เป็นเวลานานหลายปีแล้วที่ชาวโรฮิงญาได้พยายามหลบหนีออกจากประเทศพม่า หลายคนเข้าไปยังบังคลาเทศ เพื่อนบ้าน ขณะที่บางคนพยายามจะหลบหนีเข้าไปยังมาเลเซีย ประเทศที่อยู่ไม่ไกลมากนักจากพม่า เพราะคิดว่ามาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่ปลอดภัยสำหรับชาวโรฮิงญาในภูมิภาคนี้
หน่วยดูแลชายฝั่งของมาเลเซียเปิดเผยเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2020 ว่า มาเลเซียได้จับกุมผู้อพยพชาวโรฮิงญา 269 คน หลังลอยเรืออยู่กลางทะเลเกือบ 2 เดือน อันเป็นผลจากมาตรการล็อคดาวน์ของมาเลเซียเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้อพยพชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ได้หลบหนีมาจากค่ายอพยพในพื้นที่ทางตอนใต้ของบังคลาเทศ ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2020 แต่เรือไม่สามารถเทียบท่าเข้าจอดที่ท่าเรือของมาเลเซียได้ เนื่องจากมาตรการของมาเลเซียที่ไม่อนุญาตให้เรืออพยพเข้าจอด ด้วยกลัวว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้เรือต้องลอยเคว้งอยู่กลางทะเลเรื่อยมา
ต่อมา เรือของหน่วยดูแลชายฝั่งของมาเลเซียตรวจพบเรือต้องสงสัยลำหนึ่งแล่นอยู่ใกล้เกาะลังกาวี จึงแล่นเรือเข้าไปใกล้กับเรืออพยพ เพื่อจะผลักดันให้แล่นออกไปยังน่านน้ำสากล ผลปรากฏว่ามีชาวโรฮิงญา 53 คนพยายามหนีการจับกุม กระโดดลงไปในทะเล แล้วว่ายน้ำเข้าชายฝั่ง แต่ถูกเจ้าหน้าที่มาเลเซียติดตามจับกุมได้ทั้งหมด เมื่อรวมกับกลุ่มผู้อพยพบนเรืออีก 216 คน จึงมีผู้อพยพที่ถูกจับกุมรวม 269 คน
อย่างที่รู้กันโดยทั่วไปว่า โรฮิงญาคือคนไร้แผ่นดิน อพยพไปไหนก็ไม่มีใครรับ อยู่ที่ไหนก็ถูกกดขี่ข่มเหง ใช้แรงงานเป็นทาส เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยอยู่กันเป็นจำนวนมากทางตอนเหนือของรัฐยะไข่/อาระกัน ประเทศพม่า ติดพรมแดนประเทศบังคลาเทศ และยังถูกข่มเหงมากที่สุดในโลกตามที่มีข่าวและรายงานด้านสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ตาม ในโลกของชาวพม่ามิได้แยก ‘แขกโรฮิงญา’ และ ‘แขกเบงกาลี’ ตัดขาดออกจากกันเหมือนการรับรู้ของโลกภายนอกที่มักมองตัดขาดออกจากกัน โดยเหมารวมว่าพวกเขาเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน
กระนั้น ที่ผ่านมามีคำถามและข้อถกเถียงเชิงประวัติศาสตร์ที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้แน่ชัดว่าโรฮิงญาเป็นใครกันแน่
“รัฐบาลพม่าพิจารณาชาวโรฮิงญาเป็นชาวต่างชาติเท่านั้น” นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลพม่าป่าวประกาศบอกชาวโลกมาโดยตลอด …
แต่นั่นก็ยังมิได้ขจัดปัญหาที่ยังน่ากังขาอยู่ว่าชาวโรฮิงญาเป็นใคร มิหนำซ้ำยิ่งทำให้การพิสูจน์ว่าโรฮิงญาคือใคร พร่ามัว
แล้วโรฮิงญาเป็นใครกันแน่?
ในสื่อสิ่งพิมพ์ของรัฐบาลและสิ่งพิมพ์ท้องถิ่นที่นำเสนอข่าวโรฮิงญามักพาดหัวข้อข่าวว่า ‘ชาวเบงกาลีหรือโรฮิงญา’ ซึ่งช่วยเน้นย้ำให้เห็นว่าสังคมพม่าประทับตราเรียบร้อยแล้วว่าให้ คนสองกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเดียวกัน ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อเป็นการสลายชาติพันธุ์นิยมโรฮิงญา ด้วยเชื่อว่าหากมีการรับรองการมีอยู่จริงของชนชาติ ในอนาคตชาวโรฮิงญาอาจจะได้สิทธิอื่นๆ เช่น การตั้งถิ่นฐาน การแต่งงานแบบถูกต้องตามกฎหมาย ตลอดจนการขอเป็นเขตการปกครองตนเอง… จนส่งผลให้ชนชาติโรฮิงญามีความเข้มแข็งขึ้น และอาจหันกลับมาท้าทายชาติพม่าต่อไป
ความเป็นชาติพันธุ์โรฮิงญาจึงถูกปฏิเสธ ต่อต้าน โดยการปลุกระดมให้รักษาความบริสุทธิ์ทางชาติพันธุ์ กีดกันกลุ่มคนที่มีศาสนาหรืออัตลักษณ์ชาติพันธุ์ที่แปลกแยกผิดพวกไปจากตน สภาวะดังกล่าวทำให้โรฮิงญากลายเป็นคนไร้รัฐ บางส่วนต้องร่อนเร่พเนจรไปในมหาสมุทรอินเดียตามที่เป็นข่าววิกฤติโรฮิงญาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ประวัติศาสตร์ของโรฮิงญาในสื่อของทางการพม่าถูกอธิบายอย่างกระชับ เทียบกับภาพเหตุการณ์ชาวฮูตูที่ลี้ภัยจากประเทศรวันดาเข้ามาในประเทศแทนซาเนียในช่วง ค.ศ. 1994-1996 ซึ่งเป็นเหมือนชาวโรฮิงญาหรือแขกเบงกาลี ที่อังกฤษเจ้าอาณานิคมนำเข้ามาเป็นแรงงานหลังจากที่ยึดดินแดนพม่าตอนล่างได้ โดยพยายามตอบโต้ว่ามุสลิมโรฮิงญามิได้มีถิ่นฐานมาตุภูมิอยู่ในรัฐยะไข่ของพม่า และเป็นเพียงแค่คนอพยพจากเบงกอลในยุคอาณานิคมอังกฤษ จึงมิได้มีความเก่าแก่หรือโดดเด่นอะไรเลยในประวัติศาสตร์พม่า เน้นย้ำหนักแน่นว่า เป็นเพียงแค่กลุ่มคนที่อพยพขยายดินแดนเข้ามาแย่งชิงพื้นที่ทำกิน
นั่นคือเรื่องเล่ากระแสหลักในสื่อพม่า คำถามต่อมา คือ แล้วเรื่องเล่าของพวกเขามีน้ำเสียงอย่างไรบ้าง? เมื่อเจออย่างนี้เข้าไป… การสำรวจเรื่องเล่าประวัติศาสตร์โรฮิงญาพบว่ามีพล็อตเรื่อง 4 แบบ
1. เรือแตก
เล่าว่าในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 บรรพบุรุษชาวโรฮิงญาเป็นชาวอาหรับออกเดินทางผจญภัยมาในมหาสมุทร แต่เกิดเหตุการณ์เรือแตก พลัดมาขึ้นฝั่งที่ชายฝั่งอาณาจักรยะไข่โบราณ ต่อมาชาวอาหรับกลุ่มนี้ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์แห่งยะไข่ และกษัตริย์ยะไข่ได้พระราชทานที่ดินให้อยู่อาศัย บางส่วนได้เข้าไปรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทกษัตริย์ยะไข่
2. กะลาสีซินแบดและโรเวนญา
เล่าเรื่องคล้ายนิทานอาหรับราตรี เรื่องของกะลาสีเรือชื่อ ซินแบด ผู้เคยเดินทางไปเจอกับเรื่องแปลกประหลาดมากมาย ทั้งเวทมนตร์ พ่อมด เกาะวิเศษ สมบัติ มนตร์ดำ ฯลฯ ซินแบดต้องผจญภัยถึง 7 ครั้ง เขาเล่าเรื่องการผจญภัยของตัวเองให้พระราชาฟัง เพื่อให้รอดจากการถูกประหาร ในขณะที่โรเวนญาซึ่งเป็นชาวอาหรับกลุ่มหนึ่งเดินทางผจญภัยทางทะเลเหมือนซินแบด ต่อมาได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์ยะไข่ จนกลายมาเป็นต้นวงศ์โรฮิงญา
3. รัฐหนึ่งชื่อโรฮัง
เล่าว่า อย่างน้อยที่สุด ย้อนไปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15-18 มีรัฐโรฮังเป็นประเทศราชของอาณาจักรยะไข่โบราณ เรื่องที่นิยมนำมาเล่า คือเรื่องกษัตริย์โรฮังส่งเจ้าชายชาห์อะลีพร้อมด้วยบริวารอีก 1,000 คนมาร่ำเรียนศิลปวิทยาการในราชสำนักยะไข่ เรื่องนี้ต้องการยืนยันว่ารัฐโรฮังมีเจ้าเมืองปกครองและมีชาวพื้นเมืองคือชาวโรฮิงญา อันเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรยะไข่โบราณ
4. ชาห์ศูชา
เล่าว่า ในปี ค.ศ. 1658 เกิดสงครามชิงอำนาจของราชวงศ์โมกุลในอินเดีย สงครามแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือ ชาห์ จาฮาน และ ดาราห์ ส่วนอีกฝ่ายคือ ทัพกบฏของ ออรังเซบ และ มูรัด
ออรังเซบและมูรัดมีข้อตกลงกันว่าหลังจากโค่นบัลลังก์ของบิดาได้เมื่อไหร่ ทั้ง 2 จะแบ่งดินแดนกันปกครอง ออรังเซบเป็นนักรบที่เข้มแข็งมาก กองทัพของเขาได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดี ศึกสายเลือดนี้ดำเนินไปเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น ทัพกบฏของออรังเซบและมูรัดก็เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ออรังเซบสั่งประหารดาราห์ พระเชษฐาองค์โตของพระองค์เอง จากนั้นสั่งคุมขัง ชาห์ จาฮาน ผู้เป็นพระบิดา แต่ก็ยังไม่จบเพียงเท่านั้น ออรังเซบยังหักหลังมูรัด พระอนุชาที่เป็นพันธมิตรร่วมรบกันมา และคิดวางแผนสังหาร ชาห์ศูชา พระเชษฐาองค์รองซึ่งปกครองแคว้นเบงกอล เมื่อชาห์ศูชาล่วงรู้แผนการจึงรวบรวมบริวาร ลี้ภัยมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์ยะไข่ คือ พระเจ้าจันทสุธัมมะ ใน ค.ศ. 1661
หลังจากนั้นไม่นานนัก พระเจ้าจันทสุธัมมะ (ค.ศ. 1652-1674) ได้ขอพระธิดาของชาห์ศูชานามว่า อมีนา เป็นบาทบริจาริกา (หญิงที่มีหน้าที่รับใช้ปฏิบัติพระเจ้าแผ่นดิน) เรื่องเล่านี้ต้องการอ้างว่าบรรพบุรุษโรฮิงญาเกี่ยวข้องกับชาห์ศูชาและบริวารที่ลี้ภัยกษัตริย์ออรังเซบแห่งราชวงศ์โมกุลเข้ามาในอาณาจักรยะไข่โบราณ
เมื่อชาวโรฮิงญาถูกเตะตกขอบจากความเป็นคนในประเทศพม่า ตามกฎหมายสัญชาติพม่า ค.ศ. 1982 ที่กีดกันและปฏิเสธตัวตนคนโรฮิงญา ทำให้พวกเขาประสบกับวิกฤติอัตลักษณ์และต้องหันมาต่อสู้เอาตัวรอด พร้อมขยายแนวร่วมฟื้นฟูอัตลักษณ์เพื่อสร้างความโดดเด่นทางชาติพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยายามกลับเข้าไปสืบค้นอัตลักษณ์
พวกเขาอ้างตำนานและเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ผูกโยงเข้ากับความรุ่งเรืองของอาณาจักรยะไข่หรืออาระกันในอดีต แม้ว่าจะประสบความยากลำบากในการค้นหาอัตลักษณ์ที่โดดเด่นเพราะถูกล้อมประชิดด้วยวัฒนธรรมเบงกอลและวัฒนธรรมพม่า แต่ก็มีความพยายามที่จะค้นหาลักษณะร่วมทางวัฒนธรรม เช่น การผสมผสานระหว่าง ยะไข่ อาหรับ จิตตะกองในบังคลาเทศ หรือแม้แต่อินเดีย
ถึงกระนั้น เรื่องเล่าของพวกเขาถูกโจมตีว่าเป็นอัตลักษณ์ใหม่ที่ปลอมแต่ง หลอกลวง มิได้เป็นอัตลักษณ์ที่มีต้นรากเก่าแก่ในดินแดนพม่า ที่จะสามารถสืบสาวยาวยันอดีตอันไกลโพ้นขนาดนั้นได้ และเป็นอัตลักษณ์ที่ถูกมองว่าเป็นของแสลง เนื่องจากเป็นชาติพันธุ์ที่แปลกแยกจากชาวพม่าอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ ภาษา วัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนา ที่มองว่าเป็นคู่แข่งขันของศาสนาพุทธ
อย่างไรก็ดี เรื่องเล่าของทั้งสองฝ่ายก็ยังมิได้ช่วยแก้ไขปัญหาโรฮิงญาได้ ซ้ำร้าย กลับกลายเป็นอาวุธที่ต่างฝ่ายต่างงัดง้างนำมาประหัตประหารกัน เพื่ออ้างสิทธิความชอบธรรมของตน
ความเข้าใจในแง่ลบ มายาคติ หรือการเหยียดเชื้อชาติจึงยังมีมาให้เราได้เห็นได้ยินตลอดเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้ และในที่สุด คริสต์ศตวรรษที่ 21 พวกเขาก็ถูกพิพากษาว่าเป็น ‘ชาวต่างชาติ’ (foreigner) ในบ้านตัวเอง
และนั่นแหละที่ยังทำให้เรายังคงได้ยินข่าวว่ามีเรืออพยพชาวโรฮิงญาพยายามลักลอบหลบหนีออกมาอยู่เป็นระยะๆ …
อ้างอิง