“ตอนแรกที่เรามาถึงที่นี่ยังมีน้ำมีไฟ แต่ราว 4 เดือนหลังจากนั้น น้ำก็ไม่ไหล และไม่มีไฟฟ้าอีกเลย” หนึ่งในบางวรรคตอนของเรื่องเล่าออกจากปากเธอ
“ตอนเปิดไฟแล้วไม่สว่าง เปิดก๊อกแล้วน้ำไม่ไหล คุณป้ารู้สึกยังไง?” นักข่าวคนหนึ่งตั้งคำถาม
มันเป็นบทสนทนาในบ่ายวันหนึ่ง ระหว่างเราคณะสื่อมวลชน และเขา นางมาเล ชาวทวายอายุ 50 ปี หลังเธอและสามี นายเอส่วย ย้ายจาก ‘ชาคัม’ หมู่บ้านชายทะเลที่อยู่ห่างออกไปจากกิโลเมตรที่ 0 ไม่ไกลนักหากนับระยะก้าวจากบ้านหลังปัจจุบัน
หมู่บ้านบาวาร์ รอยยิ้มแห่งความเงียบ
กิโลเมตรที่ 0 คือจุดเริ่มต้นโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ส่วนชาคัม เป็น 1 ใน 22 หมู่บ้านที่รัฐบาลให้ย้ายออกไปเพื่อเคลียร์พื้นที่เตรียมก่อสร้างโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ชาคัมเป็นหมู่บ้านแรกที่ถูกเลือกให้ต้องอพยพ นางมาเลและนายเอส่วยเดินทางมาที่นี่พร้อมเพื่อนบ้านอีก 3 ครอบครัว แต่เพียง 10 วันผ่าน เพื่อนบ้านที่เดินทางมาพร้อมกันก็เลือกเดินจากไป
“พอจะทราบมั้ย อีก 3 หลังที่ย้ายออก ย้ายเพราะอะไร” นักข่าวคนเดิมถามต่อ
“ครอบครัวหนึ่ง ลูกไม่สบายเป็นอัมพฤกษ์ อยู่ในบ้านแบบนี้ไม่ได้ ที่เหลือมีญาติอยู่ที่อื่น เขาก็ย้ายออกไป” คำตอบของนางมาเลทำให้คิ้วของเราขมวดเข้าหากัน หน้าผากของเราย่น ขณะที่มือก็ถูกยกขึ้นไปเกาหัว
ท่ามกลางบ้านสร้างด้วยปูนสองชั้นสภาพดีจำนวน 480 หลัง มีเพียงครอบครัวนางมาเล และเอส่วย เท่านั้นที่อาศัยอยู่ มองรายรอบแล้วสับสนว่าคนที่นี่คิดอ่านอย่างไร หากนำบ้านเหล่านี้ไปเปรียบเทียบกับเพิงไม้ปลูกสร้างอย่างง่ายที่หลายคนเรียกมันว่า ‘บ้าน’ ที่นี่ดีกว่าเยอะมาก แต่ก็อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น คนที่ย้ายเข้ามากลับเลือกที่จะเมินมัน ตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ไม่มีสมาชิกใหม่อีกเลย
ผ่าน 6 ปี นับจาก พ.ศ. 2556 ถึงวันนี้มีเพียงนางมาเลและนายเอส่วยเท่านั้นที่ยังคงปักหลักอยู่ที่นี่ ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ไม่มีเพื่อนบ้าน ไม่ย้ายออกไปไหน และทั้งหมดที่ว่ามาตอบคำถามข้างต้นอย่างย่นย่อว่า เธอไม่รู้สึกว่ามันเป็นความยากลำบากประการใด โดยเฉพาะหากเทียบกับชาคัมที่จากมา
“ตอนอยู่หมู่บ้านชาคัมก็ใช้ตะเกียง มาอยู่ที่นี่ไม่มีไฟฟ้า อยู่ที่โน่นใช้น้ำบ่อ มาอยู่นี่น้ำไม่ไหล ก็กลับไปใช้น้ำบ่อ ไม่ต่างจากหมู่บ้านเดิม เลยไม่ได้รู้สึกอะไร” คำตอบของเธอนอกจากไม่แสดงถึงความทุกข์โศกแล้ว ยังเคล้าด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะตลอดเวลา
‘บาวาร์’ เป็นหมู่บ้านที่บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาโครงการทวายเป็นผู้รับหน้าที่ก่อสร้างบ้านเรือนจำนวน 480 หลังเตรียมไว้ให้ผู้อพยพจากบริเวณกิโลเมตรที่ 0 ให้เข้ามาอยู่อาศัย วัดจากหมู่บ้านเดิมที่จากมา หากเดินทางด้วยรถยนต์ใช้เวลาราวชั่วโมงเศษ ระหว่างคือผืนดินแตกระแหง ภูเขา ป่าไม้ และบ้านเรือนที่ตั้งห่างกันอย่างกระจัดกระจาย
นับระยะทางเป็นกิโลเมตร บาวาร์อยู่ห่างจากตัวเมือง ซึ่งเท่ากับที่ตั้งของโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดประมาณ 35 กิโลเมตร มันเป็นระยะทางที่ดูเหมือนไม่ไกล แต่หากคำนวณตามการเดินทางด้วยรถยนต์ซึ่งทำความเร็วได้สูงสุดราว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะถนนลาดชันและยังไม่มีการราดยางมะตอย มองตามรถคันหน้าจะเห็นฝุ่นสีแดงจากดินและลูกรังคลุ้ง กระทั่งการลดกระจกรถยนต์กลายเป็นสิ่งต้องห้าม คนที่พอมีเงินหน่อยอาจใช้รถมอเตอร์ไซค์สัญจรไปมา แต่คนอีกจำนวนมากที่เราพบเห็นระหว่างทางใช้การเดินเท้า หนึ่งในรอยเท้าคู่นั้นเป็นของนางมาเล ทั้งเพื่อติดต่อทำธุระ และเพื่อนำผักจากสวนข้างบ้านไปขายที่ตลาด
หมู่บ้านบาวาร์เดิมเคยมีชาวบ้านอาศัยอยู่ 15 ครอบครัว ปัจจุบันเหลือ 4 ครอบครัวที่ยังปักหลักในบ้านหลังเดิมไม่ย้ายไปไหน ขณะที่ชาวบ้านคนอื่นในแถบนั้นถูกเวนคืนที่ดิน – ที่ดินที่แปลว่าวิถีชีวิตเดิมและที่ทำกิน ในวันที่เราไปถึง บางคนกลับมาปลูกผักโดยใช้พื้นที่ว่างระหว่างบ้านแต่ละหลัง ขุดดินอย่างง่าย หย่อนเมล็ดพันธุ์ ใช้น้ำบ่อดินสลับกับน้ำฟ้าคอยรินรดหล่อเลี้ยงให้พวกมันเติบโตในสักวัน
ทวายในวาบแรก
ถ้าพูดถึง ‘ทวาย’ คุณนึกถึงอะไร?
คำถามถูกจุดขึ้น ณ ห้องประชุมที่ใช้บรีฟคณะสื่อมวลชนก่อนเดินทางไปที่นั่น เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย คำถามจากภายนอกกลับกลายเป็นคำตอบสู่ภายในผ่านภาษาที่ไม่ไพเราะ… ‘เ-ี้ย’ ประโยคนี้โผล่ขึ้นมาในความรู้สึกแรก ตอบแค่เคยได้ยินคีย์เวิร์ด ‘ท่าเรือน้ำลึก’ กับ ‘นิคมอุตสาหกรรม’ จะผิดบาปไหมนะ? – เราคิด
โครงการนี้เป็นเมกะโปรเจ็คท์อันเกิดจากการลงทุนระหว่างรัฐบาลไทย-เมียนมาร์ที่ไม่เดินหน้า ไม่ถอยหลัง เหมือนจะไม่มีอะไร แต่ก็มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา และมีคนที่ได้รับผลกระทบในช่วงพัฒนาโครงการแล้วจริงๆ และที่สำคัญคือ – ใครสักคนอธิบาย
จริงอยู่ที่ประเทศไทยกับเมียนมาร์เป็นเพื่อนใกล้เรือนเคียง แต่คำถามสำคัญ ‘แล้วเราไปเกี่ยวอะไรกับโครงการนี้ด้วย?’
คำตอบอย่างย่นย่อคือ ในภาพใหญ่ โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายริเริ่มในปี 2553 แบ่งเป็นสองเป้าหมายใหญ่ตามชื่อเรียก คือ หนึ่ง-โครงข่ายคมนาคมระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เรียกว่า ‘ระเบียงเศรษฐกิจทางตอนใต้’ (Southern Economic Corridor) มีท่าเรือน้ำลึกทวายเป็นศูนย์กลางการขนส่งในเมียนมาร์สู่ท่าเรือแหลมฉบังในภาคตะวันออกของไทย ในเป้าหมายนี้ยังมีการสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างทวาย สู่จุดผ่านแดนบ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี ในแผนงานยังมีโครงการสร้างถนนผ่านแนวเส้นทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 81 สายบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี-บ้านน้ำพุร้อน จังหวัดกาญจนบุรี อีกด้วย
สอง-พื้นที่นิคมอุตสาหกรรม กินพื้นที่ 196 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 10 เท่า คาดการณ์ว่าจะสร้างเม็ดเงินลงทุนมากกว่า 300,000 ล้านบาท ในพื้นที่นี้จะมีทั้งอุตสาหกรรมหนักและเบา เช่น ปิโตรเคมี โรงงานผลิตเหล็ก โรงงานผลิตปุ๋ยเคมี โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์
ทวายในวาบถัดมา
ถามย้ำอีกครั้ง แล้วเราไปเกี่ยวอะไรด้วย?
ตอบด้วยสถานะโครงสร้างผู้ถือหุ้นปัจจุบัน เรา-รัฐบาลไทย คือหนึ่งในผู้ถือหุ้นโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ร่วมกับรัฐบาลเมียนมาร์และรัฐบาลญี่ปุ่น ผ่านบริษัทนิติบุคคลเฉพาะกิจ หรือที่เรียกว่า SVP (Special Purpose Vehicle) ในชื่อบริษัท ทวาย เอสซีแซ็ท ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (Dawei SEZ Development Company Limited)
ทั้งสามฝ่ายได้เซ็น The Memorandum of Intent (MOI) หรือบันทึกเจตจำนงร่วมกันพัฒนาโครงการทวายระยะสมบูรณ์ แบ่งสัดส่วนถือหุ้นเท่ากันทั้ง 3 ฝ่ายคือร้อยละ 33.33 โดยรัฐบาลไทยถือหุ้นผ่านสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) หรือ Neighbouring Countries Economic Development Cooperation Agency (Public Organization) ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า NEDA ในสังกัดกระทรวงการคลัง
โดยล่าสุด ปี 2561 NEDA ปล่อยเงินกู้ผ่อนปรนให้รัฐบาลเมียนมาร์จำนวน 4,500 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงถนนสองช่องทางจากจุดผ่านแดนบ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี ไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ระยะทางประมาณ 138 กิโลเมตร
“การทำงานของ NEDA เหมือนโมเดลของ ADB (ธนาคารพัฒนาเอเชีย) ที่ให้เงินกู้แก่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยในอัตราการเงินกู้ที่ NEDA ให้ได้ต่อโครงการมากที่สุดประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่โครงการนี้อนุมัติ 4,500 ล้าน เกินอัตราที่ NEDA จะให้ได้ แต่รัฐบาลไทยก็อนุมัติ และอนุมัติด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ 0.1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี” ธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร นักวิจัยและคณะทำงานติดตามความรับผิดชอบในการลงทุนข้ามพรมแดนของไทย อธิบาย
อีกหนึ่งตัวละครจากบริษัทเอกชนไทยที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการคือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด ซึ่งในระยะพัฒนาโครงการ (2553-2556) ขณะนั้น บมจ. อิตาเลียนไทยฯ ได้สัญญาสัมปทานเป็นเวลา 60 ปี แต่เนื่องจากโครงการยังประสบปัญหาขาดแหล่งทุน โดยตลอดระยะเวลา 3 ปีแรกของการลงทุน (2553-2556) บมจ. อิตาเลียนไทยฯ ไม่สามารถหาเงินและผู้ร่วมลงทุนท่าเรือทวายและนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายได้ตามสัญญา ในปี 2556 บริษัทจึงต้องหลีกทางให้ผู้รับสัมปทานรายใหม่ ประเทศไทยจึงดึงรัฐบาลญี่ปุ่นเข้ามาเป็นผู้ร่วมลงทุนแทน
อย่างไรก็ตาม แม้ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ จะถูกยกเลิกสัญญาฯ แต่ยังกลับเข้ามาเป็นผู้พัฒนาโครงการทวายระยะแรก (Initial Phase) บนพื้นที่ราว 27 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเติมอีก 8 ตารางกิโลเมตร
เล็กลงมาในระดับการปฏิบัติงาน อ้างอิงจากรายงาน ‘เสียงจากชุมชน: ข้อกังวลเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวข้อง’ คาดการณ์ว่า โครงการนี้อาจส่งผลกระทบต่อชาวบ้านทั้งหมด 36 หมู่บ้าน จำนวน 43,000 คน ทั้งในแง่ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และอาจเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีผู้สูญเสียที่ดินทำกิน ต้องย้ายถิ่นฐาน และคุณภาพชีวิตไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น
ทั้งหมดนี้อาจพอตอบคำถามได้ ‘เรา’ เข้าไปเกี่ยวดองหนองยุ่งอะไรกับโครงการนี้
กาโมต่วย เบี้ยที่ไม่ยอมใบ้
ถ้านางมาเลและนายเอส่วย แห่งหมู่บ้านบาวาร์ คือตัวแทนของประชาชนที่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานออกจากแนวเขตนิคมอุตสาหกรรม ‘กลุ่มพื้นที่กาโมต่วย’ แห่งผู้บ้านกะเหรี่ยง คือตัวแทนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการตัดเชื่อมถนนระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและด่านพรมแดนของไทยตรงบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี
กลุ่มพื้นที่กาโมต่วยเคยประท้วงด้วยการปิดเส้นทางก่อสร้างถนนเพื่อขัดขวางการก่อสร้าง รวมถึงเคยแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการนำก้อนหินมากองเป็นภูเขาขนาดเล็กเพื่อสื่อความหมายว่า พวกเขาไม่ยอมตกเป็นเบี้ยในกระดานการพัฒนา
อู เย อ่อง ผู้นำชาวกะเหรี่ยง หมู่บ้านกะเลจี หนึ่งใน 12 หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากการตัดถนน และหนึ่งในตัวแทน ‘กลุ่มพื้นที่กาโมต่วย’ อธิบายถึงปัญหาว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการตัดถนนที่มากพอ เช่น ไม่รู้ว่าโครงการจะเริ่มดำเนินการเมื่อไร วันดีคืนร้ายมีรถแทรคเตอร์เข้าไปล้มต้นไม้ในเรือกสวนไร่นาโดยที่ชาวบ้านไม่เคยรู้มาก่อน บางพื้นที่มีการระเบิดภูเขาทำให้เกิดปัญหาดินถล่ม ดินไหลจากที่สูงลงทับที่นาของชุมชนและทางน้ำธรรมชาติ นอกจากนี้มีปัญหาเรื่องค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรม ชาวบ้านบางคนไม่ได้ค่าชดเชย บางคนไม่ได้ หรือได้ก็ไม่เท่ากัน
ผู้นำชาวกะเหรี่ยงท่านนี้ย้ำว่า ชาวบ้านไม่ได้คัดค้านการสร้างถนน แต่ถนนต้องมาพร้อมความโปร่งใส ชาวบ้านได้รับข้อมูลข่าวสารโดยตรงจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องเปิดให้มีการรับฟังความเห็นจากชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านได้รับข้อมูลจากสื่อมวลชนและเรื่องเล่าจากปากต่อปากเท่านั้น
ขณะที่ Nanc Ka Ngaw Doh Soe อายุ 23 ปี ลูกชายผู้นำหมู่บ้านตะบิวชอง 1 ใน 12 หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงกลุ่มพื้นที่กาโมต่วย บอกกับเราว่า เขาเห็นด้วยกับชาวบ้าน การสร้างถนนต้องโปร่งใสและรับฟังเสียงของชาวบ้าน แต่ยืนยันว่าการพัฒนาต้องเกิดขึ้น เขาเล่าว่าปกติแล้วเด็กๆ ต้องขี่มอเตอร์ไซค์เข้าตัวเมืองทวายเพื่อไปเรียน เจ็บป่วยก็ต้องเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลในตัวเมือง อินเทอร์เน็ตก็ต้องเข้าไปเล่นในตัวเมือง สำหรับเขาแล้ว ถนนจะนำมาซึ่งโรงเรียน โรงพยาบาล และการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ต้องย้ำว่า โครงการต้องโปร่งใสและเป็นธรรมกับชาวบ้าน
อย่างไรก็ตาม บมจ. อิตาเลียนไทยฯ ยืนยันมาตลอดว่า กระบวนการทำโครงการเป็นไปด้วยมาตรฐานสากล รวมทั้งมีการว่าจ้างคณะที่ปรึกษาเข้าไปประเมินผลกระทบเฉพาะโครงการถนนเชื่อมต่อราวเดือนกันยายน 2554 แต่นั่นก็เป็นการประเมินหลังดำเนินการสร้างถนนไปแล้วหนึ่งปี
อรุณสวัสดิ์ ตาบอเส็ก
6 โมงเช้าไม่ขาดไม่เกิน เรายืนอยู่ที่ตลาดปลาตาบอเส็ก (Ta-bo-sek) ชายหาดติดทะเลอันดามันไม่ไกลจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ เรือประมงขนาดเล็กจอดเทียบเรียงรายตามแนวหาด ชาวบ้านทั้งหญิงและชาย ทั้งหนุ่มสาวและวัยกลางคนเดินกันพลุกพล่านเลือกซื้อหาปลาสดๆ ใส่ตะกร้าสานพลาสติกสีสันสดใส แผงปลาที่นี่อยู่บนผืนทราย พ่อค้าแม่ขายเรียงปลาที่เพิ่งขนถ่ายจากเรือประมง ‘แบกะทราย’ อย่างง่าย บางส่วนถูกซื้อปลีกเพื่อไปประกอบอาหาร บางส่วนถูกจับใส่กะละมังขึ้นเทินบนหัวอย่างกระฉับกระเฉงก่อนลำเลียงขึ้นรถกระบะเพื่อนำไปขายต่อ
ที่ตาบอเซ็ก ผู้หญิงทำหน้าที่บนผืนทราย ส่วนผู้ชายทำหน้าที่บนผืนน้ำ
“ดำน้ำลงไปหาปลา ใส่เสื้อสามชั้น กางเกงหนึ่งตัว เอามีดหรือไม่ก็ฉมวกติดตัวลงไปในน้ำไว้จับปลา มีถังออกซิเจนลงไปด้วย แต่น้ำเข้าหน้ากากตลอด ไม่ก็มีไอน้ำตลอดเวลา อันตราย ได้ยินหลายคนตายเพราะจับปลา เสี่ยง แต่รายได้ดีกว่าตอนทำงานที่ไทย” อาชาย ชาวทวายอายุ 29 ปี นั่งคุยกับเรา
อาชายเล่าว่า ตนเพิ่งกลับมาทวายหลังไปทำงานก่อสร้างที่ไทยถึง 10 ปี แม้จะชอบชีวิตที่ประเทศไทยเพราะมีรายได้มั่นคง แต่เมื่อถึงเวลาก็ต้องกลับบ้าน อาชายไม่ใช่คนเดียวที่เราพบเจอและคุยด้วยได้ คนทวายส่วนใหญ่ที่เราพบ พูดภาษาไทยได้คล่องแคล่วเพราะไปทำงานที่ไทยเป็นเวลานาน พวกเขาจากบ้านด้วยเหตุผลคล้ายกันคือ ‘งาน’ แม้จะต้องอยู่ไกลบ้าน แต่ถ้าอดทน ก็เก็บเงินส่งกลับบ้านได้เป็นกอบเป็นกำ
ชาวทวายหลายคนที่เราสนทนาด้วย มักเล่าว่า เมื่อก่อนพวกเขาใช้วิธีเดินเท้าตัดป่าเข้าประเทศไทยผ่านเส้นทวาย-บ้านพุน้ำร้อน ใช้เวลา 2-4 วัน ส่วนคนที่เดินทางในช่วงหลังมานี้สามารถข้ามพรมแดนบนเส้นทางเดียวกันนี้ด้วยรถกระบะหรือรถตู้โดยสาร ระยะเวลาร่นลงมาเหลือเพียงครึ่งวันก็ถึงด่านชายแดนแล้ว แม้จะฝุ่นตลบตลอดการเดินทางและใช้ความเร็วได้ไม่มาก เนื่องจากถนนเต็มไปด้วยหินบดอย่างหยาบทอดตัวลาดชันไปบนขุนเขาและป่ารกชัฏ แต่ก็ดีกว่าลัดเลาะด้วยสองเท้าเป็นไหนๆ
กลับมาพร้อมคำถาม
ระหว่างทางกลับบ้าน จากทวายสู่ประเทศไทย คำถามที่พกติดตัวกลับมาคือ ‘มี’ หรือ ‘ไม่มี’ นิคมอุตสาหกรรมดีกว่ากัน, ‘มี’ หรือ ‘ไม่มี’ การพัฒนาดีกว่ากัน
เราจดจำใบหน้าชาวบ้านทุกคนที่เข้าไปสบตาและพูดคุย คิดถึงระยะเวลานั่งรถเพื่อเข้าไปเก็บข้อมูล คิด ไตร่ตรอง-จากในมุมของตัวเองที่กำลังเดินทางลัดเลาะไปตามถนนลาดชันสู่ปลายทางคือบ้านเรา ที่ซึ่ง-อย่างน้อยโรงเรียน คลินิก และโรงพยาบาลก็สามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามสองข้างทาง
เราจะหยุดการพัฒนาได้อย่างไร ในเมื่อคนทวายแทบทุกคนที่ได้ไปพูดคุย เดินทางออกจากบ้านตัวเองไปหางาน หาเงิน ใช้ชีวิต ที่พวกเขามองว่ามันดีกว่าบ้านเกิด
“ถนนและการพัฒนาไม่ได้เป็นปัญหาในตัวมันเอง แต่ความไม่โปร่งใส การได้รับข้อมูลที่ไม่เท่ากัน ค่าชดเชยที่บางคนได้ บางคนไม่ได้ หรือถึงได้ก็ไม่เท่ากัน และการจัดความสัมพันธ์ต่ำสูงระหว่างทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องแลกกับการพัฒนาชีวิตผู้คนต่างหากที่มันเป็นปัญหา” นักข่าวคนหนึ่งแลกเปลี่ยนในช่วงเวลานั้น
อืม… เท่าที่ยกตัวอย่างมานี้ก็ไม่น้อยเลยนะ – เสียงในวาบความคิดเราผุดออกมา
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการลงพื้นที่ทำข่าว สนับสนุนโดย Earth Journalism Network ภายใต้ Internews และชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย |