Windfall (2022) เป็นหนังแนวปัญหาสังคม กำกับโดย ชาร์ลี แมคโดเวลล์ (Charlie McDowell) แสดงนำโดย เจสัน ซีเกล (Jason Segel) ลิลี คอลลินส์ (Lily Jane Collins) และเจสซี พลีมอนส์ (Jesse Lon Plemons) เรื่องราวหนังโดยคร่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับโจรรายหนึ่งซึ่งบุกเข้าไปยังบ้านพักตากอากาศของมหาเศรษฐีสายเทคโนโลยีเพื่อต้องการจะขโมยเงินจำนวน 5 แสนเหรียญ เรื่องราวทั้งหมดจึงได้เริ่มต้นขึ้น
การดำเนินเรื่องภายในหนังเป็นไปอย่างเนิบช้า ไม่เน้นฉากแอคชั่นให้ลุ้นระทึกมากนัก แต่สิ่งที่น่าสนใจภายในตัวหนังก็คือ บทสนทนาของตัวละครระหว่างเศรษฐีกับโจร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติที่น่าสนใจของเศรษฐีที่มีต่อแรงงานและสภาพสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เราจึงอยากชวนดูประโยคที่น่าสนใจของสองตัวละครนี้ว่า ทั้งคู่มองโลกแบบไหนและคุยอะไรกันบ้าง
“ฉันควรจะขอโทษที่ฉันช่วยรักษาบริษัทไว้ กับช่วยให้ชีวิตพนักงานหลายร้อยคนดีขึ้นด้วยหรือ?”
ประโยคนี้เกิดขึ้นระหว่างการสนทนาของโจรและเศรษฐีภายในไร่ เมื่อเศรษฐีมีข้อสงสัยในตัวของโจรว่ามีความโกรธแค้นอะไรต่อเขาหรือไม่ ถึงได้เข้ามาบุกรุกเพื่อที่จะขโมยเงินในบ้านของตน ทำให้เขาได้เริ่มถามคำถามต่างๆ และพูดประโยคเชิงประชดประชันขึ้นมา
หนึ่งในประโยคที่เศรษฐีได้พูดกับโจรก็คือ “ฉันควรจะขอโทษที่เขียนอัลกอริทึมที่จำเป็นและช่วยรักษาหลายๆ บริษัทไว้ และทำให้ชีวิตพนักงานหลายร้อยคนดีขึ้นด้วยหรือ?” และเมื่อโจรได้ยิน ก็ขำพร้อมกับตอบกลับว่า รู้สึกตลกที่เห็นเศรษฐีพูดถึงการช่วยชีวิตคน เมื่อเศรษฐีได้ยินเช่นนั้นจึงพูดกลับไปว่า “ถ้าบริษัทที่ร่ำรวย แต่ไม่มีประสิทธิภาพ เจ๊ง งานก็ไม่เหลือ หรือถ้ารวยน้อยกว่า แต่มีประสิทธิภาพกว่า อยู่รอด บางตำแหน่งงานก็จะรอด”
ในโลกเสรีนิยมใหม่เองก็มีการสร้างระบบดังเช่นอัลกอริทึมที่เศรษฐีอ้างถึงเช่นเดียวกัน โดยในโลกเสรีนิยมใหม่จะมุ่งสร้างความมั่งคั่งด้วยการดึงแรงงานจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบ แต่ก็มีข้อแม้คือการใช้กลไกควบคุมสูง ทั้งทางอุดมการณ์และกายภาพ เพื่อเป็นการวางเงื่อนไขและรักษาระบบ ซึ่งระบบนี้ก็มีปัญหาที่เกิดขึ้นในตัวเอง คือการที่ตัวระบบไม่สามารถรองรับให้ทุกคนก้าวขึ้นมายืนอยู่ในจุดเดียวกันได้ มีการสร้างของเสียที่ไม่จำเป็น ยากต่อการควบคุม และไม่ก่อให้เกิดกำไร เช่น ความแก่ ความเจ็บป่วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้มนุษย์และแรงงานประสบกับการสูญเสียความสมเหตุสมผลที่จะลุกขึ้นมาต่อต้าน และสุดท้ายต้องโดนกีดกันออกจากระบบไป ดังนั้น การที่เศรษฐีกล่าวว่าอัลกอริทึมของตนสามารถช่วยชีวิตแรงงานจำนวนมากและบริษัทหลายแห่งได้ แต่ถ้าบริษัทไหนไม่มีประสิทธิภาพก็เจ๊ง นั่นหมายความว่า อัลกอริทึมของเขาก็อาจเปรียบได้กับระบบในโลกเสรีนิยมใหม่ที่ไม่สามารถรองรับผู้คนได้ทั้งหมด ทั้งยังต้องแลกมาด้วยเงื่อนไขต่างๆ และการสร้างของเสียตามมาเช่นเดียวกัน
“มันมีแนวคิดใหม่ที่ว่า… ‘ฉันมีตัวตน’ เพราะฉะนั้น คุณติดหนี้ฉัน”
เศรษฐียังคงตั้งคำถามกับตัวโจรต่อไป โดยเริ่มถามโจรว่าเขาได้ไปติดหนี้อะไรอยู่หรือเปล่า โจรจึงตอบกลับมาว่า ถ้าเศรษฐีติดหนี้ก็คงติดหลายคน ไม่ใช่แค่ตัวเขาคนเดียว เพราะสมการทางคณิตศาสตร์ของเศรษฐีทำให้หลายคนตกงานโดยไม่ทันได้เตรียมตัว
เมื่อเศรษฐีได้ยินอย่างนั้นจึงถามกลับประโยคหนึ่งว่า “รู้จักไหมว่า มันมีแนวคิดใหม่เกิดขึ้น แนวคิดใหม่ที่เป็นที่นิยม ที่ว่า…ฉันมีตัวตน เพราะฉะนั้น คุณติดหนี้ฉัน” และยังกล่าวเสริมอีกว่า “ในโลกที่มีแต่คนที่โคตรขี้เกียจและเกาะคนอื่นกิน วันๆ เอาแต่นั่งเฉยๆ และพร่ำบ่น จนเวลาที่พวกเขาเผชิญหน้ากับอุปสรรคก็มักจะคิดว่า คงจบแค่นี้แล้วล่ะ” (พร้อมกับทำท่าร้องไห้ออกมา) ซึ่งต่างกับเขา (เศรษฐี) ที่เห็นคุณค่าของโอกาส และพร้อมจะทำอะไรกับมันตลอดเวลา “ฉันไม่ได้ขออะไรจากใคร และฉันไม่ได้เอาอะไรที่แม่งไม่ใช่ของฉัน!”
อีกหนึ่งปัญหาในโลกเสรีนิยมใหม่คือ การเกิดขึ้นของ ‘สังคมทารก’ (Infantilization of the society) โดย เวนดี บราวน์ (Wendy Brown) ให้คำอธิบายถึงสังคมทารกไว้โดยคร่าวว่า คือการที่พลวัตทางสังคมทำให้ผู้คนกลับไปสู่สภาวะเฉยเมยหรือทำให้กลับไปเป็นทารก ถูกทำให้อ่อนแอ จึงทำให้คิดถึงแต่ตนเอง เกิดความเครียด เหนื่อยล้า และสิ้นหวัง นี่จึงอาจเป็นสิ่งที่เศรษฐีได้พบเจอจากผู้คน และทำให้เขามองว่าผู้คนสมัยนี้มักเอาแต่เรียกร้องสิ่งต่างๆ และอ่อนไหวต่ออุปสรรค จนกลายมาเป็นแนวคิดที่เขาเรียกว่า ‘ฉันมีตัวตน’
ทว่าก่อนที่จะเกิดแนวคิดอย่างที่เศรษฐีหยิบยกขึ้นมานี้ สาเหตุก็ไม่ใช่อื่นไกลเลยนอกเสียจากปัญหาของโลกเสรีนิยมใหม่เอง การปรับตัวของระบบทุนนิยมทำให้เกิดการขูดรีดที่มากเกินไป (Over-Exploitation) มีการเอาเวลาในการใช้ชีวิตด้านต่างๆ ของลูกจ้างไปผูกติดกับเวลางาน ทำให้ผู้คนรู้สึกเครียด เหนื่อยล้า สิ้นหวัง และก่อตัวจนกลายเป็น ‘สังคมถวิลหา’ ที่ผู้คนรู้สึกโดดเดี่ยวและถามหาแต่ผู้ที่ต้องการตนเองตลอดเวลา นี่จึงเป็นผลลัพธ์จากโลกเสรีนิยมใหม่ แต่แล้วทำไมเศรษฐีจึงมองว่าผู้คนที่มีปัญหาเหล่านี้คือคนที่เกาะกินผู้อื่น?
มองในแง่ ‘สิทธิทางเศรษฐกิจ’ (Economic Rights) มีพื้นฐานและถูกพัฒนามาจากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสิทธิพลเมือง บนหลักการที่ว่า ยิ่งต่อสู้มากก็ยิ่งได้สิทธิมาก ทำให้ประเด็นสิทธิทางเศรษฐกิจเองก็ได้ใช้มุมมองนี้เช่นเดียวกัน โดยมองว่าเป็นการสร้างอำนาจต่อรอง และยิ่งสู้มากก็ยิ่งมีสิทธิมาก แนวคิดเช่นนี้จึงอาจทำให้เศรษฐีนักธุรกิจมองผู้คนที่สิ้นหวังเหล่านี้ว่าเป็นคนเกาะกิน และไม่ต่อสู้เพื่อแสวงหาโอกาสตลอดเวลาเหมือนกับเขา
“ไม่มีอะไรยุติธรรมเลย แกมีทุกอย่าง แต่ฉันไม่มีอะไรเลย”
นี่เป็นฉากสุดท้ายก่อนที่หนังจะจบ โจรทำการขังเศรษฐีและภรรยาไว้ในบ้าน และได้บอกกับเศรษฐีว่า แท้จริงแล้วเขามาที่นี่เพราะต้องการจะรู้การเป็นเศรษฐีจะรู้สึกอย่างไร โดยตัวเขาเองก็คาดหวังลึกๆ ว่าอยากให้เศรษฐีเป็นคนดี เพราะเขาเชื่อว่าอย่างน้อยก็ควรจะมีอะไรที่สมเหตุสมผลอยู่บ้าง และอาจช่วยให้รู้สึกยุติธรรมมากกว่านี้ แต่เมื่อได้เจอตัวจริงของเศรษฐีกลับยิ่งทำให้เขารู้สึกว่าน่ารังเกียจ และรู้สึกว่าชีวิตของเขาไม่ได้รับความยุติธรรมอะไรเลย เศรษฐีมีทุกอย่าง แต่ตัวเขากลับไม่มีอะไรเลย
การที่โจรเผยความรู้สึกว่า ตัวเขาเองยังคงคาดหวังว่าโลกทุนนิยมจะมีความยุติธรรมหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ความจริงแล้วกลับไม่มีความยุติธรรมอะไรเลย เศรษฐีได้ครอบครองทุกอย่าง ต่างจากตัวเขาที่แทบไม่ได้อะไรเลย คำพูดนี้จึงสะท้อนถึงสภาวะของมนุษย์ลูกจ้างหรือแรงงานที่ต้องตกอยู่ภายใต้ระบบตลาดแบบทุนนิยมและปัญหาการผูกขาด (Monopolization) ที่เกิดจากกลุ่มนายทุนขนาดใหญ่ผูกขาดทรัพยากรจำนวนมากจนประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ หรือที่ผู้คนมักจะเรียกกันว่า ‘กลุ่มคน 1 เปอร์เซ็นต์’ แตกต่างจากแรงงานและกลุ่มทุนขนาดเล็กที่จัดอยู่ในกลุ่มคน 99 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต้องแข่งขันกันเองเพื่อแย่งชิงพื้นที่และทรัพยากรที่เหลือ
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ย่อมทำให้ผู้คนในกลุ่มคน 99 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกได้ถึงความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม เพราะนอกจากในแต่ละวันที่พวกเขาจะต้องเข้าแข่งขันฟาดฟันในระบบเศรษฐกิจเช่นนี้แล้ว พวกเขายังต้องพร้อมที่จะรอรับความเสี่ยงจากระบบหรือสมการของนายทุนที่พร้อมจะทำให้ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา
สุดท้ายนี้ ถึงแม้ตัวหนังจะดำเนินเรื่องด้วยบทสนทนาของตัวละครเป็นส่วนใหญ่ และเรื่องราวในตอนจบอาจทำให้ผู้ชมบางส่วนที่คาดหวังจะได้เสพความระทึกขวัญรู้สึกไม่ถูกใจ แต่เนื้อหาหลักที่หนังพยายามสื่อสารก็สามารถทำให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความไม่เท่าเทียม ผ่านวิธีคิดที่แตกต่างและการโต้แย้งของตัวละครระหว่างเศรษฐีที่เปรียบเสมือนตัวแทนกลุ่มคน 1 เปอร์เซ็นต์ กับโจรที่เปรียบเสมือนตัวแทนของผู้คน 99 เปอร์เซ็นต์ ว่าในสภาวะสังคมเช่นนี้ พวกเขามีมุมมองอย่างไรและต้องเผชิญกับอะไรบ้าง และท้ายที่สุดใครคือผู้มีอำนาจเหนือกว่าในระบบตลาดที่ยึดถือทุนเป็นใหญ่