ท่ามกลางความหวาดกลัวต่อโรคไวรัสอีโบลา ที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ มีคนจำนวนไม่น้อยเลือกคัดกรองและเชื่อถือข้อมูลข่าวสารจากแหล่งหรือองค์กรที่น่าเชื่อถือ อาทิ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อแห่งสหรัฐอเมริกา ( Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC) องค์การอนามัยโลก และ วิกิพีเดีย
เฉพาะเดือนที่แล้ว บทความเกี่ยวกับไวรัสอีโบลาในสารานุกรมออนไลน์อย่างวิกิพีเดีย มียอดเพจวิวสูงกว่า 17 ล้านครั้ง เนื่องจากมีเนื้อหาและข้อมูลจาก CDC และ องค์การอนามัยโลกประกอบอยู่ในนั้น เช่นเดียวกับ หน่วยงานเอกชนที่ให้การบริการรักษาโรคไวรัสอีโบลาอย่าง WebMD และ Mayo Clinic
“เพราะวิกิพีเดีย คือ แบรนด์ที่คนรู้จักและจำได้ แต่อย่างไรก็ตาม CDC ยังคงความน่าเชื่อถือถ้าต้องการหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคไวรัสอีโบล่าหรือโรคติดต่ออื่นๆ” จาค็อบ เดอ เวิล์ฟ อายุรแพทย์ โรงพยาบาลนอร์ทวิค พาร์ค (Northwick Park) ในกรุงลอนดอน ผู้ก่อตั้ง Wikiproject Medicine ในปี 2004 ยืนยัน
Wikiproject Medicine คืออะไร
วันที่ 15 ตุลาคม ที่มีข่าวเผยแพร่ออกมาว่า พยาบาลคนที่ 2 จากเมืองดัลลัสตรวจพบเชื้อไวรัสอีโบลา ยอดการเข้าอ่านบทความเรื่องนี้ในวิกิพีเดียของอังกฤษสูงถึง 2.5 ล้านเพจวิว ขณะที่ CDC ยอดเพจวิววันเดียวกันเฉพาะเนื้อหาอีโบลาอยู่ที่ 3.7 ล้าน ส่วนเนื้อหาอีโบลาของคลินิกเอกชน Mayo Clinic มีการค้นหา (search) ผ่านอินเตอร์เน็ตกว่า 200,000 ครั้ง
ต่อมา การพิมพ์คำว่า Ebola เพื่อค้นหาข้อมูลในเสิร์ชเอนจิ้นอย่างกูเกิล ทำให้บทความในวิกิพีเดียแซงหน้าต้นทางข้อมูลอย่าง CDC แต่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กูเกิล ก็จัดอันดับให้ข้อมูล CDC ขึ้นไปอยู่อันดับแรกๆ ของผลการค้นหาคำว่า Ebola ส่วน Bing เสิร์ชเอนจิ้นจากค่ายไมโครซอฟท์ก็ใช้บทความของวิกิพีเดียในการสรุปย่อเรื่องราวของอีโบลา
กระนั้น มีความกังขาว่าข้อมูลในวิกิพีเดียนั้นจะเชื่อถือได้อย่างไร ในเมื่อสารานุกรมออนไลน์นี้ใครๆ ก็เข้ามาเขียนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นบทความที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสุขภาพระดับโลก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ข้อมูลดังกล่าวควรเป็นข้อเท็จจริง ที่ไม่สามารถปรับแต่งหรือแก้ไขโดยใครก็ได้
เจมส์ เฮลแมน หัวหน้าแผนกฉุกเฉิน โรงพยาบาล East Kootenay Regional ในเมืองแครนบรูค ประเทศแคนาดา หนึ่งในผู้นำร่องโครงการ Wikiproject Medicine ที่คอยเฝ้าระวังและดูแลบทความสุขภาพต่างๆ ในวิกิพีเดียอย่างใกล้ชิด รวมถึงบทความเกี่ยวกับไวรัสอีโบลา
“ใครที่เขียนหรือใส่ข้อมูลลงไปมากที่สุด เขาคือผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุด” เฮลแมน อธิบาย
โดยทั่วไป การเข้ามาใส่ ปรับ แก้ไข หรือเพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับโรคไวรัสอีโบลาในวิกิพีเดียจะมีกลไกป้องกันระดับหนึ่งเท่านั้น หนึ่งในนั้นคือต้องลงทะเบียนเพื่อเข้าไปจัดการข้อมูล และผ่านประสบการณ์การจัดการข้อมูลเล็กน้อย ก็สามารถเข้าไปจัดการเนื้อหาได้แล้ว ที่สำคัญ ต้องเปิดเผยที่มาของข้อมูล ซึ่งถือเป็นกฎเหล็กสำหรับการเข้าจัดการบทความเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งถือว่าเข้มงวดกว่าการจัดการเนื้อหาหรือบทความประเภทอื่นๆ เช่น ถ้านำมาจากบทความในหนังสือพิมพ์ก็ห้ามตัดหรือแก้ไขข้อความแม้สักตัว
จากนั้นบทความสุขภาพทั้งหมดจะถูกจับตามองและคัดกรองโดยทีม Wikiproject Medicine อีกที
“หัวใจสำคัญในการทำงานของกลุ่มเราคือ จับตามองทุกๆ บทความที่เริ่มได้รับความนิยม เพื่อให้มั่นใจว่า เนื้อหาที่ถูกอ่านมากที่สุดในวิกิพีเดีย มีข้อมูลถูกต้องในมาตรฐานระดับสูง” นพ.เฮลแมน หนึ่งในทีม Wikiproject Medicine ชี้แจง
เฮลแมน จาก Wikiproject Medicine และหนึ่งในบรรณาธิการบทความสุขภาพของวิกิพีเดีย อธิบายว่า เพื่อป้องกันการให้ข้อมูลผิดๆ บรรณาธิการต้องแยกบทความชิ้นใหม่ออกมาต่างหากแล้วนำมาปรับแต่งเพิ่มเติมและแก้ไข ก่อนจะตัดสินใจว่าจะรวมเนื้อหานี้เข้ากับบทความอื่นๆ ในหมวดเดียวกันหรือไม่
เฮลแมนวัย 35 เผยว่าตั้งแต่เขาได้เลื่อนตำแหน่งในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้มีเวลาทุ่มเท และเขียนบทความทางการแพทย์ให้แก่วิกิพีเดียเป้าหมายของเขาคือการสื่อสารให้โลกได้เข้าใจว่า ไวรัสอีโบลาไม่ได้ติดต่อกันได้ผ่านอากาศที่หายใจ และเรียกร้องให้ยกเลิกการรักษาที่ไม่มีการรับรองผลหรือความปลอดภัย ข้อมูลของเขาจะถูกสื่อสารด้วยภาษาที่ง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปแปลเป็นภาษาอื่นๆ
“เราไม่จำเป็นต้องเขียนให้ผู้เชี่ยวชาญอ่าน เพราะผู้เชี่ยวชาญต่างก็มีแหล่งข้อมูลที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว” เฮลแมน บอก
ในหน้าสาธารณะ (public) ของวิกิพีเดีย การเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไข้เนื้อหาในบทความเรื่องอีโบลาเป็นประเด็นถกเถียงกันบ่อยๆ คุณจะได้เห็นคำแนะนำ เช่น ผู้ใช้งานรายหนึ่งที่เรียกร้องประเด็นสิทธิของสัตว์ กรณีให้ฆ่าสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสอีโบลาแทนที่จะกักบริเวณ หรือผู้ใช้รายอื่นก็แสดงความเห็นเรื่อง แพทย์ชาวไทยจากโรงพยาบาลศิริราชที่คิดค้นแอนติบอดีรักษาโรคไวรัสอีโบลาได้สำเร็จ
มีบางครั้งที่บทความถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าถูกแปรรูปออกมาให้ดูง่ายเกินไป เช่น มีข้อถกเถียงว่าระหว่าง “ภาวะตกเลือด” ว่าเหมือนกับ “เลือดไหลหรือเลือดออก” หรือไม่
“หน้าที่ของผมคือ ทำทุกวิถีทางไม่ให้ผู้ที่เข้าและเอาข้อมูลในวิกิพีเดียไปบิดเบือนต่อผิดๆ” เฮลล์แมน เผย
เฮลแมนบอกว่า บรรณาธิการบทความทางการแพทย์ของวิกิพีเดียซึ่งมีราว 300 คน รวมถึงทีม Wikiproject Medicine ด้วย จำเป็นต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญระดับสูง ผลการสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า ครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้ ทำงานหรือกำลังศึกษาด้านการดูแลสุขภาพและร้อยละ 85 จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย
แหล่งที่มาข้อมูลสุขภาพอื่นๆ ก็ให้ความสำคัญกับไวรัสอีโบลาเป็นอันดับต้นๆ เช่น UpToDate ( ฐานข้อมูลทางการแพทย์ ที่มีการใช้ในโรงพยาบาลหลักๆในอเมริกามากถึง 90% โดยบทความทั้งหมดถูกเขียนขึ้นโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในทุกสาขา) ภายใต้การดำเนินการโดยบริษัท Wolters Kluwer ก็เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอีโบลาแก่สาธารณะโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ รวมถึงบทสรุปย่อของเชื้อโรค โดยเขียนจากความคิดเห็นและประสบการณ์ของผู้ป่วยเอง
เร็วๆ นี้นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ก็มีวิชาเลือกเพิ่มขึ้นมาคือ Wikipedia editing หรือการเข้าไปจัดการเนื้อหาในวิกิพีเดีย
ดร.อามิน อาซาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เผยว่า ตัวเองไม่แน่ใจว่านักศึกษาแพทย์จะสนใจในบทความอีโบลามากน้อยแค่ไหน แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าพยายามจะกระตุ้นให้นักศึกษาสนใจโรคติดเชื้อต่างๆ และ เขียนบทความหรือข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้
“ตอนนี้ผมเชื่อว่า มันเป็นหน้าที่ของเราซึ่งเป็นมืออาชีพ ที่ต้องทำให้วิกิพีเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่เร็วที่สุด ลัดที่สุด ช่วยพัฒนาระบบสุขภาพระดับโลกได้” อาซามทิ้งท้าย
********************************
ที่มา : nytimes.com
หมายเหตุ : สำหรับผู้สนใจเนื้อหาและข้อมูลโรคไวรัสอีโบลา สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข