WAY to READ: ‘จดหมายจากเมืองไทย’ กระจกส่องชาวบางกอกจากมุมมองคนจีนแผ่นดินใหญ่

พีระพัฒน์ สวัสดิรักษ์: อ่าน

พ.ศ. 2488 เรือเดินทะเลบรรทุกชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ข้ามน้ำข้ามทะเลจากดินแดนที่ความแร้นแค้นเริ่มกัดกิน มาเสี่ยงโชคกับชีวิตใหม่ที่พวกเขาต้องการกำหนดชะตาตัวเองในบางกอก ด้วยเหตุที่ก่อนหน้านั้นชาวจีนจำนวนมากเริ่มอพยพเข้ามาตั้งรกรากทำการค้าจนประสบความสำเร็จ บ้างได้เป็นเจ้าของกิจการ บ้างก็ร่ำรวย บ้างก็เป็นนายอากรในระบบราชการของไทย หรืออย่างน้อยที่สุด การทำงานใช้แรงงานก็ยังผลให้พวกเขาพอจะเก็บเงินส่งกลับไปให้ญาติพี่น้องที่บ้านเกิดเมืองนอนได้

ตันส่วงอู๋ คือคนจีนคนหนึ่งที่อยู่บนเรือลำนั้นด้วย

ตันส่วงอู๋ หนีออกจากบ้านมาโดยไม่ได้บอกลาแม่ผู้ให้กำเนิด ทว่าความกตัญญูรู้คุณที่ยังมีอยู่ในตัว บวกกับที่แม่เคยพร่ำสอนให้รู้วิชารู้ภาษาตั้งแต่เด็ก ทำให้เขาตั้งใจเขียนจดหมายส่งไปถึง ลิ้มเง็กฮ้วง ผู้เป็นแม่ บอกเล่าเรื่องราวในชีวิตทุกแง่มุมที่ประสบในเมืองไทย
จดหมายหนึ่งร้อยฉบับถูกส่งไปยังเมืองหน้าด่านของจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจตราจดหมายจากต่างประเทศเก็บเอาไว้ก่อนจะไปถึงปลายทางเสียก่อน ด้วยความต้องการไม่ให้ประชาชนของตนได้รับข่าวชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของญาติมิตรที่ลี้ภัยไปอยู่ต่างแดน และจะเกิดอยากหนีระบบคอมมูนไปสู่แดนเสรีบ้าง การเซ็นเซอร์จดหมายจึงทำให้ความเป็นไปของ ตันส่วงอู๋ ไม่เคยรับรู้ไปถึงผู้เป็นแม่ของเขาเลย

อย่างไรก็ตามเรื่องราวของ หลีบ้วนสุน ข้าราชการชั้นปัญญาชนที่ถือจดหมายหนึ่งร้อยฉบับนี้ กลับหลบหนีเข้ามาในไทยเสียเองใน พ.ศ. 2510 จึงถูกยึดจดหมายไป และได้มีการถอดข้อความ เกลาสำนวนให้เป็นภาษาไทยที่ไม่ขัดหูขัดตานัก จนสุดท้ายได้ตีพิมพ์เผยแพร่ใน สตรีสาร เมื่อปี พ.ศ. 2511-2512 จดหมายจากเมืองไทย โดย โบตั๋น ได้รับรางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมประเภทนวนิยายประจำ พ.ศ. 2512 และถูกรวบรวมเป็นหนังสือเล่มในที่สุด

บางช่วงบางตอนในจดหมายของ ตันส่วงอู๋ วิจารณ์ถึงลักษณะนิสัยของคนไทย ที่หากมองในแง่ร้ายก็อาจเห็นว่าเป็นคำปรามาสดูถูก แต่หากคิดในแง่ดีก็ถือว่าเป็นกระจกสะท้อนความจริง ซึ่งแน่นอนว่าถ้อยความที่เขาเล่าสู่มารดาเป็นการส่วนตัวนั้น ย่อมมีความจริงใจมากกว่าไปสัมภาษณ์ความเห็นของคนจีนคนอื่นๆ ในเมืองไทย

…ในเมืองไทยเขานับถือแผ่นกระดาษยิ่งกว่าความรู้ แผ่นกระดาษที่พ่อว่านี้คือใบรับรองว่าเจ้าเรียนจบมาจากสถานศึกษาแห่งใดแห่งหนึ่ง ถ้ามีของสถานศึกษาที่มีชื่อ เจ้าก็จะหางานง่าย…การเรียนหนังสือไทยนั้นก็เป็นการดีอยู่ดอก แต่อย่าให้ความคิดดูถูกผู้มีความหมั่นเพียรด้วยตัวเองเข้ามาครอบงำจิตใจ เขามักจะเข้าใจผิดว่าประกาศนียบัตรสำคัญยิ่งกว่าความรู้ ลูกต้องปรับตัวของลูกให้เข้ากับพวกนี้ให้ได้

– ส่วนหนึ่งจากคำสอนของพ่อบุญธรรมที่พูดกับ ตันส่วงอู๋ ในระหว่างการเดินเรือ

คนไทยเขานิยมทองคำกันมาก ถือกันว่าใครมีใส่มากๆ แสดงว่าฐานะดี เป็นของต้องอวดกัน วัดฐานะกันด้วยทองที่คอ บางคนลูกเห็นใส่พร้อมกันถึงสามเส้น สงสัยว่าทั้งบ้านทั้งเนื้อทั้งตัวมีสมบัติอยู่กับเขาเท่านั้น เอามาพอกไว้ที่ตัวทั้งหมด ถ้าถูกจี้หนเดียวก็หมดตัว เหลือแต่บ้านกับของใช้ บางคนอยู่กระต๊อบเล็กเท่ายุ้งข้าวก็ใส่ทอง อดๆ อยากๆ ก็สู้อดออมไว้ซื้อทอง เพียงเพื่อมิให้ชาวบ้าน ‘ดูถูก’ เรื่องอาหารจะกินข้าวกับน้ำพริกทุกวันก็ไม่มีใครเห็น ไม่ต้องกลัวคน ‘ดูถูก’

– บางส่วนจากฉบับที่ ตันส่วงอู๋ พูดถึงสินสอดในงานแต่งงานของเขา

นอกจากมุมมองที่มีต่อคนไทยในยุคนั้น หนังสือเล่มนี้ยังมีความน่าสนใจอีกหลายประการ ทั้งสำนวนแปลที่มีวรรณศิลป์ อ่านง่าย เข้าใจได้ทันที การดำเนินเรื่องตาม timeline ไม่สลับซับซ้อน อีกทั้งยังได้ลุ้นไปกับชีวิตของ ตันส่วงอู๋ ที่มีขึ้นมีลง มีความรัก มีความเป็นมนุษย์ มีปัญหาระหว่างคนต่างวัย มีวัฒนธรรมอันหลากหลายของคนต่างเชื้อชาติ มีวิธีคิดของคนจีนที่หยิบจับปรับไปใช้ได้ตามแต่วิจารณญาณของคนอ่าน มีประวัติศาสตร์ทางสังคมที่ถูกบันทึกไว้ด้วยปลายปากกาของคนสามัญชน

โลกของลูกและโลกของหลานของแม่ห่างกันจนเกือบจะเป็นคนละโลกเสียแล้ว ช่องว่างระหว่างสมัยมันมากไป โลกหมุนไปเร็วเหลือเกินและเราก็ต้องห่างเหินกันทุกวันไป

– ย่อหน้าแรกจากจดหมายฉบับหนึ่ง

คนรุ่นเก่าเห็นทีจะต้องพ่ายคนรุ่นใหม่แล้ว ใจของเราไม่แข็งพอ…คนรุ่นใหม่ต้องการสิ่งที่เราไม่ต้องการจะให้ แต่จำใจต้องมอบให้ด้วยเกรงว่าเขาจะรนหาความลำบากมากขึ้นไปอีก

– ย่อหน้าแรกจากจดหมายอีกฉบับหนึ่ง

อาจเป็นไปได้ว่า ไม่ว่าปัญหาของคนยุคใดสมัยใด สารัตถะของแก่นแกนปัญหาในโลกและชีวิตนั้นอาจไม่แตกต่างกันนักก็เป็นได้ ไม่ว่าเป็นช่วง 6-7 ทศวรรษก่อน หรือ พ.ศ. 2561 ก็ตาม มนุษย์ยังคงต้องเรียนรู้ ทำงาน พบพานกับความสุขความทุกข์ประจำวันเรื่อยไป อาจจะคิดถึงใครบางคนเหมือนที่ ตันส่วงอู๋ คิดถึงแม่ อยากเล่าเรื่องราวที่ผ่านพ้น คุยใครสักคนเพื่ออย่างน้อยจะได้ปลดเปลื้องความไม่สบายอกสบายใจออกไป แต่สุดท้ายจะเข้าใจความจริงที่เป็นอยู่ได้หรือไม่ ก็อยู่ที่ใครคนนั้นครุ่นคิดตั้งคำถามกับแก่นสารของมันมากน้อยเพียงใดนั่นเอง

ครั้งหนึ่ง จดหมายจากเมืองไทย เคยเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของนักเรียนมัธยม น่าเสียดายที่วัยรุ่นสมัยใหม่ไม่ค่อยได้อ่าน จะด้วยเพราะนโยบายทางการศึกษาหรือเพราะเห็นว่าเรื่องมันเก่าไปแล้วก็ตาม แต่หากจะปัดฝุ่น หยิบจับหนังสือเก่าเหล่านี้มาอ่านอีกครั้ง ก็เป็นความคิดที่ไม่เลวทีเดียว เพราะอาจได้เห็นภาพบรรยากาศแห่งยุคสมัยอย่างแจ่มชัด ในวันที่การบริหารบ้านนี้เมืองนี้ในยามนี้ก็กำลังพาเราถอยหลังลงคลองย้อนไปหลายสิบปีเช่นกัน


จดหมายจากเมืองไทย
ผู้เขียน: โบตั๋น
สำนักพิมพ์: สุวีริยาสาส์น ชมรมเด็ก

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า