ERIC CLAPTON: Life in 12 Bars บรรทัดที่สองคอร์ดที่ 4 ของความรักล่มสลาย

Would you know my name
If I saw you in heaven?
Would it be the same
If I saw you in heaven?
I must be strong and carry on
‘Cause I know I don’t belong here in heaven

แต่ไหนแต่ไรมา ผู้ชายถือกีตาร์ฝ่ามรสุมชีวิต ขับกล่อมดนตรีเพื่อคลายทุกข์โศก

– เอริก แคลปตัน

Bar 1

คำถาม ทำไมเราถึงต้องตีตั๋วไปดูชีวิตของนักดนตรีคนหนึ่ง เพราะเขาเป็นนักดนตรีที่บุกเบิกดนตรีบูลส์ให้โด่งดังขึ้นในอังกฤษเป็นคนแรก

เพราะเขาเป็นมือกีตาร์ผู้ได้ฉายาว่า ‘พระเจ้า’

เพราะเขาคือคนที่ทำให้ B.B. King ผู้ให้กำเนิดดนตรีบูลส์ในอเมริกาเป็นที่รู้จัก

คำถามในความเป็นตัวตนของผู้ชายที่ชื่อ เอริก แคลปตัน มีได้สารพัด กระทั่งชายผู้หลงรักเมียของเพื่อนรัก นักดนตรีขี้เมาที่ขาดความรับผิดชอบ กินแต่บุญเก่าจากความโด่งดังในช่วงทศวรรษ 70

และถ้าหากทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่คุณคาดหวังจาก ERIC CLAPTON: Life in 12 Bars คุณอาจจะตีตั๋วเข้าไปแล้วพบว่าทุกสิ่งที่คุณได้ดู หากคุณเป็นคนสนใจแวดวงดนตรีอยู่แล้ว (เกือบสองชั่วโมงครึ่งบนจอภาพยนตร์) แทบไม่มีอะไรใหม่ ทุกอย่างเป็นสิ่งที่คุณ ‘รู้อยู่แล้ว’

ถูกแล้ว เพราะภาพยนตร์สารคดีที่ถ่ายทอดจากชีวิตของมือกีตาร์เจ้าของฉายา ‘Slowhand’ ไม่ได้ฉายภาพฉากชีวิตที่เราๆ ผู้รู้จักแคลปตันให้แตกต่างออกไป แต่สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ ‘กระทำ’ กับเราอย่างรุนแรงและเข้าขั้นสาหัสเอาการ คือการไม่ประประนอมในการเสนอภาพตั้งแต่วันที่ลืมตาดูโลกของเอริกจนถึงวันที่ชีวิตของเขาแทบพังทลายไม่มีชิ้นดี จากการแอบหลงรัก แพตตี บอยด์ (Pattie Boyd) ภรรยาของ จอร์จ แฮร์ริสัน หนึ่งในสมาชิกของคณะสี่เต่าทอง ที่เขาเองก็รู้ว่าเธอก็มีใจให้ กระทั่งทั้งสองมีสัมพันธ์ลึกซึ้ง แพตตีก็ยังเลือกกลับไปยืนเคียงข้างแฮร์ริสัน – ไม่ใช่แคลปตัน แม้ เอริก แคลปตัน จะเป็นคนสนุกสนานร่าเริง เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา ผิดกับ จอร์จ แฮร์ริสัน ที่เย็นชาและไม่ค่อยใส่ใจใคร

แม้เมื่อเอริกจะสู้อุตส่าห์บินข้ามฟ้าจากเกาะอังกฤษไปร่วมตั้งวง ‘Derek and the Dominos’ ที่ฟลอริดาเพื่ออุทิศทุกเพลงในอัลบั้ม Layla and Other Assorted Love Songs (1970) ให้กับแพตตี ก็ยังไม่อาจเปลี่ยนใจเธอ

แพตตี บอยด์ และ จอร์จ แฮร์ริสัน

หากการถูกปฏิเสธรักยังเลวร้ายไม่พอ การเสียชีวิตของตาที่เลี้ยงดูเอริกมากับยาย ต่อเนื่องด้วยการเสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาดของ จิมี เฮนดริกซ์ คู่ปรับและสหายดนตรีบลูส์คนสำคัญ ความรู้สึกของการไม่มีใครในโลกนี้อีกแล้วก็ผลักไสนักกีตาร์อัจฉริยะให้หันเข้าหาเฮโรอีนและเหล้าในลำดับต่อมา

ผลของการติดสุราและเฮโรอีนส่งผลเลวร้ายจนเงาร่างของนักดนตรีผู้ประสบความสำเร็จแทบไม่หลงเหลืออีกแล้วในตัว เอริก แคลปตัน เขากลายเป็นแค่ซากที่ยังมีชีวิตรอวันตายไปวันๆ

Bar 2

12 Bar Blues

ถ้าคุณเป็นนักดนตรี คุณย่อมรู้ดีกว่า Bar คือหนึ่งห้องเพลง หนึ่งห้องเพลงปกติมี 4 จังหวะ ในขณะที่ 12 Bar Blues คือทำนองดนตรีอันเป็นที่นิยมของเพลงบูลล์ เป็นรากของบลูส์ เป็นที่รู้จักเมื่อ เอริก แคลปตัน นำมาใช้เพื่อเป็นการทลายกำแพงเพลงด้วยการเริ่มต้นร่วมวงดนตรีวงแรกในชีวิตที่ชื่อ ‘The Yardbird’

จากชีวิตวันเด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาโดยตายาย ซึ่งถูกทำให้เข้าใจมาตลอดว่าเป็นพ่อแม่ กระทั่งย่างเข้าวัย 9 ขวบถึงได้รู้ว่าคนที่เขาเรียกว่าพี่สาวนั้น ที่จริงคือแม่แท้ๆ เอกริกหันเข้าหาดนตรีด้วยการเริ่มหัดเล่นกีตาร์ด้วยตัวเอง ก่อนจะพบว่าเสียงกีตาร์ช่วยปลอบโยนจิตใจ และดนตรีจากเสียงกีตาร์นี่เองนำเขาขึ้นสู่แถวหน้าของแวดวงดนตรีบูลส์และร็อกแอนด์โรล

‘เซ็กส์ ยา เพลงร็อกแอนด์โรล’ เป็นสามสิ่งที่แทบจะแยกจากกันไม่ขาด เอริก แคลปตัน เองก็ตกอยู่ในวังวนนี้ และภาพยนตร์สารคดี ERIC CLAPTON: Life in 12 Bars ทำมากกว่าแค่ฉายภาพของแคลปตันเพื่อตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ของสาเหตุอื่นๆ ที่ผลักดันชีวิตเขาไปจนสุดขอบ

จวบจนมีลูกชาย ที่จากไปด้วยวัยเพียง 4 ขวบเท่านั้น

แคลปตันจึงได้เรียนรู้เป็นครั้งแรกในชีวิตว่าคนเราสามารถแปรเปลี่ยนความเศร้าให้กลายเรื่องที่ดีงามได้ สามารถที่จะกลับมายืนบนโลกของดนตรีที่เขาเคยปรารถนา “อยากจะตายๆ ไปให้พ้นๆ ซะ!” ในช่วงวัยหนุ่มได้

สิ่งนั้นหาได้สิ่งใดอื่น แต่เป็นดนตรีที่ครั้งหนึ่งเคยปลอบโยนในวัยเพียง 9 ขวบนั่นเอง

Turn Around

ทั้งหมดนี้อย่างที่เกริ่นไป หากไม่ใช่ เอริก แคลปตัน จะมีสักกี่คนที่สนใจเรื่องราวจากวันรุ่นถึงวัยหนุ่มที่พังทลายแทบไม่มีชิ้นดี กระทั่งได้ดนตรีเยียวยาให้กลับมาผงาดได้อีกครั้งในช่วงวัยผู้ใหญ่ เมื่อแคลปตันให้กำเนิดเพลงอย่าง ‘Wonderful Tonight’ ‘Blue Eyes Blue’ และ ‘Tears in Heaven’

และถ้าสมมติต่อไปอีกหน่อย หากเราถอดเอาภาพของ เอริก แคลปตัน ออกไป เหลือไว้แต่ภาพของผู้ชายวัยกลางคนที่ในแววตานั้นมีทุกอย่าง ทุกฉากของบ่อเกิดความเศร้าและความงดงาม…

ใช่หรือไม่ที่เราอาจมองเห็นตัวเอง เห็นเด็กชาย/เด็กหญิงที่บ้านแตกสาแหรกขาด เติบโตขึ้นด้วยความมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง พิสูจน์ให้คนที่เคยทอดทิ้งกลับมาเห็นคุณค่า ซึ่งกว่าจะรู้และตระหนักได้ว่า คนคนเดียวที่เราต้องพิสูจน์ให้ตระหนัก คือเงาสะท้อนในกระจก เราก็อาจสูญเสียทุกอย่างไปจนเกือบหมดสิ้น

และเราก็อาจทำได้แค่เก็บเศษซากที่พังทลายนั้นประกอบสร้างขึ้นมาเป็นตัวเราอย่างผุๆ พังๆ รอวันซ่อมแซมให้กลับคืนมามีชีวิตอย่างสมบูรณ์

ให้ ‘12 Bars Blue’ ได้ Turn Around กลับมาเป็นเพลงที่จะบรรเลงไปจนถึงวันที่ไม่มีน้ำตาบนสรวงสวรรค์ ให้ค่ำคืนของชีวิตได้กลับมางดงาม

It’s late in the evening; she’s wondering what clothes to wear
She puts on her make-up and brushes her long blonde hair
And then she asks me, Do I look all right?
And I say, “Yes, you look wonderful tonight”


ERIC CLAPTON : Life in 12 Bars
Director Lili Fini Zanuck

หมายเหตุ ขอบคุณ นิรัติศัย บุญจันทร์ สำหรับข้อมูลในเรื่องดนตรี และขอขอบคุณสหมงคลฟิล์ม

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า