สงครามเยเมน: จากสงครามกลางเมืองสู่วิกฤติมนุษยธรรมร้ายแรงที่สุดในโลก

เยเมน

ระหว่างสามปีที่ผ่านมา ประเทศเยเมนตกอยู่ในสภาวะสงครามกลางเมืองผสมกับสงครามฝักฝ่ายศาสนา โดยส่วนใหญ่เป็นการสู้รบระหว่างกลุ่มกบฏฮูธิ (Houthi) และกองกำลังผู้จงรักภักดีต่ออดีตประธานาธิบดี อับดู รับบูห์ มานซูร์ ฮาดี (Abdu Rabbu Mansour Hadi) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประเทศซาอุดีอาระเบียกับพันธมิตรอาหรับ ทำให้ผู้คนพลเมืองเกือบ 10,000 ชีวิตล้มตาย อีก 2 ล้านคนพลัดพรากจากถิ่นฐาน และอีก 19 ล้านต้องการความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน

องค์การสหประชาชาติได้ออกคำประกาศแล้วว่าสถานการณ์ในเยเมนขณะนี้คือ ‘วิกฤติด้านมนุษยธรรมที่ร้ายแรงที่สุดในโลก’ (World’s Worst Humanitarian Crisis)

ภาพข่าวจำนวนมากจากเยเมนสร้างความตกตะลึงสุดบรรยายแก่ชาวโลก เช่น ภาพถ่ายที่แพร่หลายแสดงให้เห็นตัวตนเด็กน้อยรูปร่างผอมโซ กำลังตะเกียกตะกายยื้อชีวิตด้วยเรี่ยวแรงอันน้อยนิดเท่าที่ตนมีอยู่ และภาพเด็กอายุประมาณ 4 ขวบ ซึ่งร่างกายไม่ได้เติบโตไปเกินกว่าทารกแรกเกิด และผู้เป็นแม่ก็อยู่ในสภาพน่าเวทนาและไม่สามารถช่วยเหลือลูกน้อยที่กำลังจะหมดลมได้

เยเมน

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดกันว่า อัตราการเสียชีวิตของเด็กในเยเมน อยู่ที่ประมาณ 10 คนต่อนาที จากโรคต่างๆ ที่สามารถรักษาได้หากอยู่ในสถานการณ์ปกติ ขณะที่เด็กน้อยอายุต่ำกว่า 5 ปี อีกกว่าห้าแสนคน กำลังตกอยู่ในสภาพทนทุกข์ทรมานจากทุพโภชนาการเพราะขาดสารอาหารจำเป็นอย่างรุนแรง

องค์กรทางการของสหประชาชาติประเมินว่า ประชากรเยเมนจำนวนสองในสาม หรือประมาณ 19 ล้านคน กำลังจำเป็นอย่างมากต้องได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยเร่งด่วน หลังประเทศตกอยู่ท่ามกลางการสู้รบยืดเยื้อมานานสามปีแล้ว ระหว่างกองกำลังกบฎฮูธิ กับรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังผสมที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย

และเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบียกับพันธมิตร ได้ประกาศทิ้งระเบิดถล่มเมืองท่าฮูเดดาห์ (Hudeidah) ของเยเมน ซึ่งเป็นจุดเดียวที่มีการส่งเสบียงเข้ามาช่วยเหลือประชาชนที่อดอยากภายในประเทศ ซึ่งหลายหน่วยงานบรรเทาทุกข์เช่นองค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารโลก (WFP) และ ยูนิเซฟ (Unicef) เคยส่งคำร้องขอตั้งแต่ปีกลายแล้วว่า อย่าถล่มทำลายหรือปิดเมืองท่าแห่งนี้ เพราะฮูเดดาห์เป็นเสมือนเมืองท่าที่มั่นรับเสบียงแห่งสุดท้ายสำหรับส่งต่อสัมภาระเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเลี้ยงชีวิตพลเรือนที่กำลังยากลำบากนับล้านคน

ฝักฝ่ายในเยเมน

ความขัดแย้งเริ่มขึ้นเมื่อเกิดการสู้รบระหว่างกองกำลังติดอาวุธฮูธิ จากทางเหนือของประเทศกับรัฐบาลซึ่งนำโดยประธานาธิบดีฮาดี พวกฮูธิเป็นส่วนหนึ่งของชนกลุ่มน้อยซึ่งเป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ในเยเมนผู้เคยปกครองดินแดนภาคเหนือมานานโดยวิถีทางดั้งเดิม

ซาอุดีอาระเบียกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อนบ้านและพันธมิตรใกล้ชิด เข้าแทรกแซงในปี 2015 เนื่องจากเชื่อว่ากลุ่มกบฏได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน หัวเรือใหญ่ของชาวมุสลิมชีอะห์ในภูมิภาค ระบอบกษัตริย์มุสลิมสุหนี่ของซาอุดีอาระเบียกับชาวนิกายชีอะห์แห่งอิหร่านเป็นคู่แข่งขันด้านอำนาจและอิทธิพลเหนือตะวันออกกลางมาช้านาน แล้วเยเมนก็กลายมาเป็นสนามรบของสงครามตัวแทนระหว่างกันทั้งทางด้านอำนาจทางการเมืองและศาสนิกต่างนิกาย

อิหร่านเคยประกาศว่าไม่ได้สนับสนุนกลุ่มกบฏฮูธิ แต่ปรากฏชัดว่าขีปนาวุธของอิหร่านได้ถูกใช้โดยกลุ่มดังกล่าวในระหว่างการสู้รบหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เห็นว่าสงครามเยเมนเกิดขึ้นจากข้อพิพาทเกี่ยวกับอิทธิพลทางการเมืองของประเทศต่างๆ มากกว่าความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ศาสนา

ผลจากการสู้รบได้แบ่งแยกพื้นที่ตอนเหนือขนาดใหญ่ของเยเมน ซึ่งรวมถึงเมืองหลวงเมืองซานา (Sana) ให้ตกอยู่ในการควบคุมของพวกกบฏฮูธิ ส่วนพื้นที่ขนาดใหญ่กว่าของภาคใต้กับตะวันออกอยู่ในการควบคุมโดยกองกำลังพันธมิตรของซาอุดีอาระเบีย

จุดเริ่มต้นของสภาพบ้านแตก

ความขัดแย้งมีรากฐานมาจากการจลาจลอาหรับสปริง (Arab Spring uprising) ของเยเมน ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2011 ส่งผลถึงขั้นล้มล้างอำนาจการเป็นประธานาธิบดีเผด็จการอันยาวนานของ อาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ (Ali Abdullah Saleh) ผู้เป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา แม้ว่าซาเลห์ได้นำพาเยเมนให้เป็นปึกแผ่นมาตลอดนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 แต่การแข่งขันของฝักฝ่ายกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ก็ส่งผลให้อำนาจเผด็จการของเขาคลายลงมาก กลุ่มอัลกออิดะห์ในคาบสมุทรอาหรับ (Al-Qaeda in the Arabian Peninsula: AQAP) ซึ่งเป็นสาขาที่มีศักยภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของเครือข่ายผู้ก่อการร้ายทั่วโลก ก็ได้ขยายตัวในหลายพื้นที่ของประเทศ และกลุ่มกบฏฮูธิได้สถาปนาอิทธิพลอำนาจของตนขึ้นในดินแดนตอนเหนืออย่างเป็นระบบกว่าในยุคดั้งเดิม

จากนั้นหลายเดือนหลังการประท้วงวุ่นวายช่วงอาหรับสปริง ซาเลห์ ภายใต้แรงกดดันได้ยอมมอบความเป็นผู้นำของเยเมนให้กับฮาดี รองประธานาธิบดี แล้วลาออกจากตำแหน่ง ฮาดีพยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อประสานผนึกส่วนประเทศที่กำลังแตกแยกกัน แต่ซาเลห์ กลับยังคงพยายามใช้อำนาจ โดยการจัดการสิ่งต่างๆ ให้สอดคล้องและคล้อยตามแนวทางของกลุ่มฮูธิ

เยเมน
กลุ่มนักรบฮูธิ

จนถึงปี 2014 กบฏฮูธิและผู้สนับสนุน รวมถึงกองกำลังทหารเยเมนที่จงรักภักดีต่อซาเลห์ ได้บุกเข้าสู่เมืองหลวงแล้วบังคับผลักไสฮาดีและรัฐบาลของเขาที่ได้รับการยอมรับโดยนานาชาติให้เดินทางออกไปลี้ภัยอยู่ในซาอุดีอาระเบีย

ซาอุดีอาระเบียและรัฐอาหรับพันธมิตรหลายแห่งรวมทั้งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เข้าแทรกแซงสถานการณ์ในเยเมนเมื่อปี 2015 สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตกได้เปิดตัวออกโจมตีทางอากาศต่อที่มั่นกองกำลังของพวกฮูธิ ทำให้เพิ่มความขัดแย้งอย่างมาก กลุ่มกบฏฮูธิตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธผลิตในอิหร่านเข้าไปในดินแดนซาอุดีอาระเบีย

พลเรือนส่วนใหญ่ในพื้นที่ของกลุ่มฮูธิตกอยู่ตรงกลางระหว่างการสู้รบ จากนั้นซาเลห์ อดีตประธานาธิบดีก็ถูกฆาตกรรมโดยพวกฮูธิ เมื่อปลายปีที่แล้ว หลังจากเขาแสดงออกว่าจะไม่ให้ความร่วมมือเป็นพันธมิตรกับพวกฮูธิอีกแล้ว

การสู้รบระหว่างกลุ่มกบฏฮูธิกับหน่วยของพันธมิตรซาอุดี-เอมิเรตส์ ทางภาคเหนือและตะวันตกนั้น เป็นเพียงฟากหนึ่งของความยุ่งยากสาหัสในดินแดนเยเมนที่เต็มไปด้วยความยากจนแร้นแค้น ที่ดินแดนตอนใต้ กองกำลังชนพื้นเมืองเยเมนภายใต้การสนับสนุนของเอมิเรตส์ รวมทั้งอากาศยานโดรนของสหรัฐอเมริกาก็กำลังติดพันอยู่กับการตะลุมบอนต่อต้านหน่วยรบของกลุ่มอัลกออิดะห์ท้องถิ่น (AQAP) ผู้มุ่งแบ่งแยกดินแดนตอนใต้ออกจากภาคเหนือเช่นกัน

ซาอุดีอาระเบียและเอมิเรตส์เข้าแทรกแซงในสงครามเยเมนนับได้สามปีแล้ว โดยตอนแรกคาดหมายกันว่าจะสามารถเอาชนะกลุ่มฮูธิได้ภายในเวลาไม่นาน แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ทั้งสองประเทศกลับมาติดอยู่ในหล่มโคลนตมที่ยังถอนตัวออกไม่ได้

เยเมน
เมืองฮูเดดาห์ (Hudeidah) หรือ Al Hudaydah เมืองชายฝั่งตะวันตกติดทะเลแดง

การรุกรบที่เมืองท่าฮูเดดาห์

สภาพการณ์ของพลเรือนหลายล้านคนภายใต้อำนาจควบคุมของพวกฮูธิ ประมาณสองในสามของประชากรเยเมนจำต้องอาศัยเมืองท่าฮูเดดาห์ ซึ่งตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลแดงแห่งนี้ เป็นจุดถ่ายเทรับสัมภาระ และเส้นทางการลำเลียงอันสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับสิ่งของความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เช่น อาหาร ยา และวัสดุสำคัญอย่างอื่น

เมืองท่าฮูเดดาห์มีพลเมืองอยู่อาศัยประมาณ 400,000 คน และมีเส้นทางหลักสองเส้นทางเข้าและออก ในการสู้รบหากเมืองถูกปิดล้อมเป็นเวลานาน คนนับแสนอาจถูกปิดกั้นโดยสิ้นเชิงจากโลกภายนอกก็เป็นไปได้

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งยูเอ็นและกลุ่มองค์กรผู้ให้ความช่วยเหลือหลายแห่งได้สั่งให้สมาชิกของตนส่วนใหญ่อพยพออกจากเมืองไปแล้ว หลังจากประเมินสถานการณ์ว่าจะมีการสู้รบขนานใหญ่

เยเมน
การโจมตีเมืองท่าฮูเดดาห์

การรุกโจมตีเมื่อวันพุธที่ผ่านมาเกิดขึ้นโดยกองกำลังเยเมนที่ได้รับการฝึกฝนและให้การสนับสนุนโดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หน่วยรบที่นำโดยทางการทหารซาอุดีอาระเบียบุกเข้าโจมตีด้านทิศใต้ของเมืองท่าฮูเดดาห์จากทั้งทางพื้นดินและทางอากาศ ฝ่ายเอมิเรตส์แสดงท่าทีชัดเจนว่ากำลังจะใช้อานุภาพทางเรือเข้ารุกโจมตีแยกต่างหาก

ทั้งฝ่ายซาอุดีและเอมิเรตส์ต่างกล่าวหาว่ากลุ่มกบฏฮูธิ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ใช้เมืองท่านี้เพื่อลักลอบขนอาวุธของอิหร่านเข้าสู่เยเมน หน่วยตรวจสอบของสหประชาชาติกล่าวว่าไม่น่าเป็นไปได้ว่ามีการลักลอบขนอาวุธผ่านทางท่าเรือบนชายฝั่งทะเลแดง แต่อาจมีอยู่ในเส้นทางบกผ่านข้ามพรมแดน

ต่อมาฝ่ายฮูธิแจ้งว่ากองกำลังของตนได้สลายความพยายามยกพลขึ้นบกในที่แห่งหนึ่งใกล้เมืองท่าฮูเดดาห์ไปแล้ว “กลุ่มพันธมิตรของซาอุดีอาระเบียไม่ได้ทำอะไรคืบหน้าในเมืองฮูเดดาห์เลย” เดฟัลเลาะห์ อัล-ชามิ (Dayfallah al-Shami) เจ้าหน้าที่ของฮูธิ กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม Mayadeen ที่กรุงเบรุต เลบานอน

เจ้าชาย โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) แห่งซาอุดีอาระเบีย ก่อนหน้านี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในเรื่องการตัดสินใจทำสงครามทางอากาศในเยเมน เพื่อประสงค์ให้ลดจำนวนผู้เสียชีวิตทหารซาอุดีลงให้น้อยที่สุด แต่เป็นการสังหารพลเรือนเยเมนไปนับจำนวนหลายพันราย

เมื่อประสบปัญหาติดหล่มอยู่กับพวกฮูธิ และขาดแผนยุทธศาสตร์หรือแผนทางออกเพื่อถอนตัว เจ้าชายโมฮัมเหม็ดกับพันธมิตร เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซาเยด (Mohammed bin Zayed) แห่งเอมิเรตส์ จึงกลายเป็นผู้นำพาให้ประเทศของตนตกอยู่ในบ่วงความขัดแย้งที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูงและหาหนทางเอาชนะแทบไม่ได้

การเข้าโจมตีฮูเดดาห์จึงดูเหมือนเป็นความพยายามของทั้งสองฝ่ายเพื่อจะทำลายอุปสรรคที่ค้างคา และคาดว่าจะทำให้ตนได้รับแต้มเหนือกว่าในการเจรจาสันติภาพ ซึ่งบางคนคาดหวังไว้อย่างเลือนรางว่าอาจเกิดขึ้น แต่จะเป็นเมื่อใดยังไม่มีใครบอกได้

รัฐมนตรีต่างประเทศเอมิเรตส์ อันวาร์ การ์กัช (Anwar Gargash) กล่าวเมื่อวันพุธว่า “การปลดปล่อยเมืองฮูเดดาห์จะนำมาซึ่งสภาพความเป็นจริงแบบใหม่ และชักนำพวกฮูธิไปสู่การเจรจาจนได้”

แต่ว่าผู้เชี่ยวชาญแสดงความเห็นว่า แม้ฝ่ายพันธมิตรซาอุดีอาระเบียได้รับชัยชนะที่เมืองท่าฮูเดดาห์ สถานการณ์โดยรวมของเยเมนก็ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปอีกมากนัก เนื่องจากพื้นที่ซึ่งกลุ่มกบฏฮูธิยึดครองอยู่ รวมถึงเมืองหลวงซานามีขนาดกว้างใหญ่มาก และคนเหล่านี้ได้สู้รบกับรัฐบาลเยเมนในรูปแบบใดแบบหนึ่งมานานหลายปีแล้ว มีเพียงบางช่วงเท่านั้นที่ยอมอยู่ในความสงบ

สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนฝ่ายพันธมิตรซาอุดี แต่เจ้าหน้าที่ทหารหลายนาย รวมถึง รัฐมนตรีกลาโหม จิม แมตทิส (Jim Mattis) ส่งเสียงเตือนพันธมิตรชาวอาหรับว่าการรุกรบครั้งนี้อาจประสบความล้มเหลวทั้งด้านการทหารและการเมือง และผลที่จะเกิดตามมาแน่นอนคือความทุกข์ยากสาหัสของพลเรือนทั้งหลาย

ในรัฐสภาคองเกรสอเมริกันเอง สมาชิกของทั้งสองพรรคใหญ่หลายคนก็ออกมาวิพากษ์บทบาทของทหารอเมริกัน กล่าวหาว่าเพนตากอนมีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการวางแผนโจมตีทิ้งระเบิดในเยเมนมาโดยตลอด แต่เจ้าหน้าที่ทหารอเมริกันได้ออกมาแก้ตัวหลายหนแล้วว่า ความร่วมมือทางทหารในการชี้เป้าทิ้งระเบิดให้แก่ฝ่ายพันธมิตรซาอุดี คือ “การระบุเป้าหมายเป็นไปเพื่อพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ก่อความเสียหายแก่พลเรือนชาวเยเมน”

สนามบินฮูเดดาห์ตกอยู่ในมือรัฐบาล

หน่วยการข่าวของทางการทหารเยเมนแถลงว่าเมื่อวันเสาร์กองกำลังของพันธมิตรซาอุดีร่วมกับหน่วยทหารรัฐบาลเยเมน ได้เข้าควบคุมบริเวณสนามบินสากลฮูเดดาห์เอาไว้ได้หลังจากการปะทะอย่างหนัก

ยอดผู้เสียชีวิตโดยรวมพุ่งขึ้นสู่จำนวน 280 ราย หลังการสู้รบสี่วันเพื่อผลักดันกลุ่มกบฏฮูธิให้ออกไปจากเมืองท่าแห่งนี้

วิกฤติด้านมนุษยธรรมมีแนวโน้มเลวร้ายลง

องค์การสหประชาชาติและหน่วยงานบรรเทาทุกข์ได้ออกคำเตือนว่าการโจมตีเมืองท่าฮูเดดาห์อาจทำให้วิกฤติด้านมนุษยธรรมลุกลามและเลวร้ายลงอย่างมาก จากเดิมที่ย่ำแย่สาหัสอยู่แล้ว และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดยิง

หน่วยงานของยูเอ็นซึ่งได้พยายามลำเลียงวัสดุความช่วยเหลือด้านอาหารลงมาจากเรือสินค้าสองลำก่อนหน้าที่เกิดการสู้รบ กำลังก่อตั้งศูนย์ความช่วยเหลือฉุกเฉินและบรรเทาทุกข์ขึ้น เผื่อกรณีเกิดการอพยพของพลเรือนครั้งใหญ่ออกจากเมือง

เดวิด มิลลิแบนด์ (David Miliband) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ คณะกรรมการกู้ภัยนานาชาติ (International Rescue Committee) กล่าวว่า “พวกเขาต้องลงมือทำอะไรในขณะนี้เพื่อให้เกิดการหยุดยิง ก่อนที่ประชาชนในเมืองฮูเดดาห์จะประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับที่เกิดในเมืองเมืองอะเลปโป (Aleppo), โมซุล (Mosul) หรือ รักกา (Raqqa)” ในแถลงการณ์เปรียบเทียบถึงผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นในการสู้รบเพื่อปิดล้อมเมืองต่างๆ ที่ซีเรียและอิรักอย่างยาวนาน

การโจมตีทางอากาศอย่างไม่หยุดยั้งได้ทำลายโครงสร้างพื้นฐานในหลายพื้นที่ของพวกกบฏฮูธิไปแล้ว เช่น โรงพยาบาลพังพินาศ ถนน และสะพานย่อยยับเสียหาย

โรคที่อาจป้องกันได้กลับกำลังลุกลาม การระบาดของอหิวาตกโรคในเยเมนเมื่อปีที่ผ่านมาถูกระบุไว้ว่าเป็นการระบาดของโรคครั้งใหญ่ที่สุดและลุกลามรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ สหประชาชาติกล่าวว่าการกระทำของทั้งฝ่ายซาอุดีและฮูธิ เข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม และทั้งสองฝ่ายถูกกล่าวหาว่าตั้งใจกำหนดเป้าหมายโจมตีโรงพยาบาลหลายแห่ง และสถานอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพเช่นเดียวกับศูนย์พักพิงพลเรือน

ข้อมูลของโครงการอาหารโลก (World Food Programme: WFP) บ่งว่าชาวเยเมนทั้งหลายที่กำลังประสบความอดอยากขณะนี้ มีอยู่ถึง 8.4 ล้านคนที่เข้าข่ายขาดแคลนอาหารอย่างหนัก และโดยรวมประมาณร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมด 29.3 ล้านคน ถูกจัดอยู่ในพวกที่ขาดความมั่นคงทางอาหาร

คณะกรรมาธิการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross: ICRC) กล่าวว่าได้เตรียมปริมาณอาหารสำรองไว้แล้วจำนวนหนึ่ง รวมทั้งยารักษาโรค และระบบกรองน้ำ เพื่อความพร้อมหากเกิดเหตุการณ์สู้รบครั้งใหญ่ แต่ยังไม่สามารถแจกจ่ายสิ่งใดได้ในระหว่างการต่อสู้เช่นขณะนี้

เยเมน
ความช่วยเหลือที่ถูกส่งมายังท่าเรือฮูเดดาห์

โรเบิร์ต มาร์ดินี (Robert Mardini) ผู้อำนวยการภูมิภาคของคณะกรรมการระหว่างประเทศของสภากาชาดกล่าวว่า “ตัวบุคคลจริงๆ และครอบครัวในท้องถิ่น จะประสบความทุกข์ทรมานหากไม่มีอาหารเข้าถึงที่เช่นนั้นได้ และเรากำลังกังวลอยู่มากว่าการปฏิบัติการทางทหารอย่างต่อเนื่องจะขัดขวางการขนส่งสินค้าที่จำเป็น”

เจมี แม็คโกลดริค (Jamie McGoldrick) ผู้ประสานงานด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติเคยให้สัมภาษณ์ BBC ว่า ทุกฝักฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งแห่งเยเมนจำเป็นต้องหันเข้าหากันเพื่อการเจรจาให้ได้ เพื่อให้ผ่านพ้นสภาพวิกฤติ

แม็คโกลดริคกล่าวว่า

วิธีการทางทหารไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และจะไม่มีหนทางด้านมนุษยธรรมอย่างใดที่จะสามารถแก้ไขวิกฤติครั้งนี้ได้ สิ่งที่เราคาดหวังได้คือโอกาสที่ผู้คนในฝักฝ่ายเหล่านี้หันกลับไปสู่โต๊ะเจรจา หาทางให้สงครามยุติลง ทำให้ปืนเงียบเสียงลง หยุดยิงกันเสียที ขอโอกาสให้เราจัดส่งความช่วยเหลือด้านต่างๆ จัดหาทรัพยากรให้แก่เรา

ต่อคำถามว่า เขาคิดหรือเปล่าว่าฝักฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งยังจะให้ความสนใจหรือจะพิจารณาถึงความทุกข์ลำเค็ญด้านมนุษยธรรมในเยเมนอยู่หรือไม่ แม็คโกลดริคตอบ

ผมคิดว่าช่างเป็นเคราะห์กรรมที่ว่า ในด้านหนึ่งเราก็ได้รับการสนับสนุนด้านมนุษยธรรมจากผู้คนพวกเดียวกันกับที่ได้จัดหาอาวุธเสริมพลังให้แก่ฝักฝ่ายที่กำลังสู้รบอยู่อย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้ความขัดแย้งไม่สามารถจบลงได้ง่ายๆ


อ้างอิงข้อมูลจาก:
New York Times
BBC

 

Author

ไพรัช แสนสวัสดิ์
ทำงานหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาอังกฤษมาทั้งชีวิต มีความสนใจในระดับหมกมุ่นหลายเรื่อง อาทิ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี การเมือง สังคม วัฒนธรรม ศิลปะ จักรยาน ฯลฯ ช่วงทศวรรษ 2520 มีงานแปลทะลักออกมาหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ Bury my heart at Wounded Knee หรือ ฝังหัวใจข้าไว้ที่วูนเด็ดนี
ปัจจุบันเกษียณตัวเองออกมาทำงานแปลอย่างเต็มตัว แต่ไม่รังเกียจที่จะแปลและเขียนบทวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ หากเป็นประเด็นที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อชาวโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า