กับดักประชาธิปไตย…ความหวังในมือคนรุ่นใหม่

เรื่อง/ภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล

 

จบลงไปกับงานเสวนาในวาระคล้ายวันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2561 กับประเด็นหัวข้อ ‘อนาคตประชาธิปไตยไทย: ข้ามพ้น กับดัก ความหวัง?’ โดยเชิญหัวหน้าพรรคและตัวแทนพรรคจาก 4 พรรคการเมือง ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ได้แก่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ จาตุรนต์ ฉายแสง พรรคเพื่อไทย ไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคประชาชนปฏิรูป และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากพรรคอนาคตใหม่ มาร่วมสะสางและแจกแจงให้เห็นว่า ตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทยจนมาถึงห้วงทศวรรษแห่งความขัดแย้งนับจากรัฐประหาร 2549 อะไรบ้างที่เกิดขึ้น? อะไรบ้างที่เป็นกับดัก?

ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจโดย รองศาสตราจารย์ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทิ้งคำถามในช่วงท้ายงานเสวนาไว้ว่า เราจะบอกอะไรคนรุ่นใหม่เพื่อก้าวพ้นกับดักของประชาธิปไตย จะมีหรือไม่มีความหวังอย่างไร จะพูดเช่นไรกับคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นอนาคตของประชาธิปไตยในการเลือกตั้งที่จะมาถึง (หากมี) ในปีหน้า

ก่อนจะไปถึงคำตอบ ขอทบทวนกลับไปยังเหตุและผลที่นำมาสู่การตั้งหัวข้อเสวนาครั้งนี้ ซึ่ง รศ.ชลิดาภรณ์ กล่าวไว้ในช่วงต้นว่า

“เรากำลังเผชิญกับดักชุดใหญ่ ซึ่งถ้าติดตามทั้งสี่ท่านก็คงจะได้เห็นกับดักที่ว่านี้แล้ว วันนี้คงจะมีโอกาสได้ขยายความกับดักที่ว่านี้ ได้แก่ การเมืองแบบแบ่งขั้วที่อยู่กับเรามานานนับทศวรรษ มีการปะทะเป็นความรุนแรงแล้วหลายครั้ง มีการยึดอำนาจรัฐโดยวิธีพิสดารสองรอบแล้ว ขณะนี้กับดักที่ว่านี้ได้คลี่คลายไปหรือไม่ ถ้าให้พูดเร็วๆ ดิฉันว่าไม่คลี่คลาย คนไทยเท่าที่ดิฉันเห็นในโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าท่านจะยืนขั้วไหน ท่านจะน้อยใจไปมาตลอดเวลาที่ไม่เห็นด้วยต่อกัน เพราะฉะนั้นคำถามนี้ ดิฉันคิดว่าเป็นกับดักที่สำคัญ

“ประการที่สอง เป็นโจทย์ใหญ่ ไม่เฉพาะแค่ประเทศไทย คือเรื่องประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน ซึ่งขณะนี้ใช้ไม่ได้แล้ว การเข้าสู่อำนาจด้วยกระบวนการเลือกตั้งและอื่นๆ ในรูปแบบนี้ไม่เวิร์คสำหรับคนรุ่นใหม่ ดิฉันก็ไม่รู้ว่าคนรุ่นใหม่ในประเทศนี้คืออะไร ถ้าคิดเอาจากอายุก็สักประมาณสามสิบลงไป คนรุ่นใหม่ไม่เลือกตั้ง ที่ไม่เลือกตั้งไม่ใช่ว่าโง่ แต่ว่าคนรุ่นใหม่รู้สึกว่าเสียงตัวเองไม่มีที่ทางในกระบวนการเลือกตั้งและอื่นๆ ซึ่งนี่น่าจะเป็นโจทย์ที่สำคัญเช่นเดียวกัน และเราจะหลุดพ้นจากกับดักเหล่านี้ได้อย่างไร”

มองกลับไปยัง 22 พฤษภาคม

ที่มาที่ไปของงานเสวนา อาจารย์ชลิดาภรณ์ชวนให้มองย้อนกลับไปยังสเตตัสบนเฟซบุ๊คของจาตุรนต์ ฉายแสง ที่เขียนไว้เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในวาระครบรอบ 4 ปี รัฐประหาร เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงกับดักที่อาจไม่ได้อยู่คู่กับสังคมไทยและระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่เวลา 16.30 นาฬิกา ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

“คุณจาตุรนต์พูดถึงการมี order การมีระเบียบที่หลายๆ คนอาจรู้สึกว่าขณะนี้ไม่มีความวุ่นวายแล้ว แต่ order หรือความมีระเบียบที่ว่านี้แลกมาด้วยเสรีภาพของประชาชนนั้นประการแรก การที่ไม่เกิดความวุ่นวายต้องแลกมาด้วยการจำกัดสิทธิเสรีภาพในด้านต่างๆ ไม่มีความพยายามใดๆ ในการสร้างความปรองดองในสังคมไทย ไม่มีการศึกษาต้นเหตุความขัดแย้ง ไม่มีการพิจารณาข้อเสนอในอดีต ไม่มีการหารืออย่างเท่าเทียมกับผู้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง สังคมไทยจึงถลำลึกเข้าสู่ความขัดแย้งที่หนักหนากว่าที่ผ่านมา และขณะนี้เราเกิดสภาวะรวยกระจุกจนกระจาย สี่ปีที่ผ่านมาบ้านเมืองเสียหายไปมาก ถ้าเสียหายไปแล้วแลกกับอนาคตของบ้านเมืองที่ยั่งยืนยังพอทำเนา แต่ขณะนี้แลกกับอะไร อย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งนี้เป็นกับดักใช่หรือไม่ เราจึงต้องมาคิดใคร่ครวญกัน” รศ.ชลิดาภรณ์ โยนคำถามแรกให้กับผู้ร่วมเสวนาทั้งสี่

ในฐานะที่ถูกหยิบยืมสเตตัสมาเปิดประเด็น จาตุรนต์ ฉายแสง ตอบคำถามนี้ว่า ที่บอกว่าไม่มีความพยายามในการสร้างการปรองดอง เพราะจริงๆ แล้วไม่มีการพยายามจะแก้ต้นเหตุของความขัดแย้งในอดีต หรือไม่มีแม้แต่จะศึกษาข้อคิด ข้อเสนอของฝ่ายต่างๆ ในอดีตมาพิจารณา และพูดคุยกันอย่างเท่าเทียม เพราะฉะนั้นตรงนี้จึงยังคงเป็นปัญหาอยู่ และจะเป็นกับดักต่อไปในอนาคต

“กับดักที่ว่านี้ไม่ใช่แค่กับดักสำหรับนักการเมืองหรือพรรคการเมือง กับดักที่เราจะเจอต่อไปข้างหน้านี้เป็นกับดักของประเทศไทย และเป็นกับดักที่จะดักการพัฒนาของระบอบประชาธิปไตย ที่สำคัญเรามีกับดักที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคต และมีเงื่อนไขที่ถูกปลูกฝังกันมาตลอด 4 ปีนี้ ว่าสังคมไทยขาดผู้มีอำนาจที่ใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่ได้ ขาด คสช. ไม่ได้ เพราะฉะนั้นในอนาคตเรื่องที่เกิดในอดีตยังไม่มีหลักประกันว่าจะได้รับการแก้ไข อาจจะเกิดการทำผิดกฎหมายมากขึ้นโดยไม่ต้องถูกลงโทษ อาจจะเกิดกลไกทางกฎหมายต่างๆ ของรัฐไม่ปฏิบัติตามหลักการ อาจจะเกิดการร่วมมือของหลายฝ่ายทำให้เกิดเงื่อนไขนำไปสู่รัฐประหาร กับดักในความเห็นของผมจึงอยู่ที่สองเรื่อง คือ หนึ่ง-กับดักต่อการพัฒนาประเทศ สอง-กับดักที่จะนำไปสู่เงื่อนไขความรุนแรง ทำให้เกิดข้ออ้างในการรัฐประหารได้อีกในอนาคต”

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวว่า เราต่างเห็นตรงกันว่าต้องการให้ประเทศกลับคืนสู่วิถีประชาธิปไตย และสามารถรับรองทั้งรูปแบบและสาระของประชาธิปไตยได้ในที่สุด สิ่งที่คุณจาตุรนต์พูดไปว่า ขณะนี้มีกับดักของประเทศที่ถูกวางไว้โดยผู้มีอำนาจในปัจจุบันตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ด้วยวิธีการจำกัดเสรีภาพโดยบอกว่าเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย แล้วกำลังสร้างกลไกต่างๆ เพื่อจะบอกว่าสภาพเช่นนี้อาจจะต้องดำรงอยู่ต่อไปชั่วขณะหนึ่งในการเลือกตั้ง

“ถามว่าเห็นด้วยไหมในส่วนนี้? เห็นด้วย ที่ผมจะขยายความก็คือ การที่จะกลับสู่รูปแบบประชาธิปไตย และการที่จะสามารถรักษาประชาธิปไตยได้ทั้งในรูปแบบและสาระ ก็มีกับดักใหญ่ๆ ตั้งแต่ หนึ่ง-แม้ปัจจุบันเราจะมีรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้แล้ว มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแล้ว โดยเฉพาะกฎหมายลูกที่จำเป็นจะต้องมีก่อนที่จะจัดการเลือกตั้ง แต่กับดักที่หนึ่งขณะนี้คือ บรรดาคำสั่งของ คสช. ทั้งหลายที่ไม่สามารถทำให้ประเทศเดินตามโรดแมปของรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก ซึ่ง คสช. นั่นแหละเป็นผู้กำหนดไว้เอง มีตั้งแต่คำสั่ง คสช. ที่ห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง ไปจนถึงคำสั่ง คสช. ที่ไม่อนุญาตให้ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองได้ตามปกติ อันนี้คือกับดักที่หนึ่ง ทั้งๆ ที่มีการวางโรดแมปไว้ตามตารางต่างๆ แต่การเดินตามโรดแมปยังถูกจำกัดไว้ด้วยคำสั่ง คสช. หลายฉบับ

“กับดักที่สอง คือ แม้เราจะผ่านกับดักตรงนี้ไปแล้ว กระบวนการประชาธิปไตยก็ต้องกลับไปเริ่มต้นที่การเลือกตั้ง แต่กระบวนการเลือกตั้งที่จะทำให้ประชาธิปไตยตั้งต้นได้ คือการเลือกตั้งที่สากลเขาจะใช้คำว่า ‘เสรีและเป็นธรรม’ ของไทยเราจะใช้คำว่า ‘สุจริตและเที่ยงธรรมตามกฎหมาย’ แต่เกิดเครื่องหมายคำถามขึ้นในขณะนี้ว่า เราจะสามารถจัดการเลือกตั้งที่มีมาตรฐานของประชาธิปไตยได้จริงหรือไม่

“ด้วยเหตุผลสำคัญที่เป็นข้อสังเกตใหญ่ๆ 2 ประการ ประการที่หนึ่ง คือ มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดกรรมการการเลือกตั้งไปแล้วครั้งหนึ่ง ทำให้เกิดคำถามว่าคณะกรรมการเลือกตั้งที่จะต้องเป็นผู้รักษาความเป็นธรรมในการเลือกตั้งจะมีความเป็นอิสระและมีความเป็นกลางได้มากน้อยแค่ไหน ประการที่สอง คือ ผู้ที่มีอำนาจในปัจจุบันส่งสัญญาณชัดเจนขึ้นทุกวัน จากเดิมทำตัวเสมือนเป็นกรรมการห้ามมวยและเป็นคนวางกติกา บัดนี้แสดงอาการว่าจะเป็นผู้เล่นด้วย จึงเป็นกับดักที่สองว่า เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งแล้ว การเลือกตั้งจะเสรีเป็นธรรมหรือสุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่

“สมมุติว่าผ่านการเลือกตั้งไปเรียบร้อย เอาเป็นว่าผ่านกับดักที่สองแล้ว กับดักที่สามที่ตามมาก็คือ มีวุฒิสภาที่นั่งกันอยู่ 250 คน โดยไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง แต่มีสิทธิ์ในการลงคะแนนเลือกหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งหมายความว่าจะมีกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถเข้ามามีบทบาทหรือมีอิทธิพลต่อผู้เล่นโดยที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน และสามารถใช้อำนาจนั้นสวนทางกับความต้องการของประชาชนที่แสดงออกผ่านกระบวนการเลือกตั้ง อันนี้เป็นกับดักที่สาม ซึ่งวุฒิสภาจะเคารพการตัดสินใจของประชาชนในวิธีการใดวิธีการหนึ่งหรือไม่ ก็จะเข้าสู่กับดักที่สี่”

“กับดักที่สี่ จะมีสองปัญหา ปัญหาหนึ่งคือ กติกาสูงสุดของประเทศในปัจจุบันคือรัฐธรรมนูญยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตย มีหลายบทบัญญัติซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย หรือการที่ประชาชนสามารถที่จะให้ตัวแทนของเขาใช้อำนาจนั้นตามเจตนารมณ์ของประชาชน ซึ่งก็คือหลักการสูงสุดของประชาธิปไตย และอีกประเด็นที่ว่า วันนี้อย่าว่าแต่เรื่องผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเลย นักการเมืองทั่วโลกที่มาจากการเลือกตั้งปัจจุบัน แม้กระทั่งพรรคการเมือง สถาบันทางการเมือง หรือระบบ/ระบอบการเมือง โดยเฉพาะระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมถูกตั้งคำถามโดยคนรุ่นใหม่ ถูกตั้งคำถามโดยคนที่รู้สึกว่าพื้นที่ยืนในสังคมหรือเศรษฐกิจของเขามีน้อยเกินไป หรือเขาไม่สามารถมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของประเทศ หรือได้ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้จึงทำให้ศรัทธาของกระบวนการประชาธิปไตยของพรรคการเมืองทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

“นอกเหนือจากการที่จะต้องคิดว่าผ่านมาสามกับดัก ถ้าทำได้แล้วกับดักที่สี่จะทำอย่างไรกับตัวรัฐธรรมนูญที่เป็นอุปสรรคอยู่ ควบคู่กับการที่พรรคการเมืองหรือนักการเมืองจำเป็นที่จะต้องหาวิธีกอบกู้ศรัทธาของประชาชน ว่าระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมนี่แหละคือคำตอบของเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตของเขาในอนาคต”

หมุดหมายประชาธิปไตยที่หายไป

ปฏิเสธไม่ได้กับการวางบทบาทพรรคการเมืองในฐานะอนาคตใหม่ ไม่ใช่อนาคตที่อาจจบลงด้วยวังวนแบบเดิมๆ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า เห็นด้วยต่อความเห็นของจาตุรนต์และอภิสิทธิ์ แต่ธนาธรอยากจะพาย้อนกลับไปไกลกว่าวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ไกลกว่าความขัดแย้งในรอบทศวรรษที่ผ่านมา กลับไปยังปี 2475 เมื่อหมุดหมาย (ที่หายไป) ของประชาธิปไตยไทยได้เริ่มต้น

“หลังจากการเปลี่ยนแปลงในปี 2475 มี 24 ปี 310 วันเท่านั้นที่นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน จากระยะเวลาทั้งหมด 86 ปี นับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หรือคิดเป็น 29 เปอร์เซ็นต์ ไม่ถึง 1 ใน 3 ด้วยซ้ำของกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยที่ผ่านมา ถ้าดูให้ลึกกว่านั้นว่าทั้งสองสภาใน 86 ปี มีกี่ปีที่ตัวแทนทั้ง สว. และ สส. มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งพบว่า มีเพียง 5 ปี 222 วันเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นกับดักที่เราพูดถึงจึงไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น นี่คือเรื่องสำคัญที่ผมอยากจะพูด

“ชีวิตผม 40 ปี ผ่านเหตุการณ์ที่มีคนพยายามทำรัฐประหารมาแล้วถึง 5 ครั้ง ประสบความสำเร็จ 3 ประสบความล้มเหลว 2 และใน 5 ครั้งนี้ไม่เคยมีผู้ก่อการรัฐประหารคนใดถูกนำตัวมาลงโทษ มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่ผู้ก่อการรัฐประหารถูกนำตัวมาลงโทษ แต่ไม่ใช่ผู้นำ และถูกนิรโทษกรรมภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้น เวลาเราพูดถึงกับดัก ต้องเข้าใจว่าการทำรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่าของประเทศไทยมีผลอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ถ้าย้อนกลับไปเมื่อราว 50 ปีที่แล้ว นับจากประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ในเวลานั้นเราจะเห็นว่ามาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลี ไทย อยู่ในระนาบเดียวกันของการพัฒนา ผ่านมาถึงวันนี้ มาเลเซียมีรายได้ต่อหัวสูงกว่าเรา 2 เท่า เกาหลีสูงกว่าเรา 4 เท่า สิงคโปร์สูงกว่าเรา 9 เท่า ภายในระยะเวลา 50-60 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเลยว่านี่คือความต่างในเชิงรูปธรรมของผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทย

“นอกจากนี้ เราจะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากรัสเซียและอินเดีย คน 5 เปอร์เซ็นต์ที่มีทรัพย์สินสูงสุดในประเทศไทย มีทรัพย์สินรวมกัน 3 ล้านล้านบาท เท่ากับงบประมาณของประเทศ 1 ปี สำหรับคน 60 กว่าล้านคน และคน 1 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทยมีความมั่งคั่งรวมกันมากกว่าคนอีก 60 กว่าล้านคนที่เหลือรวมกัน

“นับตั้งแต่ 2475 หรือ 86 ปีที่ผ่านมา ถามว่าอะไรฉุดรั้งความเปลี่ยนแปลงความก้าวหน้าของสังคมไทยไว้ ไม่ใช่แค่สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2557 เท่านั้น แต่เป็นกับดักที่วนเวียนมาตั้งแต่ 2475 และผมก็ปวารณาตัวเอง พรรคอนาคตใหม่ปวารณาตัวเองที่จะยุติกับดักเหล่านี้ให้สิ้นสุดในยุคเรา เพื่อที่จะไม่ต้องส่งผ่านอนาคตที่มีการรัฐประหารทุก 8 ปี ทุก 10 ปี ไปให้ลูกหลานเรา โลกปัจจุบันหมุนเร็วมาก เพียงแค่จะตามโลกให้ทัน หรือรักษาสถานะแห่งที่ของสังคมไทยในเวทีโลกได้ เราต้องหมุนเร็วเท่าโลก ถ้าคุณอยากจะรักษาประเทศไทย คุณต้องวิ่งให้เท่ากับความเร็วโลก ไม่ต้องพูดถึงการแซงโลก ซึ่งระบบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยย่อมตามไม่ทัน ดังนั้น ผมยังยืนยันว่าทางออกเดียวของสังคมไทยคือ การนำสังคมไทยกลับมาเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภาอีกครั้ง”

จากนั้น อาจารย์ชลิดาภรณ์ตั้งคำถามต่อไปว่า กับดักตั้งแต่ปี 2475 ที่ธนาธรกล่าวถึงคืออะไรแน่ คำตอบของอนาคตใหม่คือการรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า คือการที่คนกลุ่มน้อยต้องการที่จะรักษาสถานภาพทางอำนาจและเศรษฐกิจของตนเอาไว้ คนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้พยายามจะฉุดรั้งสังคมไว้ไม่ให้ก้าวไปข้างหน้าผ่านกระบวนการรัฐประหาร

คำตอบของทั้งธนาธร อภิสิทธิ์ และจาตุรนต์ ที่ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยยังคงติดกับดักจากการรัฐประหาร นำไปสู่คำถามต่อผู้ร่วมเสวนาอีกคน ไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ซึ่งสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2557

ส่วนหนึ่งของกับดัก

“ขออนุญาตเรียนถามตรงๆ คุณไพบูลย์ฟังทั้งสามท่านแล้วรู้สึกหรือไม่ว่า ตัวเองคือส่วนหนึ่งของกับดัก?” อาจารย์ชลิดาภรณ์ยิงคำถาม

ไพบูลย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป กล่าวในเบื้องต้นว่า เมื่อฟังจากทั้งสามคนไปแล้ว ตนเองเป็นเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่ควรจะตอบ เนื่องจากมุมมองของตนไม่เหมือนกับทั้งสามตัวแทนพรรคการเมืองที่ได้พูดไปแล้ว

“จากประเด็นที่ว่าอนาคตประชาธิปไตยจะมีความหวังหรือไม่ ตัวตั้งก็คือประชาธิปไตย ถ้าเป็นบุคคลคนหนึ่งก็คือนายประชาธิปไตยจะต้องข้ามพ้นกับดัก แล้วกับดักคืออะไร ก็คือกับดักที่บอกว่าจะทำให้นายประชาธิปไตยไม่ได้เติบโตขึ้น แล้วเราจะมีความหวังไหมว่าจะข้ามพ้นกับดัก

“สำหรับผมอายุอาจจะต่างจากคุณธนาธร ดังนั้น ผมเลยไม่กล้าย้อนไปไกลมาก ของคุณธนาธรย้อนไป 2475 ของผมก็ขอย้อนไปแค่ปี 2551 หรืออาจจะปี 2549 ก็ได้ โดยเฉพาะช่วงก่อนเกิดรัฐประหาร ที่ผมต้องยกตรงนั้นก็เพราะว่าผมเข้าไปสู่การรับรู้ทางการเมืองในฐานะที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา

“ในช่วงปี 51 ตอนเป็น สว. ครั้งแรกก็เจอเรื่องราวความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเรื่องการเคลื่อนไหวของประชาชน หรือจะเรียกในตอนนี้ว่านักเคลื่อนไหวก็สุดแล้วแต่ ทั้งหมดในตอนนั้นเกิดจากวาทกรรมการเมืองแบ่งขั้ว ซึ่งตอนนั้นพวกเราเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า ถ้าเราเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยอันสมบูรณ์แล้ว ชอบอย่างนั้นใช่ไหม มีความชุลมุนวุ่นวายกันตลอด มีการกล่าวหาว่า สส. ทำมาหากิน จนกระทั่งเป็นตัวแทนของประชาชน ประชาชนใช้สิทธิ์แค่ 4 วินาที จากนั้นตัวแทนก็รับมอบอำนาจ สัมปทานอำนาจมา แล้วก็มาทำธุรกิจคอร์รัปชัน หาผลประโยชน์ ทุกวาจาก็อ้างว่าเป็นประชาชน ทุกวาจาก็อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย ถ้าจะถามว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่เราโหยหา ผมก็จะบอกว่าหาข้างหน้าไม่เจอหรอกครับ ไม่เจอเพราะว่าช่วงเวลาจากปี 57 จนมาถึงปัจจุบันนั้นได้วางกลไกที่จะป้องกันไม่ให้กลับไปสู่แบบเก่าอีกแล้ว เราจะต้องมีประชาธิปไตยในอีกมิติหนึ่ง”

ณ จุดนี้ รศ.ชลิดาภรณ์ กล่าวแทรกเพื่อความเป็นธรรมกับผู้เข้าร่วมเสวนาอีกสามคนว่า ไม่มีสักคนที่พูดว่าอยากจะย้อนกลับไปก่อนปี 2557 กระทั่งในช่วงปี 2549 แต่ทั้งสามคนต่างมองไปข้างหน้าเหมือนๆ กัน ขณะที่ไพบูลย์แย้งด้วยการยกคำพูดของธนาธรมากล่าวต่อว่า

“ผมเห็นคุณธนาธรพูดถึงปี 57 พูดถึงเผด็จการ พูดถึงสถิติว่าจะต้องมีการลงโทษอะไรต่างๆ ผมไม่ได้เห็นว่ามันไปข้างหน้าเลย ข้างหน้ายังไม่มีเผด็จการเลยนะครับ”

“เมื่อสักครู่คุณอภิสิทธิ์พูดว่าอยากเห็นประชาธิปไตยในรูปแบบและสาระนะคะ” รศ.ชลิดาภรณ์ บอก

“อ้าว ถ้าอย่างนั้นยกเว้นท่านอภิสิทธิ์นะครับ” ไพบูลย์พูด

“เป็นแบบนี้อาจไม่ค่อยดีนะคะ” รศ.ชลิดาภรณ์ อธิบาย

“งั้นยกเว้นคุณจาตุรนต์ด้วย” ไพบูลย์ตอบ แล้วกล่าวขอบคุณชลิดาภรณ์ในการทักท้วง ก่อนจะเข้าสู่ประเด็นเรื่องกับดักในมุมมองของพรรคประชาชนปฏิรูปต่อไปว่า เราอยากจะได้ประชาธิปไตยแบบใหม่ เพราะมีความหวัง ถ้าไม่มีความหวังคงไม่มาตั้งพรรคประชาชนปฏิรูปขึ้นมา

“เหตุผลที่ผมเข้ามาสู่การตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป เพราะผมเห็นโอกาส โอกาสที่เกิดขึ้นในปี 2557 และก็มีผลต่อเนื่องจนมีรัฐธรรมนูญปี 60 ผมอยู่ในส่วนที่รับรู้ถึงปัญหา รับรู้ถึงปัญหาในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งเราคิดว่ากลไกที่ออกแบบไว้เป็นกลไกแบ่งช่วงของการเปลี่ยนผ่านเพื่อนำไปสู่การไม่ย้อนกลับไปก่อนปี 57 ซึ่งในมิติของผมก็คือ 5 ปีแรกนับจากมีวุฒิสภาชุดแรก ผมเป็นอดีตวุฒิสภา เราเข้ามาในปี 51 มี สว. 150 คน เป็น สว.สรรหา 77 คน เราสร้างมิติใหม่ของรัฐสภาคือเป็นตัวถ่วงดุลในรัฐสภา แต่ว่าถ่วงไม่ได้ เพราะมีนิดเดียว จนกระทั่งเกิดปัญหาลุกลามกันไปมากมาย จนปี 57 เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้น ผมก็มีส่วนในเรื่องที่ทำให้เกิดขึ้น ทั้งไปชุมนุม ทั้งไปยื่นฟ้องอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ แต่ถามว่าผมอยากให้มีการรัฐประหารไหม ผมไม่ได้อยาก”

บรรยากาศในห้องประชุมเกิดเสียงโห่ขึ้นชั่วครู่ ไพบูลย์รีบตัดบทว่า “พวกท่านคงไม่เชื่อว่าผมไม่ได้อยากให้เกิดการรัฐประหารใช่ไหม” ก่อนจะกล่าวต่อว่า “นี่แหละคือสิ่งที่ผมชอบมากในตอนที่ท่านอาจารย์พูดเรื่องการเมืองแบบแบ่งขั้ว ถ้าเกิดท่านยังมีทัศนคติว่าหน้าอย่างนี้จะต้องเผด็จการ จะต้องอำนาจนิยม ชอบทหาร จะต้องอย่างนู้นอย่างนี้ ท่านจะไม่ฟังในสิ่งที่ผมพูดเลย”

“สิ่งที่ผมจะพูดก็คือ ข้างหน้าต่อไปนี้เรามุ่งหวังว่าประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้นควรจะน้อมนำเอาหลักธรรมาธิปไตยของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติด้วย เหตุผลที่ผมต้องยกขึ้นมาก็คือว่า อนาคตของประชาธิปไตย ถ้าจะข้ามพ้นจากกับดักต้องประกอบไปด้วยหลักธรรมาธิปไตย แล้วก็อยากจะให้สังคมสงบ ไม่มีความวุ่นวาย การใช้สิทธิเสรีภาพนั้นสามารถทำได้ภายใต้กฎหมาย อยากให้สังคมไทยหลังการเลือกตั้งเป็นสังคมที่นำไปสู่การมีนิติรัฐที่ดีมากขึ้น ก็มีความหวังว่าถ้าเป็นอย่างที่ว่า เรายังหวังว่าประเทศไทยจะไปได้ในมิติที่ท่านอยากจะหวัง แต่ผมยืนยันอยู่อย่างเดียว ไม่มีอะไรมาทำลายประเทศไทยได้หรอกครับ ทุกอย่างประเทศไทยยังเดินหน้าต่อไปได้ ไม่มีใครมีความสามารถขนาดทำร้ายประเทศไทยที่เป็นที่รักของเราได้ ดังนั้น ขอให้มั่นใจในความเป็นคนไทย มั่นใจในความเป็นประเทศไทย เราจะนำพากันจนนำไปสู่สิ่งที่ดีได้ ขอบคุณครับ”

ทางรอดของกับดักในมือคนรุ่นใหม่

มาสู่คำตอบจากคำถามที่ชลิดาภรณ์ถามเพื่อปิดท้ายเสวนา จาตุรนต์ให้คำตอบไว้ว่า คนรุ่นใหม่จะเป็นพลังสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่า “ประชาธิปไตยไม่ใช่วิธีการ แต่คือจุดหมาย และอย่าคิดว่าไม่ใช่เรื่องของฉัน”

“เราพูดไปไม่น้อยว่า ทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญ เราจะแก้อย่างไร แล้วถ้าไม่แก้จะเป็นอย่างไร ถ้าไม่แก้สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ความขัดแย้ง ความเสียหาย ความล้าหลัง รัฐบาลไม่ตอบสนองความต้องการประชาชน ประเทศปรับตัวไม่ได้ เสียหายต่อคนทั้งประเทศ ฉะนั้น พลังสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมีอยู่หลายส่วนด้วยกัน คือ หนึ่ง-พลังส่วนที่ผ่านประสบการณ์ของการเรียนรู้ว่า การเลือกตั้ง รัฐสภา ระบบแบบนี้มีประโยชน์ต่อเขาอย่างไร จะทำให้คนเหล่านี้ได้กลับมาทบทวนแล้วเปรียบเทียบสภาพการณ์ สอง-พลังส่วนที่เรียนรู้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการปกครองโดยเผด็จการช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สาม-พลังส่วนที่เรียนรู้จากกับดักที่จะเกิดขึ้น เรียนรู้ว่าข้างหน้าจะเจออะไร สิ่งต่างๆ ที่กำหนดไว้จะเสียหายอย่างไร

“คนที่จะรับภาระหนักที่สุดคือคนรุ่นใหม่ในวันนี้ รุ่นปัจจุบันก็รับภาระไปตามอายุขัย และคนรุ่นใหม่ไม่ควรคิดว่า ‘นี่ไม่เกี่ยวกับฉัน’ ในประเทศไทย 10 กว่าปีมานี้ ได้ผ่านสภาพทางการเมืองที่ไม่ปกติ เผด็จการ ไร้หลักนิติธรรมมาตลอด จึงต้องมีการทำความเข้าใจและทำให้เกิดการเรียนรู้และตระหนักว่า ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยทั้งหมด กำลังส่งผลต่อคนรุ่นใหม่มาก และคนรุ่นใหม่จะเป็นพลังสำคัญ เพราะเขาอยู่กับโลกสมัยใหม่ เขาอยู่กับการมีอาชีพแบบใหม่ ทั้งหมดนี้จึงขัดแย้งกับระบบที่ คสช. และพวก วางไว้อย่างรุนแรงที่สุด

“การจะแก้ปัญหาประเทศได้ต้องอาศัยกลไกสำคัญคือ ระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทย 4 ปีมานี้บทเรียนสำคัญก็คือ ประชาธิปไตยไม่ควรเป็นแค่วิธีการ แต่ควรเป็นจุดมุ่งหมายในตัวของมันเองด้วย”

ขณะที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน วางตำแหน่งแห่งที่ของคนรุ่นใหม่ไว้ที่วลีว่า “อย่าตกเป็นเครื่องมือใคร ทำประชาธิปไตยใกล้ตัว”

“คนรุ่นใหม่เป็นคนอายุน้อย ผมอยากให้คนรุ่นใหม่พยายามทำความเข้าใจ เรียนรู้ว่า เราอย่าตกเป็นเครื่องมือของใคร ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ดี ผมชอบประชาธิปไตยตรงที่ส่วนดีที่สุดคือ มีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น เราแสดงความเห็นต่างกันได้ เราแลกเปลี่ยนกันแล้วเข้าใจกันได้ ถ้าคนรุ่นใหม่มีความรู้สึกอย่างนี้ ท่านจะทำในส่วนของระดับชาติก็ทำได้ แต่ในทัศนะผม ผมก็คิดว่าควรเริ่มต้นในส่วนที่ท่านอยู่ ในสังคมของท่าน ท่านต้องเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมโดยตรง ต้องร่วมในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในเครือข่ายของท่าน อย่ามัวแต่เรียกร้องระดับชาติเท่านั้น ท่านต้องทำในระดับใกล้ชิดกับตัวท่านด้วย ท่านกำลังสร้างความมีส่วนร่วม เวลามีความขัดแย้ง ขอให้ระลึกเสมอว่า ต้องรับฟังความคิดคนอื่น แต่ไม่ใช่เชื่อไปหมด ถ้าท่านทำก็ช่วยประเทศได้แล้ว

“ผมหวังว่าวัฒนธรรมของไทยไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สุดโต่ง ที่สำคัญคือ แม้กระทั่งบนเวทีนี้จะพูดถึงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งหลาย ผมยืนยันว่าหลังเลือกตั้ง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นความสวยงาม ไม่เสียหายตรงไหน แต่ทั้งหมดขอให้จบแค่คำพูดที่แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน อย่าถึงขนาดไปหยิบรองเท้าผ้าใบไปต่อสู้กันบนท้องถนนอีก มันเป็นความท้าทายของคนรุ่นใหม่ด้วย เพราะพรรคการเมืองทุกพรรคจะเปลี่ยนแปลงแล้วเข้าหาท่านอย่างไม่เคยปรากฏ ท่านก็ศึกษาแล้วรับฟังความเห็น”

ทางด้าน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มองคนรุ่นใหม่ในฐานะตัวแปรที่สำคัญในการนำพาประชาธิปไตยหลุดพ้นจากกับดักเดิมๆ ด้วยการชักชวนคนรุ่นใหม่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

“ขอให้คนรุ่นใหม่ทุกคนลบคำสบประมาทด้วยการไปเลือกตั้ง ผมมองว่าคะแนนเสียงของคนรุ่นใหม่จะมีโอกาสเป็นตัวแปรมากที่สุดที่จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลง ก้าวพ้นกับดักเดิมๆ ในประวัติศาสตร์ของเกือบทุกสังคม เมื่อความขัดแย้งฝังตัวลึกลง เกิดการแบ่งขั้ว มันจะไม่หลุดพ้นจนกว่าจะมีคนอีกรุ่นมาช่วยกรุยทางออกให้สังคมนั้น พวกเราต้องเป็นผู้แบกรับภาระอนาคตมากที่สุด อย่าปล่อยโอกาส สิทธิ์ที่มีอยู่แม้ไม่สมบูรณ์ ก็ต้องใช้มันให้เป็นประโยชน์มากที่สุด”

ในฐานะของผู้นำพรรคอนาคตใหม่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ บอกว่า คนรุ่นใหม่จะต้องทำลายมายาคติว่าด้วยความวุ่นวาย การชุมนุม ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย และแม้ว่าในความเป็นจริงประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดในโลกก็ยังคงมีการคอร์รัปชัน แต่ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบเดียวที่มีการออกแบบให้มีระบบในการตรวจสอบและพิจารณาเอาผิด ขณะที่ระบอบเผด็จการไม่มีสิ่งนั้น

“สิ่งที่อยากสื่อสารกับคนรุ่นใหม่คือ ความสงบในทุกวันนี้เกิดขึ้นเพราะมีปืนจ่อหัว เราต้องเรียก คสช. ด้วยนามที่เป็นจริง คือ ‘เผด็จการ’ ทุกวันนี้เรามีคนหนุ่มสาวมากมาย มีคนแสดงความเห็นต่างมากมายถูกดำเนินคดีแล้ว อยู่ในคุกแล้ว คนไปตรวจโกงอุทยานราชภักดิ์ก็โดนดำเนินคดี ไหนใครบอกว่าเกลียดการคอร์รัปชัน การลุแก่อำนาจเป็นที่สุด แต่นี่แหละคือการใช้อำนาจโดยไม่ตรวจสอบอย่างแท้จริง แม้แต่การไปแสดงความเห็นของตัวเองว่าอยากเลือกตั้งก็ติดคุก นี่เป็นสังคมที่เราอยากได้หรือเปล่า ต้องพูดให้ชัดว่ามีกรณีแบบนี้เกิดขึ้น และนี่คือต้นทุนของประเทศ สิทธิเสรีภาพของประชาชนคือต้นทุนของประเทศ ประเทศจะก้าวหน้าได้อย่างไรถ้าประชาชนไม่สามารถแสดงความเห็นได้

“กับดักที่สำคัญคือ ทุกคนพูดแต่เรื่องความวุ่นวาย ผิด! การชุมนุมบนถนนไม่ใช่ความวุ่นวาย แต่เป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ทุกประเทศมีการชุมนุมเต็มไปหมดและไม่เกิดความวุ่นวาย เราต้องไม่ติดกับดักนี้ บ้านเมืองไปข้างหน้าได้แม้มีการชุมนุมก็ตามที ทำไมต้องพูดถึงกับดักนี้ เพราะเราถูกชนชั้นนำทำให้เชื่อเสมอว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการเมืองบนถนน ไม่ใช่! ความขัดแย้งเกิดขึ้นมาเพราะคนที่ชุมนุมบนถนนต้องการผลักสังคมไปสู่ทางตัน เพราะรู้ว่าทหารจะออกมา นี่ต่างหากคือปัญหา ไม่ใช่การชุมนุมบนถนนโดยตัวมันเอง กับดักที่สอง คือกับดักเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ประเทศไทยมีไหม มี ยอมรับ ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดในโลกก็มีเหมือนกัน แต่หนึ่งอย่างที่พิสูจน์มาแล้วคือ ยิ่งมีประชาธิปไตยมากเท่าไรยิ่งมีคอร์รัปชันน้อยลง นี่เป็นกับดักที่บอกว่านักการเมืองเลว เป็นกับดักให้คนที่มีอำนาจแทรกแซงประชาธิปไตย วิธีการแก้ปัญหาคือ ต้องอัดฉีดประชาธิปไตย ความโปร่งใส ความใกล้ชิดยึดโยงกับประชาชนมากขึ้นต่างหากจึงจะแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้

“สุดท้าย ยุคสมัยนี้เป็นยุคแห่งความเป็นไปได้ เพราะเรามี 3 อย่างที่ยุคก่อนหน้าไม่มี หนึ่ง-เทคโนโลยีที่เปิดโอกาสให้เราเข้าถึงคนหมู่มากได้ โดยไม่ต้องผ่านช่องทางแบบเดิม สอง-สังคมปัจจุบันอยู่ในสถานการณ์มืดมิดถึงขีดสุด ประชาชนเอือมระอาเต็มที สาม-เราอยู่ในยุคสมัยใหม่ที่การเคลื่อนตัวของโลกไปเร็วกว่าสิ่งที่พยายามฉุดรั้งให้สังคมล้าหลัง ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมครั้งนี้ที่จะทำให้การทำรัฐประหารเป็นอดีตและไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคตเป็นไปได้ สิ่งที่ทำให้เราเดินทางมาอยู่ในสภาพทุกวันนี้ได้เพราะเรายอมจำนนกับความอยุติธรรม จนมันกลายเป็นสิ่งปกติ ผมขอเชิญชวนว่าอย่ายอมจำนน แม้เพียงสักครั้งหรือแม้ว่าความอยุติธรรมนั้นเกิดกับคนอื่น เพราะถ้าปล่อยให้เกิดกับคนอื่นได้ก็จะกลายเป็นสิ่งปกติ เราต้องทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นกับคนทุกคน” ธนากรกล่าว

คำตอบของงานเสวนาจบลง แต่คำตอบของอนาคตประชาธิปไตยยังคงรออยู่…ที่คูหาเลือกตั้ง

ทั้งหมดนั้น อยู่ที่เราทุกคนจะเลือกก้าวพ้น หรือพาตัวเองหวนไปสู่กับดักอีก

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า