พินิจภาพแขวนในห้องตัวละคร Wall Street: Money Never Sleeps

หลังจากต้องรับโทษจากการซื้อขายโดยใช้ข้อมูลภายใน (Insider Trading) ในปี 2001 กอร์ดอน เก็คโค (รับบทโดย ไมเคิล ดักลาส) ก็ได้อิสรภาพกลับคืนมา เนคไทหนึ่งเส้น นาฬิกาหนึ่งเรือน แหวนหนึ่งวง คลิปหนีบเงินสีทองหนึ่งอัน และโทรศัพท์บุโรทั่งอีกหนึ่งเครื่อง คือทรัพย์สินถูกกฎหมายทั้งหมดที่กอร์ดอนได้คืนจากทัณฑสถาน เขาเดินพ้นเขตขัณฑ์ของลูกกรงออกมาเพื่อพบกับความเดียวดาย เพราะไม่มีสิ่งมีชีวิตใด แม้แต่ชีวิตเดียวที่มาต้อนรับการกลับมาของเขา

ทั้งหมดนี้เป็นฉากเปิดเรื่องภาพยนตร์ภาคต่ออย่าง Wall Street: Money Never Sleeps (2010) ที่เป็นการกลับมาสานต่อโลกแห่งความโลภของ Wall Street (1987) อีกครั้ง

ภาพยนตร์ตัดกระโดดมาที่ปีหายนะของโลกการเงินอย่างปี 2008 ฉายภาพวินนี (รับบทโดย แครีย์ มัลลิแกน) ลูกสาวแท้ๆ ของกอร์ดอน ผู้เกลียดกลัวเงินเข้าไส้ จากการมีพ่อซึ่งพร้อมทำทุกวิถีทางให้ได้เงิน ไม่ว่ามันจะเป็นทางสุจริตหรือทุจริต จนเธอโทษพ่อว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้น้องชายของเธอต้องตายเพราะขาดการดูแลเอาใจใส่จนต้องหันไปใช้ยาเสพติด

แต่ความเกลียดก็ดูจะไม่ต่างกับอะไรอื่นๆ ที่พร้อมเสมอที่จะนำพาไปสู่ความรัก วินนีลงเอยด้วยการคบหากับ เจค มัวร์ (รับบทโดย ไชอา ลาบัฟ) หนุ่มการเงินไฟแรง ผู้เชื่อในพลังงานฟิวชั่น หนึ่งในนวัตกรรมพลังงานสะอาด อันจะกลายเป็นฟองสบู่ในเวลาต่อมา (ตามเนื้อเรื่อง)

เจคจะเป็นตัวละครสำคัญในการดำเนินเรื่องในภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่จะพาผู้ชมเดินเข้าออกห้องส่วนตัวของตัวละครตัวอื่นๆ และยังเป็นตัวเข้าปะทะอารมณ์ไล่ตั้งแต่ความรัก ความโลภ ไปจนถึงความเคียดแค้น อย่างไรก็ดี อีกสิ่งหนึ่งที่ภาพยนตร์ใช้ในการบรรยายสถานการณ์ความเป็นไปของแต่ละฉาก ตลอดจนถึงบุคลิกนิสัยของตัวละครไว้อย่างแนบเนียน คือสิ่งของหรูหราที่ถูกแขวนไว้บนผนังกำแพงอย่าง ‘ภาพงานศิลปะ’

ห้องประชุม

หลังจากภาพยนตร์ตัดกระโดดมาที่ปี 2008 ฉากแรกๆ ที่ภาพยนตร์แสดงให้ผู้ชมเห็น เป็นฉากการประชุมหาแหล่งลงทุนของ Keller Zabel บริษัทวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ในวงการ ในการประชุมดังกล่าวเกิดการไม่ลงรอยกันระหว่างเจคและเพื่อนร่วมงาน สิ่งที่เกิดขึ้นในฉากนี้ดูจะไม่ต่างอะไรจากผลงาน ‘Form No. 20’ ของ โจเซฟ ชูลท์ซ (Josef Schultz) ศิลปินภาพถ่ายชาวโปแลนด์ ที่แขวนอยู่ทางด้านหลัง ซึ่งแสดงภาพมอเตอร์เวย์ 2 เส้นที่ลู่หนีออกจากกัน

Form No. 20 (2007), Josef Schultz

ภาพของชูลท์ซ จะใช้เทคนิคในการลดทอนสถาปัตยกรรมให้เหลือเพียงแต่ตัวโครงสร้างบริสุทธิ์ จนไม่สามารถบอกได้ว่าสถาปัตยกรรมดังกล่าวตั้งอยู่ที่ไหน มีอยู่จริงหรือไม่ โดยชูลท์ซได้ทำการย้อนกระบวนการของภาพถ่ายกลับไปหาตัวแนวความคิดแรกเริ่ม และภาพการออกแบบ (ผ่านคอมพิวเตอร์) ดั้งเดิมของสถาปัตยกรรม กล่าวคือ ชูลท์ซได้ทำให้สิ่งที่ตั้งอยู่อย่างรูปธรรม กลับไปเป็นแนวคิดนามธรรมอันเป็นตัวตั้งต้นในการประกอบสร้างสถาปัตยกรรมนั้นๆ ขึ้นมา ในแง่นี้ งานชิ้นนี้จึงไม่ได้เพียงแต่บรรยายสถานการณ์ที่ไม่ลงรอยกันระหว่างเจคและเพื่อนร่วมงานเพียงเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงการไหลย้อนกลับมายังจุดเริ่มต้นของบริษัททุกบริษัทที่ดำรงอยู่อย่างเป็นรูปธรรม นั่นก็คือ แหล่งทุนหรือ ‘ทุน’ อันจะเป็นสิ่งซึ่งทำให้แนวคิดริเริ่มของบริษัทเป็นไปได้

ห้องทำงานของ หลุยส์ ซาเบล

หลุยส์ ซาเบล (รับบทโดย แฟรงค์ ลานเจลลา) เจ้าของบริษัท Keller Zabel ผู้เป็นทั้งเจ้านายและคนที่เจครักเสมือนพ่อแท้ๆ ได้เรียกเจคเข้าไปคุยส่วนตัวที่ห้องทำงานของเขา จากนั้นจึงได้ยื่นเช็คมูลค่ากว่าล้านดอลลาร์ให้เป็นเงินโบนัสให้เจคแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย โดยหนังได้เฉลยให้เห็นในภายหลังว่า บริษัท Keller Zabel ของเขากำลังเผชิญวิกฤติอย่างรุนแรง จากการถือหนี้เสียไว้จำนวนมาก ส่งผลให้เขาเลือกที่จะจบชีวิตด้วยการกระโดดตัดหน้ารถไฟใต้ดินในที่สุด

ภายในห้องของเขามีชิ้นงานสำคัญอยู่สองชิ้นด้วยกัน ชิ้นแรกคือ L’Ange หรือชื่อภาษาอังกฤษ The Angel (1960) ของ มาร์ค ชากาล (Marc Chagall) ในภาพดังกล่าวจะมีนางฟ้าปีกหัก นั่งคอตกอยู่บนหลังสัตว์สี่ขา (อาจเป็นได้ทั้งม้า ลา หรือไม่ก็วัว) ในลักษณะที่ไม่สามารถบังคับเจ้าสัตว์ตัวนี้ได้อย่างแน่นอน และในขณะที่ทางด้านขวาบนมีดวงอาทิตย์ที่กลมเต็มดวง แต่ก็มิได้ส่องประกายรัศมีความสว่างให้แก่ภาพแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม บรรยากาศภายในภาพชิ้นนี้กลับถูกปกคลุมไปด้วยความมืดมัว ราวกับว่าแท้จริงแล้ว ดวงอาทิตย์กำลังสาดส่องความมืด หาใช่ความสว่างไม่

The Angel (1960), Marc Chagall

ภาพดังกล่าวไม่สามารถหาทิศทางที่แน่นอนได้ เพราะในขณะที่สัตว์สี่ขากำลังเคลื่อนที่ไปข้างหน้า แต่นางฟ้ากลับหันไปข้างหลัง ส่วนดวงอาทิตย์ที่ค้างอยู่ทางด้านบนก็ไม่สามารถบอกได้ว่ามันกำลังจะตกหรือกำลังจะขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้ทุกสิ่งดูเหมือนกำลังจะต้องแยกออกจากกัน เหมือนกับซาเบลที่กำลังจะต้องแยกขาดออกจาก Keller Zabel บริษัทที่เขาทุ่มพลังให้มาตลอดชีวิต ในแง่นี้ ซาเบลจึงดูจะไม่ต่างอะไรกับภาพวัวกระทิงแก่ที่ถูกแขวนหันหน้าเข้าหาโต๊ะทำงานของเขา

Untitled No. 153 (Buffalo) (2008), Simen Johan

ภาพ Untitled No. 153 (Buffalo) ผลงานปี 2008 ของ ซีมัน โยฮัน (Simen Johan) ทุกอย่างในภาพมีแต่ความเสื่อมถอย ตัวควายไบซันแก่ สัตว์ตระกูลวัวป่าประจำพื้นถิ่นอเมริกาเหนือเองก็เป็นสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ ผิวของมันแห้งแตกกร้าน สภาพร่างกายถดถอยไม่ต่างไปจากซากปรักหักพังที่ห้อมล้อมมันอยู่ คำพูดที่ซาเบลพูดกับเจคว่า ‘ฉันมันเป็นแค่ไดโนเสาร์แก่’ ดูจะเป็นสัญญาณของความต้องการที่จะวางมือ และพร้อมที่จะสูญพันธุ์เหมือนกับตัวไบซันที่อยู่ในภาพ

ภาพดังกล่าวยังอาจอธิบายสภาวะตลาดหุ้นในขณะนั้นได้อีกด้วย เพราะในปี 2008 เป็นช่วงที่วงโคจรของสภาวะตลาดกระทิงกำลังจะหมดลง กระทิงในตลาดกำลังอ่อนล้า สิ้นแรง และกลายเป็นขาลงไปในที่สุด

ห้องที่บ้านของ เบรตตัน เจมส์

หลังจากการตายของซาเบล เจคได้สืบหาต้นตอจนพบว่าเบื้องหลังการตายของซาเบล มาจากการที่ เบรตตัน เจมส์ (รับบทโดย จอช โบรลิน) เจ้าของบริษัท Churchill Schwartz โน้มน้าวไม่ให้มีการช่วยเหลือบริษัท Keller Zabel และได้กำไรจากการล้มของ Keller Zabel จำนวนมหาศาล

เจคได้ดำเนินการปล่อยข่าวลวงเข้าสู่ตลาด เพื่อเป็นการแก้แค้นให้แก่ซาเบล เจ้าของบริษัทที่ตนรักเหมือนเป็นพ่อแท้ๆ แต่การแก้แค้นนี้กลับทำให้เบรตตัน เกิดความประทับใจในตัวเจค จึงได้เชิญเจคมาที่บ้านเพื่อยื่นข้อเสนอให้เจคมาทำงานกับตน ในห้องของเบรตตัน มีภาพงานศิลปะอยู่จำนวนมาก ราวกับเป็นห้องแกลเลอรีส่วนตัวของเขา

หนึ่งในภาพที่เบรตตันภูมิใจนำเสนอให้แก่เจค คือ ภาพถ่ายปี 1948 ที่ โรลลี ฟรี (Rollie Free) ควบมอเตอร์ไซค์เพื่อบิดทำลายสถิติความเร็วโลก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ฟรีก็ยอมทำทุกอย่าง เขาถอดชิ้นส่วนมอเตอร์ไซค์ที่ไม่จำเป็นออกไป เขาลงทุนถึงขนาดยอมใส่ชุดว่ายน้ำ เพื่อลดแรงต้านลมให้น้อยที่สุด

Rollie Free ขณะกำลังพยายามทำลายสถิติความเร็วในปี 1948

การยอมทำทุกอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของฟรี ดูจะเป็นสิ่งที่สะท้อนอยู่ในตัวของเบรตตันอย่างชัดเจน เพราะเป้าหมายสำคัญที่สุดของการลงทุนหรือทำธุรกิจ ก็คือ การทำกำไร และเมื่อมีกำไรแล้วก็ต้องมีกำไรให้มากขึ้นกว่าเดิม และในการทำกำไรของเบรตตันก็ไม่จำเป็นต้องใส่ใจว่าจะทำให้ใครต่อใครต้องตาย

“Saturno Devorando A Su Hijo…โกยา สร้างผลงานชุด ‘Black Paintings’ ไว้ทั้งหมด 15 ชิ้นด้วยกัน ในช่วงบั้นปลายชีวิต … 14 ชิ้นอยู่ที่ปราโด นี่คือชิ้นที่ 15 ที่หายไป” คือประโยคแรกที่เบรตตันพูดกับเจค ในขณะที่คีบซิการ์อยู่ในมือ

Saturno Devorando A Su Hijo หรือ Saturn Devouring His Son เป็นภาพที่ ฟรานซิสโก โกยา (Francisco Goya) จิตรกรหูหนวก วาดไว้บนผนัง ในบ้านซึ่งห่างไกลผู้คนของเขา ผลงานชุด Black Paintings นี้ โกยาไม่ได้มีความต้องการที่จะเผยแพร่ต่อสายตาสาธารณชนแต่อย่างใด เขาเริ่มวาดมันขึ้นในปี 1819 ซึ่งเป็นปีที่เขาเกิดป่วยอย่างรุนแรง

ในภาพดังกล่าวกำลังแสดงภาพ แซทเทิร์น (คือเทพเจ้าโครนอสในปกรณัมกรีก) กำลังกินแขนซ้ายของลูกตัวเอง หลังจากได้กินส่วนแขนขวาและส่วนหัวไปเรียบร้อยแล้ว

Saturn Devouring His Son (1819–1823), Francisco Goya

ตามปกรณัมแล้ว สาเหตุที่แซทเทิร์นต้องกินลูกตัวเอง เป็นเหตุมาจาก โชคชะตาของแซทเทิร์นนั้น ถูกสาปให้ต้องถูกฆ่าด้วยลูกของตัวเอง ทำให้ทุกครั้งที่ลูกคลอดออกมา แซทเทิร์นจะชิงฆ่าลูกตัวเองก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงชะตากรรมของตนเอง

จนแล้วจนรอด ในท้ายที่สุดแล้ว แม้แต่เทพเจ้าก็ไม่อาจฝืนชะตากรรมตนเองได้ เพราะเมื่อเทพีอ็อปส์ (เทียบเท่าเทพีรีอาในปกรณัมกรีก) ผู้เป็นทั้งแม่และเมียของแซทเทิร์น ได้นำเอาลูกอย่าง เทพจูปิเตอร์ (เทียบเท่าเทพเจ้าซุสในปกรณัมกรีก) ไปซ่อน จนท้ายที่สุด จูปิเตอร์ก็ได้ฆ่าแซทเทิร์นและแย่งชิงบัลลังก์มาได้สำเร็จ ตามที่โชคชะตาได้กำหนดไว้

ทั้งหมดนี้ดูจะอธิบายเหตุการณ์ที่เบรตตันหักหลังเจคได้เป็นอย่างดี จากการที่เบรตตันได้โน้มน้าวให้นักลงทุนเจ้าใหญ่จากจีน ไม่นำเงินไปลงทุนในโครงการฟิวชั่นส์ ตามที่ได้ตกลงไว้กับเจค กล่าวคือ ถ้าเราให้เทพแซทเทิร์นเท่ากับเบรตตัน เจคผู้เป็นลูก (น้อง) ของเบรตตัน ก็ไม่ต่างอะไรกับลูกของแซทเทิร์นที่กำลังถูกกินอยู่

กระนั้น ในทำนองเดียวกับปกรณัมที่ไม่มีใครสามารถฝืนโชคชะตาได้ เพราะเมื่อการณ์เป็นดังนั้นแล้ว เจคจึงได้โอกาสแก้แค้นเบรตตัน ด้วยการนำข้อมูลการทุจริตของเบรตตันไปให้วินนี (ลูกสาวของกอร์ดอน และแฟนสาวของเจค) ซึ่งประกอบอาชีพเป็นผู้สื่อข่าวออนไลน์ เผยแพร่ข้อมูลนี้ต่อสาธารณชน อันจะนำไปสู่จุดจบในชีวิตของแบรตตัน ดังที่ภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็นในตอนท้าย ในฉากหลังจากที่เบรตตันไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเครือข่ายของเขา ทำให้เขาหันไปทำลายรูปภาพชิ้นนี้อย่างรุนแรง

ในอีกด้านหนึ่ง ภาพนี้ยังสามารถบรรยายสถานการณ์ระหว่างเจคกับกอร์ดอน ว่าที่พ่อตาของเขาได้อีกด้วย จากการที่กอร์ดอนได้หลอกใช้ให้เจคโน้มน้าววินนี ให้ถอนเงินกว่า 100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งกอร์ดอนได้ฝากไว้ในธนาคารที่สวิตเซอร์แลนด์ ในนามของวินนีผู้เป็นลูกสาว กอร์ดอนได้วางแผนในการฟอกเงินก้อนนี้โดยการหลอกว่าจะนำไปลงทุนในโครงการพลังงานฟิวชันส์ของเจค แต่ในท้ายที่สุด กอร์ดอนกลับเชิดเงินก้อนนี้ไปเปิดบริษัทการเงินของตนเอง ในแง่นี้ กอร์ดอนจึงไม่ต่างอะไรกับที่แซทเทิร์น ผู้เป็นพ่อทำ ที่ต้องฆ่าทายาท เพื่อไม่ให้เสียบัลลังก์ของตัวเองไปแต่อย่างใด

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า