Write for Rights 2023 เขียน เปลี่ยน โลก ‘แอมเนสตี้’ ชวนคนไทยส่งเสียงถึงผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ย้ำพลังจากคนธรรมดาสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

เมื่อวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) เปิดตัวแคมเปญ ‘Write for Rights’ หรือ ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ กิจกรรมรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ  ลานหน้าลิโด้ คอนเน็คท์ (Lido Connect)  โดยเชิญชวนศิลปินและนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม นักกิจกรรม ครอบครัวผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ และทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ร่วมพูดคุยในหัวข้อ ‘Your Words Change Lives’

นอกจากนี้ยังเชิญชวนคนไทยร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงไปกับคนทั่วโลกเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกละเมิดทั่วโลกผ่านการเขียนจดหมายถึงพวกเขา โดยมีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้ผู้ถูกละเมิดและครอบครัวของพวกเขารู้สึกว่ากำลังเผชิญอยู่กับการต่อสู้เพียงลำพัง นอกจากนี้ยังสามารถเขียนจดหมายถึงผู้มีอำนาจที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำมาสู่ความยุติธรรม และเพื่อเป็นการสื่อสารว่า ประชาชนทุกคนพร้อมที่จะยืนหยัดต่อสู้กับการใช้อำนาจโดยมิชอบไม่ว่าการใช้อำนาจนั้นจะเกิดที่ใดบนโลกก็ตาม โดยกิจกรรมนี้ได้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 22 แล้ว

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า จุดเริ่มต้นของแคมเปญนี้ เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มนักกิจกรรมในโปแลนด์จัดงานเขียนจดหมายมาราธอน 24 ชั่วโมง โดยเขียนจดหมายทั้งวันทั้งคืนในนามของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ และ 22 ปีต่อมาก็กลายเป็นการรณรงค์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของแอมเนสตี้ ที่ผู้คนจากทั่วโลกมาร่วมกันปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับผู้ที่เผชิญความเสี่ยง

“จากจดหมาย 2,326 ฉบับในปี 2544 กลายเป็น 5.3 ล้านแอคชั่นในปี 2565 รวมทั้งการเขียนจดหมาย อีเมล โพสต์ทวีต เฟซบุ๊ก ส่งไปรษณียบัตรหลายล้านครั้ง ในวันนี้ผู้สนับสนุนแคมเปญ Write for Rights ได้ใช้พลังที่จะส่งเสียงของพวกเขาเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น โดยร่วมกันเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนมากกว่า 100 คน ปลดปล่อยพวกเขาจากการถูกทรมาน การล่วงละเมิด หรือจับกุมคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม”

แคมเปญนี้จะเชิญชวนผู้สนับสนุนจากทั่วโลกเขียนจดหมายหลายล้านฉบับให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือครอบครัวโดยตรง เพื่อให้พวกเขารับรู้ว่าไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง นอกจากการส่งข้อความเพื่อให้กำลังใจผู้ถูกละเมิดสิทธิแล้ว ผู้คนยังเขียนจดหมายถึงผู้มีอำนาจ เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำความยุติธรรมมาสู่ผู้ได้รับผลกระทบ การรณรงค์ของแอมเนสตี้เป็นการสื่อสารข้อความไปทั่วโลกว่า ประชาชนพร้อมจะยืนหยัดต่อสู้กับการใช้อำนาจอย่างมิชอบไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดก็ตาม

“ในปีนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ผลักดันให้ประเด็นของ อัญชัญ ปรีเลิศ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม ไปพร้อมกับการช่วยเหลืออีก 3 กรณีอย่างเข้มข้น ได้แก่  อันนา มาเรีย แม่ผู้ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมจากประเทศบราซิลที่ต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมให้กับลูกชายที่เสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงของตำรวจ ทูลานี มาเซโกะ ที่ถูกสังหารภายในบ้านจากการพูดความจริงและวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายต่างๆ ในประเทศเอสวาตินี ลุงพาไบและลุงพอลที่ต่อสู้เพื่อรักษาบ้านเกิดของตนที่กำลังจะจมหายไปจากน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศออสเตรเลีย”

อัญชัญ ปรีเลิศ หรือ ‘ป้าอัญชัญ’ อดีตข้าราชการวัยเกษียณถูกตัดสินจำคุกยาวนานเป็นประวัติการณ์มากถึง 87 ปี และลดลงเหลือ 43 ปี 6 เดือน ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ เนื่องจากการแชร์คลิปเลียงที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสถาบันกษัตริย์บนโซเชียลมีเดียของเธอ ป้าอัญชัญถูกควบคุมตัวโดยพลการในปี 2558 ยุค คสช. หลังจากนั้นเธอต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ 3 ปี 9 เดือน ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในปี 2561 และถูกจับกุมอีกครั้งในปี 2564 จนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันป้าอัญชัญในวัย 68 ปียังคงอยู่อยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง ด้วยอายุที่มากประกอบกับโรคประจำของคนชรา ทำให้เธอจำต้องอดทนและทำจิตใจให้แข็งแรงเพื่อที่จะมีชีวิตให้ได้ในแต่ละวัน โดยป้าอัญชัญมีกำหนดพ้นโทษในวันที่ 24 กันยายน 2574 แต่เท่ากับว่าตอนนั้นเธอจะมีอายุุถึง 76 ปี เราจึงเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีให้ยุติการดำเนินคดีและปล่อยตัว อัญชัญ ปรีเลิศ โดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข พร้อมจ่ายค่าชดเชยให้กับเธอสำหรับการกักขังและควบคุมตัว

อันนา มาเรีย จากประเทศบราซิล เธอคือแม่ผู้สูญเสียลูกชายนามว่าเปรโดร เฮนริค จากการถูกลอบสังหารภายในบ้านโดยกลุ่มชายแปลกหน้าที่แฟนของเปรโดรผู้เป็นพยานเพียงคนเดียวระบุว่า ชายทั้งสามคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เปรโดร เป็นนักเคลื่อนไหวและสนับสนุนความยุติธรรมทางเชื้อชาติและสิทธิมนุษยชน หลังจากที่เปรโดรเสียชีวิต ผู้เป็นแม่อันนา มาเรีย ต้องเผชิญกับการถูกข่มขู่และการล่วงละเมิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการแสวงหาความยุติธรรมให้กับลูกชายของเธอ เจ้าหน้าที่ที่ต้องสงสัยว่าสังหารเปรโดรถูกตั้งข้อหาในปี 2562 แต่เกือบ 5 ปีต่อมา พวกเขายังคงประจำการอยู่ในกองกำลังตำรวจ พร้อมกับการสืบสวนการสังหารยังไม่สิ้นสุดและการพิจารณาคดียังไม่เริ่มขึ้น

เราขอเรียกร้องไปยังอัยการสูงสุดให้ใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อประกันว่ามีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ เป็นกลาง และละเอียดถี่ถ้วนในคดีฆาตกรรมเปโดร เฮนริคและนำผู้รับผิดชอบเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมถึงมีการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ยังต้องใช้มาตรการที่จําเป็นทั้งหมดเพื่อประกันว่าจะมีการยุติการเลือกปฏิบัติ การข่มขู่ในกระบวนการทางตุลาการและกระบวนการยุติธรรมต่ออันนา มาเรียอีกด้วย

ทูลานี มาเซโกะ จากประเทศเอสวาตินี เป็นพ่อและสามีที่ทุ่มเทชีวิตของเขาให้กับผู้คนในเอสวาตินี ซึ่งเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มั่งคั่งแต่ประชาชนกว่า 60% ใช้ชีวิตอยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจน เขาได้วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายปราบปรามของประเทศตนเองอย่างเปิดเผย รวมถึงการใช้ความรุนแรงของรัฐที่มากเกินไปเพื่อปิดปากการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ในวันที่ 21 มกราคม 2566 ทูลานีถูกยิงเสียชีวิตต่อหน้าทาเลเนภรรยาของเขา จนถึงปัจจุบันไม่มีใครรับผิดชอบต่อการสังหารของทูลานี

เราจึงเรียกร้องไปยังกษัตริย์แห่งเอสวาตินีให้มีการสืบสวนอย่างมีประสิทธิภาพต่อการสังหาร ทูลานี มาเซโกะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นำตัวผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนรับผิดชอบเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การพิจารณาคดีต้องมีความเป็นธรรมและครอบครัวของทูลานีสามารถเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพและรอบด้าน

ลุงพาไบและลุงพอล จากประเทศออสเตรเลีย ทั้งสองคนอาศัยอยู่ในช่องแคบทอร์เรสทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งบรรพบุรุษของพวกเขาเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในเกาะแห่งนี้มานับพันปี ปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศกำลังทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของพวกเขา น้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นได้ทำลายสุสานบรรพรุษ พื้นที่เพาะปลูก และโครงสร้างของเกาะกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง หากยังไม่ไม่มีมาตรการที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง พวกเขารวมถึงคนในชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้มานับพันปี จะต้องถูกบังคับให้ออกจากพื้นที่ทำกินบ้านเกิดของตน

เราจึงเรียกร้องไปยังรัฐบาลออสเตรเลียให้มีมาตรการป้องกันจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโดยเร่งด่วนให้แก่ชุมชนซึ่งเป็นชนชาติแรก (First Nations) ในช่องแคบทอร์เรสให้ได้รับการปกป้อง โดยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างรวดเร็วตามพันธสัญญาของโลกในการจำกัดภาวะโลกร้อนให้เหลือ 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อให้สอดคล้องกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่

ที่ผ่านมาแคมเปญ Write for Rights มีส่วนนำข้อความจากคนทุกมุมโลกส่งเสียงไปยังรัฐบาลในประเทศต่างๆ ให้ไม่อาจเพิกเฉยต่อปัญหาสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันข้อความเหล่านั้นยังทำให้คนที่ถูกละเมิดสิทธิยังคงมีความหวังในการต่อสู้ กรณีตัวอย่างเช่น ฮาคีม อัล อาราบี นักฟุตบอลเชื้อสายบาห์เรน ที่ได้รับการปล่อยตัวหลังจากถูกทางการไทยควบคุมตัวนานกว่า 2 เดือน ตามหมายแดงของตำรวจสากล ซึ่งรัฐบาลบาห์เรนตั้งข้อหาว่าเขาทำลายทรัพย์สินสถานีตำรวจในเหตุการณ์อาหรับสปริง เมื่อเขาได้รับการปล่อยตัว รุ่งขึ้นเขาเดินทางไปถึงออสเตรเลีย และได้รับสัญชาติออสเตรเลียในเวลาต่อมา

รวมทั้งกรณีของ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักกิจกรรมจากประเทศไทย จากเด็กขี้อายและเงียบขรึมได้กลายมาเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย เธออาจถูกจำคุกตลอดชีวิตเพียงเพราะใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ และเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในโครงการ Write for Rights หรือ เขียน เปลี่ยน โลก เมื่อปี 2564

ในปีดังกล่าวมีผู้คนจากทั่วโลกส่งจดหมาย ทวีตข้อความ ร่วมลงชื่อและปฏิบัติการอื่นๆ รวมกว่าสามแสนครั้งเพื่อสนับสนุนเธอ ต่อมารุ้งได้รับการประกันและปล่อยตัวชั่วคราว และบอกว่า ได้อ่านจดหมายจากแคมเปญนี้ตอนออกมาจากคุกแล้ว ตอนนั้นถือเป็นช่วงที่มืดมนที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้ ข้อความที่เขียนให้มานั้นส่วนใหญ่เป็นข้อความให้กำลังใจ บอกว่ายังมีคนที่อยู่เคียงข้างเรา ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในประเทศเดียวกัน ไม่ได้รู้จักกัน ไม่ได้ทำอะไรร่วมกันก็ตาม เป็นคนแปลกหน้าที่เขียนให้กำลังใจ และบอกเราว่า ‘เราเชื่อมั่นใจตัวคุณ’ ‘เราเชื่อว่าคุณต่อสู้ได้’  และย้ำว่าเราทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว  ข้อความเหล่านั้นสร้างกำลังใจให้เราเป็นอย่างมาก ทำให้ช่วงเวลามืดมิดตรงนั้นสว่างขึ้นทันที จากการที่เราได้รับความรักจากคนแปลกหน้า

“อยากจะขอเชิญชวนทุกคน มาร่วมโครงการ Write for Rights  โครงการนี้มีพลังและมีความหมายมากสำหรับคนที่ถูกละเมิดสิทธิที่มีอยู่ทั่วโลก เป็นการเขียนจดหมายที่พวกเราจะส่งไปให้พวกเขา ทั้งให้กำลังใจ ความเข้มแข็ง และตอกย้ำให้พวกเขารู้ว่า สิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ สิ่งที่คุณกำลังต่อสู้อยู่นั้น มันเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว พวกเราทุกคนทั่วโลกจะร่วมส่งกำลังใจไปให้  ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่รุ้งเคยได้รับเมื่อสองปีที่แล้วจากโครงการ Write for Rights เช่นกัน”

ร่วมกัน ‘เขียน เปลี่ยน โลก’ ได้ที่ https://www.aith.or.th

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า