WAY to READ: ‘ปรัชญาเกรียน’ บทสัมภาษณ์ว่าด้วยตัวตน สมบัติ บุญงามอนงค์

 

…ผมเรียกว่าความกระหาย ละโมบทำความดี คือถ้าพูดในบริบทที่ผมทำงานภาคประชาชนนั้นอิงอยู่กับระบบอุปถัมภ์ไหม ผมไม่เห็นจนมาเกิดพรรคการเมือง เราจึงเห็นว่าระบบอุปถัมภ์ในแวดวงเอ็นจีโอ เรามีอำมาตย์ในแวดวงเอ็นจีโอ ช่วงปี 2549-2550…

ก่อนภาพจำอันคุ้นเคยในวันถูกจับฐานขัดคำสั่งให้เข้ารายงานตัวตามประกาศ คสช. สมบัติ บุญงามอนงค์ ถูกรู้จักในสองสถานะ คือเอ็นจีโอผู้มีส่วนก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา และนักกิจกรรมการเมืองที่สวมเสื้อ (สีแดง)

ซึ่งทั้งสองส่วนต่างเป็นตัวตนของชายที่มีชื่อเล่นว่า ‘หนูหริ่ง’ หาได้มีสวนหนึ่งส่วนใดโดดเด่นกว่าอีกส่วน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพจำหนึ่งที่สมบัติได้สร้างให้กลายเป็นภาพจำ คือการเป็นตัวป่วนก่อกวนอำนาจรัฐ เล่นเอาเถิดเจ้าล่อกับอำนาจของ คสช. ภายใต้วาทกรรมของการเหมารวมว่าสมบัติเป็นพวก ‘เสื้อแดง’ คนหนึ่ง ซึ่งนิยามความหมายไม่ใช่ประเด็นที่จะหยิบมาพูดในที่นี้ ประเด็นของความเป็นตัวป่วนต่างหากที่อยากจะนำมาคลี่ผ่านบทสัมภาษณ์โดย ธิติ มีแต้ม ออกมาเป็นแก่นรวมความคิดภายใต้สิ่งที่เรียกว่า ‘ปรัชญาเกรียน’ สมบัติ บุญงามอนงค์

สมบัติกล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ว่า เอ็นจีโอไทยใช้เวลาอยู่นานมากในการสร้างสิทธิชุมชนซึ่งขัดแย้งกับสไตล์ของพรรคไทยรักไทย มองให้ชัดกว่านั้น ขณะที่ไทยรักไทยต้องการพาชุมชนไปให้ไกลกว่าภาพจำที่เราคุ้นเคย เอ็นจีโอไทยกลับต้องการคงสภาพความเป็นชุมชนโดยไม่มีผลกระทบจากโลกาภิวัฒน์เข้ามาเปลี่ยนแปลงกลายเป็นกำแพงของคำว่า small is buautiful ที่จำกัดตัวเองในวงเล็กๆ เพื่อป้องกันความเจ็บปวด และต้องการ keep ชุมชนให้ปลอดจากการแทรกแซงทั้งจากอำนาจรัฐและเอกชน

อำนาจสูงสุดไม่ได้เป็นของประชาชน

ในบทสัมภาษณ์ต่อ ธิติ มีแต้ม สมบัติกล่าวตอบที่ธิติตั้งคำถาว่า เอ็นจีโอไทยไม่ได้มองว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งสมบัติไม่ได้มองว่าเอ็นจีโอไทยเป็นเช่นนั้น แต่มองในเชิงของอาการ ‘อกหัก’ เสียมากกว่า จึงกลับไปหาพื้นที่ปลอดภัยด้วยการชะลอการเปลี่ยนแปลงจากโลกาภิวัฒน์ไว้ที่หมู่บ้าน

…ส่วนตัวผมก็มองว่ามันมีความงดงามนะ ผมเคยอินมากกับลัทธิชุมชนนิยม พอวันหนึ่งทักษิณเกิดขึ้น รัฐบาลจัดตั้งชาวบ้านซ้อนเอ็นจีโอ กองทุนหมู่บ้าน SML SME OTOP ทั้งนั้นเลย ชุมชนเอาไม่อยู่ ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้จากนโยบายรัฐ…

– หน้า 51

ด้วยความที่เอ็นจีโอถูกทำลายฐานที่มั่นไปจากนโยบายรัฐภายใต้รัฐบาลพรรคไทยรักไทย เครือข่ายเอ็นจีโอในห้วงเวลาแรกที่เคยคิดว่าอาจจะพึ่งพิงทักษิณได้ก็กลับกลายเป็นแตกหัก มุ่งไปสู่การระดม ‘พันธมิตร’ ขึ้นมาเพื่อโค่นล้ม กระทั่งกลายเป็น ‘ผีทักษิณ’ ที่หลอกหลอนสังคมมาอย่างยาวนานนับสิบปี โดยสมบัติมองว่าทั้งเอ็นจีโอและทักษิณต่างมีเป้าหมายเหมือนกัน แต่แตกต่างที่วิธีการ

และวิธีในการมองโลกเช่นนี้ของสมบัตินี่เองที่กลายเป็น ‘ปรัชญา’ อันน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นมุมต่อเอ็นจีโอที่ตนเคยเป็นส่วนหนึ่ง

…ความขัดแย้งระหว่างนโยบายของไทยรักไทยกับแนวคิดของเอ็นจีโอมันก็เป็นความพยายามตีโจทย์เดียวกันทั้งคู่ เพียงแต่มันมาคนละวิธีการ…

– หน้า 53

หรือทัศนะต่ออำนาจของ คสช. และต้นไม้ที่ชื่อประชาธิปไตย สำคัญคืออยู่ที่ดินนั้นดีหรือเน่าเสีย

…มันไม่ใช่แค่เรื่อง คสช. อยู่ไม่อยู่ ซึ่งผมโอเคถ้าคุณมองออกว่า คสช.เป็นปัญหา แต่ถ้าเมื่อไหร่คุณเข้าใจว่าการปลูกต้นไม้แล้วมัวแต่ดูว่ากิ่งก้านมันจะเป็นอย่างไร แต่ไม่ดูดินเลย แบบนี้อาขไปไม่รอด แล้วมันจะดูดอะไรขึ้นเป็นเลี้ยงต้นเลี้ยงใบ ก็ต้องกลับมาที่ฐานราก ถ้าดินคุณดีนะ ไอ้ใบหงิกใบงอมันฟื้นตัวได้ แต่ถ้าดินเสีย หรือมีแบคทีเรียเข้าไปกัดรากเมื่อไหร่นะ เน่าตาย…

– หน้า 53

ผมไม่ใช่วีรบุรษ

ไม่เพียงแต่ปรัชญาในส่วนของการมองปรากฏการณ์ทางการเมือง สิ่งที่น่าสนใจในหนังสือเล่มบางๆ นี้ยังวางอยู่บนพื้นฐานความคิดที่สำคัญ (อย่างน้อยก็สำหรับผู้เขียน) ประการหนึ่ง นั่นคือไม่พยายามแสดงภาพความเป็นนักต่อสู้ที่ยอมหักไม่ยอมงอของตัวสมบัติเองผ่านบทสัมภาษณ์ที่เขาได้บอกว่า

…เอาเข้าจริงผมสรุปตัวเองได้ว่าผมไม่ใช่พวกประเภทสู้ยิบตานะ ผมประนีประนอมมากคนหนึ่ง คนอาจจะคิดว่าผมสู้ไม่ถอย แต่จริงๆ ผมไม่ใช่วีรบุรุษ ไอดอลผมคืออุ้ยเสี่ยวป้อ…

– หน้า 68

ความหลากหลายที่ถูกต้อน

หลังจากได้รับการปล่อยตัว ก้าวสำคัญที่สมบัติพาตัวเองเข้าไปจนกลายเป็นคำที่ปรากฏในบทสัมภาษณ์คือ “ผมรู้ว่าผมถูกต้อนเข้ามุมของตัวเอง”…มุมที่สมบัติกล่าวถึงนั้น คือ ‘ความหลากหลาย’

ความหลากหลายที่สมบัติเลือกสวมเสื้อสีแดงให้กับตัวเองจนกลายเป็นสิ่งที่สมบัติได้ข้อคิดส่วนหนึ่งของคำว่าเพื่อนหายไป ขณะเดียวกัน การพาตัวเองเข้าไปเรียนในหลักสูตรที่สกาบันพระปกเกล้าฯ ได้เจอกับทหารที่อีกฟาก ฝั่งของสีเสื้อ และได้รู้ว่าบนความต่างชนิดด่ากันแหลกบนพื้นที่เสมือนนั้น บนพื้นที่จริงมันมีพื้นที่ของความสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนกันอยู่ ไม่ให้แตกหักพังทลายไป

…ตอนนี้เราวนอยู่ในอ่าง วนอยู่ในวิกฤต ไม่ไปไหนสักที แต่ผมอาจจะโลกสวยนะ ผมมองว่าเหลืองสร้างแดง แดงสร้างสลิ่ม เราเป็นผลผลิตของกันและกัน  เราผลิตศัตรู ถ้าผมเป็นมนุษย์ต่างดาว ผมคงบอกคนพวกนี้แม่งสมรู้ร่วมคิดกัน ดังนั้นเราต้องไม่ผลิตศัตรู ตีวงให้แคบลง สร้างแนวร่วมไว้ การสร้างศัตรูไว้มหาศาลมันไม่คุ้ม…

– หน้า 92


ปรัชาญาเกรียน สมบัติ บุญงามอนงค์

ธิติ มีแต้ม
สำนักพิมพ์ไชน์ พับลิชชิ่ง เฮ้าส์

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า