ช่างแ_่ง จ่ายๆ ไปเถอะ: สำรวจความสุขหลุดพ้นของมนุษย์ Gen Y

ไม่นานมานี้มีความกังวลผ่านหน้าฟีดข่าวถึงบรรดา ‘คน Gen Y’ ว่าเป็นพวกใช้เงินฟุ่มเฟือย เป็นหนี้บัตรเครดิตท่วมหัว ไม่รู้จักเก็บหอมรอมริบเพื่ออนาคต 

“เด็กสมัยนี้มันเป็นยังไงกัน…” พ่อๆ แม่ๆ และลุงคงรำพึงประมาณนี้อย่างเป็นกังวล

เข้าใจได้ไม่ยากว่า แคมเปญลดราคาต่างๆ บนเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ยอดฮิต ไล่มาตั้งแต่ 9.9 10.10 11.11 Black Friday 12.12 คริสต์มาส ฯลฯ ชาว Gen Y จำนวนมหาศาลคงคลิกเมาส์ไถหน้าจอสมาร์ทโฟนแล้วกดจ่ายเงินกันอย่างสนุกมือ หนึ่ง-เพราะการใช้จ่ายง่ายๆ ในวันนี้คือความสุขประเภทหนึ่ง สอง-สินค้าต่างๆ ที่หั่นราคาลงหลายเปอร์เซ็นต์ล้วนเป็น ‘ของมันต้องมี’ ในยุคสมัยนี้ทั้งนั้น

เป็นความสุขแบบฉาบฉวย รวดเร็ว สำเร็จรูป ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง ต้องการทุกสิ่งอย่างด่วนๆ ชนิดไม่ยอมรอ 

“ก็ความสุขมันอยู่ในชาตินี้นี่แม่” ลูกๆ ตอบกลับไปแบบนี้

กางดูเหตุผล จริงหรือที่ว่าคน Gen Y คิดไม่เป็น อาจเพราะความแตกต่างระหว่าง generation แนวคิดต่อชีวิตที่ไม่เหมือนกัน สภาพสังคมที่เปลี่ยนไป กระทั่งความมืดมนของอนาคตที่คนรุ่นหลังไม่มีความหวังจะเดินไปข้างหน้า  

ทำไม ‘ความสุขด่วนๆ ของวันนี้’ ที่น่าจะเป็นเรื่องดีๆ ถึงได้ถูกมองว่าเป็นประเด็นปัญหาแห่งยุคสมัย

ความสุขสำเร็จรูป

‘สำเร็จรูป’ ในบริบทของอาหาร เราพบได้ในถ้วย ซอง ถาด ถ้วยพลาสติกในตู้แช่แข็งจากร้านสะดวกซื้อ อาหารเหล่านี้ดูเข้าท่าเข้าทีกว่าฟาสต์ฟู้ด ใช้เวลาไม่กี่นาทีก็ได้กิน…สำเร็จรูปดีแท้ 

ความสำเร็จรูป (instant) หรือความด่วน ทันที (immidiate) คือการไม่ต้องคอย ไม่ดีเลย์

หากนำความสุขไปบวกคุณศัพท์ความด่วนและสำเร็จรูป ผลลัพธ์คือ instant gratification ความสุขสำเร็จรูปที่ไม่ต้องรอ สุขวันนี้ สบายวันนี้ อนาคตมันเรื่องมายา เพราะชีวิตตอนนี้นี่แหละคือของจริง

หลายๆ ตัวอย่างทั่วโลกแสดงให้เห็นพฤติกรรมความสุขที่ด่วนและสำเร็จรูปมากขึ้น ทั้งอาหารส่งถึงบ้าน ความบันเทิงผ่านสตรีมมิ่งโดยไม่ต้องก้าวขาออกจากบ้าน ช็อปปิ้งออนไลน์ อัลกอริธึมที่ทำให้เรารู้จักกับคนที่ใช่และมีรสนิยมตรงกันได้ง่ายๆ หรือกระทั่งปัดสมาร์ทโฟนหาคู่แล้วแยกย้าย กลายเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ต้องมีพันธะ ไม่ต้องรับผิดชอบระยะยาว-ทั้งหมดนี้เพื่อความสุขวันนี้เท่านั้น

ถ้าวิถีของชาว Millennials หรือ Gen Y คือ instant gratification แนวคิดของคนรุ่นก่อน โดยเฉพาะ Baby Boomers เป็นสิ่งตรงข้าม นั่นคือความสุขแบบอดทนรอ (daleyed gratification) มองการณ์ไกลอย่างรอบคอบ  

ไม่ใช่เรื่องแปลก หากย้อนไปยังสังคมอดีต บรรพบุรุษของมนุษย์เรียนรู้การสะสมอาหารไว้เพื่อความอยู่รอด ประสบการณ์สอนพวกเขาว่า การกินและใช้ทุกอย่างที่เก็บมาได้ให้หมดไปอย่างรวดเร็วอาจมีราคาต้องจ่ายด้วยชีวิต เกิดภาวะขาดแคลน

เมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน หากมองด้วยแว่นตาของคนรุ่นก่อนๆ ที่ผ่านมา มันเป็นเรื่องง่ายมากๆ ที่จะอคติกับคนใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และมองว่าคนอดเปรี้ยวไว้กินหวาน อดทน ต่อสู้ เป็นคนเฉลียวฉลาดกว่า แต่ราคาของคนรุ่นที่มองอนาคต ทำทุกอย่างเพื่ออนาคต คือต้องอยู่กับปัจจุบันที่ดิ้นรน ปฏิเสธความต้องการ ความสุขเป็นจินตนาการอยู่ใน ‘สักวันหนึ่งข้างหน้า’ 

หรือไม่ก็ ‘ชาติหน้า’

นับเป็นโชคของคนรุ่นก่อนที่ ‘สักวันที่ดีกว่า’ มองจากคาบสมัยนั้นยังพอมองเห็นเงาเป็นเค้าลาง แต่ถ้าอนาคตของ Millennials หรือ Gen Y อยู่ในความมืดที่ดูสิ้นหวังล่ะ พวกเขาควรมีความสุขอย่างไร  

ขอไปต่อ ไม่รอแล้วนะ

คนรุ่น Millennials หรือ Gen Y คือมนุษย์ที่เกิดระหว่างปี 1981-1996 นับว่าเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของโลก เป็นแรงงานหลัก ขณะเดียวกันก็เป็นผู้บริโภคจำนวนมหาศาล

instant gratification คือการไขว่คว้าหาความสุขแบบเร่งด่วน เติมเต็มชีวิตโดยไม่ ‘ดีเลย์’ หรือยืดเยื้อ

ความสุขแบบเร่งด่วนถูกเร่งปฏิกิริยามากขึ้นด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การแสวงหาความพึงพอใจของมนุษย์คือการซื้อประสบการณ์ความสุขมาเพื่อสนองความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นทางวัตถุหรือไม่

เมื่อทุกอย่างถูกคลุมด้วยนิยาม ‘สำเร็จรูป’ และ ‘ไม่ดีเลย์’ คน Gen Y ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับความรู้สึกว่า ‘ต้องรอ’ จนบ้างครั้งก็มองข้ามความสามารถใน ‘การจ่าย’  

วัยรุ่นของคน Gen Y อยู่ในช่วงปลายของการต่ออินเทอร์เน็ตผ่านสายโทรศัพท์ การท่องโลกไซเบอร์ไม่ใช่การเปิดปุ๊บติดปั๊บ แต่คือการนั่งฟังเสียงน่ารำคาญของโมเด็มพักใหญ่ๆ กว่า Hotmail จะปรากฏบนหน้าจอไม่ได้ใช้เวลาน้อยๆ 

หลังจากนั้น คำว่า ‘รอ’ ก็หายไปจากชีวิต Gen Y โดยสิ้นเชิง เพราะระบบออนไลน์กลายเป็นสิ่งที่วิ่งคู่ขนานไปกับสังคม คนร่วมสมัยทศวรรษที่ 1990s-2000s เติบโตมากับวัฒนธรรมดิจิตอล ทุกวันนี้มีสมาร์ทโฟนในมือ ใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์มากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน ส่งและรับข้อความทางโซเชียลมีเดียนับพันต่อเดือน เปิดปิดแอพพลิเคชั่นด้วยเวลาหลักวินาที รับส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ข้อมูลการงานถูกโยนไปเก็บไว้ในอากาศ โซเชียลมีเดียล่มกลายเป็นข่าวใหญ่ ขณะที่หากประเทศหนึ่งทำการตัดอินเทอร์เน็ตเท่ากับว่าประเทศนั้นถูก ‘ตัดขาดจากโลกภายนอก’ ไปโดยอัตโนมัติ 

จินตนาการการเปลี่ยนความหมายของคำว่า ‘รอ’ ในยุคสมัยง่ายๆ หากโฆษณา 10 วินาทีก่อนดูมิวสิควิดีโอในยูทูบเป็นเรื่องน่ารำคาญ นั่นแหละ ตัวอย่างฉบับย่อของความรู้สึกแบบคน Gen Y 

เอาขนมของข้ามา ‘เดี๋ยวนี้’

ทศวรรษ 1960s ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด วอลเตอร์ มิเชล (Walter Mischel) ได้ทำการทดลองความอดทนและการยับยั้งชั่งใจที่เรียกกันว่า Marshmallow Test 

มิเชลเลือกลุ่มทดลองเป็นเด็กอายุตั้งแต่ 4-6 ขวบ ประมาณ 600 คน โดยให้แต่ละคนเลือกขนมที่ตัวเองชอบไว้คนละหนึ่งอย่าง มาร์ชเมลโลว์เป็นหนึ่งในขนมเหล่านั้น

จากนั้นเด็กจะถูกพาไปนั่งในห้องที่สามารถมองผ่านกระจกได้จากข้างนอก ในนั้นมีเพียงโต๊ะและเก้าอี้ บนโต๊ะมีขนมที่ชอบอยู่หนึ่งชิ้นกับอีกสองชิ้นที่มุมโต๊ะ และกระดิ่งอีกหนึ่งอัน สิ่งที่เด็กต้องทำคือ เมื่อเจ้าหน้าที่ออกไปจากห้องแล้ว เด็กสามารถสั่นกระดิ่ง เจ้าหน้าที่จะกลับมา จากนั้นเด็กจะได้กินขนมหนึ่งชิ้น แต่หากเด็กรอให้เจ้าหน้าที่กลับมาเองภายใน 15 นาทีโดยไม่ต้องสั่นกระดิ่ง เด็กจะได้กินขนมสองชิ้น 

Marshmallow Test คือการทดสอบวุฒิภาวะทางอารมณ์ การควบคุมตัวเอง การยับยั้งชั่งใจ ซึ่งการทดลองที่มีชื่อเสียงนี้ได้ติดตามผลมาจนผู้ร่วมการทดลองอายุมากขึ้นเรื่อยๆ และพบว่าเด็กที่มีความอดทนมากกว่าในวันนั้นมีแนวโน้มจะประสบผลสำเร็จในชีวิตมากกว่าในวันนี้  

แล้วคน Gen Y จะสอบตกการทดลองนี้ยกแผงหรือเปล่า เพราะดังที่กล่าวไว้ Gen Y มักถูกมองว่าไม่ประหยัด ตามใจตัวเอง จับจด ไม่ยึดถืออะไรเป็นสมบัติถาวร มองข้ามอนาคตมาหาความสุขในปัจจุบัน – แน่นอนว่าขนมมาร์ชเมลโลว์คงถูกกินไปอย่างรวดเร็ว

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งอาจอยู่ที่ยุคสมัยและประสบการณ์ร่วมในยุคนั้น

Millennials หรือ Gen Y โตมาในยุคที่การถือครองทรัพย์สินระยะยาวและระบบเศรษฐกิจแบบเก่าล่มสลายเกิดวิกฤตการณ์มาหลายครั้งในช่วงคาบเกี่ยวสหัสวรรษใหม่ ทั้งต้มยำกุ้ง และแฮมเบอร์เกอร์ โดยเฉพาะ Baby Boomers จำนวนไม่น้อยที่ว่าพยายามอดทนเพื่อจะมีความสุขใน ‘สักวันหนึ่งข้างหน้า’ ต้องเผชิญความสูญเสียเมื่อวิกฤติมาเยือน ทำให้คนรุ่นหลังมองว่า การเก็บเงินไว้ใช้ในยามชราหลังเกษียณเหมือนที่ถูกสั่งสอนมาก็ไม่ใช่วิธีที่ได้ผลกับการอยู่บนโลกใบนี้เสมอไป 

ดังนั้น ถ้ามองในด้านเงินทอง พวกเขาไม่ได้อับจนปัญญาหารายได้ขนาดนั้น แต่วิธีคิดแบบเก่าๆ ที่แสดงให้เห็นแล้วว่า ‘ล้มเหลว’ ทำให้ Gen Y เลือกใช้ชีวิตอีกทาง เพราะคิดถึงอนาคตไปก็เท่านั้น

อีกประการณ์หนึ่ง แน่นอนว่าความเหลื่อมล้ำในหลายทางยังมีอยู่ มีชนชั้นกลางที่ดิ้นรน กับผู้อยู่ใต้เส้นความยากจนที่พยายามอยู่รอด แต่ความได้เปรียบเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนหน้าคือ ชาว Gen Y มีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง ความคล้ายคลึงกันในหลายประเทศคือ คนรุ่นนี้มีหนี้กู้ยืมด้านการศึกษาไม่น้อย และเนื่องจากพวกเขากำลังกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ในตลาดแรงงาน การแข่งขันจึงสูง โอกาสได้งานต่ำ รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาหรือยื่นมือเข้าช่วยเหลือได้ทั่วถึง ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การชุมนุมในหลายพื้นที่ทั่วโลกเริ่มต้นจากเรื่องแบบนี้

และนี่คือวิกฤติที่ Gen Y มองเห็นแล้ว อนาคตที่มืดมน 

ช่างแม่ง จ่ายๆ ไปเถอะ

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เกิดคำศัพท์ใหม่ที่สะท้อนพฤติกรรมการใช้เงินของคนหนุ่มสาวในประเทศเกาหลีใต้ที่หลายคนตัดสินใจเลือกใช้เงินแทนการเก็บออม นั่นคือ Shibal Biyong (시발비용) ออกเสียงว่า (ชิบัล-บิยง) มีความหมายว่า ‘fuck-it expense’ แปลเป็นสำนวนไทยเฟี้ยวๆ ได้ว่า “ช่างแม่ง จ่ายๆ ไปเถอะ”

การอดออม อดทน ประหยัด รอบคอบการใช้จ่าย เป็นคุณลักษณะของคนรุ่น Baby Boomers พฤติกรรมเช่นนี้ย่อมถูกหล่อหลอมมาจากบริบททางสังคมอีกแบบ Baby Boomers คือคนรุ่นที่เกิดหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงกลางทศวรรษที่ 1970s พวกเขาอยู่ในยุคสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างประเทศด้วยการเพิ่มจำนวนประชากร ปากกัดตีนถีบเพื่อชีวิตที่ดีใน ‘สักวันหนึ่งข้างหน้า’ 

ถัดมา คาบเกี่ยวถึงคน Gen X ที่ต้องเจอกับคำว่า ‘dream’ ต่างๆ มีรถ มีบ้าน มีครอบครัวอบอุ่น คือความฝันระดับสามัญที่ใครๆ ต้องไปให้ถึง เป็นเครื่องบ่งบอกความมั่นคงที่ลดรูปลงมาจาก Baby Boomers และเมื่อมันดูเป็นเรื่องฝันๆ ที่คนเริ่มถูกฉุดกระชากลากถูกเข้าสู่โลกบริโภคนิยมแบบเต็มตัว เป็นที่มาของประโยคประชดประชันที่ว่า คนเรามักทำงานที่ตัวเองไม่ชอบ เพื่อหาเงินไปซื้อสิ่งที่ตัวเองก็ไม่รู้ว่าต้องการมันจริงๆ หรือเปล่า

แล้วบริบทแบบไหนหล่อหลอมให้เกิดพฤติกรรมแบบ Shibal Biyong

บทความ ‘Why Young Koreans Love to Splurge Shibal Biyong Millennial Fuck it Expense’ อธิบายว่า ถึงที่สุดแล้วนี่คือเรื่องความเหลื่อมล้ำและความสิ้นหวังทางเศรษฐกิจของคนรุ่นใหม่ในสังคมเกาหลี จนทำให้คนเจเนอเรชั่นหนึ่งมีพฤติกรรมและทัศนคติกับชีวิตเช่นนี้

46 เปอร์เซ็นต์ของวัยรุ่นเกาหลีใต้คิดว่าการซื้อบ้านเป็นของตัวเองจะต้องใช้เวลาเก็บเงินมากกว่า 20 ปีหรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย พวกเขาต้องอยู่ในสภาพสังคมที่มีแต่ความกดดัน องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ระบุว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง แถมยังมีช่องว่างทางรายได้ที่กว้างเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งคาดว่าภายในปี 2020 คนหนุ่มสาวในเกาหลีใต้จะมีพฤติกรรม Shibal Biyong จนแซงการจับจ่ายของคนยุคก่อนหน้า

“จ่ายๆ แม่งไปเถอะ” “ซื้อไป เดี๋ยวก็ตายแล้ว” “ซื้อเสื้อผ้าหรูๆ ไปเถอะ ยังไงก็เก็บเงินไม่พอซื้อบ้าน” “กินอาหารแพงไปเถอะ ยังไงก็เก็บเงินไม่ทันวัยเกษียณ” มันคืออาการของคนที่ต้องการแสดงความอยากเป็นเจ้าของ พวกเขาอยากควบคุมความสุขให้เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนนี้ ไม่อยาก ‘อดเปรี้ยวไว้กินหวาน’ หรือ ‘ลำบากวันนี้สบายวันหน้า’ เช่นคติของคนรุ่นก่อน เหนื่อยไม่ไหวแล้วกับการวิ่งอยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยเหลื่อมล้ำ ต่อให้ออมมากเท่าไร คุณภาพชีวิตของตัวเองก็ไม่ได้ดีขึ้นไปกว่านี้

Shibal Biyong จึงแปรผัน กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เป็นความสุขที่กินได้เลย ไม่ต้องรอ เพราะอย่างไรเสีย การกินอาหารแพงสักมื้อ นั่งแท็กซี่จากออฟฟิศกลับบ้านบ้างในวันที่เหนื่อย ก็ไม่อาจเสกบ้าน เสกรถ เสกที่ดิน เสกเก็บเงินให้ทันวัยเกษียณให้เติบโตอย่างรวดเร็วเหมือนใจหวัง

พฤติกรรมเหล่านี้อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในเกาหลีใต้ Millennials ทั่วโลกก็ตกอยู่ในภาวะนี้เช่นกัน นอกจากความต้องการความพึงพอใจเร่งด่วนแบบ instant gratification การหมดหวังกับอนาคตอันมืดมนก็เป็นปัจจัยสำคัญ จนในสหรัฐอเมริกาเกิดวลี “treat yo’ self.” ที่หมายถึงการใช้จ่ายเพื่อให้รางวัลกับตัวเอง

ของมันต้องมี

รายงานผลการศึกษาพฤติกรรมการเงินจากข้อมูลโซเชียลมีเดียของคนกลุ่ม Gen Y คือ กลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 23-38 ปี จากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB พบว่า คนส่วนใหญ่ฝันอยากมีบ้านและรถยนต์เป็นของตัวเองก่อนอายุ 40 ปี

กว่า 48 เปอร์เซ็นต์อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง ขณะที่ความฝันรองลงมาคือการครอบครองรถยนต์ในสัดส่วน 22 เปอร์เซ็นต์ และมีการออมทรัพย์ในอันดับที่ 3 ที่ 13 เปอร์เซ็นต์

แต่ตัวเลข 48 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นความฝันในการซื้อบ้านสามารถทำได้จริงเพียง 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่ความจริงของการครอบครองรถก็อยู่ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ และน้อยลงไปอีกในการมีเงินออมที่ 9 เปอร์เซ็นต์

ในคนกลุ่มอายุระหว่าง 23-38 ปี หรือกลุ่ม Gen Y ที่มีจำนวน 14.4 ล้านคนพบว่าแต่ละปีมีการใช้เงินกว่า 1.37 ล้านล้านบาท โดยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของชาว Gen Y (ราว 7.2 ล้านคน) ทั้งหมดเป็นหนี้และเฉลี่ยภาระหนี้ต่อหัวสูงถึง 4.23 แสนบาท ด้วยเหตุผลเดียวคือ ‘ของมันต้องมี’

6 อันดับแรก ‘ของมันต้องมี’ ของ Gen Y ได้แก่

  1. โทรศัพท์ (22%) ในราคาเฉลี่ย 23,574 บาท
  2. เสื้อผ้า (11%) ในราคาเฉลี่ย 13,719 บาท
  3. เครื่องสำอาง (8%) ในราคาเฉลี่ย 11,934 บาท
  4. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (5%) ในราคาเฉลี่ย 16,486 บาท
  5. กระเป๋า (4%) ในราคาเฉลี่ย 15,466 บาท
  6. นาฬิกา/เครื่องประดับ (2%) ในราคาเฉลี่ย 14,324 บาท

ผลสำรวจยังพบว่า คน Gen Y ส่วนใหญ่ซื้อสินค้าเหล่านั้น เพราะกลัวตกกระแส 42 เปอร์เซ็นต์ มากกว่ามองว่าเป็นของจำเป็น 37 เปอร์เซ็นต์ แถมเงินที่ใช้ซื้อ มาจากการกู้ธนาคาร โดยใช้บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด ซึ่งมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ของ Gen Y ผ่อนชำระสินค้าและบริการ แบบเสียดอกเบี้ย

ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า คน Gen Y มีการกู้เงิน 7.2 ล้านคน คิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากร Gen Y มีภาระหนี้เฉลี่ยคนละ 432,000 บาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้เสีย 1.4 ล้านคน เป็นหนี้เสีย 7.1 เปอร์เซ็นต์ ของสินเชื่อทั้งหมดที่มีการผิดนัดชำระ

ทั้งนี้ หากเจาะลึกพฤติกรรมการเงิน และทัศนคติของ Gen Y พบว่า คน Gen Y มากกว่า 6.8 ล้านคน ให้ความสำคัญกับ การใช้จ่าย ‘ของมันต้องมี’ มากกว่า ‘เงินเก็บ’ เพราะทันทีที่เงินเดือนออก คน Gen Y 60 เปอร์เซ็นต์ นำไปชำระหนี้และ ‘ช็อปปิ้ง’ ก่อนเก็บออม อีกทั้งยังเก็บเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์ในสัดส่วนที่สูงซึ่งตรงข้ามกับคน Gen Y ที่มีพฤติกรรม ‘ของมันต้องมี’ แต่เก็บเงินได้ มักวางแผนการเงิน ผ่านบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูง ลงทุนในหุ้น หรือ ตราสารเงินอื่นๆ

แม้พฤติกรรมระหว่าง Shibal Biyong กับ ของมันต้องมีจะไม่ต่างกัน พวกเขาเติมเต็มความสุขระยะสั้นมากกว่าจะสร้างฝันระยะยาว แต่คำอธิบายของพฤติกรรมนี้ก็ถูกมองจากคนละมุม

คิดซะว่าเช่าเขาอยู่  

พิธีกรรมเปลี่ยนผ่านความเป็นผู้ใหญ่ในโลกสมัยใหม่ เริ่มต้นด้วยการผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ลงหลักปักฐานด้วยการแต่งงาน นี่คือความมั่นคงในชีวิต ไม่กี่ปีที่ผ่านเราจะเห็นเทรนด์การใช้ชีวิตของคนหนุ่มสาวทั่วโลกที่เปลี่ยนไป พวกเขาไม่ซื้อรถ ไม่ซื้อบ้าน และไม่แต่งงาน

สิ่งเหล่านี้คือ ‘ความฝัน’ ของคนรุ่นก่อน แต่สำหรับ Gen Y มันคือ ‘ภาระ’ ล้วนๆ 

ประธาน Toyota USA อย่าง จิม เลนต์ซ (Jim Lentz) ต้องออกมาพูดเมื่อปีที่แล้วว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ในอเมริกานั้นท่าจะแย่ เพราะกำลังเผชิญหน้ากับการที่คนรุ่นใหม่ไม่สนใจรถยนต์มากเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว และเป็นเทรนด์ใหม่ที่แม้ไม่ได้ถล่มทลายลงทันที แต่แนวโน้มเป็นอย่างนี้ต่อไปไม่หยุดยั้ง

แนวโน้มของคนรุ่นใหม่ที่จะต้องแต่งงานก็ลดน้อยลงด้วย พวกเขาอยู่เป็นโสดกันนานขึ้น ถึงจะอยู่ด้วยกันหรือแต่งงานกัน แต่พวกเขาก็เปลี่ยน ‘วิธีคิด’ จากที่เดิมจะต้องเตรียมตัวมีลูกเยอะๆ จึงต้องซื้อ ‘บ้าน’ เอาไว้ในย่านชานเมือง กลายมาเป็นการซื้ออพาร์ตเมนต์ขนาดย่อมๆ พออยู่กันแค่สองคน

สปันดัน ชาร์มา (Spandan Sharma) เป็นหนุ่มชาวอินเดียรุ่น Millennials วัย 29 ปี เขาไม่ได้เป็นเจ้าของห้องคอนโด รถยนต์ หรือแม้กระทั่งเก้าอี้นั่งสักตัวด้วยซ้ำ เขาคือหนึ่งในคน Gen Y จำนวนมากขึ้นทุกทีซึ่งกำลังต่อต้านมาตรฐานปกติที่เคยยึดถือกันมาแต่เดิม โดยแทนที่จะซื้อหามาเป็นเจ้าของ พวกเขากลับนิยมเลือกที่จะเช่าทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่เครื่องเฟอร์นิเจอร์ไปจนถึงไอโฟน

ด้วยเงินค่าเช่าจำนวน 4,247 รูปี (ราว 1,800 บาท) ต่อเดือน ผู้บริหารซึ่งตั้งฐานอยู่ในเมืองมุมไบรายนี้ได้เฟอร์นิเจอร์มาประดับตกแต่งที่พำนักของเขาทั้งชุด ตั้งแต่ห้องนอน ห้องนั่งเล่น และพื้นที่รับประทานอาหาร ไปจนถึงตู้เย็นและเตาไมโครเวฟ

ชาร์มาไม่ได้ใช้ชีวิตเช่นนี้อยู่เพียงคนเดียว หนุ่มสาวอินเดียนับแสนๆ ทีเดียวกำลังเปลี่ยนจากการซื้อมาเป็นการเช่า เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตแบบที่มีข้อผูกพันมัดตรึงลดน้อยลง

ในอินเดีย ความนิยมที่เพิ่มสูงทำให้เกิดธุรกิจให้เช่าเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์รายใหม่ๆ ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา เป็นต้นว่า Furlenco, RentoMojo และ GrabOnRent – และแม้กระทั่งพวกแอพพลิเคชั่นให้เช่าเครื่องเพชรเครื่องอัญมณี

เฉพาะตลาดให้เช่าเครื่องเฟอร์นิเจอร์ของอินเดียอย่างเดียวเท่านั้น เป็นที่คาดหมายกันว่าจะมีมูลค่าสูงไปถึงระดับ 1,890 ล้านดอลลาร์ได้ภายในปี 2025 ทั้งนี้ตามรายงานของบริษัทที่ปรึกษา รีเสิร์ชเนสเตอร์  

พฤติกรรมของลูกค้าโดยภาพรวมกำลังเปลี่ยนแปลงไปจากการเป็นเจ้าของมาเป็นการเช่า โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่น Millennials เนื่องจากความยืดหยุ่นและการไม่ต้องมีภาระผูกพันซึ่งระบบนี้เสนอให้

ความแตกต่างเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนแต่ละรุ่นที่เติบโตมาในบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน คนรุ่น Gen Y ไม่คิดเรื่องเพิ่มจำนวนประชากร นั่นอาจทำให้มุมมองต่ออนาคตไม่เหมือน Baby Boomers เพราะความมั่นคงเพื่อประชากรรุ่นลูกหลานไม่ใช่สิ่งพึงคาดหวัง

และเช่นเดียวกัน ถ้าบอกว่า Gen X เป็นผู้ใหญ่ที่ครั้งหนึ่งเคยไล่ตามความฝัน มีบ้าน รถ มีครอบครัวที่อบอุ่น Gen Y เกิดในยุคที่บ้านและรถคือภาระแสนหนัก งานหายาก หนี้สินเพิ่ม ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจถูกถ่างมากขึ้น เป็นเรื่องสมเหตุสมผลมากว่า ถ้ามันจะเป็นภาระที่หนักหนา เราก็จำต้องปล่อยวางเพื่อความอยู่รอด 

สำหรับ Millennials หรือ Gen Y ความรุ่มรวยทางวัตถุอาจถูกมองว่าไม่ใช่เรื่องหรูหราฟุ่มเฟือย แต่เป็นความปกติของยุคสมัย เป็นความจำเป็นที่ไม่รู้จะปล่อยช่วงเวลาแห่งการกอบโกยความพึงพอใจให้เปล่าดายไปทำไม 

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ‘ความสุขวันนี้’ ของชาว Gen Y จึงดูสมเหตุสมผลและมีความชอบธรรมมากขึ้น

อ้างอิงข้อมูลจาก:

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

Illustrator

เสฎฐวุฒิ โกมารกุล ณ นคร
บีชบอยจากบางแสนผู้ใช้เวลาว่างไปกับการการเสพดราม่าของประเทศไทย บางครั้งถ้าสิ่งที่เสพเข้าไปเป็นพิษ ก็จะขับถ่ายมันออกมาเป็นงานศิลปะและการ์ตูนแนวเสียดสีสังคม ภายใต้ชื่อ Sukhumvit Dangerous :): ติดตาม Dangerous Comics ได้ที่ WAY

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า