เปลี่ยนแม่น้ำเป็นไฟฟ้า ข้อเท็จจริงเรื่องเขื่อนไซยะบุรี 1 ใน 23 กำแพงยักษ์ขวางน้ำโขง

29 ตุลาคม 2562 หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่หลายฉบับปรากฏภาพผืนน้ำเกือบเต็มหน้ากระดาษ ลิบๆ ที่ขอบฟ้าเห็นโครงสร้างคอนกรีตทอดยาวในแนวขวางโดยมีฉากหลังเป็นขุนเขา บนผืนฟ้านั่นมีข้อความว่า “โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี โรงไฟฟ้าแห่งแรกบนแม่น้ำโขง ที่มีวิถีธรรมชาติเป็นต้นแบบ” ส่วนบนผืนน้ำมีข้อความท่วงทำนองเดียวกันว่า “เพราะเราเชื่อในพลังอันยิ่งใหญ่ของแม่น้ำโขง จึงมุ่งมั่นที่จะผลิตไฟฟ้าสะอาด ให้ความเคารพต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนและความสุขอย่างไม่มีที่สิ้นสุด” ด้านล่างสุดของหน้านั้นปรากฏโลโก้ CKPower และ Xayaburi Power วางคู่กัน

ใช่แล้ว หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับของประเทศไทยถูกซื้อเพื่อโฆษณา

และต้นสายปลายเหตุว่าทำไมจึงเป็นหน้าหนึ่งของวันนี้ เพราะ 29 ตุลาคม 2562 คือฤกษ์งามยามดีที่เขื่อนไซยะบุรีมีกำหนดเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าครบทั้ง 7 เครื่องเพื่อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ 1,220 เมกะวัตต์ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อย่างเป็นทางการ

การตัดริบบิ้นของเขื่อนไซยะบุรี และการซื้อโฆษณาบนหน้าสื่อเพื่อป่าวประกาศในรับทราบโดยทั่วกัน ด้านหนึ่งคือการปักหมุดว่านาทีนี้เขื่อนบนแม่น้ำโขงแห่งใหม่หมาดๆ เริ่มเดินเครื่องเต็มกำลัง แต่อีกด้านก็ชวนเราทบทวนถ้อยคำบนโฆษณาว่า หากเขื่อนแห่งนี้ดีจริง ความดีงามนั้นเกิดขึ้นกับใคร และทำไมที่ผ่านมาจึงมีการคัดค้านจากภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ไซยะบุรี อยู่ที่ไหน

แขวงไซยะบุรี ในภาษาไทย หรือ ไซยะบุลี ในภาษาลาว มีประชากรราว 350,000 คน มีพื้นที่ 16,389 ตารางกิโลเมตร ขนาดใกล้เคียงกับจังหวัดตากของไทย ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศลาว พิกัดอาณาเขตบนแผ่นดินลาว ทิศเหนือและตะวันออกของ ‘ไซยะบุลี’ อยู่ติดแขวงบ่อแก้ว แขวงอุดมไซ แขวงหลวงพระบาง และนครเวียงจันทน์ แต่หากพิกัดจากประเทศไทย ‘ไซยะบุรี’ มีอาณาเขตติดตั้งแต่จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และจังหวัดเลย

แขวงไซยะบุรีมีความหมายว่า เมืองแห่งชัยชนะ ที่นี่เคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย กระทั่งเกิดการเสียดินแดนเมื่อปี 2447 ทำให้ต้องไปขึ้นกับอินโดจีนของฝรั่งเศส ต่อมาไทยได้คืนชั่วคราวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สุดท้ายก็กลับไปเป็นของลาวอีกครั้ง และ ‘ชัยชนะ’ ที่ว่า ก็หมายถึงชัยชนะที่ลาวได้ไซยะบุรีกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนนั่นเอง

สภาพภูมิประเทศของไซยะบุรีเป็นภูเขาและที่ราบสูง มีพื้นที่ป่าหนาทึบ มีน้ำตกขนาดใหญ่ และมีป่าสงวนแห่งชาติน้ำพูน นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองหลายเผ่า เช่น ไทดำ ไทลื้อ ขมุ คะฉิ่น กรี อาข่า และมลาบรี

สำหรับพิกัดของเขื่อนไซยะบุรีนั้น อยู่ห่างจากอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ออกไปราว 200 กิโลเมตร

แม่น้ำโขง แม่น้ำของ แม่น้ำเขื่อน

คนจีนในสิบสองปันนาเรียกแม่น้ำโขงว่า ‘แม่น้ำล้านช้าง’ คนจีนทั่วไปเรียกว่า ‘แม่น้ำหลานซาง’ หรือ ‘หลานซางเจียง’ เมื่อไหลผ่านพม่าและลาวมันถูกเรียกว่า ‘แม่น้ำของ’ แต่ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไรมันก็ไม่อาจหยุดการเป็น ‘แม่น้ำเขื่อน’ ได้

4,880 กิโลเมตร คือความยาวของแม่น้ำโขงจากหิมาลัยสู่ทะเลจีนใต้ ผ่าน 6 ประเทศ ตั้งแต่จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ส่วนที่ไหลผ่านประเทศไทยนั้นมีความยาว 180 กิโลเมตร คิดเป็น 3.6 เปอร์เซ็นต์ของแม่น้ำทั้งสายเท่านั้น และหากคำนวณจำนวนเขื่อนที่ทั้งสร้างเสร็จแล้ว กำลังก่อสร้าง และอยู่ในขั้นวางแผนสร้าง แม่น้ำโขงจะมีเขื่อนกั้นอยู่ถึง 23 แห่ง หรือเฉลี่ยแล้วมีเขื่อนทุกๆ 212 กิโลเมตร มากที่สุดบนแผ่นดินจีน 11 เขื่อน บนแผ่นดินลาว 7 เขื่อน กัมพูชา 3 เขื่อน และอีก 2 เขื่อนเกิดขึ้นบนพรมแดนไทย-ลาว

เมื่อพิจารณาจากภูมิศาสตร์จะเห็นได้ว่าแม่น้ำโขงทั้งสายไม่ได้มีพื้นที่แบ่งพรมแดนประเทศอย่างที่เราเข้าใจว่าโขงกั้นไทย-ลาว แต่แม่น้ำสายนี้ไหลผ่านแผ่นดินของประเทศเดียวเสียเป็นส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนี้การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำนานาชาติจึงมีจุดที่สร้างปัญหาซ้อนทับซับซ้อนต่อการต่อสู้เพื่อปกป้องแม่น้ำ เพราะด้านหนึ่งประเทศนั้นๆ มองว่านี่คือกิจการภายใน แต่สำหรับภาคประชาชนที่ออกมาคัดค้าน พวกเขามองว่าแม่น้ำโขงไม่มีใครเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว การสร้างเขื่อนไซยะบุรีหรือเขื่อนอื่นๆ แม้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนแผ่นดินของประเทศนั้นๆ ก็จริง แต่มันกระทบถึงสิ่งแวดล้อมและผู้คนแบบไร้พรมแดน

เขื่อนแม่น้ำโขง

ใครเป็นใครในเขื่อนไซยะบุรี

เขื่อนไซยะบุรีบนแผ่นดินของลาวเป็นการลงทุนของบริษัท ช.การช่าง ซึ่งเป็นบริษัทของไทย ด้วยมูลค่าประมาณ 1.5 แสนล้านบาท โดยมีธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่อ คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารเพื่อการส่งออก (Exim) ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารทิสโก้

โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2550 โดย ช.การช่าง ทำ MOU กับรัฐบาลลาวเพื่อออกแบบเขื่อนไซยะบุรี จากนั้นปี 2551 ก็ลงนามสัญญาเพื่อพัฒนาโครงการอย่างจริงจัง และเริ่มก่อสร้างในปี 2555 ระหว่างนั้นการก่อสร้างชะงักชั่วคราวเนื่องจากรัฐบาลเวียดนาม และรัฐบาลกัมพูชา ทำการประท้วงเพราะเกรงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นท้ายน้ำ นั่นจึงนำมาสู่การปรับรูปแบบของเขื่อนใหม่เพื่อแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันในปี 2554 บริษัท ช.การช่าง ก็ได้จดทะเบียนบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งหมายถึงบริษัทลูกที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่วยไฟฟ้าจากพลังงานในประเภทต่างๆ

CKPower นี้เองที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานทั้งกับเขื่อนประเทศลาว และการผลิตพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย โดยแบ่งการลงทุนออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

1. การลงทุนในบริษัทย่อย รวม 3 บริษัท ประกอบด้วย

  • บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด (NN2) ซึ่งมีสถานะเป็นบริษัทแกนของบริษัทในสัดส่วน การถือหุ้นที่ร้อยละ 46 โดยเป็นการลงทุนผ่านบริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด
  • บริษัท บางปะอินโคเจนเนอเรชั่น จำกัด (BIC) ในสัดส่วนการถือหุ้นที่ร้อยละ 65
  • บริษัท บางเขนชัย จำกัด (BKC) ในสัดส่วน การถือหุ้นที่ร้อยละ 100

2. การลงทุนในบริษัทร่วม รวม 3 บริษัท ประกอบด้วย

  • บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL) ในสัดส่วนการถือหุ้นที่ร้อยละ 37.5
  • บริษัท เชียงราย โซล่าร์ จำกัด (CRS) ในสัดส่วนการถือหุ้นที่ร้อยละ 30
  • บริษัท นครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด (NRS) ในสัดส่วนการถือหุ้นที่ร้อยละ 30

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีนั้น ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2555-2562 โดยมีกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด 7,600 ล้านหน่วยต่อปี ขนาดเครื่องละ 175 เมกะวัตต์ จำนวน 7 เครื่อง โดยไฟฟ้าจะถูกส่งเข้าสู่ประเทศไทยด้วยสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ จากลาวเข้ามาไทยผ่านอำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอีก 1 เครื่อง ขนาด 60 เมกะวัตต์ ส่งให้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) ด้วยขนาดสายส่ง 115 กิโลโวลต์ ไฟฟ้าส่วนนี้เพื่อใช้ในประเทศลาวเท่านั้น

โครงการนี้รัฐบาลลาวให้สัมปทานเป็นระยะเวลา 31 ปี เพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นระยะเวลา 29 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ 29 ตุลาคม 2562 จนสิ้นสุดปี 2591 โน่นเลย

เขื่อนไซยะบุรีเมื่อครั้งกำลังก่อสร้าง เป็นเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กมีความยาว 810 กิโลเมตรในแนวขวางแม่น้ำโขง (ภาพจาก teamgroup.co.th)

โรงไฟฟ้าต้นแบบแทบทุกมิติ

ข้อความบน 4 หน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ซึ่งเกือบจะเป็นชุดคำเดียวกันกับข้อความในเว็บไซต์สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ซึ่งมีการอธิบายความดีงามของเขื่อนไซยะบุรีอยู่หลายประการ โดยเฉพาะการเป็น ‘ต้นแบบ’ ในแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่การเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าแบบฝายทดน้ำขนาดใหญ่ (Run-of-River) ซึ่งผลิตไฟฟ้าโดยอาศัยการยกระดับน้ำและการไหลของน้ำอย่างต่อเนื่องเข้าสู่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยไม่มีการชะลอมวลน้ำ ทำให้น้ำที่ไหลเข้าสู่โรงไฟฟ้าจึงไหลออกสู่ท้ายน้ำด้วยอัตราการไหลตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นการบริหารจัดกาน้ำแบบ Inflow = Outflow เพื่อรักษาสภาพของแม่น้ำโขงไว้ให้คงเดิมตลอดระยเวลาของการผลิตไฟฟ้า

นอกจากนี้ยังมีการยกระดับน้ำขึ้นเท่าระดับน้ำในตลิ่งในช่วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งเป็นการยกระดับน้ำเพียง 1 ครั้งตลอดอายุของโรงไฟฟ้า โดยทำการยกระดับน้ำแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 ที่สำคัญที่สุดคือ ที่นี่สามารถบริหารเครื่องกำเนิดไฟฟ้าตามการไหลของแม่น้ำโขงแต่ละฤดูกาลตามธรรมชาติ และโรงไฟฟ้าแห่งนี้ไม่มีอ่างเก็บน้ำเพื่อกักเก็บมวลน้ำสำรองไว้สำหรับผลิตไฟฟ้า

ความดีงามอีกประการคือ โรงไฟฟ้าไซยะบุรีเป็นต้นแบบ ‘โรงไฟฟ้าล่องหน’ ซึ่งมีการอ้างว่าได้ออกแบบให้ฝูงปลา ตะกอน และเรือในแม่น้ำโขงยังคงเดินทางผ่านโครงสร้างทุกส่วนของโรงไฟฟ้าไปได้เสมือนว่าโรงไฟฟ้านั้นไม่มีอยู่จริง

นอกจากนี้ยังอธิบายอีกว่าโครงการนี้เป็น ‘ต้นแบบ’ ของโรงไฟฟ้าลดโลกร้อน มีมาตรฐานปลอดภัยสูงสุด เป็นโรงไฟฟ้าพัฒนาชุมชน เป็นโรงไฟฟ้าเพื่อเสถียรภาพด้านพลังงานของภูมิภาค โรงไฟฟ้ารักษ์ปลา และเป็นต้นแบบของการสร้างสมดุลระหว่างธุรกิจและสิ่งแวดล้อม ยืนยันจากการลงทุนสูงถึง 19,400 ล้านบาท เพื่อศึกษาระบบนิเวศโดยรอบอย่างละเอียดก่อนก่อสร้าง และเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดจากทั่วโลกเพื่อเป็นต้นแบบมาตรฐานในการลงทุนผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน

นี่คือต้นแบบ และความงามอย่างย่นย่อบนหน้ากระดาษเหล่านั้น พร้อมกับย้ำด้วยข้อความในเครื่องหมายคำพูดว่า

“วัฒนธรรมการกินอยู่ของชาวลุ่มน้ำโขงจะยังคงสืบสานและส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เคียงคู่ไปกับการผลิตพลังงานสะอาดจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี”

อีกด้านของความงาม เขื่อนคือภัยคุกคามสรรพชีวิต

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้จัดทำรายงานสถานการณ์แม่น้ำโขง โดยอ้างถึงการศึกษาของคณะมนตรีแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) เมื่อปี 2554 ผลของรายงานชี้ให้เห็นว่าแผนพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้าทั้ง 11 เขื่อน (ขณะนั้น) บนแม่น้ำโขงตอนล่างและเขื่อนอีก 120 แห่งในแม่น้ำสาขาที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2583 เป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อนิเวศวิทยาและเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมทั้งกระทบต่อการเข้าถึงอาหารของประชาชนในท้องถิ่นด้วย โดยรายงานดังกล่าวอ้างข้อค้นพบสำคัญจากการศึกษา ตัวอย่างเช่น

  • เขื่อนต่างๆ จะทำให้ปริมาณของตะกอนที่จะไหลไปถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงลดลงถึง 97 เปอร์เซ็นต์ โดยตะกอนเหล่านี้เป็นทั้งสารอาหารช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และเป็นปัจจัยสนับสนุนการเกษตร ประมง คุณภาพน้ำ และเศรษฐกิจ
  • ปริมาณสัตว์น้ำจะลดลงเป็นอย่างมากจากการมาของเขื่อน โดยจะทำให้ชีวมวลด้านประมงลดลง 35-40 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2563 และ 40-80 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2583 ทำให้ประเทศต่างๆ สูญเสียปริมาณสัตว์น้ำเป็นสัดส่วนดังนี้ ไทย 55 เปอร์เซ็นต์ ลาว 50 เปอร์เซ็นต์ กัมพูชา 35 เปอร์เซ็นต์ และเวียดนาม 30 เปอร์เซ็นต์
  • เขื่อนที่กั้นแม่น้ำจะขวางการอพยพของปลาและนั่นจะทำให้ปลาหลายชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์
  • ผลประโยชน์เกิดขึ้นอย่างไม่เท่าเทียมกันตลอดลุ่มน้ำโขง ผู้ได้รับประโยชน์คือนักลงทุน บริษัทและธนาคารต่างชาติ แต่ผู้ที่แบกรับต้นทุนคือชาวบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มชนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ที่จะต้องเจอความเสี่ยงจากภัยคุกคามมากกว่ากลุ่มอื่น

การศึกษาที่ชี้ให้เห็นผลกระทบเหล่านี้มาพร้อมกับคำถามว่า เหตุใดจึงยังมีการปล่อยให้โครงการเขื่อนที่สร้างความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมยังคงเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งที่มีทางเลือกด้านพลังงานอย่างอื่นที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่า เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม รวมทั้งมาตรการประหยัดพลังงาน

เครือข่ายประชาชน ฟ้องเขื่อนไซยะบุรี

7 สิงหาคม 2555 เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง พร้อมทั้งรายชื่ออีก 1,000 คน ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมทรัพยากรน้ำในฐานสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประเทศไทย) และคณะรัฐมนตรี โดยอ้างเหตุมูลฟ้อง คือ

  1. สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด นั้นไม่สมบูรณ์
  2. ละเลยการปฏิบัติตามกระบวนการแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลงแม่น้ำโขง ปี 2538 รวมทั้งการปฏิบัติตามกฎหมายในประเทศ
  3. การอนุมัติของคระรัฐมนตรีให้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไซยะบุรีไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเครือข่ายประชาชนเห็นว่า สัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นการลงนามระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด เมื่อเดือนตุลาคม 2554 เป็นการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้านั้นไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญไทยและความตกลงว่าด้วยการ่วมมือการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงแบบยั่งยืน หรือ ‘ความตกลงแม่น้ำโขง’ ซึ่งรวมถึง ระเบียบปฏิบัติเรื่องการแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง (Procedure for Notification Prior Consultation and Agreement: PNCPCA)

แม้ต่อมาศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดี เมื่อเดือนธันวาคม 2558 แล้วพิพากษายกฟ้อง แต่ถัดจากนั้นเดือนมกราคม 2559 เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี

นอกจากการฟ้องครั้งนั้น วันที่ 26 กรกฎาคม 2562 เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงยังได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอีกครั้ง เพื่อขอให้มีการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยขอให้ดำเนินการระงับ หรือชะลอการรับซื้อไฟฟ้าอันเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนโครงการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ลงนามทำสัญญาซื้อไฟฟ้า กับบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์

โดยเครือข่ายฯ กล่าวว่า เหตุที่ต้องยื่นฟ้องอีกครั้งเนื่องจากในช่วงเดือนดังกล่าวมีเหตุการณ์น้ำโขงเหือดแห้งกะทันหันซึ่งเป็นพื้นที่ท้ายน้ำจากเขื่อนไซยะบุรี ทำให้ประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะผู้คนที่อยู่ติดแม่น้ำโขงได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งที่โครงการเคยกล่าวว่าเมื่อสร้างเขื่อนเสร็จแล้วจะปล่อยให้น้ำไหลผ่านในแต่ละวันเท่ากับปริมาณน้ำไหลเข้า กล่าวคือไม่มีการกักเก็บน้ำไว้เพื่อให้ไหลเป็นปกติตลอดปี แต่เมื่อโครงการแล้วเสร็จผลกระทบกลับเป็นไปในทางตรงข้าม ระดับน้ำท้ายน้ำจากเขื่อนลดลงอย่างกะทันหัน กระทบต่อปลา สัตว์น้ำ ระบบนิเวศ พืช และระบบประปาที่สูบน้ำโดยตรงจากแม่น้ำโขง

นอกจากนี้เครือข่ายฯ ยังพบว่า เมื่อมีการประกาศว่าดำเนินการทดลองผลิตไฟฟ้ากลับเกิดเหตุการณ์ปลาแห้งตายตามแก่ง แพสูบน้ำประปาค้างริมตลิ่ง และเรือค้างเติ่งตามหาดในแม่น้ำโขง

พวกเขาหวังว่าศาลจะพิจารณาคำร้องดังกล่าวและมีคำสั่งคุ้มครองด้วยการชะลอรับซื้อไฟฟ้า แต่อย่างที่เกริ่นเอาไว้ในหลายย่อหน้าว่า 29 ตุลาคม 2562 การผลิตไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์เริ่มต้นแล้ว

ขอบคุณที่ไม่เหมือนเดิม

29 ตุลาคม 2562 อย่างที่เกริ่นไว้ในช่วงแรกว่ามันเป็นวันที่โรงไฟฟ้าไซยะบุรีเดินหน้าเต็มกำลังอย่างเป็นทางการ ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower กล่าวว่า โครงการนี้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมทั้งในปัจจุบันและอนาคต โรงไฟฟ้าแห่งนี้ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำชนิดฝายทดน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีมูลค่าลงทุนสูงเป็นประวัติการณ์ ในฐานะผู้พัฒนาและบริหารโครงการ ตนขอบคุณรัฐบาล สปป.ลาว รัฐบาลไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ให้ความเชื่อมั่นในการเป็นผู้พัฒนาโครงการกระทั่งแล้วเสร็จสมบูรณ์

“บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจบนสมดุลระหว่างผลตอบแทนและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยความเชื่อมั่นในหลักการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน”

พิธีสืบชะตาแม่น้ำโขงเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 เป็นวันเดียวกันกับที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีเดินเครื่องเต็มกำลังอย่างเป็นทางการ

ขณะที่ 1 วันก่อนหน้า เครือข่ายชาวบ้าน 7 จังหวัดลุ่มน้ำโขงร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ผ่านแถลงการณ์ใจความว่า แม่น้ำโขงถูกนำไปใช้เป็นต้นทุนในการพัฒนาต่างๆ มากมาย เช่น การสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนในประเทศจีนตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมานั้นสร้างผลกระทบต่อเนื่องให้กับประชาชนในพื้นที่มานับสิบปีแล้ว ต่อมามีการสร้างเขื่อนอีก 2 แห่งบนแม่น้ำโขงตอนล่างคือ เขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง ยิ่งทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างแจ่มชัด เช่น กรณีเขื่อนไซยะบุรีทดลองการผลิตไฟฟ้าเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ทำให้เกิดภาวะน้ำโขงแห้งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน รวมทั้งระดับน้ำที่ลดลงอย่างรวดเร็ว การอพยพของปลาที่ผิดฤดูกาล และพืชพันธุ์แห้งตายตลอดสายน้ำโขง เหล่านี้สร้างความวิตกและกังวลต่อพวกเราชาวบ้านที่อยู่อาศัยริมน้ำโขงเป็นอย่างมาก

“วันนี้ถือเป็นวันสุดท้ายที่เราจะเห็นชีวิตแม่น้ำโขงตอนล่าง พวกเราประชาชนลุ่มน้ำโขง คนปลูกผักริมโขง ชาวนา ผู้ใช้น้ำ คนหาปลา คนเลี้ยงปลา พ่อค้า คนขับเรือส่งสินค้าข้ามฟาก ขอเรียกร้องให้ความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการแก้ไขปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนไซยะบุรี ดังนี้

หนึ่ง ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ลงมาแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ริมฝั่งโขงที่กำลังเกิดขึ้น

“สอง ขอเรียกร้องให้ภาคเอกชนไทย ที่เป็นเจ้าของโครงการ และธนาคารไทย ผู้สนับสนุนโครงการ ได้แสดงความรับผิดชอบและมีมาตรการแก้ไขผลกระทบข้ามพรมแดนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

“และ สาม ประเด็นผลกระทบข้ามพรมแดนและความรับผิดชอบ ในการดำเนินธุรกิจของเอกชนข้ามพรมแดน ต้องถูกหยิบยกเป็นวาระสำคัญการประชุมผู้นำอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ เพราะเป็นปัญหาเร่งด่วนของภูมิภาค”

อ้างอิง:

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า