‘มีรัฐไว้ทำไม’ เมื่อรัฐไทยไร้ตัวตนในสายตาประชาชน

นับตั้งแต่ต้นปี 2563 หลังเกิดวิกฤติโรคระบาด COVID-19 มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเป็นใบไม้ร่วง มาจนถึงไม่กี่วันที่ผ่านมา ประเทศไทยเกิดข่าวสะเทือนขวัญต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์สารเคมีระเบิดจนเกิดเพลิงไหม้ของโรงงานในซอยกิ่งแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน อาคารบ้านเรือน และมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ตามมาด้วยเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานน้ำหอมที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร สร้างความตื่นตระหนกไปพร้อมๆ กับเหตุการณ์ลอบวางระเบิดที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และการยิงปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ติดอาวุธที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี 

กรณีข้างต้น วนกลับมาสู่คำถามพื้นฐานทางสังคมศาสตร์-รัฐศาสตร์ว่า “ทำไมรัฐจึงจำเป็นต้องมีตัวตน” เนื่องจากเหตุการณ์พิบัติภัยที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าการระดมความช่วยเหลือต่างๆ ทั้งการบริจาค การแจ้งข่าวสาร การทำระบบข้อมูล มักเกิดขึ้นจากภาคประชาชน ภาคเอกชน และกลุ่มสังคมต่างๆ ที่ไม่ใช่หน่วยงานภาครัฐโดยตรง 

ปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้เราต้องย้อนกลับไปดูบทบาทหน้าที่และการมีตัวตนของรัฐผ่านตำราพื้นฐานว่าด้วยการกำเนิดรัฐต่างๆ ทั่วโลก ว่าในความหมายนี้รัฐไทย ‘สอบผ่าน’ ตามทฤษฎีว่าด้วยการกำเนิดของรัฐข้อใดบ้าง รวมไปถึงการหาเหตุผลของการ ‘สอบตก’ ในแต่ละข้อ และผลกระทบที่ตกไปถึงประชาชนในชาติ

ฮอบส์, ล็อค และ รุสโซ: สามบิดาแห่งทฤษฎีสัญญาประชาคม 

กระโดดข้ามกาลเวลากลับไปยังศตวรรษที่ 17 ในสหราชอาณาจักร ปี ค.ศ. 1651 โธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) เขียนหนังสือชื่อก้องโลกที่อธิบายว่าทำไมรัฐจึงเกิดขึ้น (และทำไมเขาจึงคิดว่าเราควรอยู่ใต้เผด็จการ) ในหนังสือชื่อ Leviathan or The Matter, Forme and Power of a Commonwealth Ecclesiasticall and Civil หรือที่เรียกกันสั้นๆ ในปัจจุบันว่า ‘เลเวียอาธาน’ ท่ามกลางบรรยากาศสงครามและการเมืองระหว่างเกาะอังกฤษและฝรั่งเศสที่กำลังคุกรุ่นขณะนั้น

ฮอบส์เชื่อว่า ในสมัยก่อนที่จะมีรัฐนั้น มนุษย์ดำรงอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า ‘สภาวะธรรมชาติ’ ที่ป่าเถื่อนไร้กฎเกณฑ์ เนื่องด้วยธรรมชาติของมนุษย์นั้นหยาบกระด้าง เห็นแก่ตัว และเลวทราม มนุษย์ฆ่ากันเพื่อชิงความเป็นใหญ่อยู่ตลอดเวลา 

ความหวาดกลัวการตายอย่างรวดเร็วและโหดร้ายนี้เองทำให้มนุษย์กลุ่มหนึ่งตัดสินใจ ‘เลือก’ ใครสักคนขึ้นมามีอำนาจเหนือพวกเขาทั้งหมด การยกอธิปไตยและอิสรภาพบางส่วนไปให้แก่องค์อธิปัตย์นี้เอง ทำให้เกิดระบบกษัตริย์ขึ้นเป็นครั้งแรก และเปรียบเสมือนปีศาจร้ายในพระคัมภีร์เดิมนาม ‘เลเวียอาธาน’ ที่โหดร้าย น่าสะพรึงกลัว และมีอำนาจอย่างเด็ดขาดต่อผู้ต่อต้าน ความเลวร้ายขององค์อธิปัตย์เป็นที่พอรับได้ในสายตาของฮอบส์ เพียงเพราะเขามองว่าเลเวียอาธานเป็นผู้เดียวที่จะหยุดยั้งการตายอันไม่น่าพิสมัย และสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตประชาชนภายในรัฐได้มากกว่าการไร้รัฐและฆ่ากันตายของคนในสังคมเอง

แน่นอนว่า ทฤษฎีนี้กำเนิดขึ้นมาด้วยบริบทเฉพาะ คือสงครามระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส ทำให้การอธิบายความหมายของสิ่งต่างๆ ยืนอยู่บนฐานของความกลัวตายและความรุนแรงจากภายนอกเป็นหลัก แต่ภายหลังโลกเริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยที่มีความศิวิไลซ์มากขึ้น ทฤษฎีของฮอบส์ก็กลายเป็นเพียงตำราว่าด้วยการสนับสนุนทรราชไปเพียงเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ระบบการเมืองเริ่มก่อรูป และก้าวออกจากความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นสมมุติเทพของผู้ปกครอง ในยุคต่อมา อำนาจของผู้ปกครองที่มาจากประชาชนเบื้องล่างเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยของพวกเขานั้นก็ไม่ได้ลดความสำคัญลงแต่อย่างใด

ในฐานะที่เป็นตำราเล่มแรกๆ ในการศึกษาสังคมมนุษย์ สาระสำคัญในการตอบคำถามว่า “รัฐมีไว้ทำไม” ของฮอบส์จึงมุ่งตอบโจทย์ความปลอดภัยจากอันตรายภายในและภายนอกเป็นหลัก โดยปัจจัยสำคัญคือ ความชอบธรรมของอำนาจรัฐนั้นมาจากการที่ประชาชนเลือกจะสละเสรีภาพส่วนตนไปให้แก่คนใดคนหนึ่งเพื่อปกป้องคนทั้งปวงตั้งแต่แรกนั่นเอง ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนกับนักคิดคนต่อมาที่พยายามตอบคำถามเดียวกันว่า ทำไมเราจึงควรสร้างรัฐขึ้นมาอย่าง จอห์น ล็อค (John Locke) ในอีก 30 กว่าปีต่อมา

จอห์น ล็อค กล่าวเอาไว้ในงานเขียน An Essay Concerning Human Understanding; Two Treatises of Civil Government เมื่อปี ค.ศ. 1689 ว่า ในสมัยก่อนจะมีรัฐเกิดขึ้นนั้น มนุษย์ดำรงอยู่อย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีใครมีอำนาจหรือสิทธิเหนือกว่าใคร โดยเฉพาะทรัพย์สินส่วนตัวที่แต่ละคนหามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเองนั้นจะไม่ถูกผู้อื่นมาแย่งชิงไป ขณะเดียวกันก็ไม่มีการไปเอาของคนอื่นมาใช้เองด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นกฎตามธรรมชาติที่มนุษย์มีติดตัวมาตั้งแต่กำเนิดและใครจะมาพรากไปไม่ได้ ส่วนรัฐถ้าสามารถกำเนิดขึ้นได้นั้น ก็ต้องเกิดขึ้นเพราะความยินยอมพร้อมใจของประชาชนเท่านั้น

ความยินยอมพร้อมใจของมนุษย์ที่ตกลงกันว่าจะเลือกคนใดคนหนึ่งขึ้นมาปกครองตนเองนั้น ก็เป็นไปเพียงเพราะต้องการให้สังคมของตนเองมีความสะดวกสบาย ปลอดภัย และสงบสุข รัฐจึงเป็นเพียง ‘ร่างกายเสมือน’ ของเสียงส่วนมากในสังคมที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าผ่านความยินยอมพร้อมใจ ดังนั้นหน้าที่และความจำเป็นที่ต้องกำเนิดรัฐขึ้นมาก็เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์และทรัพย์สินของเสียงส่วนมากในสังคมเท่านั้น แต่รัฐไม่มีสิทธิที่จะกระทำการอย่างอื่นอย่างใดอันจะขัดกับหลักเสรีภาพที่มนุษย์มีตั้งแต่ดั้งเดิม

แนวคิดดังกล่าวของล็อคส่งผลให้เขาขึ้นแท่นหนึ่งในบิดาของแนวคิดเสรีนิยมที่ชูเสรีภาพของปัจเจกบุคคลเป็นหลักสำคัญ อิทธิพลทางความคิดของเขามีส่วนสำคัญในระบบการเมืองของหลายประเทศ รวมถึงการก่อร่างสร้างตัวของสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1776 ที่มองว่าผู้คนในแผ่นดินเกิดใหม่อย่างสหรัฐ ย่อมต้องมีสิทธิในทรัพย์สินของตนเอง ไม่ควรถูกขูดรีดจากจักรวรรดิอังกฤษอีกต่อไป การสร้างรัฐชาติของสหรัฐอเมริกาจึงเป็นการต่อสู้แตกหักกับรัฐบาลของจักรวรรดิอังกฤษ และได้ดึงเอาอีกหนึ่งชาติมหาอำนาจในขณะนั้นอย่างฝรั่งเศสเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งทำให้ภายหลังฝรั่งเศสได้ซึมซับเอาแนวคิดของความเป็นประชาธิปไตยกลับมาใช้ในแผ่นดินเกิดของตนในเวลาต่อมา ก่อนจะเกิดพัฒนาการทางแนวคิดเกี่ยวกับมนุษย์และการมีอยู่ของรัฐ ในงานเขียนก้องโลกของ ฌอง-ฌากส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) 

ก่อนจะมีรัฐนั้น มนุษย์ในตำรา The Social Contract ของ ฌอง-ฌากส์ รุสโซ ถูกอธิบายเอาไว้ในปี ค.ศ. 1762 ว่าไม่มีความสามารถในการสร้างสันติภาพหรือแม้แต่ภาวะสงครามระหว่างกันและกันได้ (มนุษย์จะฆ่ากันตายไม่ใช่โดยธรรมชาติ แต่จะฆ่ากันหรือสร้างสันติภาพต่อกันได้เมื่อเรารวมตัวกลายเป็นรัฐแล้วเท่านั้น) แต่อำนาจอธิปไตยอย่างรัฐ เกิดขึ้นเพียงเพื่อเป็นตัวแทนของ ‘เจตจำนงร่วม’ (The General Will) เท่านั้น

แนวคิดเจตจำนงร่วมของรุสโซ หมายถึงเจตจำนงของคน ‘ทุกคน’ ในสังคม แต่แน่นอนว่าความต้องการของคนแต่ละคนย่อมแตกต่างออกไปอย่างหลากหลายและเสรี สิ่งเดียวที่จะทำให้เราค้นพบเจตจำนงร่วมกันได้จึงมีเพียงการ ‘โหวต’ ของคนทุกคนเท่านั้น ดังนั้นรัฐในความหมายของรุสโซจึงมีตัวตนอยู่เพียงเพื่อรับใช้ความต้องการของคนทุกคน ผ่านนโยบายและกฎหมาย ในลักษณะนี้จึงไม่ใช่ว่ากฎหมายของรัฐกำลังปกครองหรือควบคุมมนุษย์ หากแต่เป็นตัวของมนุษย์ในสังคมนั้นๆ เสียเองที่ออกกฎหมายและนโยบายบางอย่างมามอบให้แก่ตนเอง โดยมีรัฐเป็นเครื่องมือ เพื่อประโยชน์ของคนทุกคนในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน

ในลักษณะดังกล่าวจึงทำให้เจตจำนงร่วมมีบทบาทอย่างมากในฐานะ ‘สิ่งที่ดีต่อสาธารณะ’ ที่แตกต่างไปจาก ‘สิ่งที่ดีของคนส่วนใหญ่’ ซึ่งรุสโซอธิบายว่า แม้แต่ประชาชนก็โดนหลอกได้ว่าสิ่งใดจะดีสำหรับตนเอง หรือ ‘สิ่งที่คิดว่าดีสำหรับคนบางกลุ่ม’ ที่ให้ประโยชน์แค่คนไม่กี่คนในสังคมเท่านั้น

จากแนวคิดทั้งสามที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ 3 เล่มใหญ่ และถูกนำไปใช้นับครั้งไม่ถ้วนในการเมืองทั่วโลก เราจึงพอสรุปแนวทางสำคัญของรัฐได้ว่า หากไม่ใช่การมีตัวตนอยู่เพื่อป้องกันภัยอันตรายต่อชีวิตในแบบของฮอบส์ การมีตัวตนอยู่เพื่อรักษาผลประโยชน์และอำนวยความสะดวกในการสั่งสมทรัพย์สินของประชาชนตามแบบของล็อค ก็เป็นไปเพียงเพื่อรับใช้เจตนารมณ์ของคนส่วนมากในสังคมตามแบบของรุสโซเท่านั้น แนวคิดทั้งสามนี้จะเป็นหัวใจสำคัญในการนำมาถอดรหัสรัฐไทยในหัวข้อถัดไปว่า มันมีความ ‘สมเหตุสมผล’ หรือไม่ ท่ามกลางสภาพความเป็นไปที่ดูจะไม่อำนวยประโยชน์ให้ประชาชนเลยสักทาง

ไม่ดูแล ไม่ให้เลือก ไม่รับฟัง: รัฐไทย บิดาแห่งคำสัญญาปากเปล่า

ประเทศไทย บนพื้นที่กว่า 513,210 ตารางกิโลเมตร และมีจำนวนประชากรทั้งสิ้นประมาณ 69 ล้านคน กำลังอยู่ภายใต้การปกครองและบริหารโดยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในการบริหารราชการแผ่นดินแทนปวงชนชาวไทยทั้งหมดตามที่เขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังถูกกระหน่ำด้วยพิษเศรษฐกิจ ภัยพิบัติร้ายแรงระดับโลกอย่างการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และปัญหาด้านความชอบธรรมทางการเมือง

รัฐไทยใช้ ‘ราชการ’ เป็นแขนขาในการจัดการกิจการที่เกี่ยวข้องทุกอย่างในประเทศ โดยแบ่งออกเป็นกระทรวงทั้งหมด 20 กระทรวง แบ่งบทบาทหน้าที่กันตามลักษณะการใช้งาน (function) โดยอุดมคติแล้ว ส่วนราชการของแต่ละกระทรวงจะมีหน้าที่ดูแลและให้บริการประชาชนตามหน้าที่ที่ตนเองมีขอบเขตอำนาจจะกระทำได้ และด้วยวิกฤติที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน กระทรวงที่ควรจะมีบทบาทมากที่สุดจึงควรเป็นกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน เพื่อดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎรภายใต้สถานการณ์พิเศษที่ย่ำแย่ทั้งทางสุขภาพและเศรษฐกิจ

ความไม่น่าไว้วางใจที่มีต่อรัฐบาลไทยในขณะนี้แพร่ลามในหมู่ประชาชนอย่างรวดเร็ว เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2564 ในมาตราที่ 8 กลับให้งบประมาณแก่กระทรวงกลาโหมถึง 107,740,146,800 บาท ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ได้งบไปเพียง 3,741,055,000 บาท และกระทรวงสาธารณสุขได้ไปเพียง 26,924,384,800 บาท จึงทำให้ดูเหมือนว่ากองทัพจะมีความสำคัญสำหรับรัฐไทยมากไปกว่าอัตราการว่างงาน การค้าขายที่ฝืดเคือง และวิกฤติโรคระบาด ทั้งที่รัฐไทยในขณะนี้ไม่ได้ตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงที่จะเกิดสงครามแต่อย่างใด

งบประมาณที่ดูจะไม่สมเหตุสมผลกับสถานการณ์ของประชาชนในประเทศที่กล่าวมานี้ ยังไม่รวมไปถึงการเพิ่มงบประมาณของบางภาคส่วนที่ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาความยากจน ปัญหาเศรษฐกิจ หรือปัญหาโรคระบาด จนสร้างข้อครหาอย่างมีนัยสำคัญแก่รัฐบาลอีกด้วย

ขณะเดียวกัน กรณีเหตุอัคคีภัยและการระเบิดของโรงงานและเขตชุมชนหลายจุดในช่วง 1 เดือนที่ผ่าน กลับพบว่าการทำงานของส่วนราชการและภาครัฐต่าง ‘อ่อนแรง’ ตั้งแต่กระบวนการป้องกันไปจนถึงการระงับเหตุ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเหตุการณ์ระเบิดที่โรงงานหมิงตี้ จังหวัดสมุทรปราการ การขาดชุดและอุปกรณ์ป้องกันที่มีมาตรฐานของนักดับเพลิง การขาดแผนผังของโรงงานเพื่อใช้ในการวางแผนดับเพลิง ทำให้ประชาชนต้องกระโดดเข้ามาร่วมทำหน้าที่แก้ไขปัญหาด้วยการใช้ทีมโดรน Novy ในการบินค้นหาจุดปิดถังสารเคมี และการขาดระบบแจ้งเตือนภัยด้วยข้อมูลที่แม่นยำของภาครัฐ ทำให้ประชาชนจำเป็นต้องพึ่งพาข้อมูลข่าวสารจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นหลัก เรียกได้ว่าความโกลาหลที่เกิดขึ้นนั้น รัฐไม่สามารถแสดงบทบาทและตัวตนอย่างที่ควรจะเป็น 

ภายหลังเมื่อสถานการณ์ไวรัส COVID-19 เริ่มหนักหนาขึ้น โดยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อต่อวันแตะ 8,000 คนขึ้นไป (โดยไม่มีข้อมูลที่ชัดแจ้งว่า ตัวเลขเหล่านี้ได้มาอย่างไรและครอบคลุมครบถ้วนเพียงใดหรือไม่) การเรียกร้องให้ภาครัฐออกมาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์จริงของการระบาดก็ถูกกลบด้วยข้อกำหนดใหม่ที่อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยเฉพาะในข้อที่ 11 ที่ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า 

มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548”

ซึ่งแตกต่างไปจากข้อกำหนดเดิมฉบับที่ 1 อันเริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ด้วยการตัดวลี “อันไม่เป็นความจริง” ออกจากตัวกฎหมายไป ทำให้เป็นที่ตีความได้ว่า การห้ามนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของไวรัสในขณะนี้ ภาครัฐจงใจตัดวลีดังกล่าวออกอย่างมีนัยสำคัญ และแสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจหรือโปร่งใสในการดูแลประชาชนในประเทศ

เมื่อเป็นไปดังนี้แล้ว เท่ากับรัฐไทยไม่สนใจที่จะป้องกันภัยอันตรายของประชาชนมากกว่าที่จะปกป้องอำนาจของตน เช่นเดียวกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประชาชน รวมไปถึงเสรีภาพในการแสดงออกทั้งความคิดเห็น การพูด การเขียน ไปจนถึงการนำเสนอข่าวของสื่อทั้งหลาย เช่นนี้แล้วรัฐไทยจึงไม่สามารถตอบคำถามว่า “รัฐมีไว้ทำไม” ของฮอบส์และล็อคได้ เนื่องจากเป้าหมายสำคัญสูงสุดของรัฐ ไม่ใช่การจัดการสิ่งใดเพื่อประชาชนเป็นลำดับแรกเลย

ดังนั้นเราจึงเหลือคำอธิบายเพื่อหาคำตอบจากทฤษฎีดังกล่าวได้เพียงจากหนังสืออีกเล่มเดียว คือ The Social Contract ของรุสโซ แต่เมื่อนำรัฐไทยไปแทนค่าในสมการดังกล่าว กลับพบว่ารัฐไทยไม่ได้มีการพยายามที่จะปฏิบัติตามเจตจำนงร่วมของประชาชนในรัฐมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากการเข้ามามีอำนาจของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หากไม่ได้เข้ามาด้วยรัฐประหาร ก็มาจากการเลือกตั้งที่มีความไม่โปร่งใสด้านกติกา ขณะเดียวกันการใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลชุดนี้ก็ไม่ได้มีการเปิดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากนัก หัวใจสำคัญอย่างการถามความคิดเห็นของทุกคนหรือการลงคะแนนออกเสียงเพื่อตัดสินใจร่วมกันจึงไม่เกิดขึ้น และทำให้รัฐไทยไม่ได้มีตัวตนอยู่เพียงเพื่อเป็นแขนขาให้กับเจตจำนงร่วมของคนทุกคนในรัฐตั้งแต่แรก

เมื่อทั้งสามทฤษฎีที่คนทั่วโลกพึงใช้กันเพื่อหาเหตุผลหรือกำหนดขอบเขตของรัฐไม่สามารถใช้ได้กับรัฐไทย สิ่งเดียวที่เราพอจะตอบได้ในขณะนี้คือ บางทีเราอาจจะคิดโจทย์ผิดแต่แรก เนื่องจากทั้งสามทฤษฎีข้างต้นนั้นเป็นการคิดโดยอาศัยประชาชนเป็นฐานสำคัญในการกำเนิดรัฐ โดยที่มาของอำนาจรัฐต้องเกิดจากการตกลงปลงใจของประชาชนเบื้องล่าง สาเหตุที่รัฐมีตัวตนอยู่จึงเป็นไปเพื่อดูแลคนเบื้องล่างเป็นสำคัญ 

ดังนั้นถ้าต้องหาเหตุผลให้ได้ว่าจริงๆ แล้วรัฐไทยมีไว้ทำไมนั้น เราอาจจะต้องโยนฐานคิดดังกล่าวทิ้งไปแล้วลองกลับสมการดู บางทีการทำงานของรัฐที่ดูจะไม่ ‘function’ กับประชาชน ก็อาจจะ ‘function’ ได้ดีกับภาคส่วนอื่น และทำหน้าที่ทั้งปกป้องภัยอันตราย ปกป้องทรัพย์สิน หรือตอบรับเจตจำนงจากทุกสิ่งที่ไม่ใช่ประชาชนภายในรัฐก็เป็นได้ 

ที่มา:

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

ณัฎฐณิชา นาสมรูป
นักศึกษากราฟิกดีไซน์ ผู้สนใจในเรื่องเพลง การเมือง และประเด็นทางสังคม เป็นคนพูดไม่เก่งแต่มีเรื่องราวมา Deep conversation กับเพื่อนเสมอ เมื่อก่อนชอบอ่านหนังสือมาก แต่ตอนนี้ชอบนอนมากกว่า

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า