WAY 2 read: ขบวนการรัฐอิสลาม Islamic State: IS

เรื่อง: นิธิ นิธิวีรกุล

ขบวนการรัฐอิสลาม
อาทิตย์ ทองอินทร์

อย่างย่นย่อและรวบรัด การเกิดขึ้นของ IS เริ่มต้นในวันที่ 7 มิถุนายน 2006 ภายหลัง ซัรกอวี หัวหน้ากลุ่ม AQI (อัลกออิดะฮฺแห่งอิรัก – Al Qaeda in Iraq) ถูกสังหารโดยกองกำลังอเมริกา หลังจากนั้นเมื่อทางกลุ่มประกาศให้อบู อายุบ อัล-มารี ชาวอียิปต์ผู้เชี่ยวชาญการวางระเบิดเป็นผู้นำ อัล-มารีก็ทำการ rebranding ด้วยการเรียกร้องมุสลิมในตะวันออกกลางมาร่วมกับตนภายใต้แบรนด์ที่ชื่อว่า ‘รัฐอิสลามแห่งอิรัก’ (The Islamic State of Iraq: ISI) แล้วยกให้แบรนด์นี้ให้อยู่ภายใต้ CEO ที่ชื่อ อบู อุมัรฺ อัล-บักฮฺดาดี ซึ่งทันทีที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ บักฮฺดาดีก็ประกาศจะผนึกกองกำลังเพื่อต่อต้านขับไล่อเมริกาและพันธมิตร

จากนั้น…

ต้นปี 2008 แนวร่วมตะวันตกและหน่วยความมั่นคงในอิรักได้ร่วมกันสังหารสมาชิก AQI หรือกลุ่มอัลกอิดะฮฺในอิรักไปกว่า 2,400 คน

เมษายน 2013 บักฮฺดาดีประกาศปฏิบัติการในซีเรียและในอิรัก เปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็นรัฐอิสลามแห่งอิรักและอัล – ชาม (The Islamic in Iraq and Syria or the Islamic State in Iraq and Al – Sham: ISIS)

ISIS ที่รู้จักคุ้นเคยถือกำเนิดขึ้น ก่อนจะถูกตัดขาดจาก AQI อย่างสิ้นเชิงในช่วงต้นปี 2014 จวบจน 29 มิถุนายน 2014 กลุ่ม ISIS ที่ยึดครองพื้นที่ในอิรักและซีเรียได้ ‘ในขอบเขตกว้างขวาง’ จึงเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น The Islamic State (IS) หรือ รัฐอิสลาม ก่อนบักฮฺดาดีจะประกาศตั้งตนเป็นเคาพลีฟะฮฺ หรือ ‘กาหลิบ’ องค์ใหม่ เรียกร้องให้ชาวมุสลิมทั่วโลกแสดงการสวามิภักดิ์ต่อตนเอง

จากนี้…

โลกเผชิญภัยก่อการร้ายอย่างที่ไม่เคยเจอ พายุแห่งความรุนแรงด้วยลมหอกของพระเจ้าใต้ผืนธงสีดำอันเป็นสัญลักษณ์ของ IS โบกสะบัดข้ามจากดินแดนอิรักและซีเรีย ไปสู่ทุกมุมโลกเพื่อจะบอกว่า หากไม่สวามิภักดิ์ เจ้าจงยอมรับทัณฑ์จากพระเจ้าแห่งข้า

ขบวนการรัฐอิสลาม โดย อาทิตย์ ทองอินทร์ เป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวก่อนวันที่ 13 พฤศจิกายน 2015 ในเหตุการณ์โจมตีกรุงปารีส ฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นการสร้างความสั่นสะเทือนไปทั้วโลกของขบวนการรัฐอิสลาม เพื่อทำความเข้าใจจุดกำเนิดของใครสักคน กลุ่มสักกลุ่มที่ก่อตัวขึ้นมาเป็นขบวนการ เป็นองค์กร มีระบบจัดการไม่แตกต่างจากบรรษัทข้ามชาติ มีทรัพย์สินนับพันล้านเหรียญทั่วไป และมีโครงสร้างการปกครองที่แบ่งออกเป็นเก้าสภา

เพียงแต่สินค้าของ IS คือ อุดมการณ์และความเชื่อในแนวทางของอิสลามแบบสุดโต่ง ที่เป็นไปได้ว่า การปฏิเสธการซื้อขายอาจจบลงด้วยความตาย

“…อุดมการณ์อิสลามนิยมจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้อง ‘ประดิษฐ์สร้างประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ และสร้างจินตนาการให้กับอนาคต’ ด้วยการคัดเลือกและหยิบยืมประวัติศาสตร์ ตลอดจนหลักคิด/หลักการมาอย่างเฉพาะเจาะจงแค่บางช่วงตอน เพื่อ ‘ให้ความหมายใหม่’…” – หน้า 75

งานชิ้นนี้ไม่เพียงแต่บอกเราถึงประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของขบวนการรัฐอิสลามในแบบของ IS และแบบที่ควรเป็นตามทางของ ‘สะลาฟียฺ’ (ผู้ดำเนินวิถีอันเรียบง่ายตามศาสดาและบรรพชนสามรุ่นแรก) ที่แท้จริง ที่ IS นำไปใช้เป็นข้ออ้างในการก่อการร้าย รวมไปถึงนิยามของคำว่า ‘ญิฮาด’ ซึ่งห่างกันไกลจากความหมายที่เราคุ้นเคย ซึ่งญิฮาดที่แท้แล้วไม่ใช่การทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ต่อคนนอกศาสนาแต่อย่างใด หากแต่เป็น

การต่อสู้ทุกอย่างในวิถีทางของอัลเลาะฮฺ เช่น การต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำของตัวเอง การต่อสู้กับมารร้าย การต่อสู้กับภัยพิบัติ การต่อสู้กับความยากจน การต่อสู้กับความโง่เขลา การต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ การต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในสังคม และการต่อสู้กับพลังชั่วร้ายในโลกทั้งหมด การดิ้นรนต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ถือเป็นญิฮาดทั้งสิ้น

 

หน้า 87

กล่าวได้เลยด้วยซ้ำว่างานชิ้นนี้ของอาทิตย์คือความพยายามชักชวนเราให้กลับมาทบทวนนิยามที่มีต่อคำว่า ‘มุสลิม’ ต่อคำว่า ‘อิสลาม’ ในความหมายที่เราสามารถจำแนกได้อย่างชัดเจนว่า IS แตกต่างจากกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ เช่นไร เพราะอะไรจึงมีการสนับสนุนกองกำลังมูจาฮีดินของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็นเพื่อต่อสู้กับสหภาพโซเวียต ต่อเนื่องมายังนโยบายคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอิรักของ UN ในช่วงสงครามคูเวต กลับกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ให้ต้นไม้แห่งความเกลียดชังเติบโตขึ้นมาเป็นคนอย่าง อุซามะ บิน-ลาเดน คนอย่าง อบู อุมัรฺ อัล-บักฮฺดาดี

ไปจนถึงทำไมธงของ IS ต้องเป็นสีดำ!

และการมองบทบาทการเผยแพร่ข่าวสารของ IS ที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มหนุ่มสาวทั่วโลก กลับมายังประเทศไทยบนความเป็นไปได้ที่ไทยจะมีสมาชิกของ IS แฝงตัวอยู่ในประเทศ

ความไม่จริงใจในการแก้ปัญหาความมั่นคงที่ยังอยู่ในกรอบทางทหารมากกว่าการเมือง

การต่อสู้เพื่อเอาชนะทางความคิดต่อกลุ่มไอเอสจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจกระทำสำเร็จได้เลย เว้นเสียแต่การหวนกลับไปสู่แนวทางสะลาฟียฺอันเป็นต้นธารของการถูกอ้างอิงฉวยใช้ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นแนวทางที่อัล-กุรอานได้ให้คำตอบไว้แล้ว

…แต่ถ้าพวกเจ้าขัดแย้งกันในสิ่งใด ก็จงนำสิ่งนั้นกลับไปยังอัลเลสะฮฺ และเราะซูลฺ…

 

หน้า 180

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ อาทิตย์ไม่ได้ต้องการจะชี้ว่าการกำเนิดขึ้นของ IS มีสาเหตุมาจากแค่เพียงมุสลิมสุดโต่งที่ยึดคัมภีร์อย่างผิดๆ เท่านั้น แต่ยังบอกว่าชาติพันธมิตรตะวันตกมีส่วนเพียงไรที่ผลักคนให้หันไปเข้าสู่ร่มธงสีดำ

พูดให้ชัดกว่านั้น เมล็ดพันธุ์ของขบวนการรัฐอิสลาม ที่นิยมความรุนแรงสุดโต่ง อาจแฝงฝังอยู่ในตัวเราทุกคน และรอเวลาเติบโตกลายเป็น อบู อุมัรฺ อัล-บักฮฺดาดี คนที่สอง หรือ อุซามะ บิน-ลาเดน คนที่สาม

องค์การก่อการร้ายอย่าง IS หรือกลุ่มหัวรุนแรงอื่นๆ จะไร้น้ำยาทันที ถ้าเพียงแต่ไม่มีคนสมาทานแนวคิดนั้น ถ้าเพียงแต่เราหันมาพูดคุยเพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่เข่นฆ่าทำลายล้างที่ในที่สุดท้ายแล้ว คนอย่าง อบู อุมัรฺ อัล-บักฮฺดาดี อาจจะค้นพบเมื่อสายไปว่ามารร้ายที่พยายามจำกัด แท้ที่จริงแล้วสะท้อนอยู่ในบานกระจกตรงหน้านี้เอง

หมายเหตุ: ชื่อภาษาอาหรับใช้การสะกดคำตามเนื้อหาในหนังสือ
ขบวนการรัฐอิสลาม
อาทิตย์ ทองอินทร์
สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต, 2559

 


พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา

Orhan Pamuk
นพมาส แววหงส์: แปล
ณขวัญ ศรีอรุโณทัย: อ่าน

นิยายของนักเขียนชาวตุรกีผู้นี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้วสามเล่ม ทั้งหมดล้วนเล่าถึงภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของชนบางกลุ่มในโลกมุสลิมที่ถูกโอบล้อมจนเปลี่ยนแนวคิดสู่โลกวิสัย (จิตรกรผู้สมาทานศิลปะตะวันตก จาก My Name is Red / กวีหนุ่มผู้ลี้ภัยการเมือง จาก หิมะ / ครอบครัวชนชั้นกลางผู้มั่งคั่ง ในเล่มนี้)

แต่นี่คือนิยายรัก เป็นเรื่องอันยวนเสน่ห์ระหว่าง เคมาล และ ฟูซุน ชายหนุ่มวัย 30 และสาวพรหมจรรย์อายุ 18 เคมาลมีคนรักที่คบหาอยู่แล้วเป็นหญิงสาวชาติตระกูลดีมีการศึกษา แต่เขาดันไปหลงรักฟูซุน สาว ‘หัวสมัยใหม่’ ผู้เป็นญาติห่างๆ ลูกช่างเย็บผ้า ทั้งคู่มีนัดกันทุกวันเวลาบ่ายสองโมง เพื่อ ‘ติวคณิตศาสตร์ เปลื้องสมการ สอดใส่ตัวแปร’ กันตัวต่อตัว

นิยายเล่าถึงวัตถุจัดแสดงแต่ละชิ้น เป็นความทรงจำเข้มข้นของเคมาล จากต่างหูข้างหนึ่งที่หลุดร่วงบนเตียง ถึงสิ่งของประดามีทีละชิ้น ทีละชิ้น

ถ้าอยากลองอ่านเพื่อถอดรหัส ว่าจะเล่าเรื่องเปราะบางทางศาสนาและวัฒนธรรมอย่างไรให้สนุก เล่าเรื่องในพื้นที่และภูมิหลังอันจำเพาะอย่างไร ให้สากลโลกสนใจ เล่มนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มที่เหมาะ เพราะไทยก็คัลท์ไม่แพ้ตุรกี

17 สมการเปลี่ยนโลก

Ian Stewart
สว่าง พงศ์ศิริพัฒน์ และ ยุทธนา ตันติรุ่งโรจน์ชัย: แปล
อธิคม คุณาวุฒิ: อ่าน

ก็ตามชื่อหนังสือนั่นแหละ หนังสือเล่มนี้พูดถึงสมการสำคัญๆ ไล่มาตั้งแต่สามเหลี่ยมของพิธากอรัส / F=mg ของนิวตัน / E=mc2 ของไอน์สไตน์ ฯลฯ

เราก็รู้อยู่ว่า ทุกสมการนำไปสู่หลักไมล์ความรู้ อาทิ การหาความสูงของหิมาลัย การสร้างระเบิดปรมาณู การคิดค้นความรู้ทวนกระแสฟิสิกส์แบบนิวตัน เป็นต้น

คำเตือนคือ หนังสือไม่ได้อ่านง่าย เอาอกเอาใจคนที่ชอบของเคี้ยวง่าย แทบทุกสมการเรียกร้องความรู้เก่า ซึ่งคนที่ไม่ได้เรียนสายวิทย์-คณิต ย่อมมึนเป็นธรรมดา แต่ถ้าข้ามด่านนี้ไปได้จะอ่านสนุก

Revolutionary Russia, 1891-1991

Orlando Figes
รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์: อ่าน

หลังฟังการบรรยายของ อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เรื่องครบรอบ 100 ปีการปฏิวัติรัสเซีย 1917-2017 แต่ด้วยความที่ไม่มีความรู้เรื่องมูลเหตุสะสมในสังคมรัสเซียก่อนการปฏิวัติล้มอำนาจพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เลย ในวันเดียวกัน ผมเดินไปซื้อหนังสือเล่มนี้จากร้านคิโนะคุนิยะ

ก่อนปี 1917 ในยุคจักรวรรดิ ประชาชนต้องเข้าแถวรับขนมปังสำหรับคนยากไร้ ขณะที่ชนชั้นขุนนางยังสุขสบาย มีการตั้งหน่วยงานปกครองท้องถิ่น Zemstvo ที่ปกครองโดย ‘คนดี’ ถูกส่งตรงจากชั้นสูงที่ดีมาทำหน้าที่บริหาร แต่ในความเป็นจริง ไฟจีสใช้คำว่า “Russian society was politicized by the famine” ความอดอยากนี้อยู่คู่สังคมรัสเซียหลายสิบปี จนเกิดปฏิวัติครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 1917 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ไม่นานจากนั้น

หนังสือ introduction ขนาดสั้น เน้นการบรรยาย ไม่ใช่วิชาการ ภาษาอ่านไม่ยาก โดยนักเขียนอังกฤษผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์รัสเซีย ออร์แลนโด ไฟจีส ว่าด้วยสภาพสังคมแห่งความอดอยากและความคั่งแค้นของชาวรัสเซียในปี 1891 จนถึงวันล่มสลายของสหภาพโซเวียตใน 100 ปีถัดมา

เราต่างหลงทางในความเปลี่ยวว้าง

กงจียอง
ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ: แปล
วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์: อ่าน

เล่าเรื่องคู่ขนานระหว่างนักโทษประหารผู้รอวันตายกับหญิงชนชั้นกลางผู้เดินเข้าหาความตายด้วยความพยายามฆ่าตัวตายมาสามครั้ง เรื่องเล่าสองเรื่องเดินทางมาประสานและบรรจบกันที่พื้นที่อย่างเรือนจำของนักโทษประหารชีวิต

เรื่องเล่าจากทั้งสองส่วนแสดงให้เห็นสังคมเกาหลีในฐานที่เป็นแฟคเตอร์หนึ่งที่ผลิตอาชญากร และยังผดุงความอยุติธรรมให้ดำรงไว้ด้วย

อากาศในนิยายหนาวเหน็บ ขาวโพลนด้วยหิมะ แม้นิยายทำตัวเป็นนักสิทธิมนุษยชนผู้ฉะฉานมากกว่าจะปล่อยให้ผู้อ่านสนทนากับตัวละครและรายละเอียดต่างๆ ในนิยายอย่างปลอดโปร่ง แต่เมื่ออ่านในบริบทตอนนี้ก็ท้าทายหลักคิดของเราต่อเรื่องการสนับสนุนหรือยกเลิกโทษประหาร

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า