‘ไม่มีเหนือ-ใต้ มีแค่เกาหลี’ เสียงจากชาวโสม เมื่อสันติภาพแห่งคาบสมุทรผลิบาน

คิม จอง อึน และ โดนัลด์ ทรัมป์ ณ ประเทศสิงคโปร์

การพบกันระหว่าง คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกจับจ้อง หลังจากทั้งสองปะทะฝีปากผ่านสื่ออย่างต่อเนื่อง นักวิเคราะห์มองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายมิติเพราะสองชาตินี้จัดเป็นพวกขิงก็ราข่าก็แรงชนิดที่พร้อมจะกดปุ่มขีปนาวุธใส่กันตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะในยุคของผู้นำในปัจจุบันเท่านั้น แต่วันดีคืนร้ายผู้นำของทั้งสองประเทศนอกจากสามารถสงบวาจาและมาพบหน้ากันแล้ว ยังกล่าวชื่นชมกันและกันชนิดที่หากนี่เป็นละคร คนเขียนบทก็ต้องกล้ามากสำหรับการสร้างพล็อตที่พลิกผันเช่นนี้

“คิม จอง อึน เป็นคนที่เปี่ยมอัจฉริยภาพ และเขารักประเทศของเขามาก” นี่คือถ้อยคำจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีปากตะไกรของสหรัฐอเมริกา

ขณะที่ คิม จอง อึน บอกว่า “เราได้ทิ้งอดีตไว้ข้างหลัง” และ “โลกจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่” พร้อมทั้งขอบคุณ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำให้การพบกันเกิดขึ้น

ผลของการพบกันนำไปสู่การลงนามที่จะสร้างสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี โดยเฉพาะการเดินหน้าปลดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งกรุงเทพธุรกิจรายงานว่า ในเอกสารที่ทั้งสองผู้นำลงนามร่วมกันมีข้อตกลงดังนี้

  1. สหรัฐและเกาหลีเหนือให้คำมั่นว่าจะสร้างความสัมพันธ์ใหม่ตามความปรารถนาของประชาชนทั้ง 2 ประเทศเพื่อสันติภาพ และความรุ่งเรือง
  2. สหรัฐและเกาหลีเหนือจะร่วมกันสร้างระบอบสันติที่ยั่งยืนและมั่นคงบนคาบสมุทรเกาหลี
  3. ยืนยันตามปฏิญญาปันมุนจอมวันที่ 27 เมษายน 2561 เกาหลีเหนือให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าปลดนิวเคลียร์คาบสมุทรเกาหลีอย่างสมบูรณ์
  4. สหรัฐและเกาหลีเหนือให้คำมั่นว่าจะค้นหาร่างเชลยสงครามและหรือทหารที่สูญหายขณะปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งเร่งส่งคืนร่างที่พบแล้ว

บีบีซีไทยรายงานว่า ทรัมป์ ถึงกับออกปากว่าการหารือครั้งนี้เป็นความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่

“มันจะสำเร็จอย่างมหาศาล และนั่นเป็นเกียรติของผม เราจะมีความสัมพันธ์ที่ยอดเยี่ยม ผมจะไม่กังขาเลย”

ขณะที่ คิม จอง อึน ก็บอกว่า หนทางที่จะมาถึงที่นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย อคติและการกระทำแบบเดิมๆ เป็นอุปสรรคในหนทางของทั้งสองประเทศ แต่ก็สามารถก้าวข้ามมันมาได้ กระทั่งถึงวันนี้

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่หากติดตามสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีจะพบว่า เส้นทางของสันติภาพค่อยๆ ถูกปูมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านบทบาทของ ‘ผู้นำ’ ประเทศต่างๆ ที่เข้ามามีส่วนในการผลักดันให้เกิดการเจรจา

คิม จอง อึน โดนัลด์ ทรัมป์ มุน แจ อิน

คิม จอง อึน และ มุน แจ อิน ณ หมู่บ้านปันมุนจอม

ย้อนกลับไป 27 เมษายน 2561 ประวัติศาสตร์ที่ถูกปักหมุดในแผนที่การเมืองโลกเกิดขึ้น เมื่อ คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือจับมือกับ มุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ การเดินข้ามพรมแดนระหว่างกันของสองผู้นำเกาหลีหมู่บ้านปันมุนจอมเป็นภาพที่ยากจะจินตนาการว่าจะเกิดขึ้นได้ นับจากรอยร้าวของสงครามเกาหลีระหว่างปี 2493-2496 ที่แบ่งคนเชื้อชาติเดียวออกเป็นสองฝั่ง การพบกันครั้งนั้นนำมาสู่ปฏิญญาปันมุนจอมเพื่อสร้างสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีที่ขัดแย้งรุนแรงมายาวนานกว่าหกทศวรรษ นับจากสงครามเกาหลีปะทุขึ้น

แม้ปฏิญญาดังกล่าวจะไม่อาจถือเป็นสนธิสัญญายุติสงคราม แต่ก็มีค่าพอที่จะทำให้อย่างน้อยคนเกาหลีได้อุ่นใจว่าอนาคตข้างหน้าพวกเขาจะไม่ต้องพะวงต่อความขัดแย้งที่ยืดเยื้ออีกต่อไป

“ปฏิญญาปันมุนจอม เพื่อสันติภาพ ความรุ่งเรือง และการรวมชาติบนคาบสมุทรเกาหลี” (Panmunjom Declaration for Peace, Prosperity and Unification on the Korean Peninsula) คือชื่อเต็มของปฏิญญาดังกล่าว ซึ่งโพสต์ทูเดย์ระบุรายละเอียดในข้อตกลงดังนี้

  1. เพื่อให้การร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเรื่องต่างๆ ในอนาคต รัฐบาลทั้งสองเห็นชอบร่วมกันในการจัดตั้งสำนักงานเพื่อความร่วมมือในเขตนิคมอุตสาหกรรมแกซอง ฝั่งเกาหลีเหนือโดยสำนักงานดังกล่าวมีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการหารือความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ยังมีแถลงการณ์ร่วมในประเด็นอื่น เช่น ยุติพฤติกรรมความรุนแรงรวมถึงการยั่วยุทั้งปวงระหว่างเกาหลีเหนือและใต้
  2. เปลี่ยนเขตปลอดทหาร (DMZ) เป็นเขตแห่งสันติภาพ โดยจะครอบคลุมพื้นที่ทางอากาศ น้ำ และแผ่นดิน โดยทางเกาหลีใต้ต้องการยุติการออกอากาศโฆษณาชวนเชื่อนับแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ เป็นต้นไป
  3. จัดงานรวมญาติสำหรับชาวเกาหลีที่พลัดพรากในบริเวณเขตชายแดน
  4. เชื่อมต่อและปรับปรุงรางรถไฟและถนนข้ามเขตแดน
  5. ให้การสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการแข่งขันกีฬาอย่างต่อเนื่อง เช่น เอเชียนเกมส์ ที่กำลังจะมีขึ้นในปีนี้

มุน แจ อิน บอกว่า เขาขอประกาศต่อหน้าประชาชนเกาหลี 80 ล้านชีวิต และคนทั้งโลกว่าต่อจากนี้จะไม่มีสงครามในคาบสมุทรเกาหลีอีกต่อไป และนับจากนี้ยุคใหม่แห่งสันติภาพได้เริ่มขึ้นแล้ว

ส่วน คิม จอง อึน กล่าวว่า เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ได้กลับมาพบกันอีกครั้ง ทั้งสองเป็นเหมือนประเทศเดียวกัน เป็นพี่น้อง เป็นสายเลือดเดียวกันที่ไม่อาจแบ่งแยก และหวังถึงความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นเพื่อสันติภาพในอนาคต และนับจากนี้ทั้งสองเกาหลีจะรับผิดชอบอนาคตด้วยตนเอง

ไม่มีเหนือ-ใต้ มีแค่เกาหลี

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเราอาจวิเคราะห์และรับทราบได้จากการรับฟังข่าวสารจากทุกสารทิศที่ประเดประดังเลื่อนผ่านหน้าฟีด แต่สิ่งที่เราสนใจคือ แล้วเสียงของคนเกาหลีเองคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร โดยเฉพาะกับคนที่เกิดและเติบโตในยุคสมัยที่สองเกาหลีไม่มีทีท่าว่าจะกลับมาเป็นครอบครัวเดียวกัน เราคุยกับชาวเกาหลีใต้หลังการเกิดขึ้นของปฏิญญาปันมุนจอมโดยใช้คำถามเรียบง่ายว่า “คุณคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร?” และนี่คือคำตอบของเขาเหล่านั้น

เอมี ลี  (Amy Lee) เล่าว่า ปู่ของเธอเดินทางจากเกาหลีเหนือมายังเกาหลีใต้ในช่วงที่เกิดสงคราม สายเลือดในตัวเธอจึงมีส่วนผสมของทั้งโสมขาวและโสมแดง แต่เธอคิดเสมอว่าตนเองไม่ใช่เกาหลีใต้ หรือเกาหลีเหนือ แต่เป็น ‘คนเกาหลี’ เช่นเดียวกับผู้คนอีกนับล้านที่แทบไม่ต่างจากเธอ

“ชาวเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ไม่ใช่คนอื่นคนไกล คนเกาหลีใต้นับล้านยังมีสมาชิกครอบครัวหรือญาติอยู่ที่ฝั่งเหนือซึ่งห่างออกไปไม่กี่ร้อยกิโลเมตรจากจุดที่เราอาศัยอยู่ แม้เราไม่สามารถพบเจอใบหน้าของพวกเขา แต่ที่ผ่านมาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือที่เรารับรู้ทำให้หัวใจเราแทบแตกสลาย

“ไม่ว่าจะอีกกี่ร้อยกี่พันปี คนรุ่นหลังซึ่งรวมทั้งฉันด้วยจะต้องเจอกับความยากลำบากในการรวมชาติอย่างสันติเพียงใด แต่ฉันคิดว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แม้มันจะยากก็ตามที”

ฮา จุง ฮา (Ha Jung Ha) วัย 26 ปี บอกว่า สัญญาณเหล่านั้นทำให้เธอเห็นอนาคตที่ดีขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากำแพงที่กั้นระหว่างเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ จะทลายลงผ่านการพูดคุยอย่างสันติ

“มันน่าเศร้าที่คนเชื้อชาติเดียวกันกลับถูกแบ่งแยกจากความตั้งใจของคนชาติอื่น หลังเส้นพรมแดนหายไป พวกเราหวังว่าจะพบกันอีกครั้งในไม่ช้า ฉันหวังว่าสักวันหนึ่งเศรษฐกิจจะเฟื่องฟูโดยเฉพาะในเกาหลีเหนือหากมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต ซึ่งมันจะช่วยเปิดการเดินทางไปยังประเทศจีนผ่านเส้นทางรถไฟได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดคือหลักการพื้นฐานที่เรียบง่าย คือที่สุดเราจะกลายเป็นหนึ่งประเทศที่มาจากสองอุดมการณ์”

การจับมือของสองผู้นำเกาหลี ไม่เพียงแต่ทำให้โลกตื่นเต้นเท่านั้น แม้แต่กลุ่มคนที่ทำงานเรื่องสันติภาพอย่างต่อเนื่องภายใต้องค์กร Heavenly Culture, World Peace, Restoration of Light (HWPL) ถึงจะประทับใจเพียงใดแต่มันก็แฝงด้วยความแปลกใจอยู่ในที

ซุน จุง เรียว (Sun Jung Ryu) เจ้าหน้าที่ HWPL อายุ 35 ปีบอกว่า เธอแปลกใจมากที่ได้เห็นสองผู้นำจับมือกัน แต่ลึกๆ แล้วรู้สึกประทับใจเพราะไม่คาดคิดว่าภาพดังกล่าวจะเกิดขึ้น

“นี่คือการประชุมสุดยอดครั้งที่สามในรอบ 65 ปี นับตั้งแต่เกิดสงครามเกาหลี ฉันรู้สึกประหลาดใจกับปฏิญญาปันมุนจอม รวมถึงข้อตกลงที่จะสงบศึกและเดินหน้าสู่สนธิสัญญาสันติภาพ ฉันหวังว่าเรื่องนี้จะถูกผลักดันต่อไปบนความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน และฉันหวังเหลือเกินว่าการรวมดินแดนอย่างสันติต้องเกิดขึ้นในยุคของฉัน”

ยุง คยุง คิม (Young Kyoung Kim) ผู้ประสานงาน HWPL วัย 26 ปี ตอบคำถามด้วยวรรคแรกว่าเธอตื่นเต้นกับเรื่องที่เกิดขึ้นมาก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่มีทีท่าเลยว่าการเจรจาสันติภาพจะเกิดขึ้น

“ปฏิญญาปันมุนจอมแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะแก้ไขปัญหาอย่างสันติต่อกรณีเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ถ้าเราค่อยๆ เดินหน้าโดยที่ทั้งสองเกาหลีไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน เชื่อว่าการรวมแผ่นดินอาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ไม่มีใครต้องการสงคราม ยิ่งกว่านั้นคือไม่มีใครอยากเสียชีวิตจากสงครามนี้ เราต่างหวังว่าการเจรจาจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น”

ขณะที่ เฮียว วอน ชอย (Hyo Won Choi) เจ้าหน้าที่อีกคนของ HWPL อายุ 33 ปี บอกว่า การที่ประเทศมหาอำนาจที่เข้ามาแทรกแซงโดยไม่มีการเจรจาใดๆ ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เมื่อหลายสิบปีก่อนนำมาสู่สงคราม การเจรจาที่เกิดขึ้นครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมเพราะนี่คือการพบหน้า พูดคุย และร่วมสร้างข้อตกลงระหว่างคนเกาหลีกับคนเกาหลีด้วยกัน

“นี่คือเรื่องใหญ่ไม่ใช่เฉพาะกับคนเกาหลีเท่านั้น แต่มีความหมายต่อคนทั่วโลก เมื่อทั้งสองฝ่ายมีการเจรจาสันติภาพด้วยกันโดยตรง ชาวเกาหลีตื่นเต้นมาก บางคนถึงกับร้องไห้ พวกเขาหวังว่าครอบครัวที่เคยพลัดพรากจะกลับมาพบเจอกันในวันหนึ่ง

“อย่างไรก็ตามการรวมเกาหลีอาจไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีทันใด องค์กร NGOs และหลายภาคส่วนยังต้องทำงานอย่างหนักเพื่อให้สันติภาพเกิดขึ้น รวมทั้ง HWPL ที่ทำงานเคลื่อนไหวด้านสันติภาพอย่างต่อเนื่องไม่ใช่เฉพาะในคาบสมุทรเกาหลีเท่านั้นแต่ยังรวมถึงทั่วโลก”

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า