ความสร้างสรรค์ทางการเมืองของเยาวชนผู้แกงเก่ง

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

หลายเดือนที่ผ่านมาเราเห็นภาพนักเรียนมัธยมชูสามนิ้วขณะร้องเพลงชาติ ผูกโบว์สีขาวเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง เดินขบวนไปหน้ากระทรวงศึกษาธิการ หรือแม้กระทั่งดีเบตกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปรากฏบนสื่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ สะท้อนให้เห็นว่ามีเยาวชนจำนวนมากให้ความสนใจและเข้าร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเยาวชนเหล่านี้เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการชุมนุมและกำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนรัฐต้องลุกขึ้นมาใช้อำนาจและกฎหมายเพื่อหยุดการเคลื่อนไหวของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง ไปจนถึงการใช้กฎหมายดำเนินคดีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี

อะไรทำให้รัฐหวาดกลัวเยาวชนที่ต่อสู้ด้วยมือเปล่า อะไรทำให้รัฐมองเยาวชนเหล่านี้เป็นภัยต่อความมั่นคง (ของตนเอง)

ในฐานะนักการศึกษาผู้ติดตามและเฝ้าสังเกตการเคลื่อนไหวครั้งนี้มาโดยตลอด พบว่า อาวุธสำคัญในการเคลื่อนไหวของเยาวชนอันส่งผลให้รัฐต้องตั้งรับอย่างแข็งขันนั้น ไม่ใช่ร่ม โบว์ขาว ไดโนเสาร์เป่าลม หรือเป็ดยาง (นามเดิม) แต่เป็น ‘ความสร้างสรรค์’ ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีความแปลกใหม่ แตกต่าง และยากที่จะคาดเดา

ในบทความนี้จะกล่าวถึงคุณลักษณะที่สอดคล้องกับความสร้างสรรค์ที่ปรากฏโดดเด่นในการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชน 3 ประการ ได้แก่ การคิดแบบหลากหลาย การร่วมมือกันในแนวระนาบ และความขี้เล่นและอารมณ์ขัน

การคิดแบบหลากหลาย หรือที่มักเรียกว่าการคิดนอกกรอบ เป็นรูปแบบการคิดหรือจินตนาการเพื่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยไม่ยึดติดอยู่กับรูปแบบเดิม ดังที่เห็นได้ชัดเจน นับตั้งแต่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพฯ และตามมาด้วยการสลายการชุมนุมที่สยามสแควร์เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ผู้ชุมนุมได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการชุมนุมเป็นลักษณะการชุมนุมแบบแฟลชม็อบ รวมไปถึงการ ‘แกง’ รัฐ ด้วยการประกาศยกเลิกหรือเปลี่ยนที่ชุมนุมกลางเวหา เพื่อหลีกเลี่ยงการขัดขวางหรือปราบปรามผู้ชุมนุม การคิดในลักษณะนี้ยังปรากฏให้เห็นจากการเลือกใช้เป็ดยาง เป็นอุปกรณ์อันเหนือความคาดหมาย แต่มีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในการป้องกันน้ำแรงดันสูง

คุณลักษณะที่โดดเด่นอีกด้านคือ การร่วมมือกันในแนวระนาบที่ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ‘ทุกคนคือแกนนำ’ อาจเป็นข้อความที่สะท้อนจุดเด่นของความร่วมมือในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ได้ดีที่สุด ผู้ชุมนุมทุกคนสามารถลุกขึ้นปราศรัย แสดงความคิดเห็น หรือกระทั่งจัดการแสดงของตัวเอง ในที่ชุมนุม ในงาน Mob Fest เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีนักเรียนจากหลากหลายสถาบันได้เข้าร่วมเสวนาและจัดกิจกรรมเพื่อสะท้อนถึงปัญหาการศึกษาไทยอย่างเข้มข้น มีการหยิบยกประเด็นที่หลากหลายตามความสนใจของแต่ละกลุ่มนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโครงสร้างของระบบการศึกษาที่คร่ำครึ อำนาจนิยมในโรงเรียน การเรียนพิเศษ ไปจนถึงปัญหาสำคัญอย่างการล่วงละเมิดทางเพศ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สิ่งที่ทำให้ประเด็นปัญหาที่แทบไม่เคยถูกหยิบยกมาพูดตรงๆ ในที่สาธารณะ ได้รับความสนใจในวงกว้าง คือความขี้เล่นและอารมณ์ขันของเยาวชนที่เข้าร่วมการชุมนุม ภาพไดโนเสาร์ดิ้นพล่านบนเวที อาจจะดูน่าตลกขบขัน แต่ตอกย้ำให้เห็นถึงความโบราณล้าสมัยของผู้มีอำนาจในการจัดการศึกษาในประเทศอย่างชัดแจ้ง สามารถดึงความสนใจจากสื่อและผู้คนได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังสะท้อนให้ทั่วโลกได้เห็นว่า พวกเขาเป็นเพียงแค่เยาวชนผู้ชุมนุมด้วยความสงบ ปราศจากอาวุธ มีเพียงพลังแห่งความมุ่งมั่น และความสร้างสรรค์เป็นอาวุธในการเคลื่อนไหวครั้งนี้

เป็นที่น่าสังเกตว่า คุณลักษณะของความสร้างสรรค์ดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นแทบหายไปอย่างสิ้นเชิง ในระบบการทำงานของภาครัฐที่ถูกจำกัดไว้ด้วยรูปแบบสั่งการบนลงล่าง ที่เน้น ‘การใช้อำนาจ’ และ ‘ระเบียบปฏิบัติที่เข้มงวด’ อันเป็นตัวการสำคัญที่ปิดกั้นจินตนาการและความสร้างสรรค์ เพราะอำนาจนิยมทำหน้าที่ ‘ห้าม’ ให้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ในขณะที่ระเบียบแบบแผนคอยบอกว่า ‘ต้องทำสิ่งใดบ้าง’ ค่านิยมทั้งสองจำกัดพื้นที่ความคิดของบุคคลมิให้คิดด้วยตนเองหรือคิดต่างออกไป

รูปแบบและค่านิยมเช่นนี้เองที่ฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมและระบบการศึกษาไทยมาช้านาน อาจกล่าวได้ว่า การกดขี่และปิดกั้นนี้เองที่ส่งผลให้เยาวชนจำนวนมากลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวและเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษาอย่างเร่งด่วน (การปฏิรูปที่มีความหมายว่า การเปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้ดีขึ้น) ในขณะเดียวกันนักเรียนที่ ‘กล้า’ ตั้งคำถาม และชี้ให้เห็นจุดบกพร่องของระบบการศึกษากลับถูกลงโทษ จนพวกเขาต้องออกมาเรียกร้องความยุติธรรมและการศึกษาในแบบที่พวกเขาต้องการ บนท้องถนนและบนสื่อโซเชียลอย่างต่อเนื่อง

ความสร้างสรรค์ ต้องการ ‘พื้นที่’ ที่เปิดกว้างและปลอดภัย เหตุใดเยาวชนเหล่านี้จึงต้องดิ้นรนค้นหาพื้นที่แห่งนี้ด้วยตนเอง ผู้ใหญ่ไม่ใช่หรือที่มีหน้าที่จัดหาพื้นที่ให้พวกเขาเติบโตและเจริญงอกงามอย่างเต็มศักยภาพ

การออกมาเคลื่อนไหวของเยาวชนตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาได้สะท้อนภาพให้เป็นที่ประจักษ์แล้วถึงศักยภาพ และพลังแห่งความสร้างสรรค์ในตัวของพวกเขา หากรัฐต้องการเข้าถึงและเข้าใจของเยาวชนอย่างถ่องแท้ และรัฐมองเห็นความสำคัญของความสร้างสรรค์จริงดังที่พยายามป่าวประกาศ รัฐจะต้องหยุดรังแกเยาวชนที่ออกมาเคลื่อนไหวเพียงเพราะพวกเขาไม่ทำตาม ‘คำสั่ง’ หรือผลักไสเพียงเพราะพวกเขาแสดงความคิดเห็นที่ ‘ต่าง’ จากทัศนะที่รัฐจัดวาง

สิ่งที่รัฐจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วนคือ การสร้าง ‘พื้นที่’ ที่เปิดกว้างและปลอดภัย ให้เยาวชนได้แสดงออกอย่างเต็มที่ ‘ก่อนที่จะสายเกินแกง’

ป.ล. ผู้เขียนใช้คำว่า ‘ความสร้างสรรค์’ (creativity) แทนการใช้คำว่า ‘ความคิดสร้างสรรค์’ (creative thinking) ที่เน้นความสามารถของปัจเจก เพื่อสะท้อนความหมายของคำว่าสร้างสรรค์ในมุมมองทางสังคมและวัฒนธรรม (sociocultural perspective) บนฐานความเชื่อที่ว่า มนุษย์ไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใดได้เลย หากปราศจากความรู้และประสบการณ์ที่มาจากสังคมและวัฒนธรรม

 

Author

ณฐภัทร อุรุพงศา
นักการศึกษาปฐมวัยผู้มีความสนใจเกี่ยวกับความสร้างสรรค์ในการศึกษา และรักงานศิลปะทุกแขนงโดยเฉพาะการเต้นรำ

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า