เรื่องฝัน: โชคดีที่เป็นแค่ฝัน

หนังสือเล่มนี้คือกราฟิกโนเวลฝีมือของ Jakob Henrichs ศิลปินชาวเยอรมัน ที่ดัดแปลงจากนิยายขนาดสั้นเรื่อง Traumnovelle (เรื่องฝัน) ของ Arthur Schnitzler นักเขียนชาวออสเตรีย

ตัวเรื่องเล่าถึงคู่สามีภรรยาธรรมดาๆ คู่หนึ่ง ฟริโดลิน-คุณหมอหนุ่มหล่อสมาร์ทอาชีพการงานดี และอัลแบร์ทีเน่-คุณแม่บ้านหน้าตาสะสวยกิริยางามใช้ชีวิตตามทำนองคลองธรรม ชีวิตทั้งคู่ดูไม่มีอะไรซับซ้อนที่จะนำพาไปในทางร้าย แต่เรื่องก็เริ่มขึ้นด้วยบทสนทนาธรรมดาๆ ถึงความหลังครั้งทั้งคู่ไปเที่ยวพักผ่อนตากอากาศ เธอเจอใครคนหนึ่ง และเขาก็เจอใครคนหนึ่ง แต่ก็แค่นั้นแหละ แค่เจอ เราอนุมานได้ว่า “ไม่มีอะไรเกิดขึ้น”

แต่น่าแปลก บทสนทนาถึงเรื่องเก่าเหล่านี้ กลับจุดประกายให้กับความรู้สึกลึกลับดำมืดบางอย่าง ความหึงหวง ความเย่อหยิ่ง ความถือดีในตน และสุดท้ายกระตุ้นให้พวกเขาทั้งคู่เลือกทำบางอย่างที่ปกติไม่เคยทำ เข้าไปในงานเต้นรำสวมหน้ากากของสมาคมลับ และพัวพันกับความลึกลับดำมืดในจิตใจมนุษย์

หนังสือเล่มนี้มีทั้งกราฟิกโนเวลและนิยายต้นฉบับจัดพิมพ์ไว้ในเล่มเดียวกัน ตัวนิยายเขียนไว้ตั้งแต่ปี 1925 เพราะฉะนั้นบางเหตุการณ์ในเรื่องจึงไม่ได้เล่าตรงๆ แบบฮาร์ดคอร์ แต่เราก็พอเดาได้จากบริบทว่ามันเกิดอะไรขึ้น ซึ่งพอแปลงเป็นภาษาภาพแล้ว ได้ผลลัพธ์สองประการ หนึ่ง, สิ่งที่คลุมเครือด้วยภาษาชัดเจนขึ้นเป็นรูปธรรม สอง, รูปก็มีอีกภาษา คือภาษาภาพ ที่ให้ความหมายซ้อนลงไปอีกชั้น

กลับไปสู่ความคลุมเครืออีกรอบ แต่เป็นมิติใหม่

ลายเส้นและสไตล์ของ Henrichs แฝงความหมายมากมายนอกจากการวาดเล่าเรื่องตรงไปตรงมา เราจะเห็นการออกแบบตัวละครที่ค่อนไปทางพิสดาร เช่น เด็กไม่มีแขนไม่มีขา คนป่วยที่นอนเป็นแมลงยักษ์อยู่บนเตียง หรือฉากการร่วมสังวาสหมู่ที่พิสดารและทำให้เราไม่แน่ใจว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหรือความฝันของตัวละคร

นอกจากรายละเอียดในองค์ประกอบแล้ว  สิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างคือ โครงสร้าง ถ้านิยายเล่มนี้ได้รับความชื่นชมในแง่

ความเป็นผู้บุกเบิกวรรณกรรมตะวันตกสมัยใหม่ โดยเฉพาะในแง่การเจาะลึกถึงภาวะทางจิตของตัวละครได้อย่างละเอียดและสะท้อนความซับซ้อนของมุนษย์ได้หมดจดจนน่าสะพรึง

การเล่าเรื่องของกราฟิกโนเวลก็ไม่ใช่โครงสร้างแบบที่เราคุ้นเคย การแบ่งช่องของ ‘เรื่องฝัน’ มีฟังก์ชั่นไม่ต่างจากการใช้กลวิธีในการเขียน เช่น มีการเล่าเหตุการณ์สองเรื่องที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน มีการเปรียบเทียบกิจวัตรอันยุ่งเหยิงวุ่นวายของนายแพทย์ที่โรงพยาบาลกับการทำงานบ้านเดิมๆ ซ้ำๆ ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ฯลฯ

เรามีนักเขียนที่ชอบวาดภาพ มีนักออกแบบที่ชอบเขียน และมีหนังสือหลายเล่มที่ใส่ใจกับงานด้านภาพ แต่บ่อยครั้งมักมีความแบ่งชั้นวรรณะกันอยู่ เช่น คนทำหนังสือที่มองว่าภาพก็เป็นแค่ภาพประกอบ ไม่ถือว่ามีคอนเทนต์เล่าเรื่องได้ด้วยตนเอง หรือเหวี่ยงกลับไปอีกขั้วหนึ่ง ก็คือความพิกลพิการน่าสังเวชของถ้อยคำและการสื่อสารของหนังสือที่เน้นภาพเป็นพระเอก

แต่หนังสือเล่มนี้เป็นการสาธิตให้เห็นว่าทั้งสองศาสตร์ต่างมีจุดแข็งของตนเอง และสามารถเป็นแรงบัลดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่ซับซ้อนขึ้นตามสติปัญญาของมนุษย์ได้

เราสามารถละเลียดใช้เวลากับแต่ละหน้ากระดาษได้นาน ถ้าอ่านก่อนนอนคุณอาจเก็บไปฝัน และถ้าอ่านจนจบคุณจะเก็บฝันนั้นไว้กับตัว ไม่ก็บันทึกไว้ในสมุดที่ซ่อนไว้ไม่ให้ใครเห็น เพราะการที่สะดุ้งตื่นขึ้นมาแล้วระลึกว่ามันเป็นแค่ฝัน ไม่ได้ทำให้เราโล่งใจสักเท่าไร

 

เรื่องฝัน (Traumnovelle)
Arthur Schnitzler เรื่อง / Jakob Hinrichs ภาพ
เฟย์ อัศเวศน์ แปล
สำนักพิมพ์ ไต้ฝุ่น สตูดิโอ

 

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า