ปี 2016 ภาพยนตร์ ก็อดซิลลา ภาคใหม่ของญี่ปุ่นกำลังจะเข้าฉายในชื่อ Shin Godzilla ที่มีขนาดว่ากันว่า ‘โคตรใหญ่’ กว่าบรรดาก็อดซิลลาเวอร์ชั่นที่ผ่านๆ มา
1954 หรือ 60 กว่าปีที่แล้ว ก็อดซิลลาเกิดขึ้นจากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ จนเป็นสัตว์กลายพันธุ์ขนาดยักษ์ ก็อดซิลลาเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของภาวะหลังสงครามโลก ที่ผู้คนตระหนักถึงภัยของนิวเคลียร์และสารกัมมันตรังสี แนวคิดนี้สะท้อนผ่านวัฒนธรรมและสื่อต่างๆ เรื่อยมาจนถึงยุคสงครามเย็น
จริงๆ ทุกวันนี้ก็ยังมีหนังแนวๆ นี้อยู่ ประมาณว่าทำถังของเสียจากห้องแล็บตกใส่รังบีเวอร์ แล้วกลายเป็นสัตว์ประหลาดไล่ฆ่าคน…เป็นต้น
อะไรอยู่ใต้น้ำแข็ง
กรณีล่าสุดอาจเหมือนภาพยนตร์สัตว์ประหลาดในทุ่งหิมะ The Thing แหวกมฤตยู อสูรใต้โลก เพราะใต้พื้นน้ำแข็งที่กรีนแลนด์มีบางอย่างซ่อนอยู่
ปี 1959 ฐานทัพ Camp Century ถูกสร้างขึ้นภายใต้ชั้นน้ำแข็งของกรีนแลนด์ เพื่ออำพรางสายตาข้าศึก เพราะอยู่ในพิสัยสั้นที่สุดสำหรับการยิงมิสไซล์ของสหรัฐและโซเวียต โดยฐานทัพที่วิจัยเกี่ยวกับขีปนาวุธนี้กินพื้นที่ประมาณสนามฟุตบอล 100 สนาม ทหารประจำการราว 200 นายทำงานอยู่ที่นี่ช่วงสงครามเย็น มีอุโมงค์เชื่อมต่อส่วนต่างๆ มากมาย ถนนเส้นหลักมีความยาว 335 เมตร กว้างเกือบ 8 เมตร และสูงถึง 8.5 เมตร
ด้วยความที่เป็นอาณาจักรใต้ดิน ทำให้ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ถูกฝังอยู่ในนั้น รวมถึงเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ PM-2A ที่ผลิตพลังงานหล่อเลี้ยงฐานทัพมูลค่าเกือบ 6 ล้านดอลลาร์ (ขณะนั้น) ก็ถูกฝังไว้ใต้ดิน หลังยุติการใช้งานในปี 1966 หนึ่งปีถัดมา สหรัฐก็ทิ้งฐานทัพนี้ไว้เฉยๆ พวกเขาหวังว่าชั้นน้ำแข็งที่ปัจจุบันหนา 35 เมตร จะฝังกลบทุกสิ่งทุกอย่างไว้ตลอดกาล
ผ่านไปเกือบ 50 ปี งานวิจัยซึ่งนำโดยทีมจากมหาวิทยาลัยยอร์ค (York University) ในแคนาดา ร่วมกับมหาวิทยาลัยซูริค (University of Zurich) ถูกตีพิมพ์ใน Geophysical Research Letters ในเดือนสิงหาคมนี้ ระบุว่า เนื่องจากความผันผวนด้านภูมิอากาศ บวกกับภาวะโลกร้อน เหล่านี้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทำให้น้ำแข็งบริเวณกรีนแลนด์เริ่มละลาย และถ้าอัตราการละลายยังมีความเร็วเท่ากับทุกวันนี้ เราจะพบกับฐานทัพใต้ดิน Camp Century ตัวเป็นๆ ภายในปี 2090
นั่นรวมถึงขยะของเสียที่อยู่ในนั้นด้วย
ขยะเคมีใน Camp Century ไม่ได้ถูกกำจัดก่อนถูกทิ้งร้าง ปริมาณของเสียที่ทีมวิจัยคาดไว้คร่าวๆ ประกอบด้วยน้ำมันดีเซลราว 200,000 ลิตร น้ำเสียปนเปื้อนสารเคมีอีก 240,000 ลิตร รวมทั้งกากกัมมันตรังสี และทีมวิจัยก็ยังมั่นใจอีกว่า ในบรรดาของเสียทั้งหลายยังมีสารพิษปนเปื้อนอยู่อีกไม่น้อย
สารสำคัญตัวหนึ่งที่ทีมวิจัยเชื่อว่าจะพบ คือ polychlorinated biphenyls (PCBs) สารเคมีที่ใช้ในการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า มีพิษออกฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์ ระบบประสาท การเจริญเติบโต การทำงานของต่อมไร้ท่อ ข้อมูลของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (U.S. Environmental Protection Agency: EPA) ระบุว่า สาร PCBs อาจเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุการเกิดมะเร็งในมนุษย์ได้
หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง กากกัมมันตรังสีและ PCBs จะกระจัดกระจายไปตามกระแสน้ำ กระทบระบบนิเวศของกรีนแลนด์และพื้นที่ทั่วมหาสมุทรอาร์กติก ผู้คนที่อาศัยแถบกรีนแลนด์จะได้รับผลเต็มๆ ยาวจนถึงแคนาดา และปลายทางอาจปนเปื้อนไปกับอาหารส่งตรงถึงครัวทั่วโลก
ไม่แน่ ตอนนั้นคงได้เห็นสัตว์กลายพันธุ์ตัวจริง เช่น หมึกยักษ์ผสมฉลาม…เป็นต้น
ความลับและเรื่องตลก
Camp Century ถูกสร้างโดยสหรัฐ ห่างจากชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงเหนือของกรีนแลนด์ 200 กิโลเมตร ภายใต้ความยินยอมของเดนมาร์กเจ้าของพื้นที่ แต่กรีนแลนด์เป็นพื้นที่ปกครองตนเอง ซากฐานทัพแห่งนี้จึงไม่มีใครรับผิดชอบ โดยเฉพาะสารพิษทั้งหลายใต้น้ำแข็งที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการขนย้าย ทั้งสองฝ่ายจึงส่ายหน้า
นอกจากนี้ยังมีเรื่องจุดประสงค์ลับๆ ของการสร้าง Camp Century คือ ‘Project Iceworm’ เพราะสหรัฐยุคสงครามเย็นต้องการแสดงแสนยานุภาพทางอาวุธแข่งกับโซเวียตข้ามมหาสมุทรอาร์กติก จึงเตรียมขุดอุโมงค์ยาว 4,000 กิโลเมตร ลึก 8.5 เมตร เพื่อบรรจุขีปนาวุธ Iceman 600 ลูก ถ้าโครงการฐานระดมยิงจรวดนี้ถูกสร้าง จะมีขนาดใหญ่กว่าเดนมาร์กสามเท่า แต่ที่สุดแล้วแผนเรื่องอุโมงค์อลังการก็ถูกพับไป
นอกจากนี้ยังมีเรื่องย้อนแย้งอยู่ว่า ในปี 1964 Camp Century เป็นหนึ่งในฐานทัพแรกๆ ที่ยอมให้นักวิจัยเข้าไปเก็บข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม โดยอนุญาตให้ วิลลี ดานส์การ์ด ทำการขุดเก็บตัวอย่างแกนน้ำแข็ง (ice core) เพื่อเป็นข้อมูลในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกในอดีตที่ผ่านมา