Rahaf เป็นใคร มาจากไหน และกำลังจะไปไหน

ทำไมทุกคนกำลังพูดถึงเรื่องของเธอ 

ราฮาฟ คือหญิงสาวซาอุดีอาระเบียวัย 18 ปี เรื่องราวของเธอปรากฏต่อชาวโลกหลังจากเธอทวีตขอความช่วยเหลือผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัว @rahaf84427714 ว่าถูกกักตัวอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิของไทยเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2562 ระหว่างที่เธอรอเปลี่ยนเครื่องเพื่อไปยังประเทศออสเตรเลีย (เธอเดินทางมาจากคูเวต) ในสถานะ ‘ผู้ร้องขอการลี้ภัย’

 

เกิดอะไรขึ้นกับเธอก่อนหน้านี้

พลตำรวจตรีสุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ราฮาฟ โมฮาเหม็ด แอล-เคนูน หนีการแต่งงานมา เธอไม่มีวีซ่าเข้าประเทศไทย ตำรวจไทยจึงปฏิเสธที่จะให้เธอเดินทางเข้าประเทศ และกำลังอยู่ในกระบวนการส่งตัวกลับด้วยสายการบินเดียวกับที่เธอเดินทางมา ซึ่งก็คือ คูเวตแอร์เวย์ส

ด้านราฮาฟได้กล่าวว่า เธอเดินทางหนีจากครอบครัว ระหว่างไปท่องเที่ยวในประเทศคูเวต และขึ้นเครื่องบินเพื่อจะเดินทางไปยังออสเตรเลีย โดยจะต้องมาต่อเครื่องบินที่เมืองไทย และถูกทางเจ้าหน้าที่กักตัวไว้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ข้อมูลจากราฮาฟแย้งว่า เธอแค่แวะมาเปลี่ยนเครื่องที่ไทยเพื่อจะไปออสเตรเลียเท่านั้น (ไม่จำเป็นต้องมีวีซ่าเข้าไทย)

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม เป็นต้นมา ราฮาฟถูกกักตัวไว้ที่โรงแรมในสนามบินสุวรรณภูมิ และมีคนคอยคุมไม่ให้เธอหลบหนี ซึ่งหลังจากการถูกกักตัว เธอได้ทวีตขอความช่วยเหลือจาก UNHCR และได้แจ้งเจตจำนงในการให้ข้อมูล อายุ และใบหน้าของเธอผ่านทางทวิตเตอร์เพื่อยืนยันว่าเธอมีตัวตนอยู่จริง รวมทั้งบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเธอว่า “ฉันเป็นผู้หญิงที่หนีออกจากคูเวตมายังประเทศไทย ฉันตกอยู่ในอันตรายจริงๆ เพราะสถานทูตซาอุดีอาระเบียพยายามบังคับให้ฉันกลับไปที่ซาอุดีอาระเบีย ในขณะที่ฉันอยู่ที่สนามบินเพื่อรอเที่ยวบินที่สองของฉัน”

เธอยังบอกกับบีบีซีว่า เธอละทิ้งศาสนาอิสลามและกลัวจะถูกส่งตัวกลับไปซาอุดีอาระเบียและถูกครอบครัวตัวเองฆ่า ซึ่งเธอเล่าว่า ก่อนหน้านี้เคยถูกครอบครัวขังอยู่ในห้อง 6 เดือน เพียงเพราะไปตัดผม แต่ครอบครัวมองว่า ผู้หญิงไม่ควรจะตัดผมเหมือนผู้ชาย เพื่อเล่าถึงความหวาดกลัวที่เธอมีต่อครอบครัว

 

ท่าทีของรัฐบาลไทย

ท่าทีของรัฐบาลไทยที่ต้องการส่งตัวเธอกลับประเทศด้วยเที่ยวบินของสายการบินคูเวตแอร์เวย์ส เช่นเดียวกันกับการให้สัมภาษณ์ของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่กล่าวว่าเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องระหว่างซาอุดีอาระเบียกับประเทศไทย ไม่เกี่ยวกับประเทศที่สาม ซึ่งจะส่งไปประเทศที่สามตามที่ร้องขอไม่ได้ เพราะไทยเองไม่มีอำนาจ และแม้ว่าหญิงสาวรายนี้จะมีความประสงค์ที่จะขอลี้ภัยไปประเทศออสเตรเลีย แต่ก็ไม่รู้ว่าทางประเทศออสเตรเลียจะรับหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องของไทยกับซาอุดีอาระเบีย ถ้ามีคดีความก็ต้องจัดการให้เสร็จก่อนถึงจะส่งกลับ ซึ่งทางสถานทูตซาอุดีอาระเบีย ก็เข้ามาดูแล แต่เราต้องควบคุมไว้เพราะเขาเข้าเมืองมาแบบผิดกฎหมาย

เรื่องราวของราฮาฟที่ปรากฏต่อสายตาชาวโลกผ่านโซเชียลมีเดียและท่าทีของรัฐบาลไทยทำให้เกิดกระแส #SaveRahaf และข้อเรียกร้องจากหน่วยงานและองค์กรเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน เช่น สำนักกฎหมายเอ็นเอสพี ได้รับมอบหมายจาก Human Right Watch ให้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ว่าการกักขังราฮาฟอาจเป็นไปโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญาของไทย มาตรา 90 และคำกล่าวในแถลงการณ์ของ นายไมเคิล เพจ รองผู้อำนวยการ Human Right Watch ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ว่ารัฐบาลไทยควรระงับส่งตัว ราฮาฟ โมฮาเหม็ด แอล-เคนูน กลับทันที และอนุญาตให้เธอเดินทางต่อไปยังออสเตรเลีย หรือไม่ก็อนุญาตให้เธออยู่ในไทยต่อไป เพื่อขอความคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัย เนื่องจากการส่งตัวของเธอไป จะเป็นการปล่อยให้เธอต้องเผชิญกับอันตรายจากครอบครัวและการกีดกันทางเสรีภาพ

ต่อมาท่าทีของรัฐบาลไทยได้เปลี่ยนไปจากการให้สัมภาษณ์ของพลตำรวจตรีสุรเชษฐ์ ที่กล่าวว่า “วันนี้ถ้าเขาต้องถูกทำร้ายถูกลงโทษ ลงทัณฑ์ ถูกฆ่า อย่างนี้ เป็นต้น เราก็คงต้องใช้หลักสิทธิมนุษยชน หลักของศีลธรรม เข้ามาเดินคู่ขนานไปด้วย” และยังเสริมว่า “วันนี้เขาอยู่ในดินแดนไทย ใครจะมาบังคับให้เขาไปไหนมาไหนไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานไหนก็ตาม เรายังต้องปกป้องคุ้มครองเขา” รวมทั้งได้กล่าวว่า ราฮาฟได้รับการอนุญาตให้เข้าไทยเป็นการชั่วคราวเพื่อให้อยู่ใต้ความดูแลของ UNHCR ระหว่างที่รอดูว่าจะไปประเทศที่สามอย่างไร ซึ่งจะใช้เวลา 5-7 วัน ตอนนี้เธอถูกพาตัวออกไปในสถานที่ปลอดภัย ภายใต้การดูแลของ UNHCR และการรักษาความปลอดภัยของตำรวจ

 

ชะตากรรมราฮาฟจะดำเนินไปอย่างไร

รัฐบาลออสเตรเลียแถลงถึงสถานการณ์ของราฮาฟ ที่ว่าการเดินทางกลับประเทศจะทำให้ตกอยู่ในอันตรายนั้นถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียในประเทศไทยได้แจ้งต่อทั้งรัฐบาลไทยและสำนักงาน UNHCR ในไทย ขอความมั่นใจให้ น.ส.แอล-เคนูน สามารถเข้าถึงกระบวนการขอสถานะผู้ลี้ภัยของ UNHCR ในประเทศไทยได้  

ออสเตรเลียยังระบุว่ากำลังติดต่อประสานกับรัฐบาลไทยและ UNHCR เพื่อให้เธอทำเอกสารตามขั้นตอนเพื่อขอลี้ภัยในออสเตรเลียอย่างเป็นทางการ โดยในระหว่างนี้เธอจะพำนักอยู่ในดินแดนไทยชั่วคราว โดยได้รับการคุ้มครองจาก UNHCR

เหมือนสถานการณ์กำลังจะคลายตัวไปด้วยดีหากมองผ่านการเคลื่อนไหวของหลายองค์กรและการเปลี่ยนท่าทีของรัฐบาล โดยล่าสุดราฮาฟ ได้ทวีตข้อความในทวิตเตอร์เมื่อคืนนี้ว่า เธอตกใจกลัวที่ได้ทราบข่าวว่าพ่อเดินทางมาประเทศไทย แต่อย่างน้อยก็รู้สึกปลอดภัยแล้วที่ UNHCR ให้ความคุ้มครองเธอและเธอยังได้รับหนังสือเดินทางคืนหลังถูกเจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุดีอาระเบียยึดไปด้วย

จากนี้ไปชะตากรรมของเธอจะเป็นอย่างไรต่อ จะถูกส่งกลับประเทศของตนหรือไม่? เธอจะได้เดินทางไปยังประเทศออสเตรเลียในฐานะผู้ลี้ภัยตามที่หวัง หรือหากเธอถูกส่งกลับ จะเกิดอะไรขึ้นกับเธอ? พลังจากเพื่อนมนุษย์โลกที่เธอร้องขอจะช่วยเธอได้หรือไม่? และประเทศไทยจะมีท่าทีอย่างไรต่อ? เรื่องราวของราฮาฟยังคงไม่สิ้นสุดหากแต่ ณ เวลานี้ เธอไม่ได้ต่อสู้อยู่เพียงลำพัง

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า