Faces Places: ภาพเสมือนอันสวยงาม อบอุ่น บนฉากชีวิตจริงของสังคมฝรั่งเศส

เรื่อง: เอกปวีณ อนุสนธิ์

 

Faces Places ภาพยนตร์สารคดีสัญชาติฝรั่งเศส เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันระหว่างผู้กำกับหญิงรุ่นเก๋าระดับตำนานวัย 89 ปี อานเญส วาร์ดา (Agnès Varda) กับศิลปินช่างภาพหนุ่มวัย 34 ปี เจอาร์ (JR) ทั้งคู่พาเราชมฝรั่งเศสในแบบที่ไม่ใช่ปารีสและถนน Champs-Élysées แต่เป็นชนบทของฝรั่งเศสผ่านสายตาสองคู่ จากคนสองวัย

แน่นอน ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ย่อมทำให้คนทั้งคู่มองโลกและการดำเนินชีวิตแตกต่างกัน

เนื้อเรื่องดำเนินไปโดยที่เจอาร์รับบทบาทเป็นสารถีให้วาร์ดา รถบ้านคันใหญ่ที่ท้ายรถถูกทำให้เป็นสตูดิโอถ่ายภาพย่อมๆ แล่นผ่านถนนที่ขนาบข้างด้วยท้องทุ่ง ไปยังเมืองเล็กๆ ต่างๆ ในชนบทของฝรั่งเศส ส่งต่อภาพนิ่งที่ช่วยสร้างการเคลื่อนไหวให้แก่ชุมชน

น่าสนใจกว่านั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังฉายภาพการเมืองของคนรากหญ้าในฝรั่งเศส ทุนนิยมที่ส่งผลกระทบกับชีวิตคนฝรั่งเศสระดับล่าง ประกอบกับศิลปะภาพถ่ายและการตัดแปะที่ทั้งคู่พกติดตัวไปยังเมืองต่างๆ ยิ่งช่วยสร้างบทสนทนาระหว่างคนในชุมชนและนอกชุมชนให้น่าตื่นตากว่าเดิม

เพราะศิลปะคือสื่อกลางในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมต่างๆ ให้โลกภายนอกรับรู้และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประเด็นต่างๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกนักที่ Faces Places จะได้รับคำชมมากมายจากนักวิจารณ์ และได้รับคัดเลือกให้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ปี 2017 ที่ผ่านมา อีกทั้งยังคว้ารางวัล ‘L’Œil d’or’ มาครองในฐานะภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม กลายเป็น ‘หนังกล่อง’ คุณภาพอีกหนึ่งเรื่องที่คอหนังสารคดีไม่ควรพลาด

ภาพนิ่งสร้างการเคลื่อนไหว

เมืองแห่งหนึ่งในย่านอุตสาหกรรมแทบจะกลายเป็นเมืองร้างเพราะรัฐบาลขอเวนคืนที่ดินโดยมอบเงินชดเชยให้แก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิม ซึ่งในอดีตเมืองที่วาร์ดาและเจอาร์ไปเยือนเคยเป็นเหมืองถ่านหินที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฝรั่งเศสมากว่าศตวรรษ ก่อนที่ความรุ่งเรืองของการทำเหมืองถ่านหินจะค่อยๆ ลดน้อยถอยลงตามกาลเวลา จนสิ้นสุดไปเมื่อปี 2004[1]

ท่ามกลางเมืองร้าง บ้านหลังหนึ่งที่อาศัยโดยหญิงวัยกลางคน เธอเล่าว่าไม่ต้องการย้ายออก เพราะบ้านหลังนี้ เมืองแห่งนี้ มีความทรงจำมากมายในวัยเด็กของเธอ ซึ่งรัฐบาลคงไม่มีทางเข้าใจว่าสถานที่แต่ละแห่งล้วนมีความทรงจำของใครคนใดคนหนึ่งอยู่เสมอ

แม้ว่าเวลาที่ผ่านไปจะต้องถึงคราวเปลี่ยนแปลง แต่หากว่าเราจะพัฒนาพื้นที่ ไปพร้อมกับอนุรักษ์ความทรงจำไว้ล่ะ มันเป็นไปได้ไหม

การเข้าไปของวาร์ดาและเจอาร์ในครั้งนี้ จึงช่วยให้เมืองร้างกลับมาคึกคักอีกครั้งด้วยภาพถ่ายเสมือนจริงของหญิงวัยกลางคนเจ้าของบ้านที่แปะทอดยาวไปตามแนวบ้าน และช่วยให้ผู้ชมภาพยนตร์พากันคิดต่อถึงชีวิตคนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกกระทบจากนโยบายของรัฐบาล

หมู่บ้านร้างที่สร้างไม่เสร็จ

วาร์ดาและเจอาร์เข้าไปถ่ายภาพผู้คนบริเวณหมู่บ้านร้างแห่งนั้น จัดปาร์ตี้เล็กๆ และให้คนในชุมชนและบริเวณโดยรอบมาพบปะและช่วยกันแปะภาพถ่ายลงบนผนัง

ศิลปะจึงไม่เพียงแต่ถูกสรรค์สร้างขึ้นเพื่อความเพลิดเพลินใจ แต่ดึงให้คนในและนอกชุมชนมาจัดกิจกรรมร่วมกัน สร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน เกิดเป็นชุมชนทางสังคม (social community) การขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนและใหญ่กว่านี้ในอนาคต ก็คงไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะร่วมมือกันต่อไป

พลังแห่งโซเชียลมีเดียช่วยทำให้บาริสตาสาวดังชั่วข้ามคืน ภาพของเธอโดยเจอาร์ ถูกแปะลงบนผนังของตึกใหญ่กลางเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่ง ไม่ว่าใครก็ตามที่มาเยือนเมืองนี้ ต่างก็แชะรูปกับภาพถ่ายของเธอ อัพโหลดลงบนโซเชียลมีเดีย ราวกับเป็นเวทย์มนตร์ ศิลปะได้ช่วยโปรโมตการท่องเที่ยวให้แก่เมือง และคงไม่ถือว่าเป็นการกล่าวอย่างเกินเลย หากจะบอกว่า

เมื่อมีศิลปะ เมืองก็เคลื่อนไหวไปด้วยนักท่องเที่ยวที่มาจากทั่วทุกสารทิศ

ทุนนิยมนำมาสู่ชีวิตเปลือยเปล่า

แพะรับบาป

เมื่อทุนนิยมคืบคลานสู่อุตสาหกรรมการผลิตนมแพะ วาร์ดาและเจอาร์เข้าไปฟาร์มเลี้ยงแพะนมสองแห่ง แห่งแรกคือฟาร์มที่ต้องผลิตนมจำนวนมากเพื่อตอบสนองตลาด จึงเลือกใช้เครื่องรีดนมแพะ และหักเขาแพะตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อไม่ให้แพะโตมาแล้วขวิดกันจนบาดเจ็บ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตนม ส่วนอีกแห่งหนึ่ง เจ้าของฟาร์มเลือกที่จะเลี้ยงแพะด้วยวิธีธรรมชาติ รีดนมด้วยมือ และปล่อยให้เขาแพะขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น เรื่องราวนี้จึงทำให้เห็นว่าทุนนิยมนั้นมาพร้อมกับการทรมานสัตว์

เงินบำนาญน้อยไม่พอประทังชีพ

วาร์ดาและเจอาร์ไปพบกับลุงคล้ายคนไร้บ้านคนหนึ่ง เขาบอกกับทั้งคู่ว่าเขาได้รับเงินบำนาญน้อยที่สุด ซึ่งตามที่รัฐบาลฝรั่งเศสระบุไว้นั้น จำนวนเงินบำนาญที่น้อยที่สุดคือ 629.62 ยูโรต่อเดือนเท่านั้น[2]

จากนั้นลุงได้พาวาร์ดาและเจอาร์ไปบ้านของเขาที่สร้างขึ้นเอง มีโครงสร้างไม่เหมาะแก่การพักอาศัยนัก และยังห่างไกลผู้คน เป็นบ้านเพียงหลังเดียวในบริเวณรกร้าง เรื่องเล่าของลุงช่วยทำให้เห็นถึงระบบการจ่ายเงินบำนาญแก่คนเกษียณอายุที่ไม่เพียงพอแก่ค่าครองชีพ และคนเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้ได้ด้วยตนเอง

ผู้หญิงอยู่ตรงไหน

หากดูตามความสนใจของวาร์ดา เธอเป็นผู้หญิงทำหนังที่ให้ความสำคัญกับประเด็นเฟมินิสต์มาโดยตลอด และ Faces Places เธอเองก็ไม่พลาดที่จะแทรกเรื่องราวของผู้หญิงเข้ามาเต็มๆ ในฉากอู่ต่อเรือ

วาร์ดาเชิญภรรยาของคนงานชายในอู่ต่อเรือสามคนมาเป็นนางแบบหลักบนตู้คอนเทนเนอร์ เธอให้ผู้หญิงสามคนนี้ช่วยเล่าอะไรหลายอย่าง เช่น ทำงานอะไร หรือพวกเธอคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิ์ของคนงานในอู่ต่อเรือ แน่นอนว่าวาร์ดาช่วยทำให้เสียงของผู้หญิงที่ผู้คนมักไม่เลือกฟังเสียงดังขึ้นมา

เพราะพวกเธอเองก็ทำงานหนักไม่แพ้ผู้ชาย มีความคิดเห็นและเดิน ‘เคียงข้าง’ สามีของพวกเธอในทุกๆ เรื่อง

นี่อาจจะเป็นภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่ช่วยทำให้ “พวกเราก้าวข้ามความคร่ำครึทั้งปวง”

Epilogue

นอกจากภาพดวงตาและเท้าของวาร์ดาบนตู้รถไฟ จะช่วยทำให้ผู้คนในที่ห่างไกลและหลากหลายสถานที่ได้เข้าถึงสุนทรียศาสตร์บางอย่าง ตระหนักถึงประเด็นบางอย่างแล้ว ภาพดังกล่าวได้สร้างแรงบันดาลใจในการออกเดินทางไปยังดินแดนที่เราไม่เคยไปเยือน พบปะผู้คนหรือสถานการณ์ที่เราไม่ได้วางแผนตั้งรับไว้ล่วงหน้า สร้างมุมมองของเราแตกต่างไปจากโลกใบเดิม ฉวยความทรงจำเหล่านั้นไว้ผ่านภาพถ่าย และแน่นอนว่าถ้าหากไม่บังเอิญได้เจอกัน ทุกอย่างในภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้น           


อ้างอิงข้อมูลจาก:
[1] http://www.independent.co.uk/news/world/europe/france-ends-coal-mining-with-tears-but-not-a-single-protest-5355529.html
[2] http://www.cleiss.fr/docs/regimes/regime_france/an_3.html

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า