เรื่อง: กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
ก่อนอื่นต้องขอชื่นชม นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารที่กล้าให้สัญญาประชาคมว่า จะไม่ล้มระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและพยายามจะหาเงินเพิ่มให้
อย่างไรก็ตามมีประเด็นความคิดเชิงหลักการและข้อมูลบางประการที่นายกฯมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างมาก ดิฉันจึงขออนุญาตนำเสนอข้อมูลดังนี้
- ดังที่ปรากฏในตาราง นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่ามันจะถูกเรียกว่า โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือ ระบบบัตรทอง หรืออะไรก็ตาม มันไม่ใช่นโยบายประชานิยม แต่คือ นโยบายรัฐสวัสดิการ
- นโยบายนี้ ไม่ใช่นโยบายประชานิยม หรือ ถือกำเนิดจากพรรคการเมือง แต่ข้อเท็จจริงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เกิดขึ้นจากการนำเสนอข้อมูลผ่านงานวิจัยและบทเรียนจากหลายประเทศที่ประสบ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสข้อเท็จจริงในพื้นที่ ประสานกับเครือข่ายภาคประชาสังคม มีการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน จนเป็นส่วนสำคัญในการร่วมล่ารายชื่อเพื่อผลักดันให้ออกเป็นกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กำหนด และมีผลในทางปฏิบัติโดยฝ่ายการเมือง จนเกิดเป็นพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 นี่จึงเป็นผลงานร่วมกันของทุกฝ่าย มิใช่สมบัติของนักการเมือง และไม่ใช่นโยบายประชานิยมที่ใช้เพื่อหาเสียงชั่วครั้งชั่วคราวโดยหาความยั่งยืนไม่
- นายกฯอาจมิได้ตระหนักว่า ความสำเร็จของการสร้างหลักประกันสุขภาพของไทยนั้น เป็นที่ชื่นชมในระดับนานาชาติ ทั้งนักวิชาการด้านสาธารณสุขชั้นแนวหน้า เลขาธิการสหประชาชาติ ประธานธนาคารโลก และผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกล้วนชื่นชม ดังเช่น สุนทรพจน์ของประธานธนาคารโลกในงานเลี้ยงรับรองผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2557 ที่ชื่นชมความสำเร็จของประเทศไทยในการผลักดันนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อดูแลประชาชนให้เข้าถึงการรักษาพยาบาล
ความตอนหนึ่งระบุว่า “ด้วยกระแสคัดค้านการเดินหน้านโยบายจากหลากหลายองค์กรข้างต้นนี้ บางประเทศอาจหมดกำลังใจและล้มเลิกไป แต่ไม่ใช่ประเทศไทยที่ยังคงมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าเพื่อผลักดันให้เกิด นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเฉพาะจากกลุ่มนักเคลื่อนไหว ข้าราชการ และบุคลากรทางการแพทย์ที่ต่างต้องการให้เกิดการปฏิรูประบบสุขภาพดูแลคนไทย และจากข้อมูลปี 2544 พบว่าประเทศไทยยังมีคนจำนวนถึงหนึ่งในสามของประชากรที่ไม่มีประกันสุขภาพ โดยเฉพาะคนจนซึ่งทำให้เข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล จากความตั้งใจดังกล่าวไม่เพียงแต่มีการเดินหน้านโยบายหลักประกันสุขภาพเท่า นั้น แต่ยังเกิดการรับรองสิทธิการเข้าถึงรักษาพยาบาลที่กำหนดให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ จากจุดเริ่มต้นโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจนถึงขณะนี้ ได้มีการพัฒนาการบริการและสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลได้อย่างครอบคลุม ส่งผลให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยช่วงปีแรกของโครงการส่งผลให้คน 18 ล้านคน ที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง”
“แม้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพของไทยจะไม่ใช่ระบบที่สมบูรณ์แบบ และพบว่ายังคงมีปัญหา ทั้งจากคนไทยที่ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ประชากรที่มีอายุยืนยาวขึ้น การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และโรคไม่ติดต่อที่เพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าประเทศไทยต้องประสบความสำเร็จในการจัดระบบบริการสุขภาพ ที่มีคุณภาพและมีความเสมอภาคมากยิ่งขึ้น ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันถือเป็นสิ่งล้ำค่า ที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของข้าราชการ นักเคลื่อนไหว และบุคลากรทางการแพทย์ที่ต่างอุทิศตนเพื่อสร้างความยุติธรรมในระบบสุขภาพ ซึ่งทุกครั้งที่ผมเดินทางไปทั่วโลก ผมจะบอกเล่าเรื่องราวระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย เพื่อให้เป็นตัวอย่างสำหรับประเทศอื่นๆ” ประธานธนาคารโลก กล่าว
- ขณะนี้มีประเทศมากกว่า 60 ประเทศที่ดูแลสวัสดิการสังคมแก่ประชาชน ด้วยการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แม้แต่ญี่ปุ่นก็สร้างระบบนี้มากว่า 50 ปี ตั้งแต่ที่ยังมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ต่ำกว่าไทยขณะนี้
- ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถือเป็นสวัสดิการด้านสุขภาพที่รัฐจัดให้ประชาชน 48 ล้านคน แต่ที่ผ่านมาถูกสร้างภาพว่า ใช้งบประมาณสูง และจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนรัฐรับภาระไม่ได้ แต่ถ้าพิจารณาจากข้อเท็จจริงจะพบว่า รายจ่ายด้านสุขภาพของไทยยังอยู่ต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำมาก ดังเช่น ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามักตกเป็นจำเลยมาตลอดว่ามีเงินไม่พอ แต่นี่ไม่ใช่ความจริง ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยคิดเป็น 4 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง แต่สำนักงบประมาณก็มักจะตัดเงินในทุกปี และ 2-3 ปีที่ผ่านมาก็มีการแช่แข็งงบประมาณไว้ ทั้งที่เงินเพิ่มเพียงแค่ 2-4 เปอร์เซ็นต์ หรือเพิ่มประมาณปีละ 5,000 ล้านบาทเท่านั้น
เมื่อเทียบกับระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่ไม่มีการรีดไขมันหรือทำให้เกิดประสิทธิภาพ แต่สร้างภาระต่อหัวมากถึง 12,000 บาท (เทียบกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ค่าหัว 2,900 บาทต่อคน) จากคนในระบบแค่ 5 ล้านคน ขณะที่กองทุนหลักประกันสุขภาพ มีระบบการจัดการและต่อรองราคายาและค่ารักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้คุณภาพสูงสุดในราคาที่สมเหตุผล โดยใช้การวิจัยประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพและการใช้กลไกยืดหยุ่นต่างๆที่มีอยู่ในกฎหมายและความตกลงระหว่างประเทศที่ให้ประเทศสามารถทำได้ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายอย่างจริงจังมากขึ้น แต่กลับไม่พบว่า รัฐบาลรัฐประหารใส่ใจ
- หากนายกฯเป็นห่วงเรื่องงบประมาณ ควรพิจารณาตัดลดงบประมาณบางโครงการที่เป็นภาระกับแผ่นดินอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่จะเป็นภาระลูกหลานไปอีกนานนับสิบปี หรือแม้แต่ ‘นโยบายข้าราชการนิยม’ ที่ออกมาแทบทุกสัปดาห์ในการประชุม ครม. รัฐประหารชุดนี้ ทั้งการเพิ่มเงินเดือน การขึ้นค่าเบี้ยประชุม การให้อายุราชการสองเท่า และการยกเว้นไม่เรียกเก็บภาษีกับบำเหน็จบำนาญที่คิดเป็นเงินรวมถึง 1,200 ล้านบาทต่อปี (เกือบเท่ากับ 1 ใน 4 ของ งบระบบหลักประกันที่ต้องเพิ่มตามจำนวนประชากร) ดังนั้นควรพิจารณารีดไขมันส่วนนี้เพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศจึงจะเป็นการสร้างอนาคตที่ถูกต้อง
- จากหนังสือ ‘บนเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ ของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ บุคคลสำคัญผู้เริ่มแนวคิดโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้พูดถึงแนวคิดและหลักการที่ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพโดยไม่มีข้อจำกัดทางการเงิน นั่นเพราะมีเหตุการณ์หนึ่งที่ นพ.สงวนได้พบเจอและจดจำมาตลอด ซึ่งกล่าวไว้ในหนังสือว่า
“การที่ประชาชนในชนบทแสวงหาทางเลือกที่เป็นบริการอื่น ทั้งที่เจ็บป่วยหนัก เพียงเพราะไม่แน่ใจว่าจะมีเงินพอค่ารักษาหรือไม่ โดยวันหนึ่ง ผมนั่งรถกลับโรงพยาบาล ฝนตกหนักมาก ข้างทางเห็นผู้หญิงอุ้มลูกน้อยยืนเหมือนรอรถโดยสารข้างทาง จึงบอกคนขับรถให้จอดรับแม่ลูกคู่นั้น สอบถามได้ความว่า ลูกไม่สบาย จากการสังเกตอาการ คาดว่าเด็กน่าจะเป็นปอดบวม เพราะมีอาการหายใจหอบ เมื่อรถมาถึงโรงพยาบาล แทนที่ผู้หญิงคนนั้นจะอุ้มลูกเข้ารักษา กลับเดินหนี ผมต้องเดินไปสอบถาม โดยเธอตอบว่า ไม่กล้าไปรักษา เพราะมีเงินติดตัวมาแค่ 30 บาท ตั้งใจจะพาไปฉีดยากับหมอเสนารักษ์ที่อยู่ไม่ไกลโรงพยาบาลมากนัก คิดแค่ 20 บาท เหลืออีก 10 บาท จะเก็บเป็นค่ารถกลับบ้าน ผมพยายามอธิบายว่า การฉีดยาคงไม่เพียงพอ หลังจากคุยกันพักใหญ่ บวกกับการให้ความมั่นใจว่า ในกรณีที่เป็นคนไข้ยากจน โรงพยาบาลจะไม่เก็บเงินค่ารักษา เธอจึงยอม…”
การที่นายกฯประยุทธ์เติบโตมาในสายที่ทำงานกับคนใหญ่คนโตเป็นหลัก มีระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการเป็นหลังพิงที่สำคัญโดยตลอดทั้งกับตัวเองและครอบครัว อาจทำให้นายกฯไม่สามารถเข้าใจถึงหัวใจและหลักคิดที่สำคัญของเรื่องนี้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่นายกฯและทีมงานพึงหาความรู้และสร้างความเข้าใจก่อนที่จะดำเนินนโยบายหรือตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะเป็นภาระถึงลูกหลาน
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
นักวิจัยจากแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.)
เผยแพร่ครั้งแรกในเฟซบุ๊ค Kannikar Kijtiwatchakul 1 กรกฎาคม 2558