- บริษัทซีวิว แลนด์ มอบหมายให้บริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด ผู้ทำการศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมา 2 ครั้ง
- ประชาชนในพื้นที่หมู่ที่ 9 บ้านอ่าวกุ้ง และพื้นที่ใกล้เคียง กังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนก่อสร้างอ่าวกุ้งมารีน่า โดยเฉพาะในประเด็นการขุดลอกร่องน้ำที่จะใช้เป็นทางเข้าออกของเรือไปยังโครงการที่คาดว่าจะต้องขุดลึกไม่น้อยกว่า 8 เมตร เพื่อรองรับเรือยอชต์ขนาดใหญ่ 40 เมตร จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของแนวปะการังในพื้นที่รอบๆ อ่าวกุ้ง รวมทั้งระบบนิเวศป่าชายเลน
- ชาวบ้านออกสำรวจจนพบทุ่งปะการังเขากวางโผล่พ้นน้ำบริเวณเกาะเฮ และใช้โซเชียลมีเดียในการเผยแพร่ข้อมูลและสร้างแนวร่วมในการต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากร
- ทางโครงการฯ ได้ขอถอนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA แล้ว เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561
- นี่คือเสียงของคนอ่าวกุ้ง คนภูเก็ต และบางคนเป็นคนที่อื่น แต่มาอยู่ที่นี่ – ภูเก็ต
ทะเลเป็นของใคร ทะเลไม่ใช่ของผมแน่ๆ และไม่ใช่สมบัติของใครคนใดคนหนึ่ง มันเป็นสมบัติของคนทุกคน ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็มาหาปลาที่อ่าวกุ้งได้ ไม่ว่าคุณจะอยู่พังงา กระบี่ สตูล ระนอง หรือหมู่บ้านใกล้เคียงก็มาหากินในบริเวณบ้านอ่าวกุ้งได้ เราแบ่งปันทรัพยากรกัน ยกเว้นคุณใช้เครื่องมือทำลายล้างก็จะต้องเจอพวกเราไล่ต้อนออกไป เช่นกันผมก็ไปหากินน่านน้ำของคนบ้านอื่นเหมือนกัน เขาก็ต้อนรับเราดีถ้าเราไม่หาปลาด้วยวิธีทำลายล้าง
ผมเป็นชาวประมงที่บ้านอ่าวกุ้ง และอยู่ในกลุ่มอนุรักษ์ มีอาชีพหาปลาเก๋า ตีเจ็ดผมออกทะเลมาหาปลา ตีสิบเอ็ดสิบสอง ผมก็กลับบ้าน เรื่อปลาเป็นเรื่องไม่แน่นอน บางวันก็ได้บางวันก็ไม่ได้ บางทีก็เป็นพัน แต่ต่ำสุดก็ 300-400
ผมเกิดที่นี่ ทำประมงตั้งแต่ ป.6 ตกปู ตกเบ็ด เพราะยังเล็กอยู่ พอโตมาสักหน่อยก็ได้ทำเรือหาปลาเก๋า ก็ทำมา 20-30 ปีแล้ว ควบคู่กับงานอนุรักษ์ป่าชายเลน ปะการัง เฝ้าระวังพวกใช้เครื่องมือทำลายล้างที่หน้าหาดบ้านอ่าวกุ้ง พวกตัดไม้โกงกาง
รายงาน EIA ของโครงการมารีน่า บอกว่า บ้านอ่าวกุ้งไม่มีปะการัง ผมก็คิดว่ามันเป็นความเท็จ เพราะผมเห็นทุ่งปะการังมานานแล้ว เห็นปะการังทุ่งนี้มาตั้งแต่ผมยังเด็ก แต่ปะการังมันยังไม่เติบโตสมบูรณ์อย่างทุกวันนี้ เมื่อเกิดข้อพิพาทกับโครงการมารีน่า และทางโครงการบอกว่า ปะการังที่อ่าวกุ้งมีไม่มาก ซึ่งไม่จริง ผมก็โพสต์ภาพทุ่งปะการังลงเฟซบุ๊ค เพื่อให้เขารู้ว่ามันมีปะการังอยู่จริง เมื่อโพสต์เฟซบุ๊ค คนก็เข้ามาคอมเมนต์เยอะมาก มีหน่วยงาน ทช. ลงมาดูด้วยตัวเอง มีคนจากภายนอกเข้ามาพิสูจน์ คนเข้ามาในหมู่บ้านเพื่อดูปะการังเป็นร้อยคนนะครับ
ทุ่งปะการังนี้อยู่บริเวณเกาะเฮ เวลาน้ำมันขึ้นเราจะไม่เห็น ต้องรอช่วงน้ำลด เราจะเห็นทุ่งปะการังเขากวางโผล่พ้นผิวน้ำ
ผมโพสต์ภาพทุ่งปะการังก่อนที่โครงการมารีน่าจะถอนรายงาน EIA แต่ชาวบ้านอ่าวกุ้งอนุรักษ์ทรัพยากรทั้งบนบกและในทะเลมาก่อนที่โครงการจะเกิดอีก เราอนุรักษ์มานานกว่า 30 ปีแล้วครับ ไม่ใช่เพิ่งมาอนุรักษ์
ผมอายุ 62 ปี ทำงานอนุรักษ์มา 30 ปี จะว่าผมเป็นต้นแบบก็ได้ เพราะผมแก่กว่าเพื่อน ผมสู้มาตลอด เริ่มแรกเราสู้เรื่องแนวเขตหน้าบ้าน เพราะอวนลากอวนรุนมาจับปลาด้วยเครื่องมือทำลายล้างที่หน้าอ่าวบ้านอ่าวกุ้ง เขาเอาไปหมด สัตว์น้ำตัวเล็กมันเอาไปหมดเลย เราจึงไปปักแนวเขตแบ่ง ถ้ามึงเข้ามากูจับ ชาวบ้านจับเองเลย เพราะรอเจ้าหน้าที่ไม่ได้ เราไปกันเองเลย นั่งเรือไปจับ เคยยิงกันด้วย เมื่อก่อนเราสู้กันเป็นทีมเลย ตอนนั้นอายุ 40 ปีได้ เป็นหนุ่มใหญ่ เริ่มมีจิตหวงแหนเล้ว
ผมมีค่าหัวราคา 2 แสนบาท ครั้งนั้นเขามาอวนรุน ก็เจอกันกับพวกเรา เขาบอกว่า “ถ้ามึงละเมิดสิทธิกู มึงจะมีค่าหัวนะ” เราก็บอกว่า ถ้ามึงแน่จริงมึงเข้ามาเลย เราก็จับจริง ไม่กลัวเพราะเสียดายกุ้งหอยปูปลา เพราะเวลามันมารุน สัตว์น้ำหายไปหมดเลย ไม่เหลือเลยนะ เห็นแล้วกระทบใจ เพราะมันเห็นผลเลย
ต่อมาก็มีปัญหาเรื่องสัมปทานป่าโกงกาง เมื่อสัมปทานหมดอายุ แต่นายทุนไม่ยอมหยุดทำ เราก็ไปคุยไปดัก ล้อมตรงที่เขาตัดไม้ ผมก็บอกให้หยุด ไม่หยุดจับแน่ เดือนต่อมาเขาจึงหยุด เราก็เริ่มอนุรักษ์เรื่องป่าไม้ ก่อนหน้านี้เราทำเรื่องประมงชายฝั่งอย่างเดียว ตอนมีปัญหาเรื่องสัมปทานไม้ก็เริ่มหันมาดูเรื่องป่าชายเลนด้วย
พอจบจากสัมปทานไม้ถ่าน ก็มาเจอเรื่องนายทุนกว้านซื้อที่ดินเพื่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำ นายทุนมันเก่ง ยอมรับเลย มันหาวิธีการจนกว้านซื้อที่ดิน รู้ตัวอีกทีมันบุกมาหมดเลย เรามาคิดทีหลังว่า พวกเราโง่จัง เรามันโง่แล้ว อย่าโง่อีก มันจะให้ผู้นำศาสนาของชุมชนครัวเรือนละหมื่น เพื่อหว่านล้อมชาวบ้านให้ขายที่ ก็นำมาสู่ปัญหาน้ำเสียที่ปล่อยจากบ่อกุ้ง เราเข้าไปในบ่อกุ้งเลย อย่าปล่อยนะ ถ้าปล่อยมึงโดนแน่ มันปล่อยลงทะเล มันก็ทำบ่อบำบัดน้ำเสีย ถ้าไม่คุยไม่บอก มันไม่ทำหรอก จากวันนั้นมาวันนี้มันไม่ปล่อยแล้ว
มาครั้งนี้ ก็สู้เรื่องโครงการมารีน่า ผมว่าชาวบ้านจะหมดสภาพเลยหนนี้ ถ้าโครงการเกิด ชาวบ้านบางส่วนอาจมีงานทำจริง แต่เป็นงานประเภทถางที่ดิน ก่อสร้าง พอเสร็จแล้วมันก็เขี่ยออกทีละคนๆ ชาวบ้านก็จะขายที่ ถ้าที่ดินติดกับมารีน่า เขาก็กว้านซื้อ ได้เงินมาปีหนึ่งก็หมดแล้ว เสียที่ดินแล้วจะไปอยู่ไหน
นอกจากทุน ตอนนี้ยังสู้กับชาวบ้านด้วยกันด้วย เพราะกลุ่มทุนมาหาชาวบ้าน ให้น้ำเลี้ยงนาย ก นาย ข นาย ค จะให้ขับรถตู้ มันหาวิธีให้ชาวบ้านรบกับชาวบ้านเอง แถมยังมีนโยบายรัฐที่เอื้อให้ทุนอีก ชาวบ้าน 80 เปอร์เซ็นต์เอากับโครงการ เรามีธงของสมเด็จพระบรมราชินีนาถอยู่ในมือ เราไม่ท้อหรอก ในหลวงบอกว่า ป่าคือชีวิต ถ้าป่าหมด ชีวิตเราก็หาไม่ เรามีธงคุ้มอยู่ผมไม่กลัวเลย
อ่าวกุ้งได้รับธงพระราชทาน ป่าเราแบ่งเป็น 2 ประเภท ป่าหน้าอ่าวเป็นป่าพระราชทาน ป่าอีกฝั่งเป็นป่าใช้สอย ตัดแล้วปลูกทดแทน ป่าตรงนี้ 500 ไร่ เราแบ่งตัดใช้ 250 ไร่ ปลูกทดแทน แล้วไปใช้อีก 250 ไร่ หมุนเวียนไปแบบนี้ ป่าสมบูรณ์หมด ป่าหน้าอ่าวห้ามใช้ประโยชน์ เพราะเป็นป่าพระราชทาน เป็นแหล่งอนุบาลชีวิตสัตว์น้ำ กันคลื่นลม ปะการัง หญ้าทะเล สาหร่าย อยู่หน้าอ่าวหมด เป็นที่หล่อเลี้ยงคนทั้งอ่าวพังงา และหลายจังหวัด เราไม่กีดกั้นการเข้ามาทำมาหากิน แต่อย่าทำลายล้าง
ทะเลก็เป็นของคนทั้งโลก เพราะทะเลเชื่อมต่อกันหมด คนที่มีเรือยอชต์ก็มองว่าทะเลเป็นของโลกใบนี้ เขาสามารถล่องเรือไปไหนก็ได้ แต่ละคนก็อาจจะมีศักยภาพในการใช้ประโยชน์จากท้องทะเลคนละแบบ คนอีก 99 เปอร์เซ็นต์ของโลกอาจมองว่าทะเลคือแหล่งอาหาร หรือทะเลเป็นพื้นที่ที่ทำให้เขามีพลัง ฉะนั้นจึงมีซีซั่นที่ทุกคนไปทะเล ทุกคนต้องการไปรับพลังงานจากทะเล ทุกคนโหยหาทะเล เพราะทะเลมีฤดูกาลที่เที่ยวได้และเที่ยวไม่ได้ 6 เดือนที่ทะเลสงบ ก็เหมาะให้คนไปซึมซับไปรับพลังงานไปพักผ่อน อีก 6 เดือนที่ทะเลปั่นป่วนก็คือการบำบัดตัวเองของทะเลเหมือนกัน ฉะนั้นทะเลก็เป็นของคนทั้งโลก ต้องช่วยกันดูแล
แต่ประเด็นก็คือการที่เจ้าของเรือยอชต์ต้องการครอบครองพื้นที่ตรงนี้สำหรับจอดเรือ 72 ลำ ถามว่ามันเป็นธรรมไหม กับการที่ทุกคนมีสิทธิที่จะใช้พื้นที่นี้ได้ สามารถใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนได้ อะไรมันจะดีกว่ากัน ถ้าจะมองเรื่องความเหลื่อมล้ำ มันมีช่องว่างกันเยอะ มหาเศรษฐีคุณมีเงินมาก ต้องการใช้พื้นที่ที่ชาวบ้านทำประมงรายได้วันละ 2,000 บาท แต่เรือยอชต์ราคาหลายล้าน พื้นที่ของเขาเป็นวิถีชีวิต หากินรายวัน แล้วพื้นที่ตรงนี้ไม่ใช่จำกัดการใช้เฉพาะคนอ่าวกุ้ง ชาวประมงจังหวัดพังงา กระบี่ ก็มาใช้ และยังเป็นพื้นที่หาหอยของชาวบ้านอีก มันเป็นพื้นที่สำหรับหาอาหาร หารายได้เข้าครอบครัว นี่คือพื้นที่ของคนข้างล่าง แต่พื้นที่สำหรับคนข้างบนสำหรับเจ้าของเรือยอชต์ คือพักผ่อน เอาไว้จอดเรือ
รายได้ที่จะเข้ามามันไม่ถึงคนระดับล่าง มือเขายาวไม่พอที่จะเอาเงินตรงนั้นได้ มือเขาไม่ใช่แม่นาก ศักยภาพของเขาพึ่งพิงกับทรัพยากร เขามีวิถีชีวิตแบบนี้ ความสามารถที่จะหยิบเอาเงินตรงนั้นมันเป็นไปไม่ได้สำหรับเขา
ฉันเกิดที่ภูเก็ต แต่อยู่ในเขตอุตสาหกรรม ความทรงจำของฉันจะพบกับควันพิษ บ้านอยู่ใกล้โรงงานถลุงแร่ดีบุก ฉันจะเจอกระบวนการถลุงเเร่มาตลอด ถ่านหินที่มาปกคลุมบ้าน ระบบน้ำเสียที่ปล่อยลงทะเล ทำให้แนวปะการังในหมู่บ้านตาย ฉันก็ยังจำได้ หน้าบ้านยังมีท่าเทียบเรือน้ำลึกอีก ทะเลหน้าบ้านมีการขุดลอก ฉันจำลักษณะการขุดลอกร่องน้ำได้ว่ามันคือการพลิกทะเลขึ้นบนหมดเลย เปลือกหอยมันจะขึ้นมาหมดเลย เห็นเลยว่าทะเลมันสามารถถมได้จริงๆ เห็นปะการังถูกทำลาย นั่นคือความทรงจำของฉันในภูเก็ต
แต่ถ้ารู้สึกว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นมันไม่เป็นธรรม เราก็ต้องทำในสิ่งที่เรามีศักยภาพที่จะทำได้
เวลาที่ภาครัฐหรือแม้แต่สื่อมวลชนพูดหรือสื่อสารก็จะบอกว่า ทรัพยากรเป็นของคนไทย แต่พอปฏิบัติจริง ภาครัฐพยายามย่อยอำนาจลดอำนาจให้ชาวบ้านอยู่กับพื้นที่ตามเขตการปกครอง เพื่ออำนวยความสะดวกให้นายทุน ซึ่งผมว่าไม่ยุติธรรม ยกตัวอย่างทุ่งปะการัง สิ่งเหล่านี้เป็นสมบัติของชาติ ไม่ใช่ของคนอ่าวกุ้ง เราสูญเสียงบไปเท่าไหร่กับการสร้างปะการังเทียม แต่นี่ปะการังแท้ คุณแค่อย่ามาทำลายมันก็พอ วันนี้เรากลับมีนโยบายที่จะทำลายมัน เป็นสิ่งที่น่าหดหู่สำหรับผม
ถ้าหน่วยงานภาครัฐมีความรับผิดชอบจริงๆ ผมคิดว่าชาวบ้านอาจไม่จำเป็นต้องรวมกลุ่มกันอนุรักษ์เสียด้วยซ้ำ เพราะกฎหมายหลายฉบับที่ออกกันมา ก็มีการคุ้มครองทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ผมถามว่าพื้นที่ป่าชายเลนที่เคยถูกทำลายไป เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนรับผิดชอบกับพื้นที่ เคยถูกลงโทษบ้างไหม เจ้าหน้าที่บางคนกลับถูกย้ายออกจากพื้นที่เพราะไม่เห็นด้วยกับโครงการหรือนโยบายจากส่วนกลาง ตรงนี้สำคัญกับความรู้สึกของชาวบ้านจริงๆ นะ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในภูเก็ตอยู่ไม่ได้นะถ้าไม่เห็นด้วยกับทุน ข้าราชการที่มาอยู่ข้างชาวบ้าน ส่งเสริมให้ชาวบ้านอนุรักษ์ แทบจะอยู่ภูเก็ตไม่ได้นะ นี่คือสิ่งที่ผมเห็นมาตั้งแต่เด็ก ความเป็นจริงเป็นยังไงก็ไม่รู้ แต่เราสัมผัสได้แบบนั้นจริงๆ
เราใช้เวลากว่า 30 ปี อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชายเลนมาตลอด คนที่นี่ส่วนใหญ่ทำประมง ปัญหาที่เคยเกิดในอดีตเป็นเรื่องของการใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายล้าง พวกเราก็คือหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อทำให้ชาวประมงพื้นบ้านอยู่ได้ เรายอมรับว่ามาทำงานอนุรักษ์เพราะปัญหาเรื่องปากท้อง ก็สู้มาตลอดหลังจากนั้นไม่ว่าจะเป็นปัญหาตัดไม้ถ่าน การส่งเสริมการส่งออกกุ้งกุลาดำ ผืนป่าชายเลนก็ถูกเปลี่ยนไปเป็นบ่อกุ้ง
ปัจจุบันธุรกิจการส่งออกหรือเลี้ยงกุ้งกุลาดำได้ซบเซาลงไป ทำให้การเปลี่ยนนากุ้งเดิมเป็นพื้นที่ทางการเกษตรหรือท่องเที่ยวอย่างในปัจจุบัน
เราผ่านการต่อสู้นาน จนมาถึงการต่อสู้กับทุนขนาดใหญ่ในปัจจุบัน ป่าชายเลนบางส่วนถูกทำลายเพื่อรองรับเป็นพื้นที่ของโครงการสร้างมารีน่า ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ชุมชนต้องต่อสู้อย่างหนัก มันแตกต่างจากการต่อสู้ครั้งที่ผ่านมา ในอดีตมันเป็นการต่อสู้กับภาคเอกชนขนาดเล็ก แต่วันนี้ด้วยการเอื้อของนโยบายจากภาครัฐด้วยในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูเก็ต โดยไม่ได้คำนึงถึงวิถีชีวิตของชาวบ้าน ณ วันนี้ต้องยอมรับว่าภาครัฐได้ประเมินเพียงตัวเลขทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ละเลยวิถีชีวิตของผู้คน หลายคนพูดว่าโครงการนี้เป็นการหารายได้เข้าประเทศ แต่ผมกลับคิดว่าแล้วชีวิตของคน ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่เป็นของคนทั้งโลกล่ะ มันมีความมั่นคงขนาดไหน เท่าเทียมขนาดไหน ปัจจุบันนโยบายของภาครัฐบอกว่า จะลดความเหลื่อมล้ำ แต่ผมกลับรู้สึกว่าความเหลื่อมล้ำในภูเก็ต ในเมืองที่ผมอยู่นั้น รู้สึกจะถ่างห่างจากเมื่อก่อนเยอะ
ตั้งแต่เด็กๆ เคยได้ยินคำว่า กฎหมายใช้ได้เฉพาะกับคนจน ปัจจุบันก็ยังรู้สึกแบบนั้น ถ้าย้อนหลังไปตอนที่ คสช. เข้ามาใหม่ๆ ในการขอคืนพื้นที่ป่าเพื่อคืนความสุขให้ประชาชน ถามว่ามันจริงไหม การประเมินการใช้ทรัพยากรทั้งของประเทศหรือภูเก็ต ยกตัวอย่างพื้นที่อ่าวกุ้งก็ได้ ถ้าโครงการเกิดขึ้นจริงๆ พื้นที่ตรงนั้นไม่ได้เป็นพื้นที่ของคนอ่าวกุ้งนะ แต่เราใช้กันทั้งอ่าว เราไม่ได้จำกัดสิทธิว่าห้ามมาจับปลาหน้าบ้านคนอื่น เราใช้ทรัพยากรร่วมกัน แต่ด้วยข้อกฎหมายหรือการทำ EIA กลับถูกจำกัดกรอบให้แสดงความคิดเห็นเฉพาะตนในพื้นถิ่นที่โครงการจะสร้าง แต่เราใช้พื้นที่ร่วมกัน แม้เขาจะห่างจากเราไป 10-20 กิโลเมตร แต่เขาใช้ทรัพยากรร่วมกับเรา ผมว่าความยุติธรรมมันไม่มีจริงๆ
ผมอยู่ภูเก็ตมา 7 ปี แต่ไปๆ มาๆ กรุงเทพฯ-ภูเก็ตก็ร่วม 10 ปีแล้ว ภูเก็ตตอนนี้บริบทของทรัพยากรเปลี่ยนไปแล้ว เพราะนโยบายที่เราผลักดันให้ภูเก็ตเจริญเติบโตได้เปลี่ยนอัตลักษณ์ คนที่เคยมาภูเก็ตในอดีตจะบอกว่า เสน่ห์ของภูเก็ตคือเมืองชาวเกาะ ขับมอเตอร์ไซค์ไปหาดนั้นนี้ ซึ่งมันเปลี่ยนไปแล้ว
ภูเก็ตเป็นเมืองที่พัฒนาเพื่อตอบโจทย์เฉพาะคนใช้รถยนต์ส่วนตัว ตรงนี้ที่ผมชี้ประเด็นให้เห็นว่า ทุกวันนี้ภูเก็ตมีอุบัติเหตุสูงโดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยว รถเชี่ยวชน เคยถามลูกศิษย์ในชั้นเรียนว่า มีใครมีญาติหรือคนในครอบครัวเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนถนน ก็มีคนยกกันเยอะ เพราะเราพัฒนาแต่การอำนวยความสะดวกให้รถ ลูกศิษย์ผมเสียชีวิตบนถนนมาแล้ว
การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในเชิงอุดมคติ ทุกฝ่ายต้องอยู่ด้วยกันได้ ไม่ว่าคนในพื้นที่ ทุน ภาครัฐ แต่กลไกที่สำคัญที่สุดคือภาครัฐ เพราะภาครัฐเป็นคนควบคุมกำหนดเกมนี้ เกมที่ชื่อการท่องเที่ยว รวมถึงรัฐเป็นคนกลางในการดึงคนมาพูดคุยกัน แล้วโมเดลต่างประเทศทำอย่างไรกัน เท่าที่ผมเข้าใจนะ เอกชนจะเปลี่ยนมุมมองที่เขามองชุมชนก่อน ต้องมองเป็น share holder ไม่ใช่ stakeholder คือถ้ามีผู้มีส่วนได้กับผู้มีส่วนเสีย แค่คำมันก็ขัดแย้งกันแล้ว แต่ผมมองว่าการที่เขาจะมาใช้พื้นที่ร่วมกับเรา ต้องมองว่าเป็นพวกเดียวกัน ถ้าเขาอยู่ได้ คุณภาพชีวิตดี มีความสุข เราก็ต้องอยู่ได้ดีด้วย
พื้นที่ที่เป็นชายหาดจะมีกฎหมายบังคับอยู่ว่าต้องมีพื้นที่ร่นเข้ามาเท่าไหร่ ซึ่งตรงนั้นก็ยังเป็นพื้นที่สาธารณะอยู่นะ แต่ในบริบทของการครอบครองที่ดิน ด้วยความที่เราไม่มีการคุยกันในเชิงนโยบาย การครอบครองที่ดินจึงไปปิดทางเข้าออกพื้นที่ชายฝั่งซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ เราไม่ได้คิดเรื่องการใช้พื้นที่สาธารณะในเชิงนโยบายเท่าที่ควร เราปล่อยให้กลไกทุนมันเป็นไปแบบนี้ ซึ่งมันอันตรายในเชิงความยั่งยืนเพราะต่อไปถ้าเป็นแบบนี้ รุ่นลูกหลานไม่มีโอกาสได้เข้าถึงเลย
ภูเก็ตเป็นของใคร ตอนนี้หาดทุกหาดมีโรงแรมเป็นเจ้าของ หาดแทบทุกหาดมีมารีน่าเป็นเจ้าของ ก็ไม่รู้ว่าเป็นของใคร แต่ไม่ใช่ของประชาชน
ปัจจุบันเศรษฐกิจของภูเก็ตก็ไปผูกพันกับเศรษฐกิจของการท่องเที่ยว ซึ่งเศรษฐกิจการท่องเที่ยวยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำในหลายมิติให้คนท้องถิ่น เช่น ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงชายหาด สัก 20 ปีที่แล้วฉันเคยใช้เรือแล่นไปขึ้นหาดหาดหนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมแห่งหนึ่ง เมื่อพวกเราขึ้นหาด โรงแรมก็ตกใจ เพราะเขาปิดทางเข้า ปกติพื้นที่ที่จะเข้าหาดได้ก็ต้องเข้าทางถนนได้ทางเดียว ถ้าไม่ใช่แขกของโรงแรมก็จะไม่สามารถเข้าได้เลย แต่เราถือว่าชายหาดเป็นที่สาธารณะ เราจึงเหมาเรือแล่นมาทางทะเล มาขึ้นหาด มาเล่นชายหาด เขาก็ตกใจกันใหญ่ ตอนนั้นเขาก็ไม่กล้าไล่เรา เพราะเรามากับทีมที่มาศึกษาผลกระทบชายหาด มีชาวต่างชาติ ก็จะเป็นลักษณะนั้น นั่นคือ 20 ปีที่แล้วนะ มันแสดงให้เห็นว่าเราไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่เราเคยใช้ได้เลย
ยังไม่ได้พูดถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพราะคนที่มาลงทุนก็เป็นต่างชาติ ทุนพื้นที่น้อยมาก ธุรกิจดำน้ำเป็นของต่างชาติหมดเลยนะ มันทำให้การสะสมทุนตกในทุนต่างชาติเยอะ คนท้องถิ่นก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ เมื่อก่อนเราสามารถกินอาหารทะเลได้ในราคาถูก แต่ปัจจุบันอาหารดีๆ จะถูกส่งไปที่โรงแรมก่อน แล้วราคาก็ดีดขึ้นไปสูงมาก ฉันว่ามันคือการสร้างความเหลื่อมล้ำทางอ้อม
ผมเห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนพื้นถิ่นในเมืองท่องเที่ยว ยกตัวอย่างบางพื้นที่ เช่น บ้านบางลา บ้านอ่าวมะขามที่แหลมพันวา แม้กระทั่งป่าตอง มีกลุ่มชาวบ้านที่หันกลับมาทำประมงพื้นบ้านมากขึ้น และเป็นคนหนุ่มสาวมากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งพวกเขาอยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นพนักงานโรงแรม คนขับรถตู้ หรือกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว
ปรากฏการณ์เหล่านี้มีนัยยะสำคัญ เขากลับมาทำประมงด้วยเครื่องมือง่ายๆ ทำไซ ทำลอบ ทำเบ็ด ตกปลา เย่อกับปลา ในมุมมองของผม ถ้ามองในแง่มุมมานุษยวิทยา ผมคิดว่ามันเป็นอาการของการหาทางออกกับระบบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมันเดินอย่างเต็มที่ภายใต้เมืองท่องเที่ยวโลก กลไกและระบบของมันค่อนข้างที่จะบีบรัดและจัดการคนอย่างอยู่หมัด คนที่โดนหนักสุดคือฟันเฟืองล่างสุด หรือคนท้องถิ่นส่วนใหญ่ที่อยู่ในฐานะพนักงานระดับล่าง ระบบการจัดการมีสายตาที่จับจ้อง คุณต้องแอคทีฟตลอดเวลา รีดเค้นพลังออกมาทำงานเพื่อตอบสนองระบบให้เกิดประสิทธิภาพที่สุด
ด้านหนึ่งอาชีพประมงที่ต้องผูกพันกับทะเล ที่ต้องแล่นเรือออกไปในโลกที่กว้างใหญ่ เป็นอาชีพดั้งเดิมของตระกูลพวกเขา เป็นพื้นที่ที่พวกเขาคุ้นเคย เมื่อเขาหมดเวลาจากงานในระบบการท่องเที่ยว ทะเลจึงเป็นพื้นที่ที่เขารีแลกซ์ เป็นพื้นที่ผ่อนคลาย เขาได้ใช้ชีวิตส่วนตัว ใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรี ท้องทะเลจึงเป็นพื้นที่ตรวจสอบตนว่าตนยังมีตัวตนอยู่หรือเปล่า
การออกไปจับปลาโดยใช้เบ็ด ซึ่งเป็นเครื่องมือพื้นฐานมาก มันอาจไม่ทรงประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐกิจ แต่ทำไมเขาเลือกเบ็ด ผมคิดว่านี่คือการท้าทายความสามารถที่จะสู้กับปลาอย่างสมศักดิ์ศรี ถ้าคุณอ่านเฮมิงเวย์คุณจะเห็น การสู้กันอย่างสมศักดิ์ศรีก็คือการตรวจสอบตัวเองว่ายังมีคุณภาพอยู่ ยังมีตัวตนอยู่ มากกว่าการใช้เครื่องมือที่ปิดล้อมคนไม่มีทางสู้ คุณจะมีราคาค่างวดอะไรถ้าไปจัดการคนไม่มีทางสู้ แต่มันเหมือนกับวัดในเชิงที่เท่ากัน ฉันมีเบ็ดอันเดียว
การท้าทายเหล่านี้ก็คือการตรวจสอบตัวเองว่ายังมีคุณค่าและตัวตนอยู่ ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจผมคิดว่าเป็นเรื่องรอง แต่จำนวนปลาก็อาจจะตอบสนองการตรวจ สอบตัวตนของเขาด้วย แล้วเป็นคนหนุ่มคนสาวเสียเยอะ ซึ่งเป็นแรงงานหลักของระบบการท่องเที่ยว