกศิษย์ลูกหาที่คิดต่างและกล้าแสดงออกซึ่งความคิดเรื่องเสรีภาพจะถูกคณะรัฐประหารคุกคามหรือฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล และก็ไม่เห็นบรรดาอาจารย์ที่เคยเป่านกหวีดเหล่านั้นออกมาปกป้องเสรีภาพของนักศึกษาหรือว่าลูกศิษย์ของพวกเขา ราวกับว่าภารกิจทางการเมืองของท่านทั้งหลายมันสิ้นสุดที่การไล่อิปูว์นั่นล่ะ จากนั้นก็เข้าวัดทำบุญ สวดมนต์
“ผมอยากเห็นนักวิชาการสื่อสารมวลชน นิเทศศาสตร์ออกมาปกป้องเสรีภาพสื่อทุกสื่อ ไม่ว่าจะคุณจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพวกวเขา แต่คุณต้องเห็นด้วยในหลักการเสรีภาพในการแสดงออก แต่ผมก็ไม่กล้าหวัง ไม่คิดฝันว่าจะได้เห็น”
ผศ.ดร.ภัทรา บุรารักษ์ สาขาวิชาการสื่อสารสื่อใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา
“คำถามที่ว่าทำไมประชาชนหรือสังคม ไม่รู้สึกร้อนหนาวกับการเกิดขึ้นกับ Voice TV และรู้สึกถึงการเป็นการคุกคามสื่อน้อยอาจเป็นเพราะ
“หนึ่ง Voice TV ยังแสดงฐานะสื่อมวลชนที่เป็นสื่อมวลชนข่าวตามแนวคิดหลักการทั่วไปได้ไม่มากนัก ทำให้การรับรู้ของสังคมมองว่าเป็นสื่อเฉพาะกลุ่ม หรือเป็น mouthpiece ของกลุ่มนั้นๆ เช่นเดียวกับที่มองสื่อของกรมประชาสัมพันธ์ ช่องเนชั่น หรือรายการทุกวันศุกร์ ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ คนก็จะมองว่าเป็นการเล่นเกมของสองฝ่ายมากกว่า จึงทำได้แต่การเป็นผู้เฝ้าดู และรับรู้ความเป็นไป
“สอง ความเป็นเจ้าของช่องที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับนักการเมืองหรือฝ่ายการเมืองชัดเจน ทำให้สังคมคิดว่านี่คือเป็นการกลั่นแกล้งหรือกีดกันคู่แข่งขันทางการเมือง เครื่องมือของกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามมากกว่าจะมองว่าเป็นการคุกคามสื่อ หรือการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของสื่อและสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน (ซึ่งมันก็เป็นผลมาจากข้อที่หนึ่ง) ดังนั้นจะทำอย่างไร ให้สังคมเชื่อว่านี่คือการคุกคามสิทธิและเสรีภาพของเราเอง
“ในฐานะเป็นนักวิชาการก็ยังยืนยันว่าไม่เห็นด้วย เพราะสื่อมวลชนต้องมีสิทธิและเสรีภาพในการนำเสนอข่าวหลากหลายมุมมองให้ประชาชนได้รับรู้ โดยเฉพาะการใช้อำนาจภายใต้สถานการณ์ทางสังคมแบบนี้ ด้วยเหตุผลที่ไม่ชัดเจน คลุมเครือ ของ กสทช. เช่นนี้ มันสะท้อนให้เห็นว่า อำนาจขององค์กรอิสระ ไม่มีความเป็นอิสระจริง ทำงานเอื้อต่อการอยู่ฝ่ายผู้มีอำนาจมากกว่าที่จะเป็นหลักและคุ้มครอง ปกป้องสิทธิและเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนได้พึ่งพิงได้อย่างแท้จริง
“นักวิชาชีพก็ควรออกมาแสดงท่าทีให้ชัดเจนอย่างเข้มแข็ง ถ้าหากยังมองว่าเป็นเรื่องคนอื่น ไม่ใช่ตัวเอง ต่างคนต่างทำของตัวเองไป แม้ในยามที่ถูกคุกคาม รุกรานเช่นนี้ ก็ยากที่จะต่อรองเพื่อรักษาหัวใจสำคัญของการมีอยู่ของสื่อมวลชน นั่นก็คือสิทธิและเสรีภาพของสื่อ คือสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
“สรุปท่าทีคือ ต้องไม่เงียบ ต้องต่อรอง ต่อสู้ จะด้วยวิธีการใดก็ตาม ก็ต้องแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนควรจะแสดงบทบาทและหน้าที่ของการเป็นสื่อตามมาตรฐานวิชาชีพอย่างสูงสุด แม้อยากจะเชียร์ใครแค่ไหนก็ตาม เพราะหากสื่อมวลชนเลือกที่จะนำเสนอแบบชี้นำตามวาระของตนเองมากจนเกินไป ภาวะไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับการที่สื่อถูกคุกคามก็จะเกิดขึ้น และจะยิ่งมากขึ้น จนสถานะของสื่อมวลชนไม่ใช่สถาบันที่น่าเชื่อถืออีกต่อไป”
มัทนา เจริญวงศ์ ภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
“ไม่เห็นด้วยกับการสั่งปิดสื่อไม่ว่าจะเป็นสื่อของใคร โดยขาดคำอธิบายที่ชัดเจน เพราะปัญหาหนึ่งของข้อกฎหมายที่รัฐบัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมสื่อ คือ มักจะบัญญัติเป็นข้อความที่มีความหมายเชิงนามธรรม จึงเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายสามารถตีความได้อย่างอิสระ เช่น ขัดต่อความมั่นคงของชาติ เป็นภัยต่อศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงาม
“เมื่อไม่อธิบายให้ชัดเจนว่า อะไรหรือข้อความใดที่ Voice TV ออกอากาศแล้ว กสทช. เห็นว่าเป็นเนื้อหาที่อาจต้องห้ามมิให้มีการออกอากาศตามกฎหมาย และขัดต่อเงื่อนไขในการประกอบกิจการโทรทัศน์ของบริษัทฯ โดยเฉพาะเมื่อข่าวที่สถานีรายงานก็เป็นข่าวที่สื่ออื่นรายงานเช่นเดียวกัน หรือถ้าท่าทีการรายงานของ Voice TV คือปัญหา กสทช. ก็ต้องอธิบายว่าท่าทีที่ว่าคืออะไร ขัดอย่างไร มิเช่นนั้น สังคมบางส่วนก็จะเกิดคำถามต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ซึ่งในทางกฎหมายถือว่าเป็นหน่วยงานอิสระ ไม่ขึ้นกับใคร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจแทรกแซงหรือคุกคามสื่อ
“ยิ่งในกรณีที่สถานีที่โดนสั่งปิดเป็นสถานีที่สังคมรับรู้อย่างกว้างขวางว่าใครคือเจ้าของ ประกอบกับช่วงเวลานี้ใกล้การเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง การหลีกเลี่ยงเสียงวิจารณ์ยิ่งเป็นไปได้ยาก การจะออกคำสั่งใดๆ ที่สุ่มเสี่ยงต่อการรับรู้และเข้าใจว่าเป็นการคุกคามเสรีภาพสื่อยิ่งต้องรอบคอบ เพราะประชาชนต้องการข่าวสารที่สมดุลและเป็นธรรม เพื่อการตัดสินใจทางการเมืองบนเงื่อนไขที่ประชาชนก็รู้ดีว่าเรากำลังอยู่ในยุคที่การเมืองเป็นอย่างไร ใครเป็นคนของใคร เรามีสื่อที่สนับสนุนฝ่ายใด สื่อมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร
“ดังนั้น ในทางกลับกัน สื่อก็ควรรายงานคำชี้แจงของ Voice TV ที่ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และคณะอนุกรรมการด้านผังรายการฯ เช่นเดียวกัน เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจของปัจเจกแต่ละคนว่าจะคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร”
อ้างอิง |