ไม่มีใครไม่รู้จัก เงาสีขาว ไม่มีใครไม่รู้จัก เจ้าการะเกด หากคุณยังคงพอเรียกตัวเองได้ว่าเป็นผู้สนใจวรรณกรรมในประเทศทุยๆ ประเทศหนึ่ง
ไม่มีใครไม่รู้จัก ‘แดนอรัญ แสงทอง’ ไม่มีใครไม่รู้จัก ‘เสน่ห์ สังข์สุข’ หากคุณยังพอเรียกตัวเองได้ว่าเป็นผู้ให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานสมองในฐานะนักเขียนตาดำๆ คนหนึ่ง
นักเขียนตาดำๆ ผู้ทั้งสนใจในตัวตนของเสน่ห์ และผู้ที่สนใจในตัวงานของแดนอรัญ ล้วนต้องเคยผ่านตากับชื่อนี้ แพรกหนามแดง
แพรกหนามแดง ปรากฏนามเป็นที่รู้จักครั้งแรกในงานชิ้นสำคัญของแดนอรัญ เงาสีขาว ก่อนจะปรากฏอยู่ในรูปของเรื่องสั้นบ้าง นิยายบ้างประปรายกันไปตามพื้นถิ่นของความเป็นคนเพชรบุรีซึ่งเป็นดินแดนบ้านเกิดของเขา
แพรกหนามแดง เป็นผลงานเล่มล่าสุด ซึ่งแปะป้ายไว้ที่หน้าปกในฐานะรวมเรื่องสั้นชุดใหม่ของผู้เขียน เงาสีขาว
หากพิจารณาเพียงเท่านี้ อาจกล่าวได้ว่าเรื่องสั้นแต่ละเรื่องใน แพรกหนามแดง คงจะใช้เพียงฉากและสถานที่ในความทรงจำของผู้เขียนแต่เพียงเท่านั้น แต่โดยเนื้อแท้แล้ว แพรกหนามแดง เป็นเรื่องสั้นที่ร้อยเรียงเกี่ยวเนื่องกันในฐานะของตัวละครที่เป็นเด็กๆ ในวัยเรียนชั้นประถมฯ ผู้มีชีวิตผูกพันแพรกหนามแดง บ้านเกิดของพวกเขา
ข้อต่อแต่ละชุดแทนชีวิตของตัวละครเด็กน้อยแต่ละตัว
เรื่องราวแต่ละเรื่องของพวกเขาแทนความทรงจำที่ยังโลดแล่นอยู่ในคะนึงไม่สร่างโสตจากเสน่ห์
เจ้าเด็กน้อยที่เราอาจจะตีความได้ว่าแดนอรัญเขียนให้เด็กน้อยในเรื่องที่ชื่อ หญ้าแฝก แทนตัวตนของตัวเอง เนื่องจากหญ้าแฝกปรากฏตัวอยู่ค่อนข้างบ่อยมากที่สุดในเรื่องสั้นที่ถูกสมมุติให้ถูกเขียนในเชิงอนุทินความทรงจำของผู้ใหญ่ที่มองกลับมายังวัยเด็กของตน ไม่ว่าจะเป็น ขวัญกล้า ใจซื่อ, การบูร แสงอุไร, มัทรี วงศ์จันทร์, แพร อัญชัน และแน่นอน หญ้าแฝก ศิลาแลง ซึ่งปรากฏตัวอยู่ในเรื่องสั้นแทบทุกเรื่องที่เขียนโดยนามต่างๆ ที่ว่ามา รวมถึงในนามของหญ้าแฝกเองด้วย
งานเล่มนี้ของแดนอรัญ ไม่มีท่าทีของการ ‘พร่ำสวด’ อย่างที่เรามักเห็นในงานชุดหลังของเขา อีกทั้งไม่มีท่าทีของบทบรรยายอลังการทรงพลังที่แทบเป็นเครื่องหมายการค้าให้กับนามของ แดนอรัญ แสงทอง ตรงกันข้าม ไม่รู้เพราะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กๆ ทั้งหมด หรือเพราะในความทรงจำเมื่อครั้งแพรกหนามแดงนั้นอาบอิ่มไปด้วยเสน่ห์ของการหวนรำลึก เรื่องสั้นแต่ละเรื่องจึงเต็มไปด้วยความสนุก เพลิดเพลิน เด็กแต่ละคน (ซึ่งอยากจะขออนุญาตผู้เขียนเรียก ไอ้พวกทโมน ทะลึ่งจกเปรตทั้งหลาย) มีชีวิตที่บริสุทธิ์เป็นบ้าเป็นหลัง กู มึง ห่า โว้ย เป็นชุดคำที่จะพบบ่อยๆ ในงานชิ้นนี้ รวมถึงสำเนียงเหน่อแปร่งปร่าประสาคนเพชรบุรีที่จะทำให้หลงรักเจ้าเด็กๆ ตัวแสบในขณะที่ภาพความทรงจำผุดพรายขึ้นในห้วงคะนึง
ใช่แต่ว่าเรื่องสั้นแต่ละเรื่องของแดนอรัญจะเปี่ยมไปด้วยภาพสนุกสนานของเด็กน้อยทั้งหลายเท่านั้น ยังสอดแทรกความทุกข์ความเศร้าเท่าที่เด็กยังไม่เข้าใจ แต่สะอึกสะอื้นร้องโฮเป็น ความรักที่เด็กน้อยยังไม่เข้าใจ แต่ก็หวงหึงเด็กสาววัย 15 เป็น ทั้งที่ตัวอายุเพิ่งจะ 8 ขวบ รวมไปถึงความรักแบบซื่อๆ ที่อ่านแล้วทั้งขำ ทั้งเอ็นดู และอยากจะตบกะโหลกสักป้าบในความแกว่นกล้า ดังบทที่เขียนขึ้นโดย ชำเนียน สินาดกำแหง ที่การตัดสินความผิดของครูต่อการแกล้งของเด็กชายที่ชื่อสนั่น ต่อบุญจองเด็กหญิงที่เขาแอบรัก
ครู: เขาเป็นเด็กผู้หญิงเดินเดี่ยวมาคนเดียว เธอจะแกล้งเขาทำไม
สนั่น: (อาย ลังเล แต่แล้วก็ตัดสินใจ) ผมแอบชอบเขาอยู่ครับ (กับเด็กเล็กเด็กใหญ่ชายหญิงที่มาดู ไม่ใช่กับครู) ใครอย่าล้อกูนะโว้ย ใครล้อกูเตะ
บุญจอง: (อาย) อ้ายเหี้ยหนั่น (อุบๆ อิบๆ) ไอ้สัดกะหมาหนั่น กูไปทำอะไรให้มึงมาแอบชอบกู
ครู: เธอจะไปแกล้งเขาให้มันได้อะไรขึ้นมา
สนั่น: แท้ที่จริงผมอยากฉุดเขามากกว่า แต่ต้องลองแกล้งเขาดูก่อน ถ้าไม่ได้ผลถึงค่อยฉุด
บุญจอง: ถุย ฉุด รังแกผู้หญิงนี่หว่า มึงฉุดกู พี่จอนพี่ชายกูเขาก็จะยิงหัวมึง
สนั่น: ตายเพราะรักก็ให้มันรู้ไป (กับโจทก์)
ต้องไม่ลืมว่านอกจากครูแล้ว การโต้ตอบของ บุญจอง และ สนั่น คือการโต้ตอบของเด็กน้อยวัย 8 ขวบ เด็กบ้านนอก โง่ๆ ซื่อๆ ตามคำจำกัดความของ พลตำรวจโทพันฤทธิ์ กากะเยีย อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 15 ที่ (อาจจะ) ถูกอุปโลกน์ให้เป็นบรรณาธิการเฉพาะกิจรวบรวมหนังสือพิมพ์ดีดฉบับทำกันเองอ่านกันเองในชื่อ เสียงจากเด็กแพรกหนามแดง และอาจไม่ใช่ชาวชนบทซื่อๆ ที่ มนัส จรรยงค์ จะรักได้โดยสนิทใจดังที่ผู้เขียนเขียนไว้ในคำนำแทนนักเขียนตาดำๆ คนหนึ่ง
เป็นการตีความประสาคนคับแคบไปเองคนหนึ่ง (เช่นกัน) ว่างานเขียนเล่มนี้อาจไม่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ (เหมือนที่ตัวผู้เขียนเคยหล่นคำพูดไว้กับข้าพเจ้าในตอนที่เดินไปซื้อหนังสือจากมือของตะแกว่า มันเป็นเรื่องของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ถ้าคุณอ่านไม่สนุกก็ขอโทษด้วย) ด้วยลักษณะของเรื่องเล่า ด้วยฉากและยุคสมัยที่ผ่านพ้นไปแล้ว รวมไปถึงด้วยบุคลิกกวนตีน มึงมาพาโวยของเด็กๆ ที่พวกผู้หลักผู้ใหญ่ใจแคบละลอยอยู่ในเมืองสวรรค์อาจไม่ใคร่จะสนิทใจในการอ่านนัก ถ้าไม่มีชื่อ ‘แดนอรัญ แสงทอง’ อยู่บนหน้าปก
ถึงกระนั้น หากคุณรักในเรื่องราวที่ผ่านพ้น รักในวัยเยาว์ที่แอบซ่อนอยู่ในมุมมืดของหัวใจที่ยังเขินอายเกินกว่าจะกลับไปนึกถึง ข้าพเจ้าอยากให้คุณอ่าน มันไม่ใช่เพราะว่านักเขียนที่ยิ่งใหญ่มักผูกพันกับบ้านเกิดเมืองนอนของตน มันไม่ใช่เพราะแพรกหนามแดงเป็นแห่งที่ของความทรงจำในตัวของ ‘เสน่ห์ สังข์สุข’
แต่เพราะรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ เป็น เสียงจากเด็กแพรกหนามแดง ที่ข้าพเจ้าอยากเชื่อเหลือเกินว่าคุณ (นั่นแหละ) ที่ได้อ่านจะพบเสียงจากเด็กคนนั้นในตัวตนของคุณเอง
ปรัชญาการเมือง
David Miller
เกษียร เตชะพีระ: แปล
อธิคม คุณาวุฒิ: อ่าน
เล่มเด่นเล่มหนึ่งในชุด ‘ความรู้ฉบับพกพา’ ของสำนักพิมพ์ openworlds ผู้เขียนเป็นศาสตราจารย์ด้านทฤษฎีการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (แต่เข้าใจว่าอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่น่าจะได้เรียนด้วย ไม่งั้นคงไม่เป็นแบบนี้)
แล้วทำไมต้องอ่านปรัชญาการเมือง ทำไมต้องไปรู้จักแนวคิดของนักปรัชญาในศตวรรษที่ 17-18 ไม่ว่าจะเป็น โธมัส ฮอบส์, จอห์น ล็อค, ฌอง ฌาคส์ รุสโซ, หรือ จอห์น สจวร์ต มิลล์ ฯลฯ
หนังสือเล่มนี้อธิบายว่า “ความต้องการปรัชญาการเมืองมีอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามเผชิญการท้าทายทางการเมืองใหม่ๆ ซึ่งเรารับมือโดยใช้ภูมิปัญญาตามธรรมเนียมปกติของยุคสมัยไม่ได้ ในจังหวะเวลาเหล่านี้ เราจำเป็นต้องขุดลึกลงไปกว่าเก่า สำรวจตรวจสอบพื้นฐานความเชื่อทางการเมืองของเรา และตรงนี้เองที่เราอาจหันไปหาปรัชญาการเมือง” (หน้า 31-32)
เอ่อ…ฟังแล้วคล้ายๆ หวนกลับไปหาภูมิปัญญาบรรพบุรุษ อะไรทำนองนั้น เพียงแต่บรรพบุรุษในที่นี้ไม่ใช่ชนชาติไทย หรือชนชาติใดชาติหนึ่ง แต่เป็นภูมิปัญญาที่ชาวโลกเขาตกผลึกกันมาแล้ว 200-300 ปี เวลามีอะไรที่คิดไม่ออกก็กลับไปทบทวนบทเรียน ความรู้ และข้อตกลงเดิม ไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งเถียงกันใหม่เหมือนคนไม่รู้เรื่องรู้ราว
ประเด็นที่ เดวิด มิลเลอร์ หยิบมาเขียนให้อ่านง่าย ใช้ภาษาเหมือนคุยกับเพื่อน ได้แก่ อำนาจหน้าที่ทางการเมือง / ประชาธิปไตย / เสรีภาพกับขอบเขตจำกัดของการปกครอง / ความยุติธรรม / สตรีนิยมและพหุวัฒนธรรมนิยม / ชาติ รัฐ และความยุติธรรมระดับโลก
คุ้นๆ ไหมว่าเป็นประเด็นดราม่าทางโซเชียลมีเดียทั้งนั้น
หนังสือหนาแค่ 200 กว่าหน้า อ่านแป๊บเดียวก็จบ จะซื้อมาอ่านทบทวนความรู้ หรือจะหยิบไปเป็นของฝากพรรคพวกเพื่อนฝูงที่ชอบเถียงอะไรงงๆ ก็จะเป็นกุศลบุญไม่น้อย
ตอนยื่นหนังสือให้ อาจจะกระซิบข้างหูด้วยน้ำเสียงอบอุ่นอ่อนโยนเสียหน่อยก็ได้ว่า…ลองอดทนค่อยๆ อ่านดูนะจ๊ะ เบสิคจะได้แน่นๆ เวลาพูดเรื่องซีเรียสคนอื่นเขาจะได้รู้ว่าซีเรียสจริง ไม่ใช่กำลังเล่นตลก
Quarter-life Crisis
Tuna Dunn
ณขวัญ ศรีอรุโณทัย: อ่าน
คอมมิคสี่ช่องจบของ Tuna Dunn เล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษล้วน เข้ากับลายเส้นดี พูดเรื่องความสับสนของวัย 20-30 และส่วนใหญ่โฟกัสอยู่ที่เรื่องความสัมพันธ์ มีหลายเฉดในสเปคตรัม ทั้งคู่รัก (บ้างไม่รักบ้าง) หนุ่มโสดนักแสวงหา หญิงเดี่ยวเดียวดาย เหล่าหญิงชายในเฟรนด์โซน ฯลฯ ลายเส้นของ Tuna Dunn ไม่ทำให้ผิดหวังเลย ในตาจุดเดียวนั้นแสดงสีหน้า ‘ในความรับรู้’ ได้มาก (เคยลองวาดตามอยู่บ่อยๆ แต่ทำไม่ได้) ที่ชอบคือไม่ได้หนักข้างใดข้างหนึ่ง ทั้งทางโรแมนติกหอมความรัก หรือชิงชังเหม็นกลิ่นความรัก มองเผินๆ ลายเส้นมักน้อยและบับเบิลประหยัดคำพูด เหมือนไม่เล่าอะไร แต่ในจังหวะคมคายแบบสี่ช่องจบกลับขมวดได้ที่คำว่า ‘จะเอาไงกะชีวิต?’ แถมเสียงหัวเราะ หึ หึ อีกสองพยางค์
นักสำรวจและเรื่องฟินน์อื่นๆ
Jyrki Vainonen
กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ: แปล
รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์: อ่าน
นอกจากฟินแลนด์จะเด่นเรื่
ผมฟังเพลงเฮฟวีเมทัลจากฟินแลนด์อยู่หลายวง รวมถึงพวกนอร์เวย์ สวีเดน เคยคิดว่า พวกยุโรปเหนือนี่ดูดุจริงๆ (พวกไวกิ้งเครายาวนั่นเอง) หรืออากาศหนาวจะทำให้ความมืดจินตนาการขยายอาณาบริเวณได้มากกว่าที่คิดก็ไม่รู้
เนื้อหาและบรรยากาศที่ว่าข้างต้นปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ต่างกันตรงนี่เป็นการแปลเมโลดีออกมาเป็นเรื่องราว เป็นตัวอักษรใน นักสำรวจและเรื่องราวอื่นๆ
หากอเมริกาใต้มีจุดเด่นอันเป็นเอกอุและอุดมไปด้วยผู้ประพันธ์วรรณกรรม magical realism หรือสัจนิยมมหัศจรรย์ ที่เล่าเรื่
เรื่องสั้นความยาวเหมาะสมบรรยายภาพความคิดของผู้เขียนเรียงเป็นเรื่อง ห่อหุ้มด้วยความดาร์คดำมืดในจิตใจ เช่น สามี ‘นักสำรวจ’ ผู้เข้าไปอาศัยยังโลกอีกใบในต้นขาของภรรยาเพื่อพบพันธะเร้นลับของหญิงสาว สิ่งที่ร้อยรัดพวกมันเข้าด้วยกันนอกจากกาวตรงสันหนังสือคือ ‘ฉากขาวดำในวันที่ปราศจากแสงแดดอบอุ่น’ ลองจินตนาการถึงทุ่งหิมะขาวโพลนในดินแดนคู่ขนานนั้น ที่แม้ฤดูร้อนก็ยังหนาว
ถ้าคุณอ่านหนังสือที่สามารถสัมผัสความเย็นของยุโรปเหนือด้วยมือเล่มนี้บน BTS หรือ MRT ตอนเงยหน้าขึ้นมา สายตาของคุณที่กวาดไปยังผู้คนบนโลกบิดเบี้ยวผิดเพี้ยนจนเป็นปกติใบนี้อาจเปลี่ยนไปก็ได้
สุดพรมแดนแสงดาว
คณะเขียน
วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์: อ่าน
ระหว่างอ่านรวมเรื่องสั้นประเภทหลายคนเขียน ข้าพเจ้ามักเสกให้ตนเองเป็นผู้มีอำนาจตัดสินโดยอาศัยประสบการณ์ส่วนตัวทางการอ่าน เป็นกรอบในการเลือกที่รักมักที่ัชัง จัดเรียงลำดับเรื่องที่น่าสนใจจากมากไปหาน้อย เป็นเกมสนุกๆ ระหว่างอ่าน
การอ่านเรื่องสั้นเป็นการงานที่เหน็ดเหนื่อยกว่าการอ่านงานเขียนประเภทอื่น ไม่รู้คนอื่นเป็นกันรึไม่ เรื่องหนึ่งผ่านพ้น หยุดพัก ต้มกาแฟเหยือกที่สอง สูบบุหรี่ มองตึกฝั่งตรงข้าม รอเรื่องราวเพิ่งผ่านตกตะกอน ตั้งมั่นกับเรื่องสั้นเรื่องถัดไป ตามติดจินตภาพ อากาศ โทนสี แสงและเงา กลิ่น เรื่องราว หรือความคิดซุกซนใดที่ผู้เขียนโน้มน้าวให้ผู้อ่านไตร่ตรองและเตร็ดเตร่ไปด้วยกัน วนไปจนจบเล่ม
ข้าพเจ้าใช้เวลาสองวันกับ สุดพรมแดนแสงดาว ข้าพเจ้าเป็นเหมือนนักฟังเพลงตั้งใจฟังเพลงตามลำดับ ซึมซับทุกปลีกย่อยแม้รอยต่อของเพลงที่แล้วและถัดไป เพื่อหาความหมายร่วมของคอนเซ็ปต์อัลบั้ม และความหมายเฉพาะของแต่ละเพลง
และหาก สุดพรมแดนแสงดาว เป็นรวมเพลงจากหลายนักร้อง และข้าพเจ้ามีอำนาจหยิบเอาสักเรื่องมาแนะนำเรียกแขกประหนึ่งซิงเกิลเปิดอัลบั้ม ข้าพเจ้าเลือก ‘ห้องหับบนชั้นเจ็ด’ ของ ภู กระดาษ
มันเป็นเรื่องราวของคนกลุ่มหนึ่งที่นัดพบสังสรรค์กันในห้องชั้น 7 บนคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง นี่คือขนาดของพื้นที่ในเรื่องสั้นชิ้นนี้ (ข้าพเจ้าจินตนาการถึงห้องขนาด 50 ตารางเมตร) พวกเขาน่าจะมีอาชีพข้องเกี่ยวกับการผลิตองค์ความรู้ในแวดวงปัญญาชน ข้าพเจ้าเดาอย่างนั้นจากข้อมูลของผู้เขียน เช่น เจ้าของห้องกำลังศึกษาแนวคิดของ Hannah Arendt / ในห้องมีนวนิยายของ Antonio Tabucchi ฉบับแปลไทยโดย นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ / แขกผู้มาร่วมคนหนึ่งเขียนบทความวิจารณ์วรรณกรรมลงนิตยสาร Vice Versa ฯลฯ (ไม่มีตัวละครเขียนหรืออ่าน WAY Magazine)
ตัวละครกว่าครึ่งมีถิ่นฐานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เมื่ออ่านบทสนทนาในเรื่อง) พวกเขาน่าจะอ่านหนังสือคล้ายกัน มีรสนิยมทางการเมืองคล้ายกัน อยู่ตรงข้ามเผด็จการเหมือนกัน (แต่ก็มีเรื่องให้ถกเถียงกันไม่รู้สิ้น) พวกเขาเป็นชนชั้นกลางชาวอีสานที่เข้าถึงความรู้ และมีรสนิยม สิ่งที่พวกเขาดื่มในนัดสังสรรค์คือ single malt ยี่ห้อ Kavalan จับคู่อาหารกับลาบ ก้อย เสือร้องไห้ และต้ม (ซึ่งเดาว่าน่าจะขม)
ข้าพเจ้าชอบการแพริ่งอาหารของผู้เขียน และราวกับเห็นตัวละครนั่งพื้นล้อมจานลาบก้อยขณะจิบซิงเกิลมอลต์ พูดคุยเรื่องหนังสือ / การเมืองระหว่างประเทศ / ทำไมต้องใส่ถั่วฝักยาวในผัดกะเพรา ฯลฯ
ดุเดือดเลือดพล่าน ยกเว้นเรื่องการกดขี่คุกคามของรัฐบาลทหาร (ฉากนี้ทำเอาข้าพเจ้าได้ยินเสียงแอร์ในคอนโดตามไปด้วย)
ผู้เขียนใช้พื้นที่ในห้อง (น่าจะ 50 ตารางเมตร) เป็นฉากกั้นระหว่างตัวละครกับโลกที่ดำเนินอยู่ข้างล่างตึก ในห้องคือพื้นที่เฉพาะที่สามารถพูดได้ทุกเรื่อง ตั้งคำถามได้ทุกเรื่อง วิพากษ์วิจารณ์ได้ทุกเรื่อง แต่เสียงปืนจากเจ้าหน้าที่ทหารสมทบด้วยเสียงโห่ร้องยินดีของคนกลุ่มหนึ่ง ที่ดังอยู่เบื้องล่าง กลับไม่ได้ทำให้พวกเขาตั้งคำถาม พวกเขาเลือกขังโลกทั้งใบอยู่ข้างนอก พาตัวเองเข้าไปนั่งล้อมจานลาบก้อยและซิงเกิลมอลต์บนคอนโดชั้น 7 ต่อไป
แสบสันด้วยประการทั้งปวง