WAY to READ: อีกไม่นานเราจะสูญหาย

แปลกหน้าและคาดเดาไม่ได้ ผลักไสและยั่วแหย่ให้เข้าใกล้ – ในคราเดียว

หาก ‘ชินตา’ ตัวละครสาวในนวนิยายขนาดสั้นเล่มนี้มีตัวตนจริง หล่อนคงมีส่วนผสมของลักษณะข้างต้น เป็นเหมือนองค์ประกอบเร้นลับที่บาร์เทนเดอร์หย่อนลงในเชคเกอร์ หลังม่านควันสีเทา แสงสลัว ถูกเขย่าอยู่ในเสียงดนตรีแจ๊ส ก่อนพร่างลงในแก้วก้านสูง ดอกแสงกระทบตกพราว

แน่นอน, ลักษณะของชินตาตรงข้ามกับนามของหล่อนอย่างสิ้นเชิง เราจะไม่คุ้นตาผู้หญิงเช่นหล่อนนัก

ทำไม?

เบื้องต้น – หล่อนเป็นคนสวยแน่ๆ เราจับสังเกตได้จากความบังเอิญที่หล่อนมีผู้ชายเข้ามาในชีวิตมากหน้า ทั้งหมดล้วนเปลี่ยนรูปและสั่นสะเทือนด้านลึกของชินตาได้ไม่มากก็น้อย และนี่เอง คือจุดเด่นหลักของงานประพันธ์เล่มนี้ การพยายามมุดว่ายลงไปสำรวจด้านลึกอันมืดดำ

ความมืดดำที่ไม่ได้หมายถึงชั่วร้ายเสมอไป ทว่าเป็นห้องใต้ดินที่ความสว่างไม่อาจย่างกราย นักเขียนจึงมีหน้าที่จุดเทียนไข เพื่อเดินลงไปพินิจเพียงลำพัง ก่อนกลับขึ้นมารายงานอย่างตรงไปตรงมาและกล้าหาญ

ชีวิตของชินตาเต็มไปด้วยความบังเอิญ บังเอิญ และบังเอิญ ขณะมีส่วนร่วมรับรู้ความเป็นมาของหล่อน เราจะรู้สึกต่อต้าน ต่อต้านบทสนทนาฉลาดๆ ที่หล่อนมีกับคนแปลกหน้า ต่อต้านความคิดอ่านที่หล่อนมีต่อบุพการี ต่อต้านและอิจฉากราฟชีวิตที่พุ่งทะยานและตกเร็วเกินคาด ต่อต้านการประดิดประดอยและประกอบสร้าง

แต่ด้วยความลึกลับอลังการชนิดทำให้หัวใจระรัว เราจะไม่เดินหนีหล่อนไป ไม่อย่างเด็ดขาด ตรงกันข้าม เราจะร่วมลุ้นระทึกไปกับชะตากรรมอันหม่นเศร้าเหมือนที่อ้อมแก้วผู้เขียนตั้งไว้เป็นชื่อเรื่อง

แน่นอนละว่า ในสังคมไทยที่ศีลธรรมความดีถูกขึงกางจนคลุมเป็นหลังคา ตัวละครอย่างชินตาจัดอยู่ในประเภท ‘อยู่ไม่เป็น’

“ฉันจ้องจับยังใบหน้าเปลือยเปล่าของแม่ แสงแดดที่ฉาบทาบบนนั้นช่วยขยายความชัดเจนของริ้วรอยลึกบนผิวหน้าสีซีด ริ้วนั้นปรากฏรอยลึกจนดูเหมือนเชื่อมโยงไปถึงรอยร้าวภายในใจ แต่แล้วอยู่ๆ ฉันก็เกิดนึกชังผู้หญิงตรงหน้าอย่างไม่มีสาเหตุ… “ (หน้า 82)

โครงสร้างหลักๆ ของนวนิยายเรื่องนี้ถูกเล่าผ่านเสียงสามเสียง ทั้งหมดเป็นตัวละครสำคัญที่ชีวิตล้วนจบลงด้วยความพินาศ ตรงนี้คงไม่ขัดใจนักต่อต้านการสปอยล์ เพราะผู้เขียนเองก็ระบุไว้ตั้งแต่บนปกแล้วมิใช่หรือว่า ไม่อาจมีใครหลีกหนีการสูญหาย

วิธีเล่าผ่านเสียงทั้งสาม คล้ายๆ อ้อมแก้วต้องการยืนยันว่า ทุกความพินาศมีเบื้องหลัง มีที่มาที่ไป จงอย่าตัดสินใครด้วยดวงตาอันผิวเผิน

ผู้เขียนเริ่มต้นสื่อสารกับคนอ่านในบทนำ ด้วยบรรยากาศที่เหนือจริง เป็นฉากของเด็กๆ และผู้ปกครองที่ถูกมัด รวมไปถึงเนื้อมนุษย์แช่อยู่ในตู้เย็น มีรสชาติอร่อยเสียด้วย ทั้งหมดเป็นสัญญาณเนิ่นๆ ว่า นับจากนั้นจะไม่มีสิ่งปกติเกิดขึ้นอีกบนหน้ากระดาษที่เหลือ

ส่วนชินตานั้น เราพบหล่อนครั้งแรกนอนจมกองอาเจียนอยู่ในบาร์โปรด จากนั้นเรื่องราวของหล่อนจะค่อยๆ ลากจูงเราไปพบปะน้องชาย มารดาผู้ป่วยทางจิต คนรัก และการรำพันของวิญญาณพ่อ บนความมหัศจรรย์ของสิ่งเหนือธรรมชาติ ความอัปลักษณ์ของทุนนิยม ตัวตนอันตื้นเขิน รวมไปถึงการวิพากษ์ระบบปกครองโดยรัฐบาลที่อ้างว่าตนเป็นคนดี

คำถามสำคัญคือ เราคาดหวังอะไรจากนักเขียนหนึ่งคน

ตัวหนังสือของ อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ เต็มไปด้วยความกราดเกรี้ยว น่าตื่นตะลึง อุดมไปด้วย passion พลังความคิดของเธอเหมือนทะเลคลั่ง หรือสายน้ำเชี่ยว เป็นงานเขียนที่ทำให้ด้านในอกครึกโครมไปกับความสดใหม่ของเสียงเล่า คุคั่งและพังทลายออกมาอย่างไม่บันยะบันยัง

พูดอีกแบบ เราต่างถูกสะกดให้รองานเขียนเล่มต่อไปของอ้อมแก้วอย่างใจจดใจจ่อ

 

อีกไม่นานเราจะสูญหาย
อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ เขียน
สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม

 

Author

สันติสุข กาญจนประกร
อดีตบรรณาธิการเครางาม ปลุกปั้นและปล้ำ WAY มาในยุคนิตยสาร นักสัมภาษณ์ที่ไม่ยอมให้ข้อสงสัยหลงเหลือในประโยคพูดคุย เรียบเรียงถ้อยคำความหล่อบนบรรทัดด้วยทักษะแบบนักประพันธ์ หลังออกไปบ่มเพาะความคิด สันติสุขกลับมาพร้อมรสมือและกลิ่นกายที่คุ้นชิน และแน่นอน ทักษะด้านการเขียนที่ผ่านการเคี่ยวกรำมาย่อมแม่นยำกว่าเดิม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า