ท่ามกลางความหลากหลายของสินค้าอุปโภคบริโภคนานาชนิดที่เราทุกคนต่างต้องกินต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารหลัก อาหารเสริม ยาสมุนไพรรักษาโรค ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในบรรดาสินค้าที่วางขายอยู่ตามท้องตลาดเหล่านี้ย่อมมีสินค้าที่ไม่ปลอดภัยปะปนอยู่ไม่มากก็น้อย
คำถามที่หลายคนสงสัยก็คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีสินค้าชนิดใดบ้างที่ควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ สินค้าใดที่พึงหลีกเลี่ยง หรือสินค้าใดที่ไม่อาจไว้วางใจได้?
การสำรวจ รวบรวมปัญหา และจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัยที่วางจำหน่ายอยู่ในแต่ละพื้นที่ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้บริโภคได้รู้เท่าทัน เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจก่อนที่จะเลือกซื้อสินค้านั้นๆ
+ เผย 10 อันดับสินค้าไม่ปลอดภัย
โครงการ ‘จัดลำดับความสำคัญสินค้าไม่ปลอดภัยในระดับภาค 4 ภาค’ เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย (ภจท.) วิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท.) และแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีการสรุปผลการจัดลำดับความสำคัญของสินค้าไม่ปลอดภัยทั้งในระดับจังหวัดและระดับภาคเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อสร้างเกราะป้องกันให้กับผู้บริโภค และนำมาสู่มาตรการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
สำหรับรายงานผลการจัดลำดับสินค้าไม่ปลอดภัยในแต่ละภาค เบื้องต้นสามารถสรุปได้ 10 อันดับแรก ดังนี้
ภาคเหนือ | ภาคกลาง |
1. ขวดนมบีพีเอ | 1. ยาที่ขายในสถานที่ไม่ได้รับอนุญาต |
2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ‘ขาว-สวย-หมวย-อึ๋ม’ | 2. เนื้อสัตว์ปนเปื้อนฮอร์โมน |
3. น้ำมันทอดซ้ำ | 3. สถานพยาบาลไม่ได้รับอนุญาต |
4. ผักผลไม้ปนเปื้อนสารเคมี | 4. เครื่องสำอางผสมสารอันตราย บิ๊กอาย เหล็กจัดฟันแฟชั่นที่ไม่ได้รับอนุญาต สเตียรอยด์ผสมในผลิตภัณฑ์สุขภาพ |
5. สมุนไพรใส่สเตียรอยด์ | 5. เครื่องสำอางไม่ได้รับอนุญาต ปลาหมึกกรอบแช่ฟอร์มาลีน |
6. โฟม | 6. ผักผลไม้ปนเปื้อนสารเคมี |
7. อาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยเรื้อรัง | 7. ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักผสมสารอันตราย |
8. อาหารปนเปื้อนเชื้อโรค | 8. น้ำมันทอดซ้ำ |
9. คุณภาพอาหารปรุงสุกและอาหารจานด่วน | 9. ขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ (อกฟูรูฟิต) โฆษณาออนไลน์เกินจริง |
10. การโฆษณาสินค้าและระบบซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ต | 10. ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักไม่มีหรือมีเลขที่ อย.ปลอม |
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ | ภาคใต้* |
1. ผักผลไม้ปนเปื้อนสารเคมี | 1. ผักผลไม้ปนเปื้อนสารเคมี |
2. เครื่องสำอางพบสารต้องห้าม | 2. ครีมทาหน้าขาว |
3. อาหารปนเปื้อนฟอร์มาลีน | 3. น้ำมันทอดซ้ำ |
4. สเตียรอยด์ในยาแผนโบราณ ยาชุด ยาอันตราย | 4. ยาฆ่าแมลงในปลาเค็ม |
5. ผลิตภัณฑ์สุขภาพโฆษณาเกินจริง | 5. น้ำดื่มปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ |
6. ยาอันตรายในร้านชำ | 6. ลูกกลอนผสมสเตียรอยด์ |
7. น้ำมันทอดซ้ำ | 7. ถั่วลิสงปนเปื้อนอัลฟาท็อกซิน |
8. ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก/กาแฟ ปนเปื้อนยาอันตราย | 8. อาหารเสริมปนเปื้อนไซบูทรามีน |
9. น้ำดื่มบรรจุขวดไม่ได้มาตรฐาน | 9. ฟอร์มาลีนในอาหารทะเล |
10. ผลิตภัณฑ์อาหารไม่มีฉลาก และไม่ขออนุญาต อย. | 10. กะปิใส่สีย้อมผ้า |
(* เฉพาะจังหวัดกระบี่) |
โครงการจัดลำดับความสำคัญสินค้าไม่ปลอดภัยฯ ไม่เพียงจะเป็นการกระตุ้นเตือนผู้บริโภคให้เกิดความตระหนักในการเลือกซื้อสินค้าเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับ ‘ผู้ปฏิบัติงาน’ ทั้งในภาครัฐและภาคประชาสังคม ซึ่งมีหน้าที่จัดการดูแลปัญหาในด้านสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตของประชาชนในแต่ละจังหวัด
การมีฐานข้อมูลที่แม่นยำ เปรียบเสมือนแผนที่นำทางที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานในภาคส่วนต่างๆ สามารถเข้าถึงปัญหาได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหาใดก่อนหรือหลัง โดยเฉพาะในภาวะที่มีทรัพยากรจำกัด ทั้งด้านงบประมาณและกำลังคน
รูปแบบของการดำเนินการสำรวจและรวบรวมข้อมูลในโครงการดังกล่าวจัดทำขึ้นตามมาตรฐานทางวิชาการ โดยมีหลักเกณฑ์การจัดลำดับสินค้าไม่ปลอดภัยที่ คคส. เป็นผู้พัฒนาขึ้น และนำไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของแต่ละจังหวัดตามความแตกต่างหลากหลายของพื้นที่ ซึ่งก่อนที่จะเริ่มต้นดำเนินโครงการได้มีการจัดประชุมเภสัชกรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อทำความเข้าใจในหลักเกณฑ์ร่วมกัน รวมถึงกำหนดกระบวนการและภารกิจของจังหวัดในการนำหลักเกณฑ์ไปใช้ ตลอดจนร่วมวางแผนการดำเนินให้สอดคล้องกันในระดับภาค กระทั่งสุดท้ายจึงปรากฏเป็นผลการจัดอันดับสินค้าไม่ปลอดภัยทั้งในระดับจังหวัดและระดับภาคที่สามารถนำไปเป็นแนวปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาต่อไปได้
+ ถอดบทเรียนคุ้มครองผู้บริโภคระดับจังหวัด
โครงการจัดลำดับความสำคัญสินค้าไม่ปลอดภัยฯ บรรลุจุดประสงค์ด้วยดี โดยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้ง 4 ภาค รวมทั้งสิ้น 65 จังหวัด ซึ่งแต่ละจังหวัดล้วนมีรูปแบบและขั้นตอนการดำเนินการที่น่าศึกษาติดตาม ดังกรณีตัวอย่าง อาทิ
- เชียงใหม่
เริ่มจากการประชุมทำความเข้าใจในนิยาม ‘สินค้าไม่ปลอดภัย’ และพิจารณาครอบคลุมไปถึงบริการด้านสุขภาพและการโฆษณา โดยคำนึงถึงประเด็นปัญหาที่หน่วยงานรัฐหรือองค์กรผู้บริโภคให้ความสนใจ ปัญหาเรื่องร้องเรียนในพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งสามารถประมวลข้อมูลสินค้าไม่ปลอดภัยได้ทั้งสิ้น 30 ประเด็นปัญหา
จากนั้นที่ประชุมจึงมีลงคะแนนสินค้าไม่ปลอดภัยในแต่ละรายการ โดยมีปัจจัยชี้วัด ได้แก่ อันตราย ความเสี่ยง ผลกระทบ จำนวนผู้ได้รับผลกระทบ และความถี่ นอกจากนี้ ยังกำหนดระดับความเสี่ยงของสินค้าไม่ปลอดภัยไว้ 4 ระดับ ได้แก่
ระดับ 1 ไม่รุนแรง อาจมีการโฆษณาเพียงบางช่องทางและไม่มีผู้หลงเชื่อ
ระดับ 2 รุนแรงน้อย เช่น การโฆษณาที่ขัดต่อวัฒนธรรม
ระดับ 3 รุนแรงมาก มีการเผยแพร่หลายช่องทาง หลอกลวง โอ้อวด ทำให้หลงเชื่อ
ระดับ 4 รุนแรงมากที่สุด เช่น มีการเผยแพร่หลายช่องทาง ทำให้หลงเชื่อ และมีการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมากทั่วจังหวัด
หลังจากลงคะแนนคัดเลือกสินค้าไม่ปลอดภัยได้ 10 อันดับแรกแล้ว ยังมีการจัดเรียงลำดับโอกาสในการแก้ปัญหา เพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาให้แก่ผู้บริโภคในจังหวัดเชียงใหม่
- นครสวรรค์
การค้นหาผลิตภัณฑ์ไม่ปลอดภัย ตั้งหลักด้วยการแจกแบบสอบถามไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 200 ชุด จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาทำการจัดกลุ่ม ทั้งนี้ มีข้อสังเกตจากแบบสอบถามจำนวนมากที่มุ่งเสนอให้พิจารณาถึงกรณีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง เนื่องจากปัญหาดังกล่าวทำให้ประชาชนหลงเชื่อและสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก
ที่ประชุมจึงได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาไว้อย่างหลากหลาย ดังนี้
- ให้หน่วยงานสาธารณสุขจัดเวทีให้ความรู้แก่ผู้บริโภคผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ได้แก่ เฟซบุ้ค สื่อวิทยุ โทรทัศน์ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภค
- จัดหน่วยบริการที่สามารถให้คำตอบแก่ผู้บริโภค กรณีที่มีความสงสัยในตัวผลิตภัณฑ์ต่างๆ
- มีการสื่อสารที่เข้าถึงผู้บริโภคในระดับหมู่บ้านและชุมชน ผ่านกลไกของกระทรวงมหาดไทย เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
- เน้นการรับเรื่องร้องเรียนกรณีการโฆษณาเกินจริง โดยใช้เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคระดับจังหวัด
- สร้างจิตสำนึกที่ดีแก่สื่อต่างๆ ในการเผยแพร่โฆษณา และให้ข้อเท็จจริงแก่ผู้บริโภค
- มุกดาหาร
กรณีสินค้าไม่ปลอดภัยที่จังหวัดมุกดาหารพบว่า สินค้าที่มีความเสี่ยงสูงสุดส่วนใหญ่คือ สินค้าด้านการเกษตร โดยเฉพาะการตกค้างของสารเคมีและยาฆ่าแมลงในพืชผักผลไม้ เช่น พริกสด กะหล่ำปลี ต้นหอม ผักชี กระเทียม หอมแดง และพริกหยวก เป็นต้น รวมทั้งพบการใช้สารเคมีฆ่าหอยเชอร์รี่ในนาข้าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง และยังเป็นแหล่งต้นน้ำในการทำเกษตรกรรม
นอกจากนี้ ยังพบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัย เช่น ยาแผนโบราณที่มีการโฆษณาผ่านทางวิทยุชุมชน โดยมีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง
ผลจากการประมวลข้อมูลดังกล่าวนำมาสู่ข้อเสนอเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนี้
- ให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ การให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ ซึ่งแนวทางดังกล่าวต้องเข้าถึงตัวแกนนำชุมชน เพื่อให้เป็นปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างในชุมชน
- ออกตรวจร้านขายยา ร้านขายของชำ และตลาดนัดต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจจับยาปลอม หรือเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย
- ใช้มาตรการควบคุมและลงโทษสื่อวิทยุชุมชนที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดในการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัย
- กระบี่
รูปแบบการดำเนินการมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือในเครือข่าย โดยประสานไปยังหน่วยงานภาคต่างๆ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล รพ.สต. ชมรมร้านอาหารจังหวักกระบี่ สภาผู้บริโภคจังหวัด และสมาคมสตรีมุสลิม เพื่อระดมสมองและกำหนดกติกาในฏารคัดเลือกสินค้าไม่ปลอดภัยร่วมกัน
ผลการจากการประชุมทำให้ได้แนวทางจัดการปัญหาในปี 2558 ได้แก่
- การอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ผู้ผลิต และผู้จำหน่าย
- อบรมให้ความรู้แก่ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
- ตรวจประเมินและให้คำแนะนำ ณ สถานที่ผลิต สถานที่จำหน่าย
- เก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพของสินค้า
- ดำเนินคดี กรณีผลการวิเคราะห์ตกมาตรฐาน
จากบทเรียนการทำงานของเครือข่ายความร่วมมือในโครงการนี้ สะท้อนถึงความตื่นตัวของหลายหน่วยงานที่ให้ความสำคัญในการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค และแสดงให้เห็นถึงการสร้างกลไกการทำงานในเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดประโยชน์ทั้งหลายย่อมตกอยู่ที่ประชาชนที่จะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นและห่างไกลจากสินค้าหลอกลวง
เหนือสิ่งอื่นใด หากมีการส่งต่อข้อมูล ถ่ายทอดความรู้ เชื่อมโยงจากระดับจังหวัดไปสู่ภูมิภาค และสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภคในวงกว้าง ย่อมมีโอกาสที่จะนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบายที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต