จนถึงตอนนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า มีอะไรดลใจให้รัฐบาลโยนหินถามทางด้วยแนวนโยบายแปลกๆ เกินจินตนาการ อย่างการเชิญให้ตำรวจจีนเข้ามาลาดตระเวนตามแหล่งท่องเที่ยวในไทยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวชาวจีนกล้าเดินทางมาเยือนเมืองไทย เพียงเพื่อเหตุผลที่ว่าโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ให้เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้คือ 4-4.4 ล้านคน
การแถลงข่าวเรื่องนี้ของฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เกิดขึ้นหลังจากเข้าร่วมประชุมกับนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 โดยให้เหตุผลว่า โครงการนี้จะช่วยยกระดับความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวจีนอีกขั้นหนึ่ง ดังโมเดลที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วที่ประเทศอิตาลี
ถึงอย่างไรก็เป็นเหตุผลที่ทำความเข้าใจได้ยากยิ่ง แม้โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษานายกฯ อย่างชัย วัชรงค์ จะออกมาช่วยแก้ข่าวเล่าความให้ในวันรุ่งขึ้นว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องการจะสื่อสารนั้นแท้จริงแล้วหมายถึงการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทางฝั่งจีนมาช่วยให้ข้อมูลด้านการปฏิบัติงานแก่ตำรวจไทยเท่านั้น และที่ต้องนำตำรวจจีนมาอ้างอิงนั้นเป็นเพราะกลุ่ม ‘ทุนจีนสีเทา’ มีความยำเกรงตำรวจจีนมากเป็นพิเศษ ในแง่หนึ่งอาจจะมากกว่าตำรวจไทยเสียด้วยซ้ำ ไม่อย่างนั้นคงไม่หนีมาโบกสีเทาในไทย
ทว่าเมื่อได้ฟังเช่นนี้แล้วกลับไม่ได้ชวนให้รู้สึกสบายใจ หรือเกิดความกระจ่างขึ้นเลยแม้แต่น้อย ยิ่งโดยเฉพาะในยุคที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) เลือกโยนแนวคิด “Hide your strength, bide your time” ของ เติ้ง เสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) ทิ้งลงถังขยะ ก็มีแต่ข่าวคราวเรื่องจีนแผ่ขยายอิทธิพลเหนือประเทศเพื่อนบ้านทั้งใกล้และไกล ผ่านการใช้เครือข่ายนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะลไปกว้านซื้อที่ดิน บริษัท ท่าเรือ หรือแม้แต่การไปร่วมทุนกับบริษัทด้านโทรคมนาคมในหลายประเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็นหัวข้อสนทนาในเวทีวิชาการและนโยบายความมั่นคงตลอดหลายปีที่ผ่านมาทั้งสิ้น
อาจกล่าวอย่างตรงไปตรงมาได้ว่า ในการรับรู้ของประชาชนทั่วไปย่อมไม่อาจเบาใจได้ จริงอยู่ที่สารจากรัฐบาลไทยนั้นมุ่งสร้างความเชื่อมั่นและคลายกังวลให้นักท่องเที่ยวชาวจีน แต่ในทางกลับกัน ชาวไทยอีกจำนวนไม่น้อยกลับไม่ได้รู้สึกถึงความปลอดภัยขึ้นเลย
อย่าลืมว่ารัฐบาลจีนนั้นขึ้นชื่อเรื่องการสอดแนมประชาชนของตัวเอง อีกทั้งยังเชี่ยวชาญในด้านการเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่คิดเห็นไม่ตรงกับแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน หากย้อนไปดูกรณีฮ่องกงเป็นตัวอย่าง เมื่อฮ่องกงกลับคืนไปสู่อ้อมอกของจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่นานรัฐบาลจีนก็ตรากฎหมายฉบับใหม่เพื่อทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของเขตปกครองพิเศษฮ่องกง พร้อมทั้งนำตำรวจและหน่วยงานความมั่นคงมาตั้งสำนักงานบนเกาะฮ่องกง นักกิจกรรมทางการเมืองพรรคฝ่ายค้านฮ่องกง เช่น กลุ่มก๊วน Demosisto ของ โจชัว หว่อง (Joshua Wong) และ นาธาน หลอ (Nathan Law) เป็นต้องอพยพหลบหนีกันไปคนละทิศทาง บ้างก็อยู่ญี่ปุ่น บ้างก็ไปอังกฤษ รวมถึงสหรัฐอเมริกา
และต่อให้คนเหล่านั้น ย้ายไปพำนักในต่างประเทศก็ไม่พ้นสายตาของหน่วยข่าวกรองจีนอยู่ดี เพราะทาง Federal Bureau of Investigation (FBI) เองก็ได้รับรายงานเกี่ยวกับสายลับจีนแฝงตัวเข้ามาในสหรัฐอเมริกาอยู่เนืองๆ นับประสาอะไรกับประเทศเพื่อนบ้านขนาดเล็กอย่างไทยที่มีเขตแดนทางภูมิศาสตร์ตั้งอยู่ในเขตสวนหลังบ้าน (geopolitical backyard) ของจีน
ตัวอย่างที่จับต้องได้มากที่สุดเห็นจะเป็นกรณีที่สำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่านของ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ซึ่งได้รับข้อเสนอการเทคโอเวอร์จากนักธุรกิจจีนด้วยเงิน 2 ล้านบาท หลังนำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับพันธมิตรชานม (Milk-Tea Alliance) และทำตัวสนิทสนมกับ โจชัว หว่อง มานานแรมปี รวมถึงกรณีสถานเอกอัครราชทูตจีนในไทยออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านช่องโทรทัศน์ไทยที่ไปเชิญรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันมาสัมภาษณ์ออกสื่อเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้
เห็นได้ชัดว่าจีนติดตามดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนในต่างประเทศที่มีอุดมการณ์ขัดกับพรรคคอมมิวนิสต์มาตลอด และพร้อมที่จะตอบโต้ทุกเมื่อแม้จะเป็นเพียงการตอบโต้ผ่านตัวอักษรก็ตาม เมื่อประเมินให้ไกลไปกว่านั้น หากรัฐบาลจีนมีอำนาจหรือมีฝ่ายความมั่นคงเข้ามาลาดตระเวนในเมืองไทยจริงๆ จะเกิดผลกระทบอะไรตามมาบ้าง
แน่นอนว่าประเด็นการให้ตำรวจหรือทหารของประเทศพันธมิตรเข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร หรือเบาะแสด้านอาชญากรรมข้ามชาติ อาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยปกติมานานแล้ว แต่ในทางปฏิบัตินั้นกลุ่มเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของประเทศพันธมิตรที่เข้ามาในลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะถูกจำกัดขอบเขตอำนาจให้อยู่แต่ภายในสถานเอกอัครราชทูต มากกว่าจะมาจัดตั้งสำนักงานแยกเป็นเอกเทศภายนอก (stand-alone stations) และไม่มีอำนาจใดมาติดตามจับกุม ทว่าเมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลไทยเพลี่ยงพล้ำ บังเอิญไปมอบสิทธิให้ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลต่างประเทศเข้ามาปฏิบัติการในไทย เมื่อนั้นความวุ่นวายและความเชื่อมั่นที่ประชาคมระหว่างประเทศมีต่อไทยจะลดลงยิ่งกว่าเดิม
เหตุผลสำคัญเลยคือ ไทยเป็นดินแดนสวรรค์ (safe-haven) ของนักกิจกรรมทางการเมืองต่างประเทศ ไม่ว่าจะหนีจากรัฐบาลเผด็จการประเทศใดมา ฝั่งไทยยินดีต้อนรับทั้งหมด ไม่ว่าจะเมียนมา กัมพูชา เวียดนาม ไปจนถึงจีน ฮ่องกง และไต้หวัน ไม่เช่นนั้นไทยคงไม่ได้รับขนานนามเป็น ‘ศูนย์กลางภูมิภาคของกลุ่มพันธมิตรชานม’ ดังเช่นทุกวันนี้ หากรัฐบาลไทยไม่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของประเด็นดังกล่าวนี้ ก็ขอให้คำนึงว่าปัจจุบันมีเยาวชน หรือพูดให้ชัดก็คือ นักกิจกรรมทางการเมืองไทยจำนวนมากที่นิยามตนเอง (แบบไม่เป็นทางการ) เป็นเครือข่ายพันธมิตรชานมร่วมกับนักกิจกรรมฮ่องกง-ไต้หวัน ต้องถูกต่างชาติคุกคามสิทธิ ซึ่งคงไม่ใช่ภาพลักษณ์ที่ดีแน่ๆ ถ้าวันใดวันหนึ่งมีข่าวออกมาว่าฝ่ายความมั่นคงจีนติดตามเนติวิทย์และพรรคพวก รวมถึงไปสอดแนมถึงที่พักอาศัยส่วนตัว
แล้วที่บอกว่าจะใช้โมเดลกรอบความร่วมมือแบบเดียวกับที่อิตาลีทำกับจีนช่วงปี 2016-2019 นั้นยิ่งเลวร้ายเข้าไปใหญ่ เพราะหลังจากรัฐบาลอิตาลีลงนามข้อตกลงกับรัฐบาลจีนเรื่องการลาดตระเวนแล้วนั้น ทางฝ่ายความมั่นคงจีนก็ได้เข้าไปจัดตั้งสถานีตำรวจอย่างไม่เป็นทางการในอิตาลีมากกว่า 10 แห่ง เพื่อติดตามข่มขู่คุกคามกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลที่มีอุดมการณ์ขัดกับพรรคคอมมิวนิสต์ พร้อมกับความพยายามที่จะนำตัวชาวจีนเหล่านั้นกลับแผ่นดินใหญ่อย่างไม่เต็มใจ จนในท้ายที่สุดรัฐมนตรีมหาดไทยของอิตาลี มัตเตโอ ปิอานเตโดซี (Matteo Piantedosi) ต้องออกมาประกาศยุตินโยบายดังกล่าวไปเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งในเมื่อมีกรณีศึกษาจากต่างประเทศให้เห็นถึงผลลัพธ์แล้ว รัฐบาลไทยมีความจำเป็นอย่างไรจึงต้องไปกระทำความผิดพลาดซ้ำกับรัฐบาลอิตาลี
เรื่องนี้กล่าวอย่างเป็นธรรมที่สุด คงจะโทษฝั่งไทยหรือคนในรัฐบาลไทยแต่ถ่ายเดียวก็คงไม่ได้ เพราะผู้ใหญ่หลายคนในนั้นน่าจะรู้อยู่แก่ใจเป็นพื้นฐานอยู่แล้วว่า การเสนอนโยบายลักษณะดังกล่าวไปรังแต่จะมีกระแสตีกลับ แต่ก็คงช่วยไม่ได้เนื่องจากรัฐบาลไทยมีชนักติดหลังจากคำมั่นสัญญาเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ จึงต้องดิ้นรนทุกทางเท่าที่จะทำได้ ซึ่งช่องทางที่ดูจะซับซ้อนน้อยที่สุด และเห็นผลเร็วที่สุดอย่างที่หลายๆ รัฐบาลที่ผ่านมาพยายามใช้ก็คือ การกระตุ้นให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวขยายตัว
ถึงจุดนี้แล้วคงคาดเดากันได้ไม่ยากว่า ตัวแปรสำคัญในใจของหลายๆ คน ที่เชื่อว่าจะมาช่วยให้การกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นประสบความสำเร็จคือใคร เมื่อรูปการณ์มันถูกจัดวางมาในลักษณะนี้ ฝ่ายที่มีอำนาจต่อรองสูงกว่าย่อมหนีไม่พ้นพี่ใหญ่อย่างจีน
อาจเป็นไปได้ว่า แนวคิดเรื่องการนำตำรวจจีนมาลาดตระเวนในไทยอาจเป็นข้อเสนอแกมบีบคอจากทางฝั่งจีนด้วยซ้ำ เพราะตอนนี้ประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตกอยู่ในสถานะต้องเป็นฝ่ายง้อจีน จากการที่นักท่องเที่ยวจีนเน้นเที่ยวกันภายในประเทศ และรัฐบาล สี จิ้นผิง เองก็ไม่สนับสนุนให้คนจีนออกไปเที่ยวต่างประเทศสักเท่าใดนัก อาจมีความเป็นไปได้ว่าการเดินทางไปเยือนจีนเมื่อเดือนที่ผ่านมา ไทยไปเจรจาเรื่องการท่องเที่ยวกับจีน ทางฝั่งจีนเลยยื่นข้อเสนอดังว่าเข้ามา และนำไปสู่การโยนหินถามทางของรัฐบาลดังที่เห็นอยู่นี้กระมัง