ครูฝรั่งมาทำอะไรที่นี่: สำรวจปัญหาทักษะภาษาอังกฤษในระบบการศึกษาไทยแบบท่องจำ

กลายเป็นเรื่องดรามาของชาวเน็ต จากกรณีครูสาวชาวต่างชาติ 2 ราย โพสต์คลิปในโซเชียลมีเดียด้วยข้อความว่า ได้ค่าตั๋วเครื่องบินกลับสูงลิ่ว แถมยังมีที่พักและอาหารให้อีกด้วย ทำเอาชาวเน็ตจำนวนมากฉงนสงสัย ทั้งยังตั้งคำถามกลับหลากหลายประเด็น เป็นต้นว่า…

“พวกคุณจะเอาแต่เที่ยวไปตลอดไม่ได้นะ เมื่อไหร่จะไปต่อมหาลัยหรือหางานทำ (You guys can’t just travel around the world, when are you gonna go uni or get a job?)

“(ในขณะที่) พวกเราอยู่ในหมู่บ้านสักแห่งในประเทศไทย สอนหนังสือเด็กๆ โดยไร้วุฒิ (Us in a random town in Thailand teaching kids with no qualifications)”

หลังจากนั้นเจ้าตัวตามไปตอบคอมเมนต์ที่ถามไถ่เข้ามา เช่น มีคนสอบถามว่า “แล้วรายได้ของคุณล่ะ เท่ากับครูไทยรึเปล่า แค่ถามเพราะสงสัยในฐานะนักเรียนไทยคนหนึ่ง”

เจ้าตัวก็ตอบว่า “เราได้ค่าชำระคืนเงินสำหรับตั๋วเครื่องบินขากลับจากลอนดอน (ราวๆ 900 ปอนด์ หรือประมาณ 45,000 บาท) อาหารฟรีทุกวัน และที่พักเป็นอะพาร์ตเมนต์ดูดีเลยล่ะ (We get reimbursed our return flight from LD (around 900£ which is 45000 baht) food everyday for free and accommodation in a really nice apartment)”

เราคงปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่ามีคนไทยจำนวนมากที่มีมุมมองกับเรื่องเหล่านี้ในทางลบ เช่น มองว่าทำไมชาวต่างชาติซึ่งใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ ถึงสามารถมาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยได้ง่ายดายนัก แค่เพียงเพราะพูดภาษาอังกฤษได้ก็เป็นครูได้แล้วหรือ แล้วไหนจะเรื่องมาตรการคัดกรองการออกหนังสือรับรองการทำงาน บางคนก็อาจสงสัยด้วยว่า ครูต่างชาติหลายคนถือวีซ่าท่องเที่ยวแล้วมาหางานหรือเปล่า ในขณะที่ครูไทยที่เรียนจบด้านนี้โดยตรง อาจไม่สามารถหางานได้ง่ายเหมือนเจ้าของภาษา หรือหากหางานได้ก็มีรายได้ที่ต่ำกว่า เป็นต้น

ความคิดเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งมีในสังคมไทย มันมีอยู่มานานแล้ว แต่ก่อนอื่น รู้หรือไม่ว่าในประเทศไทยเรามีหลักเกณฑ์ในการระบุค่าแรงขั้นต่ำสำหรับชาวต่างชาติไว้ด้วย ซึ่งโดยทั่วไปกฎหมายแรงงานไม่ได้กำหนดชัดเจนว่า แรงงานต่างชาติหรือแรงงานต่างด้าวจะต้องมีค่าแรงขั้นต่ำเท่าไร แต่ความเข้าใจโดยส่วนใหญ่ก็มักจะยกเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของคนไทย เพียงแต่ว่ามีหลักเกณฑ์บางอย่างที่เพิ่มเติมเข้ามา นั่นก็คือ

สำนักตรวจคนเข้าเมืองได้กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำให้กับแรงงานต่างชาติเอาไว้ โดยหลักเกณฑ์นี้จะถูกนำไปใช้ก็ต่อเมื่อ คนต่างชาติต้องการที่จะขยายระยะเวลาการอยู่ต่อเนื่องด้วยมีความจำเป็นของบริษัท ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำของคนต่างชาติกลุ่มนี้ ต้องไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ตามสัญชาติ ดังนี้

  • ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรปตะวันตก 50,000 บาทต่อเดือน
  • ฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน 45,000 บาทต่อเดือน
  • ประเทศในเอเชีย (ยกเว้น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง กัมพูชา เมียนมา ลาว เวียดนาม) ประเทศในยุโรปตะวันออก รัสเซีย แอฟริกาใต้ ประเทศในอเมริกากลางและใต้ 35,000 บาทต่อเดือน
  • ประเทศในแอฟริกา (ยกเว้นแอฟริกาใต้) กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม 25,000 บาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์นี้จะได้รับการยกเว้นหากได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment หรือ BOI) เรื่องการจ่ายเงินขั้นต่ำแก่ลูกจ้างต่างด้าวของบริษัท

ยิ่งกว่านั้นแล้ว ข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่าง เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 นายกสมาคมครูผู้สอนภาษาอังกฤษแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์สุพงศ์ ตั้งเคียงศิริสิน เปิดเผยว่า “ตามปกติแล้ว ครูสอนภาษาต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว ก่อนมาสมัครงานตามสถาบันต่างๆ โดยมีเอกสารวุฒิการศึกษา เอกสารประสบการณ์การสอนที่ผ่านมา จากนั้นทางสถาบันจะสอบคัดเลือก ไม่ว่าจะเป็นข้อเขียน สัมภาษณ์เพื่อดูทัศนคติ เมื่อผ่านแล้วทางสถาบันจะต้องดำเนินการเรื่องขอ work permit หรือ หนังสือรับรองการทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสัญญาปีต่อปี”

สิ่งนี้เน้นย้ำชุดความคิดของคนส่วนใหญ่ในสังคมว่า ทำไมถึงรู้สึกกับครูชาวต่างชาติว่ามีลักษณะของการเป็นนักท่องเที่ยว มากกว่าจะเป็นครูที่ตั้งใจมาเพื่อเป็นครูจริงๆ

สิ่งนี้ยังถูกตอกย้ำเข้าไปอีกว่า คอร์สสอนภาษาจำนวนมาก อย่างเช่น Teaching English as a Foreign Language (TEFL) หรือ Teaching English as a Second or foreign Language (TESOL) เป็นหลักสูตรที่ปรากฏอยู่บนโฆษณาของเว็บไซต์ท่องเที่ยวเต็มไปหมด ในลักษณะเชิญชวนชาวต่างชาติที่สนใจมาเที่ยวและหาเงินในประเทศไทย 

ทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยรั้งท้ายเอเชีย เพราะการสอนแบบท่องจำ 

อีกชุดข้อมูลที่น่าสนใจ เมื่อประมาณช่วงปลายปี 2565 มีการจัดอันดับทักษะภาษาอังกฤษโดยเว็บไซต์ EF.com โดยประเทศไทยถูกจัดอยู่ที่อันดับ 97 รองจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาและกัมพูชา รั้งอันดับ 3 จากท้ายในกลุ่มประเทศเอเชีย ซึ่ง กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือ ครูจุ๊ย ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า เคยให้สัมภาษณ์กับ WorkpointTODAY วันที่ 10 มกราคม 2566 ว่า “การจัดการศึกษายังเป็นเหมือนสมัยจุ๊ยเด็กๆ ด้วยวิธีท่องจำ ทั้งตัวอักษร แกรมม่า ว่าโครงสร้างแบบนี้จะต้องพูดแบบไหน มันมีแค่นี้มาตลอดเลย

“คนไทยเราถือว่าภาษาอังกฤษมีสถานะเป็นภาษาต่างประเทศ ไม่ใช่ในฐานะ ‘ภาษาที่สอง’ คือไม่ได้มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย พอไม่มีคนใช้ภาษาอังกฤษบวกกับการเรียนแบบ ‘ท่องจำ’ ที่ส่งต่อกันมายาวนานมันก็ยังไม่เปลี่ยนสักที เลยทำให้ทักษะภาษาอังกฤษของคนไทยโดนฉุดรั้งลงมาเรื่อยๆ แล้วยิ่งเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่เขาพัฒนาการเรียนการสอนไปไกล ก็ยิ่งทำให้ตัวอันดับภาษามันแย่ลง”

จะเห็นว่าปัญหาระบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย รวมถึงการขาดแคลนบุคลากรครูทั้งคุณภาพและปริมาณ จนนำไปสู่การจ้างครูชาวต่างชาติ อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ และยังเป็นปัญหาจนถึงปัจจุบัน ดังที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ มีการคาดการณ์ไว้ว่า ครูผู้ช่วยในกลุ่มวิชาเอกที่ขาดแคลนมากที่สุดในช่วง 10 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2574) ก็คือ ครูวิชาภาษาอังกฤษ จำนวน 12,323 อัตรา 

WAY สอบถามความเห็นจากครูสอนภาษาอังกฤษชื่อดัง ลูกครึ่งไทย-อังกฤษอย่าง คริสโตเฟอร์ ไรท์ (Christopher Wright) หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ คริส เดลิเวอร์รี (Chris Delivery) ทั้งเรื่องทัศนคติของคนไทยต่อครูต่างชาติ เส้นทางจากนักท่องเที่ยวฝรั่งสู่อาชีพครู รายได้ ภาพลักษณ์ ตลอดจนปัญหาของระบบการศึกษาในเมืองไทย ว่าเหตุใดภาษาอังกฤษจึงกลายเป็น ‘ยาขม’ สำหรับใครหลายคน

ทำไมชาวต่างชาติจึงนิยมเข้ามาเป็นครูสอนภาษาในประเทศไทย

ส่วนหนึ่งก็ต้องมองที่คนไทยด้วยกันเอง เรามีค่านิยมว่า “ขอเป็นฝรั่งพูดภาษาอังกฤษได้” จริงๆ ความคิดแบบนี้ถือว่าเหยียดเชื้อชาติ (racist) อยู่นะ อย่างผมเปิดโรงเรียน ทำค่ายสอนภาษา หรือคอร์สต่างๆ เวลาไปเสนอตามบริษัทต่างๆ ผมก็จะโดนประจำเลยแบบว่า “อ้าว ครูไม่ได้เป็นฝรั่งเหรอ เขาต้องการเจ้าของภาษา (native speaker) เท่านั้นนะ” 

รวมถึงผู้ปกครองเองก็คิดแบบนี้เยอะ มันเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในค่านิยมแบบไทยๆ มานานแล้ว ทำให้โรงเรียนต้องไปหาฝรั่งมาเป็นครู 

ทำไมครูเก่งๆ หลายคนถึงเลือกไปเปิดสถาบันของตัวเองมากกว่าจะเป็นครูในระบบ

ผมเองก็เคยเป็นครูในโรงเรียนมัธยม ไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย สุดท้ายก็ออกมาทำของตัวเองก็ด้วย 2-3 เหตุผล

เหตุผลที่หนึ่งคือ ไม่ชอบหลักการความคิดของระบบการศึกษาบ้านเรา เช่น โรงเรียนไทยเน้นการสอบ การวัดระดับคนจากการสอบ มีการแบ่งแยกนักเรียนเหมือนแบ่งวรรณะ มีห้องคิง ห้องควีน ห้องกิฟต์เต็ด (gifted)

เหตุผลที่สอง คือ ผมสังเกตว่าตอนที่สอนอยู่ในโรงเรียนไทย หรือตอนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ระบบมันสร้างมาเหมือนกับพยายามให้โรงเรียนหรือหลักสูตรของสถาบันดูดีไว้ก่อน เอาเรื่องข้อสอบต่างๆ มาเป็นหลัก ไม่ได้โฟกัสที่ความรู้ ทักษะ หรือความสุขของคนเรียนที่แท้จริง ไม่ได้อิงตามนักเรียน (student based) หรือผู้ฟัง (audience based) แต่อิงตามโรงเรียน คุณครู หรือหลักสูตร พอรับนักเรียนเข้ามา แล้วนักเรียนทำไม่ได้ตามหลักสูตรก็ต้องมาเกลี่ยคะแนนของเด็กใหม่ ไหนจะเรื่องระบบที่เราต้องทำตาม ไม่ได้มีอิสรภาพให้คิดอะไรเอง หรือต้องทำงานเอกสารเยอะ 

แล้วก็เหตุผลสุดท้าย แน่นอนก็คือ เงินมันไม่ค่อยสูงอะเนอะ ถ้าพูดตรงๆ นะ

คนสงสัยกันมากว่า ทำไมครูต่างชาติถึงมีรายได้สูงกว่าครูไทยเป็นเท่าตัว

มันก็ต้องมอง 2 มุมนะ ถ้าพูดกันตรงๆ ความรู้ของครูไทยหลายคนก็ไม่ได้เยอะ หรือแม่นยำถูกต้องขนาดนั้น รวมถึงทักษะ ประสบการณ์ และแรงจูงใจที่จะมีให้กับนักเรียนด้วย

เวลาเราวัดคน เราใช้หลัก 3Q ก็คือ Quality (คุณภาพ) Quantity (ปริมาณ) และ Quickly (ความเร็ว) ผมรู้สึกว่า ทั้งคุณภาพ ปริมาณ หรือความรวดเร็ว ทั้งในการผลิตครูไทย หรือความเร็วในการปรับตัวตามสถานการณ์ต่างๆ มันยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ดีพอ แล้วพอครูไทยไม่ได้มีคุณภาพ ปริมาณ หรือความรวดเร็ว เขาก็ต้องไปหาครูต่างชาติ ไปหาครูฟิลิปปินส์ หรือไปหาเจ้าของภาษา

สำหรับคนต่างชาติจากประเทศอื่น เขาอาจจะบอกว่าการเข้ามาประเทศนี้ ก็ต้องสมน้ำสมเนื้อหน่อย คุ้มค่าหน่อยกับการเดินทางมา ฉะนั้นก็ต้องได้เงินเยอะหน่อยสิ คำถามคือ ถ้าเราจะจัดการปัญหาแบบนี้ให้หมดไป เราต้องพัฒนาระบบการสร้างครูให้มีทั้งคุณภาพ ปริมาณ และความรวดเร็ว นอกจากตัวระบบแล้ว ครูไทยก็ต้องพัฒนาตัวเองให้ทันด้วย เพราะถ้าพัฒนาช้า สุดท้ายเขาก็ต้องไปจ้างครูต่างชาติ แต่ไม่ได้หมายความว่าครูต่างชาติจะดีกว่าขนาดนั้นนะ มันก็มีทั้งครูที่เก่ง และครูที่ไม่เก่งก็มีเยอะเหมือนกัน

ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะทางฝั่งยุโรปที่ต้องการเรทค่าแรงสูงหน่อย หลายๆ คนตั้งใจวางแผนมาอาศัยและทำงานอยู่ในไทยเลยรึเปล่า

เรื่องค่าแรงสูงน่ะ ใช่เลย พวกเขามาจากประเทศที่มีค่าครองชีพสูง เขามาทำงานก็ต้องการค่าแรงสูงหน่อย มันเหมือนกับคนไทยนั่นแหละ ที่ไปทำงานต่างประเทศก็เพราะต้องการส่งเงินกลับมาให้ครอบครัว หรืออย่างน้อยๆ ก็ต้องมีเหลือเก็บ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานเสิร์ฟ ช่างก่อสร้าง ก็คือหาเงินส่งกลับมาบ้าน มันก็เหมือนกัน คอนเซปต์เดียวกัน

แต่ก็ต้องเข้าใจว่า ฝรั่งที่มาเมืองไทยหลายต่อหลายคน เขาอาจไม่ได้ตั้งใจมาเป็นครู คือหลายคนอาจไม่ได้ถูกเชิญมาหรือจ้างมา แต่หลายเคสคือฝรั่งเขาอยากมาอยู่เมืองไทย เขาชอบที่นี่ ชอบวัฒนธรรม เพราะประเทศเขามันไม่ได้สบายแบบเมืองไทย เขาก็เลยมาอยู่ที่นี่ แล้วงานหนึ่งที่พวกเขาทำได้ก็คือ ครูสอนภาษาอังกฤษ เพราะเป็นสิ่งที่ง่ายสุดที่จะเติมเต็ม แล้วมันก็สอดคล้องกับตลาดแรงงานที่ยังขาดแคลนอยู่

ในแง่การคัดกรองบุคลากรที่จะมาเป็นครู ปกติแล้วต้องมีกระบวนการอย่างไรบ้าง

มันก็ไม่ค่อยมีการคัดกรองอะไรมากนักนะ ขอให้เป็นฝรั่งที่พูดภาษาอังกฤษได้ ก็เอาแล้ว ก็จ้างแล้ว 

คือผมพูดตรงๆ นะ โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษทั่วประเทศ พวกสถาบันภาษาต่างๆ มันก็เป็นลักษณะธุรกิจ บางทีเขาก็แค่ไปหาฝรั่งมา แล้วก็บอกว่า “ไม่เป็นไรๆ ยูมานะ แล้วยูก็ต้องตัดผม ต้องโกนหนวด ใส่เสื้อเชิ้ต” แค่นั้นเอง มันก็เป็นไปได้ที่จะเจอครูไม่ดีบ้าง 

ในเชิงเทคนิค การสอนที่จะให้ประสิทธิผลกับนักเรียนควรเป็นอย่างไร 

การสอนภาษาต่างประเทศนี่มันมี 3 วิธีการสอนนะ

วิธีที่หนึ่งเขาเรียกว่า Theoretical Academic ก็คือ สอนทฤษฎีวิชาการ จำพวกสอนแกรมม่า สอนท่องจำ ถ้าพูดตรงๆ คนเรียนก็ไม่ค่อยได้เอาไปใช้หรอก แต่สอนเพราะเป็นไปตามหลักสูตร ทำให้หลักสูตรมันดูดี แบบนี้ในโรงเรียนไทยสอนกันเยอะ สอนกันเป็นหลัก ให้ท่องจำๆ กันมาหลายสิบปีแล้ว

สองก็คือ Immersive Learning ก็คือ การเรียนภาษาใหม่ล้วนๆ โดยไม่ใช้ภาษาแม่ผสมเลย ก็คือเป็นวิธีเรียนแบบให้พูดภาษาอังกฤษ 100 เปอร์เซ็นต์ในห้องเรียน อะไรแบบนี้

แบบที่สาม อันนี้เป็นสิ่งที่ผมและพ่อผมที่เป็นครู รวมถึงครูจำนวนมากก็ทำกันไปทั่วโลก ผมเรียกสิ่งนี้ว่า IBE คำนี้ไม่มีในกูเกิลหรอก ผมบัญญัติมันขึ้นมาเอง IBE ย่อมาจาก Interactive Bilingual Edu-tainment Interactibe ก็คือการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างนักเรียนกับครู นักเรียนกับนักเรียน หรือนักเรียนกับสื่อ เช่น คนที่พูดภาษาอังกฤษได้ส่วนมากก็เพราะว่าดูสื่อเยอะ

Bilingual ก็คือ คนสองภาษา เรียนกันสองภาษาได้ ถ้าคุณจะเรียนภาษาใหม่ มันไม่จำเป็นต้องถึงขั้นพูดภาษาอังกฤษ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่พูดภาษาอื่นเลย มันก็สุดโต่งเกินไป เราสามารถให้นักเรียนถามได้ว่า ประโยคนี้จะพูดภาษาอังกฤษว่าอย่างไร แล้วเราก็สอนเขาแบบนี้ไป

Edu-tainment ก็คือตามชื่อมันเลย คำว่า Education รวมกับ Entertainment เรียนไปด้วยเล่นไปด้วย

โดยรวม IBE ก็คือการเรียนผ่านสื่อ ผ่านกิจกรรม ผ่านครู ผ่านการเล่าเรื่อง ให้มันมีสีสัน ให้มันสนุก มีทั้งสื่อ เกม กิจกรรม ครูก็สนุก บรรยากาศห้องมันก็จะดี

อ้างอิง:

Author

ยอดเยี่ยม ยิ่งยืนยง
เพราะหมีกับกระต่าย ไม่เคยเป็นศัตรูตามธรรมชาติ
พวกมันก็เลยนั่งอึอยู่ข้างกันเป็นปกติ
วันหนึ่งหมีถามกระต่ายว่า "เธอมีปัญหาเรื่องอึติดขนบ้างมั้ย"
กระต่ายตอบว่า "ไม่นะ ไม่มีนะ"
หมีได้ยินดังนั้น ก็เลยหยิบเอากระต่ายขึ้นมาเช็ดตูด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า