What We Need to Know: การเลือกตั้งฝรั่งเศส 2017

TAKEAWAYS

  • การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสเป็นอีกหนึ่งการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในยุโรปที่ทั่วโลกต่างพากันจับตามอง ตัวเต็งสองคน ได้แก่ มารีน เลอ เปน จาก National Front (FN) พรรคฝ่ายขวาที่ชูนโยบายนำฝรั่งเศสออกจาก EU ด้วยการโหวต Frexit และตัวแทนจากฝ่ายซ้าย Unsubmissive France ฌอง-ลุค เมลองชอง ที่เสนอการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์กับ EU ผ่าน Plan A และ Plan B ดังนั้น ไม่ว่าฝ่ายไหนได้เป็นประธานาธิบดี สหภาพยุโรปจะต้องเผชิญการสั่นคลอนครั้งใหม่ต่อจากการแยกตัวของอังกฤษ
  • การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ตามรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1958 ให้ความสำคัญกับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างมาก โดยจัดลำดับให้ ประธานาธิบดี อยู่ในหมวดที่สอง รองจากอำนาจอธิปไตย และการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสมาจากกาเลือกตั้งทางตรง แม้ฝรั่งเศสจะมีทั้งนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดี แต่นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสจะเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร แต่ผู้ที่มีอำนาจสำคัญที่สุดในการดูแลเรื่องนโยบายระหว่างประเทศและการทหารคือประธานาธิบดี

 

การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 23 เมษายนนี้ นับว่าเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่คาดเดาได้ยากที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสอีกครั้ง และยังตกเป็นเป้าสนใจของคนทั่วโลกในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะนโยบายขวาจัดของผู้ท้าชิงตัวเต็งอย่าง มารีน เลอ เปน และมีความเป็นไปได้สูงว่า ประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนต่อไปจะส่งผลให้ยุโรปเข้าสู่ยุคขวาจัดอย่างแท้จริง

ทำไมการเลือกตั้งฝรั่งเศสถึงสำคัญ

ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก เป็นอันดับ 2 ของ EU เป็นประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เป็นหนึ่งในประเทศพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐ และเป็น 1 ใน 6 ประเทศที่ก่อตั้งสหภาพยุโรปร่วมกับเบลเยียม เยอรมนีตะวันตก อิตาลี ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์

หากชาติสำคัญอย่างฝรั่งเศสออกจากสหภาพยุโรป จะส่งผลกระทบต่อภูมิภาคนี้ในหลายด้าน ตั้งแต่ความมั่นคง เศรษฐกิจ การเมือง ไปจนถึงการเคลื่อนย้ายของแรงงาน ผู้อพยพ และผู้ลี้ภัย

ในแง่นี้ ท่าทีของผู้นำคนใหม่ย่อมส่งผลต่อดุลอำนาจการเมืองระหว่างประเทศด้วย และหากผลการเลือกตั้งเป็นไปตามที่หลายสื่อคาดการณ์ว่า ผู้นำคนใหม่คือ มารีน เลอ เปน นโยบายต่างประเทศของฝรั่งเศสก็จะเอียงขวาตามทิศทางของหลายชาติในยุโรป ที่สำคัญคือ สหรัฐอาจสูญเสียมิตรประเทศสำคัญ และมีความเป็นไปได้ที่ฝรั่งเศสจะเอนเอียงไปหารัสเซีย

สายตาชาวโลกจึงต้องจับตามองอนาคตก้าวใหม่ของฝรั่งเศสที่ยังไม่อาจฟันธงได้ว่า ก้าวที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้จะไปทางซ้ายหรือขวา

การเลือกตั้งฝรั่งเศสมีขึ้นเมื่อไหร่

ฤดูร้อนปี 2017 ประชาชนชาวฝรั่งเศสจะต้องไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งสี่ครั้งด้วยกัน ได้แก่ การเลือกตั้งประธานาธิบดีของฝ่ายบริหารสองครั้ง และการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (National Assembly) อีกสองครั้ง

สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรกจะจัดขึ้นวันอาทิตย์ที่ 23 เมษายนที่จะถึงนี้ หากไม่มีผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใดได้คะแนนเสียงเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ในการโหวต จะต้องมีการจัดเลือกตั้งอีกรอบเพื่อหาผู้ชนะ ตามกำหนดการคือวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม ซึ่งจะเป็นรอบตัดสินว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนที่ 25

ส่วนการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรที่จะจัดขึ้น รอบแรกคือ 10 มิถุนายน ส่วนรอบสองคือ 17 มิถุนายน เพื่อให้ได้ที่นั่งในสภา สส. จะต้องได้รับคะแนนเสียงอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์จากการเลือกตั้งรอบแรกถึงจะสามารถเข้าสู่รอบสุดท้ายได้

ตัวเต็งที่น่าจับตามองในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศส

credit: By Marie-Lan Nguyen (Own work) [CC BY 3.0 (http://creativecommons.org/licenses/by/3.0)], via Wikimedia Commons

ฟรองซัวส์ ฟียง (François Fillon)

จากพรรครีพับลิกัน (The Republicans: LR) อดีตนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสในสมัยประธานาธิบดี นิโกลาส์ ซาร์โกซี เคยเป็นตัวเต็งสำหรับการเลือกตั้งที่น่าจับตามองที่สุด จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฝรั่งเศส เช่น นโยบายตัดลดตำแหน่งงานของรัฐ 500,000 ตำแหน่งเพื่อลดภาระของรัฐบาลลง หรือเสนอให้ผ่อนคลายกฎหมายแรงงาน เป็นต้น อย่างไรก็ตามฟียงได้รับความนิยมลดลงเมื่อต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาว่า เขาว่าจ้างภรรยาของเขาและลูกสองคนสูงถึง 900,000 ยูโร เป็นผู้ช่วยในรัฐสภาทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำงานจริง

credit: Foto-AG Gymnasium Melle [CC BY-SA 3.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/3.0)], via Wikimedia Commons

มารีน เลอ เปน (Marine Le Pen)

จากพรรคชาตินิยมแนวหน้า (National Front: FN) และเป็นลูกสาวของผู้ก่อตั้งพรรค ฌอง-มารี เลอ เปน เป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด ชูนโยบายนำฝรั่งเศสออกจากสหภาพยุโรปและ NATO หันไปจับมือกับรัสเซีย รวมถึงต้องการยุตินโยบายรับผู้อพยพชั่วคราว โดยผู้สนับสนุนเธอส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้หญิงกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ และเมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ นโยบายของทรัมป์เสริมแนวคิดของ เลอ เปน ที่ต่อต้านโลกาภิวัตน์และนโยบายรับผู้อพยพ จนนักวิเคราะห์หลายคนแสดงความกังวลผ่านสื่อว่า เธอจะกลายเป็นทรัมป์ในร่างหญิง

credit: By OFFICIAL LEWEB PHOTOS [CC BY 2.0 (http://creativecommons.org/licenses/by/2.0)], via Wikimedia Commons

เอมมานูเอล มาคร็อง (Emmanuel Macron)

จากพรรคก้าวหน้า (En Marche!) เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2016 ก่อนหน้านี้มาคร็องเคยเป็นผู้สมัครอิสระ อดีตนักลงทุนธนาคาร และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังในรัฐบาลประธานาธิบดีฟรองซัวส์ โอลลองด์ ซึ่งหากเขาชนะในศึกครั้งนี้ เขาจะกลายเป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดในฝรั่งเศสด้วยวัยเพียง 39 ปี เขาเป็นตัวเต็งในหลายๆ โพลการเลือกตั้ง ส่วนนโยบายที่เขาชูหลักๆ คือ สนับสนุนให้ฝรั่งเศสเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ลดอัตราภาษีและขยายสวัสดิการสุขภาพ

credit: By Place Au Peuple (Flickr: Jean-Luc Mélenchon) [CC BY-SA 2.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/2.0)], via Wikimedia Commons

ฌอง-ลุค เมลองชอง (Jean-Luc Mélenchon)

ผู้ก่อตั้งพรรค Unsubmissive France ฝ่ายสังคมนิยม เขากลายเป็นม้ามืดในหลายๆ โพล คะแนนนิยมของเมลองชองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในไม่กี่สัปดาห์ เขาสร้างความประทับใจอันน่าทึ่งให้ชาวฝรั่งเศสด้วยการใช้ภาพโฮโลแกรมสำหรับการหาเสียง ทำให้สามารถมัดใจคนรุ่นใหม่ได้จำนวนไม่น้อย อย่างไรก็ตาม นโยบายที่เขานำเสนอกลับมีทำนองคล้ายกับ เลอ เปน คือ เตรียมหันหลังให้สหภาพยุโรป EU และ IMF

อะไรคือประเด็นฮอตของชาวฝรั่งเศสในตอนนี้

เศรษฐกิจ: ฝรั่งเศสยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 จำนวนคนว่างงานยังสูงถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป และเป็นประเด็นที่ชาวฝรั่งเศสรู้สึกว่า รัฐบาลปัจจุบันไม่สามารถจัดการแก้ไขได้ ซึ่งไม่ต่างจากหลายประเทศในยุโรปที่เอนเอียงไปหาฝั่งขวา เพราะนโยบายเศรษฐกิจของฝ่ายซ้ายไม่สามารถแก้ปัญหาได้

ผู้อพยพ: แม้จะเป็นประเทศที่มีผู้คนหลากเชื้อชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป แต่ผู้มีสิทธิ์มีเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้ หลายต่อหลายคนเห็นด้วยกับการยกเลิกนโยบายรับผู้อพยพชั่วคราวของ เลอ เปน และต้องการให้เพิ่มหรือปรับปรุงมาตรการเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานให้เข้มงวดมากกว่านี้

ความมั่นคง: ตั้งแต่มกราคม ปี 2015 ที่ผ่านมา ชาวฝรั่งเศสเสียชีวิตจากภัยก่อการร้ายถึง 230 คน และทั้งหมดเสียชีวิตที่ฝรั่งเศส ทำให้ชาวฝรั่งเศสรู้สึกว่าบ้านตัวเองนั้นไม่ปลอดภัยและมั่นคงเหมือนเดิม พวกเขาจึงต้องการมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นจากฝ่ายขวา

credit: By ZeroTwoZero from London, United Kingdom (French Embassy) [CC BY-SA 2.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/2.0)], via Wikimedia Commons

ฝรั่งเศสและสหภาพยุโรป

ออกจากสหภาพยุโรป

การออกจาก EU เป็นธงชัดเจนของ มารีน เลอ เปน และตัวแทนจาก Rally for France (RPF) ฟรองซัวส์ อัสเซอลิโน (François Asselineau) โดยอัสเซอลิโนเป็นผู้สมัครคนเดียวที่ประกาศชัดเจนว่า จะใช้อำนาจออกจาก EU แน่นอน ขณะที่ เลอ เปน เลือกที่จะใช้วิธีโหวตเหมือนอังกฤษ หรือ ‘FREXIT’

นโยบายแข็งกร้าว

ฌัคส์ เชอมินาด (Jacques Cheminade) จาก National Caucus of Labor Committees (NCLC) เสนอให้ออกจาก EU แต่ยังคงโครงสร้างเดิมบางอย่างของ EU ไว้ โดยให้มองว่า ระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ขณะที่ นิโกลาส์ ดูปองต์-เอญอง (Nicolas Dupont-Aignan) จาก Debout la France (DLF) ไปไกลกว่านั้น แม้จะไม่ได้ออกมาจาก EU แบบ เลอ เปน แต่เขาก็เสนอให้ตั้ง Community of European States ขึ้นมาแทน

นโยบายประนีประนอม

ฟรองซัวส์ ฟียง ประกาศไม่ออกจาก EU โดยมองทุกชาติเท่าเทียมกัน ฌอง ลาส์ซาล (Jean Lassalle) จาก Résistons เสนอให้ฝรั่งเศสมีที่ทางใน EU เพื่อกำหนดนโยบายของตัวเอง เช่น คัดค้านการค้าเสรี การแก้ไขระบบการเงินที่ฝรั่งเศสต้องจ่ายเพื่อเป็นงบประมาณของสหภาพยุโรป

เปลี่ยนทัศนะสหภาพยุโรปใหม่

เบอนัวต์ อามง (Benoît Hamon) จากพรรคสังคมนิยม (Socialist Party: PS) มองว่ายุโรปมีความเป็นเสรีนิยมก้าวหน้ามากเกินไป มัธยัสถ์เกินไป EU ในแบบของเขาต้องกล้าสนับสนุนเงินลงทุน แต่ไม่ได้แปลว่าเขาอยากออกจาก EU ขณะที่ฝ่ายซ้ายจัดอย่าง ฟีลิป ปูตู (Philippe Poutou) จาก New Anticapitalist Party (NPA) เห็นด้วยกับความร่วมมือระหว่างประเทศ แต่เขาต่อต้านยุโรปในแบบที่เป็นอยู่ เขาสนับสนุนให้ยุโรปปรับโครงสร้างสังคมและสิทธิเสรีภาพใหม่ ทั้งค่าแรง คุณภาพชีวิต – รวมไปถึงการทำแท้ง

ไม่เจรจา ก็ออก

นี่คือแนวทางของ ฌอง-ลุค เมลองชอง ที่แบ่งเป็นสองแบบคือ Plan A การรวบรวมความเห็นว่าฝรั่งเศสควรออกจาก EU โดยยกเลิกกฎข้อบังคับเก่าทั้งหมด และเจรจาสร้างข้อบังคับแบบใหม่กับ EU ขึ้นแทน ส่วน Plan B คือ ใช้อำนาจนำฝรั่งเศสออกจาก EU และเสนอความร่วมมือในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลให้ EU ต้องเปลี่ยนโครงสร้างใหม่

เศรษฐกิจในยุโรปใหม่

เอมมานูเอล มาคร็อง โปรความเป็นสหภาพ เสนอให้มีการประชุม European Union of Democratic Conventions ปลายปี 2017 เพื่อกำหนดงบประมาณของยูโรโซนใหม่ และเขาเป็นคนเดียวในบรรดาแคนดิเดตที่สนับสนุนการค้าเสรีระหว่างแคนาดาและสหภาพยุโรป (AACC)

EU ไม่ใช่เรื่องใหญ่

นาตาลี อาร์โตด์ (Nathalie Arthaud) ไม่เหมือนผู้สมัครคนอื่น เธอไม่ได้โฟกัสไปที่ความเป็นสหภาพยุโรปมากไปกว่าการต่อต้านการค้าเสรีอย่าง Tafta และ CETA โดยตัวแทนพรรค Lutte Ouvrière (LO) มองว่า เรื่องสำคัญที่สุดคือเรื่องชนชั้นทางสังคม

ผลโพลว่าผู้ท้าชิงประธานาธิบดีคนใดจะได้เข้ารอบสุดท้าย

ผลโพลส่วนใหญ่ให้สรุปคล้ายกันว่า เลอ เปน และ มาคร็อง อาจได้เข้าสู่รอบสุดท้าย แต่ก็ไม่อาจประมาทผู้ท้าชิงที่เหลืออย่าง ฟียง และ เมลองชอง ได้ เพราะไม่กี่สัปดาห์ทั้งคู่ต่างก็ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตามผลโพลทั้งหมดชี้ตรงกันว่า ไม่มีผู้ท้าชิงคนใดจะได้คะแนนโหวตมากเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ในรอบแรกอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสอยู่แล้ว ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งในรอบที่สองเพื่อหาผู้ชนะที่แท้จริงมาเป็นประธานาธิบดี


 อ้างอิงข้อมูลจาก: washingtonpost.com
nytimes.com
theconversation.com
lemonde.fr
rtbf.be

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า