ปรากฏการณ์ไฟลามทุ่ง (2): จุดประกายฉันทามติใหม่ให้สังคม

จากตอนที่ 1 จะเห็นว่าขบวนการนักศึกษา 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ามีลักษณะบางประการที่คล้ายคลึงกับปรากฏการณ์ไฟลามทุ่งในปัจจุบัน เคลื่อนไหวภายใต้สถานการณ์สงครามเย็นที่โลกกำลังคุกรุ่นด้วยการแบ่งออกเป็น 2 ขั้วของมหาอำนาจ พร้อมไปกับการปกครองของระบอบเผด็จการทหาร ‘สฤษดิ์ ถนอม ประภาส’ ที่ครองอำนาจยาวนานกว่า 16 ปี

อีกทั้งการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหารครั้งนั้นก็เกี่ยวพันกับการเกิดขึ้นของสถานศึกษาหลายแห่ง ทั้งในเมืองหลวงและภูมิภาคเร่งเร้าให้การตอบโต้กลุ่มคณาธิปไตยที่ผูกขาดโดยกองทัพเป็นจริงในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ภาพของการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในปัจจุบัน อาจจะควรพิจารณาจากความคับข้องใจต่อรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหาร คสช. จากฐานะทางประวัติศาสตร์ที่ต่างออกไป แม้จะเป็นความจริงที่ว่า ณ ขณะนี้การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา กระจายไปกว่า 50 สถาบันทั่วประเทศแล้วนั้น ได้ป่าวร้องถึงสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับขบวนการนิสิตนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่ความหมายทางการเมืองและบริบทในการเรียกร้องของหนุ่มสาว พ.ศ. นี้ กลับมีนัยยะที่แตกต่างอยู่ไม่น้อยกับขบวนการนักศึกษาในอดีต

 

ความคับข้องใจต่อการเมืองที่ล้าหลัง ขณะที่ความเหลื่อมล้ำรุนแรงทุกด้าน

กรอบคิดหนึ่งที่สามารถนำมาวิเคราะห์การชุมนุมประท้วงในเวลานี้ได้ คือ แนวคิดพฤติกรรมรวมหมู่ (collective behavior) แม้ว่าจะมีคำวิจารณ์ต่อกรอบคิดนี้อยู่บ้าง แต่ก็มีประโยชน์ในการทำความเข้าใจช่วงตั้งต้นของการชุมนุมในปรากฏการณ์ไฟลามทุ่งได้

แนวคิดนี้มีสมมุติฐาน 3 ประการ คือ หนึ่ง พฤติกรรมรวมหมู่เป็นสิ่งผิดปกติที่ไม่ได้เกิดขึ้นในโครงสร้างของสถาบันต่างๆ ในสังคม หรือ สอง ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเกิดขึ้นเนื่องจากเกิดความตึงเครียด (strain) หรือการแตกสลาย (breakdown) ทางโครงสร้างหรือวัฒนธรรมในสังคม อาทิ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างฉับพลัน หรือเหตุการณ์ที่กระตุ้นเร้าอารมณ์ และ สาม มีความเชื่อร่วมกัน (shared beliefs) เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการวิเคราะห์การก่อกำเนิดของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

หากคิดตามสมมุติฐานที่สองและสาม ซึ่งน่าจะเหมาะสมที่สุด คำถามคือ ความตึงเครียดหรือภาวะแตกสลายต่อโครงสร้างทางการเมืองนั้นคืออะไร

ในบริบทการเมืองโลก Verisk Maplecroft บริษัทที่ปรึกษาทางการเมืองและเศรษฐกิจของอังกฤษ ระบุว่า ในปี 2020 จะมีอย่างน้อย 75 ประเทศที่จะเกิดความปั่นป่วนและการประท้วง ต่างจากปี 2019 ที่มีเพียง 45 ประเทศ ในแง่นี้ ประเทศต่างๆ กว่า 40 เปอร์เซ็นต์จะเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งมีปัจจัยหลายประการตั้งแต่ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ การว่างงาน และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ฯลฯ สิ่งที่น่ากังวลคือหลายประเทศมีความเสี่ยงที่รัฐบาลจะใช้ความรุนแรงเข้าจัดการกับผู้ชุมนุม ซึ่งกรณีของไทยเข้าข่ายความตึงเครียดนั้น

หากพิจารณาโครงสร้างทางการเมืองไทยก่อนที่สถานการณ์ ‘ไฟลามทุ่ง’ จะปะทุขึ้น เข้ากับบริบทการเมืองโลกแล้ว จะเห็นว่าเชื้อไฟชั้นดีที่ลามไปก่อนหน้าแล้วคือ สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยที่รุนแรงขึ้นในทุกด้านไม่ว่า เศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง

ในมุมเศรษฐกิจ งานวิจัยโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า จากการสำรวจเมื่อปี 2555 มีผู้ที่ถือครองที่ดินน้อยที่สุดกลุ่ม 20 เปอร์เซ็นต์แรกถือครองที่ดินเฉลี่ย 29.27 ตารางวา ขณะที่ 20 เปอร์เซ็นต์สูงสุดที่ถือครองที่ดิน ถือครองเฉลี่ย 23.7 ไร่ (9,480 ตรว.) ซึ่งมีความแตกต่างกัน 323 เท่า ตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าคนรวยถือครองที่ดินร้อยละ 80 ของที่ดินที่มีโฉนดทั่วประเทศ

ขณะที่บัญชีเงินฝากของคนไทยเอง ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2561 เปิดเผยว่าบัญชีเงินฝากไม่เกิน 5 หมื่นบาท มีอยู่ถึง 86.3 ล้านบัญชี จากบัญชีเงินฝากทั้งหมดในประเทศ 98.7 ล้านบัญชี คิดเป็นร้อยละ 87 บัญชีเงินฝากที่มีเงิน 50 ล้านบาทขึ้นไปมีเพียง 19,485 บัญชี

สอดคล้องกับตัวเลขของสภาพัฒน์ฯ เมื่อปี 2562 แสดงรายได้ของกลุ่มคนรวยที่สุดสูงกว่าสัดส่วนรายได้ของกลุ่มคนจนที่สุด ถึง 19.29 เท่า กลุ่มชนชั้นกลางและกลาง-ล่างมีสัดส่วนของรายได้ 35.33 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลุ่มคนรวยมีสัดส่วนรายได้ถึง 68.84 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้ทั้งประเทศ

สถานการณ์ที่กล่าวมายังปรากฏในรายงาน Global Wealth Report ของธนาคารเครดิตสวิสการกระจายรายได้และทรัพย์สิน กรณีประเทศไทยเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก คนรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์ มีทรัพย์สิน 66.9 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือกระจายไปสู่คนยากจนข้างล่าง ส่วนคนจนล่างสุด 1 เปอร์เซ็นต์ มีทรัพย์สิน 0 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตามรัฐบาลปัจจุบันมักอ้างว่า ไทยได้เขยิบฐานะความมั่งคั่งจากเดิมและจะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่การเพิ่มขึ้นของความมั่งคั่งนี้ก็เป็นเพียงการเพิ่มขึ้นเฉพาะในกลุ่มของคนรวยเพียงหยิบมือ ขณะที่คนยากจนแทบไม่มีทรัพย์สินที่ถือครอง จึงไม่น่าประหลาดใจ ที่ความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองทรัพย์สินจะสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก

ล่าสุด ธนาคารโลก (5 มี.ค. 2563) เผยแพร่รายงานว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคอาเซียน ระบุว่า ไทยมีอัตราความยากจนเพิ่มขึ้นถึง 9.8 เปอร์เซ็นต์ และนับเป็นชาติเดียวในอาเซียนที่มีรายงานคนจนเพิ่มขึ้นหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา

แล้วสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทั้งหมดที่กล่าวมา เกี่ยวข้องอะไรกับนักเรียนนักศึกษา คำตอบคือ ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนุ่มสาวเหล่านั้นกำลังแบกรับสภาวะความเหลื่อมล้ำรุนแรง และสิ้นหวังกับบ้านเมืองแบบที่เป็นอยู่ กรณีที่ใกล้เข้ามาคือ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย ยอมรับว่า พบสัญญาณการจ้างงานลดลง ประกอบกับบางส่วนปรับมาใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น ทั้งหุ่นยนต์และเทคโนโลยีต่างๆ เป็นความเสี่ยงต่อตลาดแรงงาน โดยเฉพาะนักศึกษาจบใหม่ ที่กำลังจะเข้าสู่ระบบช่วงเดือน มี.ค. – เม.ย. 2563 อีกประมาณ 5.24 แสนคน ทุกๆ คนมีสิทธิเสี่ยงที่จะตกงาน

 

เกิดหลังวิกฤติเศรษฐกิจ เติบโตในยุคความขัดแย้งเหลือง-แดง บรรลุนิติภาวะในยุคเผด็จการเบ็ดเสร็จ

คำถามต่อมาคือเชื้อไฟจากความเหลื่อมล้ำข้างต้นนั้นสั่งสมความโกรธอย่างไรให้แก่หนุ่มสาว หากเราเชื่อว่าคนเหล่านี้ น่าจะมีอายุตั้งแต่ 15-25 ปีเป็นส่วนใหญ่ หมายความว่า พวกเขาเพิ่งเดินเข้าคูหาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 นี้เอง ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้การครอบงำของคณะรัฐประหาร คสช. กว่า 5 ปี

มีการคาดการณ์กันว่าจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกหรือ first-time voter นี้มีมากถึง 7,500,000 คน อันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญยิ่ง คิดเป็นเกือบร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

หนุ่มสาวเหล่านี้ล้วนเกิดหลังเหตุการณ์พฤษภา 35 ที่เรียกว่าการลุกฮือของชนชั้นกลาง เพื่อเรียกร้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และต่อสู้ให้กองทัพกลับเข้าสู่กรมกอง การเคลื่อนไหวครั้งนั้นนำมาสู่กระแสการปฏิรูปการเมือง อันมีรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นรูปธรรม ของการต่อสู้เรียกร้อง โดยรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวออกแบบภายใต้เจตนารมณ์หลัก 3 เรื่อง คือ

1. ขยายสิทธิ เสรีภาพ และส่วนร่วมของพลเมืองในการเมือง
2. การเพิ่มการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยประชาชน เพื่อให้เกิดความสุจริตและโปร่งใสในระบอบการเมือง
3. การทำให้ระบบการเมืองมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ

ต่อจากนั้น แม้ว่าเศรษฐกิจจะเผชิญกับวิกฤติในช่วงปี 2540 แต่อย่างน้อยที่สุด เด็กที่เกิดหลัง 2540 ก็พบกับลักษณะโครงสร้างการเมืองที่มีเสถียรภาพ ได้เห็นว่านโยบายหาเสียงเลือกตั้งมีผลต่อชีวิต ต่อครอบครัวของพวกเขา อย่างน้อยที่สุด ฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชนเปลี่ยนไปขนานใหญ่ เด็กในต่างจังหวัดพบว่าวิถีการผลิตของพ่อแม่เปลี่ยนจากการผลิตขั้นปฐมภูมิ ความสัมพันธ์ทางสังคมไม่ได้เป็นระบบอุปถัมภ์แบบเดิม

ในด้านกลับ งานวิชาการจำนวนหนึ่งต่างยอมรับว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว กลายเป็นรากฐานก่อให้เกิดเป็นความขัดแย้งใหม่ระหว่างชนชั้นกลางระดับล่าง (เสื้อแดง) และชนชั้นกลางระดับบน (เสื้อเหลือง)

ฉะนั้นฉันทามติ หลังปี 2535 ที่คนส่วนใหญ่ยอมรับว่า นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง กองทัพต้องออกจากการเมือง และต้องแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน จึงเผชิญกับวิกฤติศรัทธาจากกลุ่มชนชั้นกลางระดับบน ก่อนที่พวกเขาจะหันมาประท้วงล้มการเลือกตั้งจนเป็นเงื่อนไขให้การรัฐประหาร 2557 สำเร็จราบคาบ

 

จุดประกายฉันทามติใหม่

ตลอดชีวิตของนักเรียน นักศึกษาในปี 2557-2563 จึงอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารเบ็ดเสร็จ ที่การบริหารราชการแผ่นดินด้อยประสิทธิภาพ มีข่าวคราวการทุจริต และการกดปราบประชาชนที่อื้อฉาวตลอดการครองอำนาจ โดยฟางเส้นสุดท้ายมาถึงเมื่อองค์กรอิสระที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้นยุบพรรคการเมืองที่เป็นภาพแทนความปรารถนาของคนรุ่นใหม่

นักเรียนนักศึกษาหลายสถาบันต่างทยอยออกมาเปล่งเสียงขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงภาษาสัญลักษณ์ที่สื่อสารถึงสังคมใหม่ และไม่ทนกับสภาวะเดิมตลอด 6 ปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าลักษณะของการเคลื่อนไหวและข้อเสนอจากการชุมนุมของนักศึกษานั้นยังคงต้องจับตากันต่อไป รูปธรรมของความปรารถนาทางการเมืองจะลงเอยอย่างไร ซึ่งจนถึงเวลานี้ยังเร็วเกินไปที่จะตัดสินการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเพียง 2 สัปดาห์ แต่สิ่งที่หลายฝ่ายพอจะประจักษ์กันแล้วบ้างคือ การแสดงออกอย่างเปิดเผยถึงการไม่พอใจต่อรัฐบาลด้อยความสามารถ องค์กรอิสระไม่เป็นกลาง และรัฐธรรมนูญที่ผิดเพี้ยน

ทั้งหมดทั้งมวลคือความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นตลอดมาหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2519 ที่เกิดความเข้าใจร่วมกันคือภาวะ ‘สองมาตรฐาน’ และซ้ำเติมด้วยความรุนแรงทางการเมืองหลังการรัฐประหาร 2557 ปรากฏเป็นความเหลื่อมล้ำที่น่ากังวลมากที่สุด คือ ความเหลื่อมล้ำในด้านความยุติธรรม

ระบบนิติรัฐของไทยตกต่ำจนเสาหลักของความไว้เนื้อเชื่อใจลงมาสู่จุดที่น่ากังขา ดังปรากฏในรายงานประจำปีของ World Justice Project ซึ่งเผยแพร่ดัชนีนิติรัฐ ประจำปี 2019 จัดอันดับสถานะด้านความมีหลักนิติรัฐของประเทศต่างๆ รวม 126 ประเทศ โดยอันดับด้านนิติรัฐของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปีนับตั้งแต่ปี 2558

ฉะนั้นการเคลื่อนไหวของนักศึกษาในยุคปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้เคลื่อนไหวผ่านสิ่งพิมพ์ hard copy แบบในอดีตอีกต่อไปแแล้ว หากแต่สร้างฐานที่มั่นในโลกของโซเชียลมีเดีย ก่อนจะแปรพลังในโลกออนไลน์ออกมาสู่การชุมนุมในสถานศึกษา

สิ่งที่ท้าทายคือการชุมนุมของหนุ่มสาวเหล่านั้น จะสามารถเกี่ยวร้อยเอาความปวดร้าวจากการกดปราบพื้นที่ทางการเมืองทางกายภาพของรัฐบาลคณะรัฐประหารอย่างไร จะรักษาพื้นที่ที่หดแคบลงเหลือเพียงรั้วโรงเรียนและรั้วมหาวิทยาลัยไว้ได้นานแค่ไหน

ไม่มากหรือน้อยกว่านี้ สัญญาณที่เหล่าผู้ใหญ่ซึ่งพาประเทศมาถึงจุดต่ำสุดขณะนี้ น่าจะภูมิใจและควรรับฟังไว้คือ ธรรมชาติการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็ว เฉียบพลัน ดั่งไฟลามทุ่งนี้ ได้เป็นประกายแรกที่ต้องมาตกลงกันอย่างจริงใจแล้วว่า สังคมไทยจะสร้างฉันทามติใหม่ที่ประชาชนเป็นสมการหลักกันได้อย่างไร

อ้างอิง

https://worldjusticeproject.org/our-work/research-and-data/wjp-rule-law-index

https://www.maplecroft.com/insights/analysis/47-countries-witness-surge-in-civil-unrest/

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า