เปิดนโยบาย ‘สวัสดิการ’ ขายฝันหรือทำได้จริง

ด้วยเหตุปัจจัยและเงื่อนไขต่างๆ นานา ทำให้การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 มีความพิเศษในตัวเอง

อาจต้องย้อนเวลากลับไปนานสักหน่อย หากจะพูดถึงรายละเอียดการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า โดยเฉพาะ first voter หรือผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงครั้งแรก ที่อาจเกิดคำถามว่า ควรใช้เกณฑ์อะไรในการ ‘เลือก’ ตัวบุคคล หรือนโยบาย

หลากหลายวิธีหาเสียงที่พรรคการเมืองนำเสนอออกมาเพื่อหวังชัยชนะในสนาม ไม่ว่าจะเป็นสีสันและลีลาเฉพาะตัวของผู้สมัครแต่ละราย แต่เหนืออื่นใดคือ ‘นโยบายพรรค’ ที่สะท้อนถึงจุดยืนและเปรียบเสมือนหัวใจสำคัญที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของประเทศ โดยเฉพาะหากพรรคการเมืองนั้นๆ เข้าไปเป็นรัฐบาล พวกเขาจะแปลงข้อความบนป้ายหาเสียงหรือคำประกาศผ่านไมค์ไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างไร

‘ระบบสวัสดิการ’ หรือสวัสดิการด้านต่างๆ ที่รัฐจัดให้กับประชาชน เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมาก ด้วยความเชื่อพื้นฐานที่ว่า รัฐสวัสดิการเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดความเหลื่อมล้ำของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะในประเทศที่ยังมีช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจน คือจนสิทธิ จนรายได้ และจนโอกาส

จากโจทย์ตั้งต้นที่ว่า อำนาจเป็นของประชาชน ประชาชนมอบสิทธิในการใช้อำนาจบริหารให้รัฐ – สิ่งที่รัฐจัดสรรกลับคืนมาให้ประชาชนคืออะไรบ้าง

นี่คือภาพรวมนโยบายด้านสวัสดิการของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามเลือกตั้งปี 2562 โดยสรุปจากเวทีเสวนา ‘เลือกตั้งครั้งนี้…รัฐสวัสดิการต้องมา’ วันที่ 10 มกราคม 2562 และ ‘(รัฐ) สวัสดิการไทย แค่ไหนถึงจะพอ’ วันที่ 27 มกราคม 2562 และจากเวทีปราศรัย ‘30 วันคาราวานสร้างชาติกับพลังประชารัฐ’ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562

พรรคเพื่อไทย

ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ จากพรรคเพื่อไทย กล่าวในเวทีเสวนา ‘เลือกตั้งครั้งนี้…รัฐสวัสดิการต้องมา’ ว่าพรรคเพื่อไทยมีรากเหง้าจากพรรคไทยรักไทย ซึ่งมีการจัดสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับประชาชนมาแล้ว คือ ‘กองทุนหมู่บ้านและชุมชน’ โดยประชาชนเป็นกรรมการบริหารเอง เช่นเดียวกับ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ ที่เป็นการประกันสุขภาพแก่ประชาชน

ส่วนกฎหมาย ‘บำนาญแห่งชาติ’ ลดาวัลลิ์กล่าวว่า หลายฝ่ายต้องช่วยกันพิจารณาว่า หากมีบำนาญถ้วนหน้าก็ควรมีกฎหมายรองรับเพื่อเป็นหลักประกันที่มั่นคง

“พรรคเพื่อไทยจะยกร่าง พ.ร.บ.บำนาญประชาชน ผลตอบแทนอย่างต่ำ 3,000 ต่อเดือน แล้วเราจะดูฉบับภาคประชาชนว่าจะปรับจูนให้เข้ากันอย่างไร”

และในเวทีเสวนา ‘(รัฐ) สวัสดิการไทย แค่ไหนถึงจะพอ’ เผ่าภูมิ โรจนสกุล ตัวแทนพรรคเพื่อไทย นำเสนอเปิดเผยยุทธศาสตร์พัฒนาสวัสดิการทางการคลัง 6 ประการ คือ

  1. ใช้สวัสดิการแบบสองขา ผสมผสานระหว่างสวัสดิการที่สร้างผลสัมฤทธิ์ทางอุตสาหกรรม พัฒนาเศรษฐกิจ กระตุ้นให้คนเข้าสู่ตลาดแรงงาน เช่น สวัสดิการการศึกษา กับสวัสดิการที่ลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มความเป็นธรรมให้กับสังคม เช่น สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล สวัสดิการผู้สูงอายุ
  2. มุ่งสู่ระบบสวัสดิการถ้วนหน้าในทุกมิติ โดยแบ่งการทำงานเป็นสองระยะ ระยะแรกเป็นการกระจายทรัพยากรจากผู้มีรายได้มากไปสู่ผู้มีรายได้น้อย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ระยะที่สองเป็นการกระจายทรัพยากรในช่วงอายุ แบ่งเป็นวัยเด็ก วัยทำงาน วัยชรา คนวัยทำงานอาจต้องจ่ายภาษีมาก รับสวัสดิการน้อย แต่กระจายสวัสดิการให้เด็กผ่านสวัสดิการการศึกษา และให้คนชราผ่านนโยบายสาธารณสุข
  3. สร้างสวัสดิการภาครัฐส่วนกลาง และสวัสดิการผ่านกองทุนชุมชน เพื่อเน้นการกระจายอำนาจและมอบอำนาจการตัดสินใจให้กับประชาชน
  4. ใช้นโยบายเศรษฐกิจฐานรากโอบอุ้มคนจน โอบอุ้มผู้มีรายได้น้อย โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้มาก โดยที่ผ่านมามีการพิสูจน์แล้วว่าสามารถลดอัตราภาษีนิติบุคคลได้ ในขณะที่สร้างสวัสดิการให้แก่ประชาชนไปด้วย โดยที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  5. เดินหน้าปรับค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ ความต้องการ ความเป็นไปได้ โดยคำนึงถึงหลักความจริง
  6. ภาคเอกชนถือเป็นหัวหอกในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศ เพราะภาษีนิติบุคคลของไทยค่อนข้างต่ำ เช่นเดียวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่สูงนัก แต่สิ่งที่ถูกละเลยตลอดมาคือ การพัฒนาทุนมนุษย์ พัฒนาทักษะและศักยภาพ ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาในส่วนนี้

พรรคประชาธิปัตย์

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ตัวแทนจากประชาธิปัตย์กล่าวว่า นโยบายของพรรคเน้นที่การแก้จน สร้างคน สร้างชาติ และรัฐสวัสดิการก็ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องสนับสนุนให้เกิดขึ้น โดยพรรคประชาธิปัตย์นำเสนอแนวทางดังนี้

  1. ตั้งเป้าให้ทุกคนมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 120,000 บาทต่อปี หากมีรายได้ต่ำกว่าเส้นนี้รัฐจะโอนเงินตรงเข้าบัญชีเพื่อสนับสนุนส่วนต่าง
  2. ประกันรายได้เกษตรกร ได้แก่ ข้าว มัน ปาล์ม ยาง ข้าวโพด เช่น หากประกันราคาที่ 10,000 บาท แต่ราคาตลาดอยู่ที่ 8,000 บาท ส่วนต่าง 2,000 บาทจะถูกโอนตรงให้เกษตรกร
  3. ปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขึ้นเป็น 1,000 บาทต่อเดือน และเบี้ยผู้ยากไร้เดือนละ 800 บาทต่อเดือน (อัตราเดิมคือ ผู้ที่มีอายุ 60-69 ปี รับเงินเดือนละ 600 บาท ไปจนถึงอายุ 90 ปีขึ้นไป รับ 1,000 บาท) โดยใช้ระบบ negative income tax (การคืนภาษีคนจน) ในการคัดกรอง ทุกคนต้องยื่นภาษี หากมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ก็จะได้เงินคืน และเมื่อมีรายได้เท่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ระบบจะรู้ทันที ดังนั้นคนจนหรือผู้มีรายได้น้อยชุดเก่าจะออกจากระบบโดยอัตโนมัติ และคนจนรายใหม่ก็จะเข้ามาในระบบแทน
  4. นโยบายที่ทำกิน ทำโครงการโฉนดสีฟ้า ยกระดับ ส.ป.ก. ให้เป็นหลักประกันเงินกู้ธนาคารของรัฐได้ ใช้เป็นหลักประกันในชั้นศาล แต่หากไม่จ่ายหนี้ สิทธิใน ส.ป.ก. ก็สามารถหลุดได้ โดยจะตั้งธนาคารที่ดินทำหน้าที่เป็นกองทุน ในกรณีถูกยึด ที่ดินผืนนั้นจะถูกนำมาใส่ในธนาคารที่ดิน ถ้าเป็นกรณีหลุดมาจาก ธกส. ธนาคารที่ดินจะจ่ายเงินคืนไปที่ ธกส. แล้วเอาที่ดินมาไว้กับธนาคาร คนที่จะได้ก็ต้องเป็นคนที่เข้าข่ายเป็นเกษตรกรที่ได้ ส.ป.ก. นั่นหมายความว่าที่ดินมีโอกาสหลุดจากมือ แต่หลุดไปเพื่อให้คนมีคุณสมบัติรายใหม่เข้ามาแทน
  5. เด็กจะได้รับเงินอุดหนุนเดือนละ 1,000 บาท ตั้งแต่เกิดจนถึง 8 ขวบ เดือนแรก 5,000 บาท โอนเข้าบัญชีแม่ และในชั้นประถม-มัธยมต้น จะได้อาหารเช้าและอาหารกลางวันฟรี
  6. มีแนวคิด Gov-Tech ปฏิรูประบบราชการ โดยสร้างแอพพลิเคชั่นเพื่อติดตามการทำงานของบุคลากร เพื่อดูว่าเรื่องที่ดำเนินการนั้นติดค้างที่ขั้นตอนไหน

พรรคอนาคตใหม่

ในเวทีเสวนา ‘เลือกตั้งครั้งนี้…รัฐสวัสดิการต้องมา’ ศิริกัญญา ตันสกุล จากพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ทุกสิทธิประโยชน์ต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ถ้ามีรัฐสวัสดิการที่มีลักษณะเป็นสิทธิ ไม่ต้องพิสูจน์ความจน สร้างหลักประกันที่มั่นคงด้านรายได้ สามารถวางแผนระยะยาวในชีวิตได้ ซึ่งพรรคมีแผนสิทธิประโยชน์แบบถ้วนหน้าครบวงจร โดยเบื้องต้นที่จะเสนอเรื่องบำนาญ เริ่มต้นทำได้เลยที่ 1,800 บาทต่อเดือน

“จากที่ไปดูกฎหมายมา เรามีกฎหมายเกี่ยวกับบำนาญเยอะมาก มีทั้ง พ.ร.บ.การออมแห่งชาติ และกำลังจะมีกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ที่จะบังคับให้เราออมเพิ่ม มีประกันสังคม แต่ไม่มี พ.ร.บ. ไหนยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานของบำนาญถ้วนหน้า ดังนั้นต้องมีกฎหมายที่จะยืนยันสิทธิอีกครั้ง รวมทั้งคณะกรรมการที่จะควบคุมนโยบาย”

วรรณวิภา ไม้สน จากพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจรว่า เริ่มจากวันลาคลอดจาก 90 วัน เป็น 180 วัน และการมีลูกนั้นต้องการต้นทุนอย่างต่ำ 50,000 บาท จึงต้องมีเงินอุดหนุนเลี้ยงดูบุตร ตามมาด้วยการศึกษาที่ดี ซึ่งทางพรรคเห็นว่าต้องมีการศึกษาฟรีในภาคบังคับ

สำหรับเยาวชนอายุ 18-22 ปี จะได้รับเงินอุดหนุนจำนวน 2,000 บาท เพื่อให้เลือกเรียนในหลักสูตรต่างๆ เช่น การเรียน กศน. การเรียนภาคค่ำ และสวัสดิการของคนทำงานคือ เพิ่มวันลาพักร้อน ลดชั่วโมงการทำงานโดยไม่กระทบรายได้ และจะสมทบผู้ประกันตนในมาตรา 40 จำนวน 500 บาท เพราะคนกลุ่มนี้มักไม่มีเงินเก็บ ปรับเปลี่ยนฐานรายได้จากรายวันเป็นรายเดือนสำหรับแรงงานที่ทำงานเกิน 10 ปี และมีกองทุนประกันสุขภาพหัวละ 4,000 บาท และท้ายที่สุดคือเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ เป็นต้น

“แม้หลายส่วนจะมองว่ารัฐสวัสดิการเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมไทย แต่พรรคอนาคตใหม่ยืนยันว่าด้วยศักยภาพของประเทศไทยเองที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การทำรัฐสวัสดิการอย่างครบวงจรสามารถเกิดขึ้นได้ เพียงแต่ที่ผ่านมาการจัดสรรรายได้ของประเทศถูกผูกขาดอยู่ที่กลุ่มคนที่เป็นชนชั้นนำเพียงไม่กี่ตระกูลในประเทศเท่านั้น และเป็นสาเหตุหลักของความเหลื่อมล้ำในปัจจุบัน”

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่เห็นว่า งบประมาณที่นำมาใช้ด้านสวัสดิการนี้จะมาจากการตัดงบกองทัพที่ไม่จำเป็น ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่จำเป็น ยกเลิกสิทธิประโยชน์ BOI ปรับปรุงระบบภาษี เก็บจากผู้มีรายได้มากในอัตราสูงขึ้น รวมถึงการปรับปรุงระบบกองทุนสวัสดิการแห่งรัฐ

พรรคไทยรักษาชาติ

พิชัย นริพทะพันธุ์ ตัวแทนพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า รายได้ของรัฐบาลจากภาษีอยู่ที่ 16-18 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ขณะที่ประเทศที่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการจะมีรายได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP และเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสูงถึง 25 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นการจะเป็นรัฐสวัสดิการได้ในไทยอาจเป็นเรื่องยาก

อย่างไรก็ตาม พรรคไทยรักษาชาติเห็นว่า จำเป็นต้องมีสวัสดิการด้านต่างๆ ให้กับประชาชน เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน OTOP ก็คือสวัสดิการอย่างหนึ่งที่ให้เฉพาะกลุ่มเฉพาะด้าน

พิชัยยกตัวอย่างการให้สวัสดิการแบบเกินความสามารถของรัฐคือประเทศกรีซ ที่ประสบปัญหาหนี้สาธารณะพุ่งถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นจึงต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อรัฐจะได้มีรายได้เพิ่ม วิธีการคือให้ประชาชนเข้าถึงความรู้มากขึ้น

ตัวแทนพรรคไทยรักษาชาติ เสนอหลักสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

  1. ปรับโครงสร้างประเทศ ประเทศไทยมีแรงงานจากภาคการเกษตร 40-50 เปอร์เซ็นต์ของประชากร แต่มี GDP 50-60 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องโยกแรงงานจากภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม รัฐก็ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นจากการว่างงาน
  2. ลดความเหลื่อมล้ำของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเกิดขึ้นเร็ว ธนาคารบางแห่งต้องปิดสาขา อาชีพหมอมี AI เข้ามาแทนที่ การว่างงานอาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาด้านเทคโนโลยีในช่วง 6 ปีข้างหน้าอาจจะมากกว่า 100 ปีที่ผ่านมาเสียอีก
  3. นำไทยกลับไปเป็นศูนย์กลางอาเซียน ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีความเก่งทางด้านไหนอย่างโดดเด่น ดังนั้นเราจึงต้องพัฒนาประเทศให้เป็นที่ยอมรับในสังคมโลก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) พรรคไทยรักษาชาติเห็นว่าไทยควรเป็นผู้นำในภูมิภาค สร้างเศรษฐกิจและการค้าขายระหว่างชาติสมาชิกอาเซียน ให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น

พรรคชาติไทยพัฒนา

อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา จากพรรคชาติไทยพัฒนากล่าวว่า พรรคมีนโยบายการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ผู้สูงอายุ คนพิการ คนด้อยโอกาส ให้ได้รับการศึกษา สนับสนุนให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงแหล่งงาน บริการสาธารณะอย่างเป็นธรรม

นอกจากนี้ พรรคยังสนับสนุนการออมเพื่อนำมาเป็นสวัสดิการ โดยพรรคมีนโยบายจะสนับสนุนการออมแล้วรัฐเพิ่มส่วนต่างให้ และสนับสนุนพัฒนาทักษะ นอกจากนี้ในด้านสวัสดิการการเลี้ยงดูเด็กเพื่อส่งเสริมให้เกิดการมีบุตรในสังคมผู้สูงอายุซึ่งไทยเป็นอยู่ในขณะนี้ก็เป็นอีกด้านที่พรรคให้ความสำคัญ

ขณะที่บำนาญ 3,000 บาท อุดมศักดิ์มองว่าต้องคำนึงถึงงบประมาณและหนี้สาธารณะ และเห็นด้วยที่จะร่างกฎหมายบำนาญแห่งชาติ แต่ทำอย่างไรที่จะบูรณาการกฎหมายให้มีฐานข้อมูลที่ถูกต้องแบบเดียวกันเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ เพราะหลักประกันเรื่องสวัสดิการจะต้องมีความพอเพียงและมีประสิทธิภาพถึงจะยั่งยืน

พรรคสามัญชน

สมชาย กระจ่างแสง ตัวแทนพรรคสามัญชนกล่าวว่า ประเทศไทยมีคนรวย 10 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อีก 90 เปอร์เซ็นต์ อยู่กับความเหลื่อมล้ำและการเข้าไม่ถึงบริการด้านต่างๆ สมชายเปรียบว่า เหมือนการวิ่งผลัดที่พ่อแม่ส่งไม้ต่อความยากจนให้กับลูก พรรคสามัญชนซึ่งมาจากการรวมตัวของนักเคลื่อนไหว จึงอยากเป็นสะพานเชื่อมระหว่างคนเหล่านี้กับรัฐในการออกแบบนโยบายที่ลดความเหลื่อมล้ำ

“รัฐสวัสดิการของเราต้องไม่เท่ากับการสงเคราะห์ ไม่ต้องหาว่าใครจน เงินยังไม่ถึงคน แต่เงินหายไปจากการหาคน รัฐสวัสดิการของเราคือมีปัจจัยขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยรัฐจัดหาให้ผ่านระบบภาษีให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกัน”

การให้สวัสดิการตามแนวทางของพรรคสามัญชนจะยึดตามเส้นความยากจน ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท โดยจะให้ตั้งแต่เกิด เข้าถึงการศึกษาฟรี มีระบบการประกันรายได้ หากใครมีรายได้ไม่ถึง จะมีการประกันให้อย่างน้อยเดือนละ 3,000 บาท ตามมาด้วยระบบบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาท

เช่นเดียวกับที่ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน กล่าวในเวทีเสวนา ‘เลือกตั้งครั้งนี้…รัฐสวัสดิการต้องมา’ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 ว่าเห็นด้วยกับบำนาญแห่งชาติที่ขั้นต้น 3,000 บาทต่อเดือน แต่อยากตั้งคำถามต่อว่า หากให้มากกว่านี้เป็น 4,000-5,000 บาท พอเป็นไปได้หรือไม่

พรรคพลังประชารัฐ

จากเวทีปราศรัย ‘30 วันคาราวานสร้างชาติกับพลังประชารัฐ’ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาสะสมมาก โดยเฉพาะความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งต้องแก้ที่เศรษฐกิจซึ่งรากฐานของคนไทยคือ เกษตรกรรม

แนวทางการแก้ไขของพรรคคือ เพิ่มกำลังให้ฐานราก เริ่มจากสวัสดิการประชารัฐ ดูแลลดภาระความเป็นอยู่ ได้แก่

  1. เพิ่มบัตรประชารัฐให้ทั่วถึงจาก 14 ล้านคน เป็น 18 ล้านคน โดยเพิ่มเงิน เพิ่มสิทธิ์ เพิ่มเบี้ยเลี้ยง อสม.
  2. แก้ไขหนี้นอกระบบ พักหนี้กองทุนหมู่บ้าน 3 ปี พร้อมทั้งฟื้นฟูระหว่างการพักหนี้ เติมทุนให้กองทุนหมู่บ้าน
  3. สวัสดิการประชารัฐ ได้แก่ มารดาประชารัฐ ดูแลแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์ 3,000 บาทต่อเดือน ค่าคลอด 10,000 บาท และดูแลทารกต่อเนื่อง 6 ปี เดือนละ 2,000 บาท ถือเป็นการใช้เงินลงทุนเพื่อลูกหลานของคนไทย เฉลี่ย 26,000 บาทต่อคนต่อปี รวม 180,000 บาทต่อคน
  4. นโยบายเปลี่ยนโฉนดที่ดินจาก ส.ป.ก. เป็น ส.ป.ก. 4.0
  5. เศรษฐกิจประชารัฐ ทำให้เศรษฐกิจระดับชุมชนเข้มแข็ง เกษตรยั่งยืน มีการดูแลตั้งแต่ต้นทางคือการผลิตจนถึงการตลาด ลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกร พร้อมทั้งกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ สร้าง 30 เมืองน่าอยู่ในประเทศไทย เมื่อเกิดเมืองใหม่ก็จะเกิดการซื้อขายจากระดับรากหญ้า รวมถึงการคมนาคมขนคนและสินค้าระหว่างเมืองหลักและเมืองรอง
  6. สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชน ชุมชน

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า