‘คณะขวัญใจ’ เสียงคนดนตรีใฝ่ฝันถึงสันติ พ่ายแพ้ได้ แต่ไม่เคยยอมแพ้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ดนตรีมีความสัมพันธ์กับประเด็นทางสังคมมาโดยตลอด ยิ่งในยุคสมัยใหม่มีวงดนตรีเกิดขึ้นมากมาย ‘คณะขวัญใจ’ เป็นหนึ่งในวงดนตรีคนรุ่นใหม่ที่ถ่ายทอดทำนองและบทเพลงออกมาอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งภาษา ความไพเราะ และคมคาย ทำให้บทเพลงของพวกเขาแตกต่างจากวงอื่น นอกจากบทเพลงรักแล้ว เพลงของพวกเขายังบอกเล่าประเด็นสังคมควบคู่กันไปด้วย 

หนึ่งในตัวแทนคณะขวัญใจอย่าง เบิ้ล-ชีวิน โกมารทัต ที่ในวันนี้ได้มาเล่นดนตรีที่ The ordinary bar ด้วยจังหวะพอดิบพอดี และเป็นโอกาสดีที่ทำให้เราได้มาพบกัน 

หลายช่วงตอนของการพูดคุย เผยให้เห็นบริบทที่พวกเขาเติบโตมาในฐานะศิลปินในประเทศนี้ ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ ใช่ว่าจะผ่านแต่เพียงวันคืนที่ดีมาเท่านั้น การเป็นศิลปินล้วนก็ต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากจากปัจจัยต่างๆ ที่ควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นพิษเศรษฐกิจ การเมือง รวมไปถึงโรคระบาด ซึ่งพวกเขาล้วนผ่านมันมาได้ด้วย ‘อาวุธของศิลปิน’ ทั้งสิ้น 

เมื่อได้เวลาเหมาะเจาะแล้ว จัดแจงที่นั่งสัมภาษณ์ ภายในห้องผนังปูนเปลือยเปล่า แสงไฟส่องสลัว บทสนทนาจึงได้เริ่มต้นขึ้น… 

‘คณะขวัญใจ’ ชื่อนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร

‘คณะขวัญใจ’ คือชื่อวงที่ตั้งกันขึ้นมาเล่นๆ ตอนที่พวกเรากำลังเล่นดนตรี ก่อนหน้านั้นเราเคยคิดจะตั้งชื่อวงว่า ‘ขวัญใจจริง’ เพราะได้แรงบันดาลใจมาจาก พี่เป้า (สายัณห์ สัญญา) จากเพลง ‘นักเพลงคนใช่ ขวัญใจคนเดิม’ แล้วคำว่าขวัญใจมันดูเชยดี จนรู้สึกว่ามันก็ดูมีเสน่ห์เมตตามหานิยมดี เลยตั้งชื่อนี้ขึ้นมาครับ 

กว่าจะมารวมตัวกันได้ ต้องเริ่มต้นจากอะไรบ้าง 

คือส่วนใหญ่ก็รู้จักกันมาก่อนครับ เป็นเพื่อนกัน เพื่อนมหา’ลัยบ้าง เพื่อนของเพื่อนกันบ้าง 

เริ่มเล่นดนตรี เริ่มเขียนเพลง ตอนอายุเท่าไหร่ 

ตอนนี้ผมก็อายุ 27 แล้ว ถ้าพูดถึงตอนเริ่มเขียนเพลงก็ตอนมัธยมต้นเลยครับ ลองเขียนดู ตอนนั้นผมก็ไม่ได้จริงจังกับมันมาก เอาจริงๆ ผมรู้สึกว่าไม่ชอบเพลงที่ตัวเองเขียนเลยนะ (หัวเราะ) 

จากวันแรกที่มารวมตัวกัน คิดว่าคณะขวัญใจมาไกลขนาดไหน

วงของเรามีอายุ 3-4 ปี ประมาณนี้ครับ และแน่นอนครับ มันเติบโตขึ้นเยอะมาก อย่างทุกคนในวงก็มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถปลดหนี้ปลดสิน ทำให้ชีวิตสุขสบายขึ้น รับผิดชอบคนอื่นได้ อย่างหนึ่งที่ผมเห็นก็คือ ผมเห็นความสุขของแม่และน้อง เห็นแววตาของแม่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเลย แล้วผมก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของคณะขวัญใจว่ามันเปลี่ยนแปลงไปมากขนาดไหน ผมว่าดีขึ้นแน่นอนครับ มีคนรักเรามากขึ้น ไปไหนเขาก็ประคบประหงม มีคนรู้จักเยอะขึ้น มีคนอำนวยความสะดวกเรามากขึ้น 

แต่ขณะเดียวกันก็อยากจะบอกว่า ที่เรามีความสุข มีคนรักมากขึ้น มันก็มีสิ่งตรงข้ามคือ มีคนเกลียด อย่างหนึ่งที่ผมเป็นตอนนี้คือ เมื่อผมไปข้างนอก นั่งกินก๋วยเตี๋ยวข้างทาง บางทีก็หวาดระแวง ซึ่งผมไม่ได้หยิ่งอะไรนะ ผมทำเหมือนเดิมหมดเลย เพียงแต่ปัจจัยภายนอกเริ่มไม่เหมือนเดิม ซึ่งนั่นแหละมันเป็นราคาที่ผมต้องจ่าย

หากมองย้อนกลับไปตอนที่เริ่มเล่นดนตรี บางคนอยากเล่นเพราะมีศิลปินที่ชอบเป็นแรงบันดาลใจ หรือบางคนอาจมีเหตุผลอื่นๆ อยากรู้ว่าตัวคุณเองเล่นดนตรีเพราะอะไร 

ถ้าพูดถึงตอนเล่นดนตรีในโรงเรียนก็เป็นความสมาร์ทด้วยแหละครับ อย่างที่สองคือเราชอบด้วย จริงๆ ครอบครัวผมก็เล่นดนตรี หมอลำอะไรทำนองนี้ ป้าผม หรือไม่ก็ย่าผมเป็นลิเก แล้วพ่อผมเล่นกีตาร์ด้วย เพราะฉะนั้นผมก็ซึมซับ จนรักและชอบมัน แต่จริงๆ แล้วผมถนัดไปทางวาดรูปหรือศิลปะมากกว่าน่ะครับ 

ถ้ามองในแง่แรงบันดาลใจ ผมก็มีความสนใจเรื่องเพลงมาตลอดครับ แน่นอนว่าบรรยากาศในอดีตก็อาจมีส่วนนิดหน่อย เพราะในอดีตก็ไม่ได้เรียกว่าสุขสบาย ค่อนข้างจะลำบากหน่อย ดนตรีก็เลยเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ให้เราได้ครับ 

พอพูดถึงเรื่องความลำบาก พ่อผมอยู่กรุงเทพฯ ขับแท็กซี่ ส่วนแม่อยู่บ้านที่อุดรธานี ทำงานแบบหาเช้ากินค่ำครับ ชีวิตผมก็จะต่างจากครอบครัวอื่น อย่างตอนเด็กแค่เราอยากจะกินน้ำโค้ก อยากจะกินอะไรเหมือนคนอื่นเขายังยากเลยครับ เวลาได้กินน้ำโค้กจากงานบุญงานอะไรนี่ ตอนเด็กๆ คือดีใจมาก ได้กินหลายขวดสมใจเลย 

คุณเติบโตที่ไหนมากกว่ากัน ระหว่างกรุงเทพฯ กับอุดรธานี 

ผมน่าจะโตกรุงเทพฯ เยอะกว่าครับ แต่ผมเกิดที่อุดรฯ นะ ผ่านชีวิตไปสักพักหนึ่งก็ไปอยู่กรุงเทพฯ ต่อมาไปอยู่สมุทรปราการ แล้วก็กลับไปเรียนอนุบาลถึง ป.3 ที่อุดรฯ แล้วก็มาเรียนต่อ ป.4 ที่โรงเรียนวัดทองสุทธาราม แถวบางซื่อ อยู่กรุงเทพฯ จนถึงมหา’ลัยเลย แต่ระหว่างนั้นก็ไปๆ มาๆ ทำให้เราเห็นภาพระหว่าง 2 เมืองมาโดยตลอด

บทเพลงของคณะขวัญใจมักมีบรรยากาศแบบลูซเซอร์ (loser) หรือดอกฟ้ากับหมาวัด อะไรทำนองนี้ แต่ขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์บางอย่างเรื่องความเหลื่อมล้ำ คิดว่าเพลงของพวกคุณสามารถอธิบายอะไรในสังคมได้บ้าง 

เราพูดถึงเรื่องที่มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่แล้ว เพียงแต่เราเอาเนื้อหามาย่อให้เหลือไม่กี่บรรทัด แล้วก็เล่าความรู้สึกตัวเองออกไป คิดว่าเพลงผมก็มีแค่นี้แหละครับ ง่ายๆ กินใจ เรียบง่าย เน้นสุนทรียะทางภาษา คิดว่าเป็นอย่างนั้นครับ 

ถ้าเปรียบคณะขวัญใจเป็นเด็กหนุ่มคนหนึ่ง เด็กหนุ่มคนนี้มีอุปนิสัยอย่างไร

ถ้าจะให้จินตนาการ ผมคิดว่าคงจะเป็นเด็กหนุ่มที่คลั่งรักคนหนึ่ง มีความโรแมนติก แต่ก็ผิดหวังบ่อยเหลือเกิน ถึงจะอกหัก แต่ไม่เคยยอมแพ้ แล้วก็ชอบให้กำลังใจคนอื่นอยู่เสมอ อยู่เป็นเพื่อนกัน ให้กำลังใจผู้คน พวกผมคงเป็นเด็กชายขวัญใจที่เข้มแข็งแล้วก็โรแมนติก ชอบช่วยเหลือคนอื่น แล้วก็มีสุนทรียะด้วยครับ 

ความงดงามของภาษาที่ปรากฏอยู่ในหลายบทเพลง อะไรคือสิ่งที่ประกอบสร้าง ความงดงามนี้ขึ้นมา

ถ้าในเรื่องภาษา ผมคิดว่าน่าจะมาจากการที่เราฟังเพลงของบุคลากรที่ทรงคุณค่า ซึ่งโดยส่วนตัวผมไม่ค่อยได้อ่านหนังสือมากนัก แต่อย่างเพลงเก่าหรือเพลงลูกทุ่งนั้นมักจะมีคำที่ไม่เหมือนสมัยนี้ หรืออาจจะมีวิธีเล่าเรื่องที่ไม่ได้ไล่ตามลำดับ 1 2 3 4 แต่อาจจะโดดสลับไปมา เนื้อหากระชับ ฉับไว แล้วก็เข้าใจได้ ถ้าหากไม่หลับเสียก่อน เพราะสำหรับบางคนอาจจะฟังแล้วหลับ เพราะรู้สึกน่าเบื่อ แต่สำหรับผมที่ฟังแล้วก็คือ เราเพลิดเพลินไปกับเนื้อเพลง แล้วก็มานั่งประมวลว่า คิดคำนี้ยังไง เหตุการณ์มันเป็นแบบไหน บวกกับผมจะชอบพูดคนเดียว ชอบหัดพูดหรือเรียบเรียงคำพูด ซึ่งตอนสมัยเด็กผมก็ไม่ได้เขียนเรียงความได้เลอเลิศอะไร ถ้าพูดเท่ๆ ก็คือ ตอนนี้ครูภาษาไทยคงจะภูมิใจในตัวผมมาก 

มีใครสักคนแวบเข้ามาในหัวไหม คนที่ทำให้เราอยากเขียนเนื้อเพลงแบบนี้ 

ผมชอบฟัง Loso ครับ ส่วนเรื่องทำนอง ผมก็ไม่รู้จะตอบว่าใครดี เพราะว่าทุกคนล้วนสำคัญหมด แม้แต่ใครบางคนที่เดินผ่านมาฮึมฮัมอะไร หรือบางทีเราหูแว่วไปเอง คนเหล่านั้นก็อาจจะเกี่ยวข้องกับทำนองที่ผมทำครับ 

คณะขวัญใจนิยามแนวเพลงของตัวเองว่าอย่างไร ในโลกปัจจุบันที่มีแนวเพลงแตกแขนงมากมาย

ส่วนใหญ่ผู้คนจะบอกว่าคณะขวัญใจเป็นโฟล์ค ซึ่งผมคิดว่าการให้คำนิยามอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้นทั้งหมด แต่ถ้ามองตามแนวทางของโลกทั่วไป คณะขวัญใจคงจะเป็นโฟล์ค หรือเป็นเพื่อชีวิต อะไรประมาณนี้ครับ จะว่าไปผมก็ฟังเพลงคลาสสิก เพลงร็อค บลู แจ๊ส ฮิปฮอป หมอลำ ผมฟังหมด ถ้าอันไหนผมชอบ ผมก็จะหยิบเอามาใช้ในการทำงานครับ 

เคยวิเคราะห์ไหมว่า การที่กระแส 80s 90s เริ่มกลับมา เป็นเพราะอะไร 

ถ้าให้วิเคราะห์ตอนนี้ ผมว่าเพลงเก่าๆ มีกลิ่นอายของภาษาที่เรียบง่าย ทำนองไม่ซับซ้อน อย่างเพลงเก่าที่กลับมาดังใหม่ ที่ร้องว่า “เสียเงินทองไม่ตาย หากจะหามันคงไม่สาย” (‘ตายทั้งเป็น’ แจ้-ดนุพล แก้วกาญจน์) คำพูดมันดูง่ายๆ ไม่ต้องซับซ้อน ไม่ต้องร้องให้มันยาก ไม่ถึงกับต้องดีเลิศเลอ นี่แหละคือเสน่ห์ของเพลงเก่า

ความยากในการทำเพลงของคนยุคปัจจุบัน ต้องเผชิญกับเงื่อนไขอะไรบ้าง

ผมคิดว่าพอเทคโนโลยีมันง่ายขึ้น ก็เลยมีคนทำเยอะขึ้น กลับกลายเป็นว่าต้องแข่งขันเยอะขึ้น อย่างเช่นการออกสื่อ เมื่อก่อนกว่าศิลปินจะได้ออกสื่อทีวี ไม่ใช่เรื่องง่าย ตอนนี้ทุกคนมีโทรศัพท์ อัพโหลดเองได้ ใครๆ ก็สามารถมองเห็นได้ นั่นทำให้คนยุคนี้ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น ไม่ใช่แค่ในกลุ่มเล็กๆ อาจจะเป็นทั่วโลกเลยที่ต้องแข่งขันกัน

คนทำงานดนตรีสมัยนี้จะหาพื้นที่ของตัวเองยังไงได้บ้าง หรืออย่างร้าน The ordinary bar ตอบโจทย์คนฟังเพลงไหม 

ผมคิดว่า ผมก็เป็นคนมีอุดมการณ์เหมือนกัน หมายถึงว่ามีความคิดเป็นของตัวเอง แล้วผมก็จะเลือกอะไรที่มันเมคเซนส์สำหรับผม แล้วร้านที่ตรงนี้ก็เชื่อว่าคนที่เข้ามาก็คงมีความคิดคล้ายๆ กัน อาจจะไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่พอได้มาอยู่ในที่เดียวกัน ได้มาฟังเพลงที่สามารถบรรเทาความเครียดได้ แล้วก็ได้มาแลกเปลี่ยนเพื่อพัฒนาต่อไป ผมว่าร้านนี้เหมาะกับคนที่มีอุดมการณ์ครับ 

รายได้หลักของอาชีพนักดนตรีก็คือการตระเวนเล่นคอนเสิร์ต พอเจอโควิดแบบนี้แล้วส่งผลกับวงอย่างไรบ้าง 

มันก็ทำให้ขาดรายได้ครับ ทำให้เราลำบากขึ้น รายได้น้อยลง แต่รายจ่ายเท่าเดิม หรืออาจจะเพิ่มขึ้น พอโควิดไม่จบ นานเข้าก็เป็นความเครียด หลายๆ คนก็มีความเครียด โควิดมันกระทบอย่างหนักเลยครับ 

การเป็นศิลปินในประเทศนี้ยากไหม ถ้าเทียบกับประเทศอื่น 

ถ้าให้ยกตัวอย่าง อย่างเพลงของผม เพลง ‘ต่ำตม’ ใน MV ก็มีพระด้วย แต่เพลงนี้ไม่ได้รายได้นะครับ แต่ถ้าเป็นประเทศอื่นเขาอาจจะแก้ผ้า คนอาจจะยิ่งชอบ ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าถ้าทำแบบต่างประเทศแล้วจะดีนะครับ แต่ว่านั่นแหละ บ้านเรามันทำงานยากลำบาก ทำให้เราพูดอะไรมากไม่ได้ ซึ่งเราก็เป็นคนตัวเล็กๆ อย่างนี้ อย่างเวลาเปิดร้านก็จะมีคนมาเก็บเงิน เก็บส่วย ซึ่งผมขอเรียกว่าปรสิต คือมียูนิฟอร์ม ไม่ต้องทำงาน แต่มาขอตังค์ นั่นคือประเทศนี้ครับ 

ผมเคยเดินทางไกลไปเล่นดนตรีที่ต่างจังหวัด เล่นอย่างมีความสุข พอเล่นไป 3 เพลง พวกเขามาแล้ว มาบอกให้พวกผมหยุดเล่น อันดับแรกคือมันเสียความรู้สึก อย่างที่สองคือ เจ้าของร้านจะรับผิดชอบยังไงกับการที่แฟนเพลงซื้อบัตรมาแล้ว ถ้าแฟนเพลงเข้าใจ มันก็โอเค แต่บางคนเขาก็ไม่เข้าใจครับ แล้วจะรับมือยังไง ความผิดมันเกิดจากอะไรล่ะ เราผิดเหรอ เราเล่นดนตรีเราผิดอะไร ถ้าบอกว่าเราเป็นร้านเหล้า เราก็มีใบอนุญาต ไม่งั้นจะเปิดได้ยังไง นั่นแหละ การเป็นศิลปินในประเทศนี้มันยากครับ เขาก็เลยพูดกันว่าให้ไปทำอาชีพเป็นเจ้าคนนายคน อย่าไปทำเลยเต้นกินรำกินอะไรแบบนี้ 

พูดถึงเพลง ‘ย้ายป่า’ ที่ Feat. กับ หงา คาราวาน อยากทราบว่ามาเจอกันได้อย่างไร 

จุดเริ่มต้นคือผมกับไววิทย์ไปดูงานศิลปะที่หอศิลป์ Moca แล้วเจองานชิ้นหนึ่งที่เป็นรูปสัตว์ เขาเขียนว่าย้ายป่า ย้ายกิเลสสักอย่างเนี่ยแหละครับ ผมก็จำไม่ค่อยแม่นเท่าไหร่ เป็นรูปสัตว์ป่าและป่าไม้สีเขียวอยู่บนแพใหญ่ๆ แพหนึ่ง แล้วก็มีอะไรที่ผุพังเต็มไปหมด ผมก็เลยได้แรงบันดาลใจจากงานนั้น จึงเกิดเพลงนี้ขึ้นมา แล้วพี่เบนซ์ก็ไปชวนน้าหงามาร่วมแจมด้วย ผมเห็นว่าน้าหงาเป็นคนเพื่อชีวิต เขาก็ไม่ได้ขัดอะไร เราก็ร้องตามไป แล้วก็ชวนพี่ๆ น้องๆ มาร่วมร้องเพลงนี้ ผมว่าเพลงนี้มันต้องมีพลังร้องที่ยิ่งใหญ่ ส่วนเนื้อเพลงเราก็ว่ากันไปตามอารมณ์ผมตอนนั้น คิดอะไรออกผมก็เขียนออกมาครับ 

สำหรับคณะขวัญใจ อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดหรือเรียกได้ว่าเป็น ‘หัวใจ’ ของนักดนตรี

สิ่งที่สำคัญที่สุดของพวกเราที่เล่นดนตรีคือ ‘ความสุข’ ครับ หัวใจของนักดนตรีคือความสุขเลยจริงๆ ส่วนผลพลอยได้ทีหลังมันเกิดขึ้นจากความสุขก่อน เจียดเงินเอง เขียนเพลงเอง ทุกอย่างมันผ่านกระบวนการมาจนจบ แล้วเราจึงเอาไปให้คนอื่นฟัง พอได้รับความนิยม นั่นคือผลพลอยได้ของมันเอง ผมคิดว่าหัวใจของคณะขวัญใจหรือนักดนตรีทุกคน ก็คือ การมีความสุขและได้ทำมันเพราะความชอบ 

ถ้าพูดถึงประเด็นสังคมตอนนี้ มีเรื่องอะไรที่อยากเขียนถึงบ้าง 

สังคมตอนนี้เหรอ คือผมไม่รู้ว่าผมจะพูดขัดใจใครหรือเปล่านะ สำหรับตัวผมเอง ผมรักในสันติ แต่ไม่ใช่สันติแบบสงบนิ่งโดยที่ไม่ทำอะไรเลย แล้วเราก็ไม่ใช่แบบที่ว่าจะไปต่อสู้แบบไม่สันติ เราต้องใช้สติปัญญายังไงก็ได้ให้สันติกับการต่อสู้ไปด้วยกันได้ 

อย่างผมไม่เคยไปเป็นทหาร แต่ผมมีความคิดแบบนี้นะว่า ถ้าผมไปเป็นทหาร แล้วผมต้องไปฆ่าคน ผมก็จะไม่ยิงเขา ผมจะยอมให้เขาฆ่าผมให้ตายไปได้เลย นั่นแหละคือผมจะไม่ทำคืนใคร เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราจะทำแบบนี้ให้ดู และเราจะไม่ผิดคำพูด อย่างในเพลงเพลงหนึ่งของพี่บอย อิมเมจิ้น ที่ชื่อ ‘โปรดเรียกขานฉันด้วยนามอันแท้จริง’ ผมชอบเพลงนี้มาก ผมฟังหลายครั้ง ผมใจสั่นกับเพลงนี้ทุกครั้ง เมื่อมีโอกาสก็อยากจะบอกทุกคนแบบนี้ 

ใจสั่นเพราะอะไร 

เราใจสั่นไม่ใช่เพราะเศร้าหรืออะไร แต่เป็นเพราะรู้สึกว่า นี่หรือมนุษย์ ทำไมช่างแสนดีขนาดนี้ก็มี แสนเลวก็มี แต่ผมจะไม่ร้องไห้กับคนเลว ส่วนใหญ่ผมจะร้องไห้กับคนดี ผมรู้สึกว่ามันตื้นตันใจจังเลย มีคนแบบนี้อยู่ด้วยเหรอ ผมอยากจะสื่อสารกับคนสมัยนี้ว่า สันติกับปัญญา และสติ ทำยังไงก็ได้ให้มันอยู่ควบคู่ไปด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพดีกว่าครับ 

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง เราเห็นศิลปินจำนวนมากออกมาแสดงพลังทางความคิด คุณเชื่อใน soft power แบบนี้ไหม

ใช่ครับ ผมเห็นอยู่ แต่ผมว่ามันไม่ใช่ว่าจะสำเร็จโดยเร็ว แต่มันต้องมีวิธีอื่นที่ช่วยด้วย อย่างเฟซบุ๊คผมซึ่งมีคนติดตามเยอะ ผมก็จะใช้มันเป็นพื้นที่จรรโลงใจ และเพื่อบอกความคิดที่ผมคิดว่ามันน่าจะถูกต้อง นั่นคือสิ่งที่ผมสู้ บางทีถ้าให้ผมลงแรงสู้ ผมอาจต้องกล้าหาญเพื่อคนรักของผม ครอบครัวและแมวน้อยของผม ถ้าผมตายก่อนแล้วใครจะทำตรงนี้ต่อ แล้ววันหนึ่งถ้าผมไม่มีแรง ผมอาจจะอายุสั้น และผมอาจจะช่วยทุกคนไม่ได้มาก ผมจึงต้องมีสติปัญญา ทัศนคติ สันติวิธี แล้วก็ช่วยบอกคนอื่นเพื่อความเปลี่ยนแปลงครับ 

อาวุธของศิลปินคืออะไร ในการจะต่อสู้กับอะไรสักอย่าง 

อาวุธเราก็คือทัศนคติและความคิดครับ ไม่ใช่กำลัง เราอาจเอาเงินไปสู้กับใครไม่ได้ เพราะเราไม่มีอำนาจ ส่วนคนที่มีอำนาจก็ดันไม่มีเงิน เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่จะบงการคนที่มีอำนาจและมีเงินหรือกำลังเยอะๆ ได้ ผมว่าเป็นทัศนคติครับ เพราะฉะนั้นในสงคราม ผมจะเอาชนะด้วยทัศนคติครับ

ภัชรกรณ์ โสตติมานนท์
รับบทสาวเหนือหนีมาฝึกงานที่บ้าน WAY หลงใหลในศิลปะ ภาพยนตร์ ซีรีส์ และของกินแสนอร่อย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า