…ทั้งนี้ ถ้าพิจารณาด้วยหลักการของการแสวงหาอรรถประโยชน์สูงสุดอย่างการใช้เกณฑ์จำนวนเป็นตัวตัดสิน หมายความว่า การฆ่าใครสักคนหรือจำนวนหนึ่งที่ไม่พึงปรารถนาเพื่อทำให้สังคมสงบสุข หรือการละเมิดความยุติธรรมเพื่อความสงบสุข คือการมอบความสุขสูงสุด…
– หน้า 62
นอกจากชื่อหนังสือ ว่าด้วยความสุข หรือ On Happiness แล้ว บรรทัดต่อมาด้วยขนาดฟรอนต์ที่ย่อมกว่าตั้งคำถามสั้นๆ “อะไรคือ ‘ความสุข’ “
ย้อนกลับไปสมัยเด็ก ความสุขน่าจะเรียบง่ายและไม่ซับซ้อน เช่น การได้ดื่มนม ได้ไขว่คว้าอะไรเข้าปากแล้วส่งเสียงด้วยความพอใจ โตขึ้นมาหน่อยอาจเป็นแค่การได้ออกไปปั่นจักรยาน หรือเล่นกระโดดยาง ถ้าคุณเกิดและเติบโตในทศวรรษที่ 80 พ้นจากนี้คุณจะอยู่ในช่วงวัยรุ่น คุณจะพบร่างกายที่เริ่มขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว เสียงที่แตกต่างออกไปจนเหมือนได้ถือกำเนิดขึ้นในร่างใหม่ และคุณจะรู้จักความรักก่อนรู้จักความเจ็บปวดจากมัน และอีกไม่นาน คุณถึงได้รู้ว่าในนามของความรัก คนเราสามารถทำอะไรได้หลายอย่างเพื่อมัน หนึ่งในหลายสิ่งนั้นคือการฆ่าหรือทำร้ายคนที่คิดเห็นต่างจากคุณ เพียงเพราะคุณถูกประณามจากชาติและสถาบันที่คุณบอกใครๆ ว่ารักยิ่งชีพ และจะขอถวายความจงรักภักดี
ในหนังสือ ว่าด้วยความสุข ของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา บทนำที่ชื่อ ‘ความสุขที่บริโภคไม่ได้’ สังเขปออกมาเป็นคำอธิบายที่ครอบคลุมตั้งแต่ยุคสมัยนับแสนปีก่อนที่มนุษย์ยังไม่รู้จักคำว่า ‘ความสุข’ หรืออย่างน้อยก็คงไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคือความสุข อีกทั้งไม่มีทั้งชาติและสถาบันคอยกำกับ ‘บอก’ ว่าอะไรคือหน้าที่ อะไรคือจริยธรรมและความดี เพราะความสุขที่บริโภคไม่ได้ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องอรรถประโยชน์นิยมที่เน้นถึงประโยชน์สูงสุด ซึ่งถูกกำกับด้วยกรอบของความเชื่อที่ว่า
...ประโยชน์สูงสุดคือความสุขที่เหล่ามวลสมาชิกจะได้เพราะการปฏิบัติการทางการเมืองหนึ่งๆ มีเป้าหมายอยู่ที่ความสุขสูงสุด…
– หน้า 61
ต่อเนื่องมายังบทที่ 1 ‘เมื่อกลไกอำนาจอธิปไตยสั่งให้มีความสุข’ ที่บอกเล่าในเชิงพัฒนาการของประวัติศาสตร์
โดยมีรากฐานจากความเชื่อทางด้านคริสต์ศาสนาที่ธเนศอธิบายว่า
…สิ่งที่มีคุณค่าในกรอบคิดของคริสต์ศาสนาย่อมไม่ใช่ความสุข แต่เป็นความรักของคริสต์ศาสนาที่ให้ความสุขแก่มนุษย์…
– หน้า 71
โดยพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ไล่เรียงมาตั้งแต่ความคิดของ จอห์น ล็อค ในเรื่องการแสวงหาความสุข (pursuit of happiness) เป็นสิ่งจำเป็นเพราะเป็นพื้นฐานของเสรีภาพ และภายใต้คำประกาศเอกราชสหรัฐอเมริกา ความสุขที่เกิดจากการมีชีวิตที่ดี ชีวิตน่าอภิรมย์ หรือ joy คือการมีเสรีภาพและการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน (ให้ลองนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Joy) ในแง่นี้ ธเนศอธิบายจนทำให้เห็นภาพถึงการไขว่คว้าหาความสุขจากการเป็นเจ้าของทรัพย์สินผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘ทุนนิยมเสรี’ ภายใต้กรอบของเสรีประชาธิปไตย ที่ไม่ได้แตกต่างจากรัฐเผด็จการในแง่ของการถูกสั่งให้มีความสุข ทั้งเผด็จการและเสรีประชาธิปไตยต่างมีเป้าหมายของความสุขเหมือนๆ กัน แตกต่างกันแค่เพียงวิธีการได้มาซึ่งความสุข โดยในทัศนะของธเนศ เสรีประชาธิปไตยต่างถูกสาปให้มีเสรีภาพ ซึ่งภายใต้เสรีภาพย่อมต้องมีความสุขควบคู่ไปด้วย
ขณะที่ในรัฐเผด็จการ ความสุขเป็นสิ่งที่รัฐจัดหาให้ การปฏิเสธซึ่งความสุขอาจกลับกลายเป็นอันตรายต่อตัวผู้ท้าทายอำนาจรัฐได้ ยกตัวอย่างความสุขของปัจเจกคนหนึ่งหรือหลายๆ คน อาจเป็นเรื่องของการเรียกร้องเพื่อให้ได้สิทธิประกันสุขภาพที่ดี แต่รัฐมองว่าสิ่งนี้คือการละเมิดกฎหมาย ทำผิดต่อ พ.ร.บ.ความมั่นคง ตกเป็นอาชญากรแผ่นดินที่จำต้องถูกจำคุก ปรับ เพื่อให้พลเมืองอื่นๆ ได้มองเห็นว่าการละเมิดซึ่งความสุขที่รัฐจัดหาให้นั้นมีโทษรุนแรงเพียงไร โดยยังไม่ต้องพูดถึงการที่รัฐมีมาตรการรองรับต่อความชอบธรรมในการจำกัดซึ่งความสุขไว้แต่ในนิยามที่รัฐเป็นผู้ถือครองด้วยซ้ำ
ชุดคำของ ‘ความสุข’
ดัชนีชี้วัดความสุขในโลก (Happy Planet Index)
การมีชีวิตที่ดี (well-being)
รู้สึกเป็นปกติดี (feeling well)
คงไม่อาจปฏิเสธว่า ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ก่อนปี 2549 จนกระทั่งปัจจุบัน ชุดคำเหล่านี้หล่อเลี้ยงภาพฝันของสังคมบางสังคมให้นึกภาพเห็นกำเคียวเกี่ยวข้าวที่เคยมีภาพของการขูดรีดซ้อนทับให้กลายเป็นภาพของการแสวงหาซึ่งความสุขที่เรียบง่ายภายใต้วลีที่เราคุ้นเคยกันดี ซึ่งการละเมิดออกจากกฎของความเงียบง่ายที่ถูกสถาปนาให้กลายเป็นจุดมุ่งหมายในตัวประชากรโดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม มาจนถึงชนชั้นกลางในเมืองหลวงกลายเป็นภาพอันน่าชื่นชม ที่ถูกผลิตซ้ำว่า “เห็นไหม แค่พอเพียงคุณก็มีความสุข”
โดยไม่ได้มองไปถึงการถูกสาปให้มีเสรีภาพในทัศนะของธเนศที่ประชากรจำต้องแสวงหาความสุขเพื่อให้ได้มาซึ่งการถือครองที่ดินและทรัพย์สิน เหตุที่เป็นเช่นนั้น เราต่างก็รู้ดีว่าประเทศบางประเทศมีความเหลื่อมล้ำในระดับสูงจากจำนวนประชากรเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของประเทศ แต่กลับถือครองที่ดินเกือบทั้งหมด โดยที่ดินเกือบทั้งหมดนั้น เกษตรกร และผู้ที่ถูกสาปไม่ให้ไขว่คว้าเสรีภาพก็จำต้องยอมรับ ยอมจำนนภายใต้กรอบแนวคิดทางศาสนา และการจะได้มาซึ่งความสุขนั้นคือ ยอมรับ พอเพียง ไม่ดิ้นรน ไขว่คว้า
เสรีภาพจึงกลายเป็นของที่ไม่เหมาะกับประเทศ เสรีภาพจึงกลายเป็นสิ่งที่ถูกนำเข้า ไม่ใช่สิ่งเที่ยงแท้อันดำรงอยู่ภายใต้ความบริสุทธิ์ของความเป็นตัวตนประเทศนั้นๆ ประเทศที่เหมือนละลอยล่องอยู่เหนือพื้นผิวโลก และตั้งกฎเกณฑ์ของตนเองขึ้นมาอย่างไม่สนใจว่าโลกจะขับเคลื่อนไปเช่นไร
ภายใต้กรอบกว้างๆ ของความคิดที่บรรจุอยู่เพียงในส่วนแรกของ ‘ว่าด้วยความสุข’ ที่ธเนศอรรถาธิบายให้เราได้ทบทวน สิ่งที่เราอาจรู้สึกเมื่ออ่านจบลงคือ ถ้าประเทศที่ทุกคนมีความสุขนั้นมีอยู่จริง ก็ไม่ใช่ประเทศที่เรากำลังหายใจร่วมกับพวกเขาที่แทบไม่เคยมองความเป็นอื่นว่าเป็นพี่น้องร่วมประเทศแต่อย่างใด พวกเขาอาจร่ำไห้กระทั่งโศกเศร้าเจียนตายกับสัตว์หายากตัวหนึ่งที่ถูกฆ่าโดยนายทุน แต่พวกเขาจะไม่โศกเศร้ากระทั่งสะใจด้วยซ้ำ เมื่อความตายนั้นเป็นเรื่องของมนุษย์ที่เป็นอื่นจากความคิดความเชื่อของพวกเขา
ความสุขที่ทาบทาบนใบหน้าเมื่อเห็นความตายของคนกลุ่มหนึ่งเป็นแค่ ‘ควาย’ ไม่ใช่ ‘คน’