What is: ‘โรงเหล้าเถื่อน’ ในความหมายของ ชวน หลีกภัย

สมญานาม ‘มีดโกนอาบน้ำผึ้ง’ ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎรผู้ทำหน้าที่ดำเนินการการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชวน หลีกภัย ได้กล่าววาทะเฉือดเฉือนที่ทำให้ทั้งในและนอกสภาเกิดภาวะ ‘ถูกบาด’ ไปตามๆ กัน

“ขอให้รักษามารยาท ที่นี่ประชุมสภาฯ ไม่ใช่โรงเหล้าเถื่อน”

เขากล่าวประโยคนี้ขึ้นมาในระหว่างที่เกิดการถกเถียงระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน จากการลงมติให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาผลกระทบจากประกาศและคำสั่ง คสช. และการใช้อำนาจ หัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล กับคณะเป็นผู้เสนอ

ผลการลงมติจาก สส. 467 คน เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ. 234 คน ไม่เห็นด้วย 230 คน งดออกเสียง 2 คน หลังจากนั้น วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปฝ่ายรัฐบาลขอให้มีการนับคะแนนใหม่ อ้างว่า “คะแนนเฉียดฉิว” และ “มีความสับสนเล็กน้อย”

นี่คือจุดเริ่มต้นของความโกลาหลในสภา

วันมูหะมัดนอร์ มะทา สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ กล่าวว่า ตามข้อบังคับเมื่อโหวตเสียงแล้ว จะมีคะแนนปรากฏชัดว่าใครเห็นด้วยไม่เห็นด้วย “ไม่ใช่มาเปลี่ยนใจ เพราะคะแนนใกล้กัน ไม่อย่างนั้นต้องนับใหม่ทุกครั้ง”

ชวน หลีกภัย วินิจฉัยให้นับคะแนนใหม่ ซึ่งการนับคะแนนใหม่ตามระเบียบข้อบังคับนั้น กำหนดให้เป็นการลงมติใหม่ด้วยการขานชื่อเป็นรายบุคคล เขาบอกว่าเมื่อมีการเสนอให้นับใหม่มาแล้วโดยมีผู้รับรอง ตนต้องทำตามข้อบังคับไม่สามารถตัดสินใจเป็นอย่างอื่นได้

เสียงโห่ร้องดังทั่วสภา ความโกลาหลเกิดขึ้น นายชวนปราม สส. ที่ส่งเสียงดังว่า “รักษามารยาทด้วยครับ ที่ประชุมสภา ไม่ใช่โรงเหล้าเถื่อน”

‘โรงเหล้าเถื่อน’ ในมุมมองของนายหัวชวนคืออะไร

แน่ละว่า ‘โรงเหล้า’ มีความหมายถึงสถานที่ผลิตหรือกลั่นสุรา และยังถูกใช้ในความหมายว่าเป็นสถานที่ดื่มเช่นเดียวกับผับหรือบาร์ กิจกรรมที่เกิดขึ้นในโรงเหล้าจึงมีทั้งการผลิตและการดื่ม ส่วนคำว่า ‘เถื่อน’ ก็ชัดเจนตรงตัวว่าเป็นอะไรที่ผิดกฎหมาย ฝ่าฝืนการอนุญาตให้กระทำตามกฎหมาย

เพื่อทำความเข้าใจคำว่า ‘โรงเหล้า’ เราจำเป็นต้องพึ่งพางานศึกษาประวัติศาสตร์การเสพสุรา โดย พระไพศาล วิสาโล พบว่า “สุรามีที่มา 2 ทาง คือ 1. สุราที่ชาวบ้านทำเอง ได้แก่ สุราแช่ แต่อาจทำเป็นบางฤดูกาล ชาวบ้านภาคอีสานทำในช่วงฤดูว่างงาน คือหน้าแล้ง ข้าวในสมัยก่อนก็ยังมีไม่มากพอจะเอามาแปรรูปเป็นสุรา เพราะชาวบ้านปลูกข้าวพอกิน 2. อีกชนิดหนึ่งคือสุรากลั่น แต่เดิมนั้นสุรากลั่นมิใช่ของพื้นบ้าน ชื่อ ‘เหล้าโรง’ ก็บ่งบอกว่าเป็นสุรามาจากโรงงาน งานศึกษาชิ้นนี้ ระบุว่า จีนเป็นชาติแรกที่ทำสุรากลั่นมายังเมืองไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีคนจีนผูกขาดทั้งการขายและการกลั่นเป็นส่วนใหญ่ โรงสุรามักจะตั้งอยู่ในเขตชุมชนจีน แม้คนไทยที่มีเหล้าโรงก็มีอยู่ไม่น้อยแต่ไม่มากเท่าชาวจีน”

จากการศึกษาชิ้นนี้ก็พอจะให้ความหมายของ ‘โรงเหล้า’ ได้ว่า เป็นสถานที่ผลิตสุราจากโรงงาน ไม่ได้ผลิตโดยชาวบ้านร้านช่องทั่วๆ ไป และในช่วงเวลาที่งานศึกษาวิจัยก็คือช่วงที่ “คนจีนผูกขาดทั้งการขายและการกลั่นเป็นส่วนใหญ่”

ในอดีตนั้น รัฐบาลมีนโยบายผูกขาดการผลิตสุราเพื่อส่งเงินเข้าท้องพระคลัง ต่อมารัฐโอนอำนาจผูกขาดการผลิตและการขายสุราให้เอกชน รัฐได้รับผลตอบแทนจากส่วนแบ่งรายได้ของเอกชนผู้รับสัมปทาน ต่อมามีการเรียกร้องให้เปิดเสรีการผลิตสุรามากขึ้น แต่กฎหมายที่ถูกปรับปรุง ยังถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายใหญ่เสมอมา

ขณะที่การปราบปรามสุราชุมชนที่ปรากฏให้รับรู้ผ่านสื่อมวลชนก็ได้สร้างภาพลักษณ์การเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีผู้ผลิตสุราชุมชนที่ตั้งสถานที่ผลิตอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่แห้งขอดไปนานแล้ว อยู่ๆ ก็ถูกเพิกถอนใบอนุญาตผลิต เพราะอ้างว่าอยู่ใกล้แหล่งน้ำสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นกรณีแม่ค้าขายข้าวหมาก อายุ 60 ปี ถูกเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตเข้าจับกุม

หรือจะหันมาพินิจกรณี ‘เบียร์คราฟท์’ ก็น่าจะเห็นนัยยะของคำ ‘โรงเหล้าเถื่อน’ มากขึ้น

ประกาศกระทรวงการคลัง เมื่อปี 2543 อนุญาตให้มีการทำเบียร์ได้ 2 ประเภท 1. หากเป็นโรงงานขนาดใหญ่จะต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี 2. โรงเบียร์ขนาดเล็ก มีลักษณะเป็น Brew Pub (เช่น โรงเบียร์ตะวันแดง) และต้องผลิตในปริมาณขั้นต่ำที่ 1 แสนลิตรต่อปี โดยให้มีการบริโภคภายในพื้นที่ผลิต ไม่อนุญาตให้บรรจุขวด

ทั้งนี้การผลิตเบียร์ทั้งสองประเภท ผู้ผลิตจะต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนด้วยเงินทุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

หนทางการขอแบ่งพื้นที่ทางการตลาดของผู้ผลิตคราฟท์เบียร์ไทยก็คือการออกไปตั้งโรงงานผลิตที่ประเทศเพื่อนบ้าน แล้วตีกลับมาขายในประเทศ

กรณีของคราฟท์เบียร์เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า กฎหมายไทยจำนวนมากสนับสนุนทุนผูกขาด หรือทุนขนาดใหญ่ ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้คนทำเบียร์รายย่อยแบ่งพื้นที่ทางการตลาด…เรื่องนี้ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ผู้แทนราษฎรพรรคอนาคตใหม่ ย่อมรู้ดี

เพื่อพินิจลักษณะการผูกขาดของกฎหมายเกี่ยวกับการผลิตสุรา ก็ทำให้ประโยคอาบน้ำผึ้งของประธานสภาฯ มีนัยยะส่องสะท้อนลักษณะของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทย ในเวลานี้ได้เป็นอย่างดี

“ขอให้รักษามารยาท ที่นี่ประชุมสภาฯ ไม่ใช่โรงเหล้าเถื่อน”

ก่อนประโยคชวนบาดของประธานสภาฯ ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้ยกมือขออภิปรายในประเด็นที่ประธานวิปฝ่ายรัฐบาลขอให้มีการนับคะแนนใหม่ ด้วยเหตุผล “คะแนนฉิวเฉียด” โดยยกระเบียบการประชุมขึ้นมาอธิบายให้เห็นความแตกต่างระหว่างการนับกับการลงคะแนนใหม่

“เมื่อมีการออกเสียงลงคะแนนตามข้อ 83 (1) แล้ว ซึ่งเมื่อกี๊นี้พวกเราลงไปเรียบร้อยแล้ว แล้วถ้ามีสมาชิกร้องขอให้มีการนับใหม่โดยมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 20 คน นั่นก็คือการขอให้นับใหม่นะครับ แล้วท่านขอวินิจฉัย แล้วเขาก็จะต้องนับใหม่ ทีนี้นับใหม่คือยังไงครับ ฐานข้อมูลปรินท์ออกมาเรียบร้อยแล้วครับ ก็มานับ แล้วถ้าใครติดใจอะไร ก็ค่อยมาเสนอกันต่อว่าจะมาเปลี่ยนการลงคะแนนเป็น 83 (2) หรือไม่ ถ้าคำว่า ‘นับ’ กับคำว่า ‘ลง’ มีความหมายเดียวกัน เขาจะเขียนไม่เหมือนกันได้ยังไงครับ การที่ท่อนแรกใช้คำว่านับ แล้วท่อนหลังมาเขียนว่า ‘และให้ลง’ แสดงว่านัยยะไม่เหมือนกัน

“ผมคิดว่าเมื่อกี๊มันฉุกละหุกวุ่นวายจนน่าผิดสังเกตน่ะครับ ยังไม่มีใครอ่านมติเลยนะครับ เพียงแค่ขึ้นหน้าจอเท่านั้นเอง คือผมคิดว่าท่านประธานวิปรัฐบาลท่านใจเย็นๆ นิดนึง ผมคิดว่าทางซีกรัฐบาลคงเข้าใจนะครับ ว่าแพ้ก็คือแพ้ อย่าให้มีปัญหากับสภาแห่งนี้ ไม่อย่างนั้นสภานี้จะทำงานต่อไม่ได้ครับ”

ประธานสภายืนยันให้ตั้งกรรมการนับคะแนนใหม่ ซึ่งการนับคะแนนใหม่ตามระเบียบข้อบังคับนั้น กำหนดให้เป็นการลงมติใหม่ด้วยการขานชื่อเป็นรายบุคคล ส่งผลให้ สส.ฝ่ายค้านทยอยเดินออกจากห้องประชุมสภาฯ ส่งผลให้สภาฯ หรือโรงเหล้าเถื่อนของนายหัวชวนล่ม

คนที่รู้ดีที่สุดว่า นัยยะความหมายของประโยค ‘โรงเหล้าเถื่อน’ ที่ถูกพูดออกมาในกาละและเทศะนี้หมายถึงอะไรก็คือนายหัวชวน

แต่จะเป็นความหมายเดียวกับประชาชนที่เฝ้าดูการประชุมสภาผ่านการถ่ายทอดสดหรือไม่ นายหัวชวนก็ย่อมจะรู้ดี

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า