โหวตคว่ำร่าง รธน. ฉบับประชาชน เมื่อราษฎรประสงค์ แต่รัฐสภาไม่สนอง

หลังจากเปิดประชุมรัฐสภามาเป็นวันที่ 2 (18 พฤศจิกายน 2563) เพื่อพิจารณาวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ผลปรากฏว่ารัฐสภามีมติรับหลักการ 2 ร่าง ได้แก่

1. ร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของฝ่ายค้าน (เสนอโดยพรรคเพื่อไทย) และ 2. ร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของฝ่ายรัฐบาล ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เสนอโดย iLaw ที่ประชุมมีมติรับหลักการ 212 ไม่รับหลักการ 137 และงดออกเสียงจำนวน 369 ทำให้ร่างแก้ไขฉบับนี้ไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา

สำหรับขั้นตอนการลงมติครั้งนี้ เป็นการลงมติโดยการเรียกชื่อตามตัวอักษร และลงคะแนนโดยการขานชื่อ เพื่อลงมติไปทีละฉบับ จนครบ 7 ฉบับ โดยฉบับที่ผ่านการพิจารณาต้องได้เสียง ‘ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง’ ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา และในจํานวนนี้ต้องมี สว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมด

ผลการลงมติ (อย่างไม่เป็นทางการ) ปรากฏว่า 

  1. ร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของฝ่ายค้าน รับหลักการ 577 ไม่รับ 21 งดออกเสียง 121  
  2. ร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของฝ่ายรัฐบาล รับหลักการ 647 ไม่รับ 17 งดออกเสียง 55
  3. ญัตติแก้ไขมาตรา 270 และมาตรา 271 ตัดอำนาจ สว. ติดตามการปฏิรูปประเทศ รับหลักการ 213 ไม่รับ 34 งดออกเสียง 472
  4. ญัตติแก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจ สว. ร่วมโหวตเลือกนายกฯ พ่วงมาตรา 159 ปิดทางเลือกนายกฯ คนนอก รับหลักการ 266 ไม่รับ 21 งดออกเสียง 432
  5. ญัตติแก้ไขมาตรา 279 ยกเลิกการรับรองคำสั่ง-ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับหลักการ 209 ไม่รับ 50 งดออกเสียง 460
  6. ญัตติแก้ไขมาตรา 91-92 และมาตรา 94 และยกเลิกมาตรา 93 มาตรา 101 (4) และมาตรา 105 วรรคสาม เรื่องระบบเลือกตั้งโดยให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ รับหลักการ 268 ไม่รับ 19 งดออกเสียง 432 
  7. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นร่างของภาคประชาชนที่เสนอโดย iLaw รับหลักการ 212 ไม่รับ 138 งดออกเสียง 269 

(อ่านประเด็นสำคัญของร่างฉบับต่างๆได้ที่: https://waymagazine.org/17-nov-2020/)

การอภิปรายดำเนินมาเป็นระยะ 2 วัน รวม 14 ชั่วโมง ที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติโดยการขานชื่อและเปิดเผยในคราวเดียวกันทีละฉบับ จนครบ 7 ฉบับ สำหรับการลงมติ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจดังนี้  

พรรคร่วมรัฐบาล 

ผลการลงมติไม่เป็นเอกภาพ ดังปรากฏให้เห็นว่า สส. ส่วนใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐลงมติรับทั้งร่างแก้ไขฉบับที่ 1 และ 2 แต่มีผู้ลงมติไม่รับหลักการ ร่างสองฉบับข้างต้นจำนวน 2 คน คือ นายชาญวิทย์ วิภูศิริ และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 

ด้าน สส. พรรคประชาธิปัตย์ ลงมติรับหลักการในฉบับ 1 และ 2 โดยมีผู้ลงมติไม่รับหลักการทุกฉบับคือ นายชุมพล จุลใส 

พรรครวมพลังประชาชาติไทย ลงมติไม่รับหลักการทั้งร่างฉบับที่ 1, 2 และ 7

พรรคภูมิใจไทย รับหลักการ 2 ฉบับ คือฉบับที่ 1 และ 2 และลงมติงดออกเสียงในร่างฉบับที่ 7 

พรรคฝ่ายค้าน 

ลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย 

วุฒิสมาชิก 

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับจะผ่านได้นั้น ต้องมีวุฒิสมาชิกลงมติเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมด โดยพบว่ามี สว. ลงมติรับหลักการร่างแก้ไขฉบับที่ 2  ส่วนร่างแก้ไขฉบับที่ 7 ส่วนใหญ่งดออกเสียง โดยมีผู้ลงมติรับหลักการ 3 คน คือ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, นายพิศาล มาณวพัฒน์ และ นายพีระศักดิ์ พอจิต 

เมื่อราษฎรประสงค์ แต่รัฐสภาไม่สนอง

ผลการลงมติของที่ประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เสนอโดย iLaw ถูก ‘โหวตคว่ำ’ ไปตามกติกาที่ คสช. ขีดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลการลงมติครั้งนี้จะยิ่งซ้ำเติมความขุ่นข้องให้แก่ประชาชนผู้เพรียกหาประชาธิปไตย

ระหว่างที่การประชุมสภายังไม่เสร็จสิ้น ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรก็ได้เดินทางมาถึงแยกราชประสงค์เป็นที่เรียบร้อยร้อยแล้วตั้งแต่เวลา 16.00 น. พร้อมกับ ‘เป็ดเหลือง’ สัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ที่ยืนหยัดประจัญหน้ากับแก๊สน้ำตามาตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

บรรยากาศการชุมนุมเต็มไปด้วยความคับแค้น เมื่อช่องทางการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนถูกปิดตาย ในที่สุดจึงเคลื่อนพลบุกสาดสี และใช้ปืนฉีดน้ำระบายความอัดอั้นที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

จนกระทั่งเสร็จสิ้นภารกิจในเวลา 20.30 น. แกนนำจึงประกาศยุติการชุมนุม เก็บเรี่ยวแรงไว้ยืนระยะต่อสู้ต่อไปจนกว่าจะได้ประชาธิปไตยคืนมา พร้อมนัดหมายอีกครั้งที่หน้าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อทวงถามความชอบธรรมจากการใช้ภาษีประชาชน วันที่ 25 พฤศจิกายน นี้

เสียงของผู้คน

1

เจโอ / ชมพู่ 19 ปี

หนูคือนักสู้ในทวิตเตอร์ นี่คือครั้งแรกที่ออกมา เหตุการณ์รุนแรงเมื่อวาน ทำให้เราต้องมาให้ได้

ในโลกออนไลน์ หนูช่วยโอนเงิน ช่วยพิมพ์ตอบและอธิบาย ช่วยหาข้อมูลต่างๆ มายันกับฝั่งตรงข้าม อย่างเรื่องคนถูกอุ้มหาย เขาจะชอบบอกว่า แล้วเกี่ยวอะไรกับรัฐบาล เฮ้ย มนุษย์คนหนึ่งหายไป นักสู้คนหนึ่งถูกอุ้มนะ เราก็ค้นข้อมูลเอาเหตุผลมาสู้ในโลกทวิต

ถ้าการเมืองดี ภาษีที่พ่อแม่และหนูเสียไปจะเกิดประโยชน์ ที่บ้านค้าขาย เขาชอบมาบ่นตลอด “ขายไม่ดีเลย แย่มากๆ” เขาพูดลอยๆ ให้ฟัง แต่เรารู้ว่าต้นเหตุไม่ใช่ที่เราอย่างเดียว แต่มันคือการทำงานของรัฐบาลในการบริหารเศรษฐกิจและประเทศ หนูก็พยายามหาข้อมูลบอกพ่อแม่ว่าที่เรากำลังลำบาก มันมีเหตุผลจากอะไรบ้าง

รัฐบาลคะ หลายปีที่ผ่านมาเราตามข่าวสารตลอดนะ หยุดเถอะค่ะ เราอยู่ในโลกเดียวกัน เพิ่มความเป็นมนุษย์มาหน่อย อย่าเห็นแก่ประโยชน์ของตัวเองนักเลย

ถ้าการเมืองดี ใกล้ตัวที่สุด การเดินบนท้องถนนตัวตนเดียวในตอนกลางคืน เราจะปลอดภัย เราจะไม่สะดุดก้อนอิฐที่นูนขึ้นมาบนฟุตบาธ บ้านเกิดที่ต่างจังหวัดของเราจะเจริญ

2

เกด / 20 ปี

ปกติไปแต่ม็อบย่อยแถวลาดกระบัง นี่คือครั้งแรกที่มาม็อบใหญ่

พี่เข้าใจปะ เรานอนอยู่บ้านเฉยๆ เห็นคนอื่นเขาออกมาโดนยิง โดนฉีดน้ำ โดนแก๊สน้ำตา เราทำได้แค่นอนแล้วกดแชร์ มันแบบ ‘เชี่ย กูไม่ไปอยู่กับเขาตรงนั้นว่ะ’ คิดได้แล้วก็ขี่มอไซค์มาเลย

แม่หนูขายกับข้าวมาตั้งแต่หนูจำความได้ มีกินมีใช้มาตลอด แต่ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ของเหลือเยอะทุกวัน ขายไม่ค่อยได้ ร้านเราเปิดขายข้าวเช้าติดกับโรงงาน พอข้าวของแพงขึ้น พนักงานเลือกจะไม่ซื้อข้าวกิน บางคนก็ลดเหลือกินข้าวมื้อเดียว เขาต้องประหยัดในเศรษฐกิจแบบนี้

สำหรับเรา เราอยากได้เศรษฐกิจที่ดีขึ้น เวลาเขาบอกว่า เป็นแค่เด็ก ยังไม่เสียภาษี จะเดือดร้อนอะไร โอ้โห รู้จัก VAT 7% ไหม ซื้อร้องเท้าคู่เดียวหนูก็เสียภาษีแล้ว

3

เก้า / 27 ปี ฟรีแลนซ์

เราทำงานที่กรุงเทพฯ เกิดและโตที่อุบลฯ บริเวณติดชายแดนริมแม่น้ำโขง สิ่งสำคัญที่อยากให้ช่วยผลักดันหลังที่เราชนะสามข้อเรียกร้อง คือการกระจายอำนาจ มีจังหวัดที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ อีกมาก เขาควรได้สิทธิพัฒนาบ้านของเขา ด้วยเสียงของเขา ทั้งโซนที่อยู่อาศัย คมนาคม ถนนหนทาง การสร้างอาชีพเราในฐานะที่เป็นคนทั้งต่างจังหวัดและเมืองหลวง เห็นว่าอำนาจมันกระจุกเกินไป

ความเหลื่อมล้ำมันกว้าง ใกล้ตัวที่สุดคือตอนเด็ก เราอยากเรียนโรงเรียนที่ดี มีสภาพแวดล้อมที่ดี สังคมที่ดี ครูที่เก่ง เราต้องนั่งรถกว่า 100 กิโล ไปอยู่หอเพื่อเรียนในโรงเรียนประจำจังหวัด

แน่ๆ ว่าทุกอย่างมันคือค่าใช้จ่าย แต่สิ่งหนึ่งที่เราเสียไป คือเราต้องห่างจากพ่อแม่ ไม่ได้ใช้เวลากับเขาเท่าที่ควรได้ เพราะเราเข้าไม่ถึงโอกาสที่จะได้การศึกษาที่ดี ที่อยู่ใกล้บ้าน นี่คือความเหลื่อมล้ำชัดเจน

4

นิว / 28 ปี มือเบส

ตั้งแต่ Covid-19 นักดนตรีไม่มีใครพูดถึง ไม่มีการเยียวยา นักดนตรีกลางคืนก็ออกมาเรียกร้องว่า ตกลงมันยังไง จะ social distancing กับคนไปดูคอนเสิร์ตยังไง ให้เว้นห่างจากเวที แต่สุดท้ายคนก็ไปแออัดกันอยู่ดี ไม่มีคำอธิบายใดๆ จากรัฐบาลเลย ร้านเหล้าก็ต้องปิด การท่องเที่ยวก็เจ๊ง จนทุกวันนี้เรายังต้องดูแลกันเอง

ทุกคนที่ออกมา รับข้อมูลจากฝั่งขวามาตั้งแต่เด็ก ฟังมาเยอะเลย พอเราพูดข้อมูลบ้าง คุณไม่ฟังเลยว่าเรากำลังพูดอะไร หาว่าล้มล้างอย่างเดียว

นักดนตรีของเรามีศักยภาพ หลายๆ กลุ่มได้รับรางวัลระดับนานาชาติเยอะมาก ถ้าการเมืองดี เราจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เราจะส่งออกเพลง สร้างเศรษฐกิจที่ดีได้

เมื่อวานมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลยว่า รัฐบาลตั้งใจยกระดับความรุนแรง สมมุติคุณไม่ทำอะไร ผู้ชุมนุมก็เพียงปักหลักรอกดดันตรงนั้น เขาไม่บุกเข้าไปแน่นอนเพราะผู้แทนที่เขาเลือกกำลังทำงานอยู่

ถ้าตอนนี้คณะรัฐมนตรีอยู่ต่อหน้าผม ผมจะแร็ปเพลง ‘ปฏิรูป’ ให้เขาฟัง มันบอกทุกอย่างไว้ในนั้นแล้ว

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

Photographer

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Photographer

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

Photographer

สิทธิกร ขุนนราศัย
วิดีโอครีเอเตอร์รสมือจัดจ้านของ WAY สนใจตั้งแต่วัฒนธรรมตลาดล่างจนถึงประวัติศาสตร์กรีกโบราณ เติบโตมาในยุคสมัยที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนิยมผลิตวาทกรรมคนดี นี่อาจเป็นแรงถีบให้เขาเลือกนิยามตัวตนตรงกันข้าม และนิยมคลุกคลีกับ 'คนพรรค์นั้น' ในเพจ เดอะ ลูซเซอร์ คลับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า