WHO เตือนการฉีดสลับวัคซีนเป็นกระแสที่ค่อนข้างอันตราย

ดูเหมือนทางเดียวที่จะออกจากวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 คือการฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่นั้นยังเป็นเรื่องที่ต้องสู้กันต่อไป โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ต้องการวัคซีนมีคุณภาพเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ด่านหน้ามีความมั่นใจและปลอดภัยเพียงพอในการรักษาผู้ป่วยโควิด  

แม้ว่าก่อนหน้านี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา​คลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊คเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนต่างชนิดในเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 เช่นการให้ virus vector (AstraZeneca) สลับกับ mRNA (Pfizer) ซึ่งเริ่มมีการยอมรับมากขึ้น โดยนายแพทย์ยงชี้ว่า ไทยมีวัคซีนเชื้อตาย (Sinovac, Sinopharm) กับ virus vector (AstraZeneca) บางรายที่แพ้วัคซีนเข็มแรก วัคซีนเข็ม 2 ให้มีการฉีดต่างชนิดกัน ขณะนี้มีเป็นจำนวนมากพอสมควร เข้าใจว่ามีมากกว่า 1,000 ราย

การให้วัคซีนสลับเข็มแรกเชื้อตาย เข็มที่ 2 เป็น virus vector (ห่างกัน 3-4 สัปดาห์) จะทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนมีภูมิต้านทานสูงในเวลาเพียง 6-8 สัปดาห์ ซึ่งต่างจากผู้ที่ได้รับวัคซีน virus vector 2 ครั้ง (ห่างกัน 10 สัปดาห์) กว่าจะได้ภูมิต้านทานสูงต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 12-14 สัปดาห์ ข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นประโยชน์ ในช่วงที่มีการระบาดอย่างมาก และทำให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนมีภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 

โพสต์ล่าสุดของนายแพทย์ยง ระบุเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ว่า ข้อมูลที่ได้ขณะนี้มีจำนวนมากพอ โดยเฉพาะการฉีดสลับเข็ม ข้อมูลที่ถูกบันทึกในหมอพร้อมมีมากกว่า 1,200 ราย โดยที่ไม่มีอาการข้างเคียงรุนแรงแต่อย่างใด

สอดคล้องกับความเห็นของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็โพสต์ข้อความระบุผลการศึกษาขั้นต้นว่า ผู้ที่ได้ซิโนแวค 2 เข็ม + แอสตราเซเนกา 1 เข็ม ที่เป็นอาสาสมัครในการทดสอบนั้น มีระดับภูมิคุ้มกัน Neutralize antibody สูงถึง 99 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงค่า IC50 ต่อสายพันธุ์เดลตาในระดับสูงสุด จากข้อมูลการศึกษาเบื้องต้น แม้ว่าเราจะยังไม่มีวัคซีน mRNA แต่สำหรับบุคลากรด่านหน้าผู้เสียสละ ซึ่งได้รับซิโนแวคเป็นส่วนมากในช่วงแรก แต่ระดับการป้องกันตอนนี้คงไม่เพียงพอต่อไวรัสกลายพันธุ์เดลตา การใช้แอสตราเซเนกาเป็นเข็มกระตุ้นก็น่าจะเพียงพอให้เขาปลอดภัย ในขณะที่ยังไม่มีวัคซีนชนิด mRNA

อย่างไรก็ตามล่าสุด (13 กรกฎาคม 2564 ) โซเมีย สวามินาธาน (Soumya Swaminathan) หน้าคณะนักวิทยาศาสตร์องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาเตือนว่าการผสมการฉีดวัคซีนจากผู้ผลิตหลายรายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันซึ่งหลายประเทศกำลังดำเนินการอยู่นั้น ถือเป็น “กระแสที่ค่อนข้างอันตราย” เนื่องจากยังไม่มีผลงานวิจัยการฉีดสลับวัคซีนของแต่ละผู้ผลิต 

“นี่เป็นกระแสที่ค่อนข้างอันตราย ขณะนี้เรายังไม่มีข้อมูล และปราศจากหลักฐานว่าจะสามารถผสมวัคซีนได้” โซเมีย สวามินาธาน กล่าวระหว่างการบรรยายสรุปออนไลน์

“มันจะเป็นสถานการณ์ที่โกลาหลในหลายประเทศ หากประชาชนเริ่มตัดสินใจว่าเมื่อใด และใครจะได้รับวัคซีนเป็นครั้งที่สอง สาม และสี่”

ขณะที่ฟิลิปปินส์ อีกหนึ่งประเทศที่มีการนำเข้าวัคซีนหลากหลายชนิด รวมถึงวัคซีนซิโนแวค ก็ได้มีการทดลองผสมการฉีดวัคซีนสลับกับวัคซีนของผู้ผลิตรายอื่นๆ แต่ยังไม่มีผลการทดลองอย่างเป็นทางการประกาศออกมา ซึ่ง อีริค โดมิงโก (Eric Domingo) ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า แนวทางการฉีดวัคซีนสลับชนิดได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผล โดยการศึกษาที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหราชอาณาจักรก็มีการทดลองฉีดสลับกันระหว่างไฟเซอร์และแอสตราเซเนกา แต่ในกรณีของฟิลิปปินส์ที่ต้องการทดลองฉีดสลับกับชิโนแวคด้วยนั้น ยังต้องรอการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

ฉะนั้น การฉีดวัคซีนสลับชนิด ไม่ได้เป็นเรื่องต้องห้ามเสียทีเดียว เพราะแนวทางนี้เคยเกิดขึ้นแล้วหลายประเทศในยุโรป เนื่องจากมีเหตุที่ผู้ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน จนทำให้มีการระงับการฉีดกับคนที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี และต่อมายังอนุญาตให้มีการฉีดสลับวัคซีนสำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี ด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล ในวัย 66 ปี ก็ได้เปลี่ยนไปฉีดโมเดอร์นาเป็นเข็มที่ 2 เยอรมนีจึงเป็นประเทศแรกๆ ที่มีการสลับมาฉีด mRNA ในเข็มที่ 2 กรณีนี้เป็นการฉีดหลังจากได้รับคำแนะนำอย่างเป็นทางการแล้วว่าสามารถทำได้ แต่อย่างไรก็ตามยังเป็นเรื่องที่ต้องรอผลการศึกษาที่เป็นทางการกันต่อไป เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนวัคซีนที่มีคุณภาพ  

อ้างอิง

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า