เขียนจากบรรทึกของมิตร
ข้าพเจ้าไม่มีเจตน์จำนงติเตียนหรือชิงชัง “ความรัก” อันโลกบูชาว่า อมตะ! ข้าฯไม่มีเจตนาหรือทำลาย “รักสลาย” ในชีวิตอีกมากมายใต้ขอบฟ้า แต่ข้าฯบรรทึกเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เพื่อบูชาและวอนไหว้ให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายและเทพเทพาจงเห็นใจข้าฯผู้ “จนรัก” นี้ด้วยเถิด
Love is mutual devouring absorption. Love is always metabolism of the soul body
การพึมพำของความผาสุก เสียงอันกระท่อนกระแท่นในที่เร้นลับ ซึ่งได้ให้แต่สิ่งสำนึกในความกว้างขวางอย่างเศร้าๆ ของชีวิต และความสุขสั้นๆ นั้นเปนความรักหรือ?
ครั้งหนึ่ง – ข้าพเจ้าพึงเข้าใจว่า “ความรัก” เปนเสมือนหนึ่ง “เหตุการณ์” ที่รู้จักก่อตั้ง สูญสลาย รู้จักโลดแล่น และเฉื่อยชา
ต่อมา – ข้าพเจ้าเข้าใจว่า “ความรัก” นั้นไม่มี เพราะไร้สภาพ ไร้ความแน่นอน ไร้จริงจัง แม้ทั้งโลกจะฟุ่มเฟือยด้วย “รัก” แต่รักนั้นเกิดได้ภายใต้ความไม่เปนตัวตนของมนุษย์ที่มีชีวิตอย่างบ้าระห่ำ
บัดนี้ – ข้าพเจ้าเข้าใจแล้วว่า ไม่มีความรักแท้จริงในอดีต ไม่มีความรักอันแน่นอนในอนาคต และความรักในปัจจุบันนั้นเล่า ก็เปนเพียง “ผลลัพธ์” ของอดีตร่วมกับอนาคต
ดังนั้น, ความรักที่สร้างขึ้นอย่างสวยสดราวกับขอบฟ้าอันวิจิตรพิสดาร – วิมานงามในมโนภาพ หรือจินตนาการนั้นจะไร้ประโยชน์เท่ากับการละเลยต่อความรักในโลกทรรศน์ปัจจุบัน!
แม้กระนั้นข้าพเจ้ายังคลั่งใคล้และปรารถนาความรัก ปรารถนาวงแขนที่เต็มไปด้วยความปราณี เที่ยงธรรม ปรารถนาดวงหน้าที่อ่อนหวานยิ้มละมัย ต้องการน้ำเสียงที่ระรักไปด้วยการยิ้มหวัวและฉอเลาะ – ตลอดร่างที่จะให้ความอบอุ่นแก่สายตาโดยไม่จืดจาง ข้าพเจ้าปรารถนา – ปรารถนานักหนาที่จะได้รักใหม่มาเพื่อชดเชยกับความเสียขวัญในอดีต
ท่ามกลางความเวิ้งว้างของเซนิจิอุกิ ใกล้นางาซากิ ข้าพเจ้าได้เห็นทั้งชีวิต ทั้งเศษอิฐเศษไม้ก่ายกองเปนผุยผง แต่ท่ามกลางผุยผงนั้น ข้าพเจ้าไม่พบแม้เศษกระดูกของเมียรักและลูกน้อย
ฟ้าเอ๋ย! สิ่งใดเล่าที่เคยก้มศีรษะให้อย่างนอบน้อมอ่อนโยน สิ่งใดเล่าที่ข้าพเจ้าโอบอุ้มแล้วหัวร่อร่าเหมือนนกเล็กๆ และสิ่งใดเล่าที่ข้าพเจ้าต้องปล่อยน้ำตาให้ไหลริน ณ บัดนี้ ข้าพเจ้าสาปแช่งชีวิตและสงคราม สาปแช่งโลกและเทพเจ้า เมื่อสร้างให้มาเกิดได้ ทำไมให้อยู่ต่อไปอย่างทรมาน
หลายปี, ชีวิตนี้มีแต่หมองหม่น เหี่ยวแห้งและเลื่อนลอย!
ข้าพเจ้าเนรเทศตัวเองเข้าสู่ดินแดนของปีนัง กลับปะริส แล้วด้นดั้นเข้าโกตาบารู ที่นั้น ความแจ่มจรัสของความรักได้ฉายแสงขึ้น ข้าพเจ้าค่อยๆลืมเหตุการณ์ ค่อยเลือนๆจนดูคล้ายกับตัวได้ละลายหายไปท่ามกลางความผาสุก ท่ามกลางความหอมหวนของไออากาศและโลกทรรศน์อันน่าอัศจรรย์
เมื่อหลายเดือนของความผาสุกผ่านไป ชีวิตก็ถูกลิขิตพรหมกำหนดให้โศกสลดอีกครั้งหนึ่ง – วีน่า – สาวสอางค์ร่างอวบได้จบชีวิตลงต่อหน้าและวงแขนข้าพเจ้า ซึ่งเปนคนไทยคนเดียวที่เศร้าอยู่ในหมู่อังกฤษและมลายูด้วยโรคปอดบวม – ซึ่งไม่น่าจะเปนเลย
หล่อนทิ้งคำสุดท้ายไว้ว่า “Life is cruel, hard as tomorrow’s crisis, soft as yesterday’s pleasure”
ข้าพเจ้ารู้จักความหวานระรื่นของน้ำตาลด้วยการชิม ข้าพเจ้ารู้จักชีวิตก็เพราะใช้ชีวิตมามากมาย แต่ความรักข้าพเจ้าน้อยเกินกว่าจะเข้าใจ ขมขื่นอะไรอย่างนั้น!
ความสุขความฝันสลายไป ความทะเยอทะยานเพื่อชีวิตถดถอย ข้าพเจ้าเศร้า ดังนี้ ชีวิตจึงดิ่งเข้าสู่ความสันโดษและแล่นโลดไปอย่างเศร้าๆ
เมื่อการกลับเมืองไทยไร้ความหมายใดๆ ของความสุข ข้าพเจ้าจึงเร่ร่อนต่อไปตามวิถีของงานและท้อง พนมเปญ ไซ่ง่อน เบียนฮั้ว มินดิน ตูราน นิมบิน และที่สุดฮานอย การโชกโชนถึงปีเต็มๆ ทำให้ข้าพเจ้าได้ทราบซึ้งถึงจิตใจของชาวอินโดจีน รู้ธรรมชาติที่เขียวไปด้วยไร่นาและป่าพฤกษ์ รู้การกู้ชาติของพวกใต้ดิน และฮานอยนี่เองที่ข้าพเจ้าจะประกาศเปนหลุมศพ
หว่างหวา สายญวนผู้มีความรักและดวงตาหยาดเยิ้มที่สุด ได้เข้ามาสู่ชีวิตข้าพเจ้าด้วยพฤติการณ์แปลกนัก หว่างหวารักข้าพเจ้าด้วยชีวิตของหล่อน เราแต่งงานกันด้วยความสุขที่สุดในดินแดนอันระอุที่สุด
เมื่อพูดถึงความรัก ชาติศาสนาหรือผิวพรรณ ไม่ใช่กำแพงอันไร้สัมปชัญญะที่จะกีดกันความรัก ความเข้าใจ ข้าพเจ้ากับหว่างหวารักกัน แต่งงานกัน เปนเรื่องของหัวใจ ของชีวิต แต่วิถีชีวิตนั้นข้าพเจ้าขอยอมยกให้เป็นความสับปลับของพระพรหม – การโคจรของดวงดาวที่มีอำนาจเหนือมนุษย์
แม้ชีวิตจะประสพวิกฤติกาล ประสพแต่ความเสียขวัญมาหลายครา แต่ชีวิตอันขมุกขมัว เต็มไปด้วยสิ่งน่าสพึงกลัวและเร้นลับ ก็เริ่มพบกับแสงทองแห่งความปราโมทย์ แสงแห่งความสว่างไสวที่จะบุกเบิกฟ้าพาความแจ่มใสและอบอุ่นมาให้ชีวิต
บนพื้นไร่ที่แวดล้อมด้วยคนงาน นั่นไร่ของความรัก ความพึงพอใจ ความโล่งโถงของท้องทุ่งและไร่ ได้ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจในภาวะความเปนอยู่อันแท้จริงของชีวิต เปนชีวิตสงบ สันโดษ มีแต่ความสุข เออ! ความผาสุกซึ่งจะจีรังยั่งยืนที่สุด หากข้าพเจ้าได้อยู่กับหว่างหวา และหว่างหวานั้นเปนบุตรสาวคนเดียวของผู้มั่งคั่งคนหนึ่ง ซึ่งเปนหัวหน้าพวกใต้ดินหน่วยใหญ่
แล้ววันเพ็ชฌฆาตก็มาถึง ข้าพเจ้าลืมไม่ได้ในชีวิต เมื่อพูดถึงความเศร้าก็ไม่มีตอนไหนจะเศร้ากว่านี้ ถ้าพูดถึงความหวัง ก็ไม่มีอันใดจะแห้งแล้งอับเฉาไปกว่านี้ ถ้าเปนความฝัน มันก็เปนความฝันที่ถูกทำลายอย่างย่อยยับ ความรู้สึกและภาพได้ถูกประทับไว้ตราบเท่าทุกวันนี้เมื่อนึกถึง
ฝรั่งเศสได้โจมตีไร่ของเราซึ่งเปนที่ตั้งหน่วยใต้ดินแห่งหนึ่ง หว่างหวาได้ทำหน้าที่แทนบิดาหล่อน และสกัดกั้นโจมตีฝรั่งเศสล่าถอยยับเยิน แต่ตอนท้ายนั้นเอง ดวงตาของหล่อนต้องดับสนิทในอ้อมกอด
“ไกรขา เมียรู้ดีว่าทุกๆ สิ่งในชีวิตกำลังเปนที่ปรารถนาของมัจจุราช ความสุข ความรัก ที่เมียได้เฝ้าคิดถึง เฝ้าหวัง เฝ้าห่วง ที่ได้จากไกรและลูกกำลังทะลายไป ไกรขา อย่าได้เสียใจในความผิดหวัง อย่าได้โศกสลดในความล้มเหลวของความแจ่มจรัสของความรัก ความฝัน…”
ข้าพเจ้าจับใบหน้าพลิกขึ้นดู ดวงตาอันหยาดเยิ้มเปนเสน่ห์ แจ่มใสคล้ายดวงดาวได้ปิดสนิทแล้ว เหลือแต่ขนตาอันดำสนิทเหมือนขนนกกาน้ำเปียกชุ่มด้วยน้ำตา
เศร้าเกินไปที่ข้าพเจ้าจะกล่าว หม่นหมองเกินไปที่จะพูดถึง การสูญเสียเมียรักทั้ง ๓ ครั้งเพราะสงคราม เพราะโรคร้าย เพราะการก่อกู้อิสสระภาพ มันปวดและร้าวรานใจ ทั้งพิศวงงงวยไป เหมือนรอบกายข้าพเจ้ามีแต่ความว่างเปล่า – เวิ้งว้าง – !
ความหวัง,ความรัก,ความฝัน ที่ข้าพเจ้าบ่มมาด้วยความจริงใจ ด้วยความปรารถนา ที่สุดก็พบกับความไม่แน่แท้ พบกับความหดหู่เหี่ยวแห้ง ไม่มีความเขียวชอุ่มของไร่ ไม่มีความหวังอันเจิดจ้า ไม่มีความฝันอันน่าพิศมัย รู้แล้ว ทุกๆ สิ่งแม้ความรักซึ่งเปนปกาสิตของชีวิตก็ได้ทำลายไปแล้วเหมือนกลุ่มหมอกที่ทำลายด้วยแรงลม ความฝันซึ่งเคยก่อให้เกิดความเฉิดฉายของชีวิต ได้กลายเปนเพียงสัญลักษณ์ของความทรงจำ ไม่มีอะไรอีกแล้วที่เหลือไว้แก่ชีวิต นอกจากความเจ็บแค้น ปวดร้าวทรมาน และริ้วรอยแห่งบาดแผลของหัวใจ
ดินแดนอื่นไม่มีที่ให้อยู่เพื่อความผาสุก ข้าพเจ้ากลับเมืองไทยตามความประสงค์ของหว่างหวา ที่ไม่ต้องการให้ข้าพเจ้าตกไปเปนเหยื่อกระสุนของฝรั่งเศส แม้หว่างหวาจะไม่กำชับ ข้าพเจ้าก็ต้องกลับ เพราะข้าพเจ้าทนไม่ได้ที่จะไปนั่งมองหลุมฝังศพทุกเย็น และคิดถึงคืนวันที่ผ่านมาในอดีต
ข้าพเจ้าใช้ชีวิตใหม่ ชีวิตที่เต็มไปด้วยการท่องเที่ยวและล้างผลาญ เที่ยวเพื่อให้ความเงียบเหงาเศร้าสร้อยใจบรรเทาลง เที่ยวจนกว่าจะพบปะคนใดคนหนึ่ง ซึ่งมีดวงตางามเหมือนหว่างหวา คนใดคนหนึ่งซึ่งมีเรือนร่างเหมือนวีน่า ทั้งวาจาอ่อนโยนเหมือนฮายาฟูกะ แต่แล้วข้าพเจ้ายังหาไม่ได้
คืนวันผ่านไป เมื่อสิ้นหวังดังตั้งใจ ข้าพเจ้าก็อุทิศชีวิตนี้โดยการแต่งงาน แต่งงานอย่างกะทันหัน บัดนี้ข้าพเจ้าซึ้งแล้วที่ว่ารัก รักนั้น เปนฉันใด !
ชีวิตเปนฐานสำหรับรองรับความผิดพลาด ข้าพเจ้าเองเปนผู้พลาดอีก ไม่เฉพาะแต่ข้าพเจ้าเท่านั้น แม้ผู้ชายอีกมากมายก็ผิดพลาด ที่ถูกความมีใจดีผลักดันชีวิตไปสู่การแต่งงาน โดยไม่คำนึงถึงความบีบคั้น และเหมาะสมของจิตใจตน มุ่งหน้าแต่จะหาความดี และสร้างประโยชน์ให้แก่ญาติพี่น้องของภรรยา สนับสนุนภรรยาซึ่งอ่อนแอ ยืนด้วยสองขาและสมองตนเองไม่ได้ให้บรรลุผล ซึ่งเขามั่นใจในความแข็งแกร่งของจิตใจที่อยู่ได้ด้วยความสงสารและความดีอย่างเดียว แต่ที่สุดความจริงอันเลี่ยงไม่ได้ก็ยังยืนยันแก่ตัวเองว่า แม้จะแข็งแกร่งปานใด ก็จำเปนต้องพิงหัวใจไว้กับอกใดอกหนึ่งซึ่งแข็งแรงกว่า อ่อนหวานกว่า และอกนี้ภรรยาของเขาไม่มีลักษณะจะพิงได้เลย
ข้าพเจ้าทะนงว่าเชี่ยวชาญชีวิตที่เปนจริง ชีวิตเปนสิ่งประหลาดสับสน เปนชุมทางของความยากจนและความสุข ซึ่งคอยแก้ขมวดปมอันขรุขระตลอดไปก็จริง แต่ข้าพเจ้าจำเปนต้องอ่อนข้อต่อชีวิตของการปลิ้นปล้อน เปล่าเปลี่ยว
ข้าพเจ้าเคยภาคภูมิใจที่ได้แต่งงานกับผู้หญิงที่ใครๆ ดูหมิ่น เหยียดหยามในความยากจน และก็สร้างหล่อนให้ยืนหยัดขึ้น และก้าวหน้าไปในความเจริญอย่างรวดเร็ว แต่เดี๋ยวนี้ความภาคภูมิใจหายไปหมด เหลือแต่ความหดหู่ ข้าพเจ้าอายเหลือเกินที่จะสารภาพว่า อารมณ์ที่วูบขึ้นเพราะความเปล่าเปลี่ยว ขาดความซาบซึ้งในความรักและอุดมคตินั้น ได้ทำความแห้งแล้งให้แก่ชีวิตอย่างสาหัส ไม่มีสิ่งที่อ่อนหวานลึกซึ้งที่ทำให้ชีวิตสมรสสดชื่น ขาดการรัดรึงผูกกำชับใดๆ แก่จิตใจ ไม่มีสิ่งใดผ่อนปรนความเหนื่อยเหน็ด ทรมาน เมื่อการเจนตาได้ผ่านพ้นไป
ฉะนั้นในโลกนี้จึงแห้งแล้งว่างเปล่าสำหรับความรัก ซึ่งข้าพเจ้าต้องปลอบประเล้าประโลมใจให้ตัวเองด้วยการทำงานหนัก เพื่อให้สมองคลายความคิดคะนึง ด้วยการเที่ยวจัดเพื่อให้จิตใจได้คลายความชอกช้ำ หาทางสร้างความสดชื่นให้ตัวเอง
ข้าพเจ้าได้พูดกับดอกไม้ ได้กล่าวกับสายลม ข้าพเจ้าผิดแล้ว ความสุขข้าพเจ้าในชีวิตอาจไม่มี เพราะข้าพเจ้ารู้ดีว่าตัวขาดความเอื้ออารีของความรัก ข้าพเจ้าจึงอยู่ด้วยการทำความดี อุทิศตัวเพื่อเปนประโยชน์ของคนอื่นๆ มันเปนพรหมลิขิตพิสดารที่ครองชตาข้าพเจ้าด้วยการให้วาสนาอันบ้าบิ่นสิ้นดี
ข้าพเจ้าเชื่อมั่นเกินไป และคิดว่าชีวิตนี้ถูกต้อง ซึ่งพึ่งสำนึกว่า การหยิบยื่นความปราณี ความจองหอง โดยไร้ความเอ็นดูแก่ชีวิตตัวเองนั้น เสมือนการสร้างหลุมฝังศพจองไว้ก่อนตาย ซึ่งกันเอาความชื่นชมทั้งหลายไว้หมดสิ้น
ข้าพเจ้ากำลังทนชีวิตอันเปล่าเปลี่ยวและตรากตรำไม่ไหว ข้าพเจ้ากำลังหาที่พิงพักแห่งหนึ่งสำหรับ “นั่งตาย” ข้าพเจ้าอยากจะเอนหรืออิงอกใครคนหนึ่งที่แข็งแรง มีหัวใจเต้นถี่ด้วยความรักที่มีต่อข้าพเจ้า เช่นหว่างหวา ร่างใดร่างหนึ่งซึ่งดูงามสะอาดเสมือนร่างของวีน่า เสียงใดเสียงหนึ่งซึ่งแจ่มใสกังวาฬไปด้วยเสียงกระซิบและยิ้มหวัว ขอให้ข้าพเจ้าพอได้รับความอบอุ่น คลายจากความหนาวเหน็บแม้เพียงเล็กน้อย
ข้าพเจ้าได้พบแล้วเดี๋ยวนี้กับร่างของวีน่า พบแล้วน้ำเสียงและความแจ่มใสอ่อนโยนเหมือนกับฮายาฟูกะ แต่ในร่างนั้น เสียงนั้น ไม่มีความรักของหว่างหวา ข้าพเจ้าจึงขาดแขนที่จะมาโอบกอด ขาดลมอุ่นที่ผ่านมาถูกแก้มอย่างทนุถนอม เพื่อให้ชีวิตและเรือนร่างข้าพเจ้าเกิดความปีติ ให้พ้นจากความว้าเหว่เดียวดาย คลายจากความเงียบเหงา ขมขื่น
ความรักของเจ้าของร่างนั้นอยู่ไหน คนที่ข้าพเจ้ารักไปไหน สายลมยังไม่พูดให้กระแสร์เสียงของข้าพเจ้าไปถึงหูหล่อนอีกหรือ ?
ข้าพเจ้ายอมให้จิตใจถูกลงทัณฑ์ขึงพืดอยู่เช่นนี้จนกว่ามันจะตรอมลงไป ข้าพเจ้าจะไม่แก้ไขอะไรในตัวเอง จะไม่ตามใจโลก ไม่ตามใจใคร ข้าพเจ้ายอมแพ้ต่อชะตากรรม ยอมเศร้า เพราะโลกนี้เปนที่อยู่ของความเศร้า ไม่ใช่สวรรค์อย่างที่ใครๆ กล่าว
หญิงงามมีอยู่ทั่วไป แต่หญิงที่ถูกใจมีอยู่คนเดียว ! ฟ้าเอ๋ย จงเปนพยานเถิด ข้าพเจ้าไม่อยากให้หญิงนั้นเปนพี่เปนน้อง เป็นเพื่อน ถ้าเปนได้ขอให้เปนทั้ง “เบาะ” และ “ดวงใจ”
ถ้าผู้เป็นเจ้าของรักรู้เรื่อง ขออย่าได้ทอดทิ้งข้าพเจ้าอย่างมึนชา อย่าทำให้วิญญาณข้าพเจ้าต้องง่อย ไร้ความดิ้นรน อย่าได้สร้างความหนาวเหน็บให้ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าอดเยือกเย็นใจไม่ได้ เมื่อมีกลิ่นดอกไม้ระเหยมากับสายลม ข้าพเจ้าต้องการความอบอุ่น แต่อะไรจะให้ข้าพเจ้าอบอุ่น มันอยู่ที่ไหน – ทำไมข้าพเจ้าจะหาได้? อุ่นกายพอหยิบได้จากผืนผ้า แต่อุ่นใจข้าพเจ้าจะคว้าไขว่ได้จากทางไหน
ข้าพเจ้าปรารถนาความรัก ข้าพเจ้าคอยความรัก คอยคนที่เขาจะรัก หากเขาสงสาร หากเขาเมตตา – หากเขาปราณี
“Well married, a man is winged, ill matches, he is shackled”
ท่านผู้อ่านจงเห็นใจเขา ข้าพเจ้าอุตส่าห์ลอกบรรทึกของไกรวัลย์สหายคนนี้ ก็เพื่อจะแจ้งให้คนที่เขารักรู้ เพราะพระพุทธเจ้าเคยตรัสกับวาสิฏฐีว่า “ที่ไหนมีความรัก ที่นั่นมีความทุกข์” ข้าพเจ้ารู้ว่าเจ้าของบรรทึกนี้มีทุกข์ เมื่อผู้ใดที่เขารักรู้ว่าเขาทุกข์ จงเปลื้องทุกข์ให้เขา ช่วยให้เขาพ้นจากการทรมาน เพราะข้าพเจ้าเห็นใจเขา ถ้าเขาพบรักที่เปนทุกข์ ผู้ใดช่วยทุกข์เขา ผู้นั้นจะได้กุศล ถ้าผู้ใดทำให้เขาทุกข์ ผู้นั้นจะทุกข์หนัก จงปราณีแก่เขา ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าชีวิตของเขาจะเปนของท่านโดยแท้จริง
หมายเหตุ: ภาษา สะกดการันต์ และเครื่องหมายวรรคตอน คงไว้ตามต้นฉบับ
พิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ไทยลานนา ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑๒๗ วันพฤหัสบดีที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ ราคาจำหน่าย ๑ บาท
‘นิยายรัก’ ของนักเขียนไซไฟ จันตรี ศิริบุญรอด
นักอ่านในช่วงรอยต่อของทศวรรษ 2490-2500 จะรู้จักชื่อเสียงของ จันตรี ศิริบุญรอด ในฐานะของนักเขียน ‘นิยายวิทยาศาสตร์’ หรือ Science Fiction Writer ที่จันตรีเคยเรียกว่า ‘จินตนิยายวิทยาศาสตร์’ เนื่องจากเขาเป็นนักเขียน นักประพันธ์ ที่มีชื่อเสียงในแนวทางนี้ และมีผลงานในเรื่องนี้มากที่สุดในชั่วเวลาสั้นๆ ของชีวิต
จันตรี ศิริบุญรอด เกิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2460 บางแห่งให้ข้อมูลว่า เขาเป็นคนฝั่งธนบุรี บ้านเกิดอยู่แถวๆ กรมอู่ทหารเรือ แต่ลูกศิษย์คนหนึ่งของเขาที่เคยเรียนหนังสือชั้นมัธยมกับเขาที่โรงเรียนเคนเน็ต แมคเคนซี่ ในช่วงปี พ.ศ. 2493-2495 ที่จังหวัดลำปาง ได้ให้ข้อมูลว่าจันตรีเป็นคนจังหวัดสงขลา เข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น เคยเป็นเด็กวัดระฆังโฆษิตาราม เคยเรียนกวดวิชาด้วยตัวเองจนสอบเทียบชั้นมัธยม 8 ได้ในสมัยนั้น และเข้าเรียนวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แต่ทว่าเรียนไม่จบ เพราะมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ต่อมาได้เข้าทำงานที่กรมเชื้อเพลิง แต่งงานเมื่ออายุ 24 กับสาวฝั่งธน ชื่อ สอางค์ มีบุตรธิดาด้วยกัน 10 คน (เสียชีวิต 2 คน) เมื่อลาออกจากงานที่กรมเชื้อเพลิง ก็ไปเป็นครูตามโรงเรียนต่างๆ เช่น โรงเรียนสีตบุตรบำรุง โรงเรียนศรีอักษร ในช่วงเป็นครู ได้เริ่มเขียนหนังสือส่งตามนิตยสารต่างๆ มาตั้งแต่ในรุ่นทศวรรษ 2490 และเคยเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์การเมืองในหน้าหนังสือพิมพ์
“…จนดูเหมือนว่ามีสันติบาลคอยติดตามตลอดเวลา ในที่สุดหนีสันติบาลมาสมัครเป็นครูที่โรงเรียนเคนเน็ต แม็คเคนซี่ ที่ลำปาง” (อ้างใน ‘รำลึก 70 ปี ครูจันตรี ศิริบุญรอด’ จากจดหมายของคุณธีรไชย ศรีธเนศโภไคย: นิตยสาร สะพาน ปีที่ 1 ฉบับที่ 7: มกราคม 2531)
จันตรี ศิริบุญรอด เป็นครูมัธยมสอนวิชาวิทยาศาสตร์ และวิชาอื่นๆ อีกหลายวิชาที่โรงเรียนเคนเน็ต แม็คเคนซี่มาตั้งแต่ในช่วงปี พ.ศ. 2493 ผลงานนิยายรักเรื่อง ที่ว่ารัก…รักนั้นฉันใด เรื่องนี้ จันตรี ศิริบุญรอดเขียนในช่วงที่เป็นครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ที่โรงเรียนมัธยมในจังหวัดลำปาง (มีประวัติว่าก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นครูที่โรงเรียนแสงอรุณ ที่จังหวัดลำปางด้วย) เรื่องสั้น ที่ว่ารัก…รักนั้นฉันใด พิมพ์ครั้งแรกใน นสพ. ไทยลานนา ปีที่ 3 ฉบับที่ 127 วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2496 ไทยลานนา เป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายสัปดาห์ของจังหวัดลำปางที่มีชื่อเสียงในขณะนั้น จาก ‘เอกสารชั้นต้น’ ที่นำมาอ้างนี้ และจากงานเขียนของ จันตรี ศิริบุญรอด ชิ้นนี้ ทำให้เราทราบว่า จันตรี ศิริบุญรอด ไม่ได้เริ่มต้นงานเขียนที่ ‘นิยายวิทยาศาสตร์’ แต่เริ่มต้นที่ ‘นิยายรัก’ อย่างไรก็ตาม เขาก็มีความสนใจในเรื่อง ‘นิยายวิทยาศาสตร์’ ในฐานะครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์มานานแล้ว มากรุงเทพฯ ครั้งใด ก็มักจะเข้าร้านหนังสือ ‘นิพนธ์’ หาซื้อนิตยสาร ‘ไซไฟ’ ของฝรั่งในยุคสมัยนั้นกลับไปลำปางเสมอ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเข้าใจว่าเขารู้จักนักเขียน ‘ไซไฟ’ อย่างเช่น เอช. จี. เวลส์ และ ไอแซค อาซิมอฟ มาตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 2490 นั้นแล้ว และในช่วงทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา ก็อยู่ในไทม์ไลน์ที่ในแวดวง ‘ไซไฟ’ ต่างประเทศเรียกกันว่าเป็น ‘ยุคทอง’ (The Golden Age)
งานเขียน ‘นิยายวิทยาศาสตร์’ ทั้งในแบบเรื่องสั้นและนวนิยายของ จันตรี ศิริบุญรอด มาเริ่มต้นจริงจังครั้งแรก หลังจากที่เขาย้ายจากจังหวัดลำปางมาทำงานร่วมกับ คุณปรีชา อมาตยกุล ซึ่งเป็นบรรณาธิการผู้ก่อตั้งนิตยสาร วิทยาศาสตร์–มหัศจรรย์ ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ที่ร่วมงานกับบริษัทไทยวัฒนาพานิช ก่อเกิดนิตยสารรายเดือนฉบับนี้ขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2498 และต่อมา จันตรี ศิริบุญรอด ได้ขึ้นเป็นบรรณาธิการนิตยสารแทน คุณปรีชา อมาตยกุล จนเมื่อนิตยสาร วิทยาศาสตร์–มหัศจรรย์ ได้ยุติการจัดทำลงในปี พ.ศ. 2503 จันตรี ศิริบุญรอด ก็ได้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ ศิริบุญรอด จัดทำนิตยสาร วิทยาศาสตร์–อัศจรรย์ รายเดือนของตนเอง และจัดพิมพ์นิยาย ‘ไซไฟ’ ที่เขาเขียนขึ้นเป็นหนังสือเล่มในชื่อต่างๆ มากมาย เมื่อรวมชิ้นงานในนิตยสาร วิทยาศาสตร์–มหัศจรรย์ และ วิทยาศาสตร์–อัศจรรย์ ที่มีผลงานเขียนและแปลของเขาแทบจะคนเดียว บทบรรณาธิการ บทความสารคดีทางวิทยาศาสตร์ ชิ้นงานต่างๆ เมื่อรวมแล้ว เข้าใจว่าน่าจะมีมากกว่า 1,000 ชิ้น และแม้ในปัจจุบันก็ยังไม่เคยมีใครนำมารวบรวมจัดพิมพ์อย่างเป็นระบบมาก่อน แม้ว่าในปีนี้ ถ้าเขายังมีชีวิต จันตรี ศิริบุญรอด จะมีชาตกาลครบ 100 ปี
นิยาย ‘ไซไฟ’ ของ จันตรี ศิริบุญรอด สำนักพิมพ์ดวงกมลที่ผมเป็นบรรณาธิการเคยนำเรื่องสั้น ‘ไซไฟ’ บางส่วนมารวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2521 มีทั้งหมด 2 เล่ม คือ ผู้ดับดวงอาทิตย์ และ มนุษย์คู่
จันตรี ศิริบุญรอด ดำรงตนเป็นนักเขียนอิสระมาเรื่อย เขาเคยนำนิยาย ‘ไซไฟ’ หลายเรื่องไปทำเป็นบทละครวิทยุ ทุ่มเทเขียนนิยาย ‘ไซไฟ’ ด้วยใจรัก และใช้เป็นอาชีพเลี้ยงดูครอบครัวมาอย่างสุจริต ไม่สนใจไปประกอบอาชีพอย่างอื่น แม้จะเคยมีผู้ชักชวนให้เขาเข้ารับราชการก็ตาม
จันตรี ศิริบุญรอด ได้ลาลับจากไปอย่างยากจน เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2511 รวมอายุสั้นเพียง 51 ปี จะว่าไปแล้วเขาคือผู้บุกเบิก ทุ่มเท และอาจกล่าวได้ว่าเป็นเพียงผู้เดียวในประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ที่เขียนงาน ‘ไซไฟ’ ไว้มากที่สุด ผลงานเขียนของเขา รวมทั้งปรัชญาวิทยาศาสตร์ที่เขาเขียนไว้ในบทบรรณาธิการของนิตยสาร วิทยาศาสตร์–มหัศจรรย์ และ วิทยาศาสตร์–อัศจรรย์ ล้วนกระจัดกระจายและยังไม่เคยมีการรวบรวมมาจัดพิมพ์อย่างเป็นระบบ เพราะความทุ่มเทที่เป็นเหมือน ‘หนึ่งเดียว’ ในประวัติการเขียน ‘นิยายวิทยาศาสตร์’ ของไทย ผมจึงให้สมญาเขาว่าเป็นเสมือน ‘บิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ไทย’ ทั้งๆ ที่เมื่อเริ่มต้นนั้น เขาเป็นนักเขียนวิจารณ์สังคมการเมือง และเป็นนักเขียนนิยายรัก มีอุดมการณ์ ‘ต่อต้านสงคราม’ ร่วมยุคสมัยในไทม์ไลน์ใกล้เคียงกับกรณี ‘กบฏสันติภาพ’ ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์
เอกสารชั้นต้นเท่าที่ค้นพบ ยังมีงานเขียนแนว ‘นิยายรัก’ ของเขาอีกเรื่องหนึ่งในชื่อว่า ชีวิตที่ถูกลิขิตด้วยดาวหาง แม้ชื่อจะมีคำว่า ‘ดาวหาง’ แต่ก็ปรากฏว่าไม่ใช่ ‘นิยายวิทยาศาสตร์’ แต่เป็น ‘นิยายรัก’ ในลีลาแบบ ‘ต่อสู้กู้ชาติ’ ปรากฏพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ เพลินจิตต์รายเดือน เล่มที่ 15: กรกฎาคม พ.ศ. 2496