อยุธยาสิ้นแล้ว ถึงบางกอกชัตดาวน์: กรุงแตก, ออเจ้า และการเมืองไทย (ร่วม) สมัย ร.ศ. 232

กรุงเทพฯ เริ่มถูกนับให้เป็นราชธานีของไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2325 (หรือนับเป็นจุลศักราชก็คือ 1144) ก่อตั้งภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ราว 15 ปี (นับกัน ณ วันที่ ‘กรุงแตกฯ’ คือ 7 เมษายน พ.ศ. 2310) ฉะนั้น หากนับกันถึงปัจจุบันขณะนี้ ก็เท่ากับว่าเวลาล่วงเลยจากคราวกรุงแตกมาแล้ว 251 ปี ซึ่งครั้งนั้นอาณาจักรอยุธยาถูกทำลายย่อยยับ ไม่สามารถฟื้นฟูสถานภาพกลับคืนสู่การเป็นราชธานีได้ดังเดิมอีกต่อไป นำมาสู่การตั้งราชธานีใหม่ที่ธนบุรี และข้ามมาเกาะรัตนโกสินทร์ในเวลาต่อจากนั้นไม่นานนัก

น่าสนใจที่ในปัจจุบันขณะ กระแสการหวนกลับไปสำรวจความเป็นอยุธยากระพือโหมอย่างหนักหน่วง ด้วยแรงส่งจากละครยอดนิยมเรื่อง บุพเพสันนิวาส ทางช่อง 3 ซึ่งจับเอาช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยในอดีต อย่างคราวแผ่นดินพระนารายณ์ฯ มานำเสนอเป็นฉากหลังของเรื่อง ตัวแทนคนดูในละครคือนางเอกสาวผู้พลัดสู่อดีต ด้วยบุพเพสันนิวาสชักนำให้เธอได้พบคู่แท้ในสมัยนั้น คือ หมื่นสุนทรเทวา (ภายหลังได้อวยยศเป็นขุนศรีวิสารวาจา) ร่วมคณะทูตโกษาปานไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ยังประเทศฝรั่งเศส

ผู้ชมเองก็เหมือนตัวนางเอกสาว เราต่างเป็นคนยุคปัจจุบันที่เกิดมาก็เห็นความย่อยยับของกรุงศรีฯ ซากโบราณสถาน คงค้างเพียงเค้าความงามในอดีตอันรางเลือน แต่ทำไมคนดูกลับจับต้องกลิ่นอายอดีตได้ชัดเหลือเกิน? คำตอบไม่ใช่เพราะเราได้หวนกลับไปเห็นภาพโบราณสถานนั้นอย่างสมบูรณ์อีกครั้ง แต่เราได้เห็น ‘ผู้คน’ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของราชอาณาจักรในอดีตต่างหาก ผ่านตัวละครที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ผูกเข้ามาในเรื่อง คนในอดีตเหล่านี้ต่างหากที่กลับมามีชีวิต และทำให้อดีตน่าหลงใหลขึ้นอีกครั้ง

บุพเพสันนิวาส สร้างความสนใจให้คนทั่วไปต่อชุดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนและหลังเนื้อหาในละครสิ้นสุดลง ลำพังสิ่งที่พวกเขาสนใจไม่ใช่เพียง ‘เหตุการณ์’ ในยุคสมัยดังกล่าว แต่เป็นเพราะสนใจชีวิตของเหล่าตัวละครในเรื่อง เกร็ดเล็กๆ อาทิ ในประวัติศาสตร์จริงไม่มีการะเกด หมื่นสุนทรเทวากลับจากฝรั่งเศสแล้วแต่งงานกับอีปริก! หากในท้ายสุดเสน่ห์ของอดีตที่ละครนำเสนอก็ทำให้เกิดกระแสแต่งชุดไทยฟีเวอร์กันทั้งบ้านเมือง ลามจนถึงความนิยมในการจัดงาน ‘อุ่นไอรัก’ ที่ในช่วงละครออนแอร์อยู่นั้น ตัวงานกลับมาได้รับความนิยมสูงมาก คนแต่งชุดไทยไปร่วมงานอย่างล้นหลาม

สิ่งที่กลายเป็นปรากฏการณ์ลำดับต่อมาคือกระแสการ ‘อ่าน’ หนังสือประวัติศาสตร์ยุคอยุธยา โดยเฉพาะเจาะจงที่ยุคพระนารายณ์ฯ เป็นเทรนด์สำคัญในงานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งล่าสุด (เมษายน 2561) ชนิดที่หนังสือบางเล่มซึ่งไม่เคยขายดีเอาเสียเลย กลับขายดีเป็นเทน้ำเทท่าในคราวนี้

แต่อย่าลืมว่าแม้กระทั่งพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเองก็มีหลายสำนวน มีการชำระหลายหน เหตุเพราะต่างผู้เล่า รายละเอียดในเหตุการณ์ต่างๆ หรือแม้แต่นามบุคคลก็มีการคลาดเคลื่อน จำต้องชำระตรวจสอบใหม่อยู่เนืองๆ เพื่อหาความใกล้เคียงข้อเท็จจริงที่สุด จนกว่าจะค้นพบหลักฐานใหม่มาหักล้างประวัติศาสตร์เดิมได้

อย่างไรก็ตาม การทั้งดูและอ่านประวัติศาสตร์ดังกล่าว น่าสนใจตรงที่ละครได้เปลี่ยน ‘กรุงเทพฯ’ ให้กลายเป็น ‘อยุธยา’ ได้ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ถึงกับมีภาพปรากฏว่าบนรถไฟฟ้ามีหนุ่มสาวแต่งชุดไทย ราวกับอดีตและปัจจุบันได้บรรจบพบกันจริงๆ

ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้จากข้อมูลใหม่ๆ ที่ค้นพบในภายหลัง เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์เองก็สามารถถูกแต่งเติมเสริมด้วยจินตนาการได้ และคำกล่าวคลาสสิกที่ว่า ‘ประวัติศาสตร์ถูกเล่าโดยผู้ชนะ’ นั้นปรากฏให้เห็นทุกยุคสมัยเสมอ แม้กระทั่งการเล่าประวัติศาสตร์อันใกล้ที่เพิ่งเกิดขึ้นในห้วงเวลาเพียงไม่ถึงสิบปีมานี้ของไทย

Bangkok Joyride เป็นภาพยนตร์สารคดีที่บันทึกเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ครอบคลุมเหตุการณ์การเมืองกินเวลาร่วมปี ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2556 ถึงเดือนพฤษภาคม 2557 ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้มีโครงการจะออกฉายหลายภาค ภาคแรก ‘How We Became Superheroes’ และภาคสอง ‘Shutdown Bangkok’ เพิ่งออกฉายพร้อมกันในวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการฉายทางการครั้งแรกในประเทศไทย

สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ลงพื้นที่ตลอดช่วงการชุมนุมเพื่อเก็บภาพอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่เริ่มเคลื่อนไหวช่วงแรกๆ ผู้ชมจะได้ยินเสียงเหล่าผู้ร่วมชุมนุมพูดคุย-ตะโกนกันเสมือนเข้าร่วมขบวนด้วย ภาพ-ป้ายทุกแผ่นที่ผู้ชุมนุมนำมาร่วมถูกถ่ายให้เห็นชัด นานพอที่ผู้ชมจะกวาดสายตาอ่านได้ครบถ้วน (ถึงขั้นขึ้นคำบรรยายภาษาอังกฤษไว้ให้ด้วย) พอเข้าช่วงกลางเรื่อง จึงตัดสลับกับการบันทึกภาพการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งส่วนใหญ่จับภาพไปที่การซักค้านของฝ่ายค้าน นำโดยอดีตนายกฯ และผู้นำฝ่ายค้าน (ในขณะนั้น) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ด้วยกลวิธีทางภาพยนตร์ การนำเหตุการณ์ ‘จริง’ ทั้งหมดมาร้อยเรียงเล่าตัดสลับ ทำลายกรอบของเวลา ทำให้พลังของสารที่จะสื่อออกไปถูกขับเน้นชัดยิ่งขึ้น ว่านี่คือภาพยนตร์ที่ตรงตามชื่อเรื่อง คือพูดถึงการโค่นล้มรัฐบาลด้วยพลังของประชาชนอย่างแท้จริง ในช่วงหนึ่งถึงกับให้คนดูเฝ้ารอชมขบวนประชาชนที่เดินทางหลั่งไหลจากสามเสนไปยังจุดชุมนุมสำคัญอย่าง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสี่แยกราชประสงค์ เราจะได้ยินเสียงผู้กำกับนับเวลาที่ผู้ชุมนุมเดินเท้าบนถนนผ่านไปอย่างไม่ขาดสาย 20 นาที 40 นาทีผ่านไป เราก็ยังไม่เห็นปลายแถวขบวนดังกล่าว

การเดิน ‘พาเหรด’ อันสำคัญนี้ปูทางเพื่อให้ภาพยนตร์พาคนดูเข้าสู่ช่วงการอภิปรายในสภาฯ ซึ่งหลายครั้งตัดสลับออกมาให้เห็นบรรยากาศในการชุมนุม แผ่นป้าย ข่าวจากสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ที่รายงานสถานการณ์ขณะนั้น โดยเฉพาะเหตุการณ์ปะทะกันรอบทำเนียบรัฐบาล ช่วยโหมประโคมให้เห็นว่าวิกฤติคอร์รัปชันดังกล่าว ไม่ได้ถูกแค่ฝ่ายค้านในสภาซักฟอก แต่ยังรวมถึงประชาชนบนถนนที่ร่วมชุมนุมครั้งนี้ด้วย

กล่าวได้ว่าหัวใจหลักของภาพยนตร์ภาคแรกนี้คือการซักฟอกอันยาวนาน จนถึงการตัดสินใจยุบคณะรัฐบาล ส่งผลให้อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ยังดำรงตำแหน่งรักษาการต่อไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง

เราได้รับรู้ถึงบรรยากาศกรุ่นๆ ภายในกลุ่มผู้ชุมนุมหลังเหตุปะทะ หลังรับรู้ข่าวดังกล่าว พวกเขาไม่พอใจ และเห็นพ้องกันว่าการต่อสู้นี้ยังไม่จบ

เช่นเดียวกับตัวภาพยนตร์ ฉากท้ายๆ ของภาคแรก เราถึงได้เห็น คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ปรากฏตัวเพียงไกลๆ บนรถบรรทุกหาเสียงที่กำลังแล่นเข้าสีลม เสียงประชาชนร้องเรียกชื่อคุณสุเทพที่กำลังปราศรัยบนรถ ราวกับบอกว่านี่เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นการต่อสู้ครั้งประวัติศาสตร์นี้เท่านั้น โหมโรงเพื่อเข้าสู่การปักหลักชุมนุมยาวนานข้ามปีซึ่งจะถูกเล่าเต็มๆ ในภาพยนตร์สารคดีภาคสองต่อไป

สิ่งที่ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษคือ ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยหาน้อยเหลือเกิน ที่จะมีภาพยนตร์สารคดีขนาดยาว หรือภาพยนตร์เล่าเรื่องขนาดยาว ที่มุ่งสำรวจเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองอย่างเป็นสำคัญ บางเรื่องใช้เพียงเป็นฉากหลังของเหตุการณ์ บางเรื่องใช้เพียงฟุตเทจข่าวเพื่อเสริมความสมจริงของภาพยนตร์ขึ้นมา ราวกับว่าประวัติศาสตร์การเมืองเป็นของแสลงที่ห้ามสำรวจ ตรวจสอบ สู้ให้การหวนไปพูดถึงความวุ่นวายและการแย่งชิงอำนาจในปลายรัชกาลสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่พ้นเลยมาไกลมากแล้ว ยังจะดีเสียกว่าการพูดถึงเหตุการณ์สำคัญในไม่กี่ปีที่ผ่านมา?

การวางตัวเป็นภาพยนตร์สารคดีที่ ‘เข้าไปยังใจกลางของการชุมนุม’ เรื่องนี้ นับได้ว่าบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองกรุงเทพฯ สมัย ร.ศ. 232 (พ.ศ. 2556) บันทึกภาพ, เสียง และอารมณ์ของชุมนุมผู้ที่ศรัทธาและเชื่อมั่นในการเคลื่อนไหวครั้งนี้อย่างแท้จริง

Author

ชาญชนะ หอมทรัพย์
ชาญชนะ หอมทรัพย์ เกิดในยุคโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนเต็มเมือง ผ่านทั้งยุควิดีโอเทป ติดหนังจีนชุดจนถึงซีรีส์ Netflix ปัจจุบันทำงานเขียนบทภาพยนตร์ และเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ทั้งไทย-เทศ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า