พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร: ประเทศนี้ยังมี ‘แพะ’ ในกระบวนการยุติธรรม

‘เราเห็นอะไรในกระบวนการยุติธรรม?’ คือหนึ่งในหัวข้อพูดคุยภายในงานเสวนา ‘ประเทศเหลื่อมล้ำ ความยุติธรรมชำรุด’ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเชิญ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร คอลัมนิสต์ ผู้เขียนหนังสือ ‘วิกฤติตำรวจและงานสอบสวน จุดดับกระบวนการยุติธรรม’ มาร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะ ผ่านมุมมองของอดีตนายตำรวจผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงสีกากีมายาวนาน

‘ประเทศเหลื่อมล้ำ ความยุติธรรมชำรุด’ ในทัศนะผมคิดว่าไม่น่าจะถูก ความยุติธรรมไม่ได้ชำรุดหรอกครับ เพราะชำรุดหมายถึงว่า ถ้าเราซ่อมแล้วก็กลับไปใช้ได้เหมือนเดิม แต่ในทัศนะผม ผมคิดว่ามันวิบัติครับ มันผิดหมดเลย แล้วสร้างความเสียหายมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ใครก็รู้ว่าประเทศเรามีผู้กระทำผิดที่ไม่ถูกลงโทษเยอะแยะ แล้วต้องวงเล็บด้วยว่า ผู้กระทำผิดนี่คือคนรวย มีอำนาจ ไม่ถูกลงโทษ ส่วนผู้บริสุทธิ์หรือผู้ที่ไม่ได้ทำผิดก็คือคนจน และถูกดำเนินคดีมากมาย

ถ้าไปถึงศาล คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าศาลเป็นกระบวนการยุติธรรมขั้นสุดท้ายที่เป็นหลักประกันของความยุติธรรมว่าผู้บริสุทธิ์จะไม่ถูกลงโทษ ซึ่งก็ไม่แน่นอน โดยเฉพาะระยะหลัง มี ‘แพะ’ ตั้งแต่ศาลชั้นต้น อุทรณ์ กระทั่งฎีกา แม้คดีถึงที่สุดแล้วก็ยังมีคนบอกว่าเป็นแพะอีกนับร้อยๆ คดี มีคนยื่นขอรื้อฟื้นคดีอาญาให้ทำใหม่เกือบ 200 ราย ยังไม่มีใครทำสำเร็จหมด แต่มีความพยายาม

นี่คือปรากฏการณ์ของปัญหาความเหลื่อมล้ำ เป็นความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ซึ่งเราก็รู้ว่ามีมากมายเหลือเกิน โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ เราเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดีย รัสเซีย อันเป็นผลมากจากโครงสร้างสังคม

ความเหลื่อมล้ำในมิติทางเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังเป็นอยู่นี้ ไม่สามารถโทษใครได้ ต้องเปลี่ยนโครงสร้างสังคมให้กระจายการครอบครองทรัพยากรอย่างทั่วถึง และให้โอกาสในการทำมาหากินของผู้คนดีกว่านี้

อย่างไรก็ตาม ในมิติทางกฎหมายไม่ควรจะมีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น เพราะในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ‘บุคคลเสมอภาคกันโดยกฎหมาย’ นี่คืออุดมคติของรัฐธรรมนูญ

ก่อนจะมีรัฐธรรมนูญ เรายอมรับกันว่ามีความไม่เท่าเทียมทางกฎหมาย พอมีรัฐธรรมนูญแล้วบอกว่า ‘ทุกคนเสมอภาคกันโดยกฎหมาย’ แต่ก็มีคำพูดที่ว่า ‘อัธยาศัยไมตรีมีไม่ถึงประชา อาญาไม่ถึงคนชั้นสูง’ ซึ่งเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่โบราณแล้ว จนมาถึงยุคหลังเราก็ยังได้ยินคำว่า ‘คุกมีไว้ขังคนจน’

แนวโน้มข้างหน้าย่อมจะเป็นอย่างนั้นต่อไป ไม่ว่าจะเป็นคดีลักวิ่งชิงปล้น ยาเสพติด ซึ่งเป็นอาชญากรรมของคนจน ขณะเดียวกัน เรามีข้าราชการทุจริตมากมาย แต่มีข้าราชการทุจริตติดคุกสักกี่คน

กระบวนการยุติธรรมในประเทศเรา ต่อให้ปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมายก็ยังมีความเสียหายเกิดขึ้นมากมาย จะเห็นว่าเวลามีคนได้รับความเดือดร้อนขึ้นมาจนเป็นข่าวออกสื่อ หากไปไล่เรียงดู ทุกฝ่ายปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วนตามกฎหมายหมดเลย ตั้งแต่ตำรวจ พนักงานสอบสวน อัยการ ศาลชั้นต้น อุทธรณ์ ฎีกา ทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่า ฉันก็ทำหน้าที่ของฉันดีที่สุดแล้ว แต่ทำไมถึงเกิดปัญหาได้ ทุกคนทำหน้าที่ครบถ้วนสมบูรณ์ มีพยานหลักฐานพร้อม แต่ก็ยังสร้างความเดือดร้อนแสนสาหัสแก่ประชาชนได้

ความแม่นตรงของกระบวนการยุติธรรมก็เป็นปัญหาด้วยเช่นกัน เพราะอะไร?

กระบวนการยุติธรรมของเรามีปัญหาสำคัญที่สุดคือในชั้นสอบสวน ในชั้นเจ้าพนักงานตำรวจ เพราะความจริงตำรวจมีไว้เพื่อตรวจตราป้องกันอาชญากรรม ตำรวจไม่ได้มีบทบาทสอบสวนโดยแท้ แต่ประเทศเรา บทบาทในการสอบสวนกลับเป็นของตำรวจซึ่งเป็นผู้ป้องกันอาชญากรรม

เมื่อตำรวจจับใครมาแล้ว ท่านไม่มีทางรอด ผิดไม่ผิดไม่รู้ จะต้องดำน้ำลุยไฟไปให้ผิดให้ได้ ผู้เสียหายก็ไปหวังพึ่งอัยการว่าจะให้ความยุติธรรมได้ ซึ่งในข้อเท็จจริงเป็นไปไม่ได้ อัยการท่านไม่เห็นอะไร ท่านก็สั่งฟ้องคดี ให้ความเป็นธรรมไปตามนิยายการสอบสวน บางทีก็เป็นนวนิยาย จากนั้นอัยการก็โยนไปว่ากันที่ชั้นศาล

การจับกุมเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ การจับผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า ซึ่งบางครั้งอาจมีความคลาดเคลื่อนอยู่ในชั้นจับกุม บางครั้งการจับกุมถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมาย ถูกต้องตามพยานหลักฐาน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ประเทศเรามีปัญหาว่า จับแล้วปล่อยไม่ได้ แจ้งข้อหาแล้วถอยไม่ได้

ตัวอย่างง่ายๆ คดีแก๊ง call center มีคนมาขอความช่วยเหลือ แต่กลับถูกจับ ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดใดๆ เลย อยู่ดีๆ ก็มีตำรวจเอาหมายจับไปจับที่บ้าน ด้วยข้อกล่าวหาว่าเอาบัตรประชาชนไปเปิดเบอร์โทรศัพท์มือถือให้แก๊ง call center จากกรุงเทพฯ เดินทางไปที่กระบี่ ถูกจับตอนตี 2 ญาติพี่น้องก็ตกใจ ถูกจับเรื่องอะไร

ทีแรกก็ไม่มีใครรู้ เพราะหมายจับของศาลคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หมายจับของศาลต้องผ่านการกลั่นกรองมาดีแล้ว แต่พอตรวจสอบไปตรวจสอบมา ปรากฏว่ามีคนอื่นเอาเลขบัตรประชาชนไปใช้ โดยที่ไม่มีบัตรด้วย แล้วนำไปเปิดใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือ ซึ่งโทรศัพท์เครื่องนี้ถูกเอาไปใช้โดยแก๊ง call center

เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเลขบัตรประจำตัวเป็นของผู้หญิงคนนี้ ตำรวจจึงขอให้ศาลออกหมายจับ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักพักหนึ่งตำรวจรู้ว่าไม่ใช่แล้ว ก็บอกให้เงียบๆ ไว้ เดี๋ยวจะบอกอัยการสั่งไม่ฟ้องให้ แล้วจบๆ กันไป ผมก็บอกไปว่าอย่ายอม แต่เขาก็บอกว่า ถ้าเขาสู้ต่อ ตำรวจอาจจะกลั่นแกล้งได้ หรืออัยการอาจจะสั่งฟ้องได้ จะมั่นใจได้อย่างไรว่าอัยการจะไม่ฟ้อง

ในกระบวนการยุติธรรมโดยปกติจะมีกระบวนการเยียวยา ถ้าติดคุกโดยที่ไม่ผิดจะจ่ายชดเชยให้วันละ 300 นี่ถูกควบคุมตัว 2 วัน ได้ 600 บาท เมื่อมีความเสียหายแบบนี้เกิดขึ้นแล้วก็เอาสตางค์ไป

มือปืนป๊อปคอร์นถูกจำคุกสามปี ตอนนี้ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องแล้ว รอฎีกา คดีที่ยกฟ้องเหล่านี้หลายคนอาจมองว่าเป็นความยุติธรรม แต่จริงๆ เป็นความอยุติธรรม คดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือคดีที่ศาลยกฟ้อง ถือเป็นความอยุติธรรมทั้งสิ้น

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหากับใครสักคน ถ้าไม่มั่นใจว่ามีหลักฐานที่จะลงโทษเขาได้ แล้วไปแจ้งข้อหาเขาทำไม ถามว่าไม่มีทางเลือกอื่นในการแจ้งข้อหาหรือ มี แล้วทำไมเราไม่ใช้ทางเลือกนั้น

มีคนถูกออกหมายจับโดยไม่รู้ตัวเยอะแยะมากมายในประเทศไทย เพราะกระบวนการนี้ไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองของใครนอกจากตำรวจ ทำให้เกิดปัญหาเช่นนี้ จับมาแล้วก็ต้องเดินหน้า ทำสำนวนส่งให้อัยการ เพราะถือว่ามีพยานหลักฐานในชั้นสอบสวนที่น่าเชื่อว่ากระทำความผิด โดยเฉพาะขั้นตอนการรวบรวมหลักฐานในชั้นพยานบุคคลนี่อันตรายที่สุด คุณจะให้พยานพูดอย่างไรก็ได้ พูดไปเถอะ ผมจะเขียนสรุปสำนวนคดีของผมอย่างนี้ พูดไปเถอะ

พยานบุคคลไม่เหมือนพยานเอกสาร พยานวิทยาศาสตร์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่พยานบุคคล ถ้าไปสอบสวนตอนที่เขายังโกรธอยู่ เขาก็พูดใหญ่เลย แต่ถ้ารอให้อารมณ์ดีก่อนแล้วค่อยพูดคุย หนักอาจเป็นเบา ทุเลาเป็นหาย พยานบุคคลจึงอันตรายมาก ทำอย่างไรเราจะควบคุมพยานบุคคลได้ ใครบอกว่าคดีอาญาจะต้องมีพยานหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ ใช่โดยหลักการ แต่ก็ไม่เสมอไป ถึงอย่างไรก็ต้องอาศัยพยานบุคคล

ผมทำคดียังเสียใจเลย บางคดีเราทำไปถึงชั้นศาล เรายืนยันนู่นนี่ แต่พอเราย้ายออก ลองกลับไปเช็คดู ที่บอกว่าแน่ใจ อ้าว กลายเป็นไม่แน่ใจไปเสียแล้ว จากแน่ใจ เห็นชัดเจน จำได้ กลายเป็นคลับคล้ายคลับคลาอะไรอย่างนี้ เรียกมาสอบใหม่ ฉีกทิ้งทำใหม่กัน 32 ครั้ง คำให้การพยานน่ะ เอาจนถูกใจ เอาจนบรรลุเป้า พอถึงมืออัยการ อัยการเองก็ไม่มั่นใจว่าคนนี้กระทำผิด แต่ก็ยังสั่งฟ้อง ถามว่าประเทศเราควรจะเป็นอย่างนี้ไหม


หมายเหตุ: เรียบเรียงเนื้อหาจากงานเสวนา ‘WAY dialogue: ประเทศเหลื่อมล้ำ ความยุติธรรมชำรุด’ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561 จัดโดย WAY ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า