ครูหนุ่มสาวในระบบเฒ่าชรา

เรื่อง: พีระพัฒน์ สวัสดิรักษ์
ภาพ: Documentary Club

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การศึกษาไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับท้ายๆ ของอาเซียน แน่นอนว่าภาพเช่นนี้ก็ถูกฉายซ้ำในการจัดอันดับการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับโลกด้วย จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หลายภาคส่วนหันมาตั้งคำถามเกี่ยวกับการศึกษาในระบบของไทย ร่วมสืบค้นต้นตอของปัญหา ถกเถียงแลกเปลี่ยนระบบการศึกษาไทยให้ก้าวหน้าเทียบชั้นกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

เทศกาลหนัง ‘การศึกษา’ ในงาน Doc+Talk ก็นับเป็นส่วนหนึ่งที่เปิดพื้นที่ให้ผู้สนใจเข้ามาชมหนังสารคดีคุณภาพสี่เรื่อง และพบกับห้าวงสนทนาเข้มข้น โดยการร่วมมือกันของ Documentary Club และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 10-11 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา

วงเสวนา ‘ครูหนุ่มสาวในระบบที่เปลี่ยนแปลงช้า’ คือวงเสวนาวงแรกที่จัดขึ้น หลังจากการฉายหนังสารคดีเรื่อง School Life จบลง ครูหนุ่มสาวจากทั้งโรงเรียนประถมและโรงเรียนมัธยมมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิด ประกอบไปด้วย ครูปราศรัย เจตสันต์ (ครูโอ) ครูวิชาสังคมศึกษา จากโรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม, ครูพัชรากร วรรณจงคำ (ครูปอย) ครูวิชาสุขศึกษา จากโรงเรียนราชวินิตมัธยม, ครูวจิรา วรเกต (ครูตอง) ครูวิชาคณิตศาสตร์ จากโรงเรียนราชวินิตประถมบางแค และดำเนินรายการโดยผู้คร่ำหวอดในวงการการศึกษา ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล หรือ อาจารย์ฮูก คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แรงบันดาลใจที่ทำให้เป็นครู

ครูโอ ผู้เริ่มอาชีพครูได้ไม่นานเริ่มเล่าเรื่องของตัวเองก่อน ครูโอสารภาพว่าเข้ามาเป็นครูเพราะหลงใหลตั้งแต่ได้ทดลองสอนก่อนจะเข้ามารับราชการ ได้พบครูพี่เลี้ยงที่ใส่ใจ นักเรียนน่ารัก รู้สึกโอเคกับระบบ และด้วยความที่ถูกโฉลกกับนักเรียนและการออกแบบกิจกรรม ทำให้คิดถึงความเป็นไปได้ต่างๆ ว่าจะทำอะไรได้บ้างในโรงเรียน ตอนนั้นมีไฟมาก แต่ก็ยังไม่ได้มองภาพในระบบราชการ ครูโอทิ้งท้ายไว้ว่า “ถ้าอาชีพครูคืออยู่กับเด็ก enjoy กับเด็ก ก็คิดว่าน่าจะทำอาชีพนี้ได้”

อีกด้านหนึ่ง จากนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์การกีฬาสู่การเป็นครู ครูปอยเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาว่าแท้จริงแล้วไม่ได้อยากเป็นครูตั้งแต่แรก เพราะรู้สึกว่าการเป็นครูนั้นเหนื่อยและหนัก จากคำบอกเล่าของญาติที่เป็นครู

“แรกๆ ที่เข้ามารู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองว่าจะทำอาชีพนี้ได้ ด้วยความที่ไม่เคยสอนนักเรียนมาก่อนก็ประหม่าเหมือนกัน แต่พอเข้ามาอยู่ตรงนี้มีความรู้สึกว่าเด็กน่ารัก เด็กสนใจที่จะเรียน ให้ความร่วมมือ เด็กจริงใจกับเรา ถ้าวันนี้เราดุเด็กไป อีกคาบหนึ่งที่เจอกันก็ไม่ได้โกรธเรา ไม่เหมือนผู้ใหญ่ที่บางทีต่อหน้าทำอย่างหนึ่ง แต่ลับหลังก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง”

ภาระหน้าที่ของความเป็นครู

จากความเข้าใจแรกว่าอาชีพครูคือสอนหนังสือ ได้อยู่กับเด็ก มีโอกาสเตรียมการสอน สามารถออกแบบกิจกรรมได้ตลอดเวลา นั่นคือสิ่งที่ครูโอเข้าใจก่อนจะมาเป็นครู

ครูโอเล่าต่อว่า พอมาทำงานจริงๆ เป็นครูในระบบราชการของโรงเรียนรัฐ จึงรู้ว่ามีภาระหน้าที่และความรับผิดชอบอื่นๆ ค่อนข้างเยอะมากกว่าที่คนภายนอกจะรับรู้ เช่น การดูแลนักเรียน ซึ่งโรงเรียนใหญ่ๆ ในประเทศไทยมีสัดส่วนครูหนึ่งคนต่อนักเรียนประมาณ 50 คน ถ้าสอนหลายห้องก็ต้องดูแลให้ถ้วนทั่วกันไป

อีกส่วนหนึ่งคือต้องใช้ชีวิตอยู่กับระบบของงานโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นงานหลักสูตร งานแผนงาน งานปกครอง ตรวจตราความเป็นระเบียบเรียบร้อย ดูแลเรื่องตึก ความสะอาด แล้วยังมีภารกิจอื่นๆ อีก อย่างงานคณะสี หัวหน้าระดับ หัวหน้างานประชาธิปไตย จัดกิจกรรมกับเด็ก ทำพัสดุบ้าง ทำการเงินบ้าง

ทั้งที่ความจริงแล้วมีบุคลากรดูแลงานเหล่านี้อยู่จำนวนหนึ่ง แต่ด้วยขนาดของโรงเรียน จำนวนนักเรียนกับสัดส่วนของครูและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ มันไม่ได้สอดคล้องกัน ทำให้งานจำนวนมากมาเทที่ครู อาชีพครูจริงๆ ที่อยู่กับนักเรียน ก็แค่เวลาอยู่ในห้อง ที่เหลือคือการทำกิจกรรมกับโรงเรียน

และส่วนใหญ่ เมื่อพูดถึงปัญหาการศึกษา เรามักจะมองข้ามหรือละเลยในรายละเอียดเรื่องชีวิตส่วนตัวของคุณครู

ครูโอเล่าว่า ปัญหาที่ต้องเจอคือไม่มีเวลาในชีวิตส่วนตัวของตัวเอง เพราะนอกจากการอบรมและสัมมนาที่ต้องเจอบ่อยอยู่แล้ว ยังต้องแบ่งเวลาไปคุมสอบอีกมากมาย ทั้ง O-NET GAT PAT เก้าวิชาสามัญ สอบ กสพท. แล้วปัญหาส่วนตัวของครูก็จะมากระทบกับการทำงานในโรงเรียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การปรับตัวเข้ากับระบบ

ครูโอแนะนำแนวทางที่น่าสนใจหลังจากเริ่มเข้าอกเข้าใจระบบมากขึ้นว่า ในฐานะของครูรุ่นใหม่ จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยึดมั่นไว้อยู่เสมอคือการจัดการเรียนรู้กับเด็ก ถ้าไม่ทิ้งตรงนี้ก็จะพบว่าความสุขของการเป็นครูยังอยู่

การจัดสรรงานอื่นๆ ต้องพึ่งพาเพื่อนร่วมงานที่ดี สร้างทีมครูในโรงเรียนหรือต่างโรงเรียนก็ได้ งานบางงานไม่สามารถทำเสร็จได้ด้วยตัวคนเดียว แต่ถ้าหากแบ่งงานกันหรือช่วยเหลือกัน จะทำให้จัดการกับงานได้ง่ายขึ้น ทีมเวิร์คของครูจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ระยะหลังนี้เป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายของอาจารย์ที่บรรจุเมื่อปี 2500 จะเกษียณหลายคน แล้วครูรุ่นใหม่ที่เข้ามาก็มีจำนวนมาก เป็นโอกาสดีที่ครูหลายคนจะได้เปลี่ยนแปลงวิธีสอนจากวิธีการเดิมๆ เป็นวิธีใหม่ ครูที่เข้ามาใหม่ก็ทำให้พวกเขาจับกลุ่มกันได้ง่ายขึ้น ทำให้ต่องานหรือพัฒนาทักษะครูร่วมกันได้

ประถม มัธยม กับความแตกต่าง

เป็นการทำงานเข้าปีที่แปดแล้วสำหรับครูตอง ครูวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งก่อนหน้าที่เคยเป็นครูในโรงเรียนมัธยมที่จังหวัดสุรินทร์ ครูตองพูดถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ต้องเลือกระหว่างการสอบราชการ ว่าจะสังกัดในโรงเรียนประถมหรือโรงเรียนมัธยม

“เธอจบโรงเรียนอะไรมา” “ทำไมมีพื้นฐานแค่นี้”

ครูตองเล่าต่อไปว่า ครูมัธยมมักจะตั้งคำถามดังเช่นสองประโยคข้างต้น และเมื่อไหร่ที่เห็นปัญหาของเด็ก มักจะโยนความผิดไปที่คนอื่นเสมอ โดยลืมกลับมามองการสอนของตัวเอง จึงเลือกที่จะหาคำตอบด้วยตัวเองโดยไปสอนโรงเรียนประถม

ปัญหาที่พบคือครูมัธยมไม่ได้สนใจว่าเด็กมีเครื่องมืออะไรติดตัวมา คำถามควรเปลี่ยนจาก “เด็กจบโรงเรียนอะไรมา” เป็น “เด็กมีเครื่องมืออะไรติดตัวมา” แล้วนำไปสู่กระบวนการถัดไปคือ “จะต่อยอดการพัฒนาของเด็กอย่างไร”

จากประสบการณ์ครูตองพบว่าครูประถมต้องทำงานหนักกว่าครูมัธยม ส่วนหนึ่งเพราะครูประถมต้องรับผิดชอบวิชาอื่นๆ ที่ไม่ใช่วิชาหลักของตัวเอง แต่ปัญหานี้แก้ไขได้โดยให้ครูวิชาเอกมาสอนครูท่านอื่นๆ

อีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ครูประถมต้องทำงานอย่างหนัก ก็คือการปูพื้นฐานให้นักเรียน เช่น การสร้างความหมายเชิงจำนวน ซึ่งเป็นทักษะการสอนที่ยากมาก ดังนั้นครูที่สอนเด็ก ป.1 ต้องสอนเก่ง มีทักษะที่เยี่ยมยอด การให้ครูประสบการณ์น้อยมาสอนเด็กเล็กๆ นั้นเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง

ความท้าทายในโรงเรียนประถม

แน่นอนว่าระบบของโรงเรียนประถมกับโรงเรียนมัธยมนั้นแตกต่างกัน แรกๆ ที่ครูตองเข้ามาสอนโรงเรียนประถมจึงต้องรู้จักปรับตัว โดยเฉพาะนโยบายบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงกะทันหัน เป็นสิ่งที่ครูตองบอกว่ารบกวนการสอนเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ครูตองยังพบกับโจทย์ใหม่ที่ไม่เคยเจอในโรงเรียนมัธยม เช่น แม่ของนักเรียนคนหนึ่งโทรมาขอให้ดูลูกของตัวเองหลังเลิกเรียน ด้วยความกังวลว่าฝ่ายพ่อจะมารับเด็กไป เพราะพ่อกับแม่เพิ่งจะแยกทางกัน เมื่อเจอโจทย์แบบนี้ก็ทำเอามึนงงไปพักหนึ่ง ก่อนจะตั้งคำถามว่า ‘นี่มันงานของครูด้วยเหรอ’

ขยับเข้ามาโฟกัสเรื่องการเรียนการสอน ด้วยความที่โรงเรียนมีความหลากหลายมาก และเด็ก 80 เปอร์เซ็นต์ยังไม่มีพื้นฐานพร้อมเรียนรู้ ทำให้ครูตองต้องเก็บข้อมูลของเด็กเป็นรายบุคคล เพื่อลงลึกในรายละเอียด รับรู้ปัญหาของเด็ก จนนำไปสู่การหาทางแก้ไขและพัฒนาเด็กต่อไป

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือการพบเด็กคนหนึ่งที่เข้าห้องเรียนแล้วมักฟุบหลับไปกับโต๊ะตั้งแต่เช้า สืบทราบในภายหลังว่าเด็กต้องตื่นตั้งแต่ตี 3 เพื่อไปซื้อของมาขายในบ้านที่เป็นร้านขายของชำ แต่การหลับในชั้นเรียนเช่นนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กไม่อยากเรียน ดังนั้นเมื่อเป็นครูประจำชั้น ป.6 ก็ต้องรีบขอข้อมูลจากครูประจำชั้น ป.5 ก่อนที่เด็กจะเลื่อนชั้นขึ้นมา ต้องสำรวจล่วงหน้า เพราะเด็กจะมารอให้ครูปรับตัวทีหลังไม่ได้

เพศที่สามกับความเป็นข้าราชการ

ครูปอย ครูผู้มีความหลากหลายทางเพศ ประสบการณ์ตรงที่เธอแชร์ในวงสนทนาทำให้เห็นภาพของระบบที่เปลี่ยนแปลงช้าได้ชัดเจน

“สิ่งที่เจอก็คือความเป็นข้าราชการยังไม่ยอมรับเรื่องนี้จริงๆ พอบรรจุเข้าไปในโรงเรียนด้วยเพศสภาพแบบนี้ก็ถูกทุกสายตาจับจ้อง มองว่า ‘ตัวเราเป็นใคร’ ‘เป็นกะเทยเหรอ’ ‘สาวประเภทสองเป็นตัวอย่างไม่ดีให้กับเด็กหรือเปล่า’ คำถามพวกนี้รบกวนจิตใจมาก บุคลากรในโรงเรียนตัดสินสิ่งที่เป็นด้วยสิ่งที่เห็นเท่านั้นเอง”

เธอเล่าต่อว่า ช่วงแรกๆ กลับบ้านไปร้องไห้ทุกวัน เลยเถิดไปจนคิดว่าเลือกผิดที่มาเป็นครูหรือเปล่า “ทำไมมันแย่จังเลย” ทั้งๆ ที่ถ้าเลือกได้เธอก็ไม่อยากเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่คนเราเลือกเกิดไม่ได้ เธอยอมรับว่าเครียดมากและไม่มีความสุข จากนั้นจึงปรึกษาเพื่อนคนหนึ่ง และได้รับคำปลอบประโลมว่าอย่าไปใส่ใจกับเรื่องนี้เลย คนจะพูดอะไรก็ให้พูดไป ดึงศักยภาพของตัวเองออกมาดีกว่า พิสูจน์ตัวเองด้วยการทำงานให้คนอื่นเห็นว่าเราทำได้

เมื่อเวลาผ่าน คนต่าง generation ก็เกษียณไปเยอะ ความรู้สึกแย่ๆ ของเธอจึงบรรรเทาลง ครูที่เข้ามาใหม่มีความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ในเรื่องร้ายย่อมมีเรื่องดีๆ ปะปนอยู่ ครูปอยเปิดเผยว่ารู้สึกโชคดีที่เด็กนักเรียนน่ารัก

เด็กไม่เคยล้อเลย พวกเขาแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นอะไร เด็กเห็นว่าเราก็เป็นครูคนหนึ่ง

เมื่อครูผู้มีความหลากหลายทางเพศสอนเพศศึกษา

“รู้สึกว่าโชคดีนะที่สอนเพศศึกษา สามารถพูดได้ทุกเรื่องโดยไม่อาย สามารถสอนให้ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายเข้าใจ แล้วเด็กก็จะกล้าเข้ามาถาม ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เช่น มีปัญหาขีวิต เลิกกับแฟน ทะเลาะกับแฟน มีเพศสัมพันธ์แต่ไม่ได้ป้องกัน ซึ่งเขาจะกล้าเดินเข้ามาถามเลย ทำให้เจอคำถามแบบนี้เยอะมาก นอกเหนือจากเป็นครูที่สอนในห้องเรียนแล้วก็เหมือนเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้วย เพราะเด็กมีความไว้เนื้อเชื่อใจ” คือมุมมองในสาขาวิชาเพศศึกษาของครูปอย

ชุมชนแห่งการเรียนรู้

Professional Learning Community (PLC) หรือชุมชนแห่งการเรียนรู้ คือระบบที่ครูตองใช้เพื่อทราบปัญหาของเด็กและร่วมกับผู้ปกครองหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

กรณีหนึ่งที่ประสบความสำเร็จคือ การติดตามเด็กที่ชอบแอบไปเล่นเกมระหว่างเรียน เมื่อสอบถามเด็กว่าทำไมทำเช่นนั้น คำตอบของเด็ก ป.6 ที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่นคือ ต้องการความสนุก ความน่าสนใจในกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก แต่ห้องเรียนไม่มีอะไรให้ทำ และไม่มีอะไรน่าสนใจ

ครูตองส่งรูปห้องเรียนไปให้ผู้ปกครองช่วยกันดู และถือเป็นความโชคดีที่ผู้ปกครองร่วมมือ ให้ความสนใจและให้การสนับสนุนอย่างดีเยี่ยม กลายเป็นจุดกำเนิดมุมหนังสือในห้องเรียน ผู้ปกครองบริจาคหนังสือเข้ามา ตามด้วยชั้นหนังสือและเบาะรองนั่ง แสดงให้เห็นพลังของการร่วมมือระหว่างครูกับผู้ปกครองที่สามารถสร้างสิ่งใหม่ แก้ปัญหาที่เกิดกับเด็กได้ด้วยการสร้างความเป็นเจ้าของห้องเรียนร่วมกัน เพราะไม่มีใครสามารถสร้างครูผู้วิเศษขึ้นมาแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวคนเดียว

ที่ปรึกษาสภานักเรียนกับการเปลี่ยนแปลง

ที่โรงเรียนของครูโอเพิ่งจะเปลี่ยนจากคณะกรรมการนักเรียนเป็น ‘สภานักเรียน’ ได้สองปี

“ที่เรารู้จักกันดี คณะกรรมการนักเรียนมีบทบาทเป็น ‘คุณครูในร่างเด็ก’ ก็คือเป็นตัวแทนของคุณครูอีกคนหนึ่ง คอยจัดกิจกรรมต่างๆ เป็นไม้เป็นมือให้กับคุณครูเท่านั้น”

ครูโอผลักดันสภานักเรียนขึ้นมาเพื่อให้เด็กไม่เป็นร่างทรงของคุณครู โดยให้ตัวแทนแต่ละห้องได้มีสิทธิมีเสียง ปกครองตนเองได้ มีกิจกรรม ปรึกษาและตัดสินใจร่วมกัน ก่อนจะให้ผู้ใหญ่ช่วยสนับสนุนอีกทีหนึ่ง

ข้อดีของสภานักเรียนคือช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ว่าพวกเขามีสิทธิและรู้หน้าที่ แต่ปัญหาก็คือวัฒนธรรมอำนาจในโรงเรียน ที่เห็นได้ชัดเมื่อเด็กเริ่มรู้จักใช้สิทธิใช้เสียงของตัวเองก็จะกระทบกับอำนาจของโรงเรียน เพราะเดิมทีมีการสั่งการแบบ top-down หลายครั้งเด็กๆ ทำโครงการมาก็ประสบความล้มเหลว คิดมา ทำมา ปรึกษาเครือข่ายห้องเรียน ประชุมสามสี่ครั้ง หาข้อมูล สร้างตัวเลือก เสนอคุณครู แต่ ‘ไปต่อไม่ได้’ หลายครั้งที่เจอปัญหาเช่นนี้

“จริงๆ มันไม่ใช่แค่บริบทในโรงเรียน มันเป็นภาพสะท้อนของสังคมเหมือนกันว่าคนรุ่นใหม่ที่พยายามจะทำอะไรขึ้นมา แต่ก็จะเจอเงื่อนไขบางอย่างในสังคมสกัดกั้นความคิดบางอย่างไว้ คำถามคือแล้วเราจะให้เด็กจัดการกับปัญหานี้อย่างไร”

วิธีการแก้ปัญหาของครูโอคือการต่อรองและประนีประนอม ให้เด็กลองแก้ไขโครงการของตัวเอง คิดอะไรได้ก็ใช่ว่าต้องรีบไปเสนอ ให้ลองปรึกษาฝ่ายบริหารในโรงเรียนเสียก่อนเพื่อหาจุดกึ่งกลางระหว่างกัน ให้เด็กลดของตัวเองส่วนหนึ่ง และฝ่ายบริหารก็ยอมในส่วนหนึ่ง เพื่อจุดประสงค์ร่วมกันคือ ความตั้งใจจริงในการช่วยพัฒนาโรงเรียน ครูโอบอกว่า เมื่อปรับแก้แล้ว หลายๆ โครงการก็ผ่านการพิจารณา เด็กจึงได้เรียนรู้ว่า จริงๆ แล้วปัญหาในโรงเรียนไม่ต่างจากปัญหาในสังคม รู้จักสิทธิ รู้จักอำนาจ และรู้จักการปรับตัว

ปฏิรูปการศึกษา

ครูโอเท้าความให้ฟังว่า มีความพยายามเปลี่ยนแปลงการศึกษามาเป็นสิบปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2544 2551 และปี 2560 อีกสามระลอก ปัญหาที่เจอมาตลอดคือเปลี่ยนแค่บางส่วนของระบบเท่านั้น เช่น เมื่อปี 2544 พยายามจะเปลี่ยนวิธีการสอน บอกว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้ แล้วส่งเข้าไปในโรงเรียน แต่ยังเจอกับครูเดิม บุคลากรเดิม ผู้บริหารเดิม จึงทำให้ยังมีปัญหาเดิมอยู่

ส่วนปี 2551 ปรับเปลี่ยนกระบวนการใหม่ มีครูรุ่นใหม่ จัดการเรียนรูปแบบใหม่ แต่ระบบไม่ได้เปลี่ยนตาม ครูรุ่นใหม่ที่เข้าไปจึงถูกระบบกลืนกิน และอีกครั้งในปี 2560 ซึ่งยังต้องรอดูผลต่อไป

เราพูดถึงมุมมองการศึกษาโดยการหาผู้รับผิดมาโดยตลอด พยายามโทษกระบวนการสอน ก็เปลี่ยน โทษครู ก็เปลี่ยนครู ไม่เคยมองว่าปัญหาทั้งหมดไม่สามารถแก้ได้ที่จุดใดจุดหนึ่ง ไม่สามารถเปลี่ยนครูโดยที่หลักสูตรเป็นแบบเดิม ไม่สามารถเปลี่ยนระบบได้ โดยปล่อยให้การวัดผลระดับโรงเรียนและระดับชาติเป็นแบบนี้

“คำถามสำคัญในหนังที่เพิ่งดูไป (School Life) คือครูใหญ่ถามครูหลังสัมภาษณ์เด็กว่า ‘เด็กคนนี้เหมาะกับโรงเรียนเราไหม’ เป็นคำถามที่น่าสนใจมาก แต่เราไม่ได้ใช้วิธีแบบนี้ เราสอบแบบจอหงวน สอบพร้อมกันเป็นหมื่นเป็นแสน ด้วยข้อสอบเดียวกัน แล้วก็พยายามจำแนกว่าข้อสอบแบบนี้มันจะคัดกรองเด็กได้ว่าถนัดอย่างนั้นอย่างนี้ สุดท้ายก็ไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไหร่”

ครูโอยังเสริมต่อว่า เด็กที่จบมหาวิทยาลัยจำนวนมาก ไม่ได้ประกอบอาชีพนั้นๆ จริง ตัวอย่างจากเพื่อนของเขาเองที่จบจากวิศวกรรมศาสตร์ แต่ไปทำงานเป็นติวเตอร์บ้าง เป็นเซลส์บ้าง เป็นนักบินบ้าง ฉะนั้นจึงเป็นตัวแปรที่สนับสนุนความคิดของเขาว่า จริงๆ แล้วระบบการศึกษาไทยไม่ได้จำแนกเด็กตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

หลังจากนั้นครูโอวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาไทยอย่างเผ็ดร้อนว่า “เรายังมองโรงเรียนเป็นหน่วยหนึ่งของระบบราชการที่ต้องถูกควบคุมจากส่วนกลาง เพราะฉะนั้นมันไม่ได้ตอบปัญหาความต้องการของเด็กหรือของโรงเรียน มันตอบสนองความต้องการของส่วนกลางมากกว่า

“ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงการศึกษา เราจำเป็นต้องมองภาพรวมทั้งหมด แล้วก็มองการศึกษาด้วยสายตาของนักการศึกษาจริงๆ ไม่ได้มองการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งที่ผลิตบุคลากรเข้าสู่ตลาดแรงงาน ไม่ได้มองในฐานะเป็นเครื่องมือหนึ่งของรัฐในการกล่อมเกลาเยาวชนเพื่อเป็นแบบที่รัฐต้องการ แต่ต้องมองว่าโรงเรียนเป็นที่หนึ่งที่จะพัฒนาเด็กให้มีศักยภาพ คือมองว่าเด็กคนนี้เขาเหมาะกับอะไร วันนี้อยากระบายสีไหม หรือวันนี้เธออยากเล่นดนตรี แล้วส่งเสริมเขาแบบนั้น ผมคิดว่าแบบนี้มันน่าจะโอเคกว่า”

และทิ้งท้ายด้วยคำถามหนึ่งของครูโอที่ถามขึ้นในระหว่างการเสวนา ซึ่งน่าคิดและนำไปต่อยอดในการปฏิรูปการศึกษาไทยคือ “เราเตรียมพร้อมแค่ไหนที่จะสร้างเด็กให้ก้าวเข้าสู่สังคมที่เปลี่ยนแปลงเร็วมากและเป็นสังคมที่ยังมีความขัดแย้งอยู่”

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า