‘กรุงเทพ’, ‘คนรับใช้’, ‘แกงไตปลา’, ‘โถขี้’, ‘Police’, ‘กตัญญู’, ‘ชายเหวี่ยงแห’, ‘พิราบ’, ‘Hi Hello’ และ ‘Circus Song’
คือจำนวนเพลงทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกมาตลอดการเดินทางในนาม เยนา วงดนตรีของชายหนุ่มทั้งสาม กุล พงศ์พิพัฒน์ นักร้อง นักเขียนเพลง และกีตาร์, โฟน-เจษฎา อิงอมรรัตน์ นักร้อง มือเบส และ เย-คึกฤทธิ์ เยนา มือกลองผู้มีนามสกุลเป็นชื่อวงดนตรี
ย้อนไปเมื่อ 9 ปีก่อน พวกเขาตกลงร่วมหัวจมท้ายทำเพลงด้วยกัน จนกระทั่งวันนี้ พวกเขาเข้าสู่วัยเลข 3 ต้นๆ อัลบั้มแรกของพวกเขามีลายเซ็นชัดเจน แต่ใช้เวลาถึง 9 ปีกว่าจะเกิดเป็น full album วันนี้พวกเขากำลังทำอัลบั้มที่ 2
เรานัดกันเที่ยงตรงที่บ้านของกุล นักร้องและมือกีตาร์ของเยนา กุลเดินนำเข้าไปบริเวณบ้าน เราพบรูปปั้นเต่ากลางสนามหญ้าหลังบ้าน ไม่นานกุลเดินมายกรูปปั้นนั้นไปวางไว้ในอ่างน้ำ และนั่นทำให้เราถึงบางอ้อ เต่าตัวนั้นมีชีวิต และกำลังป่วย
ถัดจากเต่า เราพบแมวอีกหนึ่งตัวในบ้านของเขา แมวที่เย มือกลองของวง บอกเราในตอนหลังว่า กุลชอบเก็บแมวมาเลี้ยง และมากไปกว่าแมว เขามักเก็บบรรดาเหล่าสัตว์มาดูแลจนเต็มบ้านไปหมด ไม่น่าแปลกที่ในเพลงของเยนาที่มีกุลเป็นคนแต่งเนื้อร้องหลัก เราจะเห็นตัวละครสัตว์น้อยใหญ่ป็นตัวดำเนินเรื่องอยู่หลายต่อหลายเพลง เพลงหนึ่งที่พวกเขาเล่นสดให้เราฟังหลังการสนทนา ชื่อ ‘ก้มลงช่วยมด’
1: เยนาไม่ได้เล่าเรื่องไกลตัว
เพลงของเยนาคือเพลงที่เมื่อเปิดประตูบ้านออกไปเดินตามท้องถนน เราจะพบกับตัวละครในบทเพลงของเยนาตามตรอกซอกซอย ร้านขายสุรา และในหน้าหนังสือพิมพ์ บางเพลงเล่าเรื่องคนที่ลงไปหาสิ่งประทังชีวิตในคลองริมถนนของเมืองใหญ่ บางเพลงเล่าเรื่องเด็กขายดอกกุหลาบในร้านขายสุรา ฯลฯ วัยหนุ่มของนักดนตรีย่อมมีเรื่องให้เลือกเล่ามากมาย แต่ทำไมเยนากลับเล่าเรื่องราวกลับด้านจากแง่งามของสังคม
“เวลาไปเจอเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่ดี เวลาที่เห็นเด็กตัวเล็กๆ ต้องไปทำงาน มันดูเร็วเกินไป” กุล นักเขียนเพลงของวง เริ่มต้นเรื่องราวบทเพลงของเยนาที่ย้ำในเมโลดี้ว่า ‘คนต้องเท่ากัน’
“เขาน่าจะได้ใช้เวลาวัยนี้เล่นเหมือนเด็กคนอื่นๆ ผมว่าโอกาสของเด็กน่าจะเท่าๆ กันกว่านี้หน่อย ไม่ใช่อีกคนสบายมาก ส่วนอีกคนหนึ่งแทบไม่รู้จักการเล่น มันเป็นเรื่องที่สะเทือนใจ เราเลยเอามาเขียน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ใช้ความรู้สึกแบบนี้แหละครับเวลาเขียนเพลง สิ่งที่เราเห็นในชีวิตประจำวันทั่วไปแล้วเรารู้สึก”
นักร้องนำและคนแต่งเพลงหลักของวงเยนา ย้อนให้ฟังถึงสิ่งที่คนมักมองว่าเรื่องเหล่านี้ไกลตัว แต่สำหรับเขา มันใกล้ตัวเสียจนคนมองข้าม คล้ายขนตาที่เรามองไม่เห็น ทำให้เขาอยากเล่าออกมาผ่านบทเพลง บทเพลงเพื่อชีวิตที่คนเท่ากันในภาพฝันของเขา
กรุงเทพ 14 กุมภา มนุษย์จัดว่ามันเป็นวันวาเลนไทน์ แล้ววาเลนไทน์ของเด็กขายกุหลาบนั้นตรงกับวันที่เท่าไร
ซื่อๆ ตรงๆ แต่กระทบความรู้สึกคนฟัง เพลงของเยนามีลักษณะแบบนั้น ประโยคหนึ่งในเพลง ‘กรุงเทพ’ กระตุ้นให้เราตั้งคำถามกลับไปอย่างดื้อๆ “เด็กคนนั้นที่คุณเห็นคือเด็กขายกุหลาบในเพลง ‘กรุงเทพ’ หรือเปล่า”
“ใช่ มันเกิดเป็นความคิดขึ้นมาว่า เด็กที่ขายกุหลาบในวันที่เราไปเที่ยวผับกัน หรือในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ของเขามันวันไหนล่ะ เขายังต้องทำงานนี้อยู่เลย เด็กกลุ่มนี้ไม่มีวันเด็กก็ว่าแย่แล้วนะ ยังต้องมาทำงานดึกดื่นอีก” กุลบอก ก่อนที่ โฟน นักร้องและมือเบส จะเสริมว่า เพลงของเยนาเชื่อเรื่องคนเท่ากัน
“เราเชื่อเรื่องคนเท่ากัน และมันใกล้ตัวที่สุดแล้ว บ้านนี้เมืองนี้เป็นบ้านเมืองที่มนุษย์ไม่เคารพกัน มันง่ายมากเลยถ้าเรามองดู ไม่ยกตัวอย่างดีกว่า ลองมองดูก็ได้เยอะแยะไปหมดเลย คนไทยไม่ได้เท่ากันเลย เราไม่ได้ปฏิบัติกับมุนษย์ด้วยความเท่าเทียมเลย ลองมองดูสิครับ” โฟนแสดงความรู้สึกนอกบทเพลง
เราเงียบกันไปครู่หนึ่ง …
2: วัยเยาว์ของเด็กชายเยนา
เยนายืนยันความเชื่อของเขาในบทเพลงอย่างตรงไปตรงมา เรื่องความเท่าเทียมของเพื่อนมนุษย์ ทำให้เราตั้งคำถามต่อว่า วัยเด็กของพวกเขาเป็นอย่างไร มันเชื่อมโยงกับบทเพลงและขับเคลื่อนทัศนะให้พวกเขาเป็นพวกเขาในวันนี้อย่างไร
เย: วัยเด็กของเยก็ปกติเลยครับ เล่นเละเทะปกติ ไม่ได้ลำบากต้องทำงาน แต่ก่อนหน้านี้ เยจะไม่ค่อยได้คิดเรื่องเด็กในมุมของเรื่องที่เล่าในเพลงมากนัก จะมองข้ามๆ ไปบ้าง แต่พอเราเอาเพลงมาคุยกัน เออว่ะ…มันใช่ มันทำให้เยหันมามองเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น
โฟน: “ก็เหมือนกันครับ เด็กทั่วไปเลย เรียน เล่น ไม่ได้เหนื่อยอะไร” เขานิ่งไปครู่หนึ่งและบอกเราว่า “เหนื่อยคนละเเบบ เราเหนื่อยเล่น เขาเหนื่อยทำงาน”
กุล: ตอนเด็กๆ ผมได้เล่น สบายมากไม่เคยต้องคิดเรื่องงาน แต่พอเรามาเห็นเด็กที่ไม่ได้สุขสบายเหมือนเรา ก็เลยยิ่งสะเทือนใจเข้าไปใหญ่ ซึ่งมันก็ไม่จำเป็นว่าผมต้องลำบากตั้งเเต่เด็กผมถึงจะคิดเรื่องเหล่านี้ได้ เพราะผมสบายต่างหาก ผมเลยรู้สึก
เราถามต่ออย่างนึกสนุกว่ามาดขรึมเข้มของพวกเขาจะมีความฝันตอนเด็กเช่นไรกันบ้าง?
เย: ไม่ฝันแล้ว เยไม่อยากตั้งเป้าอะไรไว้เยอะมาก เพราะเยไม่รู้ว่าชีวิตมันจะไปทางไหนอีก
โฟน: อยากเป็นหมอไม่ใช่เหรอ?
กุล: กูไม่อยากเป็นคนไข้เลย
และนี่คือเสียงหัวเราะแรกหลังจากนั่งเกร็งกันมาได้สักพัก
3: เยนาเดินช้า จึงสะดุดยาก
เยนาเลือกที่จะเล่นดนตรีของพวกเขาโดยไร้กรอบเกณฑ์ของการสังกัดค่ายเพลง ความอิสระที่ได้มานั้นสร้างความลำบากไม่น้อยใรแง่ของรายได้ เพราะทุกอย่างมีค่าใช้จ่าย มีค่าห้องซ้อม ค่าอุปกรณ์ ค่ารถเมื่อต้องออกไปแสดง พวกเขาจึงมีอาชีพหลักกันเพื่อคอยซัพพอร์ตการทำเพลง
โฟน: ผมทำ interior
กุล: ผมสอนดนตรีที่โรงเรียนของคุณอา สอนมาตั้งเเต่เรียนจบใหม่ๆ
เย: ผมเป็นกราฟิค ออกแบบงาน
“การทำวงพวกเราก็จริงจังกันสุดๆ ครับ กะจะให้เป็นงานหลักเลย ไม่เคยคิดว่าจะเป็นเล่นๆ แต่คำว่าหลักของเราไม่เกี่ยวกับการสังกัดค่าย ผมคิดเเบบนี้นะ ว่าการมีค่ายอาจจะไม่ได้หมายถึงหลักของผม แต่คำว่า ‘หลัก’ ของเราคือความตั้งใจ และจริงใจที่จะทำ คงไม่เกี่ยวกับการเข้าไปอยู่กับค่ายใหญ่ค่ายเล็ก”
เขากำลังจะบอกเราว่า เส้นทางการเดินบนถนนดนตรีของเยนาในช่วงแรกไม่ได้ราบเรียบเลย
“ทุกวันนี้วงเด็กๆ ที่เพิ่งเริ่มก็ต้องออกเงินเองเหมือนกัน เราก็ไปเอง ใช้ทุนตัวเอง เขามีเวทีให้ เราก็ไปเล่น อีกอย่างที่บ้านเราค่อนข้างดี คอยซัพพอร์ต คอยช่วยเหลือ ไม่งั้นก็ไปไม่รอด ทำอัลบั้มนี่ผมก็ยืมเงินพ่อนะ เข้าไปยืมเลย แล้วก็ต้องรีบคืนให้ไว เขาจะได้ให้ยืมอีก (หัวเราะ)
“ตอนแรกเราก็แทบไม่มีงานเล่นนะ มีบ้างแต่น้อยมาก คนเริ่มรู้จักคงเพราะปากต่อปากบ้าง คนจัดงานอยากให้เราไปเล่นบ้าง หรือเราขอไปเล่นเองด้วยบ้าง จำได้ว่างานแรกเป็นเทศกาลดนตรีที่โคราช ตื่นเต้นมาก พ่อแม่ขับรถพาผมไปดูกันทั้งบ้านเลย”
4: แรงขับเคลื่อน
พวกเขาบอกเราไปในทิศทางเดียวกัน ว่าครอบครัวคือพลังสำคัญที่คอยประคองเยนาตั้งแต่ช่วงเริ่มทำอัลบั้มแรก ช่วงที่พวกเขามีเพียงความฝันและเรื่องราวที่จะเขียนลงไปในเพลงเท่านั้น
กุล: บางทีคุณแม่ก็มาบอกว่า เข้าใจนะว่าในเพลงพูดถึงอะไร แค่นี้ก็พอแล้วครับสำหรับผม คุณแม่ชอบหลายเพลงมากนะ ‘แกงไตปลา’ ก็ชอบ ‘Hi Hello’ ก็ด้วย
โฟน: ของผมก็เป็นคุณพ่อ พ่อกับพี่สาวพี่ชายที่เขาฟังแล้วบอกว่า ดีๆ อะไรดีก็ทำ แต่ว่าเราจะเห็นได้ตอนที่เขาได้ไปดูเราแสดงสด เขาจะมีปฏิกิริยาเยอะมากเลย เห็นหน้าเราแล้วก็ เออ ดีใจ ลูกไม่ได้ไปติดยาก็ดีแล้ว (หัวเราะ) เขาจะถามตลอดว่า มีงานเล่นเมื่อไหร่ วันไหนเล่นอีก วันนี้ทำอะไร ถามตลอดเวลา
เย: ของผมจะนิ่งเลยครับ เพราะบ้านเยเป็นบ้านที่จะเเข็งๆ หน่อย ส่วนใหญ่เขาจะฟังแต่เพลงเก่าๆ เพลงใหม่ๆ เขาจะไม่ค่อยฟังแล้ว แต่เขาก็รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เราจะบอกเขาว่าวันนี้มีเล่นที่นี่นะ เราแค่ทำให้เขารู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่แค่นั้นพอ
5: เก้าปีเก้าเพลงกับก้าวต่อไป
“สำหรับวงดนตรี ปีหนึ่งก็อาจจะออกอัลบั้ม แต่เรา 9 ปีเพิ่งมีอัลบั้มแรก 9 ปี 9 เพลง” กุลบอกกับเราว่าเยนาเดินช้า ช้าเกินกว่าที่คิดไว้ และเขาคาดหวังกับการเติบโตของวงมากกว่านี้ เราจึงโยนคำถามไปในวงสนทนาต่อว่า “เป้าหมายที่เยนาวางไว้ในวันแรกที่เริ่มทำวง เป็นภาพเดียวกับที่เป็นเยนา ณ วันนี้หรือเปล่า”
“เป้าหมายตอนนี้ก็อัลบั้ม 2 ที่กำลังทำครับ เราวางเป้าหมายนะ แต่เราไม่ได้ไปกำหนดว่าอายุเท่านี้เราต้องประสบความสำเร็จอย่างนี้ ซึ่งเราไม่เคยคิดว่าต้องทำเพลงให้โดนใจคนเพื่อจะถึงเป้าหมายตรงนั้น เวลาทำเพลงเราจะจริงใจที่จะทำในแบบที่เราชอบมันจริงๆ ไม่ได้ทำเพลงเพื่อหวังไปสู่เป้าหมายว่าอัลบั้มที่กำลังทำคนต้องชอบในแง่ผลตอบรับ หรือแต่งท่อนนี้สิให้มันพีคขึ้น โดนใจคน ให้ติดหูคนสักหน่อย เราไม่เคยทำงานกันแบบนั้น เพราะถ้าแบบนั้นเราจะไม่ถนัดแล้วครับ มันจะกลายเป็นเราเปลี่ยนธรรมชาติละ เป้าหมายของเราเป็นแบบนั้น”
พวกเขาสรุปกับเราสั้นๆ ว่า ในความจริงนั้น เป้าหมายที่สำคัญของวงไม่ใช่ความสำเร็จในแง่ของชื่อเสียงหรือแฟนคลับที่มากมายอะไรเลย เขาคาดหวังไว้มากกว่านี้
6: เพลงรักของเยนา
เพราะเรานัดคุยกับเยนาก่อนวาเลนไทน์เพียง 2 วัน จึงแอบอยากถามถึงเพลงรักในแบบของเยนา ว่าถ้าเขียนเพลงรัก เขาจะเล่าความรักออกมาในรูปแบบไหน-ความรักของวัยหนุ่มสาวอย่างพวกเขา
“สมัยเด็กๆ ช่วงนั้นก็เเต่งเพลงรักประมาณ ม.4 – ม.5 เป็นเรื่องใกล้ตัว พอแต่งเพลงรักสักพักก็ไม่ได้รู้สึกอะไรมาก แนวเพลงมันเริ่มเปลี่ยนไปตามธรรมชาติ
“แต่ถ้าถามถึงตอนนี้จะเขียนเพลงรักในแบบไหน ผมก็คงเขียนแบบเดิมๆ คือเห็นปัญหาแล้วก็เอามาเล่า เพราะในเพลงของพวกเราก็มีความรักอยู่ในนั้น ให้คนเคารพรักกัน แต่ก็ไม่แน่ว่าวันหนึ่งอาจจะทำเพลงรักแฟน ถ้าแฟนเขาทิ้งผมไป หรืออย่างโฟนอาจจะแต่งเพลงรักขึ้นมา ถ้าทนไม่ไหวจริงๆ” กุลเล่าย้อนไปวัยเด็กเคล้าเสียงหัวเราะ
ตามมาด้วยเสียงของโฟนถามขึ้นว่า “นี่แช่งกันหรือเปล่า”
เยนาทำไมไม่เขียนเพลงรักบ้าง? หลายคนรู้สึกเช่นนี้กับวงดนตรีที่อยู่ต่อหน้าเรา แต่เมื่อฟังพวกเขาเล่าเราจึงพบว่า ประโยคนั้นไม่ใช่ความจริงเลย
7: บทเพลงที่เล่าไม่หมด
“เรายังไม่เคยตันเลย ยังไม่มีช่วงไหนเลยครับ สังคมมันยังมีเรื่องให้หยิบมาเล่าอีกเยอะมาก” โฟนบอกกับเราอย่างหนักแน่น เมื่อถูกถามถึงระยะเวลาตลอด 9 ปีที่ผ่านมา พวกเขาเคยเจอทางตันในการทำเพลงบ้างหรือไม่
“หงุดหงิดไหมที่เล่าเรื่องแย่ๆ ในสังคมไปเท่าไรมันก็เป็นแบบเดิม” เราถามกลับไปเมื่อทุกคนเริ่มตกอยู่ในความเงียบ ขณะเดียวกัน คำถามนี้สร้างความเงียบไปครู่หนึ่ง ความเงียบที่กำลังทำงานกับความคิดของเยนา
“เราตัวเล็กครับ มันก็เป็นแบบนั้นอยู่แล้ว หมายถึงเราก็พูดให้คนไม่กี่เปอร์เซ็นต์หรืออาจจะไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ฟัง ถามว่าหงุดหงิดไหม เราก็ไม่รู้ว่าหงุดหงิดแล้วจะได้อะไร เราได้แต่หวังว่ามันจะดีขึ้น”
เยบอกกับเราเป็นคนแรก ตามมาด้วยโฟนที่เสริมขึ้นมาว่า
“แต่ก็รู้แหละครับว่ายาก เพราะใช่ว่ามันจะแก้ที่เพลงอย่างเดียวได้ เรารู้อยู่แล้วว่าเพลงมันอาจทำได้แค่สะกิดใจคน แต่เราก็หวังว่ามันจะดีขึ้นในวันหนึ่ง หวังว่าบ้านเมืองเราจะเดินไปข้างหน้า… แต่ก็เริ่มไม่แน่ใจเพราะบางทีมันก็ถอยอยู่นั่นแหละ (หัวเราะ) แต่เราทุกคนมีความหวังกับสิ่งที่เล่าทุกเรื่องนะ”
“เพลงมันก็ได้ทำงานในหน้าที่ของเพลงแล้ว คือทำให้คนคิดได้ไม่มากก็น้อย” กุลสรุปกับเรา
“ความเร่าร้อนของไฟในความฝันของเยนา มันหรี่ลงบ้างหรือเปล่า” เราถามเพื่อชวนเยนาทบทวนกับบางสิ่ง
“ไม่เบาลงครับ เหมือนเดิม รู้สึกไฟลุกขึ้นด้วยซ้ำและเหมือนจะดุขึ้นด้วย ก็บ้านเมืองมันแย่ ยิ่งพอเราทำมาแล้วเรารู้ว่ามีคนฟัง เราจะตั้งใจมากขึ้น แฟนเพลงก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ในแง่ของเรื่องที่เล่า เราก็ชัดเจนอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลงเลย”
และพวกเขาก็ยังยืนยันอย่างแน่วแน่แบบที่ไม่ต้องใช้เวลาคิดมากนัก และด้วยการสนทนาที่เดินมาสักพัก คำถามของเราไม่เคยสั่นคลอนจุดยืนของเขาได้เลย เราจึงอยากถามต่อว่า “ความรู้สึกของเยนาที่ค่อนข้างแอคทีฟกับประเด็นทางสังคม คิดอยากจะทำอะไรอย่างอื่นนอกจากเพลงเพื่อตอบสนองความเชื่อของตนเองเรื่อง คนเท่ากันบ้าง”
“คือผมมองว่าผมถนัดที่จะเคลื่อนไหวแบบนี้ และมองว่าเราทำอะไรที่เราถนัดดีกว่า ถนัดแบบนี้ก็ทำมันให้เต็มที่” กุลบอกกับเรา ตามมาด้วยคำยืนยันอีกเสียงของโฟนที่นั่งฟังอยู่ข้างๆ “คิดเหมือนกุลแหละครับ มันผิดธรรมชาติ ถ้าเราไปทำอย่างอื่น ธรรมชาติเราเป็นแบบนี้ เราก็ทำแบบนี้”
“เราอาจทำอะไรได้ไม่มาก แต่เราก็หวังว่าจะสะกิดใจคนได้บ้าง ให้เขาได้เอะใจบ้าง ลองไปมองในจุดนี้ที่เราเล่าบ้าง แต่ก็หวังว่าคงไปสะกิดใจคนได้บ้าง เวลาเราไปเแสดง ก็จะมีเด็กวัยรุ่นๆ มาคุยนะ เพราะเห็นว่าวงของเราพูดและสนใจเรื่องการเมือง เรื่องสังคม เขาก็จะมาในรูปแบบเปิดเลย เขาคิดยังไงกับเรื่องนั่นนี่ ก็จะพูดกับเรา เข้ามาคุยเรื่องการเมืองบ้าง เรื่องสังคมบ้าง แต่ส่วนใหญ่เราจะเป็นผู้ฟังเสียมากกว่า แค่นั้นก็พอครับ”
8: ปัจจุบันและอนาคต
ขณะนี้พวกเขากำลังทำอัลบั้มที่ 2 ของวง คำถามในฐานะคนที่ฟังเพลงเขามาแล้วทุกเพลง จึงเป็นอื่นไม่ได้นอกจาก “พวกคุณยังคงจะเล่าเรื่องปัญหาของสังคมอยู่หรือเปล่า หรือยังอยากขยับไปเล่าเรื่องอื่นบ้างแล้ว”
“หนึ่งเรื่องนี่มีหลายมุมมองมากเลย มองได้หลายมุมมาก แต่อัลบั้มที่ 2 ก็ยังเป็นเรื่องประมาณนี้แหละครับ คิดว่าจะทำอะไรแตกต่างจากนี้ไม่ได้หรอกครับ เพราะเวลามีเรื่องราวเราก็จะเอามาคุยกันว่ามันจะเป็นแบบไหนมากกว่า รู้สึกแบบนี้ เราอยากจะเล่น ไม่ได้ไปจำกัดว่าจะต้องมีอะไรใหม่ๆ มันดูเป็นการบังคับเรามากกว่า”
พวกเขาทั้งสามคนช่วยกันอธิบายว่าสุดท้ายแล้ว พวกเขาก็ยังจะคงพยายามเล่ามุมมองใหม่ๆ ในเรื่องของปัญหาเดิมๆ ปัญหาที่พวกเขารู้สึก
ซึ่งเยนาได้บอกเราไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า เรื่องที่อยากเล่า ปัญหาที่อยากบอก มันเยอะเสียจนเล่าอย่างไรก็ไม่มีวันหมด
9: 3 บทเพลงของ 3 หนุ่มเยนา
“ถ้าให้เยนาเลือกเพลงมาหนึ่งเพลงของแต่ละคน พวกคุณรู้สึกกับเพลงไหนของตัวเองมากที่สุด” ทุกคนนิ่งคิดไปสักพัก และกุลคือคนแรกที่เริ่มเล่าให้เราฟัง
กุล – ‘Circus Song’
วาฬเพชฌฆาตพ่นน้ำเรียกเสียงกรี๊ดฮือฮา ลูกวอลรัสน้อยซิทอัพโชว์เพื่อแลกปลาประทังหิว
เจ้าช้างวัยแรกรุ่นกำลังใช้งวงจับพู่กันวาดรูป แม่ลิงท้องแก่ปั่นจักรยานมาก้มลงจูบครูฝึกส่วนเขากำลังกลืนกาแฟคำใหญ่ พร้อมผลกำไรอีกหนึ่งอึกโต
“ตอนเขียนผมอินมากเลยครับ ผมไม่ชอบเห็นสัตว์ต้องมาทำงาน มาเล่นละครสัตว์ให้ผมดู ผมเกลียดมาก มันทุเรศมาก เวลาขึ้นไปร้องเพลงนี้ผมจะพูด จะพยายามบอกเล่าให้เห็นภาพมากที่สุดว่า มันไม่เวิร์คเลย ที่เห็นบางรายการเอาไก่มากดเปียโน ผมรู้สึกว่า ทำไมคนเราถึงต่ำได้ขนาดนี้นะ
“ผมเกลียดตัวเองตอนเด็กมากที่สนุกสนาน ณ ตอนนั้น ยอมรับว่าตอนเด็กไม่ทันคิดว่าสัตว์เหล่านั้นจะลำบากหรือเปล่า ถ้าย้อนกลับไปได้ก็อยากจะไปตบหน้าตัวเองสักทีหนึ่ง เพลงนี้ผมเลยเขียนเพราะอยากชดเชยกับเรื่องนี้ เราโตแล้ว คิดออกและมองออกแล้ว เพลงนี้จึงค่อนข้างมีความโกรธของผม ผมอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อไถ่โทษ และขอโทษ”
เย – ‘ก้มลงช่วยมด’
ทุกคนต่างพูดต่างฝัน อยากเห็นโลกที่สวยสดงดงาม
ไม่ยากหรอกแค่ลองพยายามใช้ศรัทธากับเสียงหัวใจที่เราได้ยินมันใกล้ๆ
“เพลงยังไม่ได้ปล่อยเป็นทางการ แต่เอามาเล่นบ้างแล้ว เราชอบเพราะมันกว้างดี เป็นเรื่องที่พูดถึงการทำอะไรดีๆ สักอย่าง ว่าเราทำตามใจหรือตามการปลูกฝัง แล้วทำให้กลับมาถามตัวเองว่า ‘เฮ้ย นี่กูทำอะไรอยู่วะ กูตามใครอยู่หรือเปล่าวะ หรือที่บ้านฝังมาวะ’ เพลงนี้หลักๆ แล้วพูดถึงว่า เราทำอะไรก็ได้ที่ใกล้ตัวตามชื่อเพลง ‘ก้มลงช่วยมด’ เลยครับ เราไม่ต้องทำอะไรใหญ่ๆ ก็ได้ ถ้าโลกมันจะดีเราอยู่กันง่ายๆ แค่มือจับกันข้างๆ ก็พอ แล้วมันจะต่อยอดให้ทุกอย่างมันดีเอง”
โฟน – ‘กองทราย’
เพลงในอัลบั้มที่ 2 ที่ยังไม่รู้จะปล่อยเมื่อไหร่
“ผมอินกับเพลงใหม่ที่กุลเขียนและกำลังทำอยู่ตอนนี้มากกว่า เป็นเพลงเกี่ยวกับเด็กในไซต์ก่อสร้าง เรารู้สึกสะเทือนใจจริงๆ นะตอนที่กุลเขียนแล้วเอามาให้ฟัง ชื่อเพลงว่า ‘กองทราย’ ครับ ที่รู้สึกกับเพลงนี้มากเพราะบ้านผมทำ interior ด้วย แล้วก็เจอแรงงานก่อสร้างบ่อย เราก็เห็นชีวิตของเด็ก ครอบครัวกรรมกร เรารู้สึกว่ามันจริง และเปลี่ยนอะไรไม่ได้เลย”