ช่วงเวลาต้นฤดูร้อนเช่นนี้ ดูเหมือนความร้อนระอุจะไปตกที่มหาอาณาจักรวัดพระธรรมกาย เมื่อ ‘ธัมมชโย’ และศิษยานุศิษย์ทั้งหลายกำลังเผชิญกับการกดดันยืดเยื้อจากเจ้าหน้าที่ดีเอสไอกว่า 4,000 นาย ซึ่งอาศัยอำนาจพิเศษจาก ม.44 ของรัฐบาล คสช.
สถานการณ์ความร้อนแรงก่อนหน้านี้ปรากฏเค้าลางให้เห็นต่อเนื่องมาตลอด 2-3 ปีแล้ว นับตั้งแต่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อายัดทรัพย์พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และขอให้มีการตรวจสอบที่ดินวัดพระธรรมกาย
ความขัดแย้งดังกล่าวกินเวลาสืบเนื่องต่อมา จนกระทั่งมีผู้เสียหายในคดีเจ้าหน้าที่ยักยอกเงินจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ฟ้องร้องเอาผิดกับเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของวัดพระธรรมกายที่ต้องรับมือกับความกดดัน หากแต่ตลอดเวลาแห่งการเติบโตของวัดพระธรรมกายก็มักจะมาพร้อมกับประเด็นท้าทายใหม่ๆ อยู่เสมอ หรือกล่าวได้ว่านับตั้งแต่ที่มีการคิดค้น ‘วิชชาธรรมกาย’ พิมพ์ขึ้นเป็นตำราแล้ว
หากจะสืบสาวเรื่องราวของมหาอาณาจักรสำนักนี้ เราสามารถแบ่งยุคเพื่อเข้าใจลักษณะเฉพาะของวัดพระธรรมกายได้อย่างกว้างสี่ยุค โดยพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวัดพระธรรมกายได้ดังนี้
ช่วงที่หนึ่ง ก่อร่างสร้างวัด (2513-2529)
เป็นยุคของการก่อร่างสร้างวัด ที่เริ่มปรากฏชัดในช่วงหลังปี 2519 หลังจากที่คณะศิษยานุศิษย์ค่อยๆ แยกตัวออกมาจากวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยมีสามแกนนำสำคัญ ได้แก่ แม่ชีจันทร์ หลวงพ่อธัมมชโย และหลวงพ่อทัตตชีโว เป็นผู้ริเริ่มสำคัญ
ช่วงที่สอง เผชิญหน้าการวิจารณ์ (2530-2549)
คือช่วงของการเผชิญปัญหาการตีความคำสอนพระพุทธเจ้าและความขัดแย้งกับพุทธสำนักอื่นๆ เช่น สำนักสันติอโศก
ช่วงที่สาม ขยับตัวสู่โลกสาธารณะ (2550-2557)
เป็นยุคที่วัดพระธรรมกายเริ่มปรับตัวเองไปสู่พื้นที่สาธารณะผ่านกิจกรรมทางสังคมมากขึ้น
ช่วงที่สี่ รับมือกับอำนาจพิเศษ (2557-ปัจจุบัน)
ปี 2557 เป็นต้นมา ที่วัดพระธรรมกายโดยเฉพาะเจ้าอาวาสเริ่มถูกรุมเร้าด้วยข้อกล่าวหาใหม่ๆ เช่น การฟอกเงินและการฉ้อโกง จนมาสู่การที่รัฐบาลตัดสินใจใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นวัดพระธรรมกาย
ช่วงที่หนึ่ง
งานวิจัยที่ศึกษาวัดพระธรรมกาย ของ อภิญญา เฟื่องฟูสกุล (2541) อธิบายว่า ในยุคแรกเริ่มของวัดพระธรรมกาย ได้ตกเป็นที่จับตาของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงตั้งแต่นั้นมาแล้ว ด้วยเหตุที่ว่าวัดมีลูกศิษย์ลูกหาที่ขยายตัวอย่างกว้างขวาง และอีกด้านหนึ่งยังถูกจับตาจากพระผู้ใหญ่หลายรูป อาทิ พระโสภณคณาภรณ์ แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร ที่วิจารณ์วัดพระธรรมกายว่า ‘อันตรายกว่า’ พระโพธิรักษ์ของสันติอโศก เสียอีก
ในความเป็นจริงแล้ว วัดพระธรรมกาย ดูจะนำเสนอเพียงภาพลักษณ์แนวทางคำสอน ในลักษณะที่มีความทันสมัยและให้ความสำคัญในด้านการศึกษาเท่านั้น มิได้มีลักษณะแหลมคมต่อความเป็นอยู่ของพระชั้นผู้ใหญ่ เพราะแม้ว่า กำเนิดวิธีทำสมาธิแบบธรรมกาย จะมีที่มาจากวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ หลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคล เทพมุนี (สด จนฺทสโร) ผู้ค้นพบวิธีทำสมาธิเรียกว่า ‘วิชชาธรรมกาย’ ในราวปลายทศวรรษที่ 2510 แต่การกำเนิดขึ้นจริงๆ ของธรรมกาย ต้องรอจนถึงในราวทศวรรษที่ 2520 และก็ยังคงเดินตามแนวทางของชนชั้นนำในคณะสงฆ์อยู่นั่นเอง ซึ่งไม่ได้มีลักษณะแปลกแยกแตกห่างออกไปแต่อย่างใด
อีกทั้ง พัฒนาการขององค์กรในระยะแรกก็ไม่ซับซ้อน งานวิจัยอ้างคำบอกเล่าของท่านรองเจ้าอาวาสเอง พบว่ามีการแบ่งระยะเติบโตของวัดออกเป็นสามรุ่น คือ ‘รุ่นก๋ง’ หมายถึงช่วงเวลาก่อนปี 2513 คือก่อนการแยกตัวออกมาสร้างวัดธรรมกาย เป็นช่วงที่กลุ่มศิษย์รุ่นแรกๆ ของคุณยายจันทร์ (จันทร์ ขนนกยูง) รวมตัวกันที่บ้านธรรมประสิทธิ์ในวัดปากน้ำ
ช่วงต่อมาเป็น ‘รุ่นเตี่ย’ เป็นช่วงแรกของการก่อตั้งวัดจนถึงยุคของการสร้างโบสถ์ (2513-2520)
ในยุคนี้กลุ่มแกนนำยังเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รุ่น KU 20 และ 23 ยุคนี้ชาววัดจะเรียกว่ายุคของการ ‘ขุดดินก้อนแรก’ เป็นช่วงของการบุกเบิกที่ดิน 196 ไร่
ช่วงที่สาม คือช่วงทศวรรษ 2520 ถึง 2540 จัดเป็นช่วงเวลาของการเติบโตแบบก้าวกระโดด ท่านรองเจ้าอาวาสเรียกว่า ‘ยุคเสี่ย’ ในปี 2525 ทางวัดได้เสนอแผนขยายวัดออกไปอีก 6,000 ไร่ ในโครงการสร้างสวนป่าชานเมืองสำหรับพระธุดงค์มหาชน มีการเสนอโครงการนี้ต่อรัฐบาล ทว่า สศช. ปฏิเสธ
ปี 2527 ทางวัดเริ่มมีการปรับโครงสร้างองค์กรแบ่งเป็นสามฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายบริหารงานบุคคล ฝ่ายจัดหากองทุน และฝ่ายเผยแผ่ธรรมะ และก็ค่อยๆขยายเพิ่มขึ้น
ในช่วงเวลานี้ โครงการพระไตรปิฎกคอมพิวเตอร์ ภาษาบาลี อักษรโรมัน ได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญทางพระพุทธศาสนาจากทั่วโลก 51 ท่าน จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ใน 14 ประเทศ เป็นที่ปรึกษา เริ่มต้นเมื่อ 2527 และเสร็จสมบูรณ์จนสามารถเผยแพร่ทั่วโลกได้เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2539
ปี 2533 วัดพระธรรมกายได้มีการขยายสายงานออกมาอีกเป็นสามฝ่าย คือ ฝ่ายสนับสนุน ฝ่ายการศึกษา และฝ่ายอบรมธรรมะ อันแสดงให้เห็นการเจริญเติบโตของวัด และการใส่ใจในด้านการศึกษาที่มิได้จำกัดตัวเองไว้เพียงแนวทางการศึกษาแบบคณะสงฆ์ไม่กี่กลุ่มอีกต่อไป
ปี 2528-2529 ทางวัดได้เริ่มจัดซื้อที่ดินจำนวน 2,000 ไร่ ในแถบบริเวณใกล้เคียงกับชาวบ้าน เพื่อสร้างศูนย์ธรรมกายแห่งโลก จนนำมาสู่ความขัดแย้งในเรื่องที่ดินกับชาวบ้าน และเริ่มมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น ในครั้งนี้วัดประสบความสำเร็จในการรับมือกับความขัดแย้งโดยทั่วไป และเรียนรู้ที่จะขยายบทบาทความร่วมมือกับวัดในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี และวัดต่างๆ ในพื้นที่อื่น
จนกระทั่งมาถึง ช่วงที่มีโครงการธุดงค์ปีใหม่ ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมเป็นประจำทุกปี ซึ่งเปลี่ยนภาพความเข้าใจต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวาง วัดได้เริ่มกิจกรรมนี้ ครั้งแรกในปี 2529 โดยเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้มาศึกษาและปฏิบัติธรรมร่วมกันในช่วงวันหยุดปีใหม่ สามารถร่วมกิจกรรมกันได้ทั้งครอบครัว
กิจกรรมครั้งนี้รวมไปถึง โครงการธุดงค์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 ธันวาคม 2529 – 31 ธันวาคม 2530 โดยมีการจัดขึ้นถึง 136 ครั้ง ใน 61 จังหวัด มีพระภิกษุ – สามเณรเข้าร่วมอยู่ธุดงค์ 6,467 รูป และประชาชนร่วมธุดงค์ถึง 137,138 คน
ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นการยอมรับจากพุทธศาสนิกชนในวงกว้างอย่างแท้จริง ไม่เพียงแค่นั้นความพยายามเปิดตัวเองสู่โลกสากลก็ดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมา ในปี 2529 วัดพระธรรมกายได้เข้าร่วมองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก
ในปี 2533 เมื่อมีการปฏิรูปองค์กรวัดพระธรรมกายครั้งใหม่ มีการจัดโครงสร้างองค์กรครั้งใหม่ ผู้นำที่เด่นมากในยุคนั้นคือ เมตตานันโทภิกขุ (มโน เลาหวณิช) ซึ่งเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความกระตือรือร้น ซึ่งได้ตั้ง ‘ธรรมบัญญัติ’ ขึ้นมาวางแนวทางปฏิบัติในอนาคต (ภายหลังปัญหาการกระจายอำนาจภายในองค์กรไม่เกิดผล ท่านจึงย้ายไปจำวัดที่วัดราชโอรสาราม และสึกออกมาเป็นกำลังสำคัญในการโจมตีวัดพระธรรมกายในปัจจุบัน)
และในปี 2538 เริ่มมีการสร้างมหาธรรมกายเจดีย์เพื่อเป็นศูนย์กลางการรวมใจชาวพุทธทั่วโลก
ในช่วงนี้ แม้ว่าวัดจะเริ่มมีการเติบโตเป็นอย่างดี แต่งานวิจัยของอภิญญาเสนอว่า วัดพระธรรมกายยังคงวางตัวในฐานะเป็นผู้อยู่ในกรอบ (conformist) ทั้งในกรอบของกฎหมายและในกรอบของประเพณีอุปถัมภ์ที่ระบบของชนชั้นคณะสงฆ์ไทยยึดมั่นอยู่ ที่แม้ว่าวัดจะมีศักยภาพในการรวมมวลชนจัดงานขนาดใหญ่ในวันสำคัญทางศาสนา แต่เมื่อมีจดหมายเตือนมาวัดก็เลือกจะปฏิบัติตามชนชั้นนำของสงฆ์
ช่วงที่สอง
หลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 เศรษฐกิจอยู่ในภาวะตกต่ำ โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่มีรายได้ประจำ แต่ความเติบโตของวัดพระธรรมกายนั้นแตกต่างออกไป จนนำมาสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ในงานของ โรรี แมคเคนซี (Rory Mackenzie) ถึงกลับสรุปว่า หากวิกฤติเศรษฐกิจในไทยครั้งนั้น ไม่รุนแรง วัดพระธรรมกายซึ่งดำเนินกิจกรรมมาตามแนวทางของวัด อาจจะไม่ถูกโจมตีมากมายขนาดนั้น
ระหว่างปี 2541-2549 ทางวัดพระธรรมกายได้เริ่มเห็นทางแพร่งสองด้านแล้ว คือหนึ่ง วัดถูกตั้งคำถามมากขึ้นจากชนชั้นนำของคณะสงฆ์ไทย หลังจากที่วัดพระธรรมกายเผยแพร่การตีความว่า ‘นิพพานเป็นอัตตา’ รูปธรรมหนึ่งคือการออกแบบสถาปัตยกรรมพระพุทธรูปที่ฉีกพ้นออกไปจากพุทธจารีต โดยมีมหารัตนวิหารคดที่ถูกสร้างขึ้นในปี 2547 ใช้เป็นพื้นที่ลานธรรม มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 631,000 ตารางเมตร เป็นประจักษ์หลักฐานของพิธีกรรม
การตีความหมายของพระนิพพานกับสายแนวธรรมกายนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากพระชั้นผู้ใหญ่ เช่น พระธรรมปิฎก หรือปัญญาชนสายพุทธ อย่าง ส.ศิวรักษ์ ทว่าสิ่งที่ท้าทายต่อวัดมากที่สุดในยุคนี้ กลับเป็นคำวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณะในการจัดกิจกรรมที่หรูหรา อลังการ สวนทางกับภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจของประเทศ ข้อกล่าวหาเรื่องการ ‘ยักยอกที่ดิน’ ของวัดพระธรรมกายมาเป็นของตัวเอง จะเริ่มกระหน่ำวัดในเวลาต่อมา ก่อนที่จะมีการถอนฟ้องได้ในปี 2549
ถึงกระนั้นก็ตาม ในช่วงเวลานี้วัดพระธรรมกายยังคงขยายกิจกรรมใหม่ที่มีความหมายมากขึ้น ทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณ อาทิ มีการจัดโครงการบวชอุบาสกแก้ว ถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 29 – 31 มกราคม ในปี 2542 จำนวนร่วม 200,000 คน ซึ่งในแง่ขนาดของมวลชนแล้วมีมากกว่าครั้งไหนๆ
ขณะเดียวกันวัดก็สามารถระดมศิษยานุศิษย์หน้าใหม่ ที่มีพลังอำนาจทางสังคม เช่น อนันต์ อัศวโภคิณ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทักษิณ ชินวัตร, บุญชัย เบญจรงคกุล เจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์ดีแทค นอกจากนั้นยังมีดารา นักแสดง และผู้มีชื่อเสียงอีกเป็นจำนวนมาก เข้ามาเป็นศิษย์ของวัดด้วย
ในปี 2544 วัดพระธรรมกายเริ่มเดินทางห่างจากรูปแบบพุทธแบบจารีต ดังเราจะเห็นได้ใน พิธีกรรม ‘วันสลายร่าง’ ของ แม่ชีจันทร์ ขนนกยูง มีการสร้างเทวรูปนกยูงขนาดมหึมา เพื่อประกอบพิธีกรรม มีพระภิกษุและศาสนิกชนเข้าร่วมงานกว่า 130,000 รูป/คน
หลังจากนั้น ปี 2545 พระธัมมชโย เริ่มเปิดรายการโรงเรียนอนุบาลฝันในฝัน เปิดสอนธรรมะให้แก่ผู้ที่สนใจ ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ ในเวลาหลังเลิกงาน 19.30 – 22.00 น. ซึ่งเนื้อหารายการมีรูปแบบที่ทันสมัย พ้นจากความคร่ำครึแบบการสอนธรรมะทั่วไป
ขณะเดียวกันได้มีโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้นตามมามากมาย เช่น การถวายมหาสังฆทานแด่วัดต่างๆ ทั่วประเทศ เริ่มครั้งแรกในปี 2545 เริ่มต้นจากจำนวน 1,000 วัด แล้วเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 วัด, 3,000 วัด, 5,000 วัด, 10,000 วัด, 20,000 วัด และ 30,000 วัด ทั่วประเทศ เป็นลำดับ และจัดอย่างตลอดต่อเนื่องในวันที่ 22 เมษายน ของทุกปี (นับถึงปี 2556 รวม 11 ปี)
โครงการเจริญพุทธมนต์ 5 ธันวามหาราช จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2546 ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2556
โครงการสอบตอบปัญหาศีลธรรมเพื่อสันติภาพโลก (World-PEC: World-Peace Ethics Contest) เริ่มโครงการเมื่อปี 2549 มีผู้สมัครสอบกว่า 100,000 คน รวม 72 เชื้อชาติ จากหกทวีปทั่วโลก
โครงการบวชอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน 500,000 คน ระหว่างวันที่ 16 – 29 เมษายน 2553 ณ ศูนย์อบรมประจำอำเภอทั่วประเทศ และศูนย์สาขาทุกทวีปทั่วโลก
จะเห็นได้ว่าในยุคนี้วัดพระธรรมกาย ได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในแง่ของความศรัทธา จากพุทธศาสนิกชนและผู้มีชื่อเสียงและอำนาจจำนวนหนึ่ง แต่กิจกรรมของวัดที่แสดงให้เห็นลักษณะเฉพาะที่แตกต่างมากยิ่งขึ้นเกิดขึ้นในยุคที่สาม
ช่วงที่สาม
ในยุคนี้มีความชัดเจนขึ้น หลังการรัฐประหาร 2549 เมื่อวัดพระธรรมกายประสบความสำเร็จในการจัดสร้างโรงเรียนอนุบาลในฝันวิทยา และขยายช่องทางการสื่อสารออกไปมากขึ้น โดยใช้การถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมช่อง DMC (Dhamma Media Channel) ครอบคลุมไปในห้าทวีปทั่วโลก
และมีการทำโครงการที่มีลักษณะการตลาดเชิงรุกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการตักบาตรพระ 500,000 รูป โครงการบวชสามเณร 100,000 รูป โครงการอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน 100,000 คน
ปี 2555 ธรรมกายอธิบายชาติภพภูมิสามภพ ที่โด่งดังมากคือการอธิบายชีวิตหลังความตายของ สตีฟ จ็อบส์ ด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากสาธารณชน โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นกลางและภิกษุปัญญาชน อย่าง ว.วชิรเมธี จนถึงขั้นที่ พระมหา ว.วชิรเมธี เขียนวิทยานิพนธ์โต้แย้งคำสอนของธรรมกายว่าผิดเพี้ยนไปจากหลักธรรมของพุทธองค์
ถึงกระนั้นก็ตาม วัดยังคงก้าวต่อไปข้างหน้าในสายงานการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มเน้นไปที่ความร่วมมือกับพระต่างนิกายในต่างประเทศ เช่น การจัดสร้างโครงการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาจีน ระหว่างสถาบันธรรมชัย ประเทศไทย กับ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประเทศจีน ในปี 2551
โครงการความร่วมมือจัดทำพระไตรปิฎกคอมพิวเตอร์ ระหว่างสถาบันธรรมชัย ประเทศไทย กับ สมาคม SAT แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2552
โครงการความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสถาบันธรรมชัย ประเทศไทย กับ มหาวิทยาลัยเฉวียนจั้ง ประเทศไต้หวัน เพื่อแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษา ในปี 2552
โครงการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาอังกฤษและภาษาสิงหล ระหว่างสถาบันธรรมชัย ประเทศไทย กับ สถาบันซีบา (SIBA) ประเทศศรีลังกา ในปี 2553
ในช่วงเวลานี้ ทางวัดได้เริ่มโครงการอบรมธรรมทายาท และบรรพชาอุปสมบทหมู่ จำนวน 30 โครงการ แม้ว่าความเป็นจริงจะเริ่มจัดกิจกรรมนี้มาตั้งแต่ปี 2515 แต่กลับมาขยายตัวอย่างมากระหว่างกลางทศวรรษที่ 2550 อย่างมีนัยยะสำคัญ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการอุปสมบทหมู่ 100,000 รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2553 เช่นเดียวกัน เพื่อฟื้นฟูวัดร้างให้เป็นวัดรุ่ง กับโครงการธุดงค์ธรรมชัย เส้นทางพระผู้ปราบมาร พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) จำนวนสี่โครงการ ที่เริ่มมาในยุคนี้
นี่เป็นเพียงตัวอย่างความสำเร็จของวัดพระธรรมกายที่พุ่งทะยานขึ้นตลอดทศวรรษที่ 2550 แต่ดูเหมือนว่านั่นจะเป็นเวลาที่ไม่นานนักเมื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ของวัดได้มาถึง
ช่วงที่สี่
หลังการรัฐประหารในปี 2557 การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคม ยังส่งผลต่อความขัดแย้งในมุมของศาสนาด้วย เมื่อมีการกดดันวัดธรรมกายในหลายๆ ด้าน รวมไปถึงการแจ้งข้อหาในคดีรับของโจรต่อเจ้าอาวาสของวัด อย่างพระธัมมชโย
การไล่บี้วัดพระธรรมกายเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการ ในปี 2558 คณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ เสนอให้ ปปง. อายัดทรัพย์พระธัมมชโย พร้อมกับตรวจสอบที่ดินวัดพระธรรมกาย
ก่อนที่ในปี 2559 วัดพระธรรมกายจะต้องมาเผชิญกับข้อหาฉ้อโกงและรับของโจรในที่สุด ซึ่งเป็นผลพวงมาจากผู้เสียหาย ในคดีสหกรณ์ฯคลองจั่นฟ้องร้องเอาผิดกับเจ้าอาวาสของวัดธรรมกาย
หลังจากนั้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ได้ขออนุมัติศาลออกหมายจับพระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในคดีความผิดฐานสมคบและร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร ซึ่งมีชื่อเป็นผู้รับเช็คบริจาคจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด
การต่อสู้กับกรณีนี้ยื้อยุดไปได้ไม่นานนัก เพียงต้นปี 2560 รัฐบาลภายใต้การนำของ คสช. ก็เริ่มใช้กำลัง และ ม.44 ในการจัดการกับวัดธรรมกาย กล่าวได้ว่าแม้ว่าวัดจะเคยเผชิญวิกฤติหลายครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ธรรมกายเผชิญกับอำนาจพิเศษครั้งแรก และกำลังเจ้าหน้าที่ที่ยืดเยื้อยาวนานที่สุด ที่เคยมีมา
อ้างอิงข้อมูลจาก:
dhammakaya.net
วีระ หน๊องมา. (2555). การเปลี่ยนแปลงความหมายทางภูมิทัศน์ของพุทธสถานร่วมสมัยของไทย: กรณีศึกษาวัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
อภิญญา เฟื่องฟูสกุล. 2541. รายงานวิจัยเรื่อง ศาสนทัศน์ของชุมชนเมืองสมัยใหม่: ศึกษากรณีวัดพระธรรมกาย. วารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน
Scott, R. M. (2009). Nirvana for Sale. Buddhism, Wealth, and Temple in Contemporary Thailand. Albany: State University of New. Chicago
Mackenzie, R. (2007). New Buddhist Movements in Thailand: Towards an Understanding of Wat Phra Dhammakaya and Santi Asoke (Vol. 7). Routledge.