รับขวัญ ธรรมบุษดี: เซลฟี่ลงไอจี กินบิงซูกลางกองขี้ เราจะมีความสุขกันอย่างนี้จริงๆ หรือ

“ความสุขคืออะไร”

คำถามสั้น ง่าย ดูเหมือนตอบได้จากข้างใน

แต่ความสุขแบบโลกย์ๆ พึ่งพาปัจจัยภายนอกมากมาย “ฉันจะมีความสุขถ้า…” หรือ “มีความสุขจังเลยเพราะ…” เติมคำตอบได้ตามใจสไตล์ปัจเจก 

เนื่องจากประเทศไทยมีคำน่าสนใจ ‘ปฏิบัติการคืนความสุข’ ความสุขเป็นสิ่งที่ต้องหยิบยื่นคืนให้กัน อ้าว…ไหนบอกว่าความสุขเป็นเรื่องสุขใครสุขมัน แท้จริงความสุขเป็นของใคร เอาไปตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำไมต้องเอามาคืน?

และเป็นเรื่องจริงอย่างยิ่งที่ว่า เรามีปัญหามากมาย ร่ายยาวตั้งแต่การเมือง อาชญากรรม ปากท้อง เงินในกระเป๋าสตางค์ ท่ามกลางเรื่องชวนปวดหัวสารพัดสารเพ บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เปรียบสภาวะที่เป็นอยู่นี้ไม่ต่างจากการ ‘นั่งอยู่กลางกองขี้’ แต่…

ดูสิ ทุกคนอยู่ได้ คนยังคงเดินห้าง ยิ้ม ช็อปปิ้ง จิ้มซื้อของออนไลน์ ถ่ายเซลฟี่ นั่งกินบิงซู After You และหมูกระทะ

เราอยู่กันได้เพราะความ ignorance (เพิกเฉย) ไม่รู้เรื่องรู้ราว ตาใสกลมวาว มองโลกในแง่งาม อย่างที่บางคนค่อนแคะจริงหรือ? อาจพิสูจน์หาข้อสรุปไม่ได้ทั้งหมด 

แต่จริงหรือที่ใครๆ มองไม่เห็นปัญหา เรามีตามีหูเท่าเทียมกัน สิ่งเหล่านี้เรียงรายเป็นแถวแนวรอบตัวทุกเมื่อเชื่อวัน กองขี้ไม่ใช่ภาพมายา แต่เราไม่สามารถจัดการมันได้ด้วยสองมือ ‘Happiness in Everyday Life’ ของใครหลายคนจึงลดทอนเหลือแค่การใช้ชีวิตหาความสุขรายวัน ถมทับ อุดร่องรอยความทุกข์ เพื่อให้อยู่ได้อย่างผาสุกท่ามกลางวงล้อมของ…อุจจาระ โดยที่มันยังไม่หนีเราไปไหน   

วิทยานิพนธ์ ‘Performing Happiness in Neoliberal Thailand: Performance of Happiness in Everyday Life in Bangkok’ หรือแปลให้ง่ายคือ ‘การปฏิบัติการความสุขในชีวิตประจำวันในสังคมไทยภายใต้แนวคิดเสรีนิยมใหม่’ โดยใช้กรุงเทพฯ เป็นกรณีศึกษา ของ รับขวัญ ธรรมบุษดี อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อดีตนักศึกษาศิลปการละคร ที่ประยุกต์ไปหาสายสังคมด้วยความรู้สหสาขาวิชา เรื่องการแสดงในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะความสุข ความรู้สึกพื้นฐานที่เสรีชนควรได้ครอบครอง เราสุขได้ด้วยตัวเอง หรือเป็นเพราะ ‘เขา’ ให้เรามีความสุขตามคำโฆษณา 

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้คือการพูดคุยเรื่องความสุขในฐานะ ‘ของมันต้องมี’ ว่าสังคมแบบไหนที่ทำให้คนต้องอยู่รอดให้ได้ด้วยการปรนเปรอตัวเอง เมื่อรัฐและทุนนิยมใช้ความสุขเป็นเครื่องมือ เราจึงกินหมูกระทะอย่างเอร็ดอร่อยทุกวันศุกร์ (สิ้นเดือน) ท่ามกลางกองขี้ที่ยังไม่หนีไปไหน

ตอนเรียนปริญญาโท งานที่ศึกษา Performance หรือการแสดงออก เริ่มต้นจากอะไร

มันเป็นสาขาที่เรียกว่า Theatre and Performance Studies ค่ะ เวลาพูดถึงการแสดง การละคร คนก็จะนึกถึงแค่โรงละครกับทีวี แต่ว่าสายที่ไปเรียนมันเหมือนกับรวมทุกศาสตร์ไว้ ทั้งมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ คือมองว่าชีวิตประจำวันของคนมันมีลักษณะของการ perform การแสดง ตลอดเวลา ซึ่ง perform ในที่นี้มันไม่ใช่ว่า fake ใส่กันแต่มีกระบวนการของการเขียนบท กำกับ หรือว่าการเลือกตัวตนของเรา อย่างเรามาหากันเราจะใส่เสื้ออะไร เป็นโหมดไหน โดยที่ไม่ได้คิดว่ามัน fake หรือไม่ fake คือมันอาจเป็นโดยธรรมชาติ หัวใจของ Performance Studies มันคืออันนี้แหละ คือมันไม่จำเป็นต้องคิดด้วยซ้ำว่าเราแสดงอยู่ กระบวนการเหล่านี้มันมีตลอดเวลา

ต่อยอดไปจากปริญญาตรีสาขาไหน  

จากอักษรฯ จุฬาฯ ค่ะ ศิลปการละคร เป็น Dramatic Arts ซึ่งก็คือละครจ๋าเลย เราเป็นสายเขียนบท แต่ช่วงนั้นการเมืองค่อนข้างแรง (ปี 2553) แล้วก็เริ่มตั้งคำถามว่า สิ่งที่เรียนจะเอามาใช้กับสังคมที่เราอยู่ได้ยังไง พอเจอคอร์สนี้ตอนปริญญาโท ก็ไปเรียน Performance Culture and Context ซึ่งมันเป็นคนละโลกกับโลกละครที่เรียนมา มันคือการบอกว่ากระบวนการละครไม่ได้อยู่แค่ในโรงละคร มันอยู่ในชีวิตประจำวัน มันอยู่ในการเมือง ศาสนา มันอยู่ในร้านกาแฟ มันอยู่ในทุกที่ 

ตอนปริญญาโทก็เลยเลือกทำโปรเจ็คต์เกี่ยวกับ performance ในม็อบของเสื้อเหลือง-เสื้อแดง คือมันก็เหมือนเป็นการออกจาก comfort zone พอออกมาก็เห็นว่า เฮ้ย…ในกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง สังคม การเลือกชุด การสื่อสาร คือมันเป็นเหมือนกับการถอดรหัสออกมาหมดเลย ว่ามันจะต้องมีสคริปต์ยังไง จูงใจคนยังไง ซึ่งจริงๆ คนทำอาจไม่ได้มานั่งคิดอย่างนี้ แต่ว่าผลที่ออกมามันมีกระบวนการพวกนี้อยู่ตลอด แล้วก็สื่อสารอะไรบางอย่างได้ว่าทำไมต้องเป็นสีนี้ ทำไมต้องเป็นเพลงนี้ เพลงแบบนี้ทำไมมันยึดโยงคนกลุ่มนี้ ผู้ชมกลุ่มไหนที่จะเข้ามา

ช่วงที่มีม็อบเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ต้องเข้าไปหาข้อมูลในพื้นที่ชุมนุมเองด้วยไหม

ตอนมีม็อบเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ยังเรียนอยู่ที่จุฬาฯ แต่มันเหมือนกดทับมาเรื่อยๆ แล้วความที่อยู่ในสังคมมหาวิทยาลัย หลายๆ อย่างมันก็โดนเซ็นเซอร์ โดนสกรีน จนเราตั้งคำถามไปหมด ตอนไปเรียนต่อคือช่วงที่ปราบม็อบกันเรียบร้อยหมดแล้ว ก็ใช้วิธีมองกลับไป

เป็นงานที่เริ่มเขียนตอนเหตุการณ์นั้นจบไปแล้ว ใช้วิธีศึกษาข้อมูลจากตรงไหนบ้าง

เป็น archival research ศึกษาจากฐานข้อมูลที่มีอยู่ จากข่าว จากสื่อ จากสิ่งที่มันเกิดขึ้น เพลงที่เขาใช้ พร็อพที่เขาใช้ ทำไมฝ่ายหนึ่งเป็นมือตบ อีกฝ่ายเป็นตีนตบ คือมันเริ่มจากพวกนั้นมากกว่า ที่เราเริ่มตั้งคำถามกับกระบวนการแสดงที่ไม่ได้อยู่แค่ในโรงละคร ไม่ได้อยู่แค่ในทีวี

ตอนนั้นอีกโปรเจ็คต์ที่ได้ทำก็คือศึกษา performance ของนักการเมือง อย่างคุณชูวิทย์ (กมลวิศิษฎ์) คุณเฉลิม (อยู่บำรุง) ทำไมต้อง ชูพระแก้วมรกตให้สาบานในสภา ทำไมชี้นิ้วใส่กัน สิ่งเหล่านี้มันกว้างมาก 

แต่พอถามกลับว่าทำไมถึงสนใจเรื่องนี้ ตรงนั้นคือจุดเริ่มที่เราออกจาก classic theatre มาสู่ละครในการเมือง แล้วพอเรียนปริญญาเอกก็กลับมาเริ่มพูดเรื่องชีวิตประจำวัน

ตอนเรียนที่จุฬาฯ มีคำถามอะไรที่ดังมากๆ ทำให้อยากทำเรื่องม็อบ เรื่องการเมือง 

มันไม่เชิงเป็นคำถามที่ดังมากๆ มันเป็นหลายๆ ความรู้สึกมากกว่า พูดตามตรง เด็กจุฬาฯ มันก็เหมือนมีความ ‘หอคอยงาช้าง’ อยู่ประมาณหนึ่ง เราใส่ชุดนิสิตไปเรียน แต่อีกไม่กี่กิโลมันมีม็อบที่เขากำลังต่อสู้ มีคนตาย มันมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ก็ตั้งคำถามว่า เราเป็นนักศึกษา เป็นคนที่เขาเรียกว่าปัญญาชน แต่ทำไมเรารู้สึกว่าไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรกับตรงนั้นเลย เราเรียนคณะอักษรฯ เรียนมนุษยศาสตร์ พูดเรื่องการเป็นมนุษย์ พูดเรื่องการเคารพซึ่งกันและกัน แต่พอมันเป็นเรื่องแบบนี้ เราว่ามันไม่ได้ตอบโจทย์ขนาดนั้น เลยมีความคิดว่า ถ้ามีโอกาสได้เรียนต่อ เราอยากรู้อะไรมากกว่านี้

มีแค่เรื่องม็อบเลยหรือเปล่า เป็นจุดคลิกให้พาตัวเองออกไปสู่แนวทางศึกษาแนวสังคมการเมืองมากขึ้น

ม็อบมันเป็นตัวจุดชนวนมากกว่า แต่ถามว่าปัจจัยอื่นมีไหม มันมีมาตั้งแต่เรียนมัธยมแล้ว เราเรียนโรงเรียนรัฐบาลมาตลอด แล้วรู้สึกถึงความไม่โอเคกับการอยู่ในระบบที่ไม่ได้รู้สึกว่าอาจารย์เคารพในความเป็นคนของเรา เอากรรไกรมาตัดผมจนเบี้ยว ตัดกระโปรง ซึ่งตอนนั้นเป็นเด็ก ก็แค่รู้สึกว่า ‘มันไม่โอเค’ แต่ความรู้สึกเหล่านี้มันทับๆ มาเรื่อยๆ พอเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัย อ้าว…เราเคยคิดว่ามันเป็นที่ที่ให้เสรีภาพ แต่หลายๆ อย่างที่ไม่แฟร์มันก็ยังเกิดขึ้นอยู่ 

ความรู้สึกในแง่เศรษฐกิจก็สำคัญ เรามาจากครอบครัวชนชั้นกลาง ไม่ร่ำรวย ตอนนั้นมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ค่าเทอมก็ดับเบิลเข้าไปอีก เราต้องขอทุนเรียน ซึ่งกระบวนการขอทุนก็ต้องไปนั่งสาธยายว่าลำบากยังไง มันเป็นอะไรที่ทำให้ความเป็นมนุษย์มันถูกลด ถูกกดมาเรื่อยๆ พอถึงช่วงมีม็อบ มีเรื่องการเมืองขึ้นมา มันเลยเป็นเหมือนก้อน snowball ที่ค่อยๆ ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ 

เวลามองเข้าไปในม็อบ เห็นการแอคติ้งอย่างไรบ้าง

พอพูดเรื่อง ‘การแสดง’ มันจะไม่ใช่แอคติ้งในแง่ที่พยายามทำให้คนดูเชื่อ แต่เวลามันเกิดในม็อบ ถ้าเราพูดว่าแสดงออกยังไง มันจะกลับไปที่กระบวนการว่าอุดมการณ์ของม็อบนั้นคืออะไร เขาต้องการสื่อสารอะไร ถ้าเขาจะสื่อสารว่าเขาเป็นตัวแทนของประชาธิปไตย มันก็จะกลับมาอีกว่า ประชาธิปไตยแบบไหน ประชาธิปไตยแบบคนรากหญ้า หรือประชาธิปไตยแบบชนชั้นกลาง ม็อบนกหวีดกับม็อบเสื้อแดงก็อ้างประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่พร็อพที่เขาใช้ หรือสิ่งที่เขาใช้ มันมีความต่างกัน อะไรที่ยึดโยงเขา เขาคือตัวแทนชนชั้นแรงงาน เขาโอเคกับการใช้ตีนขึ้นมาตบ แต่ทำไมม็อบนกหวีดที่อ้างประชาธิปไตยเหมือนกันในช่วงแรกกลับเลือกใช้ชาตินิยม ใช้สถาบัน

หมายถึงว่า ที่แสดงออกไป มันต้องมีจุดประสงค์เบื้องหลังเข้ามาเกี่ยวใช่ไหม

ใช่ค่ะ โดยที่จะตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม

ถ้าตั้งใจ มันถือเป็นการแสดงมากๆ เลยหรือเปล่า เช่น การปราศรัยบนเวที 

กระบวนการเหล่านั้นในสาย Performance Studies เราจะไม่ไปตัดสินว่าคุณ fake หรือ คุณหลอก เราศึกษากระบวนการที่ถูกแสดงออกมา แล้วเอาไปเชื่อมโยงกับบริบทตอนนั้น ซึ่งคนพูดบนเวที เราไม่รู้หรอกว่าเขาจริงใจหรือเขาแอคติ้ง มันเป็นได้ทั้งสองอย่าง สิ่งที่สนใจก็คือว่า คำที่เขาพูดมา เขาพูดให้ใครฟัง คนแบบไหนพร้อมจะเชื่อแบบนี้ แล้วทำไมเขาถึงเลือกทำแบบนี้ ทำไมเขาต้องเลือกคำที่ทำให้รู้สึกยึดโยงกัน เป็นคำว่าดิน เป็นคำว่าธุลี คือมันเป็นคำที่ทำให้เรารู้สึกอยู่ใกล้กัน แต่เราไม่รู้หรอก แล้วก็ไม่สามารถไปบอกได้ด้วยว่า อันนี้ปลอม อันนี้จริง

การสร้างคำใหม่ขึ้นมา เช่น รากหญ้า ก็คือต้องไปดูตรงนี้ด้วยใช่ไหม ว่าเขามีบริบทการคิดแบบไหน ถึงประดิษฐ์ถ้อยคำเหล่านี้ออกมาได้

จริงๆ เขาอาจไม่ได้ประดิษฐ์เลยก็ได้นะคะ แต่เขาแค่รู้สึกขึ้นมาว่าคำนี้คนจะอิน คนจะยึดโยงกันได้ หรือคำว่า ‘คนดี’ มันคือนามธรรม เพราะเป็นนามธรรมปุ๊บ คนดีแต่ละคนมันต่างกัน มันมีคอนเซ็ปต์ทางวัฒนธรรมความเป็นคนดีของคนไทยที่เรารู้สึกว่าอยากยึดโยง มันก็ยึดโยงคนกลุ่มหนึ่งได้ 

หรือคำว่า ‘รากหญ้า’ อาจจะดูเป็นรูปธรรม แต่เป็นรูปธรรมสำหรับใคร ถ้าบอกให้ชนชั้นกลางแทนตัวเองเป็นรากหญ้า เขาอาจจะไม่อินก็ได้ เพราะเขาไม่ได้อยากเป็นรากหญ้า แต่ทำไมคนรากหญ้าที่ต่อสู้เขาชอบ หรือผูกพันกับคำนี้ เพราะเขารู้สึกว่ามันคือตัวแทนของเขา มันคือสิ่งที่เขาเป็น ก็กลับไปที่เดิมว่า audience คือใคร เขาต้องการพูดกับใคร 

หลังจากจบปริญญาโท Performance Studies ได้ข้อสรุปอะไรบ้าง  

งานสายนี้มันจะไม่มีข้อสรุป มันเป็นงานที่ศึกษาปรากฏการณ์ ศึกษาหลักฐาน สิ่งที่ได้ ถ้าในเชิงการศึกษา เราได้ออกจาก comfort zone ซึ่งมันถือว่าเป็นงานเล็กมาก แต่มันใหญ่สำหรับการเป็นงานแรกที่ผลักดันเราออกมา 

ส่วนข้อสรุปในเชิงสังคม หรือข้อเสนอแนะในเชิงสังคมก็คือ ทุกอย่างมันเป็นปรากฏการณ์ซึ่งกันและกัน เราไม่สามารถแยกเคสไหนออกมาจากเคสไหนได้ โดยที่บอกว่ามันไม่เกี่ยวกัน 

ในขณะที่ศึกษาเสื้อเหลือง-เสื้อแดง พอกลับมาทำงานที่นี่ มันมี กปปส. การที่ศึกษา กปปส. มันก็เป็นเหมือนพาร์ทหนึ่งของกระบวนการสังคม พออยู่ในสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ มันอาจจะต่างจากวิทยาศาสตร์หรืองานวิจัยเชิงตัวเลขมากๆ ที่คุณมักจะเลือกตัดตัวปัญหา ที่จะรบกวนการทดลองออก แล้วคุณหาข้อสรุปว่า ตกลงข้อสรุปคืออะไร ผลลัพธ์คืออะไร แต่พอเป็นสายที่เราทำ มันตัดอะไรไม่ได้ แล้วต้องทำความเข้าใจสิ่งที่เป็นและไม่เป็นปัญหา กระบวนการสำคัญคือการเข้าใจสังคม แล้วก็หาจุดยืนตัวเอง แม้แต่คำว่า ‘เป็นกลาง’ คำว่า ‘กลาง’ มันก็ถูกออกแบบไว้แล้วว่าคุณเป็นกลาง คุณไม่เลือกข้าง แต่จริงๆ แล้ว คุณต้องมีจุดยืน คุณต้องเลือกว่าคุณอยู่ข้างไหน คุณซัพพอร์ตอะไร 

ทุกวันนี้ คนพร้อมจะเป็นกลางอยู่ตลอดเวลา เพราะมันง่าย และมันปลอดภัย แต่ถ้าจะทำให้สังคมเดินไปข้างหน้า คุณต้องรู้ว่าคุณเป็นกลางเพราะเลือกเองหรือเพราะกลัว

งานชิ้นนี้ตอบคำถามที่เคยสงสัยตอนเรียนมัธยมหรือปริญญาตรีบ้างหรือเปล่า

คือคำถามมันก็โผล่ขึ้นมาตลอดเวลา แต่สิ่งที่ชัดขึ้นก็คือ ผลของโครงสร้างสังคมมีผลมากๆ โครงสร้างในที่นี้คือประชาชนคนไทยมีความเป็นตัวละครที่โดนกำหนดโดยสคริปต์เยอะมาก สคริปต์ในทางการเมือง ทางวัฒนธรรม มีความแตกต่างเกิดขึ้น สมมุติเราเป็นฝั่งนี้ เรารู้สึกไม่ชอบฝั่งนั้นเลย แต่เรารู้สึกเข้าใจ ว่าทำไมคนกลุ่มนี้เขาพร้อมจะเชื่อข้อความชุดนี้ เพราะมันมีกลไกทางสังคม ทางวัฒนธรรม ที่มันหล่อหลอมเรามา พอกลับไปมอง อ๋อ…เพราะตอนเด็กๆ ตอนเข้าประถม เราก็ถูกสอนแบบนี้ คนกลุ่มนี้เขาก็ถูกสอนเหมือนกัน แต่ทำไมเขาถึงเชื่อกันแบบนี้ อันนี้น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่ตอบคำถามของเรา 

มันอาจจะไม่ได้ตอบคำถามว่า ทำไมสังคมมันเป็นอย่างนี้ แต่มันตอบคำถามแรกว่า เราโทษคนก่อนไม่ได้ เราต้องมองสังคมก่อน ว่าคนอยู่ในบริบทแบบไหน เขาอยู่ในสังคมที่รัฐบาลให้เสรีภาพเขาไหม ให้อำนาจยังไง นี่เป็นสิ่งสำคัญที่ตอบเราอันแรก

ทำไมเด็กอักษรฯ หลายคนถึงออกมาตั้งคำถามอะไรเกี่ยวกับสายรัฐศาสตร์ 

นี่เป็นสิ่งที่ชอบในคณะนะ เพราะคณะอักษรฯ ไม่ได้ผลิตนักอักษรศาสตร์เข้าไปป้อนโรงงาน เพราะว่าไม่มีบริษัทไหนอยากได้ตำแหน่งนักอักษรศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เด็กอักษรฯ ได้เรียนส่วนมากมันจะเป็นศาสตร์ที่ทำให้เราคิด ทำให้ตั้งคำถามกับความเป็นมนุษย์ ความเป็นสังคม แล้วอย่างรุ่นที่เรียนของเอกละคร เราได้ไปเรียนวิชาคณะอื่นๆ ค่อนข้างเยอะ ทั้งรัฐศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ครุศาสตร์ ศิลปกรรม เลยทำให้รู้สึกว่าโลกมันไม่ได้แคบ 

เป็นข้อดีของอักษรศาสตร์ และไม่ใช่ควรเป็นเฉพาะอักษรศาสตร์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเป็นวิศวะ เป็นหมอ ควรจะมีพื้นที่ที่ทำให้ได้ศึกษาอะไรอย่างอื่น ได้รับรู้อะไรอย่างอื่น นอกจากแค่ว่าจบไปแล้วคุณมีสกิล 1 2 3 4 พร้อมหรือยังที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน 

คือคล้ายๆ กับทักษะการตั้งคำถาม?

ใช่ค่ะ เรานั่งเรียนวิชาปรัชญา วิชาประวัติศาสตร์กัน ซึ่งเอาไปใช้อะไรในชีวิตตอนทำงาน สุดท้ายมันอาจจะประยุกต์ใช้ได้นิดหนึ่ง แต่ว่าทั้งชั่วโมง เรานั่งตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าถามไปทำไม แต่กระบวนการเหล่านี้มันสำคัญ เพราะมันไม่ใช่แค่ให้มี critical thinking แต่มันทำให้รู้ว่าเรามีสิทธิที่จะคิด อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมากในกระบวนการห้องเรียน

ตอนทำธีสิสปริญญาเอก ทำไมต้องเป็นหัวข้อ ‘ความสุข’ สนใจเรื่องความสุขตั้งแต่ตอนไหน

จริงๆ เพิ่งสนใจตอนที่กลับมาแล้วด้วยค่ะ คือก่อนหน้านี้เราทำงานเกี่ยวกับเขียนบท เป็นฟรีแลนซ์ เหมือนเด็กจบใหม่ทุกคนที่โดนโกง โดนกดขี่ แล้วไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะอยู่แบบนั้นได้ เราต้องกิน ต้องอยู่ มีภาระ มีค่าใช้จ่าย ก็เลือกมาเป็นอาจารย์ ซึ่งการมาเป็นอาจารย์ ถามว่าชอบไหม ชอบ คือชอบสอน แต่ก็ไม่รู้มาก่อนว่ามันเป็นยังไง 

สิ่งหนึ่งที่มาเป็นอาจารย์แล้วมั่นคงและโอเค คือมีรายได้ประจำ พอมีรายได้ประจำ เรามีเสรีภาพในการที่จะสอน มีเวลากับตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยเยอะ ที่ทำให้เริ่มตั้งคำถามกับสังคมได้ ถ้าเราอยู่ในตลาดแรงงานทั่วไป เราก็อาจจะโดนกลืนง่าย เราก็จะ suffer  

การที่ได้มาอยู่ตรงนี้ เราได้ตั้งคำถาม ในขณะเดียวกัน พอเริ่มมาสอนที่นี่ ชีวิตเริ่มอยู่ตัว เราก็เริ่มเห็นว่ามีบางอย่างที่ไม่โอเค เพราะช่วงนั้นก็เริ่มมาแล้ว ตั้งแต่ กปปส. มีการบล็อคเขตเลือกตั้ง รัฐประหาร เหตุการณ์ทางการเมืองเริ่มไม่โอเค แต่ทำไมทุกอย่างมันดูโอเค ทำไมคนรอบตัวก็ดูแฮปปี้ ดูมีความสุข ในไอจีทุกคนก็ดูมีชีวิตที่ดี หรือแม้แต่ตัวเอง เราก็เป็น ทำไมเราต้อง โอ๊ย…เหนื่อย เครียด ทำงาน ต้องไปหาร้านดีๆ นั่ง ไปหาร้านกินบุฟเฟต์ ไปกินเนื้อย่างให้รางวัลตัวเอง 

เรื่องอย่างนี้เกิดครั้งแรกไม่เท่าไหร่ แต่มันเกิดซ้ำๆๆ เรื่อยๆ จนเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่า ในภาวะที่ประเทศเป็นแบบนี้ ประเทศอยู่ในระบอบเผด็จการ สภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ตัวเองเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นชนชั้นกลาง เรายังรู้เลยว่าชีวิตไม่ปลอดภัยทางเศรษฐกิจ อยู่แบบเดือนชนเดือน มีหนี้ต้องจ่ายทุกเดือน แล้วทำไมต้องรู้สึกว่ามีความสุข…มันไม่ได้ถูกแสดงแบบแอคติ้งนะคะ แต่ว่าทำไมทุกคนถึงอยู่ได้ เราอยู่ได้ด้วยตัวเองหรือเราต้องพยายามอยู่ มันเริ่มแบบนี้ เป็นคำถามแรกว่า ในความขัดแย้งนี้มันคืออะไร มันเลยเกิดคำว่า Performing Happiness ขึ้นมา

ตั้งโจทย์ข้อแรกที่ความสุข ไม่ว่าจะ Perform หรือไม่ มองว่า ‘ความสุข’ ตรงนั้นมันคืออะไร 

ความสุขในสังคมเรามันอาจไม่ใช่เชิง positive แต่ความสุขคือการทนได้กับความ negative เหมือนกับมีขี้อยู่รอบตัวเรา แต่ก็ยังอยู่ได้  

เฮ้ย…เพราะว่าไม่ใช่ว่ามันไม่มีอะไรแล้วคนอยู่ได้ แต่มันมีสิ่งที่แย่อยู่รอบตัวแล้วเราอยู่ได้ มันมีองค์ประกอบของความสุขอยู่นะ เพราะคุณต้องจัดการอะไรบางอย่างที่ทำให้คุณรู้สึกอยู่ในสภาวะที่มันแคบ มันเหม็น โดยที่คุณยังดูโอเค มันอาจจะไม่ใช่อารมณ์ที่ทุกคนแฮปปี้บวกๆ ในสภาวะที่ผิดปกติ แต่ทุกคนดูปกตินะคะ

หมายถึงมันเป็นเรื่องภายใน? 

เป็นเรื่องปัจเจกมากๆ เราไม่เคยบอกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความสุข ส่วนตัวไม่เชื่อ เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะตัดสินว่า ‘ความสุข’ ของตัวเองคืออะไร แล้วเราไม่ตัดสิน แต่สิ่งที่ตั้งคำถามคือ ความสุขมันถูกใช้เป็นเครื่องมือยังไงในสังคมมากกว่า ที่ทำให้พวกเราอยู่ได้ในสภาวะสังคมที่แย่ลงๆ เรื่อยๆ มันถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยรัฐยังไง กลไกตลาดยังไง แล้วตัวเราเอาสิ่งเหล่านั้นมาปฏิบัติการกับตัวเองยังไงมากกว่า

กับการชุมนุม กับม็อบ ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว คนที่ยังสามารถมีความสุขท่ามกลางกองขี้ เขาทำอะไรอยู่

เอาส่วนตัว ปัจจัยแรก ปัจจัยการเมือง ประเทศเราเป็นเผด็จการ นี่คือสิ่งที่ใหญ่มาก เป็นเผด็จการ มีการปฏิวัติ ประชาชนกลุ่มหนึ่งบล็อคเขตเลือกตั้ง ในเชิงการเมืองมันเรื่องใหญ่ หนึ่ง-มันคือการตัดสิทธิของความเป็นประชาชนไปแล้ว สอง-สภาพเศรษฐกิจของคนในตอนนั้น ยังไม่ต้องมองถึงสถิติ ตัวเราเองเป็นชนชั้นกลาง เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่พอมองไปถึงอนาคต เราไม่รู้เลยว่าถ้าเกษียณแล้วจะอยู่ยังไง มันไม่มีระบบอะไรรองรับเลย แค่เดือนต่อเดือน เรามีภาระ จ่ายนู่น ผ่อนนี่ ให้พ่อแม่ แม่เราไม่ได้มีบำนาญ ไม่ได้เป็นข้าราชการ มันเป็นภาระที่คนหนึ่งคนต้องแบก พอหมดเดือนก็เหลือแค่เงินเก็บเล็กน้อย ซึ่งมันน้อยมาก จนแบบ…เหลือแค่นี้เอาไปกินบุฟเฟต์ดีกว่า ซื้อความสุขตอนนี้ดีกว่า 

สิ่งเหล่านี้เรารู้สึกว่ามันไม่โอเค แล้วทำไมตัวเราถึงอยู่ได้ และอยู่ได้ไม่พอ มันมีกระบวนการพยายามบางอย่างเพื่อให้ตัวเองอยู่ได้ เราอาจจะคิดว่าฉันก็อยู่ไปวันๆ แต่ระหว่างนั้นน่ะ เครียดก็ช็อปปิ้ง เครียดก็กิน ซึ่งอันนี้มันเป็นกระบวนการที่เกิดจากตัวเราที่พยายามจะอยู่ให้ได้ ถ้าไม่ทำสิ่งเหล่านั้นจะเป็นยังไง 

เรามองกลับไปว่า ยังมีคนอีกมากมายซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศ ที่เขาไม่ได้เงินเดือนเท่าเรา ไม่ได้มีบ้านอยู่แบบเรา คือเขาทำงานได้ค่าแรงวันละ 300 คนกลุ่มนี้เขายิ่งต้องพยายามมากกว่าหรือเปล่า นี่คือความผิดปกติที่บอกว่ามันผิดปกติ แต่ทุกคนต้องอยู่ได้ โดยบอกว่าทุกอย่างมันปกติ…ก็ปกติอยู่แล้ว ค่าแรงมันก็เท่านี้ตลอด ต้องอย่างนี้แหละ นั่นเป็นสิ่งที่ได้ยินบ่อยมากกับคนรอบตัว เวลาบ่นถึงความไม่แฟร์ คนก็จะบอกมันก็ปกติ ประเทศไทยมันก็เป็นแบบนี้แหละ

การปีนป่ายไปหาความสุข กับการยอมรับว่ามันเป็นเรื่องปกติ น่าจะเป็นคนละอย่างกันหรือเปล่า

คนละอย่าง แต่ว่ามันทับซ้อนกันอยู่

เพราะความเป็นชนชั้นกลาง น่าจะมีความสามารถปีนป่ายได้ง่ายกว่า แต่อีกชนชั้นหนึ่ง ถึงขั้นต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติ มันทับซ้อนกันอย่างไร

การที่จะยอมรับได้ว่ามัน ‘ปกติ’ ก็มีกระบวนการปีนป่ายอยู่ในนั้น ซึ่งกระบวนการปีนป่ายของชนชั้นกลางกับคนหาเช้ากินค่ำอาจจะแตกต่างกัน ไม่แน่ใจ คนที่เขาหาเช้ากินค่ำอาจจะ realistic หรือมองโลกในความเป็นจริงกว่าชนชั้นกลางด้วยซ้ำ เพราะเขาอยู่กับความลำบาก แต่เชื่อว่ามันต้องมีกระบวนการที่ทำให้เขาพูดได้ว่าสิ่งเหล่านี้มันปกติ ทั้งๆ ที่เขาโดนกดทับมากที่สุด อันนี้ยิ่งชัดกว่าคนชนชั้นกลางอีก คุณโดนกดทับมากที่สุด คุณเหนื่อยที่สุด คุณทำงานเยอะที่สุด แล้วผู้มีอำนาจหรือสื่อบอกตลอดเวลาว่าคุณน่ะขี้เกียจ คุณน่ะไม่ออมเงิน เขาคือคนที่โดนกระทำตลอด แต่การที่เขาอยู่ได้ในกระบวนการเหล่านี้ มันต้องมีการปีนป่าย ซึ่งปีนป่ายอาจไม่ใช่แค่การจับจ่ายใช้สอย แต่อาจเป็นโหมดอื่นๆ ในพาร์ทของเขา ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องตั้งคำถามต่อว่า คนอยู่ท่ามกลางกองขี้ได้ยังไง

คนอยู่ท่ามกลางกองขี้ กลายเป็นความรู้สึกแมสไปแล้วหรือเปล่า ทุกคนใช้ความอดทน เพราะมันกลายเป็นเรื่องไม่ปัจเจกแล้ว 

ต้องบอกก่อนว่า ในงานนี้ case study เป็นมุมมองของชนชั้นกลาง เพราะว่าเรามองตัวเองเป็นตัวแสดงหนึ่งในกระบวนการนั้น ก่อนเขียนงานอาจจะรู้สึกว่า ทำไมคนเราเพิกเฉยวะ ทำไมคนเราไม่รู้วะว่าอยู่ในกองขี้ แต่พอเรามีเวลา เราได้อยู่กับมัน แล้วก็เขียนไป มันไม่มีใครเพิกเฉยหรอกค่ะ คือเห็นอยู่ รู้สึกอยู่ แต่มันต้องพยายามอยู่ให้ได้ 

การที่พยายามอยู่มันมีอยู่หลายวิธี อาจจะปิดตาข้างหนึ่ง หรือเปิดตาแต่ก็ทำเป็นไม่เห็น แต่ไม่มีหรอกค่ะ ที่ไม่รู้ว่าความผิดปกติไม่มีอยู่ เราใช้คำว่า ‘กระบวนการการต่อรอง’ คือคนพยายามต่อรองกับอำนาจอะไรบางอย่าง เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองยังอยู่ได้ ยังมีตัวตน แต่คำว่า ‘ต่อรอง’ ฟังแล้วดูเหมือนแฟร์ ดูเหมือนใหญ่ แต่จริงๆ แล้ว มันคือเกมต่อรองที่เราแพ้ตั้งแต่ต้นแล้ว แล้วเขาตั้งใจด้วย ให้เรารู้สึกว่าได้ต่อรอง ตั้งใจให้รู้สึกว่าคุณมีบัตรเครดิต คุณรู้สึกชนะ คุณชนะทุนนิยม คุณมีวงเงินของคุณ แค่คุณได้รูดซื้ออะไรให้คุณรู้สึกว่าอยากได้ คุณฟินไปละเดือนหนึ่ง เดือนใหม่เดี๋ยวมาอีก มันไม่ใช่กระบวนการต่อรองที่แฟร์ด้วยซ้ำ มันเป็นกระบวนการต่อรองที่ทำให้เราไม่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามรึเปล่า

ถ้าทุกคนเห็นปัญหา เท่ากับว่าสังคมเรา Ignorant หรือเพิกเฉย ไม่รู้เรื่องรู้ราวเกินไปหรือเปล่า

จริงๆ เราคิดว่าคนในสังคมไม่ ignorant แต่ถูกพยายามทำให้ ignorant มากกว่า เราเชื่อว่าถ้าได้มานั่งคุยกันจริงๆ เราได้ลงภาคสนาม ได้สัมภาษณ์ ผู้คนพอพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง ทุกคนอินหมด ทุกคนเข้าใจหมด แต่ว่าสิ่งที่เราเสนอคือคนที่ไม่มีต้นทุน ในที่นี้คือเวลา พลังงานที่จะมาตั้งคำถามมันหมดไปแล้ว วันหนึ่งออกจากบ้าน 7 โมง ถึงบ้าน 2 ทุ่ม เราหมดพลังงานที่จะมาตั้งคำถามกับการที่จะไม่ ignorant เพราะฉะนั้น กับการที่จะ ignorant มันเลยง่ายกว่า แต่ถามว่าตัวจริงๆ เขา ignorant ไหม เราไม่เชื่อ 

คำว่าความสุขในฐานะการเป็นเครื่องมือทางสังคม เป็นเครื่องมือของภาครัฐ ความสุขตรงนี้คืออะไร 

จุดเริ่มมันชัดมากๆ ตอนหลังรัฐประหาร ตัวแคมเปญคือ ‘คืนความสุข’ พอเริ่มจากตรงนั้น มันเลยถอยกลับไปว่ามันไม่ใช่แค่คำว่าความสุขนะ แต่เรากลับไปมองว่าในสังคมไทย ในวัฒนธรรมไทย รัฐนิยามคำว่า ‘ความสุข’ ว่าเกี่ยวกับอะไรบ้าง มองกลับไปตั้งแต่สยามเมืองยิ้ม คิดเอามาใช้ว่าคนไทยมีความสุข คนไทยแฮปปี้ ใจดี ซึ่งยิ้มจริงๆ จุดเริ่มต้นมันก็ไม่เกี่ยวกับความสุขเลย คำว่าสยามเมืองยิ้มเกิดจากการเข้ามาของต่างชาติ แล้วรัฐก็พยายามให้คนไทยยิ้ม ยิ้มเพื่อต้อนรับ มันไม่ได้เกี่ยวกับคนไทยยิ้มเพราะคนไทยมีความสุข

แม้กระทั่งเรื่องศาสนา ซึ่งเราไม่ได้ไปแตะว่าศาสนาดีหรือไม่ดี แต่เรามองว่าเรื่องบุญเรื่องกรรมก็ถูกใช้กับความสุข ว่าคุณปฏิบัติอย่างนี้จะมีความสุข ให้พอใจในสิ่งที่มี ต้องปรับตัว หรือแม้แต่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การปฏิบัติทางสายกลาง เชื่อมกับศาสนาอีก กระบวนการเหล่านี้มันคือเครื่องมือของรัฐ เราไม่ได้วิพากษ์ว่าตัวมันเป็นยังไง แต่เราวิพากษ์ว่ารัฐใช้ยังไง สุดท้ายแล้วคุณต้องรักษาชีวิตตัวเอง ความสุขในเชิงวัฒนธรรมที่รัฐสร้างมันไม่ได้มีคอนเซ็ปต์ของสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค หรือว่าคุณภาพชีวิตที่ดี

พอมาถึงแคมเปญคืนความสุขทั้งหลาย มันยิ่งชัดไปใหญ่เลย มันถูกใช้ไปสองครั้ง ตั้งแต่หลังปราบเสื้อแดง แล้วก็หลังรัฐประหาร โดยทั้งสองครั้ง คำว่า ‘คืนความสุข’ มันเป็นความสุขในเชิงเปรียบเทียบ ว่าตอนมีม็อบคนไม่มีความสุข แต่พอม็อบจบ ความสุขกลับมา มันก็เป็นเรื่องของความสงบ ความมั่นคงของการเมือง (อีกแล้ว) ไม่ได้เกี่ยวกับคุณภาพของประชาชนเลย 

มันชัดขึ้นตอนหลังรัฐประหาร 2557 ที่มีแคมเปญคืนความสุข มันเป็นความสุขที่เขาจัดให้ มอบให้ แต่มันไม่ได้เป็นความสุขว่าประชาชนจะกินดีอยู่ดีขึ้นไหม มันเป็นความสุขที่ต้องการให้เห็นว่าตอนนี้ใครอยู่ในอำนาจ ใครเป็นคนให้ความสุขแบบที่เขานิยามเอง เขาอยากให้เอง

แม้กระทั่งเพลง ‘คืนความสุข’ ก็เป็นการยึดโยงเกี่ยวกับสถาบัน ความสุขของชาติ เราเป็นผู้ปกป้องชาติ แต่ศัตรูคือใคร คือประชาชนด้วยกันเองเหรอ คือมันเป็นการสร้างสิ่งที่ในทางการละครเรียกว่า narrative หรือเรื่องเล่าขึ้นมาว่าความสุขมีลักษณะแบบนี้ แต่ถามว่าใหม่ไหม ไม่ใหม่ มันก็กลับไปตั้งแต่สยามเมืองยิ้ม มันเป็นเรื่องของคนพร้อมที่จะโอเคเวลาที่พูดว่าความสุขเป็นเรื่องของชาติ ทำไมคนไทยถึงรู้สึกว่าไม่แปลก เพราะมันเป็นอย่างนี้มาโดยตลอด 

เมื่อความสุขถูกรัฐใช้เป็นเครื่องมือ เป้าหมายปลายทางในการใช้เครื่องมือนี้คืออะไร

มันมีหลายแบบ ถ้าในเชิงโครงสร้างสังคม มันก็คือการกดทับความโกรธไว้ใต้พรม และให้สังคมอยู่ต่อไปได้ มีคนจำนวนมากที่เชื่อว่ามันคือความสุขจริงๆ คือไม่มีการประท้วง จะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่ออะไร ทำให้เขารถไม่ติด ทำให้ธุรกิจไปต่อได้ มันก็ทำให้เขารู้สึกว่าสังคมอยู่ต่อได้ ก็ตอบโจทย์กับความต้องการของรัฐก็คือ ทำให้เรายอมจำนนกับสภาวะแบบนี้ 

มันง่ายๆ เลย ประเทศแบบไหนกันที่ต้องคอยโฆษณาชวนเชื่อตลอดเวลาว่าคนมีความสุขจริง ถ้าคนมีความสุขจริงรัฐต้องใช้เครื่องมือขนาดนี้ไหม

เราศึกษาโฆษณาการท่องเที่ยวของช่วงนั้นด้วย ก็คือพยายามบอกอยู่ตลอดเวลาว่า คนไทยมีความสุขในแบบของตัวเอง เวลาเหนื่อยก็กิน เวลาเครียดก็ไปต่อยมวย เวลาจนเราก็ทำบุญ นี่คือความย้อนแย้งแบบนี้ สิ่งที่บอกคือ ไม่ใช่ว่าประชาชนจะเชื่อ มันไม่จำเป็น เราไม่อิน และเชื่อว่าหลายคนก็ไม่อิน แต่มองข้ามไปไม่ได้ มันคือสิ่งที่รัฐกำลังใช้เป็นเครื่องมือ

การใช้ความสุขเป็นเครื่องมือให้อยู่ได้กลางกองขี้ ตามความเห็นของอาจารย์ ถูกจริตกับชนชั้นกลางหรือไม่ อย่างไร

มันอาจไม่ใช่เรื่องว่าถูกจริตไหม แต่สิ่งสำคัญที่มากกว่าใครเชื่อไม่เชื่อคือการมีอยู่ของมัน เหมือนแนวคิดชาตินิยม มันมีอยู่เรื่อยๆ จนปกติ โดยที่เราไม่รู้หรอกว่ามันมี แต่พอเมื่อไหร่ที่มีจนปกติ มันน่ากลัวมาก 

อย่างที่บอกไป ทำไมถึงเชื่อได้ว่า “ความสุขเริ่มจากตัวเราเอง” คำนี้ปกติมากสำหรับคนไทย ถ้าคุณจน คุณต้องสู้ด้วยตัวเอง ถ้าคุณเจอความไม่แฟร์ คุณก็ปรับทัศนคติสิ คุณทำงานหนัก คุณโดนหลอกใช้ คุณเปลี่ยน mindset สิว่าคุณได้ประสบการณ์ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นปกติได้เพราะอะไร เพราะกระบวนการเหล่านี้มีมาโดยตลอด โดยที่เราไม่เคยรู้สึกว่าเราอินด้วยซ้ำ ซึ่งกระบวนการปฏิบัติการความสุขของรัฐเนี่ย ถูกทำให้เรื่องพวกนี้เป็นปกติ อันนี้ที่น่ากลัว

ถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่สยามเมืองยิ้มจนมาถึงทุกวันนี้ ทำไมรัฐต้องทำกับประชาชนขนาดนี้ ประชาชนน่ากลัวมากหรือ

มันก็น่าสนใจนะคะ ว่าทำไมถึงต้องทำขนาดนี้ ถ้าสำหรับเราค่อนข้างชัด ว่ารัฐกับประชาชนเหมือนอยู่คนละฝั่งกัน แต่เขาพยายามทำให้เราคิดว่าเป็นพวกเดียวกัน การต่อสู้ของภาคประชาชนมีมาตลอด ไม่เคยหายไป มันหายไปเพราะอะไร เพราะอำนาจรัฐ มันหายไปเพราะเผด็จการขึ้นมา คุณออกมาชุมนุมไม่ได้ ออกมาตั้งคำถามไม่ได้ 

เป็นคำถามที่ดีมากว่า สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้น คือจริงๆ แล้วเราอยู่คนละประเทศเหรอ ศัตรูของรัฐคือประชาชนเหรอ ทำไมเราไม่สามารถต่อสู้หรือเรียกร้องได้ คำตอบก็คือ กระบวนการประชาธิปไตยมันไม่มี และถูกทำให้ไม่มีไปเรื่อยๆ เราเคยมีประชาธิปไตย ตอนเด็กๆ เราโตมากับ…โอเค คนต้องไปเลือกตั้ง เป็นสิทธิ เป็นหน้าที่ จนโตมายุคหนึ่ง กลายเป็นว่าการเลือกตั้งไม่เท่แล้ว ไม่คูล สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ยังไง มันคือกระบวนการพยายามลดอำนาจประชาชนไปเรื่อยๆ นี่คือในเชิงการเมือง

พอย่อยลงมากับชีวิตประจำวัน แล้วทำไมเรายังอยู่ได้ เราอยู่ได้ด้วยอะไร ซึ่งงานของเราพาร์ทแรกพูดถึงประเด็นสังคม พาร์ทที่สองเริ่มมาพูดเรื่องระดับชีวิตประจำวันแล้ว ซึ่งพูดในแง่กลไกที่สำคัญ ก็คือกลไกตลาด หรือ consumer society ที่ถามว่าภาคเอกชน ภาคธุรกิจ เป็นฮีโร่หรือเปล่า เขาทำให้ชีวิตเราดีขึ้นไหม จริงๆ แล้วเขาก็คือตัวละครฝั่งเดียวกันกับรัฐ ที่ทำให้รู้สึกว่าชีวิตเราโอเค เพราะว่าอะไร อย่างเดินผ่านธงชาติ เราไม่อิน แต่ถ้าเดินผ่านร้านบุฟเฟต์ เราอิน มันใกล้ตัวเรา เราได้ประโยชน์ มันเป็นของที่เราซื้อแล้วได้ทันที เพราะฉะนั้นที่พูดเยอะในงานก็คือ กระบวนการของวัฒนธรรมบริโภคนิยมกับกลไกตลาด

ความสุขแบบนี้มันจะเกิดขึ้นในสังคมหรือรัฐที่ล้มเหลวหรือเปล่า

ถ้าไม่มีประชาธิปไตยมันล้มเหลว แต่หลายๆ สังคมประชาธิปไตยทั่วโลกก็เกิดสิ่งเหล่านี้ ซึ่งมันก็คือ กระบวนการที่รัฐไม่รับผิดชอบชีวิตคน ไม่โอบอุ้มชีวิตคน มันกลับไปเรื่องเดิมที่ว่า ต่อให้คุณมีประชาธิปไตย แต่คุณก็ต้องจ่ายเงินให้ลูกเป็นแสนเป็นล้าน เพื่ออะไร เพื่อประกันสุขภาพที่ดีให้ลูก เรียนในโรงเรียนไม่พอ คุณต้องส่งลูกไปเรียนพิเศษที่ดีที่สุด เรียนกลุ่มก็ไม่ได้ ต้องเรียนไพรเวท เดี๋ยวลูกคนอื่นจะเก่งกว่าลูกฉัน คือทุกอย่างมันเป็นการลงทุน 

ต่อให้มีประชาธิปไตย แต่ระบบมันเป็นแบบนี้ ระบบที่รัฐกับทุนร่วมมือกัน จับมือกันในการหากำไรกับชีวิตคนเมื่อไหร่ขึ้นมา มันก็ล้มเหลวเหมือนกัน ความล้มเหลวเกิดขึ้นเมื่อประชาชนอยู่ในสภาวะที่เขาไม่ได้รับสิทธิที่ควรจะได้ในความเป็นคน ความเท่าเทียมในความเป็นคน อันนี้คือล้มเหลว

คำว่า สิทธิและเสรีภาพ กับความสุข มีความสัมพันธ์กันอย่างไร

คำว่าความสุขเป็นเรื่องของแต่ละคนมากๆ แล้วเราก็ไม่สามารถหาคำจำกัดความของคำว่า ‘ความสุข’ ได้ แต่อันนี้เป็นคำถามที่ดีว่า ‘สิทธิและเสรีภาพ’ ถ้าสองสิ่งนี้ไม่มี แล้วรัฐไหนหรือสังคมไหนพยายามพูดถึงความสุข อันนี้เฟล เพราะความสุขพวกนี้มันไม่ปลอมนะ มันจริงมาก 

เวลากิน เราสนุก เราอิ่ม เรามีความสุขมาก แต่เป็นความสุขที่ไม่ได้นำมาสู่คุณภาพชีวิตที่มั่นคงปลอดภัย หรือความเท่าเทียมของประชาชน ถ้าไม่มีสิทธิและเสรีภาพในฐานะของความเป็นคน ความเท่าเทียม ความแฟร์ คุณตัดสิ่งเหล่านี้ไปไม่ได้ 

ถ้าคุยเรื่องนี้กับนักเศรษฐศาสตร์ เขาจะชอบมากเรื่องการวัดความสุข เราไม่มีปัญหาถ้าคนจะวัดความสุข แต่สามสิ่งนี้ สิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม มันอยู่ในสเกลที่คุณวัดอยู่รึเปล่า เพราะว่ามันมีงานที่วัดว่า ทำไมประเทศที่ยากจนถึงมีความสุขกว่าประเทศที่ร่ำรวย เพราะว่ามันมีกระบวนการของการปรับตัวให้อยู่ในกองขี้ได้ ซึ่งเกิดขึ้นในสังคมที่ยากจน 

วิธีการมีความสุขโดยการบริโภค ช็อปปิ้ง มีคำกล่าวถึงคน Gen Y ถึงต้นๆ Gen Z ซึ่งโตมาในช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ค่อยเห็นอนาคตเท่าไหร่ ก็เลยคิดว่าเรามีความสุขไปวันๆ 

ซึ่งอันนี้ใช่นะ คือกระบวนการของ consumer culture ก็มาถามว่าจริงๆ เราชนะมันไหม ก็ไม่ชนะ มันเหมือนยอมรับว่ายังไงก็แพ้อยู่แล้ว งั้นก็จ่ายไปดีกว่า แต่ไอ้กระบวนการที่เราจ่าย ก็คือเราก็จ่ายให้เขาอยู่ดี โดยที่เรารู้สึกว่าเป็นความสุขของเรา มันคือชอยส์ของฉัน ฉันจะจ่าย ไม่ต้องคิดแล้วว่าจะออมอะไร แต่จริงๆ แล้วที่จ่ายไปมันทำให้อนาคตเรามั่นคงขึ้นไหม เขาเอาเงินที่เราจ่ายมาช่วยชีวีตเราในอนาคตไหม ก็ไม่มี คือเราก็รู้แล้วว่าแพ้ แต่ทำอะไรไม่ได้ ก็ยอมจ่าย

มันเกี่ยวกับ Gen ด้วยหรือเปล่า

คิดว่ามีผล ถ้าพูดกันตามจริง ก็คือสังคม consumerism มันค่อนข้างเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ แล้วมันก็ง่ายขึ้นเรื่อยๆ คนรุ่นก่อนหน้าเขาโตมาในระบบและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารแบบหนึ่ง ก็คือรู้สึกว่า ทำตามแบบนี้มันจะเวิร์ค แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ เขาเข้าถึงข่าวสาร มีความเร็วกับโลกมากกว่า หลายคนบอกว่าคนรุ่นใหม่เพ้อฝัน คนรุ่นใหม่มองโลกความจริงไม่ออก แต่เราว่าเขา realistic กว่าเราเยอะ เด็กรุ่นใหม่เขารู้ว่าเขาเห็น การที่เขาเลือกอะไรที่สั้นๆ ง่ายๆ ไม่ได้แปลว่าเขาเพ้อ หรือไม่ realistic เพียงแต่เขาเลือกอะไรที่อยู่ตรงหน้าแล้วมันก็ตอบโจทย์เขาได้เร็วที่สุด 

ถามว่าเกี่ยวกับ Gen ไหม เราว่ามีส่วน แต่คนรุ่นนี้แหละ คือความหวังที่จะเปลี่ยนสังคม เพราะเขาคือคนที่จะโตมาอยู่ในสังคมแบบนี้ 

คนกินหมูกระทะด้วยความสุข มักจะเป็นคนรุ่นไหน อย่างเด็กจบใหม่ออกมาทำงาน แล้วอยากไปกินหมูกระทะวันศุกร์ให้อ้วกไปเลย

กระบวนการต่อรองมีหลายรูปแบบมาก เราก็ถูกถามตอนสอบว่า คุณคิดว่าสามารถบอกได้ไหมว่า คำตอบของทุกอย่างคือแบบนี้ เราบอกว่า ไม่ได้ เคสที่ยกมาในงานคือมุมมองของคนวัยเรา ชนชั้นกลาง ซึ่งถ้าไปถามวัยอื่นที่แก่กว่าหรือเด็กกว่า อาจจะเป็นคนละอย่าง แต่ตราบใดที่ยังมีกองขี้อยู่อย่างนี้มันแค่เปลี่ยนรูปแบบ แค่เปลี่ยนฟอร์ม 

อย่างเราเป็นผู้หญิง ไปสำรวจร้านเครื่องสำอาง EVEANDBOY ในสยาม มันเป็นพื้นที่ปฏิบัติการความสุขที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับผู้หญิงวัยทำงาน ทุกคนแฮปปี้มาก แต่ถ้าถามว่าถ้าไม่ใช่ผู้หญิงล่ะ มันก็มีแบบอื่น ซึ่งในงานไม่ได้บอกว่ามีแบบเดียว แต่บอกว่าเป็นตัวอย่างหนึ่ง เป็นหลักฐานหนึ่ง ซึ่งเราก็มีเพื่อนผู้ชายที่มีความสุขกับการจ่ายเงินไปจับมือ BNK ซึ่งก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติการอย่างหนึ่ง แต่ถามว่ามันหลุดจากกรอบ consumerism ไหม ก็ยังไม่หลุด เพราะว่ามันยังอยู่ในกลไกเดิม 

อย่างที่บอกว่า ทำไมการกินหมูกระทะไม่ใช่แค่การจ่ายเงิน ในงานเขียนเราเขียนเรื่องการกิน After You ซึ่งการกินหมูกระทะหรือความสุขจากการกิน มันคือความสุขที่เร็วที่สุด เข้าสู่ร่างกาย ไม่ใช่แค่เห็นด้วยนะ ไม่ใช่ดูหนัง ดูละคร แต่ผ่านคอ ผ่านลิ้น เป็นเซนส์ของสุนทรียะที่ผ่านร่างกาย มันจริงมาก เราไม่ต้องรอ เราไม่ได้มีความฝันว่าวันหนึ่งต้องซื้อเบนซ์ ซื้อบีเอ็ม ซื้อบ้าน เรารู้สึกว่า วันนี้แค่มีอะไรหวานๆ เย็นๆ เข้ามาในคอ หรือไปกินหมูกระทะให้อ้วกไปเลย มันเรียลมาก มันไม่ต้องรอ

เหมือนกับว่าเราทำอะไรได้ก็ทำไปก่อน หาความสุขได้ ทำไปก่อน ในขณะที่เราไม่สามารถคาดหวังได้เลยจากระยะกลางและระยะยาว

ซึ่งจริงๆ แล้ว การที่เราเป็นมนุษย์ เราทำงาน ไม่ควรมีมนุษย์คนไหนที่ควรจะต้องมาวางแผนการเงินสิบปียี่สิบปีหรอก อย่างประเทศในยุโรป ที่เขามีรัฐสวัสดิการดีๆ เขาก็ใช้ชีวิตแบบนี้นะ เขาก็ไปกินมีความสุข แต่เขาอยู่ในพื้นฐานที่รู้ว่า เจ็บป่วยเขารักษาฟรี แก่ก็มีบำนาญ ไม่ต้องคิดว่าต้องเรียนอะไรให้หาเงินได้เยอะๆ จะได้เลี้ยงพ่อแม่ได้ เขาไม่มีเงื่อนไขพวกนี้ เขาก็กินแบบเรานี่แหละ กินอย่างมีความสุข แต่อาจจะไม่ได้กินแบบให้อ้วกแตก 

แต่มันก็คือความสุข ที่เราเชื่อว่าคนควรมีความสุขในชีวิตประจำวัน แต่ต้องไม่ใช่เป็นกระบวนการที่มาเยียวยาให้ฉันอยู่ต่อได้อีกวัน 

เหมือนเรานั่งอยู่ท่ามกลางกองขี้ แล้วหลับตาฝัน ว่ามีหมูกระทะอยู่รอบตัวหรือเปล่า

หมูกระทะมีอยู่จริง ไม่ต้องหลับตาฝัน ก็นั่งกิน แต่สวัสดิการไม่มี ความมั่นคงในอนาคตไม่มี ไม่ต้องฝัน มันไกลเกินฝัน อย่างที่มีตัวเลขออกมาว่าต้องเก็บเงินให้ได้ 10 ล้านก่อนเกษียณถึงจะอยู่ได้ มีเรตอยู่สบาย เรตพอเพียง ซึ่งมันจะเก็บยังไง มันก็กลับมาเป็น ช่างแม่งเถอะ อยู่กลางกองขี้ แล้วมีหมูกระทะ เอาไงก็เอา ให้กินบุฟเฟต์ท่ามกลางกองขี้ก็ดีกว่าไม่มี

ถ้ามองว่าการหาความสุขกลางกองขี้คือการบริโภค ถ้าเราไม่บริโภคมันมีวิธีให้หลบหนีไปจากความเป็นจริงไหม

คนประเทศเราเก่งมากเรื่องการอยู่เป็น เพราะเราอยู่กับขี้มานานมาก คือต่อให้ไม่ consume ก็มีกระบวนการอย่างที่บอกว่า how-to ทั้งหลาย กระบวนการสะกดจิตให้มีความสุข ซึ่งภาษาอังกฤษเป็นศาสตร์ เรียกว่า positive psychology จิตวิทยาเชิงบวก ซึ่งถูกเอามาใช้ในองค์กรให้เชื่อว่า ความสุขไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ ความสุขเป็นเครื่องมือ ถ้าคุณเชื่อว่าคุณมีความสุข แล้วถ้ามีความสุขแล้วคุณจะสามารถดีลกับขี้รอบตัวคุณได้ 

การบริโภคหรือกินก็ส่วนหนึ่ง แต่ก็มีเทรนด์เรื่องคอร์สต่างๆ ที่จะเข้ามาจัดการความรู้สึก ทำไมเป็นอย่างนั้น สุดท้ายคือกลับมาจัดการขี้?

ใช่ค่ะ ซึ่งศาสตร์นี้เริ่มจากอเมริกา แต่พอเอามาแล้วทำไมมันช่างสอดคล้องกับกระบวนการการแก้กรรมแก้ปมอะไรที่เราถูกปลูกฝังมา มันก็กลับไปเรื่องเดิม ว่าศาสตร์พวกนี้เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสังคมผิดปกติ พอมีความผิดปกติ ก็ต้องมีกระบวนการซ่อม ซึ่งถ้าไม่ได้ซ่อมด้วยเชิงโครงสร้าง มันก็จะเกิดอย่างนี้ ซ่อมด้วยตัวเอง ซึ่งมันเยอะมาก แล้วมันสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเปลี่ยนไปจากแต่ก่อน อย่างอเมริกันดรีม ที่เราเคยเชื่อว่าความสุขคือปลายทาง แต่ตอนนี้ไม่ใช่ มันกลับกัน ความสุขคือเครื่องมือต้นทาง ถ้าคุณมีความสุข ไม่ใช่แค่ตัวคุณมีความสุขนะ คนรอบตัวคุณก็จะมีความสุข คุณก็จะมีพลังบวกในที่ทำงาน พอมีความสุขในที่ทำงาน คุณก็จะดี 

คือความสุขมันเป็นเครื่องมือที่เราต้องมีตั้งแต่แรก 

ก็ต้องกลับมาดิ้นรนด้วยตัวเองต่างๆ เปลี่ยนวิธีคิด?

ทั้งๆ ที่มันค่อนข้างแปลก เพราะสังคมมีปัญหา แต่ไม่เลือกซ่อมที่โครงสร้าง เขาเลือกให้ซ่อมที่ตัวเรา เพราะฉะนั้น ถ้าไปที่ไหนแล้วเทรนด์พวกนี้มีเยอะๆ มันค่อนข้างชัดมากๆ ว่าสังคมเป็นแบบไหน

อย่างที่อังกฤษ ไม่มีเทรนด์เหล่านี้เลย อย่างเทรนด์สะกดจิตให้ตัวเองแฮปปี้ ซึ่งมันจะเกิดขึ้นกับสังคมที่คนไม่แฮปปี้ คนเริ่มต้องดิ้นรน แล้วก็จะเข้าไปตามองค์กรต่างๆ ตามบริษัทต่างๆ ว่าทำยังไงให้พนักงานอยู่เป็น ทำยังไงให้พนักงานไม่ตั้งคำถาม เพราะการที่คุณตั้งคำถาม มันจะไม่มีความสุขนะ คุณทำสิ่งที่คุณทำได้ให้ดีที่สุด ส่งพลังบวกให้ผู้อื่น คุณตั้งคำถามคือคุณทำให้สังคม toxic สังคมเป็นพิษ

ถึงบอกว่าไม่ใช่แค่ consume เพราะ consume มันเป็นแค่หน่วยหนึ่งที่ทำงานหนัก แต่ว่า ถ้ามองไป อาจจะไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ และอาจจะไม่ใช่แค่ชนชั้นกลาง มันก็มีอย่างอื่น อย่างการอยู่เป็น การอยู่ได้ อย่างการเชื่อว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาเป็นเรื่องบุญเรื่องกรรม เพราะเขาทำบุญมาดีกว่า

ถามว่าอันนี้คือการเพิกเฉย หรือคือความไร้เดียงสาไหม มันไม่ใช่ มันคือสิ่งที่เราถูกทำให้เชื่อแบบนั้น 

ถ้ามีใครสักคนพูดว่า ฉันคิดบวก ฉันผิดตรงไหน

ไม่ผิด เราเข้าใจด้วย แล้วก็อย่างที่บอก ไม่มีใครสามารถมาตัดสินความสุขของใครได้ แต่เราเป็นประชาชนเราต้องตัดสินรัฐบาลได้ เราต้องตัดสินสังคมที่เราอยู่ได้ และนั่นคือข้อเสนอของเรา เราไม่ได้เสนอว่า ทุกคนจงเลิกสะกดจิตตัวเอง เพราะเรารู้ว่ามันเหนื่อย การเป็นคนในประเทศนี้มันเหนื่อย การเป็นแรงงานประเทศนี้มันเหนื่อย คนส่วนมากอยู่ในระบบแบบนี้โดยที่ชิน ถามว่าทุกคนเหนื่อยไหม ก็เหนื่อยหมด แต่ก็ชิน

แต่คุณจะคาดหวังให้เขาลุกขึ้นมาต่อสู้ตั้งคำถามยังไง ในวันหนึ่งพลังงานมันก็หมดไปแล้ว สิ่งที่กำลังจะบอกคือ เราตัดสินกันเองไม่ได้ และเราต้องไม่พยายามตัดสินกันเองด้วย เพราะเมื่อไหร่ที่พยายามตัดสินกันเอง มันคือการที่ข้างบนแฮปปี้ 

แต่ต้องดูให้ออกว่าสิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือสิ่งที่ shape พวกเราอยู่ อันนี้เป็นงานของเรา ซึ่งมันเล็กมาก สรุปสุดท้ายมันบอกแค่นี้ ว่าเราไม่ได้ผิดนะ เราไม่ต้องไปตัดสินกัน แต่สิ่งที่ต้องรู้ก็คือว่า มันเกิดสิ่งเหล่านี้เพราะอะไร ภายใต้โครงสร้างแบบไหน

อ่านถึงตรงนี้แล้วรู้สึกว่าพ่ายแพ้เหลือเกิน การมีความสุขแบบนี้มันคือความพ่ายแพ้ชัดๆ แบบนี้ผิดไหม

มันเรียลมากว่าใช่ (หัวเราะ) ว่าเราแพ้ และเราจะแพ้ยิ่งกว่า ถ้าเราไม่เห็นมัน คืออย่างน้อยถ้าเราเห็นมัน แล้วรู้สึกว่า สิ่งที่เป็นอยู่ ปรากฏการณ์หรือการเกิดอาการซึมเศร้าหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น มักถูกผลักก่อนเลยว่า เป็นความผิดที่ตัวเอง ซึ่งเราไม่ได้บอกว่าทุกอย่างมันเป็นจากโครงสร้าง แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เรามองออก หรือเห็นว่า ที่เราเป็นแบบนี้ ที่เราทำแบบนี้ มันเกิดจากสิ่งที่ผิดปกติ ที่ shape เราอยู่ เราว่าแค่นี้ แค่คุณมองเห็น แค่เริ่มคิดได้ ก็ไม่ได้แพ้แบบราบคาบแล้วนะ ต่อให้มันยังไม่ได้มีแรงจะลุกขึ้นมาต่อสู้ แต่เราเชื่อว่า ทุกการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากที่เราต้องเห็น การเปลี่ยนแปลง เราไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องเห็นและต้องออกมาต่อสู้ แต่ถ้าเมื่อไหร่เราไม่คิด เราเลิกคิด หรือเราเหนื่อยเกินกว่าจะคิด มันก็จบ เพราะนั่นคือสิ่งที่เขาอยากให้เราเป็น คือเลิกสนใจปัญหารอบตัว

แต่สิ่งที่อยู่รอบตัวเรามันกระตุ้นให้เรา ignore ได้ง่ายมาก ถึงเกิดงานชิ้นนี้ขึ้นมาว่ามันยากมาก เพราะเราถูก shape ด้วยวัฒนธรรมต่างๆ ด้วยสังคม แล้วก็โซเชียลมีเดีย อย่างบทสุดท้ายในงานก็พูดถึงโซเชียลมีเดีย ว่ามันเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่เราแสดงออก ทำให้เรารู้สึกมีอิสระ แต่จริงๆ ก็มีเซนส์ของการกักอยู่ ณ ตรงนั้น การที่ไม่ว่าเราจะบ่นหรือจะโพสต์เรื่องดีๆ หรือเรื่องแฮปปี้ แต่ตราบใดที่โลกออฟไลน์มันยังเป็นขี้ มันก็อยู่แค่นั้น ทำไมเขาถึงไม่มาตามจับทุกโพสต์ที่ท้าทายโครงสร้าง เพราะคุณอยู่ได้แค่นี้แหละ โลกออฟไลน์มันยังเปลี่ยนอะไรไม่ได้ อย่างที่บอก มันไม่ได้แยกขาดจากกัน มันโยงกันหมด กลับไปที่เราพูดกัน สิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม ถ้าไม่มีเรื่องพวกนี้มันก็วนลูปไปเรื่อยๆ 

นอกจากที่ต้องมีความสุขแบบปัจเจก เราต้องแสดงให้เห็นผ่านโซเชียลมีเดียว่าฉันมีความสุข มีความหมายไหมว่าทำไมต้องแสดง

อย่างในงานของเรา หลักๆ จะวิเคราะห์เฟซบุ๊คกับอินสตาแกรม มันเริ่มจากเฟซบุ๊ค มันเป็นเหมือนเวที เราใช้คำว่า dreamlike stage เหมือนความฝัน คือเป็นเจ้าของเวทีนี้ เราสามารถเลือกได้ว่าอยากให้คนเห็นเราแบบไหน มันอาจจะจริง หรือมันจะจริงแค่บางส่วน เราใช้คำว่า selective performance ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวเฟซบุ๊ค แต่ตัวแพลตฟอร์มนี้มันช่วยคนที่บอบบางมากๆ ในสังคมที่เต็มไปด้วยขี้ การที่เขาอยู่ในโลกเฟซบุ๊ค แล้วเขาแสดงออกว่าเขามีความสุข มันคือการที่ทำให้เขารู้สึกเติมเต็มว่า ฉันยังเป็นใครนะ อยากให้คนอื่นเห็นฉันในแบบนี้ ซึ่งอาจจะไม่จริง หรือจริงแค่บางส่วน มันไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่กระบวนการเหล่านี้ กรอบที่ใช้วิเคราะห์มันเป็นพิธีกรรม การเลือกรูป เลือกคำที่จะโพสต์ มันเป็นกระบวนการ ที่พอมันจบแล้วเราก็จะเติมเต็มอะไรบางอย่าง ซึ่งเฟซบุ๊คหรือโซเชียลมีเดียมันให้ตรงนั้น มันมี audience ที่เราเลือกได้ เราผิด เราลบ เราแก้ แม้จะมีการแคปหน้าจอได้ก็ตาม แต่เทียบกับการปฏิสัมพันธ์ในชีวิตจริงแล้ว มันทำให้เราเลือกได้เยอะมาก ทำให้เรากรองอะไรได้หลายๆ อย่างมาก สำหรับเรา มันเพิ่มอำนาจให้รู้สึกเป็นผู้ชนะ ให้เรารู้สึกว่าเรายังมีตัวตนนะ 

อย่างในไอจี ตอนหลังมันไปเร็วมาก เห็นได้จาก IG Story แต่ก่อนมันเป็นกระบวนการเลือก กระบวนการว่าเอารูปไหน มุมไหน แต่ IG Story มันมาเร็ว ลบเอง ไปเอง คนคอมเมนต์อะไรก็ไม่เห็น ซึ่งเราว่าอันนี้ตอบโจทย์ความเปราะบางในชีวิตคนที่ต้องการบอกว่าฉันยังอยู่ แต่มันไม่จำเป็นต้องเป็น the best performance แล้ว ไม่ต้องสวยที่สุด นั่งกินกาแฟ ขับรถ รถติด ทุกอย่างมันมาเร็ว ไปเร็ว แค่รู้สึกว่า ชีวิตฉันอยู่ได้ด้วยการอัพเดต ฉันยังอยู่ในกระแสนี้นะ ทุกคนยังเห็นฉันอยู่ แต่มันสะท้อนภาพว่า คนมีความ individual มากขึ้นเรื่อยๆ คนไม่ได้ต้องการปฏิสัมพันธ์ เพื่อนหลายคนก็เลิกเล่นเฟซบุ๊คไปแล้ว เขาบอกว่าตัวหนังสือมันเยอะเกิน ข่าวเยอะเกิน แต่ไอจีบางทีมันไม่มีอะไร แค่ให้เห็นรูป คือมันมาเร็ว แล้วมันก็ลบตัวเองไป

มีงานวิจัยของเดนมาร์ก ว่าคนเดนมาร์กเลิกเล่นเฟซบุ๊คแล้วมีความสุขมากขึ้น แต่นั่นเพราะอะไร เพราะสังคมออฟไลน์ของเขาปลอดภัยมั่นคงมาก มัน empower เขามีตัวตนอยู่แล้ว แต่โซเชียลมีเดียมันมาทำให้เขารู้สึกไม่มีความสุข เพราะมีการเปรียบเทียบ 

กลับมาสังคมไทย โซเชียลมีเดียเป็นเหมือนยาใจให้คนอยู่ได้ เพราะโลกออฟไลน์มันโหดร้าย แล้วถ้าจะมีพื้นที่เล็กๆ ทำไมคนจะไม่ทำ ก็เหมือนเดิม มันคือกระบวนการทำความเข้าใจมากกว่า ไม่ได้ judge ว่าเล่นหรือไม่เล่นเพราะอะไร แต่ทำความเข้าใจว่ากระบวนการพวกนี้มันเกิดขึ้นเพราะอะไร

ฟังแล้วเหมือนเจอเรื่องเศร้ารายวัน เพราะขนาดความสุขเรายังต้องตั้งคำถาม

ใช่ค่ะ สุดท้ายก็กลับไปเรื่องเดิม ถ้าเราไม่ตั้งคำถาม เราจะมีความสุขกว่าไหม มันก็จะกลับไปเหมือนเดิมว่าอยู่ที่คุณค่า ว่าเราเลือกอะไร

ความสุขสำหรับเราไม่จำเป็นว่าต้องแฮปปี้หรือโอเค แต่เป็นความสุขในแง่ที่ว่า เรารู้ว่ามันไม่โอเค แต่สำหรับคนอื่น การรู้ว่ามันไม่โอเคอาจจะไม่ใช่ความสุข เพราะฉะนั้นมันวัดกันยาก

การเอาตัวรอดไปวันๆ ทุกวันๆ ด้วยสถานการณ์เฉพาะหน้า ในระยะยาว การใช้ชีวิตแบบนี้ จะทำให้เกิดสังคมแบบไหน  

ต้องถามกลับว่า โครงสร้างทางสังคมการเมืองยังเป็นแบบนี้ไหม ถ้ายังเป็นแบบนี้ มันก็จะเป็นแบบนี้แหละ แย่ลงเรื่อยๆ เพราะที่เราตั้งคำถามคือ ปัญหาอยู่ที่โครงสร้าง เมื่อไหร่ก็ตามที่โครงสร้างมีการเปลี่ยนแปลง เราเชื่อว่าคนรุ่นใหม่คือเสียงสำคัญที่จะทำให้ประเทศเราดีกว่านี้ แต่ทุกวันนี้มันทำอะไรไม่ได้ แล้วไม่ได้มีพลังงานที่จะมาทำ เขาก็เหมือนเรา เพียงแต่เขาเรียลกว่า เร็วกว่า แล้วเขาก็ยังเลือกที่จะช่างแม่งได้เร็วกว่า ขณะที่คนรุ่นเรา โตกว่าเรา ถูกฝังด้วยความหวัง จริงๆ มันคือ เส้นทางเดียวกันเลย เพียงแต่เขารู้เร็วกว่า 

ถ้าโครงสร้างไม่เปลี่ยน มันก็เป็นไปเรื่อยๆ แบบนี้แหละค่ะ วันหนึ่งเขาก็อาจจะอยู่อย่างนี้ ทำงานไปจน 70-80 แล้วก็ซื้อความสุข ทำงานจนตายไปเรื่อยๆ 

แต่ถ้าโครงสร้างเปลี่ยน เราเชื่อว่าคนรุ่นนี้คือคนที่เราต้องฝากความหวังที่จะตั้งคำถามและขับเคลื่อนสังคมต่อไป

เคยคุยเรื่องนี้กับเด็กที่สอนไหม

ยังไม่เคยคุย แต่ที่มีโอกาสได้คุยกับเด็กรุ่นใหม่ๆ ก่อนและหลังรัฐประหาร ก่อนที่เราจะไปเรียน เราได้สอนเด็กรุ่นสุดท้าย ซึ่งตอนนี้อาจจะอยู่ปี 4 หรือเพิ่งจบไปเรารู้สึกว่าเขาต่างจากเด็กสี่ปีก่อนหน้าที่แล้ว เขาค่อนข้าง realistic ค่อนข้างรู้ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วทุกวันนี้มันเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น เทียบกับเด็กรุ่นเรา เด็กรุ่นเราเชื่อง เด็กรุ่นเรานั่งตาใส ฟังครู จดเลคเชอร์ มันถูกเทรนมาแบบนี้ แต่ว่าเด็กรุ่นใหม่ๆ เปลี่ยนไป เราต้องไม่กัน gen ออก เพราะสุดท้ายแล้ว สังคมที่เราอยู่เราก็ต้องส่งต่อให้คนรุ่นหลัง สังคมที่เราอยู่เราก็ต้องอยู่เป็นคนแก่ ทำยังไงเราถึงจะส่งต่อไปได้

นึกถึงหนังสือพวก ช่างแม่ง ศิลปะการพูดคุยกับคนเฮงซวย สุดท้ายเราหรือเปล่าที่ผิด ที่เราขี้เกียจ 

เพราะมันถูกทำให้ชินจากข้างใน แล้วเราปล่อย positive energy ออกมา สำหรับเรา คิดว่า ปัญหาซึมเศร้าไม่ได้เพิ่งมี มันมีมานานมากแล้ว แต่คนรุ่นใหม่เรียลขึ้น ที่จะโอบกอดความเศร้ามากกว่าคนรุ่นก่อนๆ ที่อยู่เป็น อยู่ในระบบ ทำงาน ซื่อสัตย์ ขยัน อดทน เขามองโลกออกมากขึ้น เขามองเห็นว่ามันมีปัญหาเต็มไปหมด แล้วเขาดีลไม่ได้ แล้วเขาถูกผลักให้เข้ามาจัดการกับตัวเอง 

ตอนที่ศึกษาเรื่องนี้ต้องศึกษาจิตวิทยาไปด้วยไหม

คืองานชิ้นนี้มันศึกษาเชิงวัฒนธรรมเลยมีความเป็นสหวิทยาการประมาณหนึ่ง มันต้องดึงหลายสาย เราศึกษาจิตวิทยาเพื่อทำความเข้าใจว่าเขามองความสุขยังไง เราศึกษาเศรษฐศาสตร์ว่าเขาใช้ความสุขยังไง แต่สิ่งที่เราบอกคือ สุดท้าย ความสุขมันคือเครื่องมือ มันถูกใช้เป็นเครื่องมือของศาสตร์ต่างๆ ในการที่จะหาคำตอบ จิตวิทยา ถ้าเกิดพูดถึงความสุข ความสุขก็ไปในทางเชิงบวก ที่จะเติมเต็มระยะสั้นหรือระยะยาวก็ว่าไป แต่สิ่งที่เรามีปัญหาด้วย ที่เราค่อนข้างวิพากษ์เยอะก็คือ positive psychology การคิดบวกแล้วจะมีความสุข 

หลังจากสื่อสารงานชิ้นนี้แล้ว วิธีคิดหรือวิธีปฏิบัติของตัวเองเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า 

เปลี่ยนค่ะ แต่ว่าเปลี่ยนเพราะไม่ได้อยู่ประเทศไทยสี่ปี มันเหมือนเราถอยจากกองขี้ ได้สิทธิพิเศษเพราะเราได้ทุน ได้เงิน ได้เวลา แถมไปอยู่ในประเทศที่มีประชาธิปไตย แต่จริงๆ มันคือสิ่งที่ทุกคนควรได้ แต่พอเราได้สิ่งนั้นแล้วมองกลับมาในกองขี้ เราถอยออกมา สิ่งเหล่านี้มันอยู่ในลมหายใจ คุณจะไม่รู้ได้ยังไงว่าคุณอยู่แบบเดือนชนเดือน สิ้นเดือนกินมาม่าจะไม่รู้ได้ยังไง มันก็เปลี่ยนมุมมองว่า คนไม่ได้ ignorant แต่สังคมทำให้คน ignorant 

สิ่งที่เปลี่ยนอย่างที่สองก็คือ คุณค่าของเราเปลี่ยนไป ซึ่งมันอาจจะเป็นเพราะสังคมที่เราอยู่ เราไม่ได้มีความสุขจากการโพสต์ชีวิตส่วนตัวในโซเชียลมีเดียเท่าไหร่ แต่ก่อนเป็น ในไอจีมีเป็นพันโพสต์ เราต้องสำรวจตัวเอง พอออกมาจากตรงนั้น เราไม่ได้อยากให้คนอื่นรู้ว่าไปไหนกินอะไร แต่เรารู้สึกมั่นคง โอเคกับตัวเอง เรารู้สึกมีคุณค่าในความเป็นคนโดยที่ไม่ต้องให้คนรู้สึกว่าฉันเก๋ ฉันชิคเพราะที่ที่เราไป อาหารที่เรากิน แต่เราเคารพกันแบบที่มนุษย์เคารพกัน มันก็เลยกลับมาเรื่องความ secure ในตัวเอง เมื่อเราเปราะบาง ยิ่งต้องปีนป่าย แต่กระบวนการปีนป่ายของแต่ละคนต่างกัน เพราะฉะนั้น ถ้าความ secure มันไม่มี ถ้าโครงสร้างมันไม่ได้ทำให้คน secure กระบวนการปีนป่ายมันก็แค่เปลี่ยนฟอร์มไปเรื่อยๆ คือคุณค่าของเราเปลี่ยนไป เพราะโครงสร้างสังคมเปลี่ยนไป 

ตอนนี้โพสต์น้อยลงหรือเปล่า

ใช้เฟซบุ๊คเพื่อสื่อสารแลกเปลี่ยนทางความคิด แต่ว่าเรื่องส่วนตัวน้อยลง แต่ก่อนก็เล่นไอจี แต่พอจบโปรเจ็คต์ก็ไม่เล่นแล้ว เพราะไม่ได้ตอบโจทย์ในสิ่งที่เราต้องการ มันเต็มไปด้วย consumerism และ individualism สูงมาก กลายเป็นว่าเราเริ่มรู้สึกอายที่ต้องโพสต์บอกชาวโลกว่าเราโอเค ทั้งๆ ที่สังคมรอบตัวเราไม่โอเค

คุณค่าที่ว่าคืออะไร

ตอนอยู่ที่นู่นกลัวตลอดว่าจะต้องกลับมาอยู่ในสังคมแบบนี้ เรียกได้ว่าชีวิตที่นู่นคือการซ้อมและการเขียนถึงสังคมที่เราจะกลับมา แล้วก็มีความกลัวอยู่ตลอด

แต่จริงๆ แล้วคุณค่าที่เชื่อก็คือ เราอยากให้สังคมดีขึ้น พอพูดเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างมันยาก แต่มันต้องเกิด และถ้าหมดหวัง ถ้าไม่มีหวัง ทุกอย่างก็จบ คุณค่าของเราตอนนี้ก็คือการตั้งคำถามและหาทางต่อสู้ เรารู้ว่าสังคมตอนนี้ไม่โอเค มีความไม่แฟร์ ความไม่เท่าเทียม อย่างน้อยมันเป็นความสุขอย่างหนึ่งที่รู้ว่าต้องไม่ยอมจำนน 

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

Photographer

ปฏิภัทร จันทร์ทอง
เคยทำงานภาพข่าวที่ Bangkok Post ปัจจุบันเป็นสมาชิก Realframe และ TNP ยังคงทำงานถ่ายภาพและรับจ้างทั่วไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า